ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    {[]-รวม-[]}->เทคนิคการเรียน<-

    ลำดับตอนที่ #17 : [เทคนิคการสอบ]::การเตรียมความพร้อมในการทำข้อสอบ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 773
      0
      26 ก.ย. 50

    การเตรียมความพร้อมในการทำข้อสอบ
     
    ในการทำข้อสอบ สิ่งที่คุณต้องเตรียมให้พร้อมก็คือ
     
    1.     ข้อมูลเกี่ยวกับการสอบที่ควรรู้
     
    คุณจะต้องรู้ว่าข้อสอบจะออกตรงไหนบ้าง แต่ไม่ต้องรู้แบบเป๊ะ ๆ จะครับ รู้พอคร่าว ๆ ก็ได้ เช่นออกกี่บท บทไหนบ้าง เวลาทำข้อสอบเท่าไร คะแนนที่จะเก็บมีเท่าไร สอบวันไหน เวลาไหน ห้องไหน แต่งกายด้วยชุดอะไร เงื่อนไขของการทำข้อสอบมีอะไรบ้าง เช่น Close Book หรือ Open Book หรือ สามารถจดโน้ตเข้าไปได้กี่แผ่น สามารถนำอุปกรณ์อะไรเข้าห้องสอบได้บ้าง ถ้ารู้ข้อมูลเบื้องต้นแล้วก็จะทำให้การอ่านหนังสือทบทวนก่อนสอบของคุณง่ายขึ้น
     
    2. การวางแผนการอ่านทบทวน
     
    อย่างที่บอกไว้นั่นละครับ พอนาน ๆ เข้าคุณก็จะลืมเนื้อหาที่คุณเรียนไป ดังนั้นก่อนที่สอบก็ต้องมาอ่านทบทวนกันใหม่ โดยปกติแล้วในการสอบกลางภาคหรือสอบปลายภาค จะสอบหลาย ๆ วิชาในเวลาที่ใกล้เคียงกัน และนักศึกษาจะประสบกับปัญหาการอ่านหนังสือไม่ทันเสมอ วิธีการแก้ปัญหาที่ผมใช้แล้วได้ผลดีก็คือ การวางแผนการอ่านทบทวนอย่างเป็นระบบ
     
    จะวางแผนการอ่านทบทวนเมื่อไหร่
     
    ผมจะวางแผนก่อนวันสอบวันแรกประมาณหนึ่งสัปดาห์ โดยจะต้องมีตารางสอบอยู่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าเวลาสอบติด ๆ กันมาก ๆ เช่นสอบทุกวัน วันละ 2 วิชา ผมก็จะทำไว้ก่อนนานสักหน่อย เช่น 2 สัปดาห์ เป็นต้น การวางแผนอ่านทบทวนนี้ต่างจากการวางแผนอ่านหนังสือปกตินะครับ และก็ทำคนละช่วงเวลาด้วย กล่าวคือ เมื่อใกล้ถึงเวลาสอบ ผมก็จะใช้ตารางเวลาของการอ่านทบทวนแทนตารางเวลาปกติประจำวัน เพื่อให้การอ่านหนังสือมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือในการวางแผนจัดสรรเวลาในช่วงปกติผมอาจจะทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นช่วงสอบแล้วต้องทำให้ได้นะครับ เพราะเวลาในช่วงสอบสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด จะหาเวลาอื่นมาชดเชยเหมือนตอนเวลาเรียนไม่ได้แล้ว
     
    จะวางแผนเกี่ยวกับอะไรบ้าง
     
    สิ่งที่ผมจะต้องวางแผนคือ เวลาในการอ่านว่าจะอ่านตอนไหนบ้าง กี่ชั่วโมง เรื่องที่จะอ่านมีกี่เรื่อง กี่บทในแต่ละวิชา กิจกรรมเสริมอื่น ๆ เช่น การยืมหนังสือมาเพิ่ม การนัดติวกับเพื่อน การฝึกทำแบบฝึกหัด หรือ การจัดสรรเวลาไปปรึกษาอาจารย์ เป็นต้น
     
    ขั้นตอนการวางแผนมีอะไรบ้าง
     
    ในการอธิบายในหัวข้อนี้ ผมจะขอยกตัวอย่างการวางแผนการสอบของภาคการศึกษาหนึ่งของผมไปด้วยเลยดีกว่า เพื่อให้คุณเข้าใจยิ่งขึ้น
     ทำตารางของแต่ละวันโดยจัดสรรช่วงเวลาออกเป็น เช้า บ่าย และกลางคืน (แตกต่างกับตารางเวลาปกติที่แบ่งเป็นชั่วโมง ) ระบุตารางเรียน ตารางสอบ และกิจกรรมที่ต้องทำแน่นอนไว้ก่อน
     
    ทำการสำรวจเนื้อหาของแต่ละวิชาที่จะต้องอ่านในการสอบครั้งนั้น โดยอ่านคร่าว ๆ ทุกวิชา พิจารณาดูว่า แต่ละวิชามีเนื้อหาที่จะต้องอ่านตรงไหนบ้าง และแต่ละเรื่องที่จะอ่านน่าจะใช้เวลากี่ชั่วโมง รวมกันทั้งวิชาใช้เวลากี่ชั่วโมง มีวิชาใดบ้างที่จะต้องติวกับเพื่อนหรือต้องไปหาอาจารย์
     
     เมื่อได้เวลาคร่าว ๆ แล้ว ผมก็จะสำรวจตารางของตัวเอง ส่วนที่เป็นช่องว่างคือเวลาที่ว่างและต้องใช้ในการอ่าน ทำการระบุเวลาที่ต้องการของแต่ละวิชาลงไป (เขียนด้วยตัวธรรมดา) ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เพราะว่าถ้ามีการสอบซ้อนกันหลายวิชา ก็จะไม่สามารถลงเวลาตามที่ต้องการได้ จะต้องตัดสินใจว่าจะอ่านวิชาอะไรในช่วงเวลาไหน โดยผมจะดูจากความยากง่ายและความสำคัญของวิชา
     
     สิ่งสำคัญก็คือจะต้องไม่อ่านเฉพาะวิชาที่จะสอบถัดไปเท่านั้น เพราะจะทำให้อ่านวิชาที่จะสอบถัดไปจากวิชานั้นไม่ทัน แต่ควรจะอ่านทุก ๆ วิชาควบคู่กันไป ดังตัวอย่าง จะเห็นว่า เมื่อสอบวิชาภาษาอังกฤษเสร็จแล้ววิชาต่อไปคือวิชาเคมี แต่ว่าผมจะเอาเวลามาอ่านวิชา IT ก่อน หรืออ่านวิชาสังคมก่อนสอบวิชาภาษาอังกฤษก็เพราะเหตุผลเช่นเดียวกัน
     
    เมื่อวางแผนเสร็จแล้ว ให้ลองวิเคราะห์ใหม่ดูแผนที่วางนั้นสามารถทำได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น เวลาหลังจากสอบบางวิชาเสร็จ จะกลับมาอ่านวิชาต่อไปทันทีนั้นทำไม่ได้ เพราะว่าเราอาจจะต้องการพักผ่อนบ้าง แต่ว่าเวลาที่ใช้พักไม่ควรจะมากจนเกินไป อดใจไว้พักตอนสอบเสร็จดีกว่า และตารางเวลานั้น สามารถยืดหยุ่นได้เสมอ เมื่อวางแผนเสร็จแล้วต่อไปก็ต้องอ่านหนังสือทบทวนก่อนสอบตามแผนที่วางไว้
     
    2.     การอ่านหนังสือทบทวนก่อนสอบ
     
    สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการสอบก็ว่าได้ทีเดียวครับ เพราะว่าไม่ว่าจะอ่านหนังสือทุก ๆ วัน ระหว่างที่เรียนอยู่ หรือว่าตั้งใจเข้าเรียนทุก ๆ คาบแต่ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือทบทวนก่อนสอบแล้ว สิ่งที่อ่านมาตลอดก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย
     
    อ่านหนังสือทบทวนก่อนสอบเพื่ออะไร
     
    จุดมุ่งหมายของการอ่านหนังสือก่อนสอบนั้นก็คือ จะต้องทำความเข้าใจเนื้อหาทุกอย่างที่เรียนมาก่อนจะถึงวันสอบ หรือเนื้อหาที่จะออกข้อสอบ สามารถทำแบบฝึกหัดหรือตัวอย่างข้อสอบได้ รวมทั้งการจำสูตรหรือสิ่งที่ต้องจำทั้งหมดก่อนเข้าห้องสอบ ส่วนการอ่านหนังสือในเวลาเรียนปกติก็เพื่อที่จะทำความเข้าใจเนื้อหาบทเรียนของแต่ละวันเท่านั้น
     
    จะต้องอ่านหรือทำอะไรบ้าง
     
     อ่านเนื้อหาทั้งหมด ในกรณีที่ได้อ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาระหว่างที่เรียนแล้ว และได้ทำการจดบันทึกใจความสำคัญเอาไว้แล้ว ตอนนี้ผมก็จะอ่านจากที่จดบันทึกไว้ก็พอ ซึ่งทำให้ประหยัดเวลาไปได้มาก แต่ถ้ายังไม่ได้ทำความเข้าใจเนื้อหามาก่อนก็ให้อ่านเสียตอนนี้เลย ซึ่งจะต้องใช้เวลามากพอสมควร
     
     สรุปเนื้อหาที่อ่านไป จากที่ได้อ่านหนังสือผ่านไปแล้วและได้สรุปใจความสำคัญของแต่ละเรื่องไว้บ้างแล้ว คราวนี้ก็ต้องรวบรวมใจความสำคัญของแต่ละเรื่องมาเขียนไว้ในสมุดเป็นสรุปรวบยอดของวิชานั้น ๆ ไปเลย ในขั้นตอนนี้จะต้องพยายามคิดเชื่อมโยงความรู้ในแต่ละเรื่องเข้าด้วยกัน และพยายามจัดระเบียบความรู้ของตัวเองให้ดี ไม่ให้เกิดความสับสน ถ้าเป็นไปได้ให้ผมจะพยายามเขียนเรื่องต่าง ๆ ออกเป็นขั้นตอนให้ชัดเจน เช่นขั้นตอนการทำโจทย์คำนวณ น้อง ๆ บางคนก่อนจะสอบไม่ได้ทำสรุปและจัดระเบียบความรู้เลยพอถึงเวลาสอบแล้วยังไม่รู้เลยว่าตัวเองเรียนอะไรไปบ้าง อย่างนี้ไม่ดีแน่ ๆ ครับ
     
     การทดสอบความเข้าใจ ซึ่งก็สามารถทำได้เหมือนกับการอ่านธรรมดา คือการทำแบบฝึกหัดและติวให้เพื่อนนั่นละครับ
     
     การเก็งข้อสอบ ถ้าจะพูดถึงการทำข้อสอบเข้าคะแนน การเก็งข้อสอบสำคัญที่สุด เพราะว่าถ้าเก็งข้อสอบไปถูก และอ่านถูกจุด ก็ทำให้ทำข้อสอบได้สบายไปเลย วิธีการเก็งข้อสอบที่ผมใช้บ่อย ๆ ก็มีอยู่หลายวิธี เช่น
     
    - ถามอาจารย์ตรง อาจารย์บางคนใจดีก็จะบอกมา แต่ถ้าไม่บอกก็ไม่เป็นไร ไม่ขาดทุน ให้ถามไว้ก่อน
     
    - บางทีอาจารย์ก็จะบอกเองเช่นกำลังเรียนเรื่องบางเรื่องอยู่ อาจารย์ก็อาจจะพูดว่า เรื่องนี้คุณต้องทำให้ได้นะ ผมจะออกข้อสอบ หรืออาจจะพูดเป็นนัย ๆ ว่า เรื่องนี้สำคัญและทุกคนต้องทำได้ รีบ ๆ จดไว้เลยครับ อย่าปล่อยให้ข้อสอบลอยนวล
     
     
     
    - ดูจากเนื้อหาก็ได้ครับ เนื้อหาเรื่องอะไรที่ไม่ยาก หรือไม่ง่ายจนเกินไป ถ้าอาจารย์ออกข้อสอบน่าจะพอดีกับเวลา และเด็กส่วนใหญ่ทำได้ เนื้อหาส่วนนั้นน่าจะเป็นข้อสอบ แต่ถ้าตรงไหนที่ยาก ทำนาน ก็ไม่น่าจะเป็นข้อสอบ
     
    - ดูสไตล์การออกข้อสอบของอาจารย์แต่ละคน เช่นอาจารย์บางคนชอบออกข้อสอบจากแบบฝึกหัดที่สั่งให้ทำแล้วนักศึกษาทำไม่ค่อยได้ หรือแบบฝึกหัดที่
    ให้ไปลองทำดูเฉย ๆ ไม่ต้องส่ง เคยมีอยู่บ่อย ๆ ครับ โดยเฉพาะข้อไหนที่อาจารย์สั่งเป็นการบ้านแล้วนักศึกษาไม่ค่อยจะทำส่งกัน ก็มักโดนตลบหลังเอาอย่างนี้ละ
     
    - ดูจากจุดประสงค์ จุดประสงค์รายวิชาต้องการให้รู้อะไรก็ให้อ่านตรงนั้นเป็นพิเศษ ข้อนี้ใช้กันอย่างแพร่หลาย
     
    สิ่งสำคัญของการเก็งข้อสอบก็คือ ผมเห็นเพื่อนบางคนอ่านเฉพาะที่เก็งไว้เท่านั้น ไม่ได้อ่านทั้งหมด พอข้อสอบออกมาปรากฏว่าเก็งผิด ยุ่งเลยครับ ทำข้อสอบไม่ได้เลย ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะเก็งข้อสอบไว้แล้วแต่เนื้อหาส่วนอื่น ๆ ก็ต้องอ่านให้หมดเช่นกัน ห้ามทิ้งเนื้อหาเด็ดขาด ยกเว้น กรณีที่เวลาอ่านทบทวนมีน้อยมาก
     
    4. อุปกรณ์และเครื่องมือที่ต้องใช้สำหรับการสอบ
     
    ถ้าหากว่าการสอบครั้งนั้นต้องใช้เครื่องมือเข้าช่วยในการสอบ ก็ต้องเตรียมเครื่องมือให้พร้อม และเรียนรู้วิธีการใช้งานเครื่องมือนั้นให้ดีด้วย ถ้าหากจำเป็นต้องยืมเครื่องมือจากเพื่อนก็ควรจะยืมมาก่อนวันสอบ เพราะจะได้เอามาฝึกใช้ก่อนวันสอบจริง เวลาสอบจริงจะได้ใช้ได้คล่องแคล่ว ไม่เสียเวลามากนัก โดยเฉพาะเครื่องคิดเลข
     
     โดยปกติแล้วควรจะมีเครื่องคิดเลขเป็นของตัวเอง เพื่อที่จะได้ใช้เครื่องคิดเลขให้คล่องแคล่วและไม่เสียเวลาในการทำข้อสอบ ถ้าหากวิชาใดจำเป็นจะต้องใช้เครื่องคิดเลขที่มีฟังก์ชั่นพิเศษ ก็ควรจะตรวจดูว่าเครื่องของเราสามารถใช้ได้หรือไม่ และควรจะฝึกใช้ฟังก์ชั่นเหล่านี้ให้เป็น บางคนยืมเครื่องคิดเลขคนอื่นแล้วใช้ไม่เป็นก็ซวยไปเลย
     
    บางคนบอกว่าเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้ไม่จำเป็น แต่สำหรับผมแล้วผมว่ามันจำเป็นอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่นถ้าคุณเป็นนักศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่ต้องใช้เครื่องคิดเลขในการคำนวณ เวลาที่นิ้วคุณต้องจิ้มอยู่บนเครื่องคิดเลขน่าจะประมาณครึ่งหนึ่งของเวลาทำข้อสอบทีเดียว
     
    5. ความพร้อมทางด้านร่างกาย
     
    ในช่วงเวลาของการสอบนั้นจะต้องดูแลรักษาสุขภาพให้ดีเป็นพิเศษทั้งวันก่อนสอบและวันสอบ เพราะถ้าร่างกายไม่พร้อมแล้ว ความสามารถในการอ่านหนังสือหรือในการทำข้อสอบก็จะลดน้อยลงไปอย่างมากเลยทีเดียว
     
    ในเรื่องความพร้อมด้านจิตใจ เวลาจะไปสอบ ผมเห็นรุ่นน้องส่วนใหญ่จะรู้สึกตื่นเต้นตกใจ กลัวข้อสอบ จนบางครั้งเกิดอาการใจสั่น มือไม้สั่นจนทำข้อสอบไม่ได้ ผมคิดว่าอาการเหล่านี้อาจเกิดจากนักศึกษาขาดความมั่นใจในการทำข้อสอบ เพราะว่าอาจจะอ่านหนังสือมาไม่จบ หรือได้ยินเพื่อนพูดถึงเรื่องที่จะสอบแล้วตัวเองไม่รู้เรื่องเลย หรืออ่านหนังสือมานานตั้งแต่เมื่อคืน ยังไม่ได้นอนเลย หรือมีความกังวลเรื่องอื่น ๆ เช่นปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาทางบ้าน เป็นต้น
     
     วิธีแก้ไขที่ผมใช้มาตลอดก็คือ ผมจะตัดความกังวลทุกอย่างออกไปและตั้งใจอ่านหนังสือให้เต็มที่ ก่อนสอบผมจะพักสมองสัก 5 นาที ไม่อ่านจนถึงวินาทีสุดท้าย พอมาหน้าห้องสอบก็ไม่จำเป็นต้องไปคุยเรื่องข้อสอบกับคนอื่น แต่จะหาเรื่องสนุก ๆ มาคุยให้สมองได้พักผ่อน
     
    ก่อนเข้าห้องสอบก็จะบอกกับตัวเองว่า ผมพร้อมแล้ว วันนี้ทำได้แน่นอน แม้ว่าบางทียังอ่านไม่จบก็ต้องทำใจทิ้งส่วนที่ยังไม่ได้อ่านทิ้งไป ไม่ไปกังวลกับมัน ถ้าเกิดอาการสั่น หัวใจเต้นแรงก่อนเข้าห้องสอบ ผมก็จะออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เต้น สะบัดแขน ขา กระโดด เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ตึงเครียดได้ผ่อนคลาย หายใจลึก ๆ รวบรวมสมาธิแล้วเดินเข้าห้องสอบอย่างมั่นใจ บอกตัวเองเสมอว่าพร้อมและต้องทำให้ดีที่สุด ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นขั้นตอนของการทำข้อสอบ


    -------------------------------------E-N-D-------------------------------------------------

    CrediT-->
    http://das.wu.ac.th/tdu_students/Tip/article1.html




    *****ต้องของขอบคุณทุกกำลังใจที่มอบให้นะคะ และจะพยายามอัพบ่อยๆน้าคร้า~~~~ เม้นๆๆๆ จุ๊บส์ๆๆๆ
     
     
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×