ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #7 : ราชอาณาจักรเบลเยียม

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.42K
      0
      16 ม.ค. 50



     
    ราชอาณาจักรเบลเยียม
    Kingdom of Belgium


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง ริ่มฝั่งทะเลเหนือ มีอาณาเขตติดกับฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก

    พื้นที่ 32,545 ตารางกิโลเมตร

    ประชากร-กลุ่มชนชาติ ประมาณ 10.3 ล้านคน เป็นชาวเฟลมมิช 58% ชาววอลลูน 31% ชาวเยอรมนีและอื่น ๆ 11%

    ภาษา เฟลมมิชหรือดัตช์ ฝรั่งเศส และเยอรมัน

    ศาสนา ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิค 75% นิกายโปรแตสเตนท์และอื่น ๆ 25%

    ทรัพยากรธรรมชาติ ถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ

    เมืองหลวง กรุงบรัสเซลส์

    สกุลเงิน ยูโร

    วันชาติ 21 กรกฎาคม

    ระบบการเมือง เป็นสหพันธรัฐ ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา พระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

    ประมุข สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 (9 สิงหาคม 2536)

    นายกรัฐมนตรี นาย Guy Verhofstadt (ได้รับแต่งตั้งเป็นสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2546)

    รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Karel De Gucht ( ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2547)


    การเมืองการปกครอง
    การเมืองการปกครอง เมื่อปี 2538 เบลเยียมปฏิรูปการปกครองเป็นสหพันธรัฐ (Federal State) ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีการกระจายอำนาจการรตัดสินใจในการกำหนดนโยบายในสาขาต่างๆ ให้รัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นสามารถจัดทำสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับทางต่างประเทศได้ โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลกลางและภูมิภาค
    การปกครองของเบลเยียมแบ่งออกเป็น
    - รัฐบาลกลาง/สหพันธรัฐ (Federal State) มีอำนาจกำหนดนโยบายสำคัญๆ อาทิ การเงิน การสาธารณะ การป้องกันประเทศ การต่างประเทศ ยุติธรรม ตำรวจ งบประมาณของประเทศ และความมั่นคงทางสังคม
    - ระดับภูมิภาค (Region) แบ่งออกเป็น 3 ภูมิภาค คือ ภุมิภาค Walloon (พูดภาษาฝรั่งเศส) ภูมิภาค Flanders (พูดภาษาเฟลมมิช) และภูมิภาค Brussels Capital (พูดภาษาฝรั่งเศสและเฟลมมิช) มีอำนาจหน้าที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน การเกษตร นโยบายเกี่ยวกับน้ำ ที่อยู่อาศัย งานสาธารณะ พลังงาน การคมนาคม (ยกเว้นรถไฟ) สิ่งแวดล้อมเมืองและชนบท การค้ากับต่างประเทศ ควบคุมดูแลการบริหารงานของจังหวัด ชุมชน (Commune) และบริษัทที่ให้บริการด้านสาธารณูปโภคระหว่างชุมชนต่างๆ พัฒนาเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค
    - ระดับประชาคม (Community) แบ่งตามภาษาที่ใช้ คือ ประชาคมพูดภาษาเฟลมมิช ประชาคมพูดภาษาฝรั่งเศส และประชาคมพูดภาษาเยอรมัน มีอำนาจดูแลงานด้านวัฒนธรรม การศึกษา การใช้ภาษา และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสุขภาพ (รวมถึงงานด้านการปกป้องเยาวชน สวัสดิการสังคม การให้ความช่วยเหลือครอบครัว และงานบริการด้านการโยกย้ายถิ่นฐานต่างๆ) รวมทั้งด้านการค้นคว้าวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้น รัฐบาลประชาคมมีอำนาจติดต่อกับต่างประเทศในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานในความรับผิดชอบด้วย
    - ระดับมณฑลหรือจังหวัด (Province) และระดับชุมชน (Commune) มีอำนาจเป็นของตนเองในการกำหนดนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรม ภาษา นโยบายเยาวชน สื่อสารมวลชน การกีฬา การศึกษา (ยกเว้นการกำหนดการศึกษาภาคบังคับ มาตรฐานคุณสมบัติของการรับปริญญา และบำนาญของครูอาจารย์ การประกันสุขภาพ และการสงเคราะห์คนพิการ)
    การเลือกตั้งทั่วไปของเบลเยียมมีขึ้นทุกๆ 4 ปี โดยล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2546 โดยพรรค Flemish Liberal Democrats (VLD) ซึ่งเป็นพรรคของนายกีย์ เวอร์ฮอฟสตาดท์ นายกรัฐมนตรี ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด จึงทำให้นายกีย์ เวอร์ฮอฟสตาดท์ ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม 4 พรรค ได้แก่ พรรค VLD พรรค Flemish Socialist Party.Alternative (SP.A) พรรค Francophone Reformist Movement (MR) และพรรค Francophone Socialist (PS) โดยมีนโยบายหลัก ดังนี้
    * สร้างตำแหน่งงานเพิ่มอีก 200,000 ตำแหน่ง
    * ลดอัตราภาษี และนโยบายกระตุ้นให้นักลงทุนเบลเยียมกลับเข้ามาลงทุนในประเทศ
    * เพิ่มงบประมาณสาธารณสุขร้อยละ 4.5 ต่อปี และส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น
    * ดำเนินนโยบายงบประมาณแบบสมดุล โดยจะไม่มีผลกระทบทางลบต่อสภาวะความคล่องตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
    อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2547 มีการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2547 เนื่องจากรัฐมนตรีรัฐบาลสหพันธรัฐลาออกไปรับตำแหน่งในรัฐบาลท้องถิ่น รวมทั้งนาย Louis Michel รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมาธิการยุโรปด้านการพัฒนาและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (European Commissioner for Development and Humanitarian Aid) ทั้งนี้ รัฐบาลโดยการนำของนาย กีย์ เวอร์ฮอฟสตาดท์ ยังคงเป็นรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเสรีนิยม คือ พรรค VLD และพรรค MR โดยมีพรรคสังคมนิยมร่วมอยู่ด้วย คือ พรรค SP.A และพรรค PS

    นโยบายด้านสังคม
    เมื่อวันที่ 11-12 ตุลาคม 2548 ได้มีการแถลงนโยบายและการอภิปรายนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาการเมืองภายใน คือ การปรับขยายระบบการเกษียณอายุทำงาน โดยรัฐบาลเบลเยียมได้มีนโยบายปรับอายุจากเดิมที่ให้สามารถเกษียณได้ก่อนกำหนด (early retirement) ตั้งแต่อายุ 58 ปี เป็นอายุ 60 ปี และปรับอายุเกษียณการทำงานจากเดิมอายุ 60 ปี เป็นอายุ 65 ปี เพื่อให้ระยะเวลาอายุการทำงานยาวขึ้น และเพื่อเป็นการลดภาระด้านงบประมาณที่จะต้องนำมาใช้ในระบบบำนาญ รวมทั้งเป็นการให้ผู้ที่มีประสบการณ์สามารถมีเวลาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่อคนรุ่นต่อไปได้

    รัฐบาลมีนโยบายทางสังคมที่เปิดเสรี โดยออกกฎหมายรับรองการแต่งงาน
    ระหว่างเพศเดียวกัน การเสพกัญชา และให้คู่แต่งงานเพศเดียวกันสามารถขอรับเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

    นโยบายต่างประเทศ
    นโยบายต่างประเทศของเบลเยียมโดยนายคาเรล เดอ กุช (Mr. Karel De Gucht) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียม ยังคงให้ความสำคัญกับภูมิภาคแอฟริกาเป็นลำดับต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอฟริกากลาง เนื่องจากความผูกพันทางประวัติศาสตร์ ในฐานะอดีตเจ้าอาณานิคม และนโยบายนี้ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนในเบลเยียม เบลเยียมมีบทบาทแข็งขันในสหภาพยุโรปเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาความไร้เสถียรภาพในแอฟริกากลางหรือภูมิภาค Great Lakes และซูดาน

    นอกจากนี้ เบลเยียมได้พยายามเพิ่มบทบาทในปัญหาการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศในกรอบสหประชาชาติ โดยเบลเยียมได้สมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (Non-permanent members of UNSC) วาระปี 2007-2008 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในระหว่างการประชุมสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 61 ในเดือนกันยายน 2549 โดยไทยมีพันธะที่จะต้องให้การสนับสนุนเบลเยียมแลกกับการที่เบลเยียมได้ให้การสนับสนุนไทยในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก ECOSOC ในการประชุมสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 59 เมื่อปี 2547 อย่างไรก็ตาม นาย Karel De Gucht ได้ประกาศจะหันมาให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน โดยเจ้าชายฟิลิป มกุฎราชกุมารแห่งเบลเยียม ได้นำคณะนักธุรกิจเบลเยียมประมาณ 500 คน เยือนจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน และระหว่างวันที่ 4-11 มิถุนายน 2548 สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่สองได้เสด็จฯ เยือนจีนอย่างเป็นทางการ นอกจากนั้น เบลเยียม ยังให้ความสำคัญกับญี่ปุ่น โดยเจ้าชายฟิลิปได้ทรงนำคณะนักธุรกิจเยือนญี่ปุ่นเมื่อเดือนเมษายน 2548 รวมทั้งนายกีย์ เวอร์ฮอฟสตาดท์ นายกรัฐมนตรีเบลเยียม ได้เดินทางเยือน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย ระหว่างวันที่ 8-13 พฤศจิกายน 2548 เพื่อชักชวนให้นักลงทุนในประเทศดังกล่าว เข้าไปลงทุนในเบลเยียมมากขึ้น

    ในปี 2549 เบลเยียมดำรงตำแหน่งประธานองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) เบลเยียมให้ความสำคัญแก่การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ค้างคา อาทิ ในพื้นที่ Nagorno ? Karabach, South Ossetia, และ Kosovo รวมทั้งสถานการณ์ในเอเชียกลางซึ่งจะดำเนินการผ่าน OSCE field missions และสถาบันต่างๆ ของ OSCE โดยเฉพาะ OSCE Office for Democratic Institutions and Human Rights ? ODIHR และประเด็นข้ามชาติต่างๆ อาทิ ผู้อพยพ การก่อการร้าย การแพร่ระบาดของโรค และการลักลอบขนยาเสพติด

    สุนทรพจน์ของนาย Karel De Gucht รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียมในการประชุมสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 60 ในเดือนกันยายน 2548 ชี้ให้เห็นว่า เบลเยียมให้ความสำคัญต่อความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ (efficient multilateralism) ที่มีโครงสร้างทางสถาบันที่มั่นคงและเชื่อถือได้ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เบลเยียมสนับสนุนการจัดตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) และคณะกรรมาธิการเสริมสร้างสันติภาพ (Peace Building Commission) เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ไม่สามารถปกครองตนเองได้ อาทิ กลุ่มประเทศ Sub-sahara ให้มีสันติภาพ เสถียรภาพ และหลักนิติธรรม นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับหลักธรรมภิบาล ซึ่งจะสร้างเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้กับทุกประเทศ และส่งเสริม?responsibility to protect? ซึ่งจะช่วยขจัดความอยุติธรรม เบลเยียมสนับสนุนการปฏิบัติตามพันธกรณีในการให้เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (ODA) ให้ได้ถึงร้อยละ 0.7 ของ GDP พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าการพัฒนานั้นมิได้เกี่ยวกับเงินเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

    เศรษฐกิจการค้า
    สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ในอดีตเศรษฐกิจของเบลเยียมขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมถ่านหินเป็นหลัก ความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมถ่านหินดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เบลเยียมกลายเป็นประเทศที่สองในยุโรปรองจากสหราชอาณาจักรที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมถ่านหินจำกัดตัวอยู่เฉพาะทางตอนใต้ของประเทศในภูมิภาค Walloon ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมหนัก ในขณะที่ตอนเหนือของประเทศในภูมิภาค Flanders จะมีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร ทั้งนี้ ปัจจุบัน ภูมิภาค Flanders ปรับเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น

    เศรษฐกิจเบลเยียมในปัจจุบันขึ้นอยู่กับธุรกิจเอกชนขนาดเล็กที่เน้นการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตเพื่อการส่งออก ทั้งนี้ เบลเยียมจะทำการค้ากับประเทศในยุโรปเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ใจกลางยุโรป โดยการค้าระหว่างประเทศกว่าร้อยละ 75 เป็นการค้ากับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร อิตาลี สินค้าส่งออกที่สำคัญของเบลเยียม คือ เคมีภัณฑ์และเภสัชภัณฑ์ อุปกรณ์ด้านการขนส่ง เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ แร่โลหะ พลาสติกและยาง ผลิตภัณฑ์จากสินแร่ อัญมณีและโลหะ สินค้านำเข้าสำคัญเบลเยียม ได้แก่ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ด้านการขนส่ง เครื่องจักรและอุปกรณ์ แร่โลหะ พลาสติกและยาง และผลิตภัณฑ์จากสินแร่

    เศรษฐกิจของเบลเยียมชะงักงันมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2547 อันเนื่องมาจากตลาดหุ้นที่ประสบภาวะซบเซาและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และทำให้อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ของปี 2548 เหลือเพียงร้อยละ 1.4 ซึ่งน้อยกว่าปี 2547 ซึ่งมีอัตราร้อยละ 2.4 อย่างไรก็ดี ยังถือได้ว่าเบลเยียมมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของประเทศในยูโรโซน (ประเทศที่ใช้เงินยูโร) นอกจากเบลเยียมต้องเผชิญกับภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจแล้ว เบลเยียมต้องเผชิญกับการลงทุนจากต่างประเทศลดลงเนื่องจากการย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศในยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะสาธารณรัฐเช็กและโปแลนด์ เนื่องจากค่าจ้างและสวัสดิการแรงงานที่สูงมากในเบลเยียม รัฐบาลเบลเยียมจึงต้องออกมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ รัฐบาลเบลเยียมได้ออกกฎหมาย Generalization Pact (เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2549) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1) กระตุ้นให้มีการค้นคว้าวิจัยเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น 2) กระตุ้นให้บริษัทต่างๆ รับคนรุ่นใหม่เข้าฝึกงานมากขึ้น 3) ปรับปรุงระเบียบด้านสวัสดิการแรงงานโดยขยายเวลาเกษียณอายุของพนักงานและลูกจ้างออกไปเพื่อให้ทำงานนานขึ้น

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชอาณาจักรเบลเยียม
    ความสัมพันธ์ทางการทูต ไทยและเบลเยียมลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ระหว่างกัน เมื่อปี 2411 และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2426 โดยเบลเยียมเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2447 ดังนั้น ในปี 2547 จึงเป็นวาระครบรอบ 100 ปี ของการตั้งสถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย

    ปัจจุบันเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ คือ นายดอน ปรมัตถ์วินัย เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย คือ นาย Jan Matthysen ในปัจจุบัน ไทยมีกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมือง Liege และ Antwerp

    ความสัมพันธ์ทางการเมือง ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างทั้งสองประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศมีส่วนสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น ยิ่งขึ้น โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้น ยังมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันของบุคคลระดับสูง ล่าสุด ระหว่างวันที่ 12-13 ตุลาคม 2548 พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนเบลเยียม และนายกรัฐมนตรีได้เชิญนายกรัฐมนตรีเบลเยียมเยือนไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเบลเยียมตอบรับคำเชิญ และได้เยือนไทยระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2548 และในโอกาสดังกล่าวทั้งสองฝ่ายได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา และสนธิสัญญาโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา

    ปัจจุบันเบลเยียมให้ความสนใจต่อไทยมากขึ้น โดยกำหนดให้ไทยเป็นประเทศเป้าหมายในการเพิ่มพูนความร่วมมือในทุกสาขาอย่างเป็นรูปธรรมในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และเสนอการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมไทย - เบลเยียม (Joint Plan of Action for Thai - Belgian Cooperation) ซึ่งนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) และนาย Karel De Gucht รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียม ได้แสดงเจตจำนงร่วมกันในการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมฯ โดยระบุในแถลงการณ์ร่วมฯ ที่ลงนามในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองหารือทวิภาคีเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2547 นอกรอบการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 59 ที่นครนิวยอร์ก ดังเอกสารแนบ

    ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
    การค้ารวม เบลเยียมเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 ของไทย และเป็นอันดับที่ 6 ในสหภาพยุโรป ในปี 2548 การค้ารวมมีมูลค่า 1,905.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ร้อยละ 0.34 โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า ไทยส่งออก 1,288.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ และนำเข้า 616.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

    การลงทุน เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เบลเยียมเป็นผู้ลงทุนในไทยอันดับที่ 6 เมื่อพิจารณาจากจำนวนโครงการการลงทุน และเป็นอันดับที่ 12 เมื่อพิจารณาจากมูลค่าเงินลงทุน โดยในปี 2548 โครงการที่ได้รับการอนุมัติจากกรมส่งเสริมการลงทุนของไทยมีจำนวน 7 โครงการ (เท่ากับปี 2547) และมีมูลค่า 127.4 ล้านบาท (ลดลงจากปี 2547) สาขาการลงทุนที่เบลเยียมเข้ามาลงทุนมากที่สุด คือ เคมีภัณฑ์และกระดาษ สินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเบา/สิ่งทอ มีบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยและเบลเยียมหลายบริษัท อาทิ บริษัท Tractebel (ผลิตกระแสไฟฟ้า) บริษัท Solvay: Vinythai (ผลิตพลาสติก) บริษัท UMICOR (Union Minère) (ทำเหมืองแร่สังกะสี) บริษัท INVE Aquaculture (ผลิตอาหารเลี้ยงกุ้งและปลา) และบริษัท Antwerp Diamond cutters

    การท่องเที่ยว ในปี 2548 (มกราคม-มิถุนายน) มีนักท่องเที่ยวชาวเบลเยียมเดินทางมาไทยประมาณ 24,480 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2547 ร้อยละ 7.98 โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.47 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย เบลเยียมจัดอยู่ในอันดับที่ 12 ของนักท่องเที่ยวจากทวีปยุโรปทั้งหมด

    ความร่วมมือทางวิชาการ รัฐบาลไทยและเบลเยียมมีความร่วมมือทางวิชาการมาตั้งแต่ปี 2510 และได้มีการลงนามในความตกลงพื้นฐานว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจเบลโก-ลักเซมเบิร์กเพื่อเจรจาความร่วมมือระหว่างกัน โดยสับเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพื่อพิจารณานโยบายและกรอบทิศทางของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในอนาคต โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสถานะทางการเมืองของประเทศไทย ทั้งนี้ ฝ่ายเบลเยียมมีแนวทางที่จะไม่สนับสนุนความช่วยเหลือในลักษณะที่ต้องมีการลงทุนด้านอุปกรณ์และบุคลากรสูงและเป็นประโยชน์ฝ่ายเดียว โดยจะเน้นความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อให้ผลของการพัฒนามีประสิทธิภาพในระยะเวลาอันสั้น และความช่วยเหลือส่วนใหญ่ยังคงเป็นความช่วยเหลือให้เปล่าในลักษณะ in cash มากกว่า in kind ต่อมา ในปี 2538 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศเบลเยียม ส่งผลให้มีการปรับนโยบายความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาต่อประเทศไทย และในที่สุดเบลเยียมได้ปิดสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในประเทศไทยลงในเดือนสิงหาคม 2542

    กลไกของการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-เบลเยียม คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจเบลโก-ลักเซมเบอร์ก จัดตั้งขึ้นตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือ พ.ศ. 2522 มีการประชุมมาแล้ว 7 ครั้ง ครั้งสุดท้ายจัดที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2537 โดยฝ่ายไทยมี ฯพณฯ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน
    ชุมชนไทยในเบลเยียม คนไทยอาศัยอยู่ในเบลเยียมมีจำนวนประมาณ 2,500 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ 1) แม่บ้าน (ที่แต่งงานกับชาวเบลเยียม) 2) ลูกจ้างทั่วไป 3) เจ้าของร้านอาหาร 4) เจ้าของร้านขายเครื่องปรุงอาหารไทย นอกจากนั้น มีวัดไทยอยู่ 3 วัด ได้แก่ วัดธรรมาราม ตั้งอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ วัดพุทธแอนทเวิร์ป ตั้งอยู่ที่เมืองแอนทเวิร์ป และวัดธรรมปทีป ตั้งอยู่ที่เมือง Mechelen

    ความตกลงที่สำคัญกับไทย
    1) อนุสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างสยามกับเบลเยียม ลงนามเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2479
    2) หนังสือแลกเปลี่ยนไทย-เบลเยียมเกี่ยวกับการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ ลงนามเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2502
    3) ความตกลงพื้นฐานว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจเบลโก-
    ลักเซมเบิร์ก ลงนามเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2522 เพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย-เบลโก-ลักเซมเบิร์ก ซึ่งครอบคลุมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน เพื่อเจรจาความร่วมมือระหว่างกัน โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ เพื่อพิจารณานโยบายและกรอบทิศทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนา การประชุมได้จัดขึ้นแล้ว 7 ครั้ง ครั้งล่าสุดจัดที่ กรุงบรัสเซลส์ ระหว่างวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2537 โดยนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน
    4) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนไทยกับสหภาพเศรษฐกิจเบลโก-ลักเซมเบิร์ก ลงนามเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2545 และแลกสัตยาบันสารเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2547 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 ซึ่งความตกลงฯ ดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้มีการลงทุนระหว่างกัน และเป็นหลักประกันความเป็นธรรมต่อนักลงทุนทั้งสองฝ่าย
    5) สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา และสนธิสัญญาโอนตัว
    ผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา ลงนามเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2548 ยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการแลกสัตยาบันสาร โดยสนธิสัญญาฯ ทั้งสองฉบับดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือและการบริหารงานกระบวนการยุติธรรมระหว่างสองประเทศและเปิดโอกาสให้มีการพิจารณาโอนตัวนักโทษที่มีสัญชาติของประเทศคู่ภาคีฝ่ายที่ร้องขอ ซึ่งได้รับโทษจำคุกเป็นระยะเวลาหนึ่งอยู่ในประเทศคู่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว กลับไปรับโทษต่อในประเทศของตนได้ เพื่อให้โอกาสนักโทษผู้นั้นได้กลับไปอยู่ใกล้ชิดครอบครัว และสามารถปรับตัวกลับคืนสู่สังคมเดิมของตนได้

    การแลกเปลี่ยนการเยือน
    พระราชวงศ์
    ฝ่ายไทย
    - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จ ฯ เยือนเบลเยียมอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะในสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงเมื่อปี 2503
    - สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
    สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนเบลเยียมเป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2534
    - สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ เพื่อทรงร่วมพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2536
    - สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ เยือนเบลเยียม ระหว่างวันที่ 8 -12 พฤศจิกายน 2538
    - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนเบลเยียมเป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 11-16 มีนาคม 2542
    - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนเบลเยียม
    เป็นการส่วนพระองค์ระหว่างวันที่ 23 - 24 เมษายน 2544
    - สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนเบลเยียมเป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 14-15 มิถุนายน 2544
    - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนเบลเยียมเป็นการส่วนพระองค์ และทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานกังหันน้ำชัยพัฒนาให้แก่ประธานองคมนตรีภูมิภาคบรัสเซลส์ ระหว่างวันที่ 3-5 เมษายน 2546

    ฝ่ายเบลเยียม
    - สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง และสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลา เสด็จ ฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2507
    - สมเด็จพระราชินีฟาบิโอลา เสด็จฯ เยือนไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 19-22 กันยายน 2538
    - สมเด็จพระราชินีฟาบิโอลา เสด็จฯ เยือนไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ เมื่อเดือนตุลาคม 2541
    - เจ้าชายฟิลิป มกุฎราชกุมารแห่งเบลเยียม เสด็จฯ นำคณะนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่ระดับสูงประมาณ 100 คน เดินทางมาเยือนไทย ระหว่างวันที่ 11-16 กุมภาพันธ์ 2544 โดยมีนาง Annemie Neyts รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียม ร่วมตามเสด็จฯ ด้วย
    - เจ้าหญิงแอสทริดแห่งเบลเยียม พร้อมด้วยเจ้าชายลอเรนซ์ พระสวามี เสด็จฯ เยือนไทย ระหว่างวันที่ 13-18 กันยายน 2546 ในโอกาสเข้าร่วมประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรืออนุสัญญาออตตาวา ครั้งที่ 5
    - เจ้าหญิงแอสทริดแห่งเบลเยียมเสด็จฯ เยือนไทยในฐานะประธานสภากาชาดเบลเยียม ระหว่างวันที่ 16 ? 17 มิถุนายน 2548 เพื่อแสดงความเสียพระราชหฤทัยต่อเหตุธรณีพิบัติภัย โดยมีนาย Armand De Decker รัฐมนตรีด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ร่วมตามเสด็จฯ ด้วย
    - เจ้าชายฟิลิป มกุฎราชกุมารแห่งเบลเยียม พร้อมด้วยเจ้าหญิงมาธิลด์แห่งเบลเยียม เสด็จฯ เยือนประเทศไทย เพื่อทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน 2549
    2. ระดับรัฐบาล
    ฝ่ายไทย
    - พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเยือนเบลเยียมอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 22-25 เมษายน 2525
    - พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีเยือนเบลเยียมระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคม 2533
    - นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เยือนเบลเยียม พ.ศ. 2536
    - นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-เบลโกลักเซมเบิร์ก ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2537
    - นายประจวบ ไชยสาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนเบลเยียม
    เมื่อเดือนตุลาคม 2540
    - ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนเบลเยียม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2541
    - นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนเบลเยียม
    ระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2542
    - พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนเบลเยียมระหว่างวันที่ 12-13 มิถุนายน 2545
    - นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนเบลเยียมเพื่อร่วมการประชุม ASEAN-EU Ministerial Meeting (AEMM) ระหว่างวันที่ 26-27 มกราคม 2546 (และได้มีโอกาสพบกับนาย Louis Michel รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียม)
    - พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนเบลเยียมระหว่างวันที่ 11 ? 12
    ตุลาคม 2548

    ฝ่ายเบลเยียม
    - นาย Wilfried Martens นายกรัฐมนตรีเบลเยียมเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2526
    - นาย Jean-Luc Dehaene นายกรัฐมนตรีของเบลเยียมเดินทางมาเยือนไทย
    เพื่อร่วมการประชุม ASEM I เมื่อปี 2539
    - นาย Willy Claes รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2536
    - นาย Erik Derycke รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลเยียมเยือน
    ประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2541
    - นาย Eddy Boutmans รัฐมนตรีช่วยด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และนาย Pierre Chevalier รัฐมนตรีช่วยว่าการด้านการค้าต่างประเทศเบลเยียมเยือนไทย ช่วงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาครั้งที่ 10 (UNCTAD X) ระหว่างวันที่ 12-16 กุมภาพันธ์ 2543
    - นาย Armand De Decker ประธานวุฒิสภาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1-5
    เมษายน 2545
    - นาย Guy Verhofstadt นายกรัฐมนตรีเบลเยียม เดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่
    12 ? 13 พฤศจิกายน 2548



    กรกฎาคม 2549

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×