ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ประวัติศาสตร์ชาติไทย

    ลำดับตอนที่ #2 : สมเด็จพระสุริโยทัยขาดคอช้าง ปีวอก พ.ศ.2091

    • อัปเดตล่าสุด 16 ม.ค. 58


    ตั้งแต่ไทยกับพม่ารบกันที่เมืองเชียงกรานแล้ว ต่อมาอีก ๑๐ ปีจึงปรากฏว่ารบกันอีกครั้งหนึ่ง ในระหว่างนั้นทางเมืองพม่า พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เอาเมืองหงสาวดีเป็นที่มั่น เที่ยวปราบปรามได้เมืองอังวะและหัวเมืองพม่า ทั้งบ้านเมืองไทยใหญ่ไว้ในอำนาจทั้งสิ้น แล้วทำพิธีอภิเษกเป็นพระเจ้าราชาธิราชที่เมืองหงสาวดี จึงได้ปรากฏพระนามว่าพระเจ้าหงสาวดีแต่นั้นมา

    ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสวยราชสมบัติมาจนถึงปีมะเมีย จุลศักราช ๙๐๘ พ.ศ. ๒๐๘๙ สวรรคตพระแก้วฟ้า[1]ราชโอรสที่ได้รับราชสมบัติยังทรงพระเยาว์ พระชัญษาเพียง ๑๑ ปี ท้าวศรีสุดาจันผู้เป็นราชมารดาว่าราชการแทน อยู่มาท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นชุ้กับพันบุตรศรีเทพ พนักงานเฝ้าหอพระ จนนางมีครรภ์ขึ้น เห็นว่าจะปิดความไม่มิด จึงตั้งชู้เป็นขุนวรวงศาธิราช ให้กำลังวังชาว่าราชการแผ่นดิน แล้วขุนวรวงศาธิราชปลงพระชนสมเด็จพระแก้วฟ้าเสีย ชิงเอาราชสมบัติ ราชาภิเษกขึ้นครองแผ่นดินอยู่ได้ ๔๒ วัน พวกข้าราชการจึงช่วยกันจับท้าวศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงศาธิราชประหารชีวิตเสีย แล้วเชิญพระเฑียรราชา ซึ่งเป็นราชอนุชาต่างพระชนนี กับสมเด็จพระไชยราชาธิราชขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อปีวอก จุลศักราช ๙๑๐ พ.ศ. ๒๐๙๑ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

    ข่าวที่เกิดจราจลในกรุงศรีอยุธยา ทราบไปถึงพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ ก็เห็นเป็นโอกาศที่จะแผ่ราชอาณาจักรต่อมาทางตะวันออก ด้วยมีรี้พลมากกว่าไทยหลายเท่า และได้เมืองมอญอันติดต่อกับแดนไทยไว้เป็นที่มั่น จึงสั่งให้กะเกณฑ์กองทัพมาตั้งประชุมพลที่เมืองเมาะตะมะ แล้วพระเจ้าหงสาวดีก็เสด็จเป็นจอมพลยกเข้ามาเมืองไทย หมายจะตีเอากรุงศรีอยุธยา

    ตรงนี้จะแทรกอธิบายว่าด้วยทางที่พม่าเดินทัพก่อน อันหนทางคมนาคมในระหว่างเมืองมอญกับเมืองไทย มีทางหลวงสำหรับไปมาแต่โบราณ ๒ ทางร่วมกันที่เมาะตะมะ ทางสายเหนือออกจากเมืองเมาะตะมะ ขึ้นทางแม่น้ำจนถึงบ้านตะพู (เมืองแครง) แล้วเดินบกมาข้ามแม่น้ำกลีบ (เกาะกริต) แม่น้ำเม้ย คือเม้ยวดีที่เป็นแดนทุกวันนี้ แม่น้ำสอด มาทางด่านแม่ละเมา มาลงท่าแม่น้ำปิง ตรงบ้านระแหงที่ตั้งเมืองตากทุกวันนี้ ทางสายนี้เป็นทางไปมากับหัวเมืองไทยฝ่ายเหนือตลอดจนถึงเมืองเชียงใหม่ ในหนังสือพระราชพงศาวดารเรียกว่า “ ทางด่านแม่ละเมา ” ทางสายใต้อีกสายหนึ่งนั้น ออกจากเมืองตะเมาะมาทางแม่น้ำอัตรัน (เมืองเชียงกราน) จนถึงเมืองสมิ แล้วเดินบกมาข้ามน้ำแม่สกลิกแม่กษัตริย์ ข้ามภูเขาเข้าแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์[2] มาลงลำน้ำแควน้อยที่สามสบ (ที่เรียกว่าสามสบ หมายความว่าเป็นที่ลำน้ำทั้งสาม คือ แม่น้ำน้อยหนึ่ง ลำน้ำลันเตหนึ่ง ลำน้ำบีคีหนึ่ง ร่วมกันตรงนั้น) แต่สามสบจะใช้เรือล่องลงมาทางเมืองไทรโยคจนออกแม่น้ำแควใหญ่เมืองกาญจนบุรีที่ลิ้นช้าง (ตรงเมืองทุกวันนี้) ได้ทางหนึ่ง ถ้าเดินบกแต่สามสบเดินมาเมืองไทรโยค (เก่า) แล้วตัดข้ามลงลำน้ำแควใหญ่ที่เมืองศรีสวัสดิ์ หรือที่ท่ากระดานด่านกรามช้าง แล้วเดินเลียบลำน้ำแควใหญ่ลงมา จนถึงเมืองกาญจนบุรี (คือเมืองเก่าอยู่ใกล้เขาชนไก่) ซึ่งตั้งอยู่ในทุ่งลาดหญ้าเชิงเขาเทือกบรรทัด แต่นั้นต่อมาก็เป็นที่ราบ ใช้เกวียนและเรือได้สะดวกทั้งสองสถาน ทางนี้เป็นทางสำหรับไปมากับกรุงศรีอยุธยาและหัวเมืองข้างใต้ เรียก “ ทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ” พระเจ้าหงสาวดีหมายจะตีกรุงศรีอยุธยา จึงยกมาทางด้านพระเจดีย์สามองค์

    กองทัพพระเจ้าหงสาวดียกมาครั้งนั้น เป็นทัพกษัตริย์มกำลังมากมายใหญ่หลวง พวกหัวเมืองไทยที่รักษาด่านทางชายแดนเหลือกำลังจะต่อสู้ก็ได้แต่บอกข่าวศึกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์ได้ ๖ เดือน ก็ได้ข่าวว่าพระเจ้าหงสาวดียกกองทัพเจ้ามา แต่เวลานั้นกำลังบ้านเมืองยังบริบูรณ์เพราะเรื่องจลาจลที่เกิดขึ้นแต่ก่อน เป็นแต่ปราบปรามผู้ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ ไม่ถึงเกิดรบพุ่งกันเป็นศึกกลางเมือง พอสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชสมบัติ บ้านเมืองก็ราบคาบเป็นปรกติดังแต่เดิม ครั้นได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพเข้ามา จึงแต่งกองทัพออกไปตั้งขัดตาทัพ คอยต่อสู้อยู่ที่เมืองสุพรรณบุรีแห่งหนึ่ง ด้วยเมืองสุพรรณบุรีสมัยนั้นมีป้อมปราการ เป็นเมืองด่านป้องกันพระนครอยู่ทางทิศตะวันตก แล้วให้ตระเตรียมพระนครศรีอยุธยาเป็นที่มั่นสำหรับจะรบพุ่งขับเคี่ยวกับข้าศึกในที่สุด

    การที่ไทยเอาพระนครเป็นที่มั่นตั้งต่อสู้ข้าศึกครั้งนั้น พิเคราะห์ตามเหตุการณ์ที่ปรากฎในเรื่องพระราชพงศาวดาร เพราะได้เปรียบข้าศึกในทางพิชัยสงครามหลายสถาน คือ

    สถานที่หนึ่ง พระนครศรีอยุธยามีลำแม่น้ำล้อมรอบ คือ ลำแม่น้ำลพบุรีอยู่ด้านเหนือ ลำแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ข้านด้านตะวันตกและด้านใต้ลำแม่น้ำสักอยู่ข้างด้านตะวันออก ถึงข้าศึกมีรี้พลมากยกเข้า ก็ติดแม่น้ำ เพราะไทยรวบรวมเอาเรือไว้เสียหมดแล้ว เอาปีนใหญ่ลงในเรือรบเที่ยวไล่ยิงข้าศึกที่เข้ามาใกล้ได้ทุกด้าน ส่วนข้าศึกจะเอาปืนใหญ่ยิงพระนครบ้าง ยิงไม่ถึงด้วยต้องยกกองทัพข้ามภูเขาเข้ามาเอามาได้แต่ปืนขนาดแรงน้อย เพราะฉะนั้นถึงข้าศึกจะยกเข้ามาได้ถึงชานพระนครก็ได้แต่ตั้งล้อมอยู่ห่างๆ

    สถานที่สอง เมืองไทยมีอาหารบริบูรณ์ รวบรวมผู้คนและเสบียงอาหารเข้าไว้ในพระนคร ถึงข้าศึกจะเข้ามาตั้งล้อมอยู่ภายนอกทางข้างใต้พระนครเป็นลำแม่น้ำใหญ่ ไทยใช้เรือกำปั่นไปมาหาเครื่องศัสตราวุธและเสบียงอาหารเพิ่มเติมได้ไม่อัตคัด แต่ข้างฝ่ายข้าศึกจะหาเสบียงอาหารและเครื่องศัสตราวุธมาเพิ่มเติมยาก

    สถานที่สาม ทำเลท้องที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ มีข้อสำคัญในทางพิชัยสงครามฝ่ายข้างต่อสู้รักษาเมืองอยู่อีกอย่างหนึ่ง ด้วยเป็นที่มีฤดูน้ำท่วมทุกปี ข้าศึกที่ยกมาเช่นกองทัพพระเจ้าหงสาวดีมีเวลาที่จะรบพุ่งตีกรุงศรีอยุธยาได้เสมอ ๘ เดือน คือ ตั้งแต่เดือนยี่ไปจนถึงเดือน ๙ ถ้าตีไม่ได้ในเดือน ๙ ก็ต้องเลิกทัพกลับไป เพราะน้ำจะขึ้นท่วมแผ่นดินไม่มีที่อาศัยตั้งกองทัพตั้งแต่เดือน ๑๐ ไป การที่ไทยเอาพระนครศรีอยุธยาเป็นที่มั่นต่อสู้ได้เปรียบข้าศึกหลายสถานดังกล่าวมา ลักษณะการที่ไทยต่อสู้ข้าศึกในกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จึงเอาพระนครเป็นที่มั่นต่อสู้ตั้งแต่คราวสมเด็จพระมหาจักรพรรดิต่อสู้พระเจ้าหงสาวดี ตะเบ็งชเวตี้ ในครั้งที่กล่าวนี้เป็นที่แรก และในคราวหลังๆ ต่อมาอีกหลายคราว

    พระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ยกกองทัพเข้ามาถึงเมืองกาญจนบุรีไม่เห็นมีผู้ใดต่อสู้ ก็ยกล่วงเลยเข้าเขตเมืองสุพรรณบุรีทางปากแพรก บ้านทวน กะพังตรุ จรเข้สามพัน เมืองอู่ทอง บ้านโค่ง ดอนระฆัง หนองสาหร่ายแล้วเข้าตีเมืองสุพรรณบุรี กองทัพไทยทานกำลังไม่ได้ก็ถอยหนีมากรุงศรีอยุธยา พม่าก็ยกตามเข้ามาทางลำสามโก้ ป่าโมก ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแถวบางโผงเผง เข้ามาชานพระนครทางทุ่มลุมพลีข้างด้านเหนือ[3]

    ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อทรงราบว่ากองทัพพระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาใกล้จะถึงกรุงฯ เสด็จยกกองทัพหลวงออกไปหวังจะลองกำลังข้าศึกดูว่าจะหนักเบาสักเพียงใด สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จไปคราวนั้นทรงพระคชาธาร และสมเด็จพระสุริโยทัยพระอัครมเหสี ก็แต่งพระองค์เป็นชายอย่างพระมหาอุปราช ทรงพระคชาธารตามเสด็จไป พร้อมด้วยพระราเมศวรและพระมหินทรราชโอรสทั้ง ๒ พระองค์กองทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิยกออกไปปะทะกองทัพพระเจ้าแปร ซึ่งเป็นทัพหน้าของพระเจ้าหงสาวดี ไพร่พลทั้งสองฝ่ายรบพุ่งกัน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าแปร ต่างทรงช้างขับพลหนุนมาพบกันเข้าก็ชนช้างกันตามแบบการยุทธในสมัยนั้น ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียที แล่นหนีช้างข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรขับช้างไล่มาสมเด็จพระสุริโยทัยเกรงพระราชสามีจะเป็นอันตรายจึงขับช้างทรงเข้าขวางทางข้าศึกไว้ พระเจ้าแปรได้ทีฟันสมเด็จพระสุริโยทัย ด้วยสำคัญว่าเป็นชาย สิ้นพระชนม์ซบลงกับคอช้าง พอพระราเมศวรกับพระมหินทรทั้งสองพระองค์ขับช้างทรงเข้าต่อสู้ พระเจ้าแปรก็ถอยไป จึงกันเอาพระศพสมเด็จพระชนนีกลับมาได้ ในการที่รบกันวันนั้น เห็นจะสิ้นเวลาลงเพียงนั้นไม่ถึงแพ้ชนะกันกอบทัพไทยก็ถอยกลับเข้าพระนคร

    พระศพสมเด็จพระสุริโยทัยนั้น เชิญไปประดิษฐานไว้ที่สวนหลวงตรงที่สร้างวังหลังต่อมา (เดี๋ยวนี้อยู่ในบริเวณโรงทหารข้างตอนใต้) ครั้นเสร็จการสงครามคราวนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงได้ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสุริโยทัยที่ในสวนหลวง ตรงต่อเขตวัดสบสวรรค์ แล้วสร้างพระอารามขึ้นครงพระเมรุ มีพระเจดีย์ใหญ่เป็นสำคัญ ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้เรียกกันว่า “ วัดสวนหลวง สบสวรรค์ ”[4]

    กองทัพหงสาวดียกเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา มาตั้งค่ายรายกันอยู่ข้างด้านเหนือด้านเดียว พระเจ้าหงสาวดีตั้งอยู่บนที่บ้านกุ่มดอง บุเรงนองตั้งอยู่พะเนียด พระเจ้าแปรตั้งอยู่บ้านใหม่มะขามหย่อง พระยาประสิมตั้งที่ทุ่งประเชด พระเจ้าหงสาวดีจะเข้าตีหักเอาไม่ได้ ด้วยไทยได้เปรียบในทางพิชัยสงครามดังกล่าวแล้ว และในเวลานั้นหัวเมืองไทยฝ่ายเหนืออันเป็นมณฑลราชธานีครั้งสมเด็จพระร่วงยังมีกำลังมาก พระมหาธรรมราชาราชบุตรเขยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เป็นอุปราชครองเมืองเหนือทั้งปวงอยู่ที่เมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงมีรับสั่งขึ้นไปให้พระมหาธรรมราชายกกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือลงมาตีกระหนาบทัพพระเจ้าหงสาวดี ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีมาตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ไม่สามารถจะตีเอาพระนครได้ เสบียงอาหารสำหรับกองทัพก็หมดลงทุกที ครั้นได้ข่าวว่ามีกองทัพไทยลงมาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือจะมาตีกระหนาบ ก็ตกพระทัย จะเลิกทัพกลับไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ที่ยกมา เสบียงอาหารตามหัวเมืองรายทางก็ยับเยินเสียหมดแล้ว จึงให้ยกทัพกลับขึ้นไปทางข้างเหนือ ด้วยเห็นว่ากำลังไพร่พลมีมากกว่าไทย จะเดินทัพออกไปด่านแม่ละเมาแขวงเมืองตาก ความปรากฏในหนังสือพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงสาวดีถอยทัพกลับไปครั้งนั้น ข้างฝ่ายไทยได้ที สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ให้พระราเมศวรราชโอรสคุมกองทัพกรุงศรีอยุธยาติดตามตีขึ้นไปทางหนึ่ง พระมหาธรรมราชาคุมกองทัพหัวเมืองเหนือติดตามตีไปอีกทางหนึ่ง ฆ่าฟันรี้พลกองทัพพม่าล้มตายเป็นอันมาก ไทยติดตามตีทัพหลังขึ้นไปจนทางอีกสามวันจะทันกองทัพของพระเจ้าหงสาวดีที่เมืองกำแพงเพชร พระเจ้าหงสาวดีเห็นจวนตัวจึงทำกลอุบายให้กองทัพมาซุ่มอยู่สองข้างทาง แล้วให้รบล่อไทยให้ไล่ถลำเข้าไปในที่ล้อม ฝ่ายกองทัพไทยกำลังระเริงไล่หลงเข้าไปพม่าล้อมจับได้ทั้งพระมหาธรรมราชาและพระราเมศวร สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิจึงต้องยอมอย่าทัพเอาช้างพลายศรีมงคล พลายมงคลทวีปอันเป็นช้างชนะงาถวายตอบแทนพระเจ้าหงสาวดี แลกเอาพระมหาธรรมราชาและพระราเมศวรกลับมา กองทัพพระเจ้าหงสาวดีจึงยกกลับไปบ้านเมืองได้โดยสะดวก

    เรื่องสงครามคราวนี้ ในหนังสือพระราชพงศาวดารบางฉบับว่าเป็นสงครามสองคราวว่า พระเจ้าหงสาวดีได้ข่าวว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นจลาจลยกกองทัพเข้ามา ครั้นมาได้ข่าวว่าจลาจลสงบแล้วก็กลับไปโดยมิได้รบพุ่งคราวหนึ่ง แล้วยกเข้ามาอีกคราวหนึ่ง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรดังกล่าวมาแล้ว แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกับพงศาวดารฉบับพม่าว่า ยกเข้ามาแต่คราวเดียว ข้าพเจ้าสอบได้ความว่า หนังสือพระราชพงศาวดารที่ว่าการสงครามสองครั้งนั้น เป็นด้วยผู้แต่งสำคัญศักราชแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิผิดไปถึง ๑๙ ปี จึงหลงเข้าใจว่าเรื่องสงครามเป็นสอง

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×