ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ปริศนาที่รอการพิสูจน์

    ลำดับตอนที่ #1 : พลังปริศนาของภัยธรรมชาติ ?

    • อัปเดตล่าสุด 3 เม.ย. 50





    มติชน

    คลื่นยักษ์ "สึนามิ" เป็นเพียง 1 ในภัยธรรมชาติหลายรูปแบบที่ "พลเมืองโลก" ทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกยุคทุกสมัยในดาวเคราะห์สีน้ำเงินใบนี้ต้องเผชิญ...ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นในอดีต ในปัจจุบัน และแน่นอนว่ามันจะต้องเกิดขึ้นอีกในอนาคต มนุษย์ฝุ่นผงจักรวาลอย่างเราคงทำได้เพียงยอมรับ "กฎธรรมชาติ" และหัดเรียนรู้ที่จะไม่ทำร้ายธรรมชาติด้วยหวังว่าท่านจะเมตตาเรามากกว่าที่เป็นอยู่!

     

    1. ภัยแล้ง

    ภัยแล้ง คือ ภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานานจนก่อให้เกิดความแห้งแล้ง และส่งผลกระทบต่อชุมชน ในช่วงเกิดภัยแล้งน้ำและอาหารจะลดน้อยลง กระทั่งอาจนำไปสู่สภาวะขาดแคลนอาหาร

    สาเหตุของการเกิดภัยแล้งมีทั้งที่เกิดจาก "ธรรมชาติ" เช่น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล รวมทั้งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การทำลายชั้นโอโซน ผลกระทบภาวะเรือนกระจก การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม และการตัดไม้ทำลายป่า

     

    2. แผ่นดินไหว

    แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อเปลือกโลกเคลื่อนตัวโดยฉับพลันตามแนวขอบของแผ่นเปลือกโลก หรือตามแนวรอยเลื่อน

    นอกจากนั้นเหตุภูเขาไฟระเบิด โพรงใต้ดินยุบตัว แผ่นดินถล่ม หรืออุกกาบาตขนาดใหญ่ตกใส่พื้นโลก ล้วนมีส่วนทำให้แผ่นดินไหวเช่นกัน ทุกวันนี้วิทยาศาสตร์ยังทำนายแผ่นดินไหวล่วงหน้าไม่ได้

    แผ่นดินไหวบางครั้งเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การระเบิดต่างๆ การทำเหมือง สร้างอ่างเก็บน้ำใกล้รอยเลื่อน การทำงานของเครื่องจักรกล และการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์

    เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ถ้าอยู่ในอาคารสูงจำไว้ว่าต้องควบคุมสติ หลบใต้โต๊ะแข็งแรง ไม่วิ่งลงบันได ไม่ใช้ลิฟต์ ถ้าขับรถให้หยุดรถ ควบคุมสติ อยู่ภายในรถจนการสั่นสะเทือนหยุดลง และถ้าอยู่นอกอาคาร ให้ออกห่างจากอาคารสูง กำแพง หรือเสาไฟฟ้า และรีบไปอยู่ที่โล่งแจ้ง

     

    3. โรคระบาด

    โรคระบาดจัดเป็นภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โรคระบาดรุนแรงที่เล่นงานมนุษยชาติในอดีตและปัจจุบัน เช่น กาฬโรค ไข้ทรพิษ และเอดส์ ในปี 2461 โรคไข้หวัดสเปนระบาดคร่าชีวิตผู้คนไป 25-40 ล้านคน

    ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์วิตกว่า ชีวิตชาวโลกจำนวนมากอาจต้องสังเวยให้กับโรคไข้หวัดนก

    ถ้าไวรัสหวัดนกกลายพันธุ์มาระบาดในลักษณะ "คนสู่คน"

     

    4. อุทกภัย

    อุทกภัย คือ ภัยธรรมชาติซึ่งเกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีสาเหตุจากพายุหมุนเขตร้อน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรง และแผ่นดินไหว ทำให้เขื่อนแตก เกิดภัยจากน้ำท่วมได้แบ่งได้ 2 ชนิด

    - อุทกภัยจากน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน เกิดจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง ดินดูดซับไม่ทัน น้ำฝนไหลลงพื้นราบอย่างรวดเร็ว ความแรงของน้ำทำลายต้นไม้ อาคาร ถนน สะพาน ชีวิต ทรัพย์สิน

    - อุทกภัยจากน้ำท่วมขังและน้ำเอ่อนอง เกิดจากน้ำในแม่น้ำลำธารล้นตลิ่ง มีระดับสูงจากปกติ ท่วมและแช่ขัง ทำให้การคมนาคมชะงัก เกิดโรคระบาด ทำลายสาธารณูปโภค และพืชผลการเกษตร

     

    5. ไฟป่า

    เป็นภัยธรรมชาติซึ่งเกิดจากความประมาทและน้ำมือมนุษย์เป็นส่วนมาก ได้แก่ การเผาหาของป่า เผาทำไร่เลื่อนลอย เผากำจัดวัชพืช

    มีไฟป่าส่วนน้อยที่เกิดจากการเสียดสีของต้นไม้แห้ง หรือ ถูกฟ้าผ่า

     

    6. พายุลูกเห็บ

    ลูกเห็บที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับอากาศที่ปั่นป่วนรุนแรง มักจะเกิดขึ้นจากพายุฝนฟ้าคะนอง กระแสอากาศที่เคลื่อนที่ขึ้นไปในระดับสูงมาก ทำให้หยดน้ำเริ่มแข็งตัวเป็นหยดน้ำแข็ง มีหยดน้ำอื่นๆ รวมเข้าด้วยกันสะสมจนมีขนาดโตขึ้น และในที่สุดเมื่อกระแสอากาศพยุงรับทั้งหน้าที่เพิ่มขึ้นไม่ได้จะตกลงมาเป็นลูกเห็บ สร้างความเสียหายไปพื้นที่การเกษตร และทรัพย์สินอื่นๆ ได้

     

    7. เฮอร์ริเคน หรือ ไต้ฝุ่น

    เฮอร์ริเคนเป็นพายุขนาดยักษ์ที่ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทร มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 65 นอต หรือมากกว่า หรือตั้งแต่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป

     

    8. พายุหิมะ

    พายุหิมะ หรือ พายุน้ำแข็ง เป็นคำเรียกปรากฏการณ์ที่หิมะตกลงมาอย่างหนักและไม่ขาดสายเหมือนฝน ส่งผลให้อุณหภูมิของพื้นที่ที่เกิดพายุหิมะจะลดต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง เมื่อหิมะตกหนักมากๆ จะไปจับตัวตามต้นไม้ สิ่งปลูกสร้าง หรือสายส่งไฟฟ้า ทำให้สิ่งเหล่านี้โค่นพังทลายลงมา

     

    9. ทอร์นาโด

    พายุทอร์นาโด หรือ พายุลมงวง เป็นสภาพอากาศเลวร้ายซึ่งเกิดจากพายุฝนฟ้าคะนอง มีลักษณะเป็นลำเหมือนงวงช้างยื่นออกมาจากฐานเมฆ มีลักษณะการหมุนวนบิดเป็นเกลียว มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1,000 ฟุต มักเกิดในที่ราบกว้างใหญ่ เช่น ที่ราบในทวีปออสเตรเลีย พื้นที่ทางตะวันออกของเทือกเขาร็อกกี้ในสหรัฐ

    สำหรับในประเทศไทยจะมีลักษณะเป็นพายุลมงวงขนาดเล็ก เกิดจากเมฆพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงที่มีฐานเมฆต่ำ และมีกระแสอากาศไหลลงรุนแรงจนเกิดเมฆเป็นลำพวยพุ่งลงมาจนใกล้พื้นดินดูดเอาอากาศและเศษวัสดุหมุนวนเป็นลำพุ่งขึ้นไปในอากาศ ความรุนแรงของลำพวยอากาศนี้สามารถบิดให้ต้นไม้ขนาดใหญ่หักขาดได้ และทำลายทุกอย่างที่ขวางทิศทางการเคลื่อนตัวของมัน

     

    10. ภูเขาไฟระเบิด

    เคยมีคนให้คำจำกัดความไว้ว่า "ภูเขาไฟคือความงามอันน่าสะพรึงกลัว" ความรุนแรงของภูเขาไฟระเบิดแต่ละครั้งจะไม่เท่ากัน

     

    11. แผ่นดินถล่ม

    แผ่นดินถล่มเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของการ "สึกกร่อน" ชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริเวณพื้นที่ที่เป็นเนินสูงหรือภูเขาที่มีความลาดชันมาก เนื่องจากขาดความสมดุลในการทรงตัวบริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดการปรับตัวของพื้นดินต่อแรงดึงดูดของโลก และเกิดการเคลื่อนตัวขององค์ประกอบธรณีวิทยาบริเวณนั้นจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ

    แผ่นดินถล่มมักเกิดในจุดที่มีฝนตกหนักมาก ทำให้บริเวณภูเขานั้นอุ้มน้ำไว้จนเกิดการอิ่มตัวจนพังทลาย การที่ต้นน้ำลำธารถูกทำลายก็เป็นเหตุทำให้แผ่นดินถล่มง่ายขึ้น

    แผ่นดินถล่มในเมืองไทยส่วนใหญ่มักเกิดภายหลังฝนตกหนักมากบริเวณภูเขาซึ่งเป็นต้นน้ำลำธาร บริเวณตอนบนของประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มเนื่องมาจากพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ในขณะที่ภาคใต้จะเกิดในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม

     

    12. ดาวเคราะห์พุ่งชนโลก

    เชื่อกันว่า "ไดโนเสาร์" สัตว์ดึกดำบรรพ์มีชีวิตอยู่บนโลกมานาน 165 ล้านปี แต่ต้องมาสูญพันธุ์ไปจนหมดโลก หลังจากมี "ดาวเคราะห์น้อย" พุ่งชนพื้นโลก ส่งผลให้บรรยากาศและสภาพแวดล้อมโลกวิปริตแปรปรวนอย่างหนัก

    ดังนั้น มนุษย์คงตัดความน่าจะเป็นข้อนี้ออกไปไม่ได้เช่นกันว่าในอนาคต "ดาวเคราะห์น้อย" "หินอุกกาบาต" หรือวัตถุไม่พึงประสงค์ใดๆ จากห้วงอวกาศอาจพุ่งลงมาชนพื้นโลกอีกครั้ง

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×