ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ตำนานพื้นบ้านFolk legends. 

    ลำดับตอนที่ #13 : งานประเพณีแห่ผีตาโขน

    • อัปเดตล่าสุด 28 มี.ค. 54


     งานประเพณีแห่ผีตาโขน


     

    ผีตาโขนจัดเป็นงานบุญงานหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ของชาวอีสานและจังหวัดเลย โดยจัดเป็นหนึ่งในงานประเพณีที่เรียก
    ฮีตสิบสองคลองสิบสี่ว่า ฮีดสิบสอง หมายถึงประเพณีสิบสองเดือน โดยมีดังนี้

    เดือนอ้าย (เดือนเจียง) บุญเข้ากรรม

    เดือนยี่ บุญคูณลาน

    เดือนสาม บุญข้าวจี่

    เดือนสี่ บุญผะเหวด (พระเวสสันดร)

    เดือนห้า บุญสงกรานต์

    เดือนหก บุญบั้งไฟ

    เดือนเจ็ด บุญซำฮะ

    เดือนแปด บุญเข้าพรรษา

    เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน

    เดือนสิบ บุญข้าวสาก หรือ บุญสลากภัต

    เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา

    เดือนสิบสอง บุญกฐิน

     

    สำหรับชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยได้จัดงานบุญ เดือนสี่ คือ บุญผะเหวด โดยรวมงานบุญบั้งไฟมาไว้ด้วยกัน เรียกว่า งานบุญหลวง งานนี้จะมีขึ้นราวปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ มีการเทศน์มหาชาติ คือ เทศน์มหาเวสสันดรชาดก

    ผีตาโขน เป็นการละเล่นชนิดหนึ่งของคนอีสาน ผู้เล่นจะสวมหน้ากากและแต่งตัวให้หน้ากลัว แต่ไม่ใช่การเชิญผีมาเข้าทรง เป็นการเล่นตลกอย่างหนึ่ง ผู้เข้าร่วมในพิธีนี้จะแต่งกายคล้ายผีและปีศาจใส่หน้ากากขนาดใหญ่ ทำจากต้นมะพร้าวแกะสลักและ สวมศีรษะด้วยกระติบข้าวเหนียว ในขบวนแห่จะประกอบไปด้วยการร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน ในอดีตคนอีสานนิยมเล่นผีตาโขนในงานบุญบั้งไฟ และงานบุญผะเหวด(พระเวส)มาโดยตลอด

    ต้นกำเนิดของพิธีผีตาโขนนี้ไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด แต่ก็พอที่จะเท้าความไปยังตำนานทางพุทธศาสนา ได้ว่า ในชาติก่อนหน้าที่จะถือกำเนิดมาเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงถือกำเนิดเป็นเจ้าชาย ผู้เป็นที่รักยิ่งของ ทวยราษฎร์ ทรงพระนามว่า พระเวสสันดร กล่าวกันว่าพระองค์ทรงเสด็จออกนอกพระนครไปเป็นเวลานานเสีย จนเหล่าพสกนิกรของพระองค์ลืมพระองค์ไปแล้ว และยังคิดว่าพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ไปเสียแล้วด้วยซ้ำไป

    เมื่อพระเจ้ากรุงสัญชัยกับพระนางผุสดีไปเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับเมือง ขบวนแห่แหนเข้าเมือง มีคนป่าหรือผีป่าที่เคยปรนนิบัติและเคารพรักพระเวสสันดรร่วมขบวนมาส่ง พสกนิกรของพระองค์ต่างปลื้ม ปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงพร้อมใจกันเฉลิมฉลองการ เสด็จกลับมาอย่างเอิกเกริกส่งเสียงดังกึกก้อง จนกระทั่งปลุกผู้ที่ตายไปแล้วให้มาเข้าร่วมสนุกสนานรื่นเริงไปด้วย
      ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาต่างพากันมาร่วมระลึกนึกถึงเหตุการณ์นี้ด้วยการจัดพิธีต่างๆ การเฉลิมฉลองและการแต่งกายใส่หน้ากากคล้ายภูตผีปีศาจ แต่เหตุผลที่แท้จริง เบื้องหลังพิธีนี้ก็อาจจะเนื่องมาจาก ความจริงที่ว่าชาวนาต้องการกระตุ้นฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล และเพื่อเป็นการให้ศีลให้พรแก่พืชผลอีกด้วย

     

    วันแรกตอนเช้ามืดมีพิธีเบิกพระอุปคุตจากลำน้ำหมันขึ้นมาประจำตามทิศต่างๆ รอบพื้นที่ที่จะประกอบพิธีกรรมเชื่อกันว่าพระอุปคุตจะช่วยคุ้มครองป้องกันภยันตรายต่างๆทำให้งานบุญสำเร็จราบรื่นไปด้วยดี ขบวนอัญเชิญพระอุปคุตนี้จะมีขบวนผีตาโขนเข้าร่วมด้วยแต่จำนวนไม่มาก ถึงตอนสายขบวนแห่จะเคลื่อนไปบ้านเจ้ากวนเพื่อประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้ากวนและนางเทียม (ผู้ประกอบพิธีเลี้ยงผีหอหลวง) ผีตาโขนจะออกมาร่วมขบวนและเพ่นพ่านมากขึ้น เมื่อพิธีสู่ขวัญเสร็จ คนทั้งหมดซึ่งประกอบด้วยเจ้ากวนนางเทียมคณะแสนนางแต่ง (ผู้ช่วยเจ้ากวนและนางเทียม) บรรดาผีตาโขน ขบวนเซิ้งและการละเล่นต่างๆเช่นทั่งบั้ง (คนป่ากระทุ้งพลอง) ควายตู้ (ไถนา) ทอดแหจะเคลื่อนขบวนไปยังบริเวณวัดโพนชัยเพื่อแห่รอบอุโบสถ ในช่วงนี้ผีตาโขนจะออกมาร่วมชุมนุมมากมาย หลังจากนั้นผีตาโขนจะเที่ยวออกอาละวาดไปตามละแวกบ้านต่างๆตามอัธยาศัย

    วันที่สอง ผีตาโขนจะรวมพลแต่เช้าตรู่แล้วเซิ้งเย้าแหย่คนไปตามบ้านตามถนนเป็นที่สนุกสนานพอถึงตอนบ่ายมีขบวนแห่อัญเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมือง เรียกว่า"แห่พระ"รูปขบวนเริ่มด้วยแสนด่านถือพานบายศรีนำหน้าตามด้วยขบวนแห่พระพุทธรูปซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระเวสสันดรขบวนแห่พระสงฆ์ 4 รูป ขบวนของคณะแสนนางเทียมนางแต่งผีตาโขน และการละเล่นต่างๆปิดท้ายด้วยขบวนแห่บั้งไฟเจ้ากวนจะได้รับเชิญให้นั่งบนบั้งไฟนำ ขบวนบั้งไฟนี้เมื่อแห่ถึงวัดโพนชัยแล้วจะนำไปจุดเพื่อขอฝนจากพญาแถนขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลระหว่างแห่บั้งไฟเจ้ากวนจะโปรยทานไปด้วย ชาวบ้านจะร้องรำทำเพลงไปตามทางสู่วัด แล้วจึงจุดบั้งไฟเพื่อส่งสัญญาณให้รู้ว่า ขบวนแห่ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว
      ในวันที่ 2 ของงานบุญนี้ นอกจากนี้ผู้ที่จัดงาน ก็ยังจัดให้มีการประกวดหน้ากากที่สวยงามที่สุด การแต่งกาย และผู้ที่รำสวย แล้วยังมีการแจกโล่ทองเหลืองแก่ผู้ชนะในแต่ละวัยอีกด้วย แต่สิ่งที่ชื่นชอบกันมากที่สุด ก็เห็นจะเป็นการแข่งขันเต้นรำ และเมื่อวันสุดท้ายของงานบุญมาถึง ชาวบ้านก็จะไปรวมกันที่วัดโพนชัย เพื่อฟังพระธรรมเทศนา 13 กัณฑ์ แสดงโดยพระภิกษุวัดนั้นและแล้ววันนั้นเวลาแห่งการถอดหน้ากากปีศาจและเครื่องแต่งกายเพื่อสวมใส่ในปีต่อไปก็มาถึง

    วันที่สาม เป็นวันทำบุญฟังเทศน์วันนี้ทุกคนจะเข้าวัดทำบุญและฟังเทศน์มหาชาติไม่มีการเล่นผีตาโขนอีกต่อไป

    ผีตาโขน ในขบวนแห่จะแยกเป็น 2 ชนิดคือ ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก

    ผีตาโขนใหญ่ ทำเป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณ 2 เท่าประดับตกแต่งรูปร่างหน้าตาด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เวลาแห่ คนเล่นจะต้องเข้าไปอยู่ข้างในตัวหุ่น แต่ละปีจะทำผีตาโขนใหญ่เพียง 2 ตัวผีตาโขนชาย1ตัว หญิง1ตัว สังเกตจากเครื่องเพศปรากฏชัดเจนที่ตัวหุ่น ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่จะมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะคนอื่นไม่มีสิทธิ์ทำต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน ถ้าได้รับอนุญาตแล้วต้องทำทุกปีหรือทำติดต่อกันอย่างน้อย3ปี

    ผีตาโขนเล็ก ทุกคนไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่ หญิงหรือชาย มีสิทธิ์ทำและเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน

    หน้ากากผีตาโขน หน้ากากผีตาโขนเล็ก ทำจากส่วนที่เป็นโคนของก้านมะพร้าวและหวดนึ่งข้าวเหนียว โดยนำมาเย็บติดกันแล้วเขียนหน้าตา ทำจมูกเหมือนผี ส่วนชุดแต่งกายของผีมักมีสีฉูดฉาดบาดตา โดยอาจเย็บเศษผ้าเป็นเสื้อตัวกางเกงตัวหรือเย็บเป็นชุดติดกันตลอดตัวก็ได้ ข้อสำคัญคือต้องคลุมร่างกายให้มิดชิด

    ส่วนเครื่องแต่งตัวประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ของผีตาโขนคือ"หมากกะแหล่ง"และดาบไม้

    หมากกะแหล่ง คือเครื่องดนตรีรูปร่างคล้ายกระดิ่งหรือกระดึงแขวนคอวัว ผีตาโขนจะใช้หมากกะแหล่งแขวนติดบั้นเอวเมื่อเดินโยกตัวหรือเต้นเป็นจังหวะ ขย่มตัวสายสะโพกเสียงหมากกะแหล่งก็จะดังเสียงน่าฟังและน่าสนุกสนาน

    ดาบไม้ เป็นอาวุธประจำกายผีตาโขนไม่ได้เอาไว้รบกัน แต่เอาไว้ควงหลอกล่อและไล่จิ้มก้นสาวๆ ซึ่งก็จะร้องวี๊ดว้ายหนีกันจ้าละหวั่น ทั้งอายทั้งขำ แต่ไม่มีใครถือสา เพราะเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมา เหตุที่วิ่งหนีเพราะปลายดาบนั้นแกะสลักเป็นรูปอวัยวะเพศชายแถมทาสีแดงให้เห็นอย่างเด่นชัด การเล่นแบบนี้ไม่ถือเป็นเรื่องหยาบ หรือลามกเพราะมีความเชื่อกันว่าหากเล่นตลกและนำอวัยวะเพศชายหญิงมาเล่นมาโชว์ในพิธีแห่และงานบุญบั้งไฟจะทำให้พญาแถนพอใจ ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์
     
    "ฮีตสิบสอง ประเพณี พิธีกรรมของชาวอีสาน ที่คนรุ่นหลังควรอนุรักษ์ไว้"

     
    ขนบธรรมเนียมประเพณีของอีสานแตกต่างจากภาคกลางตรงที่
    ขนบธรรมเนียม ประเพณีของภาคกลางได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู และคัมภีร์พระมนูธรรมศาสตร์ ส่วนขนบ- ธรรมเนียมของอีสานได้รับอิทธิพลจากล้านช้าง เข้าใจว่าวัฒนธรรมล้านช้างได้รับอิทธิพลจาก วัฒนธรรมจีน นั่นคือ การเคารพบรรพบุรุษ ผีปู่ตา ผีแถน ผีฟ้า ผีตาแฮก (ผีนาผีไร่) ขนบธรรมเนียม ประเพณีของภาคกลางจึงมีลักษณะเป็นพราหมณ์มากกว่าพุทธ ฮีตสิบสอง หรือ จารีตประเพณี ประจำสิบสองเดือน ที่สมาชิกในสังคมได้มีโอกาสร่วมชุมนุมกันทำบุญ เป็นประจำเดือนในทุกๆ เดือนของรอบปี "ฮีต" มาจากคำว่า "จารีต" ถือเป็นจรรยาของสังคม ถ้าฝ่าฝืนมีความผิด เรียกว่า ผิดฮีต หมายถึง ผิดจารีต ซึ่งฮีตสิบสองมีรายละเอียดดังนี้


    เดือนเจียง (เดือนอ้าย)
    บุญเข้ากรรม เป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิด ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน และมุ่งประพฤติตนให้ ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป ทางด้านฆราวาสก็จะมีการทำบุญเลี้ยงผีต่างๆ


    เดือนยี่
    หลังการเก็บเกี่ยวจะทำบุญคูณข้าวหรือบุญคูณลาน นิมนต์พระสวดมนต์เย็น เพื่อเป็น มงคลแก่ข้าวเปลือก รุ่งเช้าเมื่อพระฉันเช้าแล้วจะทำพิธีสู่ขวัญข้าว นอกจากนี้ชาวบ้านจะเตรียม เก็บสะสมฟืนไว้หุงต้มที่บ้าน


    เดือนสาม
    ในมื้อเพ็ง (วันเพ็ญ เดือนสาม) จะมีการทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา การทำบุญข้าวจี่ จะเริ่มตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นใส่น้ำอ้อย นำไปจี่บนไฟอ่อนแล้วชุบด้วยไข่ เมื่อสุกแล้วนำไป ถวายพระ


     เดือนสี่
    ทำบุญพระเวสฟังเทศน์มหาชาติ มูลเหตุเนื่องมาจากพระคัมภีร์มาลัยหมื่นและมาลัย แสน เทศนาเรื่องพระมหาเวสสันดรชาดกให้จบสิ้นภายในวันเดีนว เป็นต้น ในงานบุญนี้มักจะมีผู้นำ ของมาถวายพระ ซึ่งเรียกว่า "กัณฑ์หลอน" หรือถ้าจะถวายเจาะจงเฉพาะพระนักเทศน์ที่ตนนิมนต์ มา ก็เรียกว่า "กัณฑ์จอบ" เพราะต้องแอบซุ่มดูให้แน่เสียก่อนว่าใช่พระรูปที่จะถวายเฉพาะเจาะจง หรือไม่?




     เดือนห้า
    ตรุษสงกรานต์หรือบุญสรงน้ำ การสรงน้ำมีการรดน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ ผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาและขอพร

     

     เดือนหก
    เดือนหกทำบุญบั้งไฟและบุญวันวิสาขบูชา การทำบุญบั้งไฟเพื่อขอฝน และจะมีงาน บวชนาคพร้อมกันด้วย การทำบุญเดือนหกเป็นงานสำคัญก่อนการทำนา หมู่บ้านใกล้เคียงจะนำ เอาบั้งไฟมาจุดประชันขันแข่งกัน หมู่บ้านที่รับเป็นเจ้าภาพจะจัดอาหาร เหล้ายามาเลี้ยงโดยไม่คิด มูลค่า เมื่อถึงเวลาก็จะตั้งขบวนแห่บั้งไฟและรำเซิ้งออกไป ณ ลานที่จุดบั้งไฟ การเซิ้งจะกระทำด้วย ความสนุกสนาน

     

    เดือนเจ็ด
    เดือนเจ็ดทำบุญซำฮะ (ล้าง) หรือบุญบูชาบรรพบุรุษ มีการเซ่นสรวงหลักเมือง หลักบ้าน ปู่ตา ผีตาแฮก ผีเมือง เป็นการทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณ


    เดือนแปด
    เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษาเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาโดยตรง มีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์สามเณร มีการฟังธรรมเทศนาตอนบ่าย ชาวบ้านหล่อเทียนใหญ่ถวายเป็นพุทธบูชาและเก็บไว้ตลอดพรรษา การนำไปถวายวัดจะมีขบวนแห่ฟ้อนรำเพื่อให้เกิดความคึกคักสนุกสนาน


    เดือนเก้า
    ทำบุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับ เพื่อบูชาผีบรรพบุรุษและผีไร้ญาติ โดยชาวบ้านจะทำการจัดอาหาร ประกอบด้วยข้าว ของหวาน หมากพลู บุหรี่ ห่อด้วยใบตองกล้วย ร้อยเป็นพวง เตรียมไว้ถวายพระช่วงเลี้ยงเพล บางพื้นที่อาจจะนำห่อข้าวน้อย เหล้า บุหรี่ แล้วนำไปวางหรือแขวนไว้ตามต้นไม้หรือที่ใดที่หนึ่ง พร้อมทั้งกล่าว เชิญวิญญาณของบรรพบุรุษและญาติมิตรที่ล่วงลับไปมารับส่วนกุศลในครั้งนี้ ต่อมาใช้วิธีการกรวดน้ำหลังการถวายภัตตาหารพระสงฆ์แทน


    เดือนสิบ
    เดือนสิบ ทำบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก (สลากภัตร) ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบ ผู้ถวาย จะเขียนชื่อของตนลงในภาชนะที่ใส่ของทาน และเขียนชื่อลงในบาตร ภิกษุสามเณรรูปใดจับได้ สลากของใคร ผู้นั้นจะเข้าไปถวายของ เมื่อพระฉันเสร็จแล้ว มีการฟังเทศน์ เป็นการอุทิศให้แก่ ผู้ตายเช่นเดียวกับบุญข้าวประดับดิน

     
    เดือนสิบเอ็ด
    เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด พระสงฆ์จะแสดงอาบัติ ทำการปวารณา คือการเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ต่อมาเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่จะให้ โอวาทเตือนพระสงฆ์ ให้ปฏิบัติตนอย่างผู้ทรงศีลเป็นอันเสร็จพิธี พอตกกลางคืนมีการจุดประทีป โคมไฟ นำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในวัดหรือตามริมรั้ววัด


    เดือนสิบสอง
    เดือนสิบสอง มีการทำบุญกองกฐินซึ่งเริ่มตั้งแต่วัน แรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบสอง แต่ชาวอีสานครั้งก่อนนิยมเริ่มทำบุญทอดกฐินกัน ตั้งแต่ข้างขึ้นเดือนสิบสอง จึงมักจะเรียกบุญกฐินว่า บุญเดือนสิบสอง

     

     

     

    ประเพณีที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่ เดือนอ้ายจนถึงเดือนสิบสอง ใครที่ไม่ไปช่วยงานบุญก็จะถูกสังคมตั้งข้อรังเกียจ และยังไม่คบค้า สมาคมด้วย การร่วมประชุมทำบุญเป็นประจำเช่นนี้ จึงทำให้ชาวอีสานมีความสนิทสนมรักใคร่กัน ไม่เฉพาะแต่ในหมู่บ้านของตนเท่านั้น แต่ยังสร้างความสามัคคีกันในหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย



    งานที่อ้างถึง

    เอกสารอ้างอิงและภาพประกอบ:

    1. ธนพล จาดใจดี. (1994). เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทย. กรุงเทพฯ : ห.จ.ก. ไทยเจริญการพิมพ์

    2. ปาริชาต เรืองวิเศษ. "งานประเพณี ฮิดสิบสอง คลองสิบสี่" ชองชาวเลย" เลย. กรุงเทพฯ: สารคดี, 2539.

    3. ภาพประกอบากหนังสือ ADVANCE THAILAND GEOGRAPHIC ปีที 10 ฉบับที่ 74 พศ. 2547 โดยคุณ วศิน ภุมรินทร์ และณัฐพงษ์ ทิมแตง

    http://it49010110094.blogspot.com/2009/09/blog-post.html

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×