คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #5 : สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสระภาพ ปีวอก พ.ศ.2127
เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชได้เป็นใหญ่ กรุงศรีอยุธยากำลังยับเยิน ด้วยถูกพระเจ้าหงสาวดีเก็บริบทรัพย์สมบัติและกวาดผู้คนพลเมืองไปเสียแทบจะสิ้นทั้งพระนคร ไม่ช้าเจ้ากรุงกัมพูชา (ในสมัยนั้นตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองละแวก จึงเรียกในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า “ พระยาละแวก ”) เห็นได้ทีก็ยกกองทัพเขมรมาซ้ำเติม หมายจะกวาดเก็บเอาทรัพย์สมบัติและผู้คนในเมืองไทยที่ยังเหลืออยู่ไปเป็นประโยชน์บ้าง ทัพเขมรยกมาหมื่นเดียวสามารถจะเข้ามาได้ถึงชานพระนครถึง ๒ ครั้ง เพราะที่ในกรุง ฯ ไม่มีรี้พลและเครื่องศัสตราวุธพอจะยกออกไปต่อตีข้าศึก ก็ได้แต่รักษาพระนครมั่นอยู่ แต่ครั้นถึงรบพุ่งกันเข้าเขมรสู้ไทยไม่ได้ก็เข็ดขยาดไม่อาจเข้ามาถึงพระนครอีก แต่นั้นจึงเป็นแต่เที่ยวมาปล้นทรัพย์จับเชลยตามหัวเมืองที่ห่างออกไป
การที่เขมรพลอยเข้ามาซ้ำเติมในครั้งนั้น คิดดูก็เป็นคุณในทางอ้อม เพราะเหมือนเตือนต้อนไทยที่เที่ยวแตกฉานอยู่ ให้หนีภัยเข้ามารวบรวมกับที่กรุงศรีอยุธยา ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชมีกำลังรี้พลมากขึ้น อีกประการหนึ่งเป็นโอกาสให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชคิดอ่านจัดการป้องกันพระนครให้แข็งแรงยิ่งกว่าแต่ก่อนได้ โดยไม่ต้องเกรงพระเจ้าหงสาวดีจะระแวงสงสัย เพราะฉะนั้นจึงปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชธิราชได้ทรงจัดการป้องกันพระนครเพิ่มเติมขึ้นเป็นหลายอย่าง เป็นต้นว่าทางด้านตะวันออกที่ข้าศึกเคยเข้าพระนครได้นั้น ให้ขุดขยายคลองขื่อหน้าคูพระนครตั้งแต่วัดแม่นางปลื้ม (คือแต่ตรงปากคลองเมอืงทุกวันนี้) ลงไปจนปากข้าวสาร ให้ลึกและกว้างกว่าแต่ก่อน และเนื่องต่อการขุดคูขื่อหน้านั้น ให้สร้างกำแพงนครข้างด้านตะวันออกขยายาลงไปถึงริมน้ำให้เหมือนกับด้านอื่นด้วย แล้วให้สร้างป้อมใหญ่ขึ้นอีกป้อมหนึ่ง ที่มุมเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่าป้อมมหาชัย (อยู่ตรงตลาดหัวรอทุกวันนี้)
ป้อมตามแนวกำแพงกรุงเก่าว่ามี ๑๖ ป้อมด้วยกัน ที่เป็นป้อมสำคัญมีอยู่ ๓ ป้อม คือ ป้อมเพชรตั้งตรงลำแม่น้ำ รักษาทางด้านใต้ป้อม ๑ ป้อมซัดกบ (น่าจะมีชื่ออื่น อยู่ที่โรงทหารเดี๋ยวนี้) ตั้งตรงลำแม่น้ำแควหัวตะพาน รักษาทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ๑ สองป้อมนี้มีมาแต่ครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ป้อมมหาชัยที่สร้างขึ้นใหม่สร้างตรงทางน้ำร่วมที่มุมเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากการก่อสร้างที่กล่าวมา คงจจะได้จัดการรวบรวมไพร่พลและช้างม้าพาหนะ และหาเครื่องศัสตราวุธมีปืนใหญ่เป็นต้น มาเพิ่มเติมตามประเพณี จัดการรักษาพระนครแต่ก่อนโดยลำดับมาการรวบรวมรี้พลเห็นจะได้กำลังมากในไม่ช้า ข้อนี้เห็นได้จากการที่ขุดขยายคู และก่อกำแพงพระนคร ซึ่งจำต้องมีคนมากจึงจะทำได้ ส่วนการหาเครื่องศัสตราวุธมาจากต่างประเทศในสมัยนั้นก็ไม่ยากนัก ด้วยมีเรือต่างประเทศมาค้าขายทางทะเลอยู่เสมอ ของสิ่งใดที่ไทยต้องการพวกพ่อค้าต่างประเทศก็หามาแลกสินค้าในเมืองไทยไปจำหน่ายที่เมืองอื่น เมืองไทยเป็นเมืองมีสินค้าบริบูรณ์ จึงอาจจะแลกเปลี่ยนส่งของที่ไทยต้องการได้โดยสะดวก
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช มีพระราชโอรสธิดากับพระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ที่มีปราากฏนามในพงศาวดาร ๓ พระองค์ ที่ ๑ เป็นราชธิดา ทรงพระนามว่าพระสุพรรณเทวี สมเด็จพระมหาธรรมราชธิราชถวายพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองไปเป็นพระมเหสี เมื่อได้ครองกรุงศรีอยุธยา ที่ ๒ เป็นพระราชโอรส คนทั้งหลายเรียกกันเป็นสามัญว่า “ พระองค์ดำ ” เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชต้องอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงสาวดีเมื่อศึกคราวก่อน ทำนองพระเจ้าหงสาวดีจะขอไปเลี้ยงเป็นพระราชบุตรบุญธรรม โดยอุบายที่จะเอาไปเป็นตัวจำนำ จึงต้องถวายไปแต่พระชันษา ๙ ขวบ ได้ไปอยู่เมืองหงสาวดี ๖ ปี ครั้นพระเจ้าหงสาวดีได้กรุงศรีอยุธยา อภิเษกพระมหาธรรมราชาให้ครองแผ่นดิน สมเด็จพระมหาธรรมราชาถวายพระสุพรรณเทวีราชธิดาไปแทน พระเจ้าหงสาวดีจึงให้พระราชกุมารกลับมาอยู่ช่วยราชการบ้านเมือง สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชทรงสถาปนาให้เป็น “ พระนเรศวร ” ตำแหน่งสมเด็จพระราชโอรสเป็นพระมหาอุปราชแล้วให้เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงตามราชประเพณีแต่ก่อนมา พระราชโอรสพระองค์น้อยคนทั้งหลายเรียกกันเป็นสามัญว่า “ พระองค์ขาว ”[1] ทรงสถาปนาเป็น “ พระเอกาทศรถ ” ให้เสด็จอยู่ในกรุงฯ ด้วยยังทรงพระเยาว์
ในที่นี้จะอธิบายถึงประเพณีการปกครองหัวเมืองเหนือ ในสมัยนั้นแทรกลงสักหน่อยหนึ่ง ให้เข้าใจว่าเหตุใดสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชจึงให้สมเด็จพระนเรศวรขึ้นไปครองหัวเมืองเหนือ และเข้าใจได้ตลอดไปว่า เหตุใดตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรต่อมาจึงมิได้ทรงตั้งเจ้านายไปครองหัวเมืองเหนือ จนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
ที่เรียกว่าเมืองเหนือครั้งนั้น คือ เมืองพิษณุโลก (ชื่อเดิมเรียกเมืองสองแคว) ๑ เมืองพิจิตร (ชื่อเดิมเรียกเมืองสระหลวงหรือโอฆบุรี[2]) ๑ เมืองสุโขทัย (ราชธานีเดิม) ๑ เมืองสวรรคโลก (เดิมชื่อเมืองเชลียงแล้วสร้างเมืองศรีสัชนาลัยขึ้นเคียงข้างกัน) [3] ๑ เมืองพิชัย (เดิมเรียกว่าเมืองทุ่งยั้งบางโพธิ์) ๑ เมืองเพชรบูรณ์ (เดิมเรียกว่าอย่างไรสงสัยอยู่) ๑ เมืองกำแพงเพชร (เดิมเรียกเมืองชากังราวหรือนครชุม[4] เมืองนครสวรรค์ (เดิมเรียกเมืองพระบาง[5]) แต่อาจจะเป็นเมืองขึ้นของเมืองกำแพงเพชรเหมือนกับเมืองตากก็เป็นได้)) ๑ รวม ๗ เมืองด้วยกัน
เมื่อครั้งราชวงศ์พระร่วงเป็นใหญ่ในสยามประเทศ เมืองสุโขทัยเป็นราชธานี หัวเมืองเหนือนอกนั้นอยู่มณฑลราชธานีมาจนสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พงั่ว) พระองค์ที่ ๑ ทำสงครามมีชัยชนะได้เมืองเหนือเป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยา เมื่อ ปีมะเมีย ๑๙๒๑ สมเด็จพระบรมราชาธิราชให้แยกหัวเมืองทางลำแม่น้ำปิง ออกเป็นอาณาเขต ๑ ต่างหาก พระมหาธรรมราชาเจ้านครสุโขทัยจึงย้ายไปครองเมืองพิษณุโลกเป็นราชธานี ยังมีพระมหาธรรมราชาสืบราชวงศ์พระร่วง ครองหัวเมืองเหนือมาอีกพระองค์ ๑ หรือ ๒ พระองค์ประมาณเวลาสัก ๑๙ ปี สิ้นเจ้าเมืองเหนือที่มีความสามารถบ้านเมืองเป็นจลาจล สมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) พระองค์ที่ ๒ จึงให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่ยังเป็นพระราเมศวรราชโอรสเป็นพระมหาอุปราช เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก สำเร็จราชการหัวเมืองเหนือ เมื่อปีกุน พ.ศ. ๑๙๖๒ รวมหัวเมืองทั้งปวงกลับเป็นมณฑลเดียวอย่างเดิม แต่นั้นมามณฑลราชธานีเดิมกับมณฑลราชธานีใหม่ (คือกรุงศรีอยุธยา) ก็มิได้เป็นอย่างต่างประเทศกันดังแต่ก่อน แต่คนทั้งสองมณฑลคงยังจะรู้สึกว่าเป็นต่างพวกกัน เป็นพววกเมืองเหนือฝ่ายหนึ่ง พวกเมืองใต้ฝ่ายหนึ่งต่อมาอีกช้านาน
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นพระมหาอุปราช ครองเมืองพิษณุโลกอยู่ ๒ ปี สมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) สวรรคต ต้องเสด็จกลับลงมาครองราชสมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยา ไม่ได้ทรงตั้งเจ้านายพระองค์ใดไปปกครองหัวเมืองเหนือ เป็นแต่ให้ผู้ว่าราชการเมืองต่างเมืองต่างรักษาหน้าที่ ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาอย่างหัวเมืองชั้นใน อยู่มาไม่ช้า พระยายุทธิษฐิระเจ้าเมืองสวรรคโลก (เชลียง) ก็เป็นขบถไปนำทัพพระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่ เข้ามาตีหัวเมืองเหนือได้ไปทั้งเมืองสวรรคโลกเมืองสุโขทัยและเมืองกำแพงเพชร กองทัพหน้าของพระเจ้าติโลกราชบุกรุกลงมาจนถึงเมืองชัยนาท แต่ครั้งนั้นผู้รักษาเมืองพิษณุโลกต่อสู้ข้าศึกแข็งแรง รักษาเมืองไว้ได้จึงมิได้เสียหัวเมืองแก่ข้าศึกหมดทั้งมณฑล สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปจากกรุงศรีอยุธยาขับไล่ข้าศึกถอยหนีไปโดยลำดับจนถึงเมืองพิษณุโลก แล้วเอาเมืองพิษณุโลกเป็นที่ประทับ ทำการสงครามกับพระเจ้าติโลกราชต่อมาอีกหลายปี จึงได้หัวเมืองเหนือกลับคืนมาหมดทั้งมณฑล
ในเวลาเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จขึ้นไปทำสงครามครั้งนั้น โปรดให้พระบรมราชาพระราชโอรสพระองค์ใหญ่อยู่รักษาพระนครศรีอยุธยา ครั้นได้หัวเมืองเหนือคืนมาหมดแล้วคงจะเป็นด้วยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงพระราชดำริเห็นว่าหัวเมืองเหนือบ้านเมืองยับเยินด้วยการสงคราม และผู้คนยังระส่ำระสายนัก ทั้งไม่ทรงวางพระราชหฤทัย เกรงเกลือกข้าศึกจะมาบุกรุกอีกจึงประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ไม่เสด็จกลับลงมาครองกรุงศรีอยุธยาอย่างแต่ก่อน แต่นั้นเมืองพิษณุโลกก็กลับเป็นราชธานีของสยามประเทศ กรุงศรีอยุธยาลดลงมาเป็นเมืองพระมหาอุปราช ให้พระบรมราชาราชโอรสพระองค์ใหญ่ปกครองมาตลอดเวลา ๒๕ ปี จนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๐๓๑ ในตอนนี้ที่ราชวงศ์พระร่วงกับราชวงศ์กรุงศรีอยุธยาเริ่มเกี่ยวดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จเสวยราชย์อยู่ ณ เมืองพิษณุโลกครั้งนั้น เชื้อพระวงศ์สมเด็จพระร่วงยังมีอยู่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไปมีพระมเหสีที่เมืองพิษณุโลกองค์ ๑ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระร่วง มีพระราชโอรสทรงพระนามว่าพระเชษฐา ทรงสถาปนาให้เป็นพระมหาอุปราชเมืองพิษณุโลก เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคต พระเชษฐายอมถวายราชสมบัติแก่พระบรมราชา พระเจ้าพี่พระองค์ใหญ่ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยา ๆ ก็กลับมาเป็นราชธานี เมืองพิษณุโลกจึงลดเป็นเมืองพระมหาอุปราชต่อมาเหมือนตอนแรก สมเด็จพระบรมราชธิราชครองราชสมบัติอยู่ ๓ ปี สวรรคต พระเชษฐาก้ได้ครองราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๒
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เป็นชาวเมืองเหนือเพราะสมภพและทรงพระเจริญวัยอยู่ในเมืองเหนือ จนได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ปรากฏว่า มีพระราชกุมาร ๓ พระองค์ เป็นพระราชโอรสเกิดแต่พระมเหสีพระองค์ ๑ ประทานพระนามว่า “ ศรีอินทราทิตย์ ” จึงมิได้ให้ใช้พระนามพระราเมศวรตามแบบเก่า เพราะฉะนั้นเข้าใจว่าฝ่ายพระมารดาของพระอาทิตยวงศ์ก็เห็นจะเป็นเชื้อสายราชวงศ์ฝ่ายเหนือเหมือนกัน พระราชกุมารอัก ๒ พระองค์นั้นเห็นจะเป็นลูกพระสนม ปรากฏพระนามในภายหลังว่า พระไชยราชาพระองค์ ๑ พระเฑียรราชาพระองค์ ๑ พระไชยราชานั้นเข้าใจว่าพระชนนีเป็นชาวเมืองเหนือ ด้วยในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ฝ่ายพระบิดาเป็นเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระร่วง และฝ่ายพระมารดาเป็นเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระไชยราชาด้วยกันดังนี้ แต่พระเฑียรราชานั้นพิเคราะห์ตามเหตุการณ์ที่จะกล่าวต่อไป เข้าใจว่าพระมารดาเห็นจะเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาข้างใต้
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วเสด็จลงมาเสวยราชสมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยา เพื่อจะรักษาพระราชอาณาจักรทางข้างใต้ให้มั่นคง ต่อมาทรงสถาปนาพระอาทิตยวงศ์ราชโอรสให้เป็นพระบรมราชามหาอุปราช ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกตามประเพณีแต่ก่อน ครั้นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เสด็จสวรรคต พระบรมราชาได้รับรัชทายาทจึงเสด็จลงมาเสวยราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยา ปรากฏพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธังกูร เข้าใจว่าในระยะนี้ทรงสถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ ๒ พระองค์ที่กล่าวมานั้น เป็นพระไชยราชาพระองค์ ๑ พระเฑียรราชาพระองค์ ๑ และเข้าใจว่าให้พระไชยราชาไปครองเมืองพิษณุโลกรั้งราชการเมืองเหนือ เพราะพระรัษฎาธิราชกุมารราชโอรสยังทรงพระเยาว์อยู่ แต่พระเฑียรราชาจะอยู่ในกรุงฯ หรือจะได้ไปครองเมืองใดไม่มีเค้าเงื่อนที่จะทราบได้ สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธังกูรเสวยราชสมบัติอยู่ ๔ ปี ประชวรไข้ทรพิษสวรรคต ข้าราชการเชิญพระรัษฎาธิราชกุมารราชโอรสพระชันษาเพียง ๕ ขวบ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระไชยราชาไม่ยอม จึงยกกำลังลงมากำจัดพระรัษฎาธิราชกุมารเสีย แล้วขึ้นครองราชสมบัติต่อมา
ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช ไม่ทรงตั้งเจ้านายไปครองเมืองพิษณุโลก ให้แต่ผู้ว่าราชการเมืองต่างเมืองต่างปกครองขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา คงเป็นเพราะทรงตั้งแต่งผู้ซึ่งได้ทรงคุ้นเคยใช้สอยมาแต่ก่อนอันเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้ ให้ไปครองเมืองปรากฏชื่อพระยาพิษณุโลก ได้ตามเสด็จการสงครามหลายคราวถึงกระนั้นก็ไม่เป็นการเรียบร้อย ด้วยปรากฏในหหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ต่อมา “ พระนารายณ์ ” ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชร (คือพระยารามณรงค์) เป็นขบถ ครั้นสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต ถึงแผ่นดินพระเฑียรราชาซึ่งทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีพระราชโอรส ๒ พระองค์ ทรงสถาปนาเป็นพระราเมศวรพระองค์ ๑ แต่มิได้โปรดให้ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกตามแบบอย่างแต่ก่อน ข้อนี้ที่ทำให้แลเห็นว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะมิได้เกี่ยวดองเป็นเชื้อสายทางราชวงศ์ฝ่ายเหนือ จึงไม่วางพระหฤทัยที่จะให้พระราเมศวรพระราชโอรสขึ้นไปครองเมืองเหนือ แต่ก็ทรงพระปรารภห่วงใยถึงการปกครองหัวเมืองเหนือ เกรงว่าถ้าให้เป็นหัวเมืองแยกกันอยู่ จะเกิดเหตุจลาจลดังเคยเป็นมาแล้วทั้ง ๒ คราว ครั้นเมื่อปูนบำเหน็จข้าราชการที่มีความชอบในการถวายราชสมบัติ ทรงพระราชดำริว่า ขุนพิเรนทรเทพเป็นเชื้อเจ้าในราชวงศ์พระร่วง จึงยกเป็นเจ้า และสถาปนาให้เป็นที่พระมหาธรรมราชาไปครองเมืองเหนือ เหมือนอย่างพระมหาธรรมราชาในราชวงศ์พระร่วงที่เคยเป็นประเทศราชมาแต่ก่อน และพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีราชธิดาให้เป็นพระมเหสี เพื่อจะให้ราชวงศ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ว่าที่แท้เป็นราโชบายในทางรัฐาภิบาลซึ่งจะปกครองพระราชอาณาจักรให้มั่นคง มิใช่แต่เป็นการปูนบำเหน็จอย่างเดียว
พระมหาธรรมราชาขึ้นไปปกครองหัวเมืองเหนือ ก็เป็นการเรียบร้อยดี แต่เผอิญเกิดศึกพระเจ้าหงสาวดีอันเป็นศึกใหญ่หลวงเหลือกำลังคราวพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ หัวเมืองเหนือไม่สู้เสียหายเท่าใดนักด้วยข้าศึกเป็นแต่ผ่านไปทางเมืองกำแพงเพชรในเวลาล่าทัพ แต่ถึงครั้งศึกพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกมาคราวแรก เข้าตีหัวเมืองเหนือก่อน เมืองกำแพงเพชรกับเมืองสุโขทัยไม่ได้ยอมอ่อนน้อม พระเจ้าหงสาวดีตีได้จึงกวาดผู้คนไปเป็นเชลยทั้ง ๒ เมือง เสียผู้คนพลเมืองไปในครั้งนั้นเห็นจะราวหนึ่งในสามส่วนของจำนวนคนในมณฑล แต่คราวหลังหัวเมืองเหนือไปเป็นพวกข้าศึก ผู้คนเป็นแต่ถูกกะเกณฑ์เข้ากองทัพไม่ยับเยินเหมือนกรุงศรีอยุธยา การปกครองหัวเมืองเหนือจึงยังสำคัญ จำเป็นจะต้องมีเจ้านายปกครองอยู่เหมือนอย่างแต่ก่อนดังได้กล่าวมา สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร ความจำเป็นเช่นว่าหมดไป เพราะชาวเมืองเหนือต้องอพยพลงมาอยู่เมืองใต้ ปะปนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชาวใต้มาหลายปี ความที่เคยรู้สึกว่าเป็นชาวเหนือชาวใต้ต่างพวกกันนั้นหมดไป ครั้นไทยมีชัยชนะได้เมืองต่างประเทศที่ใกล้เคียงมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาโดยรอบ ชายพระอาณาจักรยิ่งห่างออกไป หัวเมืองเหนือก็ยิ่งสนิทชิดกับราชธานีปกครองสะดวกยิ่งขึ้นทุกที จึงหมดความจำเป็นที่จะต้องให้พระมหาอุปราชขึ้นไปครองหัวเมืองเหนือในชั้นหลังต่อมาด้วยประการฉะนี้
ที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกครั้งนั้นเมื่อพิเคราะห์ดูในเวลานี้ก็น่าพิศวง ดูเหมือนเทวดาเลือกสรรไปสำหรับจะให้คิดกู้เมืองไทยให้กลับเป็นอิสระ เพราะพระราชประวัติและพระอุปนิสัยของสมเด็จพระนเรศวรเหมาะแก่แหตุการณ์ ไม่มีบกพร่องเลยแต่สักอย่างเดียว เบื้องต้นแต่พระชาติประวัติก็เป็นเชื้อพระวงศ์ทั้งสมเด็จพระร่วงและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ อีกประการหนึ่งเสด็จสมภพและทรงพระเจริญวัยในเมืองเหนือ สองข้อนี้ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความนิยมยินดีแก่ชาวเมืองเหนือโดยธรรมดา ส่วนพระองค์เล่าเพราะได้ทรงคุ้นเคยกับถิ่นฐานและผู้คน ซึ่งเสด็จไปปกครองก็ไม่มีความยากลำบากพระหฤทัย อีกประการหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จไปอยู่เมืองหงสาวดี ๖ ปี ข้อนี้เป็นประโยชน์ยิ่งนัก เพราะในเวลานั้นไทยกำลังกลัวพม่าอยู่โดยมาก แต่สมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จไปอยู่ในหมู่พม่ามอญ จนทรงทราบ นิสัยใจคอตลอดจนล่วงรู้ฤทธิ์เดชของพม่าว่ามีจริงเพียงใด เหมือนมีทุนสำหรับคิดอ่านการต่อสู้ได้ใกล้ความจริงยิ่งกว่าผู้อื่นทั้งสิ้น ยังส่วนพระอุปนิสัยของสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งอาจจะเห็นได้ในเรื่องพระราชพงศาวดารเป็นแน่นอนว่าเป็นนักรบมาแต่พระกำเนิด ไม่ต้องมีใครสั่งสอนชักชวนให้ทรงนิยมในการทำศึกสงคราม ด้วยเหตุนี้จึงว่าเหมือนกับเทพยาเชิญเสด็จมาสมภพ ให้เหมาะแก่เวลากาลที่จะก่อกู้เมืองไทยให้พ้นจากเป็นทาสของชาติอื่น
เรื่องราวที่จะกล่าวต่อไปในตอนนี้ ที่จริงก็เหมือนเป็นพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวร จำเดิมแต่เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก เวลานั้นพระชันษาได้ ๑๖ ปี กิจเบื้องต้นที่ต้องทรงขวนขวายครั้งนั้น คิดดูเห็นจะเป็นเรื่องหาตัวคนสำหรับทรงใช้สอยก่อนอย่างอื่น เพราะเมื่อพระเจ้าหงสาวดีตีกรุงศรีอยุธยาได้อ้างว่าข้าราชการที่เกลียดชังสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชมีมาก จะให้คงอยู่ไว้ใจไม่ได้ จึงได้รวบรวมข้าราชการในกรุงฯ เอาไปเมืองหงสาวดีเสียเป็นอันมาก เหลือไว้ให้อยู่กับสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชไม่เท่าใด เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชทรงจัดการปกครองบ้านเมืองจะให้เป็นปรกติดังแต่ก่อน คงต้องถอนข้าราชการหัวเมืองเหนือ ซึ่งเคยทรงใช้สอยเอาลงมารับราชการในมณฑลราชธานีมาก ด้วยเหตุนี้เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก จำนวนข้าราชการซึ่งสำหรับเจ้าหน้าที่ปกครองทางหัวเมืองเหนือคงจะบกพร่องเบาบาง จึงต้องเลือกหาข้าราชการที่สำหรับจะทรงใช้สอยเป็นกิจเบื้องต้นอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลเป็นข้อสำคัญในกาลภายหน้ายิ่งกว่าอย่างอื่น ด้วยในขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรมีพระชนมายุกำลังรุ่นเจริญวัย ทั้งได้คุ้นเคยรู้เห็นกิจการของประเทศที่นิยมกันว่าวิเศษในยุทธวิธีในสมัยนั้น จึงสามารถจะเลือกสรรฝึกหัดผู้คนที่เป็นรุ่นราวคราวเดียวกันไว้ทรงใช้สอยมากขึ้นโดยลำดับมา ข้าราชการชั้นนี้ที่มาได้เป็นแม่ทัพนายกองของสมเด็จพระนเรศวร เมื่อทำสงครามกู้อิสระภาพล้วนเป็นคนชุดใหม่และฝึกหัดด้วยวิธีอย่างใหม่ทั้งสิ้น
สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกได้ไม่ช้า พระเจ้าหงสาวดีก็เกณฑ์กองทัพไทยไปช่วยตีกรุงศรีสัตนาคนหุต ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชกับสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปในกองทัพเดียวกัน แต่เมื่อยกไปถึงหนองบัวลำภู สมเด็จพระนเรศวรประชวรเป็นไข้ทรพิษ พระเจ้าหงสาวดีทราบพอประจวบเวลาจวนจะเสด็จการสงคราม จึงให้กองทัพไทยเลิกกลับลงมา สมเด็จพระนเรศวรหาทันได้เริ่มรบพุ่งในครั้งนั้นไม่ ต่อมาปรากฏว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างวังใหม่ คือวังจันทรเกษมทุกวันนี้ เป็นที่ประทับในกรุงศรีอยุธยา ด้วยลงมาเฝ้าสมเด็จพระชนกชนนีนาถเนืองๆ ครั้งหนึ่งเวลาเสด็จลงมาประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา พระยาจีนจันตุขุนนางจีนเมืองเขมรซึ่งเข้ามาสามิภักดิ์อยู่ในกรุงฯ ได้รู้การงานทั้งปวงในพระนครแล้วลอบลงเรือสำเภาหนีไปทางทะเล พอสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบก็เรียกพวกข้าหลวงที่ตามเสด็จลงมาจากเมืองพิษณุโลกลงเรือรีบตามไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถพระอนุชาด้วยกัน ไปทันเรือพระยาจีนจันตุที่ปากน้ำ พระยาจีนจันตุต่อสู้ สมเด็จพระนเรศวรเร่งเรือพระที่นั่งให้พายขึ้นไปข้างหน้าเรืออื่น เสด็จออกยืนทรงปืนนกสับยิงข้าศึกเองที่หน้ากัญญา ไม่เลี่ยงหลีกกระสุนปืน จนข้าศึกยิงมาถูกรางพระแสงปืนที่ทรงอยู่นั้นแตกไป ฝ่ายสมเด็จพระเอกาทศรถเห็นสมเด็จพระเชษฐากล้านักเกรงจะเป็นอันตราย ให้เร่งเรือลำที่ทรงเข้าบังเรือพระที่นั่ง ขณะนั้นเรือสำเภาพระยาจีนจันตุได้ลมแล่นใบออกทะเลได้ เรือที่ลงไปตามเป็นแต่เรือยาวสู้คลื่นไม่ไหว ก็ต้องเสด็จกลับคืนมากรุงศรีอยุธยา การครั้งนี้ที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าเป็นครั้งแรกที่สมเด็จพระนเรศวรได้รบพ่งด้วยพระองค์เอง พอแลเห็นได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรเป็นนักรบอย่างไร และวิธีการรบของสมเด็จพระนเรศวรที่เอาพระองค์ออกหน้า ผิดกับแต่ก่อนอย่างไร ยังอีกประการหนึ่งซึ่งเห็นได้แต่คราวนี้ไป ว่าสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเคารพรักใคร่กันเพียงไร จึงได้เป็นคู่ร่วมทุกข์สุขต่อสู้ข้าศึกด้วยกันจนตลอดการสงคราม
ต่อมาอีกคราวหนึ่ง เป็นเวลาสมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงมาประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเหมือนกับคราวก่อน ได้ข่าวเข้ามาว่าเจ้ากรุงกัมพูชาให้พระทศโยธากับพระสุรินทราชา คุมกองทัพเขมรมาเที่ยวไล่กวาดผู้คนทางเมืองนครราชสีมา พอได้ทรงทราบสมเด็จพระนเรศวรก็ทรงจับขบวนช้างเร็วม้าเร็วกับพวกพลทหาร ๓,๐๐๐ รีบเสด็จไป ให้พระยาชัยบุรีกับพระศรีถมอรัตนผู้ว่าราชการเมืองท่าโรง(ซึ่งยกขึ้นเป็นเมืองวิเชียรบุรีในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์) คุมทัพม้า ๕๐๐ เป็นกองหน้าไปก่อน ให้ไปซุ่มอยู่สองข้างทางที่กองทัพเขมรจะยกมา ฝ่ายกองทัพเขมรยกมาด้วยความประมาท ด้วยคาดว่าห่างพระนครคงไม่มีใครต่อสู้ ทัพเขมรกองหน้าเดินถลำเข้ามาในที่ไทยซุ่มอยู่ ทหารไทยออกรุมตีไม่ทันรู้ตัวก็แตกฉาน กองทัพไทยติดตามไล่ฆ่าฟันเขมรไปจนถึงทัพหลวง ฝ่ายพระทศโยธา พระสุรินทราชา เห็นทัพหน้าแตกยับเยินไป ไม่รู้ว่ากองทัพไทยจะใหญ่น้อยสักเพียงใด ก็รีบถอยทัพหนีกลับไปกรุงกัมพูชา เรื่องราวที่สมเด้จพระนเรศวรเริ่มรบพุ่ง แม้มีปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารเพียง ๒ คราวที่กล่าวมานี้ ก็พอเห็นได้ว่าครั้งนั้น ความแกล้วกล้าสามารถของสมเด็จพระนเรศวรคงเลื่องลือกันแพร่หลายจนปรากฏออกไปถึงกรุงหงสาวดี จึงมีเหตุการณ์เป็นผลยืดยาวดังจะบรรยายต่อไป
ถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๒๔ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองประชวรเป็นปัจจุบัน สิ้นพระชนม์เมื่อเดือน ๑๒ มังไชยสิงห์ราชโอรสซึ่งเป็นพระมหาอุปราชาได้ครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าหงสาวดี พม่าเรียกพระนามว่า “ พระเจ้านันทบุเรง ” ทรงตั้งมังกยอชวา ในหนังสือพระราชพงศาวดารเรียกอย่างมอญว่า มังสามเกลียด ราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นพระมหาอุปราชา แล้วให้มีตราไปยังหัวเมืองน้อยใหญ่ให้ทราบว่า กรุงหงสาวดีเปลี่ยนรัชกาลใหม่ เมื่อเจ้าประเทศราชทั้งปวง ทราบว่ากรุงหงสาวดีเปลี่ยนรัชกาล ต่างก็พากันไปเฝ้าพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่ตามประเพณีที่เป็นเมืองขึ้น ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวร พระชันษาได้ ๒๖ ปี ทูลขออาสาเสด็จไปเมืองหงสาวดีต่างพระองค์สมเด็จพระราชบิดา ด้วยประสงค์จะได้ฟังการงานในเมืองพม่ารามัญว่าเปลี่ยนรัชกาลใหม่จะเป็นอย่างไรบ้าง สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชก็ทรงบัญชาตาม
ขณะเมื่อเจ้านายประเทศราชไปประชุมกันอยู่ที่เมืองหงสาวดีโดยมาก ครั้งนั้นความปรากฏว่าเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคัง[6] ตั้งแข็งเมืองเพิกเฉยเสียไม่มาเฝ้าพระเจ้าหงสาวดี ๆ ทรงขัดเคืองจะให้กองทัพไปตีเมืองคัง ดำรัสว่าเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ก็ได้เคยทำศึกสงครามมามากแล้ว คราวนี้ควรจะให้เจ้านายชั้นเล็กรุ่นใหม่ไปตีเมืองคังให้เคยการทัพศึกเสียบ้าง ด้วยพระเจ้าหงสาวดีประสงค์จจะให้เป็นเกียรติยศแก่ราชโอรสซึ่งเป็นพระมหาอุปราชาขึ้นใหม่ จึงให้เกณกองทัพ ๓ ทัพ ให้พระมหาอุปราชาคุมกองทัพเมืองหงสาวดีทัพหนึ่ง ให้พระสังกทัต[7] คุมทัพหนึ่ง ให้พระนเรศวรคุมกองทัพไทยทัพหนึ่ง ยกไปตีเมืองคังทั้ง ๓ ทัพ เป็นทำนองประชันฝีมือกัน และเมืองคังนั้นตั้งอยู่บนภูเขา ทางขึ้นลงคับขัน ชาวเมืองต่อสู้รักษาเมืองได้ง่าย ครั้นกองทัพยกไปถึงพระมหาอุปราชาจึงปรึกษากันกับพระสังกทัต และสมเด็จพระนเรศวรว่า ทางที่จะเข้าตีเมืองคังมีทางขึ้นเขาแต่โดยเฉพาะ จะยกกำลังขึ้นไปพร้อมกันหมดก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด จะเอาไพร่พลไปล้มตายเสียเปล่า ๆ ชาวเมืองคังที่รักษาเมืองก็ไม่มากมายเท่าใดนัก กองทัพยกไปด้วยกันถึง ๓ ทัพ ผลัดเวรกันเข้าตีเมืองทัพละวันจะดีกว่า เห็นชอบพร้อมกันดังนี้แล้ว ก็ให้ตั้งค่ายรายกันอยู่ที่เชิงเขา ครั้นถึงวันเวรพระมหาอุปราชายกขึ้นไปปล้นเมืองคังแต่เวลา ๒๒ นาฬิกา พวกชาวเมืองต่อสู้เป็นสามารถรบกันอยู่จนรุ่งสว่างเข้าเมืองไม่ได้ ไพร่พลอิดโรยก็ต้องถอยลงมา ถึงวันเวรพระสังกทัตยกขึ้นไปตีเมืองคังก็เป็นเช่นนั้นอีก ในระหว่างเวลาเวรของพระมหาอุราชากับพระสังกทัตตีเมืองคังนั้น สมเด็จพระนเรศวรเที่ยวตรวจท้องที่สืบได้ความว่ามีทางที่จะขึ้นไปถึงเมืองคังทางด้านอื่นได้อีกทางหนึ่ง ครั้นถึงวันเวรสมเด็จพระนเรศวร จึงทรงจัดแบ่งทหารเป็นสองกอง พอเวลาค่ำมืดให้กองน้อยมาซุ่มอยู่ทางด้านหน้า ซึ่งพระมหาอุปราชากับพระสังกทัตเคยยกขึ้นไป ให้กองใหญ่ซุ่มอยู่ตรงทางที่พบใหม่ สงบอยู่จนดึกเวลา ๔ นาฬิกาจึงให้กองน้อยยกขึ้นไป สั่งให้ยิงปืนโห่ร้องทำอาการดุจจะเข้าปล้นเมืองทางด้านนั้น พวกชาวเมืองสำคัญว่าข้าศึกจะยกขึ้นไปเหมือนคราวก่อน ๆ เป็นเวลามืดและไม่เห็นว่าข้าศึกมามากน้อยเท่าใด ก็พากันมารบพุ่งต้านทานทางด้านหน้า พอสมเด็จพระนเรศวรทรงสังเกตเห็นว่าพวกชาวเมืองมารวมรักษาทางด้านหน้าเสียเป็นอันมากแล้ว ก็ให้สัญญาณให้กองใหญ่ยกกรูกันขึ้นไปทางด้านที่พบใหม่ พอเวลาเช้าก็เข้าเมืองได้ จับได้ตัวเจ้าฟ้าเมืองคังแล้ว ทั้ง ๓ ทัพก็เลิกกลับมายังเมืองหงสาวดี พระมหาอุปราชากับพระสังกทัตได้ความละอายก็เกลียดชังสมเด็จพระนเรศวรมาแต่ครั้งนั้น ถึงพระเจ้าหงสาวดีไม่พอพระหฤทัยแต่มิรู้ที่จะทำประการใด ก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่สมเด็จพระนเรศวร ตามประเพณีที่ไปชนะศึกกลับมา
เมื่อตีเมืองคังได้แล้ว เวลาสมเด็จพระนเรศวรยังเสด็จอยู่ที่เมืองหงสาวดีครั้งนั้น เห็นจะมีเหตุอย่างไรเกิดขึ้นอีก เป็นทำนองเรื่องที่ปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า สมเด็จพระนเรศวรเล่นชนไก่กับพระมหาอุปราชา ไก่พระมหาอุปราชาแพ้ พระมหาอุปราชากำลังขัดเคืองแกล้งตรัสเสียดสีว่า “ ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงหนอ ” สมเด็จพระนเรศวรก็ขัดเคืองแต่สะกดพระหฤทัยไว้ ตอบไปว่า “ ไก่ตัวนี้อย่าว่าแต่จะชนเอาเดิมพันเลย ถึงจะชนเอาบ้านเมืองก็ชนได้ ”ดังนี้ ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า คงจะมีเรื่องอย่างไรทำนองเรื่องนี้เกิดขึ้น ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรจะได้ทรงแสดงวาจาให้ปรากฏแก่พวกหงสาวดีว่าจะไม่ยอมให้ดูหมิ่นไทยเหมือนอย่างแต่ก่อน เมื่อสมเด็จพระนเรศวรกลับมาแล้ว ความนั้นทราบถึงพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง เห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรทะนงองอาจนัก ถ้าไม่กำราบปราบปรามเสีย นานไปก็จะกำเริบเป็นศัตรูขึ้น จึงมีรับสั่งให้นันทสูกับราชสังครำคุมพลพม่ากับไทยใหญ่ทำทางเข้ามาแต่เขตแดน และมาตั้งยุ้งฉางเตรียมเสบียงอาหารไว้ที่เมืองกำแพงเพชร เป็นการเหมือนหนึ่งว่า จะยกกองทัพเข้ามาเมื่อใดให้มาได้โดยสะดวก พระเจ้าหงสาวดีเห็นจะให้บอกมายังกรุงศรีอยุธยาว่า ให้เตรียมทางเพื่อจะยกกองทัพผ่านไปกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่ที่จริงคงประสงค์จะขู่สมเด็จพระนเรศวรมิให้คิดร้ายหรือมิฉะนั้นก็คอยหาเหตุยยกกองทัพเข้ามากวาดต้อนผู้คนพลเมืองไปเสียอีก มิให้ไทยมีกำลังที่จะไปทำร้ายได้
ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเมื่อเสด็จออกไปเมืองหงสาวดีครั้งนั้น ได้สืบสวนการภายในทราบแน่แก่พระหฤทัยว่าเจ้าเมืองประเทศราชทั้งหลาย ไม่กลัวเกรงนับถือพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่เหมือนกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ทั้งพวกต่างชาติต่างภาษาคือ มอญ ไทยใหญ่ และพวกยะไข่ เป็นต้น ซึ่งต้องจำใจอยู่ในอำนาจพม่าด้วยความเกรงกลัวพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมาแต่ก่อน ก็คิดเอาใจออกห่างอยากจะหาโอกาสให้พ้นอำนาจพม่าอยู่เหมือนกันกับไทย ทรงประมาณการเห็นว่า ไม่ช้านักคงมีเหตุทางเมืองหงสาวดี ยังไม่ควรจะรีบให้เกิดเหตุทางเมืองไทยในเวลาที่ยังไม่ได้ท่วงที จึงแกล้งทำไม่รู้เท่าที่พม่ามาทำทางและตั้งยุ้งฉางที่เมืองกำแพงเพชรครั้งนั้น เป็นแต่ให้ตระเตรียมกำลังไว้เงียบ ๆ คอยหาช่องโอกาสอยู่
ต่อมาไม่ช้านักเหตุก็เกิดขึ้นทางเมืองหงสาวดี ด้วยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้ทรงตั้งเจ้านายไปครองเมืองหลายองค์ ที่สำคัญนั้นคือ ราชอนุชาเป็นพระเจ้าตองอูองค์หนึ่ง เป็นพระเจ้าแปรองค์หนึ่ง ราชบุตรเป็นเมืองประเทศราชทั้ง ๔ องค์ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองให้มังกยอชวาราชนัดดา ที่เป็นพระมหาอุปราชาองค์ใหม่อภิเษกกับราชนัดดา ซึ่งเป็นพระธิดาของพระเจ้าอังวะอยู่ด้วยกันมาแต่แผ่นดินก่อน ครั้นมาถึงแผ่นดินพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง พระมหาอุปราชามีพระมเหสีใหม่ จึงเกิดวิวาทถึงทุบตีกันกับพระธิดาของพระเจ้าอังวะ นางได้ความเจ็บแค้นฟ้องไปถึงพระบิดาว่าถูกพระเจ้าหงสาวดีกับพระมหาอุปราชากดขี่ข่มเหง ฝ่ายพระเจ้าอังวะทำนองจะมีเหตุเป็นอริกับพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่มาแต่ก่อนอยู่บ้างแล้ว จึงเกลี้ยกล่อมพวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่เข้าเป็นพรรคพวกตั้งแข็งเมืองขึ้น แล้วแต่งทูตให้ไปชวนพระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ และพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ให้แข็งเมืองต่อพระเจ้าหงสาวดีบ้าง ครั้งนั้นพระเจ้าอังวะคงให้มาชักชวนสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชด้วยเหมือนกัน ฝ่ายพระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู และพระเจ้าเชียงใหม่ไม่เข้ากับพระเจ้าอังวะ ต่างจับทูตไปถวายพระเจ้าหงสาวดี ๆ จึงให้เตรียมกองทัพหลวงจะเสด็จไปตีเมืองอังวะ และสั่งให้พระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตและพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ยกกองทัพไปช่วยตีเมืองอังวะด้วยทั้ง ๕ พระองค์ ประสงค์จะพิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้าองค์ใดไปช่วยตามรับสั่ง ก็ยังสามิภักดิ์ต่อพระเจ้าหงสาวดี ถ้าองค์ใดไม่ไปช่วยก็จะถือว่าเป็นพวกพระเจ้าอังวะ เอาเป็นเหตุที่จะไปปราบปรามเสียด้วย ครั้งนั้นพระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ต่างยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีทันตามกำหนดนัด ส่วนกรุงศรีอยุธยาบอกว่าจะให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปแทนพระองค์ แต่กองทัพไทยหาได้ยกไปตามเวลากำหนดไม่ เมื่อพระเจ้าหงสาวดีจะยกกองทัพหลวงไปจากเมืองหงสาวดีนึกระแวงสมเด็จพระนเรศวรว่าบางทีจะอุบายคิดร้ายข้างหลัง จึงให้พระมหาอุปราชาคุมกองทัพอยู่รักษาพระนครและตรัสสั่งไว้ว่า ถ้าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพออกไปให้คิดอ่านกำจัดเสียให้จงได้
ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวร ตั้งแต่ได้ทรงทราบว่าพระเจ้าอังวะแข็งเมืองต่อพระเจ้าหงสาวดี ก็เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องขวนขวายให้เมืองไทยเป็นอิสระภาพ เพราะพระเจ้าหงสาวดีกับพระเจ้าอังวะคงจะต้องรบกัน ถ้าพระเจ้าหงสาวดีมีชัยชนะ สิ้นห่วงทางเมืองอังวะก็คงยกมาตีเมืองไทย ตามที่ตระเตรียมการไว้ ถ้าหากว่าพระเจ้าหงสาวดีแพ้พระเจ้าอังวะ ไทยเฉยอยู่ก็จะเสียโอกาสเปล่าไม่เป็นประโยชน์อันใด ครั้นพระเจ้าหงสาวดีเกณฑ์กองทัพเข้ามา จึงทูลอาสาสมเด็จพระราชบิดาจะยกกองทัพไป แต่แกล้งจัดการตระเตรียมเสียให้ช้า ถ่วงเวลามาจนเห็นว่าพระเจ้าหงสาวดีจะยกไปจากราชธานีแล้ว สมเด็จพระนเรศวรจึงเสด็จยกกองทัพหลวงออกจากเมืองพิษณุโลก เมื่อเดือน ๔ แรม ๖ ค่ำ ปีมะแม พ.ศง ๒๑๒๖ แล้วเดินกองทัพไปช้า ๆ จนเดือน ๖ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ จึงได้เสด็จไปถึงเมืองแครง อันเป็นหัวเมืองมอญที่ต่อกับแดนไทย[8] ความมุ่งหมายของสมเด็จพระนเรศวรที่ยกไปให้ช้าครั้งนั้น เห็นจะรอให้ใกล้ต่อเวลาที่พระเจ้าหงสาวดีจะไปแพ้หรือชนะศึกที่เมืองอังวะ ถ้าพระเจ้าหงสาวดีไปเพลี่ยงพล้ำลงทางโน้นก็จะตีเมืองหงสาวดีซ้ำทีเดียว ถ้าหากว่าพระเจ้าหงสาวดีไม่แพ้ก็จะคิดเอาแต่ครัวไทยที่ตกไปอยู่ในเมืองหงสาวดีกลับมาเป็นกำลังทำการสงครามต่อไปข้างหน้า ดังจะปรากฏในเรื่องราวต่อไป
ฝ่ายข้างพระมหาอุปราชาที่อยู่รักษาเมืองหงสาวดี ก็คิดเป็นกลอุบายให้พระยามอญสองคน ชื่อพระยาเกียรติคนหนึ่ง ชื่อพระยาพระรามคนหนึ่ง (*บางฉบับ เป็นพระยาราม) ซึ่งมีสมัครพรรคพวกอยู่ที่เมืองแครงมาก และทำนองจะเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับสมเด็จพระนเรศวรมาแต่ก่อน ให้เป็นข้าหลวงลงมาคอยรับสมเด็จพระนเรศวรที่เมืองแครง และตรัสสั่งมาเป็นความลับว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไป ถ้าพระมหาอุปราชายกเข้าตีทางข้างหน้าเมื่อใด ให้พระยาเกียรติ พระยาพระรามคุมสมัครพรรคพวกเข้าตีกระหนาบกระบวนหลัง ช่วยกันกำจัดพระนเรศวรเสียให้จงได้ พระยาเกียรติ พระยาพระราม ลงมาถึงเมืองแครง มาขยายความลับแก่พรรคพวก มีพระมหาเถรคันฉ่องผู้เป็นอาจารย์เป็นต้น ขณะนั้นพวกมอญชาวเมืองแครงเกลียดชังพม่าเพราะถูกพม่ากดขี่มาแต่ก่อนมีเป็นอันมาก อยากจะพ้นจาากอำนาจพม่าอยู่เหมือนกับพวกมอญในหัวเมืองอื่น ๆ แต่เมืองแครงอยู่ต่อแดนไทยในทางคมนาคมผู้คนพลเมืองคงจะได้คุ้นเคยกับสมเด็จพระนเรศวร เมื่อเสด็จผ่านไปมาอยู่แต่ก่อน เห็นจะมีคนนับถืออยู่มาก ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ เมื่อพวกมอญเมืองแครง มีพระมหาเถรคันฉ่องเป็นต้น ทราบว่าพระมหาอุปราชาจะล่อลวงเอาสมเด็จพระนเรศวรไปทำร้าย จึงเอาใจมาเข้าข้างสมเด็จพระนเรศวร พากันว่ากล่าวห้ามปรามพระยาเกียรติ พระยาพระรามมิให้ช่วยพม่าคิดร้าย ครั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปถึงเมืองแครงตั้งพลับพลาประทับอยู่ที่ริมวัดพระมหาเถรคันฉ่อง และเสด็จไปเยี่ยมเยียนโดยได้ทรงคุ้นเคยมาแต่ก่อน พระมหาเถรคันฉ่องมีความสงสาร เห็นว่าเขาจะล่อลวงเอาไปทำร้าย จึงเตือนสมเด็จพระนเรศวรให้รู้พระองค์ แล้วไปเกลี้ยกล่อมพระยาเกียรติ พระยาพระรามให้มาสามิภักดิ์ทูลความจริงให้ทรงทราบแต่ต้นจนปลายทุกประการ
สมเด็จพระนเรศวรทรงพระดำริเห็นว่า การเป็นอริกับเมืองหงสาวดีถึงเวลาที่จะต้องให้เป็นการเปิดเผยแล้ว จึงมีรับสั่งให้หาแม่ทัพนายกองมาประชุมพร้อมกัน และในที่ประชุมนี้เข้าใจว่าคงโปรดนิมนต์พระมหาเถรคันฉ่องกับพระสงฆ์มานั่งเป็นประธานและให้เรียกพระยาเกียรติ พระยาพระราม กับพวกมอญมาประชุมด้วย สมเด็จพระนเรศวรดำรัสเล่าเรื่องราวที่พระเจ้าหงสาวดีจะให้ล่อลวงไปทำร้ายให้ปรากฏแก่คนทั้งปวงแล้ว จึงทรงหลั่งน้ำลงเหนือแผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร ประกาศแก่เทพยดาต่อหน้าที่ประชุมว่า ตั้งแต่วันนี้กรุงศรีอยุธยาขาดทางไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรกันดังแต่ก่อนสืบไป เมือสมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงแล้วครั้งนั้น ดำรัสถามพวกมอญชาวเมืองแครงว่าจะเข้าข้างไหน พวกมอญโดยมากยอมเข้ากับไทย สมเด็จพระนเรศวรจึงให้จับเจ้าเมืองกรมการพม่า แล้วเอาเมืองแครงเป็นที่ตั้งประชุมทัพ ครั้นจัดกองทัพพร้อมเสร็จก็เสด็จยกกองทัพหลวงจากเมืองแครงเมื่อเดือน ๖ แรม ๓ ค่ำ ตรงไปยังเมืองหงสาวดี
ฝ่ายพระมหาอุปราชาที่รักษาพระนคร ครั้นได้ข่าวว่าพระยาเกียรติ พระยาพระราม กลับไปเข้าเสียกับสมเด็จพระนเรศวรก็ไม่กล้ายกกองทัพออกมาดังคิดไว้ เป็นแต่ให้รักษาพระนครให้มั่นคง สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพข้ามแม่น้ำสะโตงไปจนใกล้จะถึงเมืองหงสาวดี ไปได้ความว่าพระเจ้ากรุงหงสาวดีไปรบพุ่งกับพระเจ้าอังวะถึงชนช้างกัน พระเจ้าหงสาวดีมีชัยชนะได้เมืองอังวะแล้ว จวนจะยกกองทัพกลับคืนมาพระนคร สมเด็จพระนเรศวรไม่สมคะเนเห็นว่าจะตีเมืองหงสาวดีในคราวนั้นยังไม่ได้ จึงให้กองทัพแยกย้ายกันเที่ยวบอกพวกครัวไทยที่พม่ากวาดต้อนไปแต่ก่อนให้อพยพกลับบ้านเมือง แล้วพาครอบครัวกลับมาได้ประมาณหมื่นเศษ ส่วนสมเด็จพระนเรศวรทรงคุมกองทัพหลวงยกตามครัวมาข้างหลัง ครั้นพระมหาอุปราชาทราบว่า สมเด็จพระนเรศวรให้เที่ยวกวาดครัวแล้วเลิกทัพกลับมา ก็จัดกองทัพให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวง ยกติดตามสมเด็จพระนเรศวรมา กองหน้ามาทันที่แม่น้ำสะโตง สมเด็จพระนเรศวรเสด็จข้ามฟากมาแล้วให้พวกครัวล่วงหน้่ามาก่อน ส่วนกองหลวงตั้งรอต่อสู้ข้าศึกอยู่ที่ริมแม่น้ำสะโตง สุรกรรมากองหน้ามาถึงท่าข้ามฝั่งโน้น พวกกองทัพไทยเอาปืนยิง ก็ยับยั้งยิงต่อสู้กันอยู่ที่ริมน้ำและแม่น้ำสะโตงนั้นกว้างใหญ่นัก แรงปืนที่พลทหารยิงไม่ถึงฝั่งด้วยกันทั้งสองฝ่าย สมเด็จพระนเรศวรทรงยิงพระแสงปืนกระบอกหนึ่งยาว ๙ คืบ ถูกสุรกรรมานายทัพหน้าของข้าศึกตายอยู่กับคอช้าง พวกรี้พลเห็นนายทัพตายก็พากันครั่นคร้าม เลิกทัพกลับไปทูลความแก่พระมหาอุปราชาซึ่งตามมาข้างหลัง พระมหาอุปราชาเห็นว่าจะติดตามสมเด็จพระนเรศวรต่อไปไม่สมประสงค์ ก็เลิกทัพกลับไปกรุงหงสาวดี[9] ส่วนสมเด็จพระนเรศวรข้ามพ้นแม่น้ำสะโตงมาแล้วก็เดินกองทัพกลับมาได้โดยสะดวก และพระแสงปืนซึ่งทรงยิงถูกสุรกรรมาตายครั้งนั้น มีนามปรากฏว่า “ พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง ” นับในพระแสงอัษฎาวุธอันเป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับแผ่นดิน สืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับมาถึงเมืองแครง ทรงพระดำริว่า พระมหาเถรคันฉ่องกับพระยาเกียรติ พระยาพระราม ได้มีอุปการะมาก จะใคร่ทรงยกย่องเกียรติยศให้สมควรแก่ความชอบ จึงทรงชักชวนให้เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระมหาเถรกับพระยาทั้งสองก็มีความยินดี พาพรรคพวกตามเสด็จเข้ามาด้วยเป็นอันมาก และเมื่อเสด็จกลับมาจากเมืองแครงครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงระแวงว่า บางทีข้าศึกจะยกกองทัพติดตามมาอีก ถ้าเสด้จกลับทางด่านแม่ละเมา มีกองทัพของนันทสูราชสังครำที่มาตั้งอยู่เมืองกำแพงเพชรสกัดอยู่ข้างหน้าจะรบพุ่งลำบาก จึงมีรับสั่งให้พระยาเกียรติ พระยาพระราม นำทัพเดินผ่านหัวเมืองมอญลงมาข้างใต้ มาเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ตรงมากรุงศรีอยุธยา ทูลเหตุการณ์ทั้งปวงให้สมเด็จราชบิดาทราบทุกประการ สมเด็จพระมหาธรรมราชธิราชก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่พวกมอญที่สามิภักดิ์ ทรงตั้งพระมหาเถรคันฉ่องให้เป็นที่พระสังฆราชา[10] และให้พระยาเกียรติ พระยาพระราม มีตำแหน่งยศไว้พระราชทานพานทองควบคุมมอญที่เข้ามาด้วย ให้ตั้งบ้านเรือนที่ริมวัดขมิ้น วัดขุนแสง ใกล้วังของสมเด็จพระนเรศวรในพระนครศรีอยุธยานั้น แล้วทรงมอบการทั้งปวงที่จะตระเตรียมต่อสู้ข้าศึกให้สมเด็จพระนเรศวรทรงบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดแต่นั้นมา
ฝ่ายข้างเมืองเหนือ ขณะเมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพไปยังไม่ทันถึงเมืองแครง พวกไทยใหญ่ซึ่งพม่าเกณฑ์เข้ามาทำทางพากันหลบหนีมาทางตะวันออกพวกหนึ่ง นันทสูราชสังครำให้ไปทูลแก่สมเด็จพระนเรศวร จึงมีรับสั่งมายังผู้รักษาเมืองพิษณุโลกให้กักด่านทางไว้ อย่าให้พวกไทยใหญ่หนีไปเขาเขตแดนกรุงศรีสัตนาคนหุตได้ ด้วยในเวลานั้นการภายนอกไทยยังไม่ขาดไมตรีกับพม่า แต่พวกไทยใหญ่ที่หนีครั้งนั้นหาได้ไปทางเมืองศรีสัตนาคนหุตไม่ หนีตรงมาขออาศัยอยู่ในแขวงเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทราบจึงมีรับสั่งมาว่าให้รับพวกไทยใหญ่ไว้ นันทสูราชสังครำให้ไปขอตัวพวกไทยใหญ่ ผู้รักษาเมืองพิษณุโลกก็ตอบว่ายังส่งให้ไม่ได้ ด้วยสมเด็จพระนเรศวรยังเสด็จไม่อยู่ ขอให้รอไว้จนเสด็จกลับมาก่อน ทำนองในระหว่างนั้นพวกไทยใหญ่ที่ถูกพม่าบังคับบัญชาได้รับความเดือดร้อน พากันหนีมาอาศัยอยู่ที่เมืองพิษณุโลกจะมีมากขึ้น ครั้นนันทสูราชสังครำทราบกิตติศัพท์ว่า สมเด็จพระนเรศวรไปกวาดครอบครัวมาจากเมืองหงสาวดี เห็นท่วงทีเป็นศัตรูผิดสังเกตจึงมีหนังสือมายังผู้รักษาเมืองพิษณุโลกว่า ให้ส่งพวกไทยใหญ่มาให้โดยเร็ว ถ้าไม่ส่งมาจะจับเอาไทยที่เมืองกำแพงเพชรเป็นตัวจำนำแทนพวกไทยใหญ่ พอสมเด็จพระนเรศวรกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาได้ทรงทราบความอันนี้ ก็รีบเสด็จขึ้นไปยังเมืองพิษณุโลก ให้มีหนังสือรับสั่งตอบไปยังนันทสูราชสังครำว่า ธรรมดาพระมหากษัตราธิราชผู้เป็นอิสระ ถ้าชาวต่างประเทศหนีร้อนมาพึ่งพระบารมีแล้วก็ต้องรับไว้ ไม่มีเยี่ยงอย่างในราชประเพณีที่จะส่งตัวคืนไปให้ต้องรับทุกข์โทษภัย ครั้นมีหนังสือไปแล้วจึงทรงเกณฑ์กำลังหัวเมืองเหนือ ให้พระยาชัยบูรณ์กับขุนพระศรี[11] คุมทัพหน้าแล้ว เสด็จยกกองทัพหลวงตามไปยังเมืองกำแพงเพชร
ฝ่ายนันทสูราชสังครำ เมื่อได้รับหนังสือรับสั่งสมเด็จพระนเรศวรก็ทราบเป็นแน่ว่าไทยตั้งแข็งเมืองต่อพระเจ้าหงสาวดี เห็นว่าตัวเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองไทยกำลังไม่พอที่จะต่อสู้ได้ ก็เลิกทัพไปจากเมืองกำแพงเพชร กองทัพพระยาชัยบูรณ์ ขุนพระศรียกไปถึงเมืองกำแพงเพชร ได้ความว่านันทสูราชสังครำล่าทัพกลับไปแล้วก็รีบยกทัพติดตามไป และครั้งนั้นตัวนายพวกไทยใหญ่ที่ยังทำการอยู่กับพม่า คือ เจ้าฟ้าเมืองจี่ เจ้าฟ้าเมืองลองแจใหม่ และเจ้าเมืองขึ้นอีกหลายคน พาพวกไทยใหญ่เข้ามาสามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระนเรศวรเป็นอันมาก ช่วยติดตามตีกองทัพพม่าด้วย พระยาชัยบูรณ์กับขุนพระศรีตามไปทันกองทัพพม่าที่ตำบลแม่ระกา นันทสูราชสังครำต่อสู้ ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ ถึงตัวนายทัพทั้งสองฝ่ายได้ชนช้างกัน พม่าสู้ไม่ได้ก็แตกหนี กองทัพไทยติดตามไปจนสุดแดนแล้วจึงคืนกลับมา
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรให้เกณฑ์กำลังหัวเมืองเหนือไปรบนันทสูราชสังครำนั้น พระยาสวรรคโลก พระยาพิชัยเห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรมีรี้พลน้อย ที่ไหนจะตั้งแข็งเมืองต่อสู้พระเจ้าหงสาวดีได้ คิดจะเอาตัวรอดจึงไม่ยกกองทัพไปตามรับสั่ง แล้วกะเกณฑ์ไพร่พลทั้งสองเมืองไปรวมกันตั้งมั่น รักษาเมืองสวรรคโลกไว้ กรมการคนใดที่ยังซื่อตรงต่อสมเด็จพระนเรศวรไม่เป็นกบฏด้วย ก็จับเอาตัวจำเสียหมด ด้วยเชื่อว่าเมืองสวรรคโลกมีป้อมปราการมั่นคง คงจะรักษาเมืองรอท่ากองทัพเมืองหงสาวดี หรือเมืองเชียงใหม่ยกมาช่วยได้ สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่า พระยาสวรรคโลก พระยาพิชัย เป็นกบฏก็ให้รวบรวมกองทัพซึ่งยกไปติดตามนันทสูราชสังครำครั้งนั้นที่เมืองตาก แล้วยกมาทางบ้านด่านลานหอย ครั้นมาถึงสุโขทัยให้ตั้งพลับพลาประทับที่ข้างวัดศรีชุม ทรงพระดำริว่าไทยยังไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่ยังกลัวพระเจ้าหงสาวดีมีมากนัก จึงให้ตั้งพิธีศรีสัจปานกาล ตักน้ำกระพังโพยศรีซึ่งนับถือกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ครั้งสมเด็จพระร่วงมาทำน้ำพิพัฒน์สัตยา ให้นายทัพนายกองตลอดจนไพร่พลถือน้ำ ทำสัตย์สัญญาว่าจะต่อสู้ข้าศึกกู้บ้านเมืองไทยให้เป็นอิสรภาพให้จงได้ แล้วจึงเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปเมืองสวรรคโลกให้ตั้งล้อมเมืองไว้ มีรับสั่งให้ข้าหลวงไปร้องบอกพระยาทั้งสองว่าให้ออกมารับสารภาพรับผิดเสียโดยดี จะทรงพระกรุณายกโทษให้ พระยาทั้งสองก็ไม่เชื่อฟัง กลับให้เอาตัวกรมการที่มีความซื่อสัตย์ตัดศรีษะโยนออกมาให้ข้าหลวง สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสสั่งให้กองทัพเข้าตีเมืองสวรรคโลก ทางด้านเหนือและด้านตะวันตกพร้อมกัน หมายจะเข้าทางประตูสามเกิด ประตู (เตา) หม้อ ประตูสะพานจันทร์ ก็เข้าไม่ได้ด้วยเมืองสวรรคโลกป้อมปราการล้วนทำด้วยศิลาแลง แล้วถมเชิงเทินทำสนามเพลาะรักษาเมืองมั่นคงนัก จึงย้ายมาตีข้างด้านใต้ ให้พระยาชัยบูรณ์ หลวงธรรมไตรโลก ขุนราชวรินทร์ ขุนอินทรเดช คุมพลเข้าปล้นเมืองประตูดอนแหลมอีกครั้งหนึ่งก็เข้าไม่ได้ จึงมีรับสั่งให้ตั้งค่ายประชิดแล้วปลูกหอรบให้สูงเท่ากำแพงเมือง เอาปืนขึ้นตั้งจังก้า ยิงพวกรักษาหน้าที่จนระส่ำระสาย แล้วให้เข้าเผาประตูดอนแหลมข้างใต้ทลายลง กองทัพสมเด็จพระนเรศวรก็เข้าเมืองได้ จับได้ตัวพระยาสวรรคโลก พระยาพิชัย มีรับสั่งให้ประหารชีวิตเสียทั้งสองคน แล้วให้กวาดต้อนผู้คนพลเมืองทั้งสวรรคโลกและเมืองพิชัยลงมายังเมืองพิษณุโลกจนสิ้นเชิง
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงมาถึงเมืองพิษณุโลกแล้ว ให้ขุนอินทรเดชคุมกองทัพไปสืบข้อราชการถึงปลายแดนเมืองเชียงใหม่ ได้ความว่าพระเจ้าหงสาวดีให้เกณฑ์กองทัพจะยกมาตีกรุงศรีอยุธยาในฤดูแล้งปีนั้น ทรงพระดำริว่าหัวเมืองเหนือยับเยินเสียมากแล้ว ด้วยผู้คนต้องระส่ำระสายมาหลายคราว ถ้ามีศึกหงสาวดีมาอย่างคราวก่อนเห็นจะต่อสู้รักษาไว้ไม่ได้ ด้วยผู้คนน้อยและที่ยังกลัวพระเจ้าหงสาวดีมีมากนัก กรุงศรีอยุธยาเล่ากำลังก็ยังน้อยเหมือนกัน ด้วยถูกพระเจ้าหงสาวดีกวาดต้อนเอาผู้คนชาวพระนครเสียเป็นอันมาก ได้ผู้คนคืนมายังไม่เท่าใด การที่จะต่อสู้ศึกหงสาวดีต่อไปจำจะต้องรวมกำลังไว้แต่กรุงศรีอยุธยา เอาเป็นที่มั่นต่อสู้ข้าศึกแต่แห่งเดียวจึงจะต่อสู้ได้ถนัด ด้วยกรุงศรีอยุธยาภูมิที่มั่นคงคับขัน แล้วก็อยู่ใกล้ทะเล มีทางที่จะหาเครื่องศัตราอาวุธและเสบียงอาหารเพิ่มเติมได้ง่าย ทรงพระดำริดังนี้จึงให้กวาดต้อนผู้คนหัวเมืองเหนือทั้งปวงลงมายังกรุงศรีอยุธยา ทิ้งหัวเมืองเหนือให้ร้างเสียคราวหนึ่ง สมเด็จพระนเรศวรลงมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาแต่ในปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ นั้น
ความคิดเห็น