ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ตำนานพื้นบ้านFolk legends. 

    ลำดับตอนที่ #9 : พญานาคกับพระพุทธศาสนา

    • อัปเดตล่าสุด 28 มี.ค. 54


          

    พญานาคกับพระพุทธศาสนา

    ในช่วงเทศกาลวันออกพรรษาของทุกปี
    นอกจากจะมีการปวารณาของพระภิกษุสามเณรแล้ว
    ยังมี การตักบาตรเทโวโรหนะ

    ส่วนริมฝั่งแม่น้ำโขงคลื่นมนุษย์หลายแสนคน
    แห่กันไปชมบั้งไฟพญานาคที่จังหวัดหนองคาย
    ซึ่งมีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

    การผุดขึ้นของดวงไฟคาดคะเนไม่ได้ว่าจะมากหรือน้อย
    แต่คนส่วนหนึ่งก็ยังคงเตรียมตัวเตรียมใจ
    เฝ้ารอชมมหกรรมริมฝั่งแม่น้ำโขง
    จนกลายเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของผู้คนสองฝั่งโขง
    เรื่องของพญานาคนั้นพระพุทธศาสนา
    ได้แสดงหลักฐานไว้อย่างไรหรือไม่

     

    พญานาค หมายถึงงูใหญ่ มีหงอน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่
    ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา และบันไดสายรุ้งสู่จักรวาล
    เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ จากการจำศีล บำเพ็ญภาวนา
    ศรัทธาในพุทธศาสนา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

    พญานาคนั้นเรามักจะพบเห็นเป็นรูปปั้นหน้าโบสถ์
    ตามวัดต่างๆ บันไดขึ้นสู่วัดในพุทธศาสนา
    ภาพเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง กับศาสนาพุทธอีกมากมาย
    และนครวัดมหาปราสาท

    ถ้าเราจะสังเกต ก็คงจะเป็นที่ศาสนาพุทธ
    ทำไมมีเรื่องราวพญานาคมาเกี่ยวข้องมาก

    พญานาค ในตำนานของฝรั่ง หรือชาวตะวันตก
    ถือว่าเป็นตัวแทนของกิเลส ความชั่วร้าย
    ตรงข้ามกับชาวตะวันออก ที่ถือว่า งูใหญ่ พญานาค มังกร
    เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พลังอำนาจ

    ชาวฮินดูถือว่า พญานาคเป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพองค์ต่าง ๆ
    เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ เช่น อนันตนาคราช
    ที่เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ตรงกับความเชื่อของลัทธิพราหมณ์
    ที่เชื่อว่า นาค เป็นเทพแห่งน้ำ เช่นปีนี้ นาค ให้น้ำ 1 ตัว
    หมายถึงน้ำจะมาก จะท่วมที่ทำการเกษตร ไร่นา

    ถ้าปีไหน นาคให้น้ำ 7 ตัว น้ำจะน้อย
    ตัวเลขนาคให้น้ำจะกลับกันกับเหตุการณ์
    เนื่องจาก ถ้านาคให้น้ำ 7 ตัว น้ำจะน้อยเพราะนาคกลืนน้ำไว้

      

    พญานาคที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา

    พญานาคมีปรากฎหลายแห่งทั้งในพระไตรปิฎก
    อันเป็นคัมภีร์สำคัญของพระพุทธศาสนาเถรวาท
    และอรรถกถาดังต่อไปนี้

    ในวินัยปิฎก มหาวรรค (๔/๕/๗)

    กล่าวถึง มุจจลินทนาคราช ความว่า

    ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น
    เสด็จจากควงไม้อชปาลนิโครธ เข้าไปยังต้นไม้มุจจลินท์
    แล้วประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว
    เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้มุจจลินท์ตลอด ๗ วัน
    ครั้งนั้น เมฆใหญ่ในสมัยมิใช่ฤดูกาลตั้งขึ้นแล้ว
    ฝนตกพรำเจือด้วยลมหนาว ตลอด ๗ วัน

    มุจจลินทนาคราช ออกจากที่อยู่ของตน
    ได้แวดวงพระกายพระผู้มีพระภาคด้วยขนด ๗ รอบ
    ได้แผ่พังพานใหญ่เหนือพระเศียรสถิตอยู่ด้วยหวังใจว่า
    ความหนาว ความร้อนอย่าเบียดเบียนพระผู้มีพระภาค
    สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน
    อย่าเบียดเบียนพระผู้มีพระภาค

    ครั้นล่วง ๗ วัน มุจจลินทนาคราช รู้ว่า
    อากาศปลอดโปร่งปราศจากฝนแล้ว
    จึงคลายขนดจากพระกายของพระผู้มีพระภาค
    จำแลงรูปของตนเป็นเพศมาณพ
    ได้ยืนประคองอัญชลีถวายมนัสการพระผู้มีพระภาค
    ทางเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค

    [พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ ทรงประทับบนอนันตนาคราชบัลลังก์ ในคติความเชื่อของฮินดู]  



     
    ในอรรถกถาพระวินัย สมันตปาสาทิกา
    มหาวิภังควรรณนา หน้า ๒๐๒

    ในการอรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า ปุริสทมฺมสารถิ

    พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นที่ทรงพระนามว่า ปุริสทมฺมสารถิ
    เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า
    ยังบุรุษผู้พอจะฝึกได้ให้แล่นไป

    มีอธิบายไว้ว่าย่อมฝึก
    คือแนะนำ สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ก็ดี มนุษย์ผู้ชายก็ดี
    อมนุษย์ผู้ชายก็ดี ผู้ที่ยังมิได้ฝึก ควรเพื่อจะฝึกได้
    ชื่อว่าปุริสทัมมา ในคำว่าปุริสทมฺมสารถินั้น

    แม้สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มีอาทิอย่างนี้
    คือ อปลาลนาคราช จุโฬทรนาคราช มโหทรนาคราช
    อัคคิสิขนาคราช ธูมสิขนาคราช
    อาลวาฬนาคราช ช้างชื่อธนบาลก์
    อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกแล้ว
    คือทรงทำให้สิ้นพยศแล้วให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีลทั้งหลาย

     
    [ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดดุสิตาราม ตอนมุจจลินทนาคราชแผ่พังพานใหญ่
    เหนือพระเศียรพระพุทธองค์ขณะที่ทรงเสวยวิมุตติสุขตลอด ๗ วัน]

     

    อรรถกถาปาสราสิสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
    เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ ๔๕๖

    ได้กล่าวถึงพญานาคไว้ว่า

    เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
    แล้ววางถาดทองไว้ริมฝั่งลงสรงน้ำเสด็จขึ้นแล้ว
    ทรงปั้นข้าวมธุปายาสจำนวน ๔๙ ก้อน
    เสวยข้าวมธุปายาสแล้วทรงเสี่ยงทายว่า

    ถ้าเราจะเป็นพระพุทธเจ้าวันนี้
    ขอถาดจงลอยทวนกระแสน้ำดังนี้แล้วทรงเหวี่ยงถาดไป
    ถาดก็ลอยทวนกระแสน้ำแล้วหยุดหน่อยหนึ่ง
    เข้าไปสู่ภพของ ท้าวกาฬนาคราช
    วางทับถาดของพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์

     

     

     



     

     

     

     

     

    อรรถกถาปุณโณวาทสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
    เล่ม ๓ ภาค ๒ หน้าที่ ๔๔๙

    พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปแม่น้ำชื่อ นิมมทา
    ได้เสด็จไปถึงฝั่งของแม่น้ำนั้น
    นิมมทานาคราช ถวายการต้อนรับ
    พระศาสดาทูลเสด็จเข้าสู่ภพนาค
    ได้กระทำสักการะพระรัตนตรัยแล้ว
    พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่นาคราชนั้นแล้ว
    ก็เสด็จออกจากภพนาค

    นาคราชนั้นกราบทูลขอว่า
    ได้โปรดประทานสิ่งที่พึงบำเรอแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงแสดงบทเจดีย์
    รอยพระบาท ไว้ที่ฝั่งแม่น้ำนิมมทา
    รอยพระบาทนั้นเมื่อคลื่นซัดมาก็ถูกปิด
    เมื่อคลื่นเลยไปแล้วก็ถูกเปิด
    กลายเป็นรอยพระบาทที่ถึงสักการะอย่างใหญ่

    เมื่อพระศาสดาทรงออกจากนั้นแล้วก็เสด็จถึงภูเขาสัจจพันธ์
    ตรัสกับพระสัจจพันธ์ว่ามหาชนถูกเธอทำให้จมลงในทางอบาย
    เธอต้องอยู่ในที่นี้แหละ แก้ลัทธิของพวกคนเหล่านี้เสีย
    แล้วให้พวกเขาดำรงอยู่ในทางพระนิพพาน

    แม้ท่านพระสัจจพันธ์นั้น ก็ทูลชื่อสิ่งที่จะต้องบำรุง
    พระศาสดาก็ทรงแสดงรอยพระบาทไว้
    บนหลังแผ่นหินทึบเหมือนประทับตราไว้บนก้อนดินเหนียวสด ๆ

    ฉะนั้นต่อจากนั้นก็เสด็จไปถึงพระเชตวัน

     

     

     

     

    ในรัตนสูตร ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ
    เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๒๒๕

    กล่าวถึงการต้อนรับของพญานาคว่า

    ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสาร ทรงทำเรือขนาน ๒ ลำ
    แล้วสร้างมณฑปประดับด้วยพวงดอกไม้
    ปูลาดพุทธอาสน์ทำด้วยรัตนะล้วน ณ มณฑปนั้น

    ที่นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์นั้น
    แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปก็ลงเรือนั่งกันตามสมควร
    พระราชาส่งเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าลงน้ำ
    ประมาณแต่พระศอกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
    ข้าพระองค์จักอยู่กันริมฝั่งแม่น้ำคงคานี้นี่แหละ
    จนกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จกลับมา
    แล้วก็เสด็จกลับ เทวดาเบื้องบนจนถึงอกนิษฐภพ
    ได้พากันทำการบูชานาคราชทั้งหลาย
    มีกัมพลนาคและอัสสตรนาคเป็นต้น

    ซึ่งอาศัยอยู่ใต้แม่น้ำคงคา
    ก็พากันทำการบูชาด้วยการบูชาใหญ่อย่างนี้
    พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปทางแม่น้ำคงคา
    สิ้นระยะทางไกลประมาณโยชน์หนึ่ง
    ก็เข้าเขตแดนของพวกเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลี

    ในอรรถกถาชาดก เอกนิบาต ขุททกนิกาย ชาดก
    เล่ม ๓ ภาค ๑ หน้าที่ ๕๘

    กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเคยเป็นพญานาคว่า

    ในกาลนั้นพระมหาสัตว์ได้เป็นนาคราชนามว่า อตุละ
    มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
    พระยานาคนั้นได้ยินว่า พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว
    มีหมู่ญาติห้อมล้อมแล้ว ออกจากนาคพิภพ
    ให้กระทำการบรรเลงถวายด้วยทิพยดนตรี
    แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวารแสนโกฎิ
    ถวายผ้าคู่เฉพาะองค์แล้วตั้งอยู่ในสรณะ

    พระศาสดาแม้นั้นก็ทรงพยากรณ์เขาว่า
    จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
    พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ชื่อเมขลา
    พระราชาทรงพระนามว่า สุทัตตะ
    เป็นพระราชบิดาพระราชมารดาทรงพระนามว่าสิริมา

    พระอัครสาวกสององค์คือ สรณะ และ ภาวิตัตตะ
    พระอุปราชนามว่าอุเทนะ
    พระอัครสาวิกาสององค์นามว่า
    โสณาและอุปโสณา และต้นนาคพฤกษ์เป็นไม้ตรัสรู้
    พระสรีระสูงได้ ๙๐ ศอก
    ประมาณพระชนมายุได้ ๙๐,๐๐๐ ปี ด้วยประการฉะนี้

     

     

     

     

    พระพุทธเจ้าเคยกำเนิดเป็นพญานาค

    พระพุทธเจ้าทรงแสดงอดีตนิทานว่า
    พระองค์เคยเกิดเป็นพญานาค

    ดังที่ปรากฏใน

    อรรถกถาจัมเปยยชาดก ขุททกนิกาย ชาดก
    เล่ม ๓ ภาค ๗ หน้า ๑๘๕

    พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
    ทรงปรารภอุโบสถกรรม ความว่า
    ดูก่อนอุบาสกบาสิกาทั้งหลาย
    การที่ท่านทั้งหลายอยู่รักษาอุโบสถกรรมเป็นความดี
    โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย ละนาคสมบัติแล้ว
    อยู่รักษาอุโบสถกรรมเหมือนกัน
    อุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้นทูลอาราธนา
    จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสดังต่อไปนี้

    ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่า
    พระเจ้าอังคติราช เสวยราชสมบัติอยู่ในอังครัฐราชธานี
    ในระหว่างแคว้นอังคะและมคธะต่อกันมีแม่น้ำชื่อจัมปานที

    ได้มีนาคพิภพอยู่ใต้แม่น้ำจัมปานทีนั้น
    พระยานาคราชชื่อว่า จัมเปยยะ
    ครองราชสมบัติในนาคพิภพนั้น
    (
    โดยปกติ พระราชาแห่งแคว้นทั้งสอง
    เป็นศัตรูกระทำยุทธชิงชัยแก่กันและกันเนือง ๆ
    ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ)

    บางครั้งพระเจ้ามคธราช ยึดแคว้นอังคะได้
    บางครั้งพระเจ้าอังคราชยึดแคว้นมคธได้.

    อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ามคธราช
    กระทำยุทธนาการกับพระเจ้าอังคราชทรงปราชัยต่อยุทธสงคราม
    เสด็จขึ้นม้าพระที่นั่งหลบหนีไป
    ถึงฝั่งจัมปานทีพวกทหารพระเจ้าอังคราช
    ติดตามไปทันเข้า
    จึงทรงพระดำริว่าเราโดดน้ำตายเสีย
    ดีกว่าตายในเงื้อมมือของข้าศึก
    ดังนี้แล้วจึงโจนลงสู่แม่น้ำพร้อมทั้งม้าพระที่นั่ง

    ครั้งนั้น จัมเปยยนาคราช เนรมิตมณฑปแก้วไว้ภายในห้วงน้ำ
    แวดล้อมด้วยบริวารเป็นอันมากดื่มมหาปานะอยู่
    ม้าพระที่นั่งกับพระเจ้ามคธราช จมน้ำดิ่งลงไป
    เฉพาะพระพักตร์แห่งพระยานาคราช
    พระยานาคราชเห็นพระราชาทรงเครื่องประดับตกแต่ง
    ก็บังเกิดความสิเนหา จึงลุกจากอาสนะทูลว่า

    ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์อย่าทรงหวาดกลัวเลย
    แล้วอัญเชิญให้พระราชาประทับนั่งบนบัลลังก์ของตน
    ทูลถามถึงเหตุที่ดำน้ำลงมา
    พระเจ้ามคธราชตรัสเล่าความตามเป็นจริง

     

     

     

     

     

    ลำดับนั้น จัมเปยยนาคราช
    ปลอบโยนพระเจ้ามคธราชให้เบาพระทัยว่า

    ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์อย่าทรงหวาดกลัวเลย
    ข้าพระพุทธเจ้าจักช่วยจัดการให้พระองค์เป็นเจ้าของทั้งสองรัฐ

    ดังนี้แล้วเสวยยศอันยิ่งใหญ่อยู่ ๗ วัน
    ในวันที่ ๘ จึงออกจากนาคพิภพพร้อมด้วยพระเจ้ามคธราช

    พระเจ้ามคธราชทรงจับพระเจ้าอังคราชได้
    ด้วยอานุภาพของพระยานาคราช
    แล้วตรัสสั่งให้สำเร็จโทษเสีย
    เสวยราชสมบัติในสองรัฐสีมามณฑล

    นับแต่นั้นมาความวิสาสะคุ้นเคยระหว่างพระเจ้ามคธราช
    กับพระยานาคราชก็ได้กระชับมั่นคงยิ่งขึ้น

    พระเจ้ามคธราชให้สร้างรัตนมณฑปขึ้นที่ฝั่งจัมปานที
    แล้วเสด็จออกกระทำพลีกรรมแก่พระยานาคราช
    ด้วยมหาบริจาคทุก ๆ ปี

    แม้พระยานาคราชก็ออกจากนาคพิภพมารับพลีกรรม
    พร้อมด้วยมหาบริวาร
    มหาชนพากันมาเฝ้าดูสมบัติของพระยานาคราช

    ในกาลนั้นพระบรมโพธิสัตว์เกิดในตระกูลเข็ญใจ
    ไปที่ฝั่งน้ำพร้อมด้วยราชบริษัท
    เห็นสมบัติของพระยานาคราชนั้นแล้ว
    ก็เกิดโลภเจตนาปรารถนาจะได้สมบัตินั้น
    จึงทำบุญให้ทานรักษาศีล

    พอ จัมเปยยนาคราช ทำกาลกิริยาไปได้ ๗ วัน
    ก็จุติไปบังเกิดเหนือสิริไสยาสน์
    ห้องอันมีสิริในปราสาทที่อยู่ของจัมเปยยนาคราชนั้น

    สรีระร่างกายของพระบรมโพธิสัตว์ได้ปรากฏใหญ่โต
    มีวรรณะขาวราวกะพวงดอกมะลิสด
    พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้น ก็เกิดวิปฏิสาร
    คิดไปว่า อิสริยยศในฉกามาวจรสวรรค์
    เป็นเสมือนข้าวเปลือกที่เขาโกยกองเก็บไว้ในฉาง
    ได้มีแก่เรา ด้วยผลแห่งกุศลที่เราทำไว้

    เราสิกลับมาถือปฏิสนธิในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนี้
    ประโยชน์อะไรที่เราจะมีชีวิตอยู่ดังนี้แล้วเกิดความคิดที่จะตาย

    ลำดับนั้นนางนาคมาณวิกา ชื่อว่า สุมนา
    เห็นพระมหาสัตว์นั้นแล้วดำริว่า
    ชะรอยจักเป็นสัตว์ผู้มีอานุภาพมากมาเกิดแน่
    ดังนี้แล้วจึงให้สัญญาแก่นางนาคมาณวิกาทั้งหลาย

    นางนาคมาณวิกาเหล่านั้นทั้งหมดต่างถือนานาดุริยสังคีต
    มากระทำการบำเรอขับกล่อมพระมหาสัตว์
    นาคพิภพที่สถิตของพระมหาสัตว์นั้น
    ได้ปรากฏเสมือนพิภพแห่งท้าวสักกเทวราช
    มรณจิต (คือจิตที่คิดอยากตาย) ของพระมหาสัตว์ก็ดับหายไป

    พระมหาสัตว์เจ้าละเสียซึ่งสรีระของงู
    ทรงประดับเครื่องสรรพาลังการประทับเหนือพระแท่นบรรทม
    นับจำเดิมแต่นั้นมา พระอิสริยยศก็ปรากฏแก่พระมหาสัตว์เจ้ามาก

     

     

     

     

    เมื่อนาคอยากเป็นมนุษย์จึงรักษาอุโบสถศีล

    เมื่อพระมหาสัตว์เจ้าเสวยนาคราชสมบัติอยู่ในนาคพิภพนั้น
    ในเวลาต่อมาก็เกิดวิปฏิสาร
    คิดว่าประโยชน์อะไรด้วยกำเนิดดิรัจฉานนี้แก่เรา
    เราจักอยู่รักษาอุโบสถกรรม
    พ้นจากอัตภาพนี้ไปสู่ดินแดนมนุษย์
    จักได้แทงตลอดสัจธรรม กระทำที่สุดแห่งทุกข์ดังนี้

    นับจำเดิมแต่นั้น ก็ทรงรักษาอุโบสถกรรม
    อยู่ในปราสาทนั้นทีเดียว

    พวกนางมาณวิกาตกแต่งกายงดงาม
    พากันไปยังสำนักของพระมหาสัตว์นั้น
    ศีลของพระมหาสัตว์ก็วิบัติทำลายอยู่เนือง ๆ

    จำเดิมแต่นั้นพระมหาสัตว์เจ้า
    จึงออกจากปราสาทไปสู่พระอุทยาน
    นางนาคมาณวิกาเหล่านั้นก็ติดตามไปแม้ในพระอุทยาน
    อุโบสถศีลของพระมหาสัตว์ก็แตกทำลายอยู่ร่ำไป

    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าทรงจินตนาการว่า
    ควรที่เราจะออกจากนาคพิภพนี้
    ไปยังมนุษยโลกอยู่รักษาอุโบสถ

    นับแต่นั้นมาเมื่อถึงวันอุโบสถ
    พระองค์ก็ออกจากนาคพิภพไปยังมนุษยโลก
    ทรงประกาศสละร่างกาย ในทานว่า

    ใครจะมีความต้องการอวัยวะของเรามีหนังเป็นต้นจงถือเอาเถิด
    ใครต้องการจะทำให้เราเล่นกีฬางูก็จงกระทำเถิด

    แล้วคู้ขดขนดกายนอนรักษาอุโบสถอยู่ที่ยอดจอมปลวก
    ใกล้มรรคาแถบปัจจันตชนบทแห่งหนึ่ง
    ชนทั้งหลายเดินผ่านไปมา
    ในหนทางใหญ่เห็นพระโพธิสัตว์เจ้า
    แล้วพากันบูชาด้วยเครื่องสักการะมีของหอมเป็นต้นแล้วหลีกไป

    ชาวปัจจันตชนบทไปพบแล้วคิดว่า
    คงจักเป็นนาคราชผู้มีมหิทธานุภาพ
    จึงจัดทำมณฑปขึ้นเบื้องบน
    ช่วยกันเกลี่ยทรายรอบบริเวณ
    แล้วบูชาด้วยสักการะมีของหอมเป็นต้นจำเดิมแต่นั้นมา
    มนุษย์ทั้งหลายก็เลื่อมใสในพระมหาสัตว์เจ้า
    ทำการบูชาปรารถนาบุตรบ้าง ปรารถนาธิดาบ้าง

    แม้พระมหาสัตว์เจ้าทรงรักษาอุโบสถกรรม
    ถึงวันจาตุททสีและปัณณรสี ดิถี ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ
    ก็มานอนอยู่เหนือจอมปลวก

    ต่อในวันปาฏิบทแรมค่ำหนึ่ง จึงกลับไปสู่นาคพิภพ
    เมื่อพระมหาสัตว์เจ้ารักษาอุโบสถอยู่อย่างนี้เวลาล่วงไปเนิ่นนาน

    อยู่มาวันหนึ่ง นางสุมนาอัครมเหสี ทูลถามพระมหาสัตว์ว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
    พระองค์เสด็จไปยังมนุษยโลกเข้าอยู่รักษาอุโบสถศีลนั้น
    ความจริง มนุษยโลกน่ารังเกียจ มีภัยรอบด้าน

    หากว่าภัยจะพึงบังเกิดแก่พระองค์
    เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกหม่อมฉันจะพึงรู้ได้ด้วยนิมิตอย่างไร

    ขอพระองค์จงตรัสบอกนิมิตอย่างนั้นแก่พวกหม่อมฉันด้วยเถิด
    พระมหาสัตว์จึงนำ นางสุมนาเทวี
    ไปยังขอบสระมงคลโบกขรณีแล้วตรัสว่า

     

     

     

     

    "ดูก่อนพระนางผู้เจริญ
    ถ้าหากใคร ๆ จักประหารทำให้เราลำบากไซร้
    น้ำในสระโบกขรณีนี้จักขุ่นมัว

    ถ้าพญาครุฑจับเอาไปน้ำจักเดือดพลุ่งขึ้นมา
    ถ้าหมองูจับเอาไปน้ำจักมีสีแดงเหมือนโลหิต"

    พระโพธิสัตว์ตรัสบอกนิมิต ๓ ประการ
    แก่นางสุมนาเทวีอย่างนี้แล้ว

    ทรงอธิษฐานจาตุททสีอุโบสถ
    เสด็จออกจากนาคพิภพไปมนุษยโลก
    นอนเหนือจอมปลวก
    ยังจอมปลวกให้งดงามด้วยรัศมีแห่งสรีรกาย

    แม้สรีรกายของพระมหาสัตว์นั้น
    ก็ปรากฏขาวสะอาดผุดผาดดังพวงเงิน
    ท่อนพระเศียรเบื้องบนคล้ายคลุมไว้ด้วยผ้ากัมพลแดง

    อนึ่งในชาดกนี้สรีรกายของพระโพธิสัตว์มีขนาดเท่าศีรษะคันไถ
    ในภูริทัตตชาดก มีขนาดเท่าลำขา
    ในสังขปาลชาดก มีขนาดเท่าเรือโกลนลำหนึ่ง

    ในกาลครั้งนั้น มีมาณพชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง
    ไปเมืองตักกศิลาเรียนอาลัมภายนมนต์
    ในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์
    เดินทางกลับบ้านของตนโดยผ่านมรรคานั้น
    เห็นพระมหาสัตว์เจ้าแล้วคิดว่า

    เราจักจับงูนี้บังคับให้เล่นกีฬาในคามนิคมราชธานีทั้งหลาย
    ยังทรัพย์ให้เกิดขึ้น จึงหยิบทิพโอสถ ร่ายทิพมนต์
    ไปยังสำนักของพระมหาสัตว์เจ้า

    จำเดิมแต่พระมหาสัตว์เจ้าสดับทิพมนต์
    แล้วเกิดอาการเหมือนซี่เหล็กร้อนยอนเข้าไปในพระกรรณทั้งสอง
    เบื้องพระเศียรปวดร้าวราวกะถูกเหล็กสว่านไช

    พระมหาสัตว์เจ้าทรงรำพึงว่านี่อย่างไรกันหนอ
    จึงยกพระเศียรขึ้นจากวงภายในขนดแลไป
    ได้เห็นหมองูแล้วดำริว่าพิษของเรามากมาย

    ถ้าเราโกรธแล้วพ่นลมจมูกออกไป
    สรีระของหมองูนี้จักย่อยแหลกไปเหมือนกองเถ้า
    แต่เมื่อทำเช่นนั้นศีลของเราก็จักด่างพร้อย
    เราจักไม่แลดูหมองูนั้น
    ท้าวเธอจึงหลับพระเนตรทั้งสอง
    ทอดพระเศียรไว้ภายในขนด

    พราหมณ์หมองูเคี้ยวโอสถแล้วร่ายมนต์พ่นน้ำลาย
    ลงที่สรีรกายของพระมหาสัตว์ด้วยอานุภาพแห่งโอสถและมนต์
    เรือนร่างของพระมหาสัตว์ในที่ซึ่งถูกน้ำลายรดแล้ว ๆ
    ปรากฏเป็นเสมือนพองบวมขึ้น

    ครั้งนั้นพราหมณ์หมองู
    จึงฉุดหางพระมหาสัตว์ลากลงมาให้นอนเหยียดยาว
    บีบตัวด้วยไม้กีบแพะทำให้ทุพพลภาพ
    จับศีรษะให้มั่นแล้วบีบเค้น

    พระมหาสัตว์จึงอ้าปากออก
    ทีนั้นพราหมณ์หมองู
    จึงพ่นน้ำลายเข้าไปในปากของพระมหาสัตว์
    แล้วจัดการพ่นโอสถและมนต์
    ทำลายพระทนต์จนหลุดถอน
    ปากของมหาสัตว์เต็มไปด้วยโลหิต

    พระมหาสัตว์สู้อดกลั้นทุกขเวทนาเห็นปานนี้
    เพราะกลัวศีลของตัวจะแตกทำลาย
    ทรงหลับพระเนตรนิ่งมิได้ทำการเหลียวมองดู

     

     

     

     

    พราหมณ์หมองูคิดว่าเราจักทํานาคราชให้ทุพพลภาพ
    จึงขึ้นเหยียบย่ำร่างกายของพระมหาสัตว์ตั้งแต่หางขึ้นไป
    คล้ายกับจะทำให้กระดูกแหลกละเอียดไป

    แล้วม้วนพับอย่างผืนผ้า
    ขยี้กระดูกให้ขยายเช่นอย่างกลายเส้นด้ายให้กระจาย
    จับหางทบทุบเช่นอย่างทุบผ้า
    สกลสรีรกายของพระมหาสัตว์แปดเปื้อนไปด้วยโลหิต

    พระมหาสัตว์นั้นสู้อดกลั้นมหาทุกขเวทนาไว้
    ครั้นพราหมณ์หมองูรู้ว่าพระมหาสัตว์อ่อนกำลังลงแล้ว
    จึงเอาเถาวัลย์มาถักทำเป็นกระโปรง
    ใส่พระมหาสัตว์ลงไปในกระโปรงนั้น
    แล้วนำไปสู่ปัจจันตคามให้เล่นท่ามกลางมหาชน

    พราหมณ์หมองูปรารถนาจะให้แสดงท่วงทีอย่างใด ๆ
    ในประเภทสีมีสีเขียวเป็นต้น
    และสัณฐานทรวดทรงกลมหรือสี่เหลี่ยมเป็นต้น
    หรือขนาดเล็กใหญ่เป็นต้น
    พระมหาสัตว์เจ้าก็กระทำท่วงทีนั้น ๆ ทุกอย่าง

    ฟ้อนรำทำพังพานได้ตั้งร้อยอย่างพันอย่าง
    มหาชนดูแล้วชอบใจ ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์เป็นอันมาก
    เพียงวันเดียวเท่านั้นได้ทรัพย์ตั้งพัน
    และเครื่องบริขารราคานับเป็นพัน

    แต่ชั้นแรกพราหมณ์หมองูคิดไว้ว่า
    เราได้ทรัพย์สักพันหนึ่งแล้วก็จักปล่อยไป

    แต่ครั้นได้ทรัพย์จำนวนเท่านั้นแล้วคิดเสียว่า
    ในปัจจันตคามแห่งเดียวเรายังได้ทรัพย์ถึงขนาดนี้
    ในสำนักพระราชาและมหาอำมาตย์
    คงจักได้ทรัพย์มากมาย

    จึงซื้อเกวียนเล่มหนึ่งกับยานสำหรับนั่งสบายเล่มหนึ่ง
    บรรทุกของลงในเกวียนแล้วนั่งบนยานน้อย
    พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก
    บังคับพระมหาสัตว์ให้เล่นในบ้าน
    และนิคมเป็นต้นโดยลำดับไป

    แล้วคิดว่าเราจักให้นาคราชเล่นถวาย
    ในสำนักของพระเจ้าอุคคเสน
    แล้วก็จักปล่อยดังนี้ แล้วก็เดินทางต่อไป

    พราหมณ์หมองูฆ่ากบนำมาให้นาคราชกินเป็นอาหาร

    นาคราชรำพึงว่าพราหมณ์หมองูนี้ฆ่ากบอยู่บ่อย ๆ
    เพราะอาศัยเราเป็นเหตุ
    เราจักไม่บริโภคกบนั้น แล้วไม่ยอมบริโภค

    เมื่อพราหมณ์หมอดูรู้ดังนั้น
    ได้ให้ข้าวตอกเคล้าน้ำผึ้งแก่พระมหาสัตว์
    พระมหาสัตว์คิดว่าถ้าหากเราจักถือเอาอาหารนี้ไซร้
    เราคงจักตายภายในกระโปรงเป็นมั่นคง
    จึงมิได้บริโภคอาหารแม้เหล่านั้น

    พราหมณ์หมองูไปถึงพระนครพาราณสีแล้ว
    ให้พระมหาสัตว์เล่นให้คนดู
    ที่ใกล้ประตูเมืองได้ทรัพย์สินอีกเป็นจำนวนมาก

    แม้พระราชาก็ตรัสสั่งให้พราหมณ์หมองูเข้าเฝ้า
    แล้วตรัสว่าเจ้าจงให้งูเล่นให้เราดูบ้าง

    เขาทูลสนองพระราชโองการว่าได้พะย่ะค่ะ
    ข้าพระพุทธเจ้าจักให้เล่นถวายพระองค์
    ในวันปัณณรสี พรุ่งนี้

    พระราชาตรัสสั่งให้พนักงานเภรีตีกลองประกาศว่า

    พรุ่งนี้นาคราชจักฟ้อนรำที่หน้าชานชาลาหลวง
    มหาชนจงมาประชุมกันดูเถิด

    แล้วในวันรุ่งขึ้น
    ตรัสสั่งให้ประดับตกแต่งชานชาลาหลวง
    และตรัสสั่งให้พราหมณ์หมองูมาเฝ้า
    พราหมณ์หมองู นำพระมหาสัตว์มาด้วยกระโปรงแก้ว
    ตั้งกระโปรงไว้ที่พื้นลาดอันวิจิตรนั่งคอยอยู่

    ฝ่ายพระราชาเสด็จลงจากปราสาทแวดล้อมด้วยหมู่มหาชน
    ประทับนั่งเหนือพระราชอาสน์

    พราหมณ์หมองูนำพระมหาสัตว์ออกมาแล้วให้ฟ้อนรำถวาย
    มหาชนพากันดีใจไม่อาจดำรงตนอยู่ได้ตามปกติ
    พากันปรบมือ โบกธงโบกผ้า
    แสดงความรื่นเริงนับด้วยหมื่นแสน

    ฝนรัตนะเจ็ดประการก็ตกลงมาตรงเบื้องบนพระโพธิสัตว์
    เมื่อพระมหาสัตว์ถูกจับมานั้นครบหนึ่งเดือนเต็มบริบูรณ์
    ตลอดเวลาเหล่านี้พระมหาสัตว์สู้ทนมิได้บริโภคอาหารเลย

     

     

     

     

    นาคเทวีตามหาพระสวามี

    ฝ่าย นางสุมนา เทวีระลึกถึงว่า
    สามีที่รักของเราเสด็จไปนานนักหนา
    จนป่านนี้ยังไม่เสด็จมาที่นี่เลย
    ครบหนึ่งเดือนพอดี

    จักมีเหตุเภทภัยอะไรหนอ
    ดังนี้แล้วจึงไปตรวจดูสระโบกขรณี
    เห็นมีน้ำสีแดงดังโลหิตก็ทราบว่า
    ชะรอยสามีของตนจักถูกหมองูจับเอาไป
    จึงออกจากนาคพิภพไปตรวจดูใกล้จอมปลวก
    เห็นร่องรอยที่พระมหาสัตว์ถูกหมองูจับ และทำให้ลำบาก

    แล้วทรงกันแสงร่ำไห้คร่ำครวญ
    ดำเนินไปยังปัจจันตคามสอบถามดูสดับข่าวความเป็นไปนั้น
    แล้วติดตามไปจนถึงเมืองพาราณสี
    ยืนกันแสงอยู่ที่กลางอากาศ
    ในท่ามกลางบริษัท ณ ประตูพระราชวัง

    พระมหาสัตว์กำลังฟ้อนรำถวายพระราชา
    เหลือบแลดูอากาศเห็นนางสุมนาเทวี
    แล้วละอายพระทัยเลื้อยเข้าไปนอนขดในกระโปรงเสีย
    ในเวลาที่พระมหาสัตว์เลื้อยเข้าไปสู่กระโปรงแล้ว

    พระราชาทรงพระดำริว่า นี่เหตุอะไรกันเล่าหนอ
    จึงทอดพระเนตรแลดูทางโน้นทางนี้
    เห็นนางสุมนาเทวียืนอยู่บนอากาศจึงตรัสว่า

    ท่านเป็นใคร งามผ่องใสดุจสายฟ้า
    และอุปมาเหมือนดาวประจำรุ่ง
    เราไม่รู้จักท่านว่าเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์หรือเป็นหญิงมนุษย์

    นางสุมนา ทูลว่า

    ข้าแต่พระมหาราชา
    หม่อมฉันหาใช่เทพธิดาหรือคนธรรพ์หรือหญิงมนุษย์ไม่
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
    หม่อมฉันเป็นนางนาคกัญญาอาศัยเหตุอย่างหนึ่ง
    จึงได้มาในพระนครนี้

    ดูก่อนนางนาคกัญญา
    ท่านมีอาการเหมือนคนมีจิตฟั่นเฟือน
    มีอินทรีย์อันเศร้าหมองดวงเนตรของท่าน
    ไหลนองไปด้วยหยาดน้ำตา

    อะไรของท่านหาย
    หรือว่าท่านปรารถนาอะไรจึงได้มาในเมืองนี้
    เชิญท่านบอกมาเถิด

    ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน
    มหาชนชาวโลกเรียกร้องสัตว์ใดว่าอุรคชาติ
    ผู้มีเดชอันสูงในมนุษยโลก เขาเรียกสัตว์นั้นว่านาค
    บุรุษคนนี้จับนาคนั้นมา เพื่อต้องการเลี้ยงชีพ
    นาคนั้นแหละเป็นสามีของหม่อมฉัน
    ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณา
    โปรดปล่อยนาคนั้นเสียจากที่คุมขังเถิดเพคะ

    พระราชาสงสัยจึงตรัสถามว่า

    ดูก่อนนางนาคกัญญานาคราชนี้ประกอบด้วยกำลังอันแรงกล้า
    ไฉนจึงมาถึงเงื้อมมือของชายวณิพกได้เล่า
    เราจะใคร่รู้ถึงการที่นาคราชถูกกระทำจนถูกจับมาได้
    ขอท่านจงบอกความข้อนั้นแก่เราเถิด

    นางสุมนา ทูลตอบว่า

    นาคราชนั้นประกอบด้วยกำลังอันแรงกล้า
    พึงทำแม้นครให้เป็นภัสมธุลีไปได้
    แต่เพราะนาคราชนั้น
    เคารพนบนอบธรรม จึงได้บากบั่นบำเพ็ญตบะ

    พระราชาตรัสถามต่อไปอีกว่า

    ไฉนนาคราชจึงยอมให้บุรุษนี้จับมาได้เล่า

     

     

     

     

    นางสุมนาเทวี เมื่อจะกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ
    จึงกล่าวคาถาความว่า

    ข้าแต่องค์ราชันย์
    นาคราชนี้มีปกติรักษาจาตุททสีอุโบสถและปัณณรสีอุโบสถ
    นอนอยู่ใกล้ทางสี่แพร่ง
    บุรุษหมองูจับนาคราชนั้นมาด้วยต้องการหาเลี้ยงชีพ
    นาคราชนี้เป็นสามีของหม่อมฉัน
    ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณา
    โปรดปล่อยนาคราชนั้นจากที่คุมขังเถิด

    ครั้น นางนาคกัญญาสุมนาเทวี ทูลอย่างนี้แล้ว
    เมื่อจะทูลอ้อนวอนพระราชาซ้ำอีก

    ได้กล่าวคาถาสองคาถาว่า

    สนมนารีถึงหมื่นหกพันนาง
    ล้วนสวมใส่กุณฑล แก้วมณี
    บันดาลห้วงวารีทำเป็นห้องไสยาสน์

    แม้สนมนารีเหล่านั้น
    ก็ยึดถือนาคราชนั้นเป็นที่พึ่ง
    ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณา
    โปรดปล่อยนาคราชนั้นโดยธรรม
    ปราศจากกรรมอันสาหัส ด้วยบ้านส่วยร้อยบ้าน
    ทองร้อยแท่ง และโคร้อยตัว

    ขอนาคราชผู้แสวงบุญ
    จงเหยียดกายได้ตรงเที่ยวไป
    จงพ้นจากที่คุมขังเถิด

    พระราชาได้สดับคาถาของนางนาคกัญญา
    จึงให้ปล่อยปล่อยนาคราชไป

    นาคราชออกมาแล้วเลื้อยเข้าไประหว่างกองดอกไม้
    ละอัตภาพนั้นเสียแล้วกลายเพศเป็นมาณพน้อย
    ตบแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับอันงดงาม
    คล้ายกับชำแรกดินออกมายืนอยู่ฉะนั้น

    นางสุมนาเทวี ลอยลงมาจากอากาศ
    ยืนเคียงข้างพระภัสดาของตน
    นาคราชได้ยืนประคองอัญชลีนอบน้อมพระราชาอยู่

     

     

     

     

    พญานาคเชิญพระเจ้ากาสิกราชชมเมือง

    จัมเปยยนาคราชเมื่อหลุดพ้นจากที่คุมขังแล้ว
    จึงกราบทูลพระราชาว่า

    "
    ข้าแต่พระเจ้ากาสิกราช
    ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์
    ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงผดุงกาสิกรัฐให้รุ่งเรือง
    ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์
    ข้าพระพุทธเจ้าขอประคองอัญชลี แด่พระองค์
    ขอเชิญเสด็จทอดพระเนตรนิเวศน์
    ของข้าพระพุทธเจ้าเถิดพระเจ้าข้า"
    เราก็อยากจะไปดูนิเวศน์ของท่าน"


    พระราชาตรัสตอบว่า

    "
    ดูก่อนนาคราช
    แท้จริงคนทั้งหลายเขากล่าวถึงเหตุที่มนุษย์จะพึงคุ้นเคย
    กับอมนุษย์ว่าพึงคุ้นเคยกันได้ยาก
    ถ้าท่านขอร้องเราถึงเรื่องนั้น"

    พระมหาสัตว์เมื่อจะทำสัตย์สาบาน
    เพื่อให้พระราชาทรงเชื่อถือ ได้ตรัสพระคาถาว่า

    ข้าแต่พระราชา แม้ถึงว่าลมจะพึงพัดภูเขาไปได้ก็ดี
    พระจันทร์และพระอาทิตย์ จะพึงเผาผลาญแผ่นดินก็ดี
    แม่น้ำทุกสายพึงไหลทวนกระแสก็ดี
    ถึงกระนั้นข้าพระพุทธเจ้าก็จะไม่กล่าวคำเท็จเลย

    ข้าแต่พระราชา ท้องฟ้าจะทำลายไป
    ทะเลจะเหือดแห้งไป
    มหาปฐพีมีนามว่าภูตธราและพสุนธราจะพึงม้วนได้
    เมรุบรรพตอันหนาแน่นด้วยศิลาจะพึงถอนไปทั้งราก
    ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไม่กล่าวคำเท็จเลย

    เมื่อพระมหาสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว
    พระราชาก็มิได้ทรงเชื่อ จึงตรัสพระคาถาอีกว่า

    เธอเป็นผู้มีพิษร้ายแรงยิ่ง มีเดชมาก ทั้งโกรธง่าย
    เธอหลุดพ้นจากที่คุมขังไปได้ ก็เพราะเหตุที่เราช่วยเหลือ
    เธอควรจะรู้บุญคุณที่เราทำไว้แก่เธอ"

    พระมหาสัตว์เมื่อจะทำสัตย์สาบาน
    เพื่อให้พระราชาทรงเชื่อต่อไป จึงกล่าวคาถาความว่า

    "
    ข้าพระพุทธเจ้าถูกคุมขังอยู่ในกระโปรงเกือบจะถึงความตาย
    จักไม่รู้จักอุปการคุณที่พระองค์ทรงกระทำแล้วเช่นนั้น
    ก็ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าจงหมกไหม้อยู่ในนรกอันแสนร้ายกาจ
    อย่าได้รับความสำราญกายสักหน่อยหนึ่งเลย"

    พระราชาทรงเชื่อถ้อยคำของพระมหาสัตว์
    เมื่อจะทรงชมเชยจึงตรัสพระคาถาว่า

    คำปฏิญาณของเธอนั้น จงเป็นคำสัตย์จริง
    เธออย่าได้มีความโกรธ อย่าผูกโกรธไว้
    ขอสุบรรณทั้งหลายจงละเว้นนาคสกุลของท่านทั้งมวล
    เหมือนผู้เว้นไฟในฤดูร้อนฉะนั้น"

    แม้พระมหาสัตว์เจ้า
    เมื่อจะชมเชยพระราชาจึงกล่าวคาถาอีกว่า

    "
    ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน
    พระองค์ทรงเอ็นดูนาคสกุล
    เหมือนมารดาผู้เอ็นดูบุตรคนเดียวผู้เป็นสุดที่รักฉะนั้น
    ข้าพระพุทธเจ้ากับ นาคสกุลจะขอกระทำเวยยาวฏิกกรรม
    อย่างโอฬารแด่พระองค์"

      

     

     

     

    พระราชาเสด็จนาคพิภพ

    พระราชาได้เสด็จไปยังภพพญานาคด้วยขบวนเสด็จใหญ่
    พนักงานเภรี ตะโพน บัณเฑาะว์ และแตรสังข์
    ของพระเจ้าอุคคเสนราช มาพร้อมหน้ากัน
    พระราชาทรงแวดล้อมด้วยสนมนารี
    เสด็จไปในท่ามกลางหมู่สนมนารีงามสง่ายิ่งนัก

    ในกาลเมื่อพระเจ้าพาราณสี
    เสด็จออกจากพระนครไป
    พระมหาสัตว์เจ้าทรงบันดาลนาคพิภพ
    ให้ปรากฏมีกำแพงแก้ว ๗ ประการ
    และประตูป้อมคู หอรบ

    แล้วนิรมิตบรรดาที่จะเสด็จไปยังนาคพิภพ
    ให้ประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับงดงาม
    ด้วยอานุภาพของตน

    พระราชาพร้อมด้วยราชบริพาร
    เสด็จเข้าไปยังนาคพิภพโดยมรรคานั้น
    ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิภาคและปราสาทราชวัง
    น่ารื่นเริง บันเทิงพระทัย

    พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น

    จึงตรัสว่าพระเจ้ากรุงกาสีวัฒนราช
    ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิภาคอันงาม
    วิจิตรลาดแล้วด้วยทรายทอง
    ทั้งสุวรรณปราสาทก็ปูลาดไปด้วยแผ่นกระดานแก้วไพฑูรย์

    พระองค์เสด็จเข้าไปสู่นิเวศน์
    ของจัมเปยยนาคราชมีรัศมี
    อภาสดังแสงอาทิตย์แรกอุทัย
    รุ่งเรืองไปด้วยรัศมีประหนึ่งสายฟ้าในกลุ่มเมฆ

    พระเจ้ากาสิกราชทรงทอดพระเนตร
    จนทั่วนิเวศน์ของจัมเปยยนาคราช
    อันดารดาษไปด้วยพฤกษชาตินานาชนิด
    หอมฟุ้งขจรไปด้วยทิพยสุคนธ์อบอวลล้วนวิเศษ

    เมื่อพระเจ้ากาสิกราช
    เสด็จเข้าไปในนิเวศน์ของท้าวจัมเปยยนาคราช
    เหล่าทิพยดนตรี ก็ประโคมขับบรรเลง
    ทั้งนางนาคกัญญาทั้งหลายก็ฟ้อนรำ ขับร้อง

    พระเจ้ากาสิกราชเสด็จขึ้นนิเวศน์
    ซึ่งมีหมู่นางนาคกัญญาตามเสด็จ
    ทรงพอพระทัย ประทับนั่ง ณ พระสุวรรณแท่นทอง
    อันมีพนักไล้ทาด้วยแก่นจันทน์ทิพย์




    [
    ภาพ "นาคสะดุ้ง ๕ เศียร" หรือบันไดนาค ณ วัดพระเจดีย์ชัยมงคล จ.ร้อยเอ็ด]

     

     

     

     

    มนุษยโลกประเสริฐกว่านาคพิภพ

    พระราชาได้เห็นบ้านเมืองอันสวยงามของพญานาค
    จึงสอบถามและได้คำตอบจาก จัมเปยยนาคราช ว่า

    "
    ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน
    ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญตบะธรรมเพราะเหตุแห่งบุตร ทรัพย์
    หรือแม้เพราะเหตุแห่งอายุก็หาไม่
    แต่เพราะข้าพระพุทธเจ้า ปรารถนากำเนิดมนุษย์
    ฉะนั้น จึงได้บากบั่นมุ่งมั่นบำเพ็ญสมณธรรม"

    เมื่อพระมหาสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว
    พระราชาเมื่อจะทรงทำการชมเชย จึงตรัสพระคาถาว่า

    ท่านมีดวงเนตรแดง มีรัศมีส่องแสงสว่าง ประดับตกแต่งแล้ว
    ปลงเกศาและมัสสุแล้ว ประพรมด้วยจุรณจันทน์แดง
    ฉายแสงไปทั่วทิศ ดังคนธรรพราชฉะนั้น
    ท่านเป็นผู้ประกอบด้วยเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
    เพรียบพร้อมไปด้วยสรรพกามารมณ์

    ดูก่อนท่านนาคราช เราขอถามเนื้อความนี้กะท่าน

    มนุษยโลกประเสริฐกว่านาคพิภพด้วยเหตุไร

    ลำดับนั้น พระยานาคราช
    เมื่อจะกราบทูลให้พระราชาทรงทราบจึงกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน
    เว้นมนุษยโลกเสียแล้วความบริสุทธิ์
    หรือความสำรวมย่อมไม่มีเลย

    ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญตบะธรรม
    ด้วยตั้งใจว่าเราได้กำเนิดมนุษย์
    แล้วจักทำที่สุดแห่งชาติและมรณะได้

     

     

     

     

     

    พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้วตรัสพระคาถาความว่า

    "
    ชนเหล่าใดมีปัญญาเป็นพหูสูต
    ตรึกตรองเหตุการณ์ถี่ถ้วนมาก
    ชนเหล่านั้นควรคบหาแท้ทีเดียว

    ดูก่อนพระยานาคราช
    เราได้เห็นนางนาคกัญญาทั้งหลายของท่านและตัวท่านแล้ว
    จักทำบุญให้มาก"

    พญานาคราชกราบทูลพระราชาว่า

    "
    ชนเหล่าใดมีปัญญาเป็นพหูสูต
    ตรึกตรองเหตุการณ์ถี่ถ้วนมาก
    ชนเหล่านั้นควรคบหาแท้ทีเดียว

    ข้าแต่พระมหาราชาพระองค์
    ได้ทอดพระเนตรเห็นนางนาคกัญญา
    และตัวข้าพระพุทธเจ้าแล้ว
    ขอจงบำเพ็ญบุญให้มากเถิด"

    ครั้นพระมหาสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว
    พระเจ้าอุคคเสนะ
    ทรงมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปยังมนุษยโลก

    จึงตรัสอำลาว่าดูก่อนท่านนาคราชเรามาอยู่ก็เป็นเวลานาน
    จำจักต้องลากลับไปยังมนุษยโลก

     

     

     

     

    พระมหาสัตว์เจ้าจึงทูลท้าวเธอว่า
    ขอเดชะพระมหาราชเจ้าถ้าเช่นนั้น
    พระองค์โปรดเลือกถือเอาทรัพย์สมบัติไปตามพระประสงค์เถิด

    เมื่อจะทรงแสดงทรัพย์สมบัติ
    จึงกราบทูลว่ากองเงินและกองทองของข้าพระพุทธเจ้านี้มากมาย
    สูงประมาณเท่าต้นตาล

    พระองค์จงตรัสสั่งให้พวกราชบุรุษนี้ไปจากนาคพิภพนี้
    แล้วจงตรัสสั่งให้สร้างพระราชวังด้วยทองคำ
    ให้สร้างกำแพงด้วยเงินเถิด
    นี้กองแก้วมุกดาอันเจือปนด้วยแก้วไพฑูรย์ ห้าพันเล่มเกวียน
    พระองค์จงตรัสสั่งให้ราชบุรุษขนไปจากนาคพิภพนี้
    แล้วให้ลาดลง ณ ภูมิภาคภายในพระราชฐาน

    ภูมิภาคภายในพระราชฐาน
    ก็จักสะอาดปราศจากเปลือกตมและละอองธุลี

    ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นราชาอันประเสริฐผู้ทรงพระปรีชาอันล้ำเลิศ
    ขอพระองค์โปรดเสวยราชสมบัติครอบครองพระนครพาราณสี
    อันมั่งคั่งสมบูรณ์ สง่างามล้ำเลิศ
    ดุจทิพยวิมานเห็นปานฉะนี้เถิด พระเจ้าข้า

    พระราชาทรงสดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์แล้วก็ทรงรับไว้
    พระมหาสัตว์จึงให้พนักงานเภรี เที่ยวตีกลองประกาศว่า

    ราชบุรุษทั้งปวงจงพากันขนเอาทรัพย์สมบัติ
    มีเงินทองเป็นต้นไปตามปรารถนาเถิด
    แล้วเอาเกวียนหลายร้อยเล่มบรรทุกทรัพย์สมบัติส่งถวายพระราชา

    พระราชาเสด็จออกจากนาคพิภพ
    กลับไปสู่พระนครพาราณสี ด้วยยศบริวารเป็นอันมาก
    เล่ากันว่านับแต่นั้นมา พื้นชมพูทวีปจึงเกิดมีเงินมีทองขึ้น

    พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงตรัสว่า

    โปราณกบัณฑิตทั้งหลายละนาคสมบัติแล้ว
    อยู่รักษาอุโบสถศีลด้วยอาการอย่างนี้

    จากนั้นทรงประชุมชาดกว่า

    หมองูในครั้งนั้นได้มาเป็นพระเทวทัตในบัดนี้
    นางนาคกัญญาสุมนาเทวี ได้มาเป็นราหุลมารดา
    พระเจ้าอุคคเสนราชได้มาเป็นพระสารีบุตร
    ส่วนจัมเปยยนาคราชได้มาเป็นเราผู้ตถาคตฉะนี้แล

     

     

     

     

    พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
    เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ ๗๖

    นอกจาก จัมเปยยนาคราช แล้ว
    ยังมีการบำเพ็ญบารมีของพญานาคอีกหลายเรื่อง
    คือในการบำเพ็ญศีลบารมี
    เมื่อครั้งเป็นสีลวนาคราช
    ในกาลที่เป็น ภูริทัตตนาคราช
    ในกาลที่เป็น ฉัททันตนาคราช

     

     

     

     

    ในคัมภีร์รุ่นหลังก็กล่าวถึงพญานาคมากมาย
    เช่นใน ตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า

    เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมาจากทางเหนือ
    พญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่
    และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม

    พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมือง ๔ ด้าน
    เป็น เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ

    ต่อมาเมื่อยกทัพปราบเมืองอื่นได้ และรวมดินแดนเข้าด้วยกัน
    จึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนาคราช

    ที่เห็นได้ชัดก็คือ ที่ ปราสาทพนมรุ้ง
    จะมีคูเมืองที่เป็นสระน้ำ ๔ ด้าน
    รอบปราสาทและมี พญานาค อยู่ด้วย

     

     

     

     

    พญานาค ๕ เศียร ณ ปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์

     

    ตามความเชื่อของคนสมัยโบราณ
    นาคจะมีความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากน้ำ

    เช่น การสร้างศาสนสถานไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ
    นาคที่ราวบันได จึงมี พญานาค
    ซึ่งตามความเชื่อ การสร้างต้องสร้างกลางน้ำ
    เพื่อให้ดูเหมือนว่าศาสนสถานนั้นลอยอยู่เหนือน้ำ
    แต่ก็ไม่ต้องสร้างจริง ๆ เพียงแต่มีสัญลักษณ์ พญานาค ไว้
    เช่นที่ ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

    แม้เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ก็จะมีอยู่ในราศีเกิด
    เช่นของคนนักษัตรปีมะโรง ที่มีความหมายถึง
    ความยิ่งใหญ่และพลังอำนาจ ที่มี พญานาค เป็นสัญลักษณ์

    คนไทยเรามักจะเห็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับนาคได้เสมอ
    ในงาน จิตรกรรม ประติมากรรม และหัตถกรรม
    นาคเป็นส่วนประกอบที่สำคัญทางสถาปัตยกรรม
    โดยเฉพาะตามอาคารวัดต่าง ๆ
    หลังคาอาคารที่สร้างขึ้นสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์
    และสถาบันศาสนสถาน ตามคตินิยมที่ว่า

    นาคยิ่งใหญ่คู่ควรกับสถาบันอันสูงส่ง
    เช่น นาคสะดุ้ง ที่ทอดลำตัวยาวตามบันได
    นาคลำยอง ที่ทำเป็นป้านลมหลังคาโบสถ์
    ที่ต่อเชื่อมกับ นาคสะดุ้ง นาคเบือน นาคจำลอง
    และ นาคทันต์คันทวยรูปพญานาค

    นาคสะดุ้ง และนาคลำยอง ของหอพระธรรม หรือหอไตรปิฎก ศิลปะแบบล้านนา
    ใน วัดบ้านเด่นสะหลีศรีเมืองแกน จ.เชียงใหม่

     

     

     

    พญานาคกับพระพุทธศาสนาจึงมีความเกี่ยวพันกันตลอด
    แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังเคยเกิดเป็นพญานาค
    เพื่อบำเพ็ญบารมีในการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

    ในวันออกพรรษาคงมิใช่แต่พญานาคเท่านั้น
    ที่ถวายสักการะบุชาพระพุทธเจ้า
    เหล่าเทพยดาอื่นๆก็ทำการบูชาด้วย

    โลกนี้มนุษย์จึงมิได้อยู่เพียงลำพังยังมีหมู่สัตว์อื่นๆอีกมาก
    แต่เรามองไม่เห็นเพราะยังไม่มีญาณแก่กล้า

    หากเชื่อตามพระไตรปิฎกพญานาคมีอยู่จริง
    และมีปรากฎหลายแห่ง

    แต่พญานาคจะมาทำบั้งไฟถวายพระพุทธเจ้า
    ในวันออกพรรษาจริงหรือไม่
    ยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบอยู่เหมือนเดิม

    มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งบอกไว้น่าคิดว่า

    จงเชื่อในสิ่งที่ทำ และทำในสิ่งที่เชื่อ
    ถ้าหากความเชื่อนั้นไม่เป็นการเบียดเบียนตนและผู้อื่น"

     

     

     

     

    อย่างไรก็ตามในวันออกพรรษาปีนี้
    ยังคงมีดวงไฟสีเขียวเรืองพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขงให้เห็นเหมือนทุกปี

    หน้าที่ของวิทยาศาสตร์ก็ต้องทำการพิสูจน์หาความจริงกันต่อไป
    แต่ศาสนาเมื่อปลูกฝังความเชื่อและปฏิบัติตามหลักศีลธรรม
    คือการบูชาบุคคลที่ควรบูชาถือว่าเป็นมงคลอย่างหนึ่ง

    ดังนั้นการที่ชาวบ้านเชื่อว่าพญานาค
    จะจุดบั้งไฟถวายสักการะแด่พระพุทธเจ้า
    ย่อมไม่ใช่ความเชื่อที่ไร้เหตุผลเสียทีเดียว

    เพราะพญานาคมีปรากฏในหลักฐานสำคัญของพระพุทธศาสนา
    และมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าหลายแห่ง
    แม้แต่พระพุทธเจ้าเองเมื่อยังบำเพ็ญบารมี
    ก็ยังเคยถือกำเนิดเป็นพญานาคด้วย


    ที่มา
    -
    พญานาคกับพระพุทธศาสนารวบรวมและเรียบเรียง โดย พระมหามหาบุญไทย ปุญญมโน : วันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๙
    -
    http://www.mbu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=๒๑๑&Itemid=๑๔๘&limit=&limitstart=
    -
    http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=18418

     

     

     

     

     

     

     

     



    คนเราบางคนมักมัวแต่อัศจรรย์ใจในอิทธิฤทธิ์ อิทธ์เดชของพญานาค
    ต่างพากันบูชากราบไหว้สัตว์นี้อย่างไม่ลืมหูลืมตา

    ขณะที่พญานาคยอมทำทุกอย่างเพื่อจะได้ศึกษาและปฎิบัติตามพุทธรรม
    แต่ไม่อาจกระทำได้เพราะเป็นเพียงสัตว์ ซึ่งมีแค่สัญชาติญาณ
    พุทธรรมจึงมีไว้สำหรับมนุษย์เท่านั้น





     

     

     

     

     

     

     

    เมื่อพระโมคคัลลานะต่อสู้กับพญานาค

    --------------------------------------------------------------------------------

    นนฺโทปนนฺทภุชคํ วิพุธํ มหิทฺธึ
    ปุตฺเตน เถรภุชเคน ทมาปยนฺโต
    อิทฺธูปเทสวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
    ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจอมมุนี ทรงโปรดให้พระโมคคัลลานะเถระพุทธชิโนรส ไปปราบนันโทปนันทนาคราช ผู้มีความรู้ผิด มีฤทธิ์มากด้วยวิธีให้แสดงฤทธิ์ทรมาน ให้สิ้นฤทธิ์ ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงเกิดมีแก่ท่าน

     

     

     

     

    ท่านเป็นใคร งามผ่องใสดุจสายฟ้า
    และอุปมาเหมือนดาวประจำรุ่ง
    เราไม่รู้จักท่านว่าเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์หรือเป็นหญิงมนุษย์

     

    งานที่อ้างถึง

    http://topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2009/02/Y7492871/Y7492871.html

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×