ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปเอเซีย

    ลำดับตอนที่ #8 : เขตบริหารพิเศษฮ่องกง

    • อัปเดตล่าสุด 9 ม.ค. 50




     
    เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
    Hong Kong Special Administrative Region : HKSAR


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกวางตุ้งของจีน ห่างจากนครกวางโจวประมาณ 130 กิโลเมตร

    พื้นที่ 1,092 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะฮ่องกง แหลมเกาลูน New Territories และเกาะเล็กเกาะน้อยอีก 235 เกาะ

    ระบอบการปกครอง เขตบริหารพิเศษของจีน (Special Administrative Region of the People's Republic of China) อยู่ภายใต้อธิปไตยของจีน (ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540)

    ผู้นำ
    นายโดนัลด์ เจิง (Honourable Donald Tsang) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Chief Executive) (ดำรงตำแหน่งเมื่อ 21 มิ.ย. 2548)
    นายราฟาเอล ฮุย (Honourable Rafael Hui) หัวหน้าคณะรัฐมนตรี (Chief Secretary for Administration)

    ประชากร 6.94 ล้านคน (มิ.ย. 2548) โดยร้อยละ 98 เป็นคนจีน

    อัตราการเติบโตของประชากร ร้อยละ 0.65 (2548)

    ภาษาราชการ อังกฤษและจีนกวางตุ้ง คนส่วนใหญ่เข้าใจภาษาจีนกลางได้ดี

    ศาสนา ส่วนใหญ่นับถือพุทธมหายาน และศาสนาอื่น ๆ

    ภูมิอากาศ ลักษณะภูมิอากาศแบบกึ่งเขตร้อน แบ่งเป็น 4 ฤดู มีผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน และความชื้นค่อนข้างสูง (ประมาณร้อยละ 79)

    ธง ใช้ธงชาติจีนเป็นธงประจำชาติ (เนื่องจากเป็นดินแดนภายใต้อธิปไตยของจีน) และมีธงประจำฮ่องกง ซึ่งพื้นธงสีแดง ตรงกลางเป็นรูปดอก ชงโค มีดาว 5 ดวงอยู่ที่ปลายเกสร

    เงินตรา ฮ่องกงดอลลาร์ (1 ฮ่องกงดอลลาร์เท่ากับ 5.08 บาท/ วันที่ 16 มี.ค. 2549 จากธนาคารแห่งประเทศไทย)

    GDP 177,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2548)

    GDP Growth ร้อยละ 7.3 (2548)

    รายได้เฉลี่ยต่อหัว 25,600 ดอลลาร์สหรัฐ (2548)

    ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 124,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2548)

    อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 1.1 (2548)

    อัตราการว่างงาน ร้อยละ 5.6 (2548) ลดลงจากปี 2547 ร้อยละ 1.2

    ประวัติศาสตร์
    เมื่อ พ.ศ. 2385 หลังจากสงครามฝิ่นระหว่างจีนกับอังกฤษครั้งที่ 1 ฮ่องกงตกเป็นของอังกฤษตามสนธิสัญญานานกิง (Treaty of Nanking) ต่อมาในปี พ.ศ. 2403 หลังจากสงครามฝิ่นครั้งที่สอง แหลมเกาลูนตกเป็นของอังกฤษตามอนุสัญญากรุงปักกิ่ง (Beijing Convention) และภายหลังที่จีนแพ้สงครามญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2438 ประเทศยุโรปพยายามแผ่อำนาจในจีน อังกฤษเห็นความจำเป็นที่จะต้องปกป้องอ่าวฮ่องกงและดินแดนรอบ ๆ จึงทำสัญญาเช่าเขตนิวเทอริทอรีจากจีน เมื่อ 9 มิถุนายน 2441 เป็นเวลา 99 ปี ดินแดนดังกล่าวประกอบด้วยพื้นที่เหนือแหลมเกาลูนไปจนจรดแม่น้ำเซินเจิ้น และเกาะต่าง ๆ อีก 235 เกาะ

    ในเดือนกันยายน พ.ศ.2515 จีนและอังกฤษเริ่มเจรจากันถึงอนาคตของเกาะฮ่องกง ภายหลังการโอนอธิปไตยเหนือฮ่องกงจากอังกฤษไปสู่จีน ในปี พ.ศ.2540 ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2527 จีนกับอังกฤษได้ออกแถลงการณ์ร่วม (Sino-British Joint Declaration) ว่าด้วยการ ส่งมอบฮ่องกงคืนแก่จีนในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2540 และเพื่อเป็นกรอบกำหนดแนวทางบริหารฮ่องกงภายหลังปี 2540

    การเมืองการปกครอง
    ตามแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ปัจจุบันฮ่องกงมีฐานะเป็นเขตปกครองพิเศษ Special Administrative Region (SAR) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน (อยู่ภายใต้อธิปไตยของจีน) โดยยังคงระบบสังคม เศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตของประชาชนแบบเดิมเป็นเวลา 50 ปี (จวบจนกระทั่งปี 2590) แนวทางดังกล่าวเรียกว่า “หนึ่งประเทศ สองระบบ” (one country, two systems) และได้ระบุไว้ใน Basic Law อันเป็นกฎหมายแม่บทหรือธรรมนูญในการปกครองฮ่องกงตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2540 ซึ่งยืนยันเช่นเดียวกันใน Sino-British Joint Declaration คือ ให้สิทธิฮ่องกงในการปกครองตนเองในระดับสูง (high degree of autonomy) มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ เป็นเขตศุลกากรอิสระ (Seperate Customs Area) และยังคงสถานะเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศต่อไป ยกเว้นด้านการต่างประเทศ และการป้องกันประเทศที่รัฐบาลจีนเป็นผู้กำหนด

    ระบบการเมืองการปกครองแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

    เศรษฐกิจการค้า
    ระบบเศรษฐกิจ
    ฮ่องกงมีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม มีข้อจำกัดทางการค้าน้อยมาก เนื่องจากฮ่องกงไม่มีทรัพยากรธรรมชาตินอกจากท่าเรือน้ำลึกที่ดีเยี่ยม ดังนั้น โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญของฮ่องกง คือ การค้า ธุรกิจด้านการเงิน การธนาคาร และการประกันภัย การลงทุน และการท่องเที่ยว ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการเงินและการธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกรองจากนิวยอร์กและลอนดอน และเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะการนำเข้า-ส่งออก โดยรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้แถลงเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2549 ว่า จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการส่งออกสินค้าของฮ่องกงอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากเดิมที่เน้น re-export มาเป็นแบบ supply chain management และส่งเสริม value-added logistics services

    นโยบายหลักด้านเศรษฐกิจของฮ่องกง คือ การพัฒนาฮ่องกงจากการเป็นเพียงตัวกลาง (intermediary) ให้เป็นศูนย์กลาง (major hub) เพื่อเชื่อมโยงจีนกับตลาดต่างประเทศ รักษาสถานะการเป็นศูนย์กลางด้านการเงิน การธนาคาร และส่งเสริมผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจกับเขต Pearl River Delta ของจีน โดยส่งเสริมให้ฮ่องกงเป็น International Financial and high-valued added services centre ซึ่งเหมาะกับฮ่องกงซึ่งมีทรัพยากรน้อย นอกจากนี้ ยังเสริมบทบาทให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมของเอเชีย เพื่อให้ฮ่องกงเป็น Asia’s World City

    อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจฮ่องกงขึ้นกับเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ฮ่องกงเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกสำหรับสินค้าประเภทสิ่งทอ เครื่องประดับเทียม กระเป๋า ร่วม ดอกไม้ประดิษฐ์ ของเล่น และนาฬิกา สินค้าส่งออกจากฮ่องกงประมาณ 85% เป็นสินค้า re-export คู่ค้าสำคัญคือ สหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป

    การค้าต่างประเทศของฮ่องกงในปี 2546 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าฮ่องกงจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบิน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของฮองกง การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเกิดจากรัฐบาลฮ่องกงได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 11,800 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงเพื่อใช้ในโครงการประกันเงินกู้ การให้คืนภาษี การยกเว้นอากรและค่าธรรมเนียมบางอย่าง การสร้างงานชั่วคราว และการให้เงินทุนเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์และการเสริมสุขภาพประชาชน นอกจากนี้ รัฐบาลฮ่องกงยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน เช่น การลงนามความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างจีน-ฮ่องกง (Closer Economic Partnership Arrangement - CEPA) ซึ่งส่งเสริมให้มีการไหลเวียนของบุคลากร สินค้า เงินทุน สารสนเทศ และบริหารระหว่างฮ่องกงและจีนมากยิ่งขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจของฮ่องกงและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในฮ่องกงเพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลง CEPA

    อุตสาหกรรม ฮ่องกงมีชื่อเสียงในด้านการส่งสินค้าอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภค แต่ อุตสาหกรรมเด่นของฮ่องกงกลับเป็นอุตสาหกรรมก่อสร้าง การต่อเรือ ซ่อมเรือ และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เช่น เครื่องประดับ อิเลคโทรนิกส์ นาฬิกา ของเล่น ประมาณร้อยละ 80 ของ สินค้าอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออก

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
    การเยือนฮ่องกง
    ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร) เดินทางเยือนฮ่องกงอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2544 และในการหารือกับนาย Tung Chee-hwa ผู้บริหารสูงสุด ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะเป็น gateway ของกันและกัน โดยไทยจะเป็น gateway ในการเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และฮ่องกงจะเป็นgateway สำหรับเข้าสู่จีน โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจ Pearl River Delta ในบริเวณภาคใต้ของจีน

    สภาธุรกิจฮ่องกง – ไทย (Hong Kong – Thailand Business Council)
    เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2545 ได้มีการจัดตั้งสภาธุรกิจฮ่องกง – ไทย ขึ้นที่เมืองฮ่องกง โดยเป็นการริเริ่มของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง และนักธุรกิจชาวฮ่องกง เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านธุรกิจการค้าระหว่างไทยกับฮ่องกง ทั้งนี้ สภาธุรกิจฮ่องกง – ไทย ได้รับการสนับสนุนจากทั้งนาย Tung Chee-hwa ผู้บริหารสูงสุด และ ฯพณฯ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการรับเป็นผู้อุปถัมภ์สภาธุรกิจฯ

    คนไทยในฮ่องกง
    คนไทยในฮ่องกงมีจำนวนประมาณ 28,298 คน (31 ก.ค. 2548) โดยมีคนไทยจำนวน14,284 คนทำงานในฮ่องกง ในจำนวนดังกล่าวทำงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้านจำนวน 4,642 คน

    ข้อมูลการค้าไทย-ฮ่องกง
    การค้ารวม
    ปี 2548 การค้าไทย-ฮ่องกงมีมูลค่า 7,667.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ร้อยละ 22.35 การค้าเดือนมกราคม 2549 มีมูลค่า 524.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันในปี 2548 ร้อยละ 9.82

    การส่งออก
    ปี 2548 ไทยส่งออกไปฮ่องกงมูลค่า 6,162.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ร้อยละ 24.73 ในเดือนมกราคม 2549 ไทยส่งออกไปฮ่องกงมูลค่า 386.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันในปี 2548 ร้อยละ 20.59

    การนำเข้า
    ปี 2548 ไทยนำเข้าจากฮ่องกงมูลค่า 1,504.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ร้อยละ 13.48 ในเดือนมกราคม 2549 ไทยนำเข้าจากฮ่องกงมูลค่า 138.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากระยะเวลาเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 20.22

    ดุลการค้า
    ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับฮ่องกงมาตลอด ในปี 2548 ไทยได้ดุลมูลค่า 4,657.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในเดือนมกราคม 2549 ไทยได้ดุลการค้ากับฮ่องกงมูลค่า 247.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    การลงทุน
    การลงทุนโดยสุทธิ (Foreign Direct Investment - FDI) ของฮ่องกงในปี 2548 มีปริมาณลดลงจากมูลค่า 14,317 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 2,222 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการลงทุนสูงเป็นอันดับที่ 12 การลงทุนส่วนใหญ่ของฮ่องกงในไทยเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ในสาขาอิเล็กโทรนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์และกระดาษ เกษตรกรรม ผลิตผลจากการเกษตรและอุตสาหกรรมเบา

    สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกและนำเข้า
    สินค้าส่งออก : แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว หนัง และผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดและนาฬิกาและส่วนประกอบ เป็นต้น

    สินค้านำเข้า : เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักร ไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผ้าผืนเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม สินแร่โลหะผลิตภัณฑ์โลหะ และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น

    ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า
    มีการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งไปประกอบธุรกิจในฮ่องกง สำหรับการแข่งขันทางการค้าโดยตรงกับฮ่องกงนั้นมีไม่มากเนื่องจากฮ่องกงมีทรัพยากรน้อย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยและไม่ได้ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก

    แหล่งข้อมูลที่น่าสนใจ คลิกชื่อที่ต้องการ
    กระทรวงพาณิชย์
    สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
    ตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
    Hong Kong Government Information Website
    Hong Kong Trade Development Council
    Hong Kong Tourism Commission
    Hong Kong International Airport
    Hong Kong Legislative Council: Legco (เทียบเท่าสภานิติบัญญัติของไทย)
    Hong Kong Daily: website ข่าว

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×