มติชน
ถ้าจะกล่าวถึงสิ่งที่อยู่นอกโลกของเรา คงจะหนีไม่พ้นดาวเคราะห์ที่อยู่ในระบบสุริยะจักรวาล แต่ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม ก็คือ อุกกาบาต เพราะมันมีผลกระทบต่อโลกและสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลกเช่นกัน ซึ่งอุกกาบาตแบ่งตามลักษณะเนื้อในเป็น 3 แบบ คือ อุกกาบาต ชนิด หิน เหล็ก และเหล็กปนหิน โดยส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นอุกกาบาตชนิดหิน อุกกาบาตหินก้อนใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อ จี้หลิง ตกที่อำเภอจี้หลิง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2519 มันมีน้ำหนักเกือบ 2,000 กิโลกรัม
ส่วนอุกกาบาตชนิดเหล็ก ก้อนใหญ่สุดที่ค้นพบคือ โฮบา เวสท์ ปริมาตรราว 9 ลูกบาศก์เมตร หนักประมาณ 66 ตัน ตกกลางป่าในแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนหลุมอุกกาบาตใหญ่ที่สุดบนโลก คือ หลุมแบริงเยอร์ ในรัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา คาดว่า เกิดจากอุกกาบาตชนิดเหล็กหนักถึง 1 ล้านตัน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เมตร ตกกระแทกพื้นโลกเป็นหลุมมหึมา ปากหลุมกว้างถึง 1,200 เมตร ลึก 170 เมตร ซึ่งความลึกนั้น ถ้าเปรียบกับตึกก็จะสูงประมาณ 40 ชั้น หลุมแบริงเยอร์นี้ มีอายุประมาณ 22,000 ปี เพราะเหตุนี้ ไดโนเสาร์จึงพบจุดจบ สูญพันธุ์ไป
ทุกวันนี้ โลกของเรายังคงโดนอุกกาบาตพุ่งชนอยู่ทุกวัน แต่ส่วนใหญ่เป็นชิ้นเล็ก ปัจจุบันมีประเทศมากมายที่ส่งดาวเทียมขึ้นไปครอบคลุมทั่วโลก ซึ่งดาวเทียมมีไว้สำหรับเพื่อการสื่อสาร, อุตุนิยมวิทยา, เพื่อการเดินเรือ, งานวิทยาศาสตร์, สำรวจทรัพยากรโลก และอีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือ การตรวจหาอุกกาบาต ซึ่งมันทำให้พวกเรารู้ว่าอุกกาบาตนั้น มันพุ่งเข้าใส่โลกประมาณ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มันมีขนาดเท่าหมอน ด้วยความเร็วจึงทำให้มันกลายเป็นลูกไฟ แต่ต้องขอบคุณชั้นบรรยากาศของเรา เพราะอุกกาบาตส่วนใหญ่ที่พุ่งเข้าปะทะชั้นบรรยากาศโลกนั้น จะหายไปภายในพริบตา ซึ่งเกิดจากการเสียดสีของชั้นบรรยากาศของโลก
แต่เมื่อ 65 ล้านปีก่อน อุกกาบาตตกลงมาบนโลกครั้งใหญ่ที่สุดที่ก้นทะเลแคริบเบียน มีหลุมที่เกิดขึ้นมันกว้างกว่า 100 ไมล์ มีเศษฝุ่นมรณะกระจายไปทั่วโลก ไดโนเสาร์เคยมีชีวิตอยู่นานหลายล้านปี และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กอาศัยอยู่ตามซอกและโพรง กฎแห่งความอยู่รอดจึงเริ่มขึ้น มันปรับเปลี่ยนไปชั่วพริบตา โลกกลับตกอยู่ท่ามกลางความมืดมิด ความหนาวเย็นเริ่มเข้ามา ไดโนเสาร์เริ่มล้มตายเพราะปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปไม่ได้ แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่ต้องการแสงแดดและพืชสีเขียว มันต้องการเพียงของเน่าเปื่อยก็พอให้ประทังชีพได้ จุดนี้เอง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจึงเข้ามาแทนที่ไดโนเสาร์ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ก็ได้เริ่มต้นขึ้น
ส่วนสำหรับผู้ที่อยากรู้เรื่องระบบสุริยะให้มากขึ้น คงต้องเริ่มต้นจากทุกอย่างในระบบสุริยะที่ก่อตัวขึ้นเมื่อ 4,500 ล้านปีก่อน ขณะที่ดาวนพเคราะห์ก่อตัวขึ้น มีเศษดินทรายนับล้านล้านชิ้นลอยอยู่ในวงโคจร มันคือสิ่งที่เหลือจากการสร้างระบบสุริยะ โดยระบบสุริยะของเราไม่ได้มีเพียงดวงอาทิตย์และดาวนพเคราะห์เท่านั้น แต่มันยังมีดาวหางและดาวเคราะห์น้อยอีกนับล้านดวง มันเป็นตัวแทนของส่วนผสมสารเคมีอันเป็นที่มาของระบบสุริยะ และมีพฤติกรรมชอบวิ่งชนโลกของเราอยู่เสมอ กลไกเดียวกันนี้ทำให้พวกมันไม่อาจรวมตัวกันเป็นดาวใหญ่ได้
นักดาราศาสตร์ได้พบดาวเคราะห์น้อยหลุดเข้ามาในวงโคจรโลกกว่า 500 ชิ้น บางชิ้นใหญ่กว่าครึ่งไมล์ ก้อนหินอวกาศที่ใหญ่ขนาดเท่ากับชิ้นที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ อาจพุ่งเข้ามาชนเราอีกครั้ง ในปี 1994 นักดาราศาสตร์ได้เห็นดาวหางขนาดยักษ์ชื่อ ชูเมกเกอร์ เลวี่ 9 (Shoemaker Levy 9) แตกออกเป็น 20 เสี่ยง แล้วถูกดูดเข้าไปในดาวพฤหัสบดีด้วยความเร็วกว่ากระสุน 100 เท่า มันทำให้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่เทียบได้กับการระเบิดที่เมืองฮิโรชิม่า มันเกิดขึ้นทุกหนึ่งวินาที ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่เกิดขึ้น มันทำให้เกิดม่านฝุ่นแผ่ขยายวงกว้าง ซึ่งมันใหญ่กว่าโลกเสียอีก
การทำความเข้าใจว่าหากดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่นั้นจะชนโลก มันจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงระดับโลก ยานอวกาศชื่อ "เนียร์ ชูเมกเกอร์" (NEAR Shoemaker) ถูกปล่อยออกไปเพื่อเผชิญหน้ากับดาวเคราะห์น้อยที่เรียกว่า อีรอส(Eros) ซึ่งมันหลุดมาจากวงโคจรของดาวอังคาร และสักวันหนึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อีรอสและโลกอาจมาปะทะกัน และอาจจะมีหายนะทางธรรมชาติหลายอย่างเกิดขึ้น เนียร์ ชูเมกเกอร์จึงเป็นตัวช่วยของเรา
ภารกิจของ "เนียร์" นั้น ก้าวผ่านจุดเริ่มต้นไปแล้ว มันใช้เวลา 5 ปี และการเดินทาง 2 เที่ยว ครึ่งรอบดวงอาทิตย์ และระยะทาง 2,000 ล้านไมล์กว่าจะไปถึง และบัดนี้มันกำลังโคจรรอบดาวเคราะห์น้อย อีรอส และถ่ายภาพดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กอย่างใกล้ชิด ยานเนียร์ที่บินโครจรใกล้กับอีรอส ได้บันทึกภาพธรรมชาติที่รุนแรงของระบบสุริยะไว้อย่างละเอียด ดาวเคราะห์น้อยขนาด 21 ไมล์นี้ มันเต็มไปด้วยริ้วรอยของแรงปะทะ มีหลุมกว่า 100,000 หลุม การสะสมตัวของเศษฝุ่นที่เกิดจากแรงปะทะหนา 100 ฟุต เป็นครั้งแรกที่เราได้เผชิญหน้ากับศัตรูตามธรรมชาติของโลก ซึ่งใหญ่กว่าก้อนหินที่สังหารไดโนเสาร์ถึง 3 เท่า ด้วยภาพถ่ายที่หลั่งไหลลงมาจากเนียร์ตลอดวันและคืน รวมทั้งสิ้นกว่า 160,000 ภาพแล้ว
ยานลำนี้อยู่ห่างจากพื้นผิวอีรอสเพียงไม่ถึงสองไมล์ แม้ในขณะที่เราเรียนรู้เรื่องของดาวเคราะห์น้อยมากขึ้น แต่กลับมีสิ่งหนึ่งที่เป็นภัยลึกลับยิ่งกว่าจากบนฟ้า มันคือดาวหางนั่นเอง คนโบราณมองว่ามันคือลางร้าย ซึ่งพวกเขาไม่ได้เข้าใจผิด นักวิทยาศาสตร์เพิ่งตระหนักว่าดาวหางนั้นสร้างความเสียหายได้มากเพียงใด พวกมันอาจดูเหมือนลำแสงที่ผ่านไปอย่างอ่อนบางบนท้องฟ้า แต่ดาวหางพุ่งเร็วกว่าดาวเคราะห์น้อย 3 เท่า ส่วนใหญ่มันพุ่งอยู่รอบดวงอาทิตย์ เผาผลาญน้ำแข็งและฝุ่นนับล้านตันที่ปรากฏในอวกาศ เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางนี้ เราจะเห็นฝนดาวตกบนท้องฟ้า ปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่ตระการตาที่สุดเกิดขึ้นในปี 1966 หลังจาก ดาวหางเทมเปิ้ลทัตเติ้ล ส่วนดาวหางฮัลเลย์ เมื่อมันผ่านไปในปี 1910 แสดงให้เห็นว่ามันเป็นลูกบอลที่เกิดจากก๊าซและฝุ่น ดวงอาทิตย์ทำให้น้ำแข็งของดาวหางกลายเป็นม่านก๊าซและฝุ่น นั่นคือเหตุการณ์ในอดีต ที่ลูกไฟจากอวกาศเป็นสิ่งที่น่ากลัว
แต่บัดนี้ ด้วยเทคโนโลยีและความสามารถของเรา ทำให้เรามองเห็นดาวเคราะห์น้อยและดาวหางด้วยมุมมองใหม่ มุมมองที่จะทำให้เรารู้ว่าหายนะจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และจะรับมือกับมันอย่างไร
ความคิดเห็น