ลำดับตอนที่ #9
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #9 : องค์การรัฐอเมริกัน
|
|
The Organization of American States |
ข้อมูลทั่วไป |
ประเทศสมาชิกปัจจุบัน 35 ประเทศ
ประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวร 45 ประเทศ และสหภาพยุโรป
ประวัติโดยสังเขป
องค์การรัฐอเมริกัน (OAS) ก่อตั้งขึ้นตามกฎบัตรโบโกตา ณ กรุงโบโกตา สาธารณรัฐ
โคลัมเบีย เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1948 ในระหว่างการประชุม the Ninth International American Conference จวบจนปัจจุบัน OAS นับว่าเป็นองค์การความร่วมมือทางการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดใน
ทวีปอเมริกา
ความพยายามที่จะก่อตั้งองค์การความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกานั้น
เริ่มต้นขึ้นภายหลังจากที่ประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาประกาศเอกราชจากจักรวรรดินิยมยุโรป
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยในปี ค.ศ. 1826 Simon Bolivar รัฐบุรุษผู้นำคนสำคัญของลาติน
อเมริกาพยายามรวบรวมประเทศเอกราชใหม่ในช่วงนั้นมารวมตัวกันภายใต้การประชุม Congress of Panama แต่ความคิดริเริ่มดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากการต่อต้านและแทรกแซงจากมหาอำนาจคือ อังกฤษและสเปน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1890 ความพยามยามที่จะสถาปนาองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยมีการจัดการประชุม The First International Conference of American States ขึ้นที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา นำมาซึ่งการจัดตั้งองค์การความร่วมมือระดับภูมิภาคแห่งแรกในทวีปอเมริกา คือ International Union of American States โดยมี Commercial Bureau of the American Republics ทำหน้าที่เป็น
หน่วยงานด้านเลขานุการขององค์การดังกล่าว โดยจะทำหน้าที่เป็นเพียงองค์การความร่วมมือทางด้านการค้าเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาในปี ค.ศ. 1910 Commercial Bureau of the American States ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Pan American Union โดยมีสำนักงานอยู่ที่กรุงวอชิงตัน (ที่ตั้ง OAS ปัจจุบัน) จวบจนการประชุม the Ninth International American Conference ในปี ค.ศ. 1948 ที่ประชุมจึงได้มีการลงนามในกฎบัตรโบโกตาดังที่กล่าวมาแล้ว ให้สถาปนาองค์การความร่วมมือทางการเมืองในทวีปอเมริกาภายใต้ชื่อ Organization of American States (OAS) ขึ้นทำหน้าที่แทน Pan American Union เดิม ซึ่งจะถูกยุบไปภายหลังการประชุมดังกล่าว โดยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า OAS เป็นองค์การความร่วมมือที่เก่าแก่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และมีจำนวนประเทศสมาชิกมากที่สุดในทวีปอเมริกา ตลอดจนเป็นหนึ่งในต้นแบบขององค์การความร่วมมือต่าง ๆ ภายในภูมิภาคที่จะเกิดขึ้นตามมาในระยะหลังด้วย
วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์เดิม : ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าองค์การรัฐอเมริกัน หรือ OAS นั้นเป็นองค์การความร่วมมือด้านการเมืองระหว่างประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกา โดยเหตุนี้วัตถุประสงค์หลักของ OAS จึงมุ่งเน้นเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านการเมือง ความมั่นคงในภูมิภาค การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี การส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขหลักสำหรับประเทศที่จะเข้าเป็นสมาชิก OAS) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการต่อต้านการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทวีปอเมริกา ซึ่งมีสหภาพโซเวียตและคิวบาเป็นหัวหอกสำคัญ อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิก OAS ยังมีการขยายความร่วมมือระหว่างกันในสาขาอื่น ๆ นอกเหนือจากการเมืองด้วย อาทิ การศึกษา การค้า สังคม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวัฒนธรรม เป็นต้น
วัตถุประสงค์ปัจจุบัน นับตั้งแต่ภาวะสงครามเย็นสิ้นสุดลงในต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา นำไปสู่การที่ประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาต่างพากันปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองในด้านต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง ให้สอดรับกับความตึงเครียดที่ผ่อนคลายลงและกระแสโลกา
ภิวัตน์ ดังจะเห็นได้จากมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากรัฐบาลเผด็จการทหารมาสู่มือรัฐบาลพลเรือน และการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์มาสู่ระบบตลาดเสรี ในหลาย ๆ ประเทศสมาชิก OAS อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเกิดขึ้นหลายกลุ่ม เช่น NAFTA, Andean Community, G3 ฯลฯ ซึ่งแม้ว่าในทางการเมือง OAS ยังได้รับการยอมรับในฐานะองค์การหลักทางด้านการเมืองของทวีปอเมริกาอยู่เช่นเดิม หากแต่จากสภาวะการเมืองและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ทำให้ OAS ต้องปรับบทบาทและวัตถุประสงค์ของตน โดยการลดความสำคัญของการต่อต้านการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ลงและหันมาให้น้ำหนักกับการสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การค้า การศึกษา สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การป้องกันและปราบปรามการลับลอบค้ายาเสพติดและการฉ้อราษฎร์บังหลวง
บทบาทของ OAS กับเขตการค้าเสรีแห่งทวีปอเมริกา
ในการประชุมสุดยอดผู้นำแห่งทวีปอเมริกา (Summit of the Americas) ครั้งแรกที่นครไมอามี สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1994 และครั้งที่สองที่กรุงซานติอาโก สาธารณรัฐชิลี เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1998 และครั้งที่ 3 ที่คอสตาริกา ที่ประชุมทั้งสามครั้งได้ตกลงร่วมกันที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรีแห่งทวีปอเมริกา (Free Trade Area of the Americas - FTAA) ภายในปี ค.ศ. 2005 อันจะทำให้ทวีปอเมริกากลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาดประชากรกว่า 800 ล้านคนและมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันประมาณ 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง OAS ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมสุดยอดทั้งสองครั้ง ให้ทำหน้าที่เป็นองค์การหลักเพื่อให้การสนับสนุนด้านเทคนิค โดยทำงานประสานกับองค์การความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ ในภูมิภาค อาทิ Inter-American Development Bank (IDB) และ the UN Economic Commission for Latin America and the Caribbean (ECLAC) ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีดังกล่าวให้บรรลุเป้าหมายในปี ค.ศ. 2005
ประเทศสมาชิก
ประเทศสมาชิก 35 ประเทศ ประกอบด้วยสมาชิกก่อตั้ง 21 ประเทศ (ค.ศ. 1948)
ได้แก่ อาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ชิลี โคลัมเบีย คอสตาริกา คิวบา สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส เม็กซิโก นิการากัว ปานามา ปารากวัย เปรู สหรัฐอเมริกา
อุรุกวัย เวเนซุเอลา และสมาชิกที่เข้าร่วมภายหลัง 14 ประเทศ ได้แก่ แอนติกัวและบาร์บูดา
เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีน จาเมกา บาร์เบโดส เกรนาดา สุรินัม โดมินิกา เซนต์ลูเซีย บาฮามาส
เซนต์คิตส์และเนวิส แคนาดา เบลิซ กายอานา ตรินิแดดและโตเบโก (หมายเหตุ : เมื่อปี ค.ศ. 1962 คิวบาถูกระงับการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การฯ แต่ยังมิได้ถูกขับออกจากสมาชิกภาพ)
ประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวร (Permanent Observer)
OAS เปิดให้ประเทศที่สนใจสมัครเข้าเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวร โดยในปัจจุบันมีประเทศผู้สังเกตการณ์ 45 ประเทศ และสหภาพยุโรป โดยมีประเทศในเอเชียใต้ 3 ประเทศ (อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา) และประเทศในเอเชียตะวันออก 2 ประเทศ (ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) โดยไทยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศแรกที่ได้เข้าเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวรของ OAS เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2541 และฟิลิปปินส์ได้เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ถาวรเมื่อเดือนสิงหาคม 2542
ประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวร (Permanent Observer) ของ OAS มีสิทธิในการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมสมัชชาใหญ่ คณะมนตรี และคณะกรรมาธิการต่าง ๆ รวมทั้งอาจเข้า
ร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมเฉพาะของคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ด้วย หากได้รับคำเชิญจากประธาน
ที่ประชุม นอกจากนี้ ประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวรจะได้รับเอกสาร และข่าวสารต่าง ๆ ของ OAS และได้รับเชิญให้ร่วมในการประชุมวาระพิเศษต่าง ๆ ด้วย
โครงสร้างภายใน OAS
1. สมัชชาใหญ่ (General Assembly)
เป็นองค์กรสูงสุดของ OAS มีขอบเขตหน้าที่ในการพิจารณาสถานการณ์ทั่วไป
งบประมาณ โครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภายใต้ OAS และกำหนดกรอบการปฏิบัติงานให้
สำนักเลขาธิการ (General Secretariat) โดยปรกติสมัชชาใหญ่จะเป็นที่ประชุมระดับรัฐมนตรี
ว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิก มีวาระการประชุมสามัญปีละ 1 ครั้ง ซึ่งอาจ
จัดขึ้นที่ประเทศสมาชิกหรือที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในกรณีที่มีสถานการณ์พิเศษ คณะมนตรีถาวร (Permanent Council) สามารถเรียกประชุมสมัยวิสามัญได้มติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ใช้หลักเสียงข้างมาก โดยประเทศสมาชิกมีสิทธิออกเสียงประเทศละ 1 คะแนน
2. คณะมนตรีถาวร (Permanent Council)
ทำหน้าที่ดูแลการปฏิบัติงานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมติของสมัชชาใหญ่ หรือ ที่ประชุมหารือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Meeting of Consultation of Ministers of Foreign Affairs) และดูแลการปฏิบัติการของคณะกรรมาธิการประจำต่าง ๆ คณะมนตรีประกอบด้วยผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ โดยมีการจัดประชุมเป็นประจำทุก ๆ 2 สัปดาห์ ที่สำนักงานใหญ่ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ
3. สำนักเลขาธิการใหญ่ (General Secretariat)
มีหน้าที่ดูแลการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ของคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ของ OAS ซึ่งได้รับอนุมัติจากสมัชชาใหญ่ โดยมีเลขาธิการ (Secretary General) และผู้ช่วยเลขาธิการ (Assistant Secretary General) ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากสมัชชาใหญ่ ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปีเป็นหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคนปัจจุบันคือนายซีซาร์ การ์วิเรีย ตรูฆิโย (Cesar Gaviria Trujillo) อดีตประธานาธิบดีโคลัมเบีย
นอกจากนี้ สมัชชาใหญ่ได้แต่งตั้งเลขาธิการอาวุโส (senior secretariat officials) และรองเลขาธิการทำหน้าที่ควบคุมและดูแลการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน เช่น คณะกรรมาธิการด้านการพัฒนา (Inter-American Council for Integral Development: CIDI) คณะกรรมาธิการควบคุมและปราบปรามยาเสพติด (the Inter-American Drug Abuse Control Commission: CICAD) คณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน (Inter-American Commission on Human Rights : IACHR) และหน่วยงานส่งเสริมการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย (Unit for Promotion of Democracy : UPD)
4. คณะกรรมาธิการฯ
OAS มีคณะกรรมาธิการที่สำคัญ ๆ ได้แก่ Inter-American Council for Integral Development (CIDI), Inter-American Juridical Committee (IAJC), Inter-American Commission on Human Rights (IACHR)
- คณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนา (Inter-American Council for Integral Development : CIDI) ก่อตั้งโดยกฎบัตรมานากัว (Managua Protocol) เพื่อทำหน้าที่แทน
คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม โดยทำหน้าที่ดูแล
การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วิทยาศาสตร์ ทั้งในด้านแนวนโยบาย ส่งเสริมกิจกรรม
และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น การสร้างงาน
แลกเปลี่ยนและถ่ายโอนเทคโนโลยี การส่งเสริมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การพัฒนาแบบยั่งยืนในด้านการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม และการแก้ปัญหา ความยากจนในหมู่ประเทศสมาชิก
- คณะกรรมาธิการตุลาการ (Inter-American Juridical Committee-IJC)
มีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ส่งเสริมการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ และศึกษา
ประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการรวมกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในทวีปอเมริกา คณะกรรมาธิการฯ ประกอบด้วยตุลาการจำนวน 11 คน ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากสมัชชาใหญ่และมีวาระการดำรงตำแหน่ง
คราวละ 4 ปี
- คณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน (Inter-American Commission on Human Rights: IACHR) เป็นองค์กรอิสระ ประกอบด้วยสมาชิกของคณะกรรมาธิการที่ได้รับเลือกตั้งอย่างอิสระและไม่ได้ถือเป็นตัวแทนรัฐบาลของประเทศสมาชิกจำนวน 7 คน คณะกรรมาธิการ
ด้านสิทธิมนุษยชนมีสิทธิพิเศษที่จะสืบสวนเรื่องสิทธิมนุษยชนได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากเลขาธิการ
และสมัชชาใหญ่ขององค์การรัฐอเมริกัน โดยพิจารณาประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนบนพื้นฐานของ American Declaration of the Rights and Duties of Man ปี ค.ศ. 1948 และ American Convention on Human Rights ปี ค.ศ. 1969 คณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่ในการ
จัดทำรายงานประจำปีเรื่องปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและสถานะด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิก
5. หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ OAS
การดำเนินโครงการต่าง ๆ ระหว่างประเทศสมาชิกยังสามารถดำเนินการภายใต้หน่วยงานอิสระอื่น ๆ ซึ่งอาจได้รับความสนับสนุนด้านงบประมาณ และเงินทุนบางส่วน หรือทั้งหมดจาก OAS โดยมีขอบข่ายความร่วมมือครอบคลุมด้านการเกษตรแรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายระหว่างประเทศ การขนส่ง โทรคมนาคม การสาธารณสุข การเดินทาง สถิติ การท่องเที่ยว ฯลฯ หน่วยงานที่สำคัญ ๆ อาทิ Inter-American Children’s Institute, Inter-American Commission on Women, Inter-American Defense Board, Inter-American Development Bank, Inter -American Institute for Cooperation in Agriculture ฯลฯ
ประเทศไทยในฐานะผู้สังเกตการณ์ถาวรองค์การรัฐอเมริกัน
ในสภาวะสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ประเทศต่างๆ หันมาให้ความสนใจขยายความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้นโดยไม่เฉพาะแต่จะให้ความความสำคัญเฉพาะต่อประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศมหาอำนาจเท่านั้น รัฐบาลไทยเองก็ได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงได้มีนโยบายแน่ชัดที่จะขยายความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น และเห็นว่า ลาติน
อเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีประชากรจำนวนมาก มีพลังทางเศรษฐกิจ มีพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว และเป็นแหล่งทรัพยากรของโลก ทั้งยังมีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกับไทย ประกอบกับไทยมีความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่ราบรื่นกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค จึงเห็นว่าไทยกับลาตินอเมริกาจะสามารถเพิ่มพูนความสัมพันธ์ เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ และให้สามารถใช้ศักยภาพของกันและกันอย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น ไทยเล็งเห็นว่าองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States: OAS) เป็นองค์กรเก่าแก่และมีสมาชิกเป็นประเทศในทวีปอเมริกาถึง 35 ประเทศ ครอบคลุมประเด็นที่อยู่ในความสนใจหลากหลายทั้งทางการเมือง สังคม และมีส่วนสนับสนุนด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอเมริกาด้วย รัฐบาลไทยจึงได้อาศัยโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาองค์การรัฐอเมริกัน สมัครเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์องค์การรัฐอเมริกันและได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2541 โดยแต่งตั้งเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เป็นผู้สังเกตการณ์ถาวร
ที่ผ่านมาไทยได้อาศัยสถานะผู้สังเกตการณ์ถาวร OAS ติดตามความเคลื่อนไหวและพัฒนาการของประเทศต่างๆ ในทวีปลาตินอเมริกา โดยให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมต่างๆ ของ OAS อาทิ ประชุมด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของ OAS เมื่อเดือนมกราคม 2542 และการประชุมสมัชชาใหญ่ OAS ที่กัวเตมาลา เมื่อวันที่ 6-9 มิถุนายน 2542 ที่กัวเตมาลา นอกจากนั้น ยังได้ร่วมประชุมเกี่ยวกับการแก้ไขข้อพิพาท การส่งเสริมการป้องกันมิให้เกิดข้อพิพาทโดยการใช้มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ในฐานะที่ไทยเป็นประธาน ARF เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2543 ซึ่งจากการเข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุมเหล่านี้ นอกจากจะเปิดโอกาสให้ไทยได้ศึกษาพัฒนาการของทวีปอเมริกา ทำให้มีความถูกต้องฉับไวในการดำเนินนโยบายต่อภูมิภาคดังกล่าว ยังจะสามารถนำประสบการณ์เหล่านั้นมาศึกษาและอาจปรับ/สนับสนุนการใช้กับแนวนโยบายของไทยและของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย โดยในปี 2543 ไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมสมัชชาใหญ่ OAS ซึ่งจะจัดขึ้น ณ เมืองวินด์เซอร์ ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน 2543 ซึ่งไทยได้กำหนดกรอบความสนใจของไทยต่อประเด็นต่างๆ ของ OAS อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงของมนุษย์ (human security) ความมั่นคงในภูมิภาค การกำจัดทุ่นระเบิด และการปรับโครงสร้างของ OAS และในปี 2544 ได้ส่งผู้แทนไปร่วมการประชุมสมัชชาฯ ระหว่างวันที่ 3-5 มิ.ย. 2544 ที่กรุงซานโฆเซ ประเทศคอสตาริกา โดยให้ความสำคัญกับประเด็นการจัดตั้ง FTAA การจัดทำกฎบัตรประชาธิปไตย (Democratic Charter) และการปรับปรุงสิทธิมนุษยชนในทวีปอเมริกา
ไทยได้อาศัย OAS เป็นช่องทางในการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับประเทศในภูมิภาคนี้ โดยได้มีการพบปะระหว่างบุคคลสำคัญของสองฝ่าย อาทิ การที่นาย Cesar Gaviria Trujillo เลขาธิการ OAS เข้าเยี่ยมคารวะนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ
ต่างประเทศ ระหว่างการเยือนไทยเป็นการส่วนตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2542 และรัฐมนตรีว่าการฯ ได้พบกับ Chairman in Office ของ OAS เมื่อเดือนกันยายน 2542 นอกจากนั้น ไทยยังได้มอบเงินช่วยเหลือแก่เวเนซุเอลาเมื่อครั้งที่ประสบวาตภัยและโคลนถล่มเมื่อเดือนธันวาคม 2542 การให้เงินช่วยเหลือแก่เอลซัลวาดอร์เมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหว เมื่อเดือนมกราคม 2544 การให้เงินช่วยเหลือแก่เปรูเมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหว เมื่อเดือนมิถุนายน 2544 ซึ่งเวเนซุเอลา เอลซัลวาดอร์ เปรูและ OAS ได้แสดงความขอบคุณในไมตรีจิตของไทย ล่าสุด ไทยได้มอบเงินช่วยเหลือให้แก่เบลิซและคิวบา ซึ่งประสบวาตภัยในเดือนตุลาคม 2544 อีกด้วย เหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของไทยที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในทวีปอเมริกา และแสดงบทบาทอย่างเป็นรูปธรรมของไทยในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ OAS
-------------------------------------------------
กองลาตินอเมริกา
ตุลาคม 2544
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น