ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    What's Up

    ลำดับตอนที่ #7 : วุ่นรักนักดนตรี..คอนเสิร์ตนี้ไม่มีเสียว (1)/ต่อพงษ์

    • อัปเดตล่าสุด 6 ก.ย. 50


    โดย ต่อพงษ์19 พฤษภาคม 2550 13:02 น.
           เคยไหมครับที่นั่งดูคอนเสิร์ตของนักร้องไทย จะเป็นฟรีคอนเสิร์ต หรือ จะไม่ฟรีก็แล้วแต่ แล้วเกิดคำถามขึ้นมาขณะที่ดูคนร้องเพลงเหล่านั้นกำลังครวญคราง
           
            คำถามก็คือ ข้อแตกต่างของความเป็นมือสมัครเล่นกับมืออาชีพต่างกันตรงไหน?
           
            สำหรับบรรดานักร้องไทยที่ออกเทปกันเป็นว่าเล่น อาจจะบอกว่านักร้องอาชีพก็คือ นักร้องที่สามารถหาเงินได้จากการขายเทป ขายซีดี หรือ ขายหน้า ขายตา เมื่อสามารถหาเงินได้คุณก็นับว่าเป็นมืออาชีพแล้ว
           
            แต่ถ้าคำถามนี้ไปถามบรรดาตัวละครต่างๆ ในซีรี่ส์ญี่ปุ่นเรื่องเยี่ยมมากๆ ที่ชื่อว่า Nodame Cantabile คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่า
           
           
    "คุณต้องทำให้มัน 'มากกว่า' การเล่นดนตรีเพื่อให้ตัวเองมีความสุข คุณต้องทำมากกว่านั้น คุณต้องฝึกฝนมากกว่านั้น คุณต้องพยายามให้มากกว่านั้น และเพื่อให้กลายเป็นมืออาชีพ คุณจะต้อง 'ชน' กับดนตรีตรงๆไม่มีการประนีประนอมเพื่อให้ได้มา"
           
            และสุดท้ายก็คือ คุณต้องจริงใจกับดนตรีกันหน่อย!!

           
            ผมเองชีวิตนี้ดูหนังมาเยอะมากๆ ในจำนวนเหล่านั้นเป็นหนังที่เกี่ยวกับประวัตินักดนตรีก็เยอะ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับดนตรีคลาสสิก แต่เชื่อหรือไม่ว่า ละครชุดจากญี่ปุ่นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เมื่อดูจบทุกตอนแล้ว มันจะทำให้คุณวิ่งไปหาแผ่นเพลงซีดีคลาสสิกมานั่งฟังกันไปทุกคราว
           
            ถ้าโหมโรงเป็นหนังที่ทำให้คุณอยากฟังเสียงระนาด Swing Girl ก็เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้คุณอยากฟังแจ๊สยุคบิ๊กแบนด์ ขณะที่ Nodame Cantabile ก็เป็นซีรี่ส์ที่ทำให้คุณอยากเป็นเจ้าของร้านขายเพลงคลาสสิก เพราะคุณจะได้ฟังมันอย่างไม่รู้เบื่อ
           
            ไม่เจอมานานแล้วครับที่หนังสามารถเลือกเพลงคลาสสิกมาได้เข้ากับเรื่อง...และที่สำคัญหนังแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งเสียงเพลงที่สร้างปราฏิหาริย์ให้แก่ตัวละครในเรื่องได้นับครั้งไม่ถ้วน
           
            เมื่อผมดูจบชุดแล้วก็เกิดความฝันว่า หนังชุดเรื่องนี้มันจะไปผ่านตาผู้บริหารโทรทัศน์สักช่อง แล้วมันจะดลใจให้เขาเหล่านั้นซื้อมันมาฉายให้คนไทยดูกันมากๆ กว่านี้ จะเป็นกุศลต่อตัวเองและต่อลูกหลานคนไทยอีกมาก
           
            พูดก็พูดนะครับ ซีรี่ส์ญี่ปุ่นนั้นกลับไม่เป็นที่รู้จักในเมืองไทยเท่าไหร่นัก ต่างไปจากซีรี่ส์เกาหลีซึ่งฮิตกันเหลือเกิน ส่วนตัวผมชอบซีรี่ส์ญี่ปุ่นและมีข้อสังเกตเอาไว้ว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ของซีรี่ส์เหล่านี้แม้จะเบาสมองบ้าง ฮาบ้าง ไปตามวิธีการนำเสนอ แต่แก่นของเรื่องที่แท้จริงที่เคียงคู่ไปกับเรื่องของความรัก กลับเป็นเรื่องของการต่อสู้ในหน้าที่การงานเป็นหลัก ความรักกลับเป็นเพียงแค่ผงชูรสเท่านั้น มิใช่เมนูหลักของซีรี่ส์เหล่านี้เลย
           
            เชื่อหรือไม่ครับบรรดาซีรี่ส์เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น Attention Please (เรื่องของการฝึกฝนตนให้เป็นแอร์โฮสเตจ) My Ex-Boy Friend (เรื่องของการสู้เพื่อกระตุ้นยอดขายพนักงานห้างสรรพสินค้า) Good Luck (กว่าจะมาเป็นนักบิน) Engine (เรื่องของนักแข่งรถ) Pride (เรื่องของนักฮอคกี้) Sapuri (เรื่องของสาวนักโฆษณาที่ฝันจะขึ้นมาสู่ตำแหน่งสูงสุดในบริษัท) Hero (เรื่องของอัยการ) Top Caster (เรื่องของนักข่าว) Aoi Nurse (เรื่องของพยาบาลสาวที่ต้องการพิสูจน์ตัวเอง) Beautiful Life (เรื่องของช่างตัดผมกับบรรณารักษ์ขาพิการ) ฯลฯ
           
            เรื่องทั้งหมดนี้แสดงภาพพระเอกกับนางเอกจูบกันน้อยมาก จับมือถือแขนก็น้อยมาก ฉากที่จะไปเดินไร้สาระช็อปปิ้งกันแทบไม่มี ฉากที่พระเอกกับนางเอกจะมีเวลาว่างมาไล่จีบกันหรือต่อล้อต่อเถียงกันก็ไม่มี ไม่มีนังตัวร้ายประเภทไม่รู้มึงจะกรี๊ดให้หูแตกอะไรนักหนา ไม่มีฉากที่นังตัวร้ายพยายามใช้เซ็กส์ไปล่อให้พระเอกมาติดกับ ไม่มีฉากที่พระเอกจะต้องหึงและงอนอย่างไรเหตุผล ไม่มีฉากประเภทที่นางเอกปากกล้าท้าทายพระเอกขณะที่เมาจนกระทั่งโดนข่มขืน(ในสภาพที่ตื่นขึ้นมาก็จำอะไรไม่ได้) ไม่มีฉากที่นางเอกต้องจำยอมรับรักพระเอก เพียงเพราะ ดันมีไอ้ตัวมารหัวขนมาโผล่ในท้อง ไม่มีคนใช้ประเภทสาระแน และไม่มีคุณหญิงแม่ที่นั่งเชิดเสียจนน่าตบกระโหลก!!
           
            คือความไร้สาระและการขายฝันที่อยู่ในขนบธรรมเนียมและประเพณีของละครไทยนั้น มันไม่ไปปรากฏอยู่ในซีรี่ส์ญี่ปุ่นเหล่านี้เลย

           แต่ก็แปลกอีกเหมือนกันที่เนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องงานเป็นหลักนั้นกลับตรึงให้เราติดหนับกับการไล่ชมกันชั่วโมงต่อชั่วโมงได้อย่างไม่เบื่อ รู้สึกว่าดูแล้วได้ความรู้ รู้สึกว่ารู้แล้วไม่เสียดายเวลา และมีคุณค่าพอที่จะนั่งดูมัน และเมื่อไปไล่เช็กดูเรตติ้งของละครเหล่านี้ ปรากฏว่าก็ฮิตกันทั้งสิ้น
           
            ดูแล้วก็ฝันนะครับว่า เมื่อไหร่ละครไทยจะเลิกขนบธรรมเนียมเก่าๆ ที่เคยปฏิบัติอย่างต่ำก็ 30 ปีนี้แล้วนำพาคนดูไปสู่ยุคใหม่กันบ้าง เพราะในความจริงแล้วละครทีวีก็สามารถที่จะทำให้คนฉลาดขึ้นได้ และประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศเขาก็ผลิตซีรี่ส์ที่ดูแล้วฉลาดๆ ออกมาให้คนดูได้เสพกัน ญี่ปุ่นนั้นไม่ต้องพูดเพราะเยอะเหลือเกิน อเมริกาก็มีละครไพรม์ไทม์อย่าง C.S.I, House, ER,West Wing, The Practice และอีกมาก
           
            แต่ของไทยกี่ปีกี่ชาติก็ยังอุดมไปด้วยความด้อยปัญญาเช่นเดิม
           
            คำถามคือทำไมคนทำละครบ้านเรา คนคุมทีวีบ้านเรา และนายทุนในบ้านเราถึงยินดีที่จะเห็นคนไทยซึมซับความเขลาเบาปัญญาแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ
           
           
    ใครก็ได้ช่วยตอบหน่อยครับว่าทำไม ?
            ..........
            Nodame Cantabile เป็นละครที่พัฒนามาจากการ์ตูนของ Tomoko Ninomiya เป็นเรื่องราวของนักเรียนดนตรีสองคนที่แตกต่างกันสุดขั้ว แต่ต้องมาอยู่หอพักห้องติดกัน ขณะที่พระเอกเป็นพวกเพอร์เฟ็กต์ชั่นนิสม์ เนี้ยบ และคิดๆๆๆๆๆๆ ทุกๆ เรื่องเป็นจริงเป็นจังตลอดเวลา แต่นางเอกโนดาเมะของเรากลับเป็นคนสันหลังยาวสุดโคตร บ้าของกิน ไม่เคยคิดอะไรเลยนอกจากความฝันของตัวเองที่อยากเป็นครูสอนโรงเรียนอนุบาล แต่ที่พระเอกและนางเอกมีเหมือนกันคือพรสวรรค์ทางด้านดนตรีที่เปี่ยมล้น

           
            ปมมันอยู่ตรงนี้ว่าพระเอกเองเก่งสุดๆ แต่ก็ไปฝึกฝนและหาประสบการณ์ที่เมืองนอกไม่ได้ เพราะกลัวเครื่องบินและกลัวเรือ นางเอกมีพรสวรรค์แบบเด็กมหัศจรรย์ในตำนานของนักดนตรีโลก นั่นคือ ฟังเล่นครั้งเดียวก็บรรเลงเพลงกันได้เลย แต่เพราะพรสวรรค์แบบนี้นี่เองที่ทำให้เจ้าหล่อนไม่เคยอ่านสกอร์และโน้ตเพลงเลย อาศัยหูฟังล้วนๆ แล้วเล่นออกมา มั่วบ้าง ตรงบ้าง และมีมนต์ขลังเหลือเกิน
           
            พระเอกไม่เคยรักนางเอกมาก่อน ออกจะรังเกียจความสกปรกเสียด้วย แต่ก็ติดใจในมนต์ขลังของเสียงเปียโนที่นางเอกบรรเลง นางเอกกรี๊ดพระเอกแต่ต้นเรื่อง เอ่ยปากว่ารัก และแสดงท่าทีฮาๆ เหมือนเจอของเล่นตลอดเวลา แต่ก็ไม่เคยที่จะทำอะไรเกินเลยไปมากกว่ามาขอข้าวกิน ขออาบน้ำ เพราะไฟในห้องเธอถูกตัด
           
            แต่ความอ่อนของนางเอกกลับทำให้พระเอกที่เป็นพวกเพอร์เฟ็กต์ชั่นนิสต์ได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองขาดไปและสุดท้ายมันทำให้เขาได้ในสิ่งที่หวังไว้นั่นคือ การเป็นคอนดักเตอร์ระดับโลก
           
            เนื้อหาของเรื่องมีแค่นี้ แต่ทว่ารายละเอียดและตัวละครที่มีแต่ความใสซื่อ เนื้อหาที่สะอาดทั้ง 11 ตอน อารมณ์ขันที่ใส่มาเสียหมดแม็ก รวมกับอารมณ์ปิติที่พระเอกและนางเอกเอาชนะอุปสรรคของตัวเองไปทีละขั้น ทีละตอนนั้นทำให้คนดูเอาใจช่วยอย่างไม่รู้ตัว
           
            ดูเรื่องนี้ระวังอย่างเดียวก็คือกรามจะค้างโดยไม่รู้ตัว เพราะหนังมันสนุกจริงๆ ครับ
           
            แต่ที่โดดเด่นและเป็นตัวแสดงที่โดดเด่นที่สุดในเรื่องนี้มิใช่ Juri Ueno สาวน้อยที่เคยแสดงบทเด่นในเรื่อง Swing Girl และก็ไม่ใช่ Hiroshi Tamaki พระเอกของเรื่องที่เป็นไอ้หน้าตายจอมยะโสตลอดทั้งเรื่อง ไม่ใช่ Naoto Takenaka ซึ่งสวมบทเป็นคอนดักเตอร์ระดับโลกซึ่งมาชี้ทางสว่างให้นางเอกและพระเอก แล้วก็ไม่ใช่ Eita Nagayama ผู้สวมบทนักไวโอลินที่อยากเป็นดาราร็อก
           
            พระเอกตัวจริงของเรื่องกลับเป็น ดนตรีคลาสสิกที่ประดังกันเข้ามาทุกๆ ฉาก ทุกอารมณ์ของตัวละคร เรียกว่าเป็นซีรี่ส์เรื่องหนึ่งที่ใช้เพลงคลาสสิกได้อย่างทรงพลังและซาบซึ้งตรึงใจมากที่สุด
           
            เนื้อที่หมดแล้วครับเดี๋ยวคราวหน้าจะมาพูดถึงซีรี่ส์น่าประทับใจเรื่องนี้กันต่อ แต่ก่อนจบขอทิ้งท้ายด้วยเพลงคลาสสิกเพราะๆ 1 เพลงที่ถูกนำมาใช้ในเรื่องนี้ได้อย่างสวยงาม เป็นท่อนหวานของ ไวโอลิน โซนาต้า หมายเลข 5 ที่เรียกชื่อว่า Spring ซึ่งเป็นบทเพลงแห่งฤดูใบไม้ผลิ
           
           
    ฟังเพลงนี้แล้วมองออกไปนอกหน้าต่างขณะที่ฝนกำลังตกอยู่จะได้อารมณ์เป็นอย่างยิ่งครับ (คลิกฟังเพลงได้ที่ไอคอนขวามือด้านบน)


    ที่มา ผู้จัดการ
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×