ลำดับตอนที่ #8
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #8 : ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง
|
|
Southern Cone Common Market MERCOSUR |
ข้อมูลทั่วไป |
- ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง MERCOSUR ในภาษาสเปน (Mercado Comun del Sur) หรือ MERCOSUL ในภาษาโปรตุเกส เริ่มก่อร่างขึ้นโดยสนธิสัญญา Asuncion ประเทศปารากวัยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 1991 ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย ครอบคลุมพื้นที่ 12 ล้านตารางกิโลเมตรและมีประชากรรวมกันประมาณ 215 ล้านคน ปริมาณการค้าและการลงทุนของประเทศสมาชิก MERCOSUR มีเท่ากับประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศในกลุ่ม
ลาตินอเมริกาทั้งหมด
- เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1994 ผู้นำ (ประธานาธิบดี) ของประเทศสมาชิกทั้งสี่ได้ลงนามในปฏิญญา Ouro Preto Protocol ซึ่งกำหนดให้เริ่มนำระบบสหภาพศุลกากรมาใช้ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1995 เป็นต้นไป
- เมื่อเดือนมิถุนายน 1996 ประธานาธิบดี Eduardo Frei แห่งชิลีได้ลงนามความตกลงเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกสมทบของชิลีใน MERCOSUR ทำให้ให้ชิลีมีสถานภาพเป็นสมาชิกสมทบของ MERCOSUR ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 1996
2. วัตถุประสงค์
- เปิดเสรีทางการค้าภายในภูมิภาค (Trade Liberalization Program)
- กำหนดนโยบายการค้าและอัตราภาษีศุลกากรต่อประเทศนอกกลุ่มในลักษณะเดียวกัน (Common External Tariff)
- ประสานและสร้างความกลมกลืนด้านนโยบายเศรษฐกิจของชาติในระดับมหภาค(Gradual Coordination of Macroeconomic Policies) และ
- การออกกฎระเบียบเพื่อนำปัจจัยและทรัพยากรการผลิตมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (Adoption of Sectorial Agreements)
3. โครงสร้าง
MERCOSUR ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
3.1 สำนักงานเลขาธิการ (Secretariat) MERCOSUR ไม่มีสำนักงานเลขาธิการถาวร เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการฯ จะหมุนเวียนไปยังประเทศต่าง ๆ ทุก 6 เดือน แต่มีสำนักงานบริหาร (administrative office) ที่กรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย ทำหน้าที่ด้านการเอกสารและงานธุรการ
3.2 คณะมนตรี (Council) มีการประชุมกันทุก 6 เดือน
3.3 คณะกรรมาธิการต่าง ๆ (Committees) อาทิ คณะกรรมาธิการบริหาร (Executive Committee) คณะกรรมาธิการการค้า (Trade Committee) เป็นต้น
4. ขั้นตอนของการรวมกลุ่ม
4.1 สหภาพศุลกากร (Custom Union)เริ่มนำระบบนี้มาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1995
4.2 เขตการค้าเสรี (Free Trade Area)กำหนดให้เริ่มใช้ระบบนี้ภายในปี 2005
4.3 ตลาดร่วม (Common Market)กำหนดให้ใช้ระบบนี้ในปี 2015 (เป็นเป้าหมายของการรวมกลุ่ม)
5. กลไกของ MERCOSUR
- การตัดสินใจทุกอย่างจะต้องเป็นไปโดยเอกฉันท์ระหว่างประเทศสมาชิก
- มีกลไกการหารือและการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก
6. ระบบการเก็บภาษีต่อประเทศนอกกลุ่มในอัตราเดียวกัน (Common Exterrnal Tariff)
- เมื่อปี 1994 ประเทศสมาชิกได้เจรจากันเพื่อกำหนดอัตราภาษีศุลกากรต่อประเทศนอกกลุ่มในอัตราเดียวกัน (Common External Tariff CET) และกำหนดให้เริ่มนำระบบ CET มาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1995 โดยมีช่วงเวลาการปรับตัว (transition period) สำหรับการใช้ CETซึ่งคาดว่าจะใช้กับสินค้าส่วนใหญ่ได้ประมาณปี 2001 อย่างไรก็ดี สำหรับสินค้าและบริการในบางประเภท เช่น สินค้าการสื่อสารข้อมูลและโทรคมนาคม จะขยายเวลาออกไปถึงปี 2006
- CET มีอัตราอยู่ระหว่างร้อยละ 0-20 ครอบคลุมสินค้าของประเทศสมาชิกประมาณร้อยละ 85 ของรายการสินค้าทั้งหมด อย่างไรก็ตาม CET มิได้มีผลบังคับใช้กับสินค้าของประเทศสมาชิกทุกรายการ แต่ละประเทศสามารถจะกำหนดรายการสินค้าของตนเองที่เป็นข้อยกเว้นไม่ใช้ CET ที่แตกต่างกันไป
7. หลักเกณฑ์ว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin)
- กำหนดไว้โดยทั่วไปว่า สินค้าที่จะขายในกลุ่มได้โดยได้รับการยกเว้นภาษี จะต้องมีส่วนประกอบที่ผลิตในกลุ่มฯ (local contents) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยสำหรับสินค้าแต่ละประเภทด้วย
- การส่งสินค้าจากประเทศหนึ่งในกลุ่ม MERCOSUR ต่อไปยังอีกประเทศหนึ่งภายในกลุ่ม นอกจากจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าของ MERCOSUR แล้วยังจะต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ภายในของประเทศปลายทางที่สินค้านั้น ๆ จะถูกส่งไปขายด้วย
8. ความเคลื่อนไหว
- กลุ่ม MERCOSUR กำลังเจรจากับสหภาพยุโรป (EU) เรื่องความตกลงเพื่อเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองในระยะสั้น ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการจัดตั้งสมาคมระหว่างภูมิภาค (inter-regional association)
- MERCOSUR มีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับกลุ่มประเทศ Closer Economic Relations (CER) อันประกอบด้วย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
- MERCOSUR กำลังพยายามขยายความสัมพันธ์กับกลุ่ม Andean Community
(เวเนซุเอลา โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เปรู โบลิเวีย) และกับเม็กซิโก
9. การเป็นสมาชิกสมทบ MERCOSUR ของชิลี
- MERCOSUR ประสงค์จะให้ชิลีเป็นสมาชิก (full member) แต่ชิลีได้ขอเป็นเพียงสมาชิกสมทบ (associated member) เนื่องจากสาเหตุสำคัญ คือ ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของชิลีที่ค่อนข้างสูงกว่ากลุ่ม MERCOSUR และชิลีเองก็มีระบบเศรษฐกิจที่เปิดเสรีกว่าประเทศ MERCOSUR อื่น ๆ นอกจากนี้ ชิลียังมีโครงสร้างภาษีที่แตกต่างจากประเทศกลุ่ม MERCOSUR ด้วย (ชิลีมีอัตราภาษีนำเข้าโดยทั่วไปประมาณร้อยละ 11) การเข้าเป็นสมาชิก MERCOSUR จะทำให้ชิลีต้องปรับอัตราภาษีนำเข้าให้สอดคล้องกับระบบ CET ของ MERCOSUR กล่าวคือต้องใช้อัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 0-20 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชิลีด้วย
10. อุปสรรคและปัญหา
10.1 ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิก บราซิลและอาร์เจนตินามีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าปารากวัยและอุรุกวัยมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อรวมกันเป็นเขตการค้าเสรีและตลาดร่วมต่อไป
10.2 ทิศทางของกลุ่มที่อาจถูกชี้นำโดยประเทศที่มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สูงกว่า คือบราซิลและอาร์เจนตินา
10.3 การที่แต่ละประเทศยังมีการคุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศระบบการกำหนดภาษีศุลกากรต่อประเทศนอกกลุ่มในอัตราเดียวกัน (CET) ได้เปิดช่องให้ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศสามารถกำหนดรายการสินค้าที่ได้รับการยกเว้นจากระบบ CET เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศของตน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการรวมกลุ่มไปสู่ระดับเขตการค้าเสรีและตลาดร่วมได้
กรกฎาคม 2545
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น