ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    What's Up

    ลำดับตอนที่ #8 : วุ่นรักนักดนตรี (2) : "จิอากิ" กับ "เบโธเฟน"/ต่อพงษ์

    • อัปเดตล่าสุด 6 ก.ย. 50


           มีหลายคนแนะนำให้ผมหาการ์ตูนเรื่อง "วุ่นรักนักดนตรี หรือ Nodame Cantabile" นี้มาอ่านจริงๆ จังๆ ก็ต้องขอบพระคุณอย่างมากครับที่แนะนำ อีกทั้งต้องขอบพระคุณท่านผู้อ่านอีกหลายคนที่พยายามแนะนำเว็บไซต์ที่สามารถดูซีรีส์เรื่องนี้ได้ฟรีๆ และอีกหลายที่ซึ่งเป็นแหล่งขาย...ซึ่งต้องย้ำว่าไปเดินเจอที่ไหนเข้าซื้อเลยครับ
           
            อย่างที่บอกไปเมื่ตอนแรกว่าซีรีส์เรื่องนี้โดดเด่นไปเสียทุกอย่าง ผมเองเคยเขียนคอลัมน์ที่แนะนำเรื่องของดนตรีคลาสสิกมาเมื่อซัก 4 ปีก่อนหน้านี้ ยังต้องยอมรับว่า เขามีวิธีการเขียนบทที่สามารถทำให้คนเข้าถึงคำว่าดนตรีคลาสสิกได้ในเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที ซึ่งสุดยอดเลยนะครับ
           
            เอาง่ายๆ ลองนึกดูถึงบทบาทของคอนดักเตอร์ซิครับ ผมคิดว่าไม่มีใครซักกี่คนหรอกที่จะรู้ว่า ผู้นำวงนี้จะมีความสำคัญขนาดไหน เขาไม่ใช่เพียงแค่เอาไม้บาตองไปแกว่งๆ ให้ดูเท่ห์ แต่ต้องทำอะไรหลายต่อหลายอย่าง ทั้งคุมซ้อม ทั้งต้องคอยฟังแล้วก็ปรับเสียงของคนเล่นเครื่องต่างๆ ทุกๆ ชิ้นให้เข้าหากัน ซึ่งใครก็ตามที่ทำจริงๆ เข้าเห็นทีจะต้องบอกว่าเหนื่อยแทน
           
            ที่สำคัญทุกๆ ตอนของซีรีส์เรื่องนี้ ระหว่างที่คุณกำลังฮาและลุ้นไปกับตัวละครแต่ละตัว คุณยังคงต้องลุ้นกับดนตรีประกอบว่าเขาจะใส่เพลงอะไรเข้ามา ซึ่งผมว่าคนทำเขาฉลาดเอามากๆ เพราะดนตรีชิ้นต่างๆ เหล่านั้นทำให้ความสมบูรณ์แบบในอารมณ์ซึ่งก็มีอยู่แล้ว "เจิดจ้า" ขึ้นอีกหลายเท่านัก
           
            เอาว่าหลานผมซึ่งดูอยู่ด้วยกันยังรบเร้าให้หาเพลงแต่ละเพลงที่ประกอบฉากสำคัญๆ ของเรื่องนี้มาฟังกันทีหลังทีเดียวละครับ
           
            Nodame Cantabile มีตัวละครนำอยู่สองตัวด้วยกัน ตัวแรกอย่างที่บอกไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วคือนางเอกของเรื่อง โนดะ เมกุมิ และพระเอกจอมอัจฉริยะ จิอากิ ชินอิจิ โดยที่ก่อนหน้านี้ทั้งคู่ไม่เคยรู้จักกันมา เพราะฝ่ายนางเอกของเรานั้นอยู่ในกลุ่มเด็กบ๊วย ขณะที่พระเอกนี่ต้องบอกว่าอยู่ในกลุ่มท็อปคลาสเป็นหน้าเป็นตาของมหาวิทยาลัยดนตรีแห่งนี้
           
            ทั้งคู่ต้องมาพบกัน เนื่องมาจากการที่ จิอากิ พระเอกเราไม่อยากเรียนและเล่นเปียโนอีกแล้ว ด้วยการสอนแบบโคตรขู่เข็ญและอาศัยร่มกระดาษคอยฟาดหัวนักเรียนของอาจารย์ผู้สอนทำให้เจ้าตัวรู้สึกระอา (แต่ที่เขาสิ้นหวังยิ่งกว่าก็คือ การที่ยังไงๆ เสียตัวเองก็ไม่สามารถไปจากญี่ปุ่นได้ตามที่ฝัน เพราะดันกลัวการนั่งเครื่องบิน และการนั่งเรือ ) จิอากิถูกถอดออกจากคลาสอันดับหนึ่ง เขาถูกทิ้งจากแฟนสาวซึ่งเป็นดารานำในแผนกวอยส์เพราะเห็นว่าหมอนี่หมดอนาคต จนสุดท้ายหนุ่มจิอากิเมาแอ๋จนมานอนสลบอยู่หน้าประตูห้องพักของตัวเอง
           
            ในฝันที่ดูเหมือนจะเป็นฝันร้าย...ระหว่างที่เมาหลับอยู่นั้น จิอากิ ได้ยินเสียงเปียโนสุดแสนจะตรึงใจเข้ามาในหัว...แน่นอนมันเป็นเสียงที่เขาได้ยินในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน เขารู้สึกว่าเสียงของมันมั่วสุดขีด แต่ก็มีเสน่ห์และดึงดูดใจให้ฟังในแบบฉบับของตัวเอง เสียงเปียโนที่ว่าหลั่งไหลเข้ามาในหู ในหัว...และสุดท้ายในวิญญาณของเขา
           
            ภาพทุ่งหญ้าแสนงาม ความรู้สึกอบอุ่นสบายยามลมพัด ความรู้สึกผ่อนคลายเข้ามาแทนที่ความอึดอัดที่กำลังรุมเร้าเขาอยู่
           
            ฉากนี้ และ ดนตรีที่ใส่เข้ามาทำให้คนดูเคลิ้มเหมือนที่จิอากิเคลิ้ม มันทำให้ผมยิ้ม ปิติ และต้องวิ่งไปเอาเพลงนี้มาเปิดทันทีที่ดูตอนแรกจบไป
           ..........
            ความจริงมันก็น่าจะเคลิ้มอยู่หรอกครับ เพราะ บทเพลงที่จิอากิได้ยินอยู่นั้นเป็นผลงานที่อุดมไปด้วยพลังความหวานชนิดที่เรียกกว่าหยดย้อยของ Beethoven เปียโนท่อนนี้ชื่อว่า Adagio cantabile from Beethoven's Piano Sonata No. 8 in C minor, Op. 13
           
            ชื่อของบทเพลงยาวๆ ซึ่งทั้งเพลงนั้นยาวถึง 19 นาทีนี้ มีชื่อเรียกเล่นๆ สั้นๆ ว่า "Pathe'tique"
           
            เป็นบทเพลงโซนาต้าไม่กี่เพลงของเบโธเฟนที่เขาตั้งชื่อมันเอง
           
            ว่ากันว่า Pathe'tique นั้นมีส่วนอย่างยิ่งที่จะทำให้เบโธเฟนเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นมือเปียโนระดับมหากาฬที่เขายกย่องตั้งแต่เด็กว่าเป็นเด็กมหัศจรรย์(Child Prodigy )มาเอาดีทางด้านการเป็นนักแต่งเพลงแทน เบโธเฟนเขียนเพลงนี้ขึ้นในช่วงหนุ่มในราวปี 1798 ก่อนจะตีพิมพ์ในปี 1799 และอุทิศให้แก่เจ้าชาย คาร์ล ลินนาวสกี้ บทเพลงนี้ความจริงแล้วมีสามท่อนครับ สองท่อนแรกเต็มไปด้วยอารมณ์แห่งความซึม ท้อแท้ และค่อนข้างสิ้นหวัง จะมีท่อนสุดท้ายที่ค่อนข้างจะน่ารักและละทิ้งความหดหู่นั้นลงไปได้

           ที่บอกนี่ไม่ได้ว่าจะเศร้าหรือดูทมึนแบบ Moonlight Sonara แบบนั้นนะครับ แต่สำหรับ Pathe'tique ท่อนแรกนั้นมันเป็นอารมณ์ของคนที่หมองหม่น สง่างาม แต่ก็อหังการ์ในที ขณะที่ท่อนสองนั้นออกแนวพระเอกที่เสียสละ ยิ้มทั้งน้ำตา หวานเศร้า เข้าใจตัวเอง ร้องไห้แต่บอกใครไม่ได้มันอยู่ในโทนนั้น
           
            ผมมานั่งคิดเอาเหมือนกันว่าผู้เขียนบทและผู้กำกับเรื่องจงใจที่จะยกเอาบทเพลงของเบโธเฟนมาประกอบละครมากกว่าของคนอื่นๆ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะบุคลิกของจิอากินั้นคล้ายคลึงกับบีโธเฟนอยู่ไม่น้อย อย่างฉากแรกที่เราเห็นจิอากิเล่นเปียโน เขาก็เลือกที่จะมาเล่นท่อนที่สามของ Moonlight Sonata ซึ่งหดหู่ เศร้าหมอง และแฝงความโกรธแค้นเอาไว้อย่างมาก
           
            เป็นที่รู้กันดีอยู่ว่ายอดนักเปียโนและยอดนักแต่งเพลงชาวเยอรมันผู้นี้เป็นมนุษย์สุดแสนจะเจ้าอารมณ์ พูดง่ายๆ แกเป็นติสต์แบบสุดขั้ว ติสต์แบบหาคนเข้าใจแกได้ยากเต็มที สมัยที่แกมีชีวิตอยู่นั้นมีหลักฐานที่บันทึกว่า แกก็มองคนแบบว่า คนอื่นนั้นไม่เทียบเท่าแกเด็ดขาด นักดนตรีจำนวนมากขยาดที่จะเล่นเพลงของแก คอนดักเตอร์อีกหลายคนก็ไม่กล้าที่จะกำกับเพลงของแก แต่กระนั้นก็ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าผลงานของแกนั้นเข้าขั้นที่สุดแห่งจักรวาลมากอยู่ แล้วก็ไม่มีใครปฏิเสธความเป็นอัจฉริยะของแกแม้แต่น้อย
           
            จิอากิก็เช่นเดียวกัน เท่าที่หนังปูพื้นมา เขามีเพื่อนอยู่ไม่มาก ขาดการสื่อสารที่ดีกับคนรอบข้าง จะเป็นเพราะว่า ไม่มีใครทนเขาได้ กลัวเขา หมั่นไส้เขา หรือ ไม่เข้าใจตัวเขาอยู่มากทีเดียว
           
            ก็ลองนึกดูสิครับ ฉากแรกของหมอนี่ที่เดินเข้ามาในมหาวิทยาลัย ทุกคนหันมองเขาแล้วแสดงความชื่นชมอย่างออกนอกหน้าด้วยความเก่งฉกาจที่เขามี แต่จิอากิกลับมองอย่างเหยียดหยามและหลุดคำว่า "ห่วย" "บรมห่วย" "ห่วยแตกทุกคน" ออกมาตลอดทางที่เขาเห็นเพื่อนร่วมสถาบันกำลังซ้อมอยู่
           
            พูดง่ายๆ ทัศนคติของหมอนี่ต่อคนรอบข้างนั้นอยู่ในขั้นที่เลวมาก จิอากิหลงอยู่กับกับดักแห่งความจองหอง กรงขังแห่งความเก่งกาจของตัวเองจนไม่สามารถอยู่ร่วมกับใครๆ ในสังคมนี้ได้
           
            ก็น่าคิดเหมือนกันว่า ถ้าไม่มีอุบัติเหตุอะไรมาเกิดขึ้นกับหมอนี่ที่จะทำให้ทัศนคติของเขาเปลี่ยน อนาคตคงได้จมอยู่ในกองความเครียดสุดท้ายอาจจะเป็นตาแก่ขี้เมาน่ารำคาญและชอบทำปากจู๋เหมือนสุรยุทธอีกแหงๆ
           
            เทียบกันแล้วเบโธเฟนอาจจะโชคร้ายกว่าจิอากิ เพราะขณะที่โลกรอบตัวเขาไม่เข้าใจเขาเลย อัจฉริยะเยอรมันผู้นี้จึงต้องอยู่ในกรงขังแห่งอัจฉริยะอย่างเดียวดายมาตลอด แต่เพราะความเข้มแข็งของตัวเอง ก็ส่งผลให้เบโธเฟนเอาชนะกับดักเหล่านั้นมาได้ และสุดท้ายก็หลุดพ้นจากกรอบทุกอย่างที่คนรอบข้างและตัวเขาเองสร้างขึ้น และสร้างสรรค์บทเพลงที่ถือเป็นชัยชนะของเขานั่นคือ "ซิมโฟนี่หมายเลข 9" ที่คนทั้งโลกรู้จัก
           
            ว่ากันว่ากุญแจที่ทำให้แกหันกลับมาปรับตัวเองให้เข้ากับโลกนั้นก็เพราะอาการหูหนวกของเบโธเฟน เพราะหลังจากหนวกแล้ว แกก็จมกองทุกข์อยู่นาน แต่กระนั้นมันก็ช่วยปรับทัศนคติขึ้นมาใหม่ และทำให้แกก้าวหน้าไปมากกว่าเดิมเสียอีก
           
            จิอากิโชคดีมากกว่าเบโธเฟน เพราะ กุญแจดอกแรกแห่งกรงขังของแกที่ทำให้แกหลุดจากกับดักเดิมไม่ใช่เป็นอาการหูหนวก แต่กลับเป็นสาวน้อยท่าทางบ้าๆบอๆ ที่ชื่อ โนดาเมะ เมกูมิ นั่นเอง
           
            ย้ำนะครับว่าเป็นแค่ดอกแรก...เพราะในแต่ละตอนเขาจะค่อยๆ เจอกับกุญแจที่น่าพิศวงเหล่านี้เรื่อยๆ พร้อมกับคนดู
           
            นางเอกของเรา โนดาเมะ เมกูมิ บรรเลงเพลง Pathe'tique นี้ได้เข้ากับมือของตัวเองที่สุด เพราะท่อนที่สองอันสุดแสนจะหวานเศร้านี้ เป็นการบรรเลงที่เรียกว่า Cantabile หรือเป็นการบรรเลงในสไตล์ที่เรียกกว่า Singing Style ซึ่งก็มีคนให้ความหมายเอาไว้กว้างๆ ว่า เป็นการบรรเลงเปียโนเหมือนกับการร้องเพลง หรือเป็นการบรรเลงตามอารมณ์ของผู้เล่นเป็นหลัก ซึ่งก็เข้ากับนางเอกของเราเหลือเกินที่ไม่ชอบอ่านสกอร์แต่เล่นเปียโนตามอารมณ์...และเป็นการบรรเลงที่ถ่ายทอดตรงออกมาจากหัวใจทีเดียว
           
            เพลงที่ให้อารมณ์หวนหา แบบสุดยอดแบบนี้ก็ต้องเล่นกันด้วยสไตล์แบบนี้ละครับ
           
            ใครที่อยากจะหวานและหลุดไปจากอารมณ์ที่เป็นทุกข์อยู่ลองหาท่อนช้าหรือ Adagio Cantabile มาดูเถอะครับ เพลงที่สุดแห่งการสังเวชนี้จะทำให้คุณรู้ว่า ยังมีคนที่ทนทุกข์มากกว่าคุณเสมอๆ พอฟังสักสองรอบกำลังใจที่จะอยากมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งจะกลับมา ความสดชื่นจะเริ่มต้นขึ้น การมีความหวังจะวิ่งกลับเข้ามาหาเองครับ
           
            แน่นอนว่าความสุดยอดของเพลงนี้นั้นคงไม่ต้องพูดอะไรกันแล้ว เพราะระยะเวลา 200 ปีเศษที่เพลงนี้ได้เผยแพร่ออกสู่โลก มันก็ยังคงดังก้องอยู่เสมอไม่ในที่ใดก็ที่หนึ่ง ไม่อยู่ในเสียงริงโทน ก็อยู่ในเสียงนาฬิกาปลุก หรือ ไม่ก็อยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือบรรดาสปาราคาแพงทั้งหลาย
           
            ย้อนกลับไปที่ซี่รีส์เรื่อง Nodame Cantabile กันต่อ...ขณะที่เรากำลังเคลิ้มกับบทเพลงๆนี้ของเบโธเฟน จู่ๆจิอากิก็ลืมตาขึ้นในอาการที่ยังสลึมสลืออยู่ เขามองเห็นสาวน้อยคนหนึ่งกำลังเล่นเปียโนอย่างตั้งใจราวกับไม่มีใครอื่นอยู่ในโลกนี้อีกแล้ว
           
           
    "มันคือความงามอย่างที่สุด" จิอากินึกในใจ เขาค่อยๆ มองไปรอบตัว ซึ่งก็มีแต่กองขยะ
           
            "ที่นี่ที่ไหนกัน เสียงเปียโนที่บรรเลงจากสรวงสวรรค์กลับมาอยู่ท่ามกลางกองขยะ มันมีที่แบบนี้ในโลกอีกหรือ?"

           
            หนังหักอารมณ์ตรงนี้อย่างสิ้นเชิง เพราะมือไม้ที่ป่ายไปเนื่องจากพลังแห่งดนตรีดันป่ายไปโดนกระป๋องที่บรรจุเศษอาหารเน่า แมลงวันฝูงโตพุ่งออกมาจากกระป๋อง ทำลายสวรรค์ของจิอากิเสียยับเยิน พร้อมกับเสียงหัวเราะชวนสยอง หน้าตายิ้มที่แฝงเลศนัยหันมามองชายหนุ่ม
           
            เสียงเปียโนนั้นหยุดไป จะเหลือก็เพียงแค่เสียงพูดของนางเอกของเราที่ชวนขำว่า
           
            "ตื่นแล้วใช่ไหมรุ่นพี่จิอากิ ยังจำเหตุการณ์เมื่อคืนนี้ได้หรือเปล่า (อิอิอิอิอิอิ)?"
           
           
    จิอากิเปลี่ยนจากฝันดีกลายเป็นฝันร้าย เขาพุ่งตรงออกมาจากห้องของฝ่ายหญิงอย่างตกใจ ทั้งจากความโสโครกในห้อง แมลงวันฝูงโต ต้องยอมรับนะครับว่า มันไม่ใช่การพบกันครั้งแรกที่ดีเลยของหนุ่มสาวคู่นี้
           
            ...แต่สำหรับคนดูแล้ว ฉากนี้ทำเอาเราหัวเราะเสียเจ็บตับ

            ..........
            สำหรับชาวเว็บไซต์วันนี้ผมทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยเพลงหวานที่เป็นตัวเปิดให้แก่หนุ่มสาวคู่นี้ด้วย Pathe'tique ในท่อนสุดหวานอย่าง Adagio Cantabile กันครับ เป็นผลงานการบรรเลงของ Artur Rubinstein สุดยอดนักเปียโนชาวรัสเซียผู้ล่วงลับไปแล้ว เดี๋ยวสัปดาห์หน้าค่อยมาแนะนำเพลงจากซีรีส์เรื่องนี้กันต่อ
    ที่มา ผู้จัดการ
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×