ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    >>:: คลังข้อมูลเศรษฐศาสตร์ ::<<

    ลำดับตอนที่ #3 : + อาดัม สมิธ กับสังคม ศิวิไลซ์

    • อัปเดตล่าสุด 30 ธ.ค. 52




    อาดัม สมิธ กับสังคม ศิวิไลซ์

     

    มองมุมใหม่ : ผศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กรุงเทพธุรกิจ  วันที่  1  มกราคม พ.ศ. 2547

     

     

     

     

    ผู้คนทั้งที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ และไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ มีความเข้าใจผิด เกี่ยวกับอาดัม สมิธ อยู่มากมายหลายประเด็น ถึงแม้จะเข้าใจถูกต้องตรงกัน อยู่ประเด็นหนึ่งว่า อาดัม สมิธ เป็นบิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์

     

     

     

    นอกจากความเข้าใจผิดที่ว่า อาดัม สมิธ เห็นธาตุแท้ของปัจเจกชนเป็นความเห็นแก่ตัวแต่ด้านเดียว และยกย่องส่งเสริมความเห็นแก่ตัวว่า เป็นความดีในทางเศรษฐกิจแล้ว ความเข้าใจผิดที่แพร่หลายอีกประการหนึ่งคือ อาดัม สมิธ เป็นพวกเสรีนิยมสุดขั้วที่คัดค้านบทบาทของรัฐบาลในระบบเศรษฐกิจทุกรูปแบบ และต้องการให้ปัจเจกชนมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจอย่างไร้ขอบเขต

     

     

     

    สังคมในอุดมคติของอาดัม สมิธ ที่เข้าใจกันอย่างผิดๆ จึงเป็นสังคมที่ปัจเจกชนแต่ละคนมุ่งทำร้ายและเอารัดเอาเปรียบคนอื่นได้ตามอำเภอใจ คนแข็งแรงทำร้ายคนอ่อนแอ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก โดยที่รัฐบาลไม่ยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้อง

     

     

     

    แต่นี่เป็นเพียงความไม่เข้าใจและอคติของนักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการประชานิยม ราษฎรอาวุโส และนักการเมืองอนุรักษนิยมสุดขั้ว ที่คัดค้านต่อต้านโลกาภิวัตน์

     

     

     

    ในผลงานเศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่อง The Wealth of Nations หรือ ความมั่งคั่งของชาติ อาดัม สมิธ ได้วิเคราะห์บทบาทและผลกระทบของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีต่อการทำงานของกลไกตลาด และต่อการเจริญเติบโตของทุนนิยมในระยะยาว

     

     

     

    อาดัม สมิธเห็นว่า รัฐบาลมีหน้าที่อย่างน้อย 3 ประการ ในระบบเศรษฐกิจ คือ การป้องกันประเทศ การให้บริการในสาขาที่เอกชนไม่สนใจทำหรือทำโดยไม่มีประสิทธิภาพ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเที่ยงตรงเคร่งครัด

     

     

     

    ทุกวันนี้ นักเศรษฐศาสตร์รู้แล้วว่า การป้องกันประเทศเป็นบริการสาธารณะที่เอกชนไม่สามารถทำได้ เพราะเอกชนไม่มีมาตรการกีดกันผู้ที่ไม่ยอมจ่ายเงินซื้อบริการ กองทัพที่จัดตั้งโดยบริษัทเอกชน ไม่สามารถให้การปกป้องเฉพาะลูกค้าที่จ่ายเงินซื้อบริการ และปล่อยให้กองทัพศัตรูต่างชาติ ทำร้ายพลเมืองที่ไม่ได้จ่ายเงิน ฉะนั้น รัฐบาลจึงต้องเข้ามาดำเนินการด้วยการบังคับจัดเก็บภาษีจากทุกคนเอามาจัดตั้งและบริหารกองทัพ แล้วให้บริการป้องกันประเทศแก่พลเมืองทุกคนอย่างถ้วนหน้า

     

     

     

    รัฐบาลอาจเข้ามาให้บริการในสาขาที่เอกชนไม่ทำหรือทำอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน ถนน สะพาน สวนสาธารณะ สวัสดิการคนยากจน เด็ก สตรี คนชรา เป็นต้น เพราะเป็นบริการที่ไม่ทำกำไร หรือผู้ขายไม่สามารถกีดกันผู้ที่ไม่จ่ายเงินซื้อ

     

     

     

    อาดัม สมิธ คัดค้านบทบาทของรัฐบาลที่เข้ามาแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ ในกรณีที่ขัดขวางบิดเบือน การทำงานของกลไกตลาดเท่านั้น ซึ่งก็คือ การให้อำนาจผูกขาดแก่นายทุนนักธุรกิจเฉพาะกลุ่ม  ในรูปของอภิสิทธิ์ สัมปทาน สิทธิบัตร และสิทธิผูกขาดอื่น ๆ

     

     

     

    มาตรการดังกล่าวอาจให้ประโยชน์แก่รัฐบาล และข้าราชการในรูปของรายได้ภาษีที่จัดเก็บจากกำไรส่วนเกิน ของธุรกิจผูกขาดนั้น หรือเงินสินบนที่นายทุนผูกขาดจ่ายใต้โต๊ะ

     

     

     

    แต่การสร้างอำนาจผูกขาดดังกล่าวเป็นผลเสียต่อสังคมโดยรวม เพราะกลุ่มนายทุนจะสูบรีดเอากำไรส่วนเกิน ด้วยการผลิตสินค้าบริการ น้อยกว่าแต่ในราคาที่สูงกว่าที่สังคมต้องการ ผลก็คือ สังคมจ่ายมากเกินไป แต่ได้รับน้อยลง

     

     

     

    การบังคับใช้กฎหมายอย่างเที่ยงตรงเคร่งครัดเน้นถึงการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในทรัพย์สิน และการบังคับใช้สัญญาธุรกรรม อาดัม สมิธ ถือว่า นี่เป็นเงื่อนไขพื้นฐานของสังคมทุนนิยมที่เข้มแข็งและเจริญก้าวหน้า

     

     

     

    เมื่อปัจเจกชนมีอำนาจสิทธิขาดในทรัพย์สินและผลงานของตนเอง และทุกคนทำตามสัญญาธุรกรรม ที่ทำไว้กับคู่ค้าอย่างตรงไปตรงมา เช่น ผู้ขายส่งมอบ และผู้ซื้อจ่ายเงินรับสินค้าบริการในปริมาณ ราคา และระยะเวลาที่ตกลงกันไว้อย่างถูกต้อง การดำเนินธุรกิจ การผลิต และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะดำเนินไปได้

     

     

     

    ในเงื่อนไขเช่นนี้ พฤติกรรมเห็นแก่ประโยชน์ตนของปัจเจกชนจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น หากแต่ถูกกฎหมายและกลไกการแข่งขันแปรเปลี่ยนให้เป็นผลดีต่อผู้อื่นและต่อสังคม เพราะหนทางเดียวที่ปัจเจกชนจะแสวงหาประโยชน์เข้าตัวได้คือ ต้องทำในสิ่งที่คนอื่นต้องการเท่านั้น

     

     

     

    เช่น ผู้เป็นเจ้าของเงินต้องยอมให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์จากเงินของตนเพื่อให้ได้ดอกเบี้ย เจ้าของที่ดินต้องยอมให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์จากที่ดินของตนเพื่อให้ได้ค่าเช่า ผู้ใช้แรงงานต้องแสวงหาการศึกษา ทักษะ และประสบการณ์ที่นายจ้างต้องการ ขณะที่นายจ้างในฐานะผู้ผลิตก็ต้องผลิตสินค้าบริการในคุณภาพ ปริมาณและราคาที่ผู้ซื้อต้องการ เป็นต้น นัยหนึ่ง ทุกคนต้องให้ประโยชน์แก่ผู้อื่นเพื่อที่ตนเองจะได้ประโยชน์ตอบแทนเท่านั้น

     

     

     

    ฉะนั้น ในสายตาของอาดัม สมิธ สังคมทุนนิยมที่เจริญก้าวหน้าจึงเป็นสังคมที่ ยุติธรรม อย่างแท้จริงบนพื้นฐานของรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีความศักดิ์สิทธิ์ของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และปัจเจกชนทำเพื่อประโยชน์ตน แต่ท้ายสุด สังคมก็ยังสามารถเจริญก้าวหน้าไปได้

     

     

     

    หากรัฐบาลย่อหย่อนในการบังคับใช้กฎหมาย ปล่อยให้มีการละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและสัญญาธุรกรรม การพัฒนาทุนนิยมก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะปัจเจกชนแทนที่จะทำประโยชน์แก่ผู้อื่นเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ ปัจเจกชนกลับหันมาฉกฉวยประโยชน์จากผู้อื่นเป็นของตนโดยตรง เช่น จี้ปล้น ลักขโมย ฉ้อโกง หลอกลวง ผิดสัญญาธุรกรรม เอารัดเอาเปรียบกัน ซึ่งในที่สุด สังคมและระบบทุนนิยมก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้

     

     

     

    มีแต่สังคมที่รัฐบาลอ่อนแอ ฉ้อโกงคอรัปชั่น ไร้ความรับผิดชอบ ปล่อยให้มีการละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และฉ้อโกงสัญญาธุรกรรมเท่านั้น พฤติกรรมเห็นแก่ประโยชน์ตนของปัจเจกชน จึงจะลุกลามไปทำร้ายผู้อื่น นำไปสู่สังคม มือใครยาวสาวได้สาวเอา ปลาใหญ่กินปลาเล็ก

     

     

     

    และนี่เป็นสังคมที่อาดัม สมิธ ประณามว่า ป่าเถื่อน

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2004q1/article2004jan01p2.htm





    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×