ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    มหัศจรรย์ท่องเที่ยว ที่หลากหลายรูปแบบ

    ลำดับตอนที่ #2 : อุทยานช้างกระมัญจา... สถานที่ใหม่ๆนะคะ

    • อัปเดตล่าสุด 12 เม.ย. 53


          มัญจา อาจเป็นชื่ออำเภอที่ไม่ค่อยคุ้นหูสำหรับผู้คนทั่วไป แต่ความน่าสนใจได้เกิดมากขึ้นเมื่อราวเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพราะมีหัวข้อข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ประโคมว่า “ตะลึงพบป่ากล้วยไม้ช้างกระ หอมกรุ่นตื่นใจชูช่อเกาะต้นไม้ ๑๙ ไร่ วัดป่ามัญจาคีรี” หรือ “ช้างกระ กล้วยไม้ป่าหายาก” เป็นต้น อันเป็นผลจากการให้ข่าวเชิญชวนของคุณณิตยา อ่วมพิทยา ผู้อำนวยการคนขยันของสำนักงาน ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต ๓ ซึ่งพยายามเหลือเกินที่จะเปิดตัว Unseen I-san แห่งใหม่นี้ให้เปรี้ยงปร้างออกสู่สาธารณชน

          แต่ไม่ต้องกลัวปัญหาสิ่งแวดล้อม ผอ. ณิตยาตระหนักเรื่องการอนุรักษ์ไว้อย่างรอบคอบ โดยผนึกกำลังกับอาจารย์สุรศักดิ์ ธาดา รองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอมัญจาคีรี ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมในพื้นถิ่นจะเป็นผู้คอยเฝ้าดูแลในพื้นที่อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

    มัญจาอยู่ที่ไหน 
              มัญจา หรือชื่อเต็มว่ามัญจาคีรี เป็นอำเภอขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดขอนแก่น ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๕๗ กิโลเมตร


    ถ้าเดินทางด้วยถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข ๒) จากกรุงเทพฯ ผ่านนครราชสีมา บ้านไผ่ เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๒๙ ชนบท-มัญจาคีรี ระยะทางประมาณ ๓๗ กิโลเมตร หรือหากมาจากตัวเมืองขอนแก่นจะมาได้ ๒ ทาง คือ จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๓๑ ขอนแก่น-พระยืน แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๖๒ พระยืน-มัญจาคีรี หรือจากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๒ ขอนแก่น-ชุมแพ แยกซ้ายที่บ้านทุ่มเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๖๒ ก็ถึงมัญจาคีรี

         ตามประวัติที่อาจารย์สุรศักดิ์ได้ค้นคว้ามาเล่าให้ฟังว่า พื้นที่อำเภอมัญจาคีรีมีร่องรอยอารยธรรมมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะได้ขุดค้นพบใบเสมาและแผ่นสลักศิลาสมัยทวารวดีในพื้นที่แถบนี้ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราวปี พ.ศ. ๒๔๒๔ ได้มีชุมชนซึ่งสืบเชื้อสายมาแต่ฝั่งลาวย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันมากขึ้นจึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะจากหมู่บ้านเดิม คือบ้านภูเม็งขึ้นเป็นเมืองมัญจาคีรี โดยตั้งท้าววรบุตรขึ้นเป็นพระเกษตรวัฒนา (ต้นตระกูลสนธิสัมพันธ์) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองคนแรก

        สำหรับชื่อเมืองนั้น มาจากคำว่ามัญจา แปลว่าเตียงหรือที่นอน (คงจำคำศัพท์อีกคำหนึ่งว่าบรรจถรณ์ ที่แปลว่าที่นอน จากชื่อละครเรื่องบ่วงบรรจถรณ์ได้) และคำว่าคีรี ก็แปลว่าภูเขา อาจารย์สุรศักดิ์อธิบายว่าทางการตั้งชื่อเมืองจากชื่อหมู่บ้านภูเม็ง ภูก็คือภูเขา เม็งนั้นเป็นคำเขมรโบราณหมายถึงเตียงหรือที่นอนนั่นเอง เนื่องจากในบริเวณใกล้ ๆ ที่ตั้งหมู่บ้านจะมีภูเขาอยู่ลูกหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่าภูเม็ง เพราะบนภูเขามีก้อนหินขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายเตียงหรือที่นอนปรากฎอยู่

       แหม ! อยากขอบอกต่อไปยังกรมพัฒนาชุมชน น่าจะส่งเสริมให้อำเภอนี้เป็นแหล่งผลิตที่นอนและเตียงให้โด่งดังสมชื่ออำเภอไปเลย 
      
    วัดป่ามัญจาคีรี
              วัดป่ามัญจาคีรีมีชื่อเดิมว่าวัดป่าน้านโนนค้าว ตั้งอยู่ริมถนนสายมัญจาคีรี-ชนบท ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๑ กิโลเมตร บริเวณวัดเป็นพื้นที่เนินห้อมล้อมด้วยทุ่งนา เนื้อที่ประมาณ ๑๕ ไร่ มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ๑๓ รูป และแม่ชี ๕ คน


          บริเวณรอบวัดจะมีกำแพงล้อมไว้เรียบร้อย ภายในเป็นดงต้นไม้เก่าแก่อายุนับร้อยปี โดยเฉพาะส่วนใหญ่จะเป็นต้นมะขาม นอกนั้นเป็นต้นตะโกและต้นกระถินป่า รวมจำนวนแล้วประมาณ ๒๘๒ ต้น ทำให้บริเวณวัดร่มครึ้มอยู่ภายใต้เงาไม้ใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีร่องรอยต้นจำปาหรือต้นลั่นทมอายุเก่าแก่ ซึ่งสันนิษฐานว่าบรรพบุรุษที่มีเชื้อสายลาวนำมาปลูกไว้ด้วย บริเวณวัดป่าแห่งนี้จึงน่าจะมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยก่อนหน้าแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเกิดเหตุอันใดถึงได้พากันทิ้งพื้นที่ให้รกร้างไว้ จนกระทั่งมีพระธุดงค์มาพบเข้าและเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสม จึงสร้างวัดขึ้น แรก ๆ เรียกชื่อว่าวัดป่าบ้านโนนค้าว จนในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้ขนานนามใหม่ว่าวัดป่ามัญจาคีรี

    อุทยานช้างกระ
              สิ่งที่น่าทึ่งของวัดป่ามัญจาคีรี คือตามคาคบไม้สูงใหญ่ได้ปรากฏกล้วยไม้พันธุ์ช้างกระเจริญงอกงามขึ้นเองตามธรรมชาติไปทั่วบริเวณวัด จากการสำรวจของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้พบกล้วยไม้ป่าเกาะเจริญพันธุ์อยู่ตามกิ่งและลำต้นไม้ใหญ่ในบริเวณวัด นับจำนวนเป็นกล้วยไม้ช้างกระได้ถึง ๔,๑๖๔ ต้น และกล้วยไม้พันธุ์อื่น ๆ อีก ๑๕ ต้น


          กล้วยไม้ช้างกระมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rhynehostylis gigantean มีลำต้นตั้งตรงหรือเอนเล็กน้อย รากใหญ่และยาว ใบใหญ่หนาอวบน้ำ ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๆ และมน ขนาดใบยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร และกว้างประมาณ ๕ เซนติเมตร ช่อดอกแทงออกตามซอกใบและเอนโค้งลงตามยาวของใบ บางช่อดอกยาวได้ถึง ๓๕ เมตร ในแต่ละช่อดอกประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ เบียดกันแน่น มีขนาด ๒-๒.๕ เซนติเมตร กลีบชั้นนอกเป็นสีขาวหรือสีชมพูอ่อน ๆ กลีบดอกชั้นในและปากดอกแต้มด้วยสีชมพูอมม่วง โดยแต่ละต้นจะแทงดอกได้หลายช่อ ดอกบานทนได้เป็นสัปดาห์ และในตอนกลางวันจะส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ไปทั่ว

        กล้วยไม้พันธุ์นี้มีหลายชนิด มีชื่อเรียกตามสีของดอก เช่น ช้างแดง ดอกสีแดง ช้างเผือก ดอกสีขาว แต่บางชนิดก็เรียกชื่อตามลักษณะของช่อดอก เช่น ช้างค่อม มีช่อดอกโค้งงอลง กล้วยไม้พันธุ์นี้ทุกชนิดจะมีกลิ่นหอมส่วนชนิดที่ปลูกให้ดอกง่ายคือช้างกระ ในเมืองไทยพบขึ้นอยู่เกือบทุกภูมิภาคยกเว้นภาคใต้ นอกจากนี้ ยังพบในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคใต้ของหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก

       ที่วัดป่ามัญจาคีรี โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ จึงมีนักท่องเที่ยวเข้าไปแหงนหน้าขึ้นชมช่อช้างกระกันทั่วบริเวณวัด บางต้นที่ตกหล่นลงมาในหน้าแล้ง พระท่านจะนำไปผูกมัดไว้ตามโคนต้นไม้ใหญ่ ก็ยังเจริญงอกงามดี และออกดอกให้ชมได้อีกด้วย ผู้เขียนเพลิดเพลินเดินชมเอื้องป่าเสียจนเมื่อยคอ มีเพื่อนที่ไปด้วยกันเกิดไอเดียฟุ้งว่า ชาวบ้านใกล้ ๆ วัดน่าจะจัดนวดคอบริการชมช้างกระเสียด้วยก็คงจะเข้าท่าดี 

    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแหล่งกล้วยไม้แห่งนี้อยู่ในบริเวณวัดป่าที่เงียบสงบ ผู้ที่เข้าไปชมก็ต้องระมัดระวังในการปฏิบัติตนด้วย ว่าตั้งแต่การแต่งกายที่เรียบร้อย อย่างส่งเสียงดัง อย่าไปทำตามสบายจนพระตบะแตก จะบาปกรรมเปล่า ๆ แล้วประการสำคัญ อย่าไปดึงทึ้งกล้วยไม้ หรือเด็ดช่อเอื้องเอากลับบ้านเป็นอันขาด มีคนเคยทำมาแล้ว แต่ไปได้ไม่เกิน ๓ วัน ก็ต้องนำกลับไปคืน





     ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๔  ฉบับที่ ๘  มีนาคม ๒๕๔๗

    ขอขอบคุณที่มี อสท. โดย “คุณ มะตะวอ”...เรื่อง  และ คุณนพดล กันบัว...ภาพ

    http://www.osotho.com/th/content/indexdetail.php?ContentID=1176&myGroupID=6


    ...........................................................................................................................................................................................................

    ขอขอบคุณที่มานะคะ ที่ทำให้เราได้นำภาพสวยๆ มาให้เพื่อนๆ ลองไปเที่ยวกันตามแต่สะดวกที่ไหนนะคะ


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×