ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    มาเรียนภาษาเยอรมันกันเถอะ! - ภาคไวยากรณ์

    ลำดับตอนที่ #4 : (นอกรอบ) แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับไวยากรณ์ของภาษาเยอรมัน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 19.83K
      44
      19 ต.ค. 51

    ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาจริงๆ จังๆ เราลองมาดูแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับไวยากรณ์ของภาษาเยอรมันกันซักนิดนึงก่อนก็แล้วกันเจ้าค่ะ

     

    ก่อนอื่น เวลาเราพูดประโยคนั้น จุดประสงค์ก็คือเราต้องการจะสื่อความให้ได้ใช่มั้ยเจ้าคะ รูปแบบประโยคพื้นฐานที่สุดก็จะต้อง ผู้กระทำ และ การกระทำ เจ้าค่ะ และในหลายกรณีก็จะมักจะเอ่ยถึง ผู้ถูกกระทำ ไปด้วย คราวนี้ปัญหาก็เกิดขึ้นตรงที่ว่าเราจะแยกระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำได้อย่างไร ลองมาดูประโยคตัวอย่างว่า “ผู้ชายกินแอปเปิ้ล” กันนะเจ้าคะ

     

    ผู้ชาย

    กิน

    แอปเปิ้ล

    ประธาน (ผู้กระทำ)

    กริยา (การกระทำ)

    กรรม (ผู้ถูกกระทำ)

     

    ในภาษาไทยนั้นเรารู้ได้ถึงหน้าที่ของคำต่างๆ ในประโยคนี้ได้ในทันที ถามว่าเพราะอะไรเจ้าคะ? คำตอบก็คือประโยคในภาษาไทยจะเรียงคำหน้าที่ในประโยคของแต่ละคำเจ้าค่ะ โดยที่ลำดับปกติของภาษาไทยคือแบบ S-V-O (Subject-Verb-Object) ดังนั้นถ้าเราสลับที่คำนามหัวกับท้าย ด้วยการตีความแบบ S-V-O เช่นเดิมเราจะได้ว่า

     

    แอปเปิ้ล

    กิน

    ผู้ชาย

    ประธาน (ผู้กระทำ)

    กริยา (การกระทำ)

    กรรม (ผู้ถูกกระทำ)

     

    ซึ่งมีความหมายต่างออกไปจากประโยคเดิม(โดยสิ้นเชิง)เจ้าค่ะ อีกภาษาที่ใช้หลักการเดียวกันในการบ่งบอกหน้าที่ของแต่ละคำในประโยคก็คือภาษาอังกฤษเจ้าค่ะ สังเกตได้จากประโยค

     

    The man

    eats

    the apple.

    Subject (ประธาน)

    Verb (กริยา)

    Object (กรรม)

     

    และอีกประโยคที่คงไม่ได้พูดกันบ่อยๆ

     

    The apple

    eats

    the man.

    Subject (ประธาน)

    Verb (กริยา)

    Object (กรรม)

     

    ในแง่หนึ่ง การที่หน้าที่ของคำมีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งนั้นก็ทำให้ภาษาเหล่านั้นสูญเสียความยืดหยุ่นในการสลับลำดับการนำเสนอแต่ละคำออกมาเจ้าค่ะ (หรือจะมองว่ายืดหยุ่นมากขึ้นในแง่ที่ว่าพอสลับแล้วได้ความหมายใหม่ก็ได้เจ้าค่ะ)

     

    อย่างไรก็ตาม การบ่งบอกหน้าที่ของคำในประโยคนั้นไม่ได้มีเพียงวิธีเดียว เราลองมาดูภาษาอื่นกันบ้างนะเจ้าคะว่าประโยคที่ว่า “ผู้ชายกินแอปเปิ้ล” กับ “แอปเปิ้ลกินผู้ชาย” นั้นจะมีวิธีแยกจากกันได้อย่างไร

     

    ก่อนอื่น ลองบอกข้อเท็จจริงสักหน่อยก่อนว่า หลายๆ ภาษานั้นไม่เหมือนภาษาอังกฤษตรงที่สามารถสลับลำดับคำได้โดยที่ไม่ทำให้ความหมายเพี้ยนไปเจ้าค่ะ (แต่ก็แน่นอนว่ามีการเรียงลำดับบางแบบที่เป็นธรรมชาติมากกว่าแบบอื่นนะเจ้าคะ)

     

    คำถาม แล้วถ้าสลับคำกันได้ จะบอกได้อย่างไรว่าคำไหนเป็นประธาน คำไหนเป็นกรรม?

    คำตอบ ก็ผันแต่ละคำตามหน้าที่ในประโยคแทนเจ้าค่ะ

     

    ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือ แทนที่จะยึดตามตำแหน่งในประโยค เราก็ทำป้ายติดที่แต่ละคำว่า “อันนี้เป็นประธานนะ” หรือว่า “อันนี้เป็นกรรมนะ” อย่างนั้นแหละเจ้าค่ะ จริงๆ แล้วแนวคิดนี้เป็นวิธีการที่ภาษาในตระกูล Indo-European ส่วนใหญ่เลือกใช้กัน (เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วภาษาอังกฤษต่างหากล่ะเจ้าค่ะที่ออกจะนอกคอกไปสักหน่อย) อย่างถ้าลองดูภาษาละตินซึ่งเป็นภาษาที่ค่อนข้างเก่าแก่ในตระกูลนี้ สำหรับคำว่า “เพื่อน” นั้นจะมีการดังนี้เจ้าค่ะ

     

    amicus

    เพื่อน (ประธาน)

    amici

    ของเพื่อน (แสดงความเป็นเจ้าของ)

    amico

    เพื่อน (กรรมรอง)

    amicum

    เพื่อน (กรรมตรง)

    amico

    โดยเพื่อน (แสดงวิธีการหรือที่มา)

    amice

    เพื่อนเอ๋ย (เวลาเรียก)

     

    ด้วยความที่เป็นภาษาเก่าแก่ การผันคำจึง(เกือบจะ)ต่างกันหมดตามแต่ละหน้าที่ และยังมีการผันตัวคำโดยตรง ข้อดีของวิธีนี้ก็คือสามารถสลับลำดับของคำในประโยคได้อย่างเสรีเจ้าค่ะ แต่สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือรูปแบบการผันที่มีมากมายต่างกันไปซึ่งต้องจำทั้งหมด

     

    ภาษาเยอรมันที่เป็นภาษาภายหลังซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากภาษาละตินยังคงเลือกที่จะใช้วิธีการผันแต่ละคำเจ้าค่ะ แต่ว่าเพื่อลดความยุ่งยากจึงมีการเพิ่มคำบ่งชี้หรือ article ขึ้นมาและผันตรง article นั้นแทน อย่างเช่นในกรณีคำว่าเพื่อนนั้นในภาษาเยอรมันจะผันดังนี้

     

    der Freund

    เพื่อน (ประธาน)

    des Freund[e]s

    ของเพื่อน (แสดงความเป็นเจ้าของ)

    dem Freund

    เพื่อน (กรรมรอง)

    den Freund

    เพื่อน (กรรมตรง)

     

    สังเกตว่าส่วนที่เปลี่ยนไปคือคำว่า der, das, dem, den แต่ตัวคำว่า Freund เองนั้นเปลี่ยนน้อยมาก (คือมีเพียงรูปแสดงความเป็นเจ้าของที่ต้องผันเล็กน้อย) เพราะฉะนั้นจึงลดภาระในการจำลงไปกว่าภาษาละตินมากเจ้าค่ะ นอกจากนี้ หน้าที่ในประโยคที่ผันได้ในภาษาเยอรมันก็ลดลงเหลือเพียง 4 แบบเจ้าค่ะ สำหรับ 2 แบบที่หายไปนั้นก็ใช้วิธีใช้คำช่วยอธิบายลงไปแทน ทำให้ต้องผันน้อยลงเจ้าค่ะ

     

    สำหรับภาษาอังกฤษนั้นถือว่าการลดรูปนั้นไปสู่ขั้นสุด คือรูปทั้งหมดรวมเป็นแบบเดียว โดยสังเกตว่า article มีเพียงคำเดียวคือ the เจ้าค่ะ เพราะฉะนั้นกรณีของภาษาอังกฤษ คำว่า “เพื่อน” ก็จะเหลือเพียง

     

    the friend

    เพื่อน

     

    หลังจากอธิบายคร่าวๆ แล้วคราวนี้พอจะเดาความหมายของสองประโยคนี้ได้มั้ยเจ้าคะ?

    Der Apfel isst den Mann.

    Den Apfel isst der Mann.

     

    คำตอบ The apple eats the man. กับ The man eats the apple. เจ้าค่ะ

     

    ลองมาดูกันว่าทำไมนะเจ้าคะ ก่อนอื่น คำว่า Mann นั้นดูจากตัวสะกดแล้วก็น่าจะเป็นคำว่า man ใช่มั้ยเจ้าคะ? ส่วนอีกคำคือ Apfel นั้น เดาจากเสียง คำในภาษาอังกฤษที่ออกเสียงคล้ายๆ กันก็คือ apple ซึ่งความจริงก็ Apfel = apple นั่นแหละเจ้าค่ะ

    (สังเกตว่าคำว่า Mann กับ Apfel นั้นขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่แม้จะไม่ได้เป็นคำแรกสุดในประโยค นั่นเป็นเพราะว่าในภาษาเยอรมันนั้นคำนามจะเขียนขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เสมอเจ้าค่ะ แล้วเพื่อให้แตกต่างกันผู้เขียนจึงตั้งใจเขียนคำว่า man กับ apple ขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์เล็กเจ้าค่ะ)

     

    ยังเหลืออีกคำนึงคือ isst ถ้าเดาจากเสียงภาษาอังกฤษที่คล้ายๆ กันก็คือ eat นั่นเองเจ้าค่ะ

     

    ลองมาดูหน้าที่ในประโยคของแต่ละคำกันดีกว่าเจ้าค่ะ เทียบกับคำว่า Freund ก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าในประโยคแรก Apfel นำหน้าด้วยคำว่า der ดังนั้นจึงทำหน้าที่ประธาน ส่วน Mann นำหน้าด้วย den จึงเป็นกรรมตรงของประโยค และกริยาคือ isst = eat ดังนั้นในกรณีนี้แอปเปิ้ลจึงเป็นผู้กิน ส่วนผู้ชายเป็นผู้ถูกกิน จึงแปลได้ว่า The apple eats the man. เจ้าค่ะ

     

    ในทางกลับกัน ประโยคหลังคำว่า Apfel นำหน้าด้วย den จึงเป็นกรรมตรง ส่วน Mann นำหน้าด้วย der จึงเป็นประธาน กริยายังคงเป็นการกิน กรณีนี้จึงได้ว่า The man eats the apple. เจ้าค่ะ

     

    อีกข้อสังเกตก็คือประโยคหลังแอปเปิ้ลจะเป็นกรรมแต่ว่านำมาอยู่หน้าสุด ส่วนผู้ชายที่เป็นประธานกลับไปอยู่ด้านหลัง ที่สลับกันได้ก็เป็นเพราะคำบ่งชี้ den กับ der คอยทำหน้าที่นั่นแหละเจ้าค่ะ เพราะฉะนั้นในภาษาเยอรมัน สองประโยคต่อไปนี้ต่างก็มีความหมายว่า “ผู้ชายกินแอปเปิ้ล” ทั้งคู่เจ้าค่ะ

     

    Den Apfel isst der Mann.

    Der Mann isst den Apfel.

     

    ถึงตรงนี้คงจะเริ่มเห็นทั้งความเหมือนและแตกต่างระหว่างภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันแล้วสินะเจ้าคะ เอาล่ะ ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดูเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับไวยากรณ์ต่อกันอีกตอนนะเจ้าคะ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×