มติชน
กาแล็กซี่มีจุดกำเนิดและวิวัฒนาการอย่างไร? คือหนึ่งในความลึกลับของจักรวาลที่นักดาราศาสตร์พยายามไขความลึกลับนี้มานานหลายสิบปี เช่นเดียวกับความลึกลับของสสารมืด (Dark Matter) สสารที่มองไม่เห็นและพลังงานมืด (Dark Energy) พลังงานลึกลับซึ่งต่อต้านแรงโน้มถ่วงและผลักจักรวาลให้ขยายตัวด้วยอัตราเร่งในทุกวันนี้
แซนดี้ เฟเบอร์ นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวลิค แคลิฟอร์เนีย เจ้าของผลงานการศึกษาการกำเนิดกาแล็กซี่ที่โดดเด่นคนหนึ่งอธิบายถึงความสำคัญของการศึกษากาแล็กซี่อย่างง่ายๆ ว่า "กาแล็กซี่คือส่วนประกอบของจักรวาล ดังนั้นนักดาราศาสตร์จึงพยายามใฝ่หาคำตอบว่ามันกำเนิดมาได้อย่างไร"
ในช่วงต้นของทศวรรษที่ 1980 นักจักรวาลวิทยาเริ่มนำเราใกล้ความลับนี้เมื่ออธิบายปรากฏการณ์ภายหลังบิ๊กแบงเมื่อ 13.7 พันล้านปีก่อนว่า เมื่อจักรวาลอยู่ในวัยทารกมันจะขยายตัวอย่างรวดเร็วซึ่งเรียกกันว่าการพองตัว (Inflation) การพองตัวนี้จะกระจายความหนาแน่นไปในทุกทิศทาง
ความรู้นี้ทำให้นักดาราศาสตร์เริ่มมองเห็นว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่ก็ยังไม่สามารถอธิบายการกำเนิดกาแล็กซี่ได้ ต่อมาเมื่อมีการค้นพบสสารมืด ทฤษฎีกำเนิดกาแล็กซี่จึงอธิบายว่า ก่อนการพองตัวของจักรวาล ความหนาแน่นในจักรวาลมีลักษณะราบเรียบ แต่เมื่อมันพองตัวการจะเกิดการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นของอาณาบริเวณในจักรวาลอย่างรุนแรง กล่าวคือเปลี่ยนจากความหนาแน่นที่ราบเรียบและสม่ำเสมอคล้ายทะเลสาบที่ไร้คลื่นลม กลายมาเป็นความหนาแน่นที่ไม่ราบเรียบและกระเพื่อมเหมือนคลื่นในทะเลขณะกำลังเกิดพายุ
ในขณะเดียวกันสสารมืดก็จะทำให้เกิดการกระเพื่อมมากขึ้นเพราะมันจะดึงดูดสสารปกติให้มารวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเหมือนหยดน้ำบนใยแมงมุม ทำให้บริเวณเหล่านี้กลายเป็นบริเวณที่มีความหนาแน่นสูงมากและมีแรงโน้มถ่วงมากกว่าบริเวณที่อยู่รายรอบ แรงโน้มถ่วงจะดึงสสารปกติให้เข้ามารวมกันมากขึ้นๆ จนกระทั่งกลายเป็นแหล่ง "วัตถุดิบ" ที่จะให้กำเนิดกาแล็กซี่ในที่สุด
ทฤษฎีนี้มีความเป็นไปได้จากหลักฐานการค้นพบรังสีฉากหลังของจักรวาล (Cosmic Microwave Background-CMB) ซึ่งยังคงเห็นได้อยู่ทุกวันนี้ นอกจากนั้นการค้นพบว่าในกาแล็กซี่มีปริมาณของสสารมืดมากกว่าสสารปกติราว 10 เท่าก็เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนให้ทฤษฎีนี้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ก็ยังไม่เคยพิสูจน์ทฤษฎีนี้จากของจริงเลย จวบจนกระทั่งถึงปี ค.ศ.2002 ริชาร์ด เอลลิส นักดาราศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียและทีมงานใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) และกล้องโทรทรรศน์เค้ก (Keck telescope)
ในฮาวายมองย้อนกลับไปในอดีตหลังบิ๊กแบงไม่นานนักแล้วพบกระจุกดาวที่ระยะทาง 13 พันล้านปีแสง ขนาดของมันเล็กมากเท่ากับ 1 ใน 20 ของขนาดกาแล็กซี่ทางช้างเผือกของเราและมีดาวอยู่เพียง 1 ล้านดวงเท่านั้น
ทีมค้นพบบอกว่ากระจุกดาวดังกล่าวนี้ถือกำเนิดในช่วงเวลาไม่เกิน 1 พันล้านปีหลังบิ๊กแบง และอธิบายว่ากระจุกดาวนี้คือตัวอย่างต้นกำเนิดของส่วนประกอบของกาแล็กซี่ซึ่งถือกำเนิดขึ้นหลังบิ๊กแบงในราว 2 พันล้านปี ต่อจากนั้นในอีกราว 2-3 พันล้านปีกาแล็กซี่เหล่านี้ก็กลายเป็นกาแล็กซี่เก่าแก่ซึ่งมีหลายรูปทรง อาทิ กาแล็กซี่รูปเกลียว กาแล็กซี่รูปทรงกลม กาแล็กซี่ไร้รูปร่าง เหมือนอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ทว่าจำนวนกาแล็กซี่ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีมากกว่าในปัจจุบันประมาณ 3-10 เท่า
การค้นพบครั้งนี้เป็นที่ยอมรับของนักดาราศาสตร์โดยทั่วไป แต่สิ่งที่ยังหาคำตอบไม่ได้ก็คือ ทำไมกาแล็กซี่จึงหลายรูปทรงและมีขนาดและสีที่แตกต่างกัน
ล่าสุดนักดาราศาสตร์อีกทีมได้ให้รายละเอียดมากยิ่งขึ้น และเป็นการค้นพบที่นำความประหลาดใจเหนือความคาดหมายอย่างที่ทฤษฎีไม่เคยว่าไว้ นั่นคือการพบว่ากาแล็กซี่ในยุคนั้นเติบโตอย่างรวดเร็วแต่ตายเมื่ออายุยังน้อย
ไอโว แลบบี้ นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวคาร์เนกี้และทีมงานใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ศึกษากาแล็กซี่มวลมากจำนวนราว 12 กาแล็กซี่ย้อนอดีตหลังบิ๊กแบง 2 พันล้านปีหรือช่วงเวลาที่จักรวาลมีอายุน้อยกว่า 1 ใน 5 ของอายุจักรวาลในปัจจุบัน
กาแล็กซี่เหล่านี้มีดาวแออัดอยู่ราวๆ 100 พันล้านดวง และมีรูปทรงแตกต่างกัน บางกาแล็กซี่กำลังให้กำเนิดดาวดวงใหม่อยู่ บางกาแล็กซี่ถูกปกคลุมด้วยฝุ่น และบางกาแล็กซี่เป็นกาแล็กซี่ที่ตายแล้ว
แลบบี้กล่าวเปรียบเทียบว่า จักรวาลในขณะเยาว์วัยนั้นก็เหมือนกับสวนสัตว์ขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิด มีกาแล็กซี่หลากหลายเหมือนที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
แต่ในบรรดากาแล็กซี่เหล่านั้นมีกาแล็กซี่จำนวนหนึ่งที่ตายแล้วซึ่งไม่เป็นไปตามทฤษฎีที่กล่าวไว้ว่ากาแล็กซี่ที่ตายแล้วจะเกิดก็ต่อเมื่อจักรวาลอายุมากแล้ว
อะไรที่เป็นสาเหตุทำให้กาแล็กซี่ในช่วงแรกเริ่มของจักรวาลมีอายุสั้น นักดาราศาสตร์ยังไม่รู้แน่ชัด แลบบี้ บอกว่าอาจจะเกิดจากหลุมดำยักษ์ในใจกลางกาแล็กซี่ดูดกลืนก๊าซและปลดปล่อยรังสีออกมาซึ่งขัดขวางการกำเนิดดวงดาวในกาแล็กซี่นั้นก็เป็นได้
ก่อนหน้านี้ไม่นานนักกล้องโทรทรรศน์อวกาศกาเลก (Galaxy Evolution Explorer-GALEX) ขององค์การนาซ่า ตรวจพบกาแล็กซี่ขนาดใหญ่หรือกาแล็กซี่มวลมาก มีอายุอยู่ในระหว่าง 100 ล้านปี-1 พันล้านปี อยู่ห่างจากโลกราว 2 พันล้านปี-4 พันล้านปีแสง
การค้นพบของกล้องกาเลกหักล้างทฤษฎีที่ว่า อัตราการเติบโตของเทหวัตถุในจักรวาลหรือการกำเนิดกาแล็กซี่กำลังลดลงเรื่อยๆ แม้ว่าจักรวาลยังคงให้กำเนิดกาแล็กซี่อยู่ก็ตาม แต่มันเป็นเพียงกาแล็กซี่ขนาดเล็กเท่านั้น ทั้งนี้เพราะว่าจักรวาลกำลังขยายตัว สสารที่เคยอยู่รวมกันอย่างหนาแน่นในช่วงแรกๆ ของจักรวาลได้กระจายตัวออกไป จนยากที่จะทำให้เกิดกาแล็กซี่ขนาดใหญ่เหมือนในยุคแรกๆ ได้
การไขความลับของกาแล็กซี่ที่ผ่านมาหลายครั้ง ดูประหนึ่งว่ายิ่งศึกษากาแล็กซี่มากเท่าใด ก็จะพบกับความลึกลับซับซ้อนของมันมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ทุกวันนี้กาแล็กซี่จึงยังคงเป็นหนึ่งในความลึกลับสุดยอดของจักรวาลอยู่ต่อไป
ความคิดเห็น