คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #4 : เสียกรุงแก่พระเจ้าหงสาวดี ปีมะโรง พ.ศ.2111
พระเจ้าหงสาวดีขอช้างเผือกไปแล้ว เว้นอยู่ ๔ ปีก็เกิดศึกหงสาวดีมาตีเมืองไทยอีก อันเหตุการณ์ที่จะเกิดสงครามคราวนี้ก็เนื่องมาแต่สงครามคราวก่อน ตัวพระเจ้าหงสาวดียังไม่ได้เมืองไทยเป็นเมืองขึ้นสมคิดจึงพยายามที่จะให้ไทยแตกเป็น ๒ พวก ให้จำต้องยอมอยู่ในอำนาจของพระเจ้าหงสาวดีด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ใช้ทางอุบายยกย่องพระมหาธรรมราชาให้มีอำนาจขึ้นทางหัวเมืองเหนือ กรุงศรีอยุธยาจะบังคับบัญชาว่ากล่าวอย่างแต่ก่อน พระเจ้าหงสาวดีก็เข้ากีดกันอุดหนุนพระมหาธรรมราชา ๆ จึงสนิทชิดชอบกับพระเจ้าหงสาวดียิ่งขึ้น และเหินห่างจากกรุงศรีอยุธยาไปทุกทีจนที่สุดไทยเกิดรบกันขึ้นเอง จึงเลยพาศึกหงสาวดีเข้ามาตีบ้านเมือง
จะต้องเล่าเรื่องราวการสงครามครั้งนี้ เริ่มแต่พระเจ้าหงสาวดีมีชัยชนะไปจากกรุงศรีอยุธยา กลับไปเมืองหงสาวดีไม่ช้าก็ได้ข่าวว่าพระเจ้าเชียงใหม่เมกุฏิคบคิดกับพระยาลำปาง พระยาแพร่ พระยาน่านและพระยาเชียงแสน จะตั้งแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นต่อหงสาวดีต่อไป พระเจ้าหงสาวดีจึงยกกองทัพหลวงเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อปลายปีชวด พ.ศ. ๒๑๐๗ นั้น เกณฑ์พระมหาธรรมราชาให้ยกกองทัพขึ้นไปช่วยด้วย ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่เห็นว่าศึกเหลือกำลังก็ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงสาวดี แต่เจ้าเมือง ๔ คน จับได้แต่พระยาเชียงแสนคนเดียว อีก ๓ คน หนีไป พึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตอยู่ ณ เมือง เวียงจันทน์ พระเจ้าไชยเชษฐาไม่ยอมส่งตัวให้ พระเจ้าหงสาวดีขัดเคืองจึงคิดจะยกกองทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต พอได้ข่าวว่าพวกไทยใหญ่ที่จับเป็นเชลยเอาไปไว้ที่เมืองหงสาวดีพากันเป็นขบถขึ้น พระเจ้าหงสาวดีจึงให้พระมหาอุปราชายกกองทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต ส่วนพระเจ้าหงสาวดีเลิกทัพหลวงกลับไปเมืองหงสาวดี เอาตัวเจ้าเมืองเชียงใหม่เมกุฏิไปด้วย กองทัพพระมหาธรรมราชานั้นก็ให้เลิกกลับมาบ้านเมืองเหมือนกัน
พระมหาอุปราชายกกองทัพไปถึงกรุงศรีสัตนาคนหุต ตีได้หัวเมืองรายทางเข้าไปโดยลำดับจนถึงเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นราชธานีของพระเจ้าไชยเชษฐา ๆ ต่อสู้เห็นเหลือกำลังก็ทิ้งเวียงจันทร์เสียพากองทัพไปซุ่มหลบอยู่ในป่า พระมหาอุปราชาได้เมืองเวียงจันทร์จับได้ญาติวงศ์และพระมเหสีสนมกำนัลของพระเจ้าไชยเชษฐาส่งไปเมืองหงสาวดีเป็นอันมาก แล้วให้กองทัพออกติดตามพระเจ้าไชยเชษฐา ๆ ชำนาญท้องที่กว่าพวกหงสาวดี ถ้ากองทัพที่ไปติดตามมีกำลังมากก็หลบเสี่ยงเสีย ถ้าเป็นกองน้อยก็ออกโจมตีเอาแตกพ่ายกลับมา แต่กองทัพหงสาวดีเที่ยวติดตามอยู่จนถึงฤดูฝนก็จับพระเจ้าไชยเชษฐาไม่ได้ พระมหาอุปราชาเห็นไพร่พลบอบช้ำมากนัก จึงให้เรียกกองทัพกลับไปตั้งรวมกันอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ หมายว่าพอสิ้นฤดูฝนจึงจะให้ออกตามจับพระเจ้าไชยเชษฐาต่อไป พอกองทัพหงสาวดีถอยไปรวมอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์พระเจ้าไชยเชษฐาได้ทีก็ให้เที่ยวตีตัดลำเลียงเสบียงอาหารซึ่งจะไปส่งยังเมืองเวียงจันทน์ทุก ๆ ทาง จนกองทัพหงสาวดีอดอยาก รี้พลพากันเจ็บไข้ล้มตายลงเป็นอันมาก พอสิ้นฤดูฝนพระมหาอุปราชาก็ต้องรีบเลิกทัพกลับไป กองทัพพระเจ้าไชยเชษฐาติดตามตีไปจนปลายแดน กิตติศัพท์จึงเลื่องลือว่าพระเจ้าไชยเชษฐามีชัยชนะพระเจ้าหงสาวดีในครั้งนั้น
แต่เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาได้ราชธานีคืน ได้แต่เมืองเปล่าเพราะพวกหงสาวดีเก็บริบทรัพย์สมบัติทั้งจับพระมเหสีสนมกำนัลไปเสียเกือบหมด พระเจ้าไชยเชษฐาจะหามเหสีใหม่ จึงให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการมาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทูลขอพระเทพกษัตรีราชธิดาไปเป็นอัครมเหสี ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระมหินทรกำลังแค้นพระเจ้าหงสาวดี ก็ยินดีที่จะเป็นสัมพันธมิตรกับพระเจ้าไชยเชษฐา แต่เผอิญเวลานั้นพระเทพกษัตรีราชธิดาประชวรอยู่จะผัดเพี้ยนให้รอต่อไป ทำนองจะเกรงว่าพระเจ้าไชยเชษฐาคงจะผันแปรไปเป็นสัมพันธมิตรเสียกับเมืองอื่น จึงพระราชทานพระแก้วฟ้าอันเป็นราชธิดาเกิดด้วยสนมไปแทน ครั้นพระเจ้าไชยเชษฐาทราบว่ามิใช่ราชธิดาของสมเด็จพระสุริโยทัยก็ไม่พอพระหฤทัยให้พาพระแก้วฟ้ากลับส่ง ว่าจะขอประทานเฉพาะพระเทพกษัตรีด้วยประสงค์จะใคร่ได้วงศ์สมเด็จพระสุริโยทัย ซึ่งมีพระเกียรติยศเป็นอย่างยอดของสตรีไปเป็นอัครมเหสี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็โปรดบัญชาตาม
การที่กรุงศรีอยุธยากับกรุงศรีสัตนาคนหุตให้ทูตไปมาว่ากันด้วยเรื่องของราชธิดาครั้งนั้น พระมหาธรรมราชาทราบความเพราะทูตเดินทางด่านสมอสอ (ในแขวงมณฑลเพชรบูรณ์) ไม่ห่างเมืองพิษณุโลกนัก ครั้นทราบว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะประทานพระเทพกษัตรีไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต พระมหาธรรมราชาไม่เห็นชอบด้วย ด้วยพระเทพกษัตรีเป็นพระน้องนางของพระวิสุทธิกษัตรี ผู้เป็นอัครชายาร่วมมารดาเดียวกัน บางทีพระวิสุทธิกษัตรีเองจะเป็นผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วย ด้วยรู้อยู่ว่าพระเจ้าหงสาวดีคงจะยกทัพมาตีกรุงศรีสัตนาคนหุตอีก พระมเหสีสนมกำนัลของพระเจ้าไชยเชษฐาเคย๔ุกกองทัพพระเจ้าหงสาวดีจับไปได้คราวหนึ่งแล้ว ถ้ารบกันขึ้นอีกเกรงพระเทพกษัตรีจะเป็นอันตราย ทำนองพระวิสุทธิกษัตรีจะทูลขอให้พระมหาธรรมราชาคิดอ่านคัดง้างอย่าให้ส่งพระเทพกษัตรีไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่ในเวลานั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่ไว้พระทัยพระมหาธรรมราชาเสียแล้ว จึงไม่ทรงหารือเรื่องที่จะประทานพระเทพกษัตรีแก่พระเจ้าไชยเชษฐา พระมหาธรรมราชาจะไปทูลห้ามปรามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่ได้ จึงให้คนเร็วรีบไปทูลความแก่พระเจ้าหงสาวดี ๆ ก็ให้กองทัพมาซุ่มสกัดทางอยู่ พอข้าหลวงกรุงศรีอยุธยาเชิญพระเทพกษัตรีไป กองทัพพม่าก็เข้าชิงนางพาไปเสียยังเมืองหงสาวดี ฝ่ายพระมหาธรรมราชาคงอุบายบอกลงมาทูล สมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่าพระเจ้าหงสาวดีให้มาชิงพระเทพกษัตรีไปโดยอำเภอพระหฤทัย พระมหาธรรมราชาหาได้รู้เห็นด้วยไม่ ข้างกรุงศรีอยุธยาก็รู้เท่าทันพระมหาธรรมราชา แต่ไม่อาจจะว่ากล่าวอย่างไร เพราะกีดพระเจ้าหงสาวดีอยู่ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเห็นจะรู้สึกอัปยศอดสูในครั้งนี้มาก จึงทรงมอบราชการบ้านเมืองแก่พระมหินทร[1] แล้วเสด็จออกผนวช และในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ข้าราชการก็ออกบวชตามเสด็จด้วยเป็นอันมาก
การที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จออกทรงผนวชครั้งนั้นที่แท้เสมอเร่งให้เกิดเหตุร้ายแก่บ้านเมือง เพราะทำให้เกิดรวนเรในข้าราชการอันเห็นได้ เช่น ที่พากันออกบวชตามเสด็จเสียเป็นอันมากนั้น เป็นต้นแต่ข้อสำคัญนั้นคือที่เป็นเหตุให้พระมหาธรรมราชาสิ้นความยำเกรงกรุงศรีอยุธยา เพราะพระมหินทรเป็นแต่น้องของพระมเหสี มิใช่พระราชบิดาเหมือนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เพราะฉะนั้นจึงปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า พระมหินทรขึ้นว่าราชการเมือง พระมหาธรรมราชาก็ตั้งเกี่ยงแย่งจะต้องการอย่างไร ก็อ้างพระเจ้าหงสาวดีบังคับบัญชาลงมายังกรุงศรีอยุธยา พระมหินทรก็จำต้องผ่อนผันทำตาม ด้วยเกรงอำนาจพระเจ้าหงสาวดี พระมหินทรได้ความคับแค้นพระยหฤทัยหนักเข้า จึงคิดจะกำจัดพระมหาธรรมราชาเสีย ครั้งนั้นพระมหินทรได้พระยาราม (รณรงค์ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชร) ซึ่งเอาใจออกห่างพระมหาธรรมราชามาอยู่ในกรุงฯ เป็นที่ปรึกษา จึงคิดเป็นกลงอุบายบอกความลับไปยังพระเจ้าไชยเชษฐาให้ยกกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตลงมาตีเมืองพิษณุโลก พระมหินทรจะยกกองทัพกรุงฯ ขึ้นไปประหนึ่งว่าจะไปช่วยเมืองพิษณุโลก เมื่อได้ทีแล้วให้ช่วยกันจับพระมหาธรรมราชาให้จงได้ ฝ่ายพระเจ้าไชยเชษฐาก็แค้นพระมหาธรรมราชาอยู่ด้วยเรื่องพระเทพกษัตรีจะลงมาตีเมืองพิษณุโลกอยู่ครั้งหนึ่งแล้ว แต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิห้ามเสีย จึงมิได้ยกลงมา ครั้นพระมหินทรชวนขึ้นไปก็สมคิด จึงให้ตระเตรียมกองทัพ พอถึงฤดูแล้ง ปลายปีขำาล พ.ศ. ๒๑๐๙ พระเจ้าไชยเชษฐาก็ยกทัพมายังเมืองพิษณุโลกทำกิตติศัพท์ให้ปรากฏแพร่หลายว่า จะลงมาตีกรุงศรีอยุธยา เพราะสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงสัญญาว่าจะประทานพระเทพกษัตรี แล้วแกล้งให้อัปยศอดสูให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าที่มาตีเมืองพิษณุโลกก่อน เพราะเป็นเมืองด่านของกรุงศรีอยุธยาข้างฝ่ายเหนือ พระเจ้าไชยเชษฐายกลงมาครั้งนั้น หมายจะรีบเร่งระดมตีให้ได้เมืองพิษณุโลกก่อนกองทัพพระเจ้าหงสาวดียกมาช่วย ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า กองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกมาเป็น ๕ ทัพมาทางเมืองนครไทย ครั้นมาถึงเมืองพิษณุโลก กองทัพพระเจ้าไชยเชษฐาตั้งที่ตำบลโพธิ์เรียง ตรงประตูสวรรค์ออกไปทางด้านตะวันออก ห่างเมืองประมาณ ๕๐ เส้น ทัพพระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้าตั้งที่บ้านเตาไหทางด้านเหนือ ทัพพระยามือไฟตั้งที่ตำบลวัดเขาพราหมณ์ เข้าใจว่าทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ทัพพระยานคร (พนม) ตั้งที่ตำบลสระแก้ว ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ ทัพพระยามือเหล็กตั้งที่ตำบลบางสะแก (จะเป็นทางด้านไหนสืบยังไม่ได้ความ)
ฝ่ายพระมหาธรรมราชา เมื่อได้ข่าวว่ากองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกมา ยังไม่สงสัยว่ายกมาโดยกลอุบายของพระมหินทร จึงบอกข่าวศึกลงมายังกรุงศรีอยุธยาขอกองทัพขึ้นไปช่วย แล้วให้ขนเสบียงอาหารต้อนผู้คนเข้าในเมืองพิษณุโลก ตระเตรียมป้องกันเมืองเป็นสามารถแล้วยังไม่วางพระหฤทัย ให้บอกไปขอกองทัพพระเจ้าหงสาวดีมาช่วยอีกทางหนึ่ง พระมหินทรได้รับใบบอกพระมหาธรรมราชา ขอกองทัพขึ้นไปช่วยก็สมหมาย จึงมีรับสั่งให้พระยาสีหราชเดโชชัย กับพระท้ายน้ำรีบคุมกำลังขึ้นไปก่อนกองหนึ่ง เหมือนอย่างว่าจะให้ขึ้นไปช่วยรักษาข้างในเมืองพิษณุโลก ดำรัสสั่งเป็นความลับไปแก่พระยาสีหราชเดโชชัยว่า ถ้ากองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตกับกองทัพกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปถึงพร้อมกันเมื่อใด ให้พระยาสีหราชเดโชชัยเป็นไส้ศึกขึ้นในเมือง ครั้นพระยาสีหราชเดโชชัยล่วงหน้าไปแล้ว พระมหินทรจึงทรงจัดกองทัพเรือให้พระยารามซึ่งเป็นพระยาจักรี[2] คุมกองหน้า พระมหินทรเสด็จเป็นจอมพลในกองหลวงยกตามขึ้นไปยังเมืองพิษณุโลก กองหน้าไปตั้งอยู่ที่วัดจุฬามณี กองหลวงตั้งอยู่ที่ปากพิงข้างใต้เมืองลงมา
ฝ่ายพระยาสีหราชเดโชชัยขึ้นไปถึงเมืองพิษณุโลกกลับไปเข้าเป็นพวกพระมหาธรรมราชา ทูลความลับทั้งปวงให้ทรงทราบ พระมหาธรรมราชาจึงให้ห้ามกองทัพกรุงฯ มิให้เข้าไปในเมือง แล้วให้ทำแพไฟขึ้นเป็นอันมาก จุดไฟปล่อยแพให้ลงมาไหม้กองทัพเรือกรุงศรีอยุธยาแตกร่นลงมาจนถึงทัพหลวง ฝ่ายข้างกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตเมื่อรู้ว่ากองทัพกรุงฯ ยกขึ้นไปถึง ก็ระดมเข้าตีเมืองพิษณุโลกรบพุ่งกันเป็นสามารถ แต่เวลานั้นกองทัพกรุงฯ ถอยลงมาเสียแล้วกรุงศรีสัตนาคนหุตก็ตีเอาเมืองไม่ได้ พอได้ข่าวว่ากองทัพพระยาภุกามกับพระยาเสือหาญซึ่งพระเจ้าหงสาวดีให้เข้ามาช่วยพระมหาธรรมราชามาจวนจะถึงเมืองพิษณุโลก พระเจ้าไชยเชษฐาก็เลิกทัพกลับไปเมืองเวียงจันทน์ พระมหินทรทรงทราบว่ากองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตเลิกกลับไปแล้ว ก็เลิกทัพหลวงกลับลงมากรุงศรีอยุธยา
พอเสร็จการศึก พระมหาธรรมราชาก็เสด็จไปเมืองหงสาวดี ไปร้องทุกข์ต่อพระเจ้าหงสาวดี ในเรื่องที่พระมหินทรคบคิดกับพระเจ้าไชยเชษฐามาทำร้าย พระเจ้าหงสาวดีก็สมคะเน จึงอภิเษกพระมหาธรรมราชาให้เป็นพระศรสรรเพชญ[3] เจ้าฟ้าพิษณุโลก เรียกในพงศาวดารพม่าว่า “ เจ้าฟ้าสองแคว ” [4] เป็นประเทศราชขึ้นต่อเมืองหงสาวดี ก็เข้าพระทัยว่ามิให้ขึ้นกรุงศรีอยุธยาต่อไป
ฝ่ายพระมหินทร เมื่อถอยทัพกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว ครั้นทราบความว่าพระมหาธรรมราชาออกไปเมืองหงสาวดี ก็เข้าพระทัยว่าคงไปฟ้องร้องยุยงพระเจ้าหงสาวดี ให้มาทำร้ายกรุงศรีอยุธยา เกรงการจะหนักแน่นเหลือกำลัง ด้วยเห็นข้าราชการยังรวนเรไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจึงไปทูลวิงวอนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิให้ลาผนวช เชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติว่าราชการบ้านเมืองดังแต่ก่อน แล้วสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระมหินทรก็รีบเสด็จขึ้นไปยังเมืองพิษณุโลกด้วยกัน ในเวลาพระมหาธรรมราชายังอยู่ที่เมืองหงสาวดี รับพระวิสุทธิกษัตรีราชธิดา ซึ่งเป็นพระอัครชายาพระมหาธรรมราชากับทั้งพระโอรสธิดามาจากเมืองพิษณุโลก หวังจะให้พระมหาธรรมราชาเป็นห่วงไม่กล้าขอกองทัพหงสาวดีมาตีกรุงฯ และครั้งนั้น เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จกลับมาถึงเมืองนครสวรรค์ ให้พระมหินคุมกองทัพขึ้นไปยังเมืองกำแพงเพชร หวังจะทำลายเมืองเสียมิให้ข้าศึกอาศัยเป็นที่มั่นได้ต่อไป ครั้นกองทัพยกขึ้นไปถึงขุนอินทรเสนกับขุนต่างใจซึ่งพระมหาธรรมราชาให้รักษาเมืองกำแพงเพชร ทราบว่ากองทัพกรุงฯ จะขึ้นไปทำลายเมืองกำแพงเพชร ด้วยเกิดเป็นอริกับพระมหาธรรมราชา ก็ไม่เข้าด้วย ช่วยกันรวบรวมกำลังยกออกปล้นค่ายพระยาศรีฯ กองทัพหน้าซึ่งเข้าไปตั้งอยู่ใกล้เมือง ครั้งนั้นกองทัพกรุงฯ ซึ่งยกขึ้นไปคงประมาทโดยคาดว่าจะไม่มีผู้ใดต่อสู้ ก็พ่ายแพ้พวกเมืองกำแพงเพชร พระมหินทรเห็นว่าจะทำการไม่สำเร็จก็เลิกทัพกลับลงมา
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จกลับมาถึงกรุงฯ ก็ได้ลงมือจัดการตระเตรียมป้องกันพระนคร ด้วยคาดว่า คงมีศึกหงสาวดีมาในไม่ช้า และการตระเตรียมครั้งนั้นได้จัดการแก้ไขเพิ่มเติมเครื่องป้องกันพระนคร มีปรากฏในหนังสือพระราชพงสาวดารหลายประการ คือ :-
๑. “ ให้ตั้งป้อมเพชรและหอรบ ระยะไกลกันแต่หนึ่งเส้น ” อธิบายความข้อนี้ว่า ป้อมเพชรซึ่งตั้งตรงแม่น้ำข้างด้านใต้ ได้สร้างขึ้นแต่เมื่อเตรียมสู้ศึกคราวก่อน พร้อมกับก่อกำแพงพระนคร คราวนี้แก้ไขตกแต่งให้แข็งแรงขึ้น แลหอรบนั้นของเดิมยังห่างนักให้สร้างเพิ่มเติมขึ้นให้มีทุกระยะเส้นหนึ่งรอบพระนคร
๒. “ วางปืนใหญ่ไว้ระยะแต่ ๑๐ วา ปืนบเรียมจ่ารงมณฑกระยะไกลแต่ ๕ วา ” ข้อนี้อธิบายว่า ปืนบนป้อมปราการนั้นให้เอาปืนขนาดเขื่องตั้งรายระยะ ๑๐ วา ต่อกระบอกหนึ่ง รายปืนขนาดย่อมลงมาระยะ ๕ วาต่อหนึ่งกระบอก (จำนวนปืนเห็นจะมากมายหลายพันด้วยแนวกำแพงพระนครยาวมาก)
๓. “ กำแพงพระนคร ขณะนั้นตั้งโดยกระบวนเก่า และยังมิได้รื้อลงตั้งในริมแม่น้ำ พระยารามก็ให้ตั้งค่ายรายไปตามริมน้ำเป็นชั้นหนึ่ง แล้วไว้ปืนจ่ารงมณฑกสำหรับค่ายนั้นก็มาก ” ข้อนี้อธิบายว่า ความที่กล่าวตรงนี้หมายเฉพาะแต่ด้านตะวันออก (คือ ตั้งแต่วังจันทรเกษมลงมาจนวัดสุวรรณดาราราม) ด้านเดียว ดังจะเห็นได้เมื่อกล่าวถึงเวลารบกันต่อไปข้างหน้า เพราะด้านตะวันออกนี้ แม่น้ำสักเวลานั้นยังลงทางบ้านม้ามาออกปากข้าวสาร ห่างพระนครนัก ต้องขุดคูเมืองอีกชั้นหนึ่ง (ตรงที่เป็นลำแม่น้ำหน้าสถานที่รถไปเดี๋ยวนี้ แต่ยังเป็นคลองแคบ)เรียกว่าคลองขื่อหน้าแนวกำแพงพระนครด้านตะวันออกในครั้งนั้นก็ยังอยู่ลึก (พ้นวัดเสนาสน์) เข้าไปจึงให้ตั้งค่ายรายข้างนอกกำแพงรักษาคูเมืองชั้นหนึ่ง
๔. “ ให้ปลูกหอโทนในกลางน้ำไกลริมฝั่งออกไป ๕ วารอบพระนคร มิให้ข้าศึกเอาเรือเข้ามาตีริมพระนครได้ ” ข้อนี้อธิบายว่านอกจากด้านตะวันออกที่กล่าวในข้อก่อน มีลำแม่น้ำเป็นคูพระนครอยู่ แล้วให้ปลูกหอรบลงไปในลำแม่น้ำ รายเป็นระยะไปทั้ง ๓ ด้าน ฝ่ายพระมหาธรรมราชาอยู่ที่เมืองหงสาวดี ครั้นได้ทราบว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระมหินทร ขึ้นไปรับพระวิสุทธิกษัตรีกับพระโอรสธิดาพาไปไว้เป็นตัวจำนำที่กรุงศรีอยุธยาก็ตกพระทัย รีบนำความไปทูลแก่พระเจ้าหงสาวดี ๆ จึงสั่งให้เตรียมกองทัพจะมาตีกรุงศรีอยุธยา ให้พระมหาธรรมราชากลับมาก่อน ให้มาตระเตรียมกองทัพหัวเมืองเหนือไว้ แล้วพระเจ้าหงสาวดีก็ให้กะเกณฑ์เมืองประเทศราชและหัวเมืองขึ้นทั้งปวงเข้ากองทัพ พอปลายฤดูฝนพระเจ้าหงสาวดีก็ยกกองทัพหลวงออกจากพระนคร เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๖ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๑๑ กระบวนทัพพระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาครั้งนี้ จัดเป็นทัพกษัตริย์ ๗ ทัพ คือ พระมหาอุปราชาทัพหนึ่ง พระเจ้าแปรทัพหนึ่ง พระเจ้าตองอูทัพหนึ่ง พระเจ้าอังวะทัพหนึ่ง กองทัพเหล่านี้มีกองทัพไทยใหญ่สมทบทุกทัพ และให้พระราชบุตรซึ่งครองเมืองสารวดี สมทบกับพวกเมืองเชียงใหม่เชียงตุงอีกทัพหนึ่ง กองทัพไทยของพระมหาธรรมราชาอีกทัพหนึ่ง จึงรวมเป็น ๗ ทัพด้วยกัน พงศวดารพม่าว่า รวมทุกทัพเป็นจำนวนพล ๕๐๐๐,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา และมาประชุมทัพที่เมืองกำแพงเพชรเหมือนคราวก่อน
ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยา ในคราวนี้ไม่มีท่าทางที่จะไปรบพุ่งที่อื่นได้เหมือนคราวก่อนเพราะหัวเมืองเหนือเป็นกบฏไปเข้าข้างข้าศึกเสียทั้งหมด แม้ผู้งคนในมณฑลราชธานีก็ตื่นแตกหลบหนีเสียมาก รวบรวมไพร่พลไม่ได้เต็มตามจำนวน เพราะเหตุเหล่านี้จึงได้แต่เอาพระนครเป็นที่มั่นคอยต่อสู้ข้าศึกอยู่แห่งเดียว กองทัพพระเจ้าหงสาวดีก็ยกลงมาได้โดยสะดวก มาถึงกรุงศรีอยุธยาแต่เดือนอ้ายให้ตั้งค่ายรายล้อมพระนครไว้ ด้านเหนือพระเจ้าหงสาวดีตั้งอยู่ ณ ทุ่งลุมพลี ข้างในกรุงฯ เอาปืนนารายณ์สังหารตั้ง “ ในช่องตรงมุมสบสวรรค์ ” (คือที่มุมเมืองตรงโรงทหารทุกวันนี้) ยิงไปถึงกองทัพพระเจ้าหงสาวดีถูกช้างม้ารี้พลล้มตาย พระเจ้าหงสาวดีจึงให้ถอยทัพหลวงไปตั้งที่บ้านมหาพราหมณ์ ให้พ้นทางปืนใหญ่ และให้กองทัพพระเจ้าตองอู ทัพพระยาพสิม ทัพพระยาอภัยคามินีทัพมอญเมืองเมาะตะมะ ตั้งรายกันไปข้างด้านเหนือ ด้านตะวันออกให้กองทัพพระมหาอุปราชากับพระมหาธรรมราชาไปตั้ง ด้านตะวันตก (ไม่เป็นด้านสำคัญ ด้านแม่น้ำกว้าง มิใช่ทางที่จะเข้าตีพระนคร) ให้กองทัพเจ้าเมืองสารวดี กับกองทัพเมืองเชียงใหม่และพวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่ไปตั้ง ด้านใต้นั้นให้กองทัพพระเจ้าอังวะลงมาตั้ง พิเคราะห์ตามแผนที่กองทัพข้าศึกซึ่งตั้งล้อมกรุงฯ คราวนี้ ไม่กล้าเข้ามาตั้งใกล้เหมือนคราวก่อน คงเป็นด้วยไทยมีปืนใหญ่ที่มีกำลังแรงมากขึ้นคอยยิงกราดมิให้เข้ามาได้
ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยา การรักษาพระนครต่อสู้ศึกครั้งนี้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิให้พระยารามเป็นผู้บัญชาการทั่วไป ส่วนพนักงานรักษาหน้าที่นั้น ข้างด้านตะวันออกเป็นด้านสำคัญ เพราะคูเมืองยังแคบเป็นทางที่ข้าศึกเข้ามาได้ง่ายกว่าทางอื่น ให้พระยากลาโหม พระยาพลเทพ พระมหาเทพ เป็นนายกองพล ๓ กอง และให้ผู้ว่าราชการหัวเมืองมณฑลราชธานี ซึ่งเกณฑ์เข้ามาช่วยต่อสู้ข้าศึกเข้าสมทบประจำรักษาแต่ประตูหอรัตนชัยลงไปจนเกาะแก้ว (คือ แต่หัวรอลงไปจนปากข้าวสาร เหนือวัดพนัญเชิง) ด้านใต้อันเป็นบ้านจีนและแขกฝรั่ง ให้พระยาคลังเป็นนายกองพล รักษาแต่เกาะแก้ว[5] ถึงประตูชัยระยะหนึ่ง ให้พระยาอินทรานครบาลเป็นายกองพล รักษาแต่ประตูชัยไปจนถึงประตูชีขันระยะหนึ่ง ด้านตะวันตกให้พระท้ายน้ำเป็นนายกองพล รักษาแต่ประตุชีขันไปจนมุมศาลหลวง[6] ด้านเหนือพระยาสีหราชเดโชชัยเป็นนายกองพลรักษาแต่มุมศาลหลวงมาถึงพระราชวังระยะหนึ่ง พระยาธรรมาเป็นนายกองพล รักษาแต่พระราชวังมาจนขื่อหน้า (ที่หัวรอบบรรจบด้านตะวันออก) ระยะหนึ่ง พระยารามผู้บัญชาการทั่วไปคุมพลตั้งอยู่ที่ท้องสนามหลวงแล้วจัดกองแล่นเตรียมไว้สำหรับเป็นกองหนุนพนักงานรักษาหน้าที่ในเวลาต้องการกำลังช่วยด้านละ ๕ กองทั้ง ๔ ด้าน และครั้งนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิให้มีพระราชสาส์นขึ้นไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต ขอให้พระเจ้าไชยเชษฐายกกองทัพมาช่วยอีกทางหนึ่ง
ในพงศาวดารพม่าว่า เมื่อกองทัพหงสาวดีเข้ามาตั้งล้อมกรุงฯแล้ว พระเจ้าหงสาวดีเรียกแม่ทัพทั้งปวงมาประชุมปรึกษาการที่จะตีกรุงศรีอยุธยา พระมหาอุปราชาเห็นว่ากำลังกองทัพที่ยกมามีมาก ควรจะเข้าตีหักเอาพระนครให้พร้อมกันทุกด้านทีเดียว เพราะช้าวันไปจะเกิดความลำบากเรื่องเสบียงอาหาร อีกประการหนึ่งถ้าช้าไปถึงฤดูฝนก็จะกระทำการไม่ถนัด จึงเห็นว่าควรจะรีบเข้าระดมตีเอากรุงศรีอยุธยาเสียให้ได้โดยเร็ว พระเจ้าหงสาวดีไม่เห็นชอบด้วยว่ากรุงศรีอยุธยามีแม่น้ำล้อม เป็นที่คับขันมั่นคงไม่เหมือนเมืองอื่น แล้วการที่ไทยจัดป้องกันบ้านเมืองก็ตระเตรียมไว้เป็นอย่างสามารถ ถึงคนน้อยก็อาจสู้คนมากได้ ถ้ายกเข้าตีพร้อมกันทุกด้านดังว่า จะเสียลี้พลล้มตายมากนัก ฉวยตีไม่ได้ดั่งคาดก็จะพากันเสียทีข้าศึกทุกทัพ จำจะต้องคิดอ่านตีกรุงฯ โดยวิธีถึงจะช้าวันไปก็อย่าให้มีท่าทางที่จะเสียทีข้าศึกจึงจะชอบ จึงกะการให้เข้าตีพระนครแต่ข้างตะวันออกด้านเดียว ด้วยคูเมืองยังแคบดังกล่าวมาแล้ว ด้านอื่นเป็นแต่ให้ล้อมไว้ให้มั่นคง พระเจ้าหงสาวดีจึงย้ายค่ายหลวงมาตั้งที่ใกล้วัดมเหยงคณ์ข้างด้านตะวันออก ให้กองทัพพระมหาธรรมราชาไปเที่ยวตัดต้นตาลส่งมาให้มาก แล้วให้พระมหาอุปราชาเป็นผู้อำนวยการตีพระนครให้ตั้งค่ายแนวแรกห่างคูเมืองออกไปประมาณ ๓๐ เส้นก่อน อาศัยค่ายนั้นจัดเตรียมการพร้อมแล้วก็ให้งรุกเข้ามาตั้งค่ายอีกแนวหนึ่งห่างค่ายเก่าเข้ามาประมาณ ๑๐ เส้น ขุดดินทำสนามเพลาะและถมเชิงเทิน แล้วเอาไม้ตาลปักรายเป็นเสาระเนียดกันปืนใหญ่ที่ยิงไปจากในกรุงฯ พวกหงสาวดีที่เข้ามาตั้งค่ายถูกชาวพระนครเอาปืนใหญ่ยิงล้มตายเป็นจำนวนมาก จะเข้ามาทำการกลางวันไม่ได้ ต้องลอบเข้ามาตั้งค่ายต่อเวลากลางคืน เจ้าหน้าที่ในพระนครก็แต่งกองอาสาออกทะลวงฟันสู้รบกันมิไดขาด พระเจ้าหงสาวดีต้องให้ไพล่พลมาเพิ่มเติมอีกเป็นอันมาก จึงตั้งค่ายแนวที่สองลงได้ ครั้นตั้งค่ายแนวที่สองมั่นคงแล้วก็ให้รุกเข้ามาตั้งแนวที่สามถึงคูเมือง ตอนนี้ใกล้ค่ายไทย ๆ ยิงได้ถนัดถูกพวกหงสาวดีล้มตายลงมากกว่าแต่ก่อน ต้องขุดอุโมงค์เดินบังตัวเข้ามาเป็นหลายสาย ครั้นใกล้ลำน้ำแล้วจึงขุดอุโมงค์แล่นหากันตามแนวค่าย ทำการแต่ในเวลากลางคืนพยายามอยู่กว่าสองเดือนจึงเข้ามาตั้งค่ายแนวที่สามได้ถึงคูเมือง แต่ก็มาติดอยู่เพียงนั้น ด้วยไทยยังได้อาศัยเรือรบซึ่งหามาใหม่ช่วยป้องกันพระนครได้ พวกหงสาวดีจะข้ามคูเมืองเข้ามาก็ถูกไทยยิงล้มตายต้องถอยกลับออกไปหลายคราวข้ามเข้ามาไม่ได้ พระเจ้าหงสาวดีจึงให้กองทัพเรืออ้อมลงมาทางสะพานเผาข้าว (คือที่เรียกว่าคลองสีกุกทุกวันนี้) มาออกทางบางไทรลงมาตั้งตรวจตรารักษาลำแม่น้ำแต่เมืองธนบุรี เมืองนนทบุรีขึ้นมา กักเรือมิให้ขึ้นมาช่วยที่กรุงฯ ได้แล้ว ทางโน้นให้ระดมคนเข้าถมคูทำทางข้ามเข้ามาตีพระนคร ให้แบ่งหน้าที่กันเป็น ๓ ตอน ตอนข้างใต้ให้กองทัพพระมหาอุปราชาถมคูทำทางเข้ามาตรงเกาะแก้ว (ตรงหน้าวัดสุวรรณดาราราม) ทาง ๑ ตอนกลางให้พระเจ้าแปรคุมพลททำทางข้ามคูเข้ามาที่วัดจันทร์ตรงบางเอียน (หลังสถานีอยุธยาทุกวันนี้) ทาง ๑ ตอนเหนือให้กองทัพพระเจ้าอังวะถมคูทำทางเข้ามาตรงสะพานเกลือ (ที่ใต้วังจันทร์เกษม) อีกทาง ๑ พระเจ้าหงสาวดีคาดโทษว่า ถ้าด้านไหนทำไม่สำเร็จจะเอาโทษแม่ทัพถึงชีวิต พระมหาอุปราชา พระเจ้าอังวะ พระเจ้าแปร ต่างเกรงพระราชอาญาก็ให้เอาไม้ตาลทำทุบทูพอบังตัวไพล่พล แล้วรีบเร่งขับต้อนเข้ามาถมคลอง ชาวพระนครเอาปืนยิงตายเสียมากกว่ามากพวกหงสาวดีก้ยังขับกันหนุนเนื่องเข้ามาคนข้างหน้าตายลงคนข้างหลังก็เอาดินถมทับศพเลยมา ด้วยความกลัวอาญาพระเจ้าหงสาวดีเป็นกำลัง
ในขณะนั้นเผอิญ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรสวรรคต ชาวพระนครก็มีความว้าเหว่ พระยาราม พระยากลาโหม และพระมหาเทพ เห็นว่าไพร่พลพากันย้อท้อ จะรักษาค่ายริมคูเมืองไว้ไม่ได้
ความคิดเห็น