คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : + Adam Smith
+ Adam Smith
อดัม สมิธ เป็นที่รู้จักมากที่สุดในฐานะเป็นเจ้าของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ลัทธิเสรีนิยมที่ประณามสมาคมอาชีพในยุโรปยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 2244 - พ.ศ. 2343) สมิธมีความเชื่อในสิทธิ์ของบุคคลที่จะสามารถใช้อิทธิพลของตนเองสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของตนเองได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องตกเป็นหุ่นเชิดของสมาคมอาชีพหรือของรัฐ ทฤษฎีของสมิธมีผลกระทบระบบเศรษฐศาสตร์เดิมของยุโรป ทำให้ยุโรปส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบการค้าเสรี ที่ยอมให้ผู้ประกอบการรวมตัวกันได้ แอดัม สมิธได้รับการยกย่องเป็น "บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์"
+ การศึกษา
เมื่ออายุ 15 ปี แอดัม สมิธ ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ในสาขาปรัชญาศีลธรรมกับฟรานซิส ฮัทชีสัน ที่มหาวิทยาลัยนี้เองที่แอดัม สมิธได้เกิดกัมภาวะอย่างแรงกล้าในเสรีภาพ เหตุผล และเสรีภาพในการพูด
ในปี พ.ศ. 2283 สมิธได้รับรางวัล "สเนลล์เอกซ์บิชัน" (รางวัลเรียนดีสำหรับนิสิตกลาสโกว์ที่ต้องการศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด) และเข้าเรียนที่ วิทยาลัยบาลลิออล แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แต่ออกซ์ฟอร์ดในยุคนั้นก็ไม่ได้ให้สิ่งที่จะเป็นงานสำคัญในชีวิตต่อมาของสมิธมากนัก
สมิธออกจากออกซ์ฟอร์ดเมื่อ พ.ศ. 2289 ในหนังสือเล่ม 5 เรื่อง "ความมั่งคั่งของประชาชาติ" (The Wealth of Nations) ได้วิจารณ์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยของอังกฤษในขณะนั้นว่ามีคุณภาพในการสอนต่ำและมีกิจกรรมเชิงปัญญาน้อยเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยสก็อตคู่แข่ง สมิธเห็นว่าเป็นผลที่เกิดจากเงินกองทุนที่มีมากมายเกินไปทั้งที่ออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ทำให้ศาสตราจารย์มีรายมากได้โดยไม่ต้องมีความสามารถในการสร้างความน่าสนใจแก่นิสิต และทำให้นักอักษรศาสตร์มีความเป็นอยู่สุขสบายมากกว่าประมุขฝ่ายศาสนจักรของอังกฤษเสียอีก
+ งานอาชีพในเอดินเบอระและกลาสโกว์
ในปี พ.ศ. 2291 แอดัม สมิธ เริ่มงานบรรยายสาธารณะในเอดินเบอระโดยการอุปถัมภ์ของ หลอร์ดเคมส์ แต่ต่อมาได้เริ่มงานเขียนเรื่อง "ความก้าวหน้าแห่งความมั่งคั่งสมบูรณ์" ซึ่งนับเป็นก้าวแรกในวัย 20 ต้นๆ ของสมิธที่สนับสนุนปรัชญาเศรษฐศาสตร์ว่าด้วย "ระบบที่ชัดเจนและง่ายของเสรีภาพธรรมชาติ" ซึ่งสมิธได้ประกาศต่อโลกในหนังสือ "ความมั่งคั่งของประชาชาติ" ประมาณ พ.ศ. 2293 สมิธได้พบกับนักปรัชญาชื่อ "เดวิด ฮูม" ซึ่งอายุมากกว่าสมิธประมาณ 10 ปี จะปรากฏพบความขนานในแนวคิดของทั้งสองในงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การเมือง ปรัชญา เศรษฐศาสตร์และศาสนาที่เกิดจากการมิตรภาพที่ใกล้ชิดสนิทสนมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางปัญญากันอยู่เสมอจนเกิดเป็นแนวคิดใหม่ที่เรียกกันว่า "ยุคสว่างของสกอตแลนด์" แอดัมสมิธเป็นสมาชิกสำคัญของ สโมสรโปกเกอร์แห่งเอดินเบอระ
+ งานสำคัญ
· ทฤษฎีว่าด้วยศีลธรรมเร้าอารมณ์ (The Theory of Moral Sentiments) (พ.ศ. 2302)
· การสอบสวนธรรมชาติและสาเหตุแห่งความมั่งคั่งของประชาชาติ (An Inquiry Into the Nature and Causes of the Wealth of Nations) ( พ.ศ. 2319)
· ความเรียงต่างๆ ว่าด้วยเรื่องของปรัชญา (Essays on Philosophical Subjects) (ตีพิมพ์หลังการเสียชีวิตแล้ว พ.ศ. 2338)
· Lectures on Jurisprudence (ตีพิมพ์หลังการเสียชีวิตแล้ว พ.ศ. 2519)
· หลักการภาษีของแอดัม สมิธ ในหนังสือ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations นั้น แอดัม สมิธได้กำหนดหลัก (maxim) 4 ข้อเกี่ยวกับการภาษีโดยทั่วไป ดังนี้ (ที่ http://www.econlib.org/LIBRARY/Smith/smWNtoc.html ภาค 5 บทที่ 2 ย่อหน้า 24 หรือย่อว่า V.2.24)
คนในบังคับของรัฐทุกรัฐพึงจ่ายเงินค้ำจุนรัฐบาลตามส่วนกับความสามารถของตน นั่นคือ ตามส่วนกับประโยชน์ที่ตนได้รับภายใต้การคุ้มครองของรัฐ
ภาษีที่แต่ละคนต้องจ่ายพึงมีความแน่นอน ไม่ใช่กำหนดตามอำเภอใจ กำหนดเวลาชำระ วิธีชำระ และจำนวนที่ต้องชำระพึงมีความชัดเจน เข้าใจง่ายสำหรับผู้ชำระและทุกคน
พึงเก็บภาษีทุกชนิดในเวลาหรือโดยวิธีที่น่าจะสะดวกที่สุดสำหรับผู้จ่าย
พึงคิดหาวิธีที่สิ้นเปลืองน้อยที่สุดในการจัดเก็บภาษีทุกชนิดแก่ทั้งรัฐและผู้จ่ายภาษี
ความสิ้นเปลืองนี้แบ่งได้เป็น 4 ประการ คือ
· ใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก หรือต้องตั้งรางวัลมาก
· ภาษีอาจขัดขวางความอุตสาหะของราษฎร พลอยทำให้การมีงานทำและรายได้ลดลง
· การริบทรัพย์หรือปรับผู้ที่พยายามหลบเลี่ยงภาษีมักทำให้พวกเขาหมดตัว ทำให้กลายเป็นคนไร้ประโยชน์ต่อสังคม ภาษีที่เลวมักล่อใจให้คนลักลอบค้าของเถื่อน และโทษก็จะเพิ่มขึ้นตามแรงดึงดูดใจ
ในขั้นแรกกฎหมายซึ่งขัดกับหลักยุติธรรมจะล่อใจให้อยากละเมิด แล้วก็จะลงโทษอย่างรุนแรงในสถานการณ์ซึ่งควรลดแรงล่อใจให้ก่ออาชญากรรม
· การที่ราษฎรถูกเยี่ยมกรายบ่อยและถูกตรวจสอบอย่างน่ารังเกียจจะก่อความเดือดร้อน รบกวน และกดขี่อย่างมาก โดยไม่จำเป็น แม้การรบกวนจะมิใช่ค่าใช้จ่าย แต่ทุกคนก็ยินดีจ่ายเพื่อไถ่ตนเองให้พ้นจากการรบกวนนี้
แอดัม สมิธเห็นว่าภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ภาษีกำไร (ส่วนใหญ่คือดอกเบี้ยสำหรับทุน) จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากเกินไปในการเก็บ เช่น ภาษีสรรพสามิต หรือทำให้ผู้ผลิตท้อถอย เช่น ภาษีกำไร สมิธคัดค้านภาษีที่เปิดโอกาสให้มีการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว สำหรับภาษีสรรพสามิตนั้น ท่านกล่าวว่า “ทำให้ทุกครอบครัวอาจถูกเยี่ยมกรายและตรวจสอบอย่างน่ารังเกียจจากเจ้าพนักงานภาษี...ไม่สอดคล้องกับเสรีภาพเลย” (V.3.75)
ภาษีที่แอดัม สมิธเสนอแนะให้เก็บมี 2 ชนิด คือ ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย และ ภาษีค่าเช่าที่ดิน (มูลค่าครอบครองที่ดินรายปี)
สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย แอดัม สมิธอธิบายคำว่า ‘จำเป็น’ ว่าอาจเปลี่ยนไปได้แล้วแต่สถานที่และเวลา ซึ่งขณะนั้น เสื้อผ้าลินิน รองเท้าหนัง อาหารและที่อยู่อาศัยขั้นต่ำถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น ท่านตำหนิรุนแรงว่าภาษีที่เก็บจากสินค้าจำพวกเกลือ สบู่ ฯลฯ เป็นการเอาจากคนที่ยากจนที่สุดโดยไม่เป็นธรรม ท่านถือว่าภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย เช่นยาสูบ เป็นภาษีที่ดีเลิศ เพราะไม่มีใครถูกบังคับให้ต้องจ่าย “ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยไม่มีแนวโน้มที่จะไปเพิ่มราคาโภคภัณฑ์อื่น ๆ เว้นแต่โภคภัณฑ์ที่ถูกเก็บภาษี
ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยนั้นในที่สุดผู้บริโภคสิ่งนั้นจะเป็นผู้จ่ายโดยไม่ใช่เป็นการลงโทษ” (V.2.154)
ภาษีที่น่ายกย่องมากกว่าคือภาษีที่ดิน “ทั้งค่าเช่าที่ดินที่ตั้งอาคาร (ground-rents) และค่าเช่าที่ดินเกษตร (ordinary rent of land) ต่างเป็นรายได้ชนิดที่ส่วนมากเจ้าของได้รับโดยตนเองมิต้องเอาใจใส่หรือสนใจ แม้จะแบ่งรายได้นี้ส่วนหนึ่งไปเป็นค่าใช้จ่ายของรัฐก็จะไม่เกิดการท้อถอยแก่อุตสาหกรรมใด ๆ ผลผลิตรายปีของที่ดินและแรงงานแห่งสังคม ซึ่งเป็นทรัพย์และรายได้จริงของประชาชนส่วนใหญ่ จะยังคงเดิมหลังจากมีการเก็บภาษีนี้ ดังนั้นค่าเช่าที่ดินที่ตั้งอาคารและค่าเช่าที่ดินเกษตรอาจเป็นรายได้ชนิดที่สามารถจะเก็บภาษีเป็นพิเศษได้ดีที่สุด” (V.2.75)
ในภาคแรกแอดัม สมิธกล่าวไว้ว่า “ดังนั้นค่าเช่าที่ดิน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่จ่ายสำหรับการใช้ที่ดิน จึงเป็นราคาแบบผูกขาดโดยธรรมชาติ มิใช่เป็นอัตราส่วนกับการซึ่งเจ้าที่ดินอาจลงทุนไปเพื่อปรับปรุงที่ดินแต่อย่างใดเลย หรือมิใช่ตามส่วนกับความสามารถที่เขาจะเรียกเอา แต่เป็นตามส่วนกับความสามารถของชาวนาที่จะให้” (I.11.5)
และในตอนสรุปของบทนี้ของภาคแรก แอดัม สมิธได้ตั้งข้อสังเกตว่า “การทำให้สภาวการณ์ของสังคมดีขึ้นทุกอย่างมีแนวโน้มที่จะทำให้ค่าเช่าแท้จริงของที่ดินสูงขึ้นไม่ทางตรงก็ทางอ้อม จะเพิ่มความมั่งคั่งแท้จริงให้แก่เจ้าที่ดิน เพิ่มกำลังซื้อของเขาต่อแรงงาน หรือผลผลิตแห่งแรงงานของผู้อื่น” (I.11.255)
“การขยายสิ่งปรับปรุงและการเพาะปลูกมักจะทำให้ค่าเช่าที่ดินสูงขึ้นโดยตรง ส่วนแบ่งของเจ้าที่ดินในผลผลิตย่อมจะต้องเพิ่มขึ้นเมื่อผลผลิตเพิ่มขึ้น” (I.11.256)
ภาษีที่สมิธคัดค้านรุนแรงที่สุดคือภาษีที่เก็บจากค่าแรงของผู้ใช้แรงงาน - “ในทุกกรณี ภาษีทางตรงที่เก็บจากค่าแรง ในระยะยาวแล้วย่อมจะทำให้ทั้งค่าเช่าที่ดินลดลงมากกว่าและราคาสินค้าประดิษฐกรรมแพงขึ้นมากกว่าที่จะเป็นถ้ามีการประเมินเก็บภาษีส่วนหนึ่งจากค่าเช่าที่ดินและอีกส่วนหนึ่งจากสินค้าแทน (ภาษีจากค่าแรง) ” (V.2.132)
+ ช่วงปลายของชีวิต
ในปี พ.ศ. 2321 แอดัม สมิธได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงศุลกากรในสกอตแลนด์และได้ย้ายไปอยู่กับแม่ที่เอดินบะระ ในปี พ.ศ. 2326 สมิธได้เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง "ราชสมาคมแห่งเอดินเบรอะ" และจาก พ.ศ. 2330 - พ.ศ. 2332 ได้รับตำแหน่งอธิการบดีกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์
แอดัม สมิธถึงแก่กรรมที่ เอดินบะระ สก็อตแลนด์เมื่ออายุได้ 67 ปี หลังจากการเจ็บป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมาน ศพของสมิธได้รับการฝังไว้ที่แคนอนเกทเคิร์กยาร์ด
เกร็ดความรู้
อดัม สมิทเป็นผู้ก่อตั้งสำนักคลาสสิก (Classical School) อันเป็นสำนักทางด้านเศรษฐศาสตร์ในยุคเริ่มแรก
เป็น "บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์"
"บิดาแห่งทุนนิยมเสรี" (father of laissez-faire capitalism) แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่า เศรษฐกิจระบบตลาดเสรี (free-market economy) เป็นระบบเศรษฐกิจที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ และยิ่งรัฐแทรกแซงตลาดน้อยเท่าไหร่ ตลาดเสรีก็จะสามารถ "ดูแล" ตัวเองได้ดีขึ้นเท่านั้น
เป็นบิดาของแนวคิด "ฝ่ายขวา" ที่กลายมาเป็นทุนนิยมกระแสหลักในปัจจุบัน
****หมายเหตุ "ฝ่ายซ้าย" เช่น คาร์ล มาร์กซ์ (Marxism) บิดาแห่งลิทธิสังคมนิยม
(http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999765.html)
อ้างอิงจาก :::: + :::::
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%A1_%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%98
ชื่อ: | แอดัม สมิธ |
เกิด: | Baptised 16 มิถุนายน พ.ศ. 2266 |
เสียชีวิต: | 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2333 (อายุ 67 ปี) |
สำนัก/ลัทธิ: | เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิค |
ความสนใจ: | วิชาปรัชญาการเมือง, หลักจรรยา, เศรษฐศาสตร์ |
แนวความคิด: | เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิค |
ได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก: | อริสโตเติล, Anders Chydenius, โทมัส ฮอบส์, William Petty, Joseph Butler, จอห์น ล็อก, Bernard de Mandeville, ฟรานซิส ฮัทชีสัน, เดวิด ฮูม, François Quesnay |
มีอิทธิพลทางความคิดกับ: | โนม ชัมสกี, Auguste Comte, Friedrich Hayek, Friedrich Engels, มิลตัน ฟรีดแมน, โทมัส มัธทาส, คาร์ล มาร์กซ์, จอห์น สจ๊วต มิลล์, จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์, บารอน เดอ มองเตสกิเออ, ชาลส์ ดาร์วิน, เดวิด ริคาร์โด้, Founding Fathers of the United States |
ความคิดเห็น