ลำดับตอนที่ #9
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #9 : สาธารณรัฐบัลแกเรีย
|
|
Republic of Bulgaria |
ข้อมูลทั่วไป |
พื้นที่ 110,910 ตารางกิโลเมตร (ราว 1 ใน 5 ของประเทศไทย) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของยุโรปกลาง มีพรมแดนติดกับตุรกีและกรีซทางตอนใต้ มาซีโดเนีย และเซอร์เบียและมอนเตเนโกรทางตะวันตก โรมาเนียทางเหนือ และทะเลดำ ทางทิศตะวันออก โดยมีพรมแดนรวมทั้งสิ้น 2,245 กิโลเมตร
ภูมิประเทศ พื้นที่ของประเทศเป็นที่ราบลุ่ม และที่ราบสูง ร้อยละ 40 และเป็นเนินเขาและภูเขา ร้อยละ 60 โดยมีเทือกเขา Stara Planina (Balkan Range) ทอดผ่านตอนกลางของประเทศจากทิศตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตก มีที่ราบลุ่มแม่น้ำดานูบอยู่ด้านทิศเหนือ มีภูเขา Rhodope อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ และมีที่ราบ Thracian Plain อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
เมืองหลวง กรุงโซเฟีย (Sofia)
ประชากร 7.8 ล้านคน
เชื้อชาติ บัลแกเรียน 83.6% เติร์ก 9.5% และอื่นๆ (มาซีโดเนียน อาร์มีเนียน ตาตาร์)
ศาสนา Bulgarian Orthodox 83.8% มุสลิม 12.1% โรมันคาธอลิค 1.7%
ภาษา ภาษาบัลแกเรีย ซึ่งเป็นภาษาตระกูลสลาฟ
อัตราการรู้หนังสือ 98.6%
เมืองสำคัญ Plovdiv Varna Bourgas
เมืองท่าสำคัญ Bourgas และ Varna ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลดำ
ระบบการเมือง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ระบบนิติบัญญัติเป็นระบบสภาเดี่ยว ประกอบด้วยสมาชิกสภา 240 คน (เลือกตั้งในระบบ party lists) สำหรับระบบศาลเป็น three-tiered system
ประธานาธิบดี นาย Georgi PARVANOV (รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2544)
นายกรัฐมนตรี นาย Simeon SAXE-COBURG-GOTHA (รับหน้าที่ 24 กรกฎาคม 2544) เป็นอดีตกษัตริย์ Simeon II แห่งบัลแกเรีย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Solomon PASSY (รับหน้าที่ กรกฎาคม 2544)
พรรคการเมือง พรรค National Movement Simeon II พรรค United Democratic Forces พรรค Bulgarian Socialist Party และพรรค Movement for Rights and Freedoms
GDP 19.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2546)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 2,550 ดอลลาร์สหรัฐ (2546)
อัตราเงินเฟ้อ 2.3% (2546)
อัตราการเจริญเติบโต 4.3% (2546)
อุตสาหกรรมที่สำคัญ ไฟฟ้า แก๊ส น้ำ อาหาร ยาสูบ เครื่องจักรและอุปกรณ์ โลหะพื้นฐาน ผลิตภัณฑ์เคมี
การเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรม 2%
สัดส่วนการส่งออก 51.2% ของ GDP
สัดส่วนการนำเข้า 59.6% ของ GDP
การลงทุนจากต่างประเทศ 691.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.79%
อัตราคนว่างงาน 18%
ทรัพยากรธรรมชาติ บ๊อกไซต์ ทองแดง ตะกั่ว ถ่านหิน แร่เหล็ก โครเมียม แมงกานีส และไม้
สกุลเงิน เลฟ (Lev)
อัตราแลกเปลี่ยน 1 US$ = เท่ากับ 1.59 เลฟ
สาขาธุรกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง การก่อสร้าง อาหาร อุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ การเงิน ประกันภัย บริการด้านสุขภาพ โทรคมนาคม การท่องเที่ยว
สาขาที่มีศักยภาพในอนาคต อุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ อาหารแปรรูป สิ่งทอ
สินค้าส่งออกสำคัญ เสื้อผ้า รองเท้า เหล็ก เครื่องมือเครื่องจักร เชื้อเพลิง
สินค้านำเข้าสำคัญ เชื้อเพลิง แร่ วัตถุดิบ เครื่องมือเครื่องจักร โลหะเคมีภัณฑ์ พลาสติก อาหาร สิ่งทอ
ประเทศส่งออกสำคัญ อิตาลี ตุรกี เยอรมนี กรีซ
ประเทศนำเข้าสำคัญ รัสเซีย เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส
การเมืองการปกครอง |
บัลแกเรียมีฐานะเป็นรัฐชาติในปีค.ศ. 681 ประกอบขึ้นจากชนชาติสลาฟและชนชาติบัลการ์ (ชนชาติยูเครนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในคาบสมุทรบอลข่าน) ตกอยู่ภายใต้อาณาจักรไบแซนไทน์ในปี ค.ศ. 1018 และต่อมา ตกอยู่ภายใต้อาณาจักรออตโตมัน 5 ศตวรรษ จากปีค.ศ. 1396 จนถึงปีค.ศ.1878 จึงได้รับการยอมรับในฐานะประเทศเอกราชในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีความสัมพันธ์ อย่างใกล้ชิดกับจักรวรรดิรัสเซีย บัลแกเรียเข้าร่วมในสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งกับฝ่ายอักษะ และเมื่อเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง จึงถูกกำหนดโดยฝ่ายสัมพันธมิตรให้สหภาพโซเวียตปกครอง บัลแกเรียปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และเปลี่ยนแปลง การปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อปีค.ศ. 1989
สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน
ภายหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกในต้นทศวรรษ 1990 บัลแกเรียได้เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1991 รัฐสภาบัลแกเรียได้รับรองรัฐธรรมนูญของประเทศ อย่างไรก็ดี ในช่วงแรก ภายหลังการปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองของประเทศนั้น บัลแกเรียอยู่ในสภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียภายใต้ชื่อใหม่คือ Bulgarian Socialist Party (BSP) ยังคงมีอิทธิพลอยู่ โดยได้รับเสียงส่วนใหญ่ ในการเลือกตั้งทั่วไป นอกจากนี้ ความตกต่ำทางเศรษฐกิจ และการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ไม่บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรม ได้ผลักดันให้ประชาชนก่อการประท้วงใหญ่หลายครั้ง อย่างไรก็ตาม สภาวะทางการเมืองภายในของบัลแกเรียเริ่มมีเสถียรภาพขึ้น หลังจากเริ่มนโยบายการปฏิรูประบบเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี ค.ศ.1997
ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2001 พรรค National Movement for Simeon II (NDST) ของนายกรัฐมนตรี Simeon Saxe-Coburg Gotha อดีตกษัตริย์ของบัลแกเรีย ได้รับคะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 1 (42.7%) และได้จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับกลุ่ม Movement for Rights and Freedom (DPS) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองที่มีเป้าหมายร่วมกันในการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้แก่ชนกลุ่มน้อยชาวเติร์กและโรมา
รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Saxe-Coburg Gotha มีนโยบายมุ่งเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน ลดภาวะหนี้ของประเทศ และต่อต้านการคอรัปชั่น อย่างไรก็ดี รัฐบาลชุดนี้ประสบปัญหาไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนในการบริหารประเทศ โดยในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2001 ได้เกิดการชุมนุมประท้วงขึ้นในกรุงโซเฟียในวันที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Saxe-Coburg Gotha เข้ามาบริหารประเทศครบ 100 วัน นอกจากนี้ การที่นาย Georgi Parvanov ประธานาธิบดีบัลแกเรียคนปัจจุบันเป็นผู้แทนจากพรรค BSP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล และการลาออกของรัฐมนตรีบางรายนับตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2003 อาทิ รองนายกรัฐมนตรี Gati Al-Djeburi และล่าสุด รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นาย Milen Velchev เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 2003 ได้ทำให้สถานการณ์การเมืองภายในมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น
รัฐบาลชุดปัจจุบันประกอบด้วยรัฐมนตรีจำนวน 19 คน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 2003 นายกรัฐมนตรี Saxe-Coburg Gotha ได้ประกาศปรับคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ของการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ โดยตำแหน่งสำคัญที่มีการปรับเปลี่ยน อาทิ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ รัฐมนตรีกระทรวงการขนส่งและการสื่อสาร รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ใช้แนวทางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการแต่งตั้งรัฐมนตรี เช่น การแต่งตั้งให้นาย Slavcho Bogoev นักเศรษฐศาสตร์และนักบริหารมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแทนนาย Bozhidar Finkov ซึ่งเดิมเป็นแพทย์และไม่มีความชำนาญด้านการบริหาร การปรับเปลี่ยนดังกล่าวนับเป็นการส่งสัญญาณถึงความพยายามของนายกรัฐมนตรีในการปรับปรุงภาพลักษณ์ของพรรค NDST ที่มีคะแนนนิยมลดลงนับตั้งแต่ได้เข้ามาบริหารประเทศ
บัลแกเรียกับองค์การระหว่างประเทศ
หลังการล่มสลายขององค์การทางเศรษฐกิจ COMECON เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1998 และ Warsaw Pact เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1991 บัลแกเรียเข้าเป็นสมาชิกองค์กรความร่วมมือของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ดังนี้
- เป็นสมาชิก Council of Europe ค.ศ.1992
- เป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจกลุ่มประเทศทะเลดำ ค.ศ.1992
- เป็นสมาชิกสมทบ Western European Union ค.ศ.1994
- เป็นสมาชิกสมทบสหภาพยุโรป ค.ศ.1994
- ยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ค.ศ.1996
- เป็นสมาชิกองค์การค้าโลก (WTO) ค.ศ.1996
- ยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกองค์การ NATO ค.ศ.1997
- ลงนามความตกลงเขตการค้าเสรียุโรปกลาง CEFTA ค.ศ.1998 และเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ ค.ศ.1999
- เป็นสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 2002
นโยบายต่างประเทศ
1. ให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพในคาบสมุทรบอลข่าน ทั้งนี้ บัลแกเรียมองว่าประเทศของตนเป็น stabilizing force ทางการเมืองในคาบสมุทรบอลข่าน และเป็นประเทศทางผ่านสินค้า (transit) ในภูมิภาค โดยจากกรุงโซเฟีย มีทางรถยนต์เชื่อมกรุงเบลเกรด และกรุงอิสตันบูล และเป็นเส้นทางจากยุโรปเหนือไปกรุงเอเธนส์ ผ่าน Skopje และ Salonica
2. สนับสนุนการบูรณาการของทวีปยุโรปในกรอบกว้างที่มีสหรัฐฯรวมอยู่ด้วย ที่เรียกว่า Euro-Atlantic Integration บัลแกเรียเข้าร่วมในโครงการ NATO Partnership for Peace โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การ NATO ตั้งแต่ปีค.ศ. 1997 และจะได้เข้าเป็นสมาชิก NATO ในปีค.ศ. 2004 พร้อมกับ ลัตเวีย ลิธัวเนีย เอสโตเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนียและโรมาเนีย บัลแกเรียจะได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปีค.ศ. 2007 พร้อมกับโรมาเนีย
3. สนับสนุนการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียและประเทศเอกราชที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียต
เศรษฐกิจการค้า |
บัลแกเรียประสบวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปีค.ศ. 1989 ภายหลังที่ COMECON (องค์กรความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก) ล่มสลายลงพร้อมกับการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต เศรษฐกิจของบัลแกเรียฟื้นตัว เป็นครั้งแรกภายหลังวิกฤตการณ์ในปี ค.ศ.1994 โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2002 บัลแกเรียได้ทำความตกลง Stand-by Arrangement กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีระยะเวลา 2 ปี ภายใต้วงเงิน 337 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจนถึงปัจจุบัน บัลแกเรียได้กู้เงินจาก IMF ภายใต้ความตกลงดังกล่าว จำนวน 191 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ.2003 คณะกรรมการบริหารของ IMF ได้สิ้นสุดการทบทวนการดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจของบัลแกเรียเป็นครั้งที่ 3 ของปี ค.ศ.2003 และเห็นว่า ดัชนีเศรษฐกิจมีผล เป็นที่น่าพอใจ จึงอนุมัติให้บัลแกเรียมีสิทธิกู้เงินได้อีก จำนวน 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การปฏิรูปเศรษฐกิจมหภาคของบัลแกเรียเป็นไปในเชิงบวก และเศรษฐกิจมีแนวโน้มพัฒนาดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมีการดำเนินการตามแผนของ IMF และ Currency Board อย่างเคร่งครัด เป็นผลให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานลดลงเป็นลำดับ สถานะทางเศรษฐกิจของบัลแกเรียจึงมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ การปฏิรูปเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ มีความก้าวหน้ามาก อาทิ ภาคพลังงาน ภาคการเดินรถไฟ ภาคการบริหารการเก็บภาษี และภาคการแปรรูปธนาคารของรัฐหลายธนาคาร ซึ่งการรักษาความต่อเนื่องของการพัฒนาบรรยากาศทางธุรกิจและการลงทุน จะเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของบัลแกเรียต่อไปในระยะกลาง โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อสร้างความพร้อมให้กับบัลแกเรียในการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปีค.ศ. 2007
ศักยภาพทางเศรษฐกิจ
บัลแกเรียถือเป็นตลาดส่งออกที่มีลู่ทางที่จะขยายตัวได้อีกมากของไทย และเป็นประเทศที่อยู่ในระหว่างการปฏิรูปและมีลู่ทางที่จะมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศของยุโรปต่อไป นอกจากนี้ บัลแกเรียยังเป็นสมาชิกขององค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจทะเลดำ (Black Sea Economic Cooperation) รวมทั้ง บัลแกเรียจะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปีค.ศ. 2007 บัลแกเรียมีทำเลที่ตั้ง เป็นเมืองท่าในทะเลดำ และมีพื้นที่ติดกับประเทศในคาบสมุทรบอลข่านที่ไม่มีทางออกทะเล อาทิ มาซีโดเนียและมอนเตเนโกร เป็นต้น อีกทั้งมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก หากได้รับการพัฒนาและนำมาใช้ให้ได้ประโยชน์ จะเป็นตัวเสริมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของไทยได้ นอกจากนี้ ยังมีค่าจ้างแรงงานถูก ประชากรมีการศึกษาสูง ปัจจุบันมีนักลงทุนจากเยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ เข้าไปลงทุนในบัลแกเรียมากขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐบัลแกเรีย |
ไทยและบัลแกเรียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ.1974 โดยเดิมได้แต่งตั้งให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบลเกรด ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำบัลแกเรียอีกตำแหน่งหนึ่ง ส่วนบัลแกเรียได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตในกรุงเทพฯ และมีเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยจนถึงกลางปี ค.ศ.1990 ต่อมา บัลแกเรียได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผลให้มีการปิดสถานเอกอัครราชทูต 20 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียและแอฟริกา สำหรับในไทย ยังคงสถานเอกอัครราชทูตฯ ไว้ แต่ลดระดับผู้แทนเป็นอุปทูต ปัจจุบัน มีนาย Roumen Sabev เป็นอุปทูต และกำลังอยู่ระหว่างการขออนุมัติบัตรแต่งตั้งนายสมบัติ เลาหพงษ์ชนะ เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์บัลแกเรียประจำประเทศไทย
ไทยยังไม่มีสำนักงานทางการทูตในบัลแกเรีย แต่ได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ดูแล และแต่งตั้งนาย Victor Melamed เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำบัลแกเรีย เพื่อช่วยดูแลผลประโยชน์ของไทยในบัลแกเรีย และอำนวยความสะดวกเรื่องการตรวจลงตรา เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2002
การแลกเปลี่ยนการเยือน
ฝ่ายไทย
- การเยือนบัลแกเรียอย่างเป็นทางการของนายพิชัย รัตตกุล เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2003
- การเสด็จฯ เยือนบัลแกเรียอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม ค.ศ.1999
- การเดินทางเยือนบัลแกเรียของนายกรพจน์ อัศวินวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน ค.ศ.2000
- การเยือนบัลแกเรียของ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ภายใต้กรอบพิธีสารความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยและบัลแกเรีย ระหว่างวันที่ 16-18 มิถุนายน ค.ศ.2000
- การเยือนบัลแกเรียอย่างเป็นทางการของนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ระหว่างวันที่ 15-19 กรกฎาคม ค.ศ.2002
หมายเหตุ เมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.2002 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี พระราชทานพระวโรกาสให้นายกีออร์กี้ ปาร์วานอฟ ประธานาธิบดีบัลแกเรีย เข้าเฝ้า ระหว่างการประชุม World Summit on Sustainable Development ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก
ฝ่ายบัลแกเรีย
- การเยือนของนาย Spass Georgiev รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 18-21 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1977
- การเยือนของนาย Liubomir Popov รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 2-5 ธันวาคม ค.ศ.1984
- การเยือนของนาย Valentin Dobrev รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1992
- การเยือนของ Dr. Roumen Hristov รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม 2 เมษายน ค.ศ.1994
- การเยือนของนาย Boyko Mirchev รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 12-14 สิงหาคม ค.ศ.1997 เพื่อร่วมลงนามในพิธีสารว่าด้วยการปรึกษาหารือและความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ
- การเยือนของนาย Vladimir Atanassov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ ระหว่างวันที่ 17-20 มีนาคม ค.ศ.2003 เพื่อร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการศึกษาไทย-บัลแกเรีย
- การเยือนอย่างเป็นทางการของนายกีออร์กี้ ปาร์วานอฟ (Mr. Georgi Parvanov) ประธานาธิบดีบัลแกเรีย ระหว่างวันที่ 11-12 กันยายน ค.ศ.2003
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ด้านการค้า
บัลแกเรียเป็นคู่ค้าของไทยในยุโรปตะวันออก ในลำดับที่ 5 รองลงมาจากฮังการี โปแลนด์ เช็ก และโรมาเนีย มูลค่าการค้าสองฝ่ายไทย-บัลแกเรียมีแนวโน้มลดลงอย่างมากตั้งแต่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี ค.ศ.1997 เป็นต้นมา จากที่มีมูลค่าสูงถึง 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1993 ลดลงเหลือ 14.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ.2001 และมีมูลค่า 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ.2002 ไทยเป็นฝ่ายเสียดุล 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (บัลแกเรียส่งออกไปยังไทย 12.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากไทย 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2546 การค้ารวมมีมูลค่า 10.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องซักผ้า และเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผักกระป๋องและแปรรูป เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เมล็ดพลาสติก แผงวงจร ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ อาหารกระป๋องและแปรรูป และหม้อแบตเตอรีและส่วนประกอบ
สินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปยังบัลแกเรีย ได้แก่ ตาข่ายจับปลา ทองแดง และผลิตภัณฑ์จากทองแดง ผลิตภัณฑ์ไม้
สิ่งทอ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ในครัวและบ้านเรือน
สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม อาหารสัตว์ ยากำจัดศัตรูพืช กาแฟ ชา เครื่องเทศ เส้นใยใช้ในการทอ เครื่องแต่งเรือน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
สินค้านำเข้าที่ไทยมีศักยภาพในการนำเข้าจากบัลแกเรีย ได้แก่ ปุ๋ย สินแร่โลหะอื่น ๆ และเศษโลหะ เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
ด้านการลงทุน
การแปรรูปกิจการของรัฐของบัลแกเรีย เป็นโอกาสให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนหรือร่วมลงทุนในบัลแกเรียได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจการภาคบริการที่เอกชนไทยมีความชำนาญและประสบการณ์ อาทิ การดำเนินการด้านการท่องเที่ยว การจำหน่ายสินค้ายกเว้นภาษี ณ สนามบินเมือง Bourgas การสร้าง Shopping Mall ซึ่งธุรกิจดังกล่าว จะช่วยเอื้ออำนวยต่อการกระจายสินค้าของไทยได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การเข้าไปลงทุนนบัลแกเรียควรเป็นลักษณะการร่วมลงทุนกับผู้ที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการดำเนินธุรกิจในแถบนั้น เพื่อศึกษาถึงวัฒนธรรมทางธุรกิจเสียก่อน
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีโครงการลงทุนจากบัลแกเรียที่มาขอรับการส่งเสริมจาก BOI
ด้านการท่องเที่ยว
บัลแกเรียยังเป็นตลาดท่องเที่ยวที่มีขนาดเล็กของไทย แต่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยในปี ค.ศ.2000 มีคนชาติบัลแกเรียเดินทางเข้ามาประเทศไทย จำนวน 661 คน ในปี ค.ศ.2001 จำนวน 575 คน ในปี ค.ศ.2002 จำนวน 1,283 คน และในปี ค.ศ.2003 จำนวน 1,264 คน
สายการบิน Balkan Bulgarian Airlines เคยให้บริการในเส้นทางระหว่างบัลแกเรียกับไทย แต่ได้หยุดให้บริการไปตั้งแต่กำหนดการบินประจำฤดูร้อนปี ค.ศ.2000 เนื่องจากปริมาณการจราจรมีไม่เพียงพอ ปัจจุบัน ชาวบัลแกเรียที่เดินทางเข้าไทย นิยมใช้เส้นทางผ่านอิสตันบูล
ข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน 2548
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น