ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ประวัติศาสตร์ชาติไทย

    ลำดับตอนที่ #3 : รบกันด้วยเรื่องช้างเผือก ปีกุน พ.ศ.2106

    • อัปเดตล่าสุด 16 ม.ค. 58


    ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องสงครามคราวนี้ จะต้องย้อนไปเล่าเรื่องพงศาวดารพม่า ให้ผู้อ่านทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางเมืองพม่าในตอนนี้เสียก่อน จำเดิมแต่พระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้เข้ามาตีเมืองไทยไม่สำเร็จในคราวที่กล่าวมาแล้ว ครั้นกองทัพกลับไปถึงเมือง กิตติศัพท์ปรากฏว่าพระเจ้าหงสาวดีเข้ามาเสียทีไทยจนต้องล่าทัพกลับไป พวกมอญก็คลายความเกรงกลัวพม่าหานับถือพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เหมือนแต่ก่อนไม่ ซ้ำพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้นั้นเอง เมื่อกลับไปถึงเมืองหงสาวดีแล้วไม่ช้าเท่าใดก็ชอบเสวยสุราเมามายเป็นนิตย์ จนสติอารมณ์เลยฟั่นเฟือน ไม่สามารถว่าราชการบ้านเมืองได้ บุเรงผู้เป็นมหาอุปราชาต้องสำเร็จราชการแทนพอข่าวเล่าลือแพร่หลายว่าพระเจ้าหงสาวดีเสียสติ พวกมอญก็พากันกระด้างกระเดื่องขึ้นตามหัวเมือง มีพระราชบุตรของพระยาราญ ซึ่งเป็นพระเจ้าหงสาวดีมาแต่ก่อนองค์หนึ่ง เรียกว่าสมิงธอราม ออกหน้าตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นที่เมืองเมาะตะมะ บุเรงนองต้องยกกองทัพลงไปปราบปราม อยู่ทางนี้พระเจ้าหงสาวดีประพฤติร้ายกาจต่างๆ ด้วยสัญญาวิปลาส ไม่มีใครว่าได้ ขุนนางเชื้อมอญคนหนึ่ง ชื่อสมิงสอดวุต จึงทูลลวงพระเจ้าหงสาวดีว่ามีช้างเผือกเข้ามาอยู่ในป่าที่ใกล้พระนคร พระเจ้าหงสาวดีสำคัญว่าจริงก็เสด็จออกไปจับช้าง เมื่อไปประทับอยู่ที่พลับพลาในป่า ขุนนางช่วยกันจับพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ปลงพระชนม์เสีย พอปรากฏว่าพระเจ้าหงสาวดีสิ้นพระชนม์ หัวเมืองพม่ามอญบรรดาที่เป็นเมืองใหญ่ก็พากันตั้งเป็นอิสระขึ้นหมด ฝ่ายบุเรงนองซึ่งยกกำลังขึ้นไป ยังมิทันจะได้ปราบเมืองเมาะตะมะ ทราบว่าหัวเมืองทั้งหลายพากันกำเริบ ก็พาพวกพ้องไปอาศัยอยู่ในแขวงเมืองตองอู อันเป็นเมืองเดิมของญาติวงศ์

    แต่พวกมอญเมื่อชิงบ้านชิงเมืองได้ออกจากพม่าแล้ว หาเป็นสามัคคีกันไม่ ผู้ที่เป็นหัวหน้าต่างพวกต่างจะชิงกันเป็นพระเจ้าหงสาวดี พวกมอญจึงเกิดรบพุ่งกันขึ้นเอง จนบ้านเมืองเป็นจลาจล ครั้งนั้นผู้คนที่นับถือบุเรงนองยังมีมาก ทั้งในพวกพม่าและพวกมอญด้วยได้เคยเห็นสติปัญญาสามารถ ครั้งเป็นแม่ทัพของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้มาแต่ก่อน ครั้นบ้านเมืองเกิดเป็นจลาจลก็มีผู้ไปเข้าเป็นสมัครพรรคพวกของบุเรงนองมากขึ้นทุกที จนบุเรงนองเห็นว่ามีกำลังพอจะทำสงครามได้ ก็ตั้งต้นปราบปรามเจ้าเมืองที่ตั้งตัวเป็นอิสระ ตีได้เมืองตองอู เมืองแปรแล้วตีได้เมืองหงสาวดี และเมืองเมาะตะมะเป็นลำดับมา จนได้อาณาเขตรามัญประเทศไว้ในอำนาจหมดแล้ว บุเรงนองทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าหงสาวดี เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๐๙๖ ตั้งมังไชยสิงห์ราชโอรสองค์ใหญ่เป็นมหาอุราชา และตั้งราชอนุชาเป็นเจ้าประเทศราชเมืองตองอูองค์หนึ่ง เมืองแปรองค์หนึ่ง เมืองเมาะตะมะองค์หนึ่ง เมื่อจัดการปกครองหัวเมืองรามัญเห็นเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองปรารภจะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา แต่พวกข้าราชการพากันทูลทัดทานว่า กรุงศรีอยุธยามีกำลังมาก ที่ตั้งพระนครก็เป็นชัยภูมิคับขันมั่นคงมีแม่น้ำล้อมรอบ ครั้งพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้มาตีก็เสียที หากว่าจับพระราชโอรสและราชบุตรเขยของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้ ไทยจึงยอมหย่าทัพ ขอให้ปราบปรามบ้านเมืองใกล้เคียงให้ราบคาบรวมกำลังให้ได้มากกว่าไทยเสียก่อนจึงค่อยตีเอากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดีเห็นชอบด้วย จึงยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองพม่า ได้เมืองอังวะแล้วให้ราชบุตรเขยเป็นพระเจ้าอังวะ แล้วไปตีเมืองไทยใหญ่ (คือ เงี้ยว) ต่อขึ้นไป ครั้นได้เมืองไทยใหญ่แล้วจึงเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งนั้นพระเจ้าเมกุฏิครองเมืองเชียงใหม่เป็นอิสระอยู่เห็นว่าจะสู้ไม่ได้ก็อ่อนน้อมยอมเป็นประเทศราช อยู่ในอำนาจพระเจ้าหงสาวดีแต่นั้นมา พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเที่ยวทำสงครามในตอนนี้กว่า ๑๐ ปี จึงได้อาณาจักรกว้างขวางตั้งแต่เมืองเชียงใหม่ เมืองไทยใหญ่ตลอดไปทั้งแดนพม่ารามัญ มีกำลังยิ่งกว่าครั้งพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ครอบครองอาณาจักรมาแต่ก่อน

    เหตุที่พม่าจะมารบกับไทยครั้งนี้ เป็นด้วยกิตติศัพท์ที่สรรเสริญพระเกียรติยศสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่ามีบุญญาธิการมากได้ช้างเผือกถึง ๗ ช้าง เลื่องลือออกไปถึงเมืองหงสาวดี ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีกำลังมีอานุภาพมาก แต่เผอิญไม่มีช้างเผือก ครั้นได้ยินคำสรรเสริญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสมอ ว่ามีบุญญาธิการยิ่งกว่าก็คิดริษยาเห็นว่าจะละไว้ให้เป็นคู่แข่งไม่ได้ จึงคิดจะเข้ามาตีเมืองไทย แต่ทำนองความจะปรากฏอยู่แก่พระหฤทัยว่าพวกมอญไม่ใคร่เต็มใจจะมาตีเมืองไทย เพราะเคยมาล้มตายได้ความลำบากมากมายเมื่อคราวก่อน พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองฉลาดในราโชบายจึง ทำเอาดีต่อไทย ให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เป็นทำนองเจริญทางพระราชไมตรี ในพระราชสาส์นกล่าวเป็นเนื้อความว่า ได้ข่าวเลื่องลือไปถึงหงสาวดีว่า สมเด็จพระเชษฐา (คือพระมหาจักรพรรดิ) มีบุญญาธิการมาก มีช้างเผือกมาสู่บารมีถึง ๗ ช้าง กรุงหงสาวดียังหามีช้างเผือกสำหรับพระนครไม่ ขอให้สมเด็จพระเชษฐาเห็นแก่ไมตรี ขอประทานช้างเผือกให้ข้าพเจ้าผู้เป็นอนุชาไว้เป็นศรีนครสัก ๒ ช้าง ทางพระราชไมตรีทั้ง ๒ นครจะได้เจริญวัฒนาการสืบไป

    สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบพระราชสาส์นของพระเจ้าหงสาวดีก็เข้าพระหฤทัย ข้อความสำคัญของเรื่องพระราชสาส์นที่มีมาคือ ถ้าไม่ประทานช้างเผือกให้ตามที่ขอ พระเจ้าหงสาวดีก็คงขัดเคืองว่าทำให้ได้ความอัปยศอดสู อาจจะยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีเมืองไทย แต่ถ้าประทานช้างเผือกให้ตามที่ขอก็เหมือนกรุงศรีอยุธยายอมเป็นเมืองน้อยอยู่ในอำนาจพระเจ้าหงสาวดี เพราะช้างเผือกเป็นของคู่บุญญาภินิหาร ไม่มีเยี่ยงอย่างประเพณีที่พระราชาธิบดีผู้มีอิสริยยศเสมอกันจะให้แก่กัน มีแต่เจ้าประเทศราชถวายพระเจ้าราชาธิราช ว่าโดยย่อความสำคัญที่เกิดเป็นปัญหาขึ้นในครั้งนั้น ไม่ใช่ว่าจะควรประทานช้างเผือก ๒ ช้างแก่พระเจ้าหงสาวดีหรือไม่ ที่แท้จะต้องเลือกว่าจะรบกับพระเจ้าหงสาวดี ซึ่งมีอานุภาพใหญ่หลวง หรือจะยอมให้เมืองไทยอยู่ใต้ฉายาอำนาจของพระเจ้าหงสาวดี การเกิดเป็นข้อสำคัญเช่นนี้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงมีรับสั่งให้สมเด็จพระราชโอรสทั้ง ๒ พระองค์ และบรรดาข้าราชการผู้ใหญ่มาประชุมพร้อมกัน ให้ปรึกษาหารือว่าควรจะทำประการใด

    ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ครั้งนั้นความเห็นในที่ประชุมแตกกันเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นควรว่าประทานช้างเผือก ๒ ช้าง แก่พระเจ้าหงสาวดีตามประสงค์ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ควรประทาน พวกที่เห็นควรประทานมีเหตุเป็นที่อ้างว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมีอานุภาพใหญ่หลวงกว่าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ และซ้ำได้เมืองเชียงใหม่ไว้เป็นกำลังด้วย ที่จะต่อสู้เอาชัยชนะเห็นจะเหลือกำลัง เพราะฉะนั้นเสียช้างเผือกเสีย ๒ ช้าง อย่าให้เกิดรบพุ่งกับพระเจ้าหงสาวดีเห็นจะดีกว่า ถึงว่าไม่เคยมีเยี่ยงอย่างประเพณีที่พระมหากษัตริย์อันมีอิสระเสมอกันจะประทานช้างเผือกให้แก่กันก็ดีที่พระมหากษัตริย์จะมาขอช้างเผือกโดยสุภาพเช่นพระเจ้าหงสาวดีมีราชสาส์นเข้ามาขอก็ไม่เคยมีเหมือนกัน เมื่อเช่นนี้ถึงประทานก็ไม่เห็นจะเสียพระเกียรติยศ และที่สุดช้างเผือกก็มีถึง ๗ ช้าง ประทานไป ๒ ช้าง ก็ยังเหลืออีกถึง ๕ ช้าง มิใช่จะหมดสิ้นไปเสียทีเดียว อย่าให้เกิดศึกสงครามให้พวกไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ความเดือดร้อนจะดีกว่า พวกที่มีความเห็นข้างให้ประทานช้างเผือกด้วยเหตุดังว่ามานี้มีมาก

    ฝ่ายพวกที่เห็นไม่ควรประทาน มีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระราเมศวร พระยาจักรี และพระสุนทรสงครามผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี ทั้ง ๓ นี้เป็นสำคัญ มีเหตุเป็นที่อ้างว่า ที่พระเจ้าหงสาวดีขอช้างเผือกที่จริงเป็นแต่อุบายจะหาเหตุมาตีเมืองไทย หรือจะให้ไทยยอมอยู่ในอำนาจเมืองหงสาวดีโดยไม่ต้องมารบพุ่งมิใช่ให้ช้างไปแล้วกันไป การที่ยอมให้ช้างเผือกกลับจะเป็นเหตุให้พระเจ้าหงสาวดีเห็นว่ากลัวอำนาจ ถึงแม้คนทั้งหลายทั้งในประเทศอื่น ๆ ก็จะเข้าใจว่ากลัวอำนาจพระเจ้าหงสาวดีเหมือนกัน พระเจ้าหงสาวดีเห็นว่ากลัวแล้วไหนจะนิ่งอยู่คงจะเหตุอื่นเอิบเอื้อมเข้ามาเอาเมืองไทยเป็นเมืองขึ้นในวันข้างหน้า การที่จะยอมสละช้างเผือกให้ไม่เป็นทางที่จะป้องกันภัยอันตรายได้อย่างหนึ่งอย่างใด อย่างดีก็เป็นแต่เสมอจะผลัดวันพอให้ช้าวันไป ในที่สุดถ้าไทยไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นพระเจ้าหงสาวดีก็คงอยู่ในต้องรบกันนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าจะไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นพระเจ้าหงสาวดีแล้ว ตั้งหน้าสู้สงครามเสียทีเดียว อย่าให้ไพล่พลพากันเห็นว่ากลัวพระเจ้าหงสาวดีเสียจะดีกว่า ข้อที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมีอานุภาพยิ่งพระเจ้าตะเบ็งชเวตีนั้น ไทยก็ได้ตระเตรียมการป้องกันพระนคร มีกำลังแข็งแรงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เมื่อเคยต่อสู้ชนะกองทัพหงสาวดีมาครั้งหนึ่งแล้ว ทำไมจะต่อสู้รักษาพระนครเอาชัยชนะอีกสักครั้งหนึ่งไม่ได้

    ผู้ที่มีความเห็นข้างไม่ยอมให้ช้างเผือกมีน้อยกว่าพวกก่อน แต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย เพราะเห็นความจริงว่ามีที่เลือกแต่เพียงจะยอมเป็นเมืองขึ้นพระเจ้าหงสาวดีหรือจะรบกับพระเจ้าหงสาวดี จึงให้มีพระราชสาส์นตอบพระเจ้าหงสาวดีว่า ช้างเผือกย่อมเกิดสำหรับบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นเจ้าของ เมื่อพระเจ้าหงสาวดีได้ทรงบำเพ็ญราชธรรมให้ไพบูลย์ก็คงจะได้ช้างเผือกมาสู่บารมีเป็นมั่นคงอย่าให้ทรงวิตกเลย[1] พระเจ้าหงสาวดีได้ทราบพระราชสาส์นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ได้ทีสมคิด จึงประกาศว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตัดทางไมตรีแล้วให้ตระเตรียมกองทัพมาตีเมืองไทย

    พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมาตีเมืองไทยคราวนี้ ไทยเสียเปรียบผิดกับคราวพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยกมาคราวก่อนเป็นหลายประการ เบื้องต้นแต่ที่พระเจ้าบุเรงนองมีกำลังรี้พลมากว่าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ และได้เมืองเชียงใหม่ไว้ในอำนาจ อาจจะอาศัยเรือแพพาหนะเสบียงอาหารทางเมืองเชียงใหม่ ไม่ต้องขนเสบียงข้ามภูเขามาเหมือนแต่ก่อน อีกประการหนึ่งพระเจ้าหงสาวดีชำนิชำนาญการสงคราม ทำศึกชนะมาทุกทิศ รี้พลกำลังร่าเริงและมั่นใจในอานุภาพของพระเจ้าหงสาวดี แต่ข้อเหล่านี้ไม่สำคัญเท่าที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเคยเป็นแม่ทัพของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เข้ามาตีเมืองไทยครั้งก่อน รู้ภูมิลำเนาบ้านเมืองทั้งกำลังวังชาและวิธียุทธของไทยอยู่แล้ว กองทัพที่ยกเข้ามาตีเมืองไทยคราวนี้ จึงจัดการแก้ไขความขัดข้องข้อสำคัญซึ่งเคยมีมาแต่ก่อนให้ลุล่วงมาแต่ต้นมือ มีปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารเป็นหลายประการ เป็นต้นว่าครั้งก่อนพม่าเคยยกกองทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ตรงมาตีกรุงศรีอยุธยา ถูกไทยเอากำลังกองทัพหัวเมืองเหนือลงมาตีกระหนาบ ครั้งนี้พระเจ้าหงสาวดีหมายจะยกกองทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา จะเอากำลังมากเข้าทุ่มเทตีหัวเมืองเหนือ ตัดกำลังที่จะช่วยเสียก่อนแล้วจึงยกลงมาตีกรุงศรีอยุธยา อีกประการหนึ่งครั้งก่อนพม่าเข้ามาตั้งล้อมกรุงฯ ไม่สามารถจะตั้งเข้าประชิดได้ ด้วยกำลังปืนใหญ่ไม่ถึงกำลังปืนใหญ่ของไทย ครั้งนี้พระเจ้าหงสาวดีให้เตรียมปืนใหญ่ที่มีกำลังเอามาด้วยมาก แล้วจ้างฝรั่งโปรตุเกสซึ่งเป็นพวกชำนาญการปืนใหญ่เข้ามาด้วยกว่า ๔๐๐ คน ให้พอต่อสู้กองทัพเรือไทยที่รักษาพระนคร อีกประการหนึ่งเสบียงอาหารสำหรับกองทัพที่เคยอัตคัดในคราวก่อน คราวนี้ได้เมืองเชียงใหม่ไว้ในอำนาจ ก็ให้เมืองเชียงใหม่ส่งเสบียงอาหารลงมาทางน้ำให้พอใช้ในกองทัพ

    ครั้นกะการเสร็จแล้ว พระเจ้าหงสาวดีก็ยกออกจากพระนครเมื่อ ณ วันจันทร์ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีกุน พ.ศ. ๒๑๐๖ ลงมาประชุมพลที่เมืองเมาะตะมะ จัดกระบวนทัพเป็นทัพกษัตริย์ ๕ ทัพ คือทัพพระมหาอุปราชาราชโอรสทัพ ๑ ทัพพระเจ้าอังวะราชบุตรเขยทัพ ๑ ทัพพระเจ้าแปรราชอนุชาทัพ ๑ ทัพพระเจ้าตองอูราชอนุชาทัพ ๑ ทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีทัพ ๑ กองทัพพระยาพสิมน้องยาเธออีกทัพ ๑ เห็นแต่จะเป็นกองหน้าของพระเจ้าหงสาวดี และเกณฑ์พวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่ให้เป็นกองพาหนะสมทบทุกทัพ ให้พระเจ้าเชียงใหม่คุมกองเรือลำเลียงเสบียงอาหารลงมาบรรจบทัพหลวงที่เมืองตากในหนังสือพงศาวดารพม่าว่า จำนวนพลพระเจ้าหงสาวดียกมาตีเมืองไทยครั้งนั้น รวมเบ็ดเสร็จ ๕๐๐,๐๐๐ (จะประมาณมากเกินไปสักหน่อย)

    ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ตอบพระราชสาส์นไปแล้ว ก็เชื่อแน่ว่าคงมีศึกหงสาวดียกมา พอถึงฤดูแล้งจึงรวบรวมคน และเก็บกวาดเสบียงอาหารเข้าไว้ในพระนคร จัดเตรียมป้อมปราการวางปืนใหญ่น้อยรักษาที่เชิงเทินให้มั่นคง แล้วให้พระยาจักรีคุมพล ๑๕,๐๐๐ ไปตั้งที่ป้อมลุมพลีรักษาชานพระนครข้างด้านเหนือแห่ง ๑ ให้เจ้าพระยามหาเสนาคุมพล ๑๐,๐๐๐ ไปตั้งที่ป้อมบ้านดอกไม้หันตรารักษาทางด้านตะวันออกแห่ง ๑ ให้พระยาคลังคุมพล ๑๐,๐๐๐ ไปตั้งที่ป้อมท้ายคูรักษาข้างด้านใต้แห่ง ๑ ให้พระยาสุนทรสงครามคุมพล ๑๐,๐๐๐ ไปตั้งที่ป้อมจำปา[2] รักษาด้านตะวันตกแห่ง ๑ แล้วให้ตระเตรียมเรือรบสำหรับลาดตระเวนไว้เป็นอันมาก แต่ครั้งนั้นสำคัญว่าพระเจ้าหงสาวดีจะยกทัพหลวงมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ตรงมาตีพระนครเหมือนคราวก่อน หาได้เตรียมถึงการที่จะรักษาหัวเมืองเหนือไม่ ครั้นพระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา พวกเจ้าเมืองเหนือทราบความก็ตกใจ ต่างเมืองต่างรีบรวบรวมรี้พลเข้ารักษาเมือง ไม่ทันวางวิธีช่วยเหลือแก้ไขกันอย่างไร เพราะฉะนั้นกองทัพพระเจ้าหงสาวดียกมาเป็นทัพใหญ่พอถึงเมืองกำแพงเพชรก็ตีได้เมืองและจับตัวพระยากำแพงเพชรได้โดยง่าย ครั้นได้เมืองกำแพงเพชรแล้วพระเจ้าหงสาวดีจึงแต่งกองทัพให้แยกกันเป็น ๒ ทาง ให้พระเจ้าอังวะ พระเจ้าตองอู ยกไปตีเมืองพิษณุโลกทาง ๑ ให้พระมหาอุปราชากับพระเจ้าแปรยกไปตีเมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิชัยทาง ๑ แล้วให้ลงมาบรรจบกับกองทัพที่ตีเมืองพิษณุโลก ส่วนพระเจ้าหงสาวดีตั้งกองทัพหลวงอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร

    กองทัพพระมหาอุปราชากับพระเจ้าแปรยกไปถึงเมืองสุโขทัย พระยาสุโขทัยต่อสู้ ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถกำลังไทยน้อยกว่าพม่ามากนัก ก็เสียเมืองสุโขทัย ตัวพระยาสุโขทัยพม่าก็จับได้ ฝ่ายพระยาสวรรคโลก พระยาพิชัย เมื่อรู้ว่าเสียเมืองสุโขทัยแล้วก็ไม่ต่อสู้พากันไปยอมอ่อนน้อมต่อพระมหาอุปราชาทั้ง ๒ เมือง กองทัพพม่าจึงยกไปรวมกันล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ ฝ่ายพระมหาธรรมราชาต่อสู้ป้องกันเมืองเป็นสามารถถูกพม่าล้อมไว้จนสิ้นเสบียงอาหาร แล้วซ้ำเกิดไข้ทรพิษขึ้นที่ในเมือง พระมหาธรรมราชาก็ต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงสาวดี[3] เมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม ๑๕ ค่ำ ปีกุน พ.ศ. ๒๑๐๖

    พระเจ้าหงสาวดีได้เมืองเหนือแล้ว จึงให้พระมหาธรรมราชาและเจ้าเมืองกรมการที่ยอมอ่อนน้อมถือน้ำกระทำสัตย์ แล้วให้บังคับบัญชาบ้านเมืองอยู่ตามเดิม ด้วยประสงค์จะเอาไว้เป็นกำลังต่อไปข้างหน้า แล้วให้จัดกระบวนทัพที่จะยกลงมาตีกรุงศรีอยุธยา ให้รวบรวมเรือในหัวเมืองฝ่ายเหนือจัดเป็นกองทัพเรือ ให้พระเจ้าแปรเป็นนายทัพ ยกลงมาจากเมืองพิษณุโลกทางแม่น้ำแควใหญ่ทัพ ๑ ส่วนทัพบกนั้นให้พระมหาอุปราชาเป็นปีกขวา พระเจ้าอังวะเป็นปีกซ้าย พระเจ้าตองอูเป็นกองกลางยกลงมาก่อน แล้วพระเจ้าหงสาวดียกทัพหลวงตามลงมา ให้พระมหาธรรมราชา พระยาสวรรคโลก พระยาพิชัย ตามเสด็จมาในกองทัพหลวงด้วย และครั้งนั้นพระเจ้าเชียงใหม่เมกุฏิบิดพลิ้วบอกป่วยเสีย ให้แต่พระยาแสนหลวง พระยาสามล้าน คุมเสบียงและพาหนะลงมาตามเกณฑ์ พระเจ้าหงสาวดีขัดเคืองพระเจ้าเชียงใหม่ แต่ยังหาว่าประการใดไม่ ให้กองทัพเมืองเชียงใหม่คุมลำเลียงเสบียงอาหารตามกองทัพหลวงลงมา

    ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา เมื่อทราบว่าพระเจ้าหงสาวดียกกองทัพหลวงเข้ามาตีหัวเมืองเหนือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิตรัสสั่งให้จัดกองทัพ ให้พระยาพิชัยรณฤทธิ พระยาวิชิตณรงค์ คุมทัพหน้า พระราเมศวรราชโอรสเป็นแม่ทัพหลวง ยกขึ้นไปช่วยเมืองพิษณุโลก กองทัพพระยาพิชัยรณฤทธิ พระยาวิชิตณรงค์ ยกขึ้นไปถึงแขวงเมืองนครสวรรค์ ทราบว่าเสียเมืองพิษณุโลกเสียเมืองแก่ข้าศึกแล้วก็ถอยลงมา พระราเมศวรจึงตั้งรับข้าศึกอยู่ ณ ที่มั่นแห่งหนึ่ง[4] กองทัพพม่ายกลงมาถึงตรงนั้น ได้รบพุ่งกับกองทัพไทยเป็นสามารถ กองทัพไทยเอาปืนใหญ่ลงเรือเที่ยวไล่ยิงถูกพม่าล้มตายมากนัก จนกองทัพต้องหยุดชะงักอยู่ พระเจ้าหงสาวดีให้ข้าหลวงขึ้นไปเร่งกองทัพเรือของพระเจ้าแปรให้รีบยกลงมา ครั้นกองทัพพระเจ้าแปรลงมาถึง พม่าจึงระดมตีกองทัพพระราเมศวรทั้งทางบกทางเรือพร้อมกัน กองทัพไทยกำลังน้อยกว่าต้านทานไม่ไหวก็ถอยลงมายังกรุงศรีอยุธยา

    เมื่อกองทัพพระเจ้าหงสาวดียกลงมาจวนจะถึงกรุงฯ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิให้กองทัพบกกองทัพเรือยกออกระดมตีกองทัพพระเจ้าหงสาวดีที่ใกล้ทุ่งลุมพลี ได้รบกันเป็นสามารถอีกครั้งหนึ่ง กองทัพไทยสู้ไม่ได้ก็ต้องถอยกลับเข้าพระนคร เสียเรือรบแก่พม่าข้าศึกเป็นอันมาก พระเจ้าหงสาวดีก็เลยตีได้ป้อมพระยาจักรีที่ทุ่งลุมพลี และป้อมจำปาที่พระสุนทรบุรีรักษาแล้วให้มาตีป้อมเจ้าพระยามหาเสนาที่ทุ่งหันตราได้อีกแห่งหนึ่ง ครั้นได้ป้อมค่ายที่กีดกั้นชั้นนอกแล้ว พระเจ้าหงสาวดีจึงให้กองทัพเข้ามาตั้งล้อมพระนครไว้ ๓ ด้าน ด้านตะวันออกให้กองทัพพระเจ้าแปรตั้งที่ทุ่งวัดโพธารามลงไปจนคลองเกาะแก้ว ด้านเหนือให้กองทัพพระมหาอุปราชาตั้งที่ทุ่งเพนียด กองทัพหลวงพระเจ้าหงสาวดีตั้งที่ทุ่งวัดโพธิ์เผือกใกล้ขนอนปากคู กองทัพพระยาพสิมตั้งที่ทุ่งลุมพลี ด้านตะวันตกให้กองทัพพระเจ้าตองอูตั้งที่ทุ่งประเชด กองทัพพระเจ้าอังวะตั้งต่อลงมา ข้างด้านใต้พุทไธสวรรย์

    เมื่อพม่าเข้ามาล้อมกรุงฯ อยู่ครั้งนั้น กองทัพไทยหาได้ยกออกไปรบพุ่งอีกไม่ คงเป็นด้วยสมเด็จพระมหาจักพรรดิทรงพระราชดำริว่า ข้าศึกมีกำลังมากนัก จะเอาชัยในกระบวนรบพุ่งไม่ได้ จึงเป็นแต่ให้เรือรบเอาปืนใหญ่คอยเที่ยวยิงมิให้ข้าศึกรุกเข้ามาใกล้พระนคร ประสงค์จะถ่วงเวลาข้าศึกต้องเลิกกลับไปเองด้วยขัดสนเสบียงอาหาร หรือมิฉะนั้นก็คงต้องล่าไปในเวลาจวนน้ำเหนือหลากลงมา แต่พระเจ้าหงสาวดีได้ตระเตรียมการเข้ามาโดยรู้ภูมิลำเนากรุงศรีอยุธยา มีกองทัพเรือและปืนขนาดใหญ่มาด้วยมาก พอตั้งล้อมกรุงฯ แล้วก็พยายามทำลายเรือรบของไทยได้หมด จนเห็นว่าไทยไม่อาจจะเอาปืนใหญ่ลงเรือไปเที่ยวไล่ยิงได้ดังแต่ก่อนแล้ว ก็ให้เอาปืนใหญ่เข้ามาตั้งจังก้ายิงเข้าในพระนคร ถูกวัดวาบ้านเรือนราษฎรหักพังลงทุก ๆ วัน จนเห็นว่าชาวพระนครพากันครั่นคร้ามอยู่แล้ว พระเจ้าหงสาวดีจึงมีพระราชสาส์นเข้ามายังสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่าจะรบหรือจะยอมเป็นไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดี

    ตรงนี้น่าจะวินิจฉัยสักหน่อย ว่าเหตุใดสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงยอมแพ้ข้าศึกโดยง่าย เพราะเมื่ออ่านไปถึงเรื่องพระเจ้าหงสาวดีตีกรุงศรีอยุธยาคราวหน้า จะแลเห็นได้ว่าถ้าไทยต่อสู้จริงๆ พระเจ้าหงสาวดีก็ตีไม่ได้ จนต้องแต่งไส้ศึกเข้ามาลวงให้เสียการจึงได้พระนคร ความข้อนี้ทำให้เห็นว่า เพียงพม่ายิงปืนใหญ่เข้ามาได้ถึงพระนคร เห็นจะไม่พอเป็นเหตุให้สมเด็จพระมหาจักพรรดิยอมแพ้คงจะมีเหตุอื่นอีกเป็นแน่ เมื่อพิจารณาไปเห็นว่าเหตุที่แท้นั้นน่าจะเป็น ๒ ประการคือ

    ๑. เพราะข้างฝ่ายไทยที่รักษาพระนครไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ด้วยการสงครามครั้งนั้นปรากฏมาแต่แรกว่ามีข้าราชการเห็นไม่ควรจะรบมากด้วยกัน ดังกล่าวมาแล้ว ครั้นเกิดศึกจนเสียเมืองเหนือและกองทัพกรุงฯ ไปแตกพ่ายถอยกลับมา ข้าศึกเข้ามาล้อมถึงพระนคร พวกที่เห็นไม่ควรรบพากันโทษพระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงคราม ว่าทะนงองอาจไปเปล่าๆ ถ้ายอมเสียช้างเผือกเสีย ๒ ช้างแต่แรกแล้ว บ้านเมืองก็จะหาขุ่นเข็ญอย่างนี้ไม่ ข้างในพระนครคงจะมีเสียงอย่างนี้อยู่โดยมาก

    ๒. ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีก็ทำนองคิดเห็นอยู่ ว่าจะตีหักเอากรุงศรีอยุธยาให้ได้คราวนี้เห็นจะยาก ด้วยไปเสียเวลาตีหัวเมืองเหนือเสียก่อน ยังมีเวลาที่จะตีกรุงฯ ก่อนน้ำหลากไม่ช้านัก จึงคิดผ่อนผันไปในทางอุบายให้เป็นการยืดยาว มีพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่าถ้ายอมเป็นไมตรีเสียโดยดี พอได้แก้ความอัปยศอดสูแล้วก็จะเลิกทัพกลับไป และให้สัญญาว่าจะไม่เอากรุงศรีเป็นเมืองเชลย พระเจ้าหงสาวดีมีพระราชสาส์นเข้ามาดังนี้ ก็ต้องใจพวกข้าราชการที่ไม่อยากรบอยู่แต่เดิม จึงพากันกราบทูลร้องทุกข์ทำนองที่กล่าวในพงศาวดารพม่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่สามารถจะขัดขืนคนมากได้ ก็ต้องยอมเป็นไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดี กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่ามีรับสั่งให้ปลูกพลับพลาที่วัดหัสดาวาส (คือ วัดช้างอยู่ใกล้วัดหน้าพระเมรุ) และเชิญพระพุทธรูป และพระธรรม พระสงฆ์ ไปประดิษฐานเป็นประธานแล้วสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าหงสาวดีก็เสด็จไปพบกันที่พลับพลานั้น พระเจ้าหงสาวดีทูลขอช้างเผือก ๔ เชือก กับขอพระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงคราม ซึ่งเป็นหัวหน้าที่คิดให้เกิดศึกเอาตัวไปเมืองหงสาวดีและในพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงสาวดีให้ไทยรับส่งส่วยช้างปีละ ๓๐ ช้าง เงินปีละ ๓๐๐ ชั่ง กับทั้งยอมให้ผลประโยชน์ภาษีอากรที่เก็บได้ในเมืองมะริด เป็นของพม่าด้วย (เพราะในสมัยนั้นเมืองมะริดเป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศมีกำปั่นไปมาเสมอ) สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยอมตามประสงค์แล้วพระเจ้าหงสาวดีก็เลิกทัพกลับไป

    มีเนื้อความกล่าวในหนังสือพงศาวดารพม่าว่า ครั้งนั้นพระเจ้าหงสาวดีเอาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปเมืองหงสาวดีด้วย ส่วนกรุงศรีอยุธยาให้สมเด็จพระมหินทราธิราชครองเป็นประเทศราช ขึ้นต่เมืองหงสาวดีต่อมา และยังปรากฏในพงศาวดารพม่าต่อมาอีกแห่งหนึ่งว่า เมื่อพระเจ้าหงสาวดีเฉลิมพระราชมณเทียร ได้ให้ปลูกตำหนักประทานพระเจ้ากรุงสยามด้วย ครั้นต่อไปถึงเรื่องพระเจ้าหงสาวดีตีกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง ในหนังสือพงศาวดารพม่ากล่าวว่าเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปอยู่เมืองหงสาวดีนั้น ไปทรงผนวชเป็นพระภิกษุจึงพ้นจากการควบคุมเลยหลบหนีกลับมาเมืองไทยได้ดังนี้ เรื่องที่กล่าวในพงศาวดารพม่าตรงนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าจะไม่เป็นความจริง ด้วยครั้งนั้นเป็นแต่การยอมกันโดยปรานีประนอม ถ้าถึงจะเอาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไป ฝ่ายไทยไหนจะยอมเป็นไมตรีง่ายๆ ซึ่งเอาแต่พระราเมศวรไปครั้งนั้น เป็นการสมต้นปลายในราโชบายของพระเจ้าหงสาวดี ที่ว่าสมต้นเพราะฝ่ายไทยพอจะยินยอม ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีก็ได้รัชทายาทของเมืองไทยไปไว้เป็นตัวจำนำ จำใจไทยให้ต้องประพฤติตามสัญญาข้ออื่น ส่วนที่ว่าสมปลายนั้น เพราะพระราเมศวรเป็นรัชทายาท ถ้าหากสมเด็จพระมหาจักพรรดิสวรรคตลงเมื่อใด พระเจ้าหงสาวดีก็จะได้โอกาสตั้งแต่งพระราเมศวรให้มาครองกรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นประเทศราชขึ้นเมืองหงสาวดีสนิทสนมมั่นคงขึ้น ความข้อต่างๆ ที่อ้างในพงศาวดารพม่า เช่น ว่าปลูกตำหนักประทานอาจประทานพระราเมศวรก็ได้ และข้อที่ว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงผนวชจึงพ้นจากการควบคุมจนหนีมาเมืองไทยได้นั้นก็ไม่น่าเชื่อ จึงเห็นว่าความจริงคงจะเป็นอย่างที่ปรากฏในหนังสือราชพงศาวดารเช่นข้าพเจ้ากล่าวมา[5]

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×