ลำดับตอนที่ #7
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #7 : สาธารณรัฐประชาชนจีน
|
|
The People’s Republic of China |
ข้อมูลทั่วไป |
ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของทวีปเอเชีย มีพรมแดนติดต่อกับประเทศต่างๆ โดยรอบ 15 ประเทศ คือ เกาหลีเหนือ รัสเซีย มองโกเลีย คาซัคสถาน เคอร์กิชสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย เนปาล สิกขิม ภูฐาน พม่า ลาว และเวียดนาม ขณะที่ทิศตะวันออกและทิศใต้จดทะเลเหลือง ทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้
พื้นที่
9.6 ล้านตารางกิโลเมตร มีเส้นพรมแดนทางบกยาวกว่า 2 หมื่นกิโลเมตร
ภูมิประเทศ
ทางตะวันตกส่วนใหญ่เป็นเทือกเขา ทะเลทราย และที่ราบสูง และค่อยๆ ลาดลงทางทิศตะวันออก
รูปแบบการปกครอง สังคมนิยมแบบจีน
ประธานาธิบดี นายหู จิ่นเทา (Hu Jintao) (มีนาคม 2546)
นายกรัฐมนตรี นายเวิน เจียเป่า (Wen Jiabao) (มีนาคม 2546)
รัฐมนตรีต่างประเทศ นายหลี่ จ้าวซิง (Li Zhaoxing) (มีนาคม 2546)
วันชาติ
1 ตุลาคม (สาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ภายหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ จีนมีชัยชนะในสงครามกลางเมืองเหนือพรรคก๊กหมินตั๋ง)
ธงชาติ
รูปดาวสีเหลือง 5 ดวงบนพื้นสีแดง (ดาวดวงใหญ่หมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเป็นผู้นำ ดาวเล็กๆ ทั้งสี่ดวงหมายถึง “ชนชั้น” ที่ประกอบขึ้นเป็นสังคมจีน คือ ชนชั้นกรรมกร ชนชั้นชาวนา ชนชั้นนายทุนน้อย และชนชั้นนายทุนแห่งชาติ)
เมืองหลวง กรุงปักกิ่ง (ภาษาราชการจีนเรียกว่า “เป่ยจิง” 北京 Beijing)
ประชากร 1,306.3 ล้านคน
ชนชาติ
มีชนชาติต่างๆ อยู่รวมกัน 56 ชนชาติ โดยเป็นชาว ”ฮั่น” ร้อยละ 93.3 ที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อย ที่สำคัญได้แก่ ชนเผ่าจ้วง หุย อุยกูร์ หยี ทิเบต แม้ว แมนจู มองโกล ไตหรือไท เกาซัน
ภาษา ภาษาจีนกลาง (ผู่ทงฮว่า 普通话) เป็นภาษาราชการ ชาวจีนในมณฑลต่างๆ มีภาษาพูดท้องถิ่นที่แตกต่างกัน เช่น เสฉวน หูหนาน กวางตุ้ง ไหหลำ และฮกเกี้ยน
ศาสนา ลัทธิขงจื้อ ศาสนาพุทธ ลัทธิเต๋า ศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์
เขตการปกครอง
การปกครองส่วนกลางแบ่งออกเป็น 23 มณฑล (รวมถึงไต้หวัน) 5 เขตปกครองตนเอง (มองโกเลีย หนิงเซี่ย ซินเจียง กวางสี และทิเบต) 4 มหานครที่ขึ้นต่อส่วนกลาง (ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน และฉงชิ่ง) และ 2 เขตบริหารพิเศษ(ฮ่องกง และมาเก๊า)
สถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 (ปี 2548 เป็นปีครบรอบ 30 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-จีน)
เอกอัครราชทูตไทยประจำจีน นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย (เข้ารับหน้าที่เมื่อมิถุนายน 2547)
เอกอัครราชทูตจีนประจำไทย นายจาง จิ่วหวน Mr. Zhang Jiuhuan (เข้ารับหน้าที่เมื่อพฤษภาคม 2547)
การเมืองการปกครอง |
การเมือง
(1) การเมืองการปกครอง
ในระบอบการปกครองของจีนพรรคคอมมิวนิสต์จะเป็นผู้กำหนดนโยบายทุกด้านให้รัฐบาลไปปฏิบัติ (รัฐบาลจึงไม่ใช่องค์กรกำหนดนโยบาย) โดยจีนมีนโยบายภายในที่สำคัญ ดังนี้
1.1 เน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดประเทศเพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และกำหนดเป้าหมายให้ GDP เพิ่มขึ้นอีก 4 เท่าตัว และทำให้จีนสร้างความกินดีอยู่ดี “เสี่ยวคาง” แก่คนจีนในระดับเดียวกับประเทศที่กำลังพัฒนาในระดับกลาง ภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) ในขณะเดียวกัน ก็ต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของระดับการพัฒนาระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันตก ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหาการเมือง สังคม ความแตกแยกของชนชาติที่รุนแรง จึงได้กำหนดให้พัฒนาภาคตะวันตกไปในเวลาเดียวกันด้วย
1.2 จีนเน้นการปฏิรูปทางการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะเดียวกัน เพื่อลดกระแสกดดันการเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนประเมินแล้วว่าไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในระยะ 10 ปีข้างหน้า นายเจียง เจ๋อหมิน อดีตประธานาธิบดีจีน จึงได้เสนอหลักการ 3 ตัวแทนขึ้นมาและบรรจุลงไปในธรรมนูญของพรรค หลักการ 3 ตัวแทน จะสามารถลดแรงกดดันของกลุ่มนายทุนใหม่และนักวิชาการเรื่องปฏิรูปการเมืองได้ โดยพรรคคอมมิวนิสต์เปิดกว้างให้คนเหล่านี้เข้าไปมีส่วนร่วมในพรรคและการบริหารประเทศได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ จีนได้เริ่มปล่อยให้การปกครองระดับท้องถิ่นในระดับตำบลและเมือง (อำเภอ) มีการเลือกตั้งโดยอิสระแล้วตั้งแต่ปี 2538
หลักการสามตัวแทนได้กำหนดให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นตัวแทนใน 3 ด้าน คือ
(1) ด้านการผลิต โดยดูแลการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
(2) ด้านวัฒนธรรม โดยดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีของจีน และนำวัฒนธรรมอื่นที่ดี
มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ
(3) เปิดให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นตัวแทนของประชาชนทุกชนชั้น
กล่าวคือ ได้เปิดให้กลุ่มนายทุนและนักธุรกิจ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่
พรรคกำหนดเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค และมีส่วนร่วมทางการเมืองเพิ่มขึ้น
ถือเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของพรรคจากตัวแทนเชิงปฏิวัติ หรือตัวแทน
ของชนชั้นแรงงาน เป็นตัวแทนเชิงบริหาร หรือตัวแทนของประชาชนทุกชนชั้น
(2) พรรคคอมมิวนิสต์จีน
สาธารณรัฐประชาชนจีนปกครองในระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์มีพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งมีสมาชิกประมาณ 68 ล้านคน (สถิติปี 2547) เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านต่างๆ ของประเทศอย่างเบ็ดเสร็จตามแนวทางลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ความคิดของอดีตประธานาธิบดีเหมา เจ๋อตง ทฤษฎีการสร้างสรรค์สังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์แบบจีนของเติ้ง เสี่ยวผิง รวมถึงทฤษฎีสามตัวแทนที่ได้รับการบรรจุเข้าในธรรมนูญของรัฐเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 โดยรัฐบาลและรัฐสภามีหน้าที่คอยปฏิบัติตามมติและนโยบายที่พรรคกำหนดโดยยึดหลักประชาธิปไตยรวมศูนย์ (Democratic Centralism) ตามธรรมนูญพรรค กำหนดให้มีการประชุมสมัชชาพรรคแห่งชาติ (Party Congress) ทุก 5 ปี นับตั้งแต่ได้มีการจัดตั้งพรรคขึ้นในปี 2464 จนถึงปัจจุบัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้จัดให้มีการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์แล้วรวมทั้งสิ้น 16 ครั้ง โดยได้จัดประชุมสมัชชาพรรคสมัยที่ 16 ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 ซึ่งนายหู จิ่นเทา ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ คนปัจจุบัน (วาระ 5 ปี)
การเมืองภายในจีนยังคงมีเสถียรภาพภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันที่ 8-14พฤศจิกายน 2545 ได้มีการประชุมสมัชชาพรรคสมัยที่ 16 ซึ่งมีการถ่ายโอนอำนาจจากผู้นำรุ่นที่ 3 ซึ่งมีนายเจียง เจ๋อหมิน เป็นแกนนำ ไปยังรุ่นที่ 4 ซึ่งมีนายหู จิ่นเทา เป็นแกนนำ
ที่ประชุมได้แต่งตั้งนายหู จิ่นเทา เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน สืบแทนนายเจียง เจ๋อหมิน พร้อมทั้งแต่งตั้งสมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง (Members of Standing Committee of the Political Bureau of the Central Committee of CPC) อีก 8 คน ถือได้ว่าบุคคลทั้ง 9 คนนี้ เป็นผู้ที่มีความสำคัญทางการเมืองระดับสูงสุดของจีน
ระหว่างวันที่ 5-18 มีนาคม 2546 ได้มีการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติสมัยที่ 10 ขึ้น ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการสรุปผลการบริหารประเทศในช่วง 5 ปี พร้อมทั้งแต่งตั้งผู้นำรัฐบาลชุดใหม่ โดยได้แต่งตั้งให้ นายหู จิ่นเทา เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นประธานาธิบดี (สืบแทนนายเจียง เจ๋อหมิน) และนายเวิน เจียเป่า เป็นนายกรัฐมนตรี (สืบแทนนายจู หรงจี) ในขณะที่ นายเจียง เจ๋อหมิน ยังคงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทหารพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อไปอีกสมัย
ต่อมา ในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 4 ของสมัชชาพรรคสมัยที่ 6 ระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน 2547 ได้อนุมัติให้นายหู จิ่นเทา ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทหาร (สืบแทนนายเจียง เจ๋อหมิน) โดยจะมีผลเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภาประชาชนในเดือนมีนาคม 2548
ผู้นำจีน
สมัชชาพรรคสมัยที่ 16 ได้คัดเลือกบุคคลเป็นสมาชิกกรมการเมืองจำนวน 25 คน (เพิ่มจากเดิม 3 คน) และสมาชิกกรมการเมือง 25 คนนี้ ได้เลือกตั้งสมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง (Standing Committee of the Political Bureau of the Central Committee) จำนวน 9 คน (เพิ่มขึ้นจากเดิม 2 คน) เรียงตามลำดับอาวุโส ได้แก่
(1) นายหู จิ่นเทา (Hu Jintao)
(2) นายอู๋ ปางกั๋ว (Wu Bangguo)
(3) นายเวิน เจียเป่า (Wen Jiabao)
(4) นายเจี่ย ชิ่งหลิน (Jia Qinglin)
(5) นายเจิง ชิ่งหง (Zeng Qinghong)
(6) นายหวง จวี๋ (Huang Ju)
(7) นายอู๋ กวานเจิ้ง (Wu Guanzheng)
(8) นายหลี่ ฉางชุน (Li Changchun)
(9) นายหลัว ก้าน (Luo Gan)
คลิกที่นี่เพื่อชมภาพสมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง
คลิกที่นี่เพื่อตรวจสอบรายชื่อคณะรัฐมนตรี
คลิกที่นี่เพื่อตรวจสอบรายชื่อผู้นำระดับมณฑล
เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องภายใต้นโยบายการปฏิรูปและการเปิดประเทศที่ ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2521 รัฐบาลจีนมีเป้าหมายที่จะเน้นผลผลิตทางการเกษตรให้พอเพียงสำหรับการบริโภคภายในประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็จะเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีระดับสูงด้วย
ในปี 2544 จีนได้เข้าเป็นสมาชิก WTO และได้ตั้งเป้าหมายว่า เมื่อถึงปี 2548 การค้าต่างประเทศจะมีมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนยังเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า จีนตั้งเป้าหมายว่า เมื่อถึงปี 2548 รายได้เฉลี่ยต่อหัวจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,130 ดอลลาร์สหรัฐ และ ปี 2553 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 ดอลลาร์สหรัฐ
สังคม
การเปิดประเทศและการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนส่งผลให้ประชาชนจีนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมอย่างกว้างขวาง อาทิ ปัญหาการแพร่ขยาย ของอิทธิพลตะวันตก ปัญหายาเสพติด ปัญหาการเพิ่มประชากร ปัญหาความเลื่อมล้ำทางสังคม เนื่องจาก รายได้ของประชาชนในเมืองและชนบทมีความแตกต่างอยู่มาก
รัฐบาลจีนได้พยายามแก้ปัญหาโดยใช้มาตรการควบคุมและรณรงค์ให้ประชาชนยึดมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมและชาตินิยม ควบคุมสื่อมวลชนและอินเตอร์เน็ต เพื่อควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อประเทศ ขณะเดียวกัน ก็พยายามลดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท ตลอดจนให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการประกอบธุรกิจและการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น
เศรษฐกิจการค้า |
อัตราแลกเปลี่ยน
1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 8.08 หยวน (ธ.ค. 2549)
1 ยูโร เท่ากับ 9.28 หยวน (ธ.ค. 2549)
1 หยวน เท่ากับ 4.62 บาท (ธ.ค. 2549)
คลิกที่นี่เพื่อตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยน
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี
1,700 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548) (ปี 2546 เป็นปีแรกที่สูงเกิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ)
GDP
ประมาณ 2,270,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (18,230,000 ล้านหยวน) (ปี 2548) ถือว่าเศรษฐกิจของจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก
GDP Growth
9.5% (ปี 2547)
9.9% (ปี 2548)
10.7% (ไตรมาสที่ 3 ปี 2549)
ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ
1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 1.9 (ปี 2548)
การค้าระหว่างประเทศ
เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องภายใต้นโยบายการปฏิรูปและการเปิดประเทศที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2521 รัฐบาลจีนมีเป้าหมายที่จะเน้นผลผลิตทางการเกษตรให้พอเพียงสำหรับการบริโภคภายในประเทศ โดยการเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อยกระดับการผลิตและการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมกันด้วย
การค้าระหว่างประเทศของจีนในปี 2548 มีมูลค่ารวม 1,422,120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.2 จากมูลค่าการค้ารวมในปี 2547 จีนนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมูลค่า 660,120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 และส่งออกสินค้ามูลค่า 762,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4
นโยบายสำคัญด้านเศรษฐกิจของจีน มีรายละเอียด ดังนี้
(1) ยึดมั่นการกระตุ้นอุปสงค์ของตลาดภายในประเทศต่อไป
(2) ดำเนินนโยบายการคลังในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อยึดเป็นยุทธศาสตร์
ระยะยาวของประเทศ รวมทั้งรักษาเสถียรภาพของค่าเงินหยวน
(3) เร่งปรับโครงสร้างด้านการเกษตร การปฏิรูปชนบท และการเพิ่มรายได้
ให้แก่เกษตรกร
(4) เร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในเชิงยุทธศาสตร์ โดยเน้นการพัฒนา
ด้านเทคโนโลยีแก่วิสาหกิจจีน ยกระดับมาตรฐานเทคโนโลยีการผลิต
พัฒนาด้านการศึกษา เพื่อเสริมสร้างศักยภาพบุคคล และใช้โอกาสที่จีน
เข้าเป็นสมาชิก WTO ขยายการติดต่อและร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น
(5) ปรับเปลี่ยนการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อความเป็นเอกภาพ
ของนโยบายและความโปร่งใส ซึ่งจะยกระดับการทำงานให้สอดคล้องกับ
หลักสากล รวมทั้งฝึกฝนอบรมบุคลากรที่เชี่ยวชาญในกฎหมายและเศรษฐกิจ
ระหว่างประเทศ
(6) พัฒนาภาคตะวันตก เพื่อลดความเลื่อมล้ำระหว่างการพัฒนา และมาตรฐาน
ความเป็นอยู่ของประชาชนทางภาคตะวันออก และตะวันตก
(7) พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมไฮเทค เพื่อส่งเสริม
การพัฒนาที่ยั่งยืน และเพิ่มมูลค่าของสินค้า
(8) จีนมีนโยบายเปิดกว้างด้านตลาดหลักทรัพย์ โดยนักลงทุนต่างชาติที่มี
คุณสมบัติเหมาะสมสามารถยื่นขอใบอนุญาต Qualified Foreign Institutional
Investor: QFII จากคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลัดทรัพย์จีน
(China Securities Regulatory Commission: CSRC) โดยนโยบายดังกล่าว
เริ่มใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2545
ในปัจจุบันตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรจีนมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเดิมสงวนไว้สำหรับนักธุรกิจจีนเท่านั้น การเปิดตลาดจึงเปรียบเสมือนการเปิดโอกาสในการลงทุนทีมีมูลค่าสูงให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกัน จะช่วยระดมทุนใหม่ ๆ และสร้างความชำนาญให้แก่ตลาดหลักทรัพย์จีน และกระตุ้นให้เกิดแรงซื้อขายในตลาดหุ้น
ตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญ
สหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมัน
ตลาดนำเข้าสินค้าที่สำคัญ
ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐฯ เยอรมัน
สินค้าออกที่สำคัญ
ชิ้นส่วนและวัสดุอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องกระเป๋าเดินทาง เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ
สินค้าเข้าที่สำคัญ
แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมันปิโตรเลียมดิบและน้ำมันดิบ ชิ้นส่วนและวัสดุอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินแร่ เครื่องจักรฯ
การลงทุนจากต่างประเทศ
ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศ มูลค่าเงินลงทุนในจีน (FDI) มีมูลค่าประมาณ 60,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 จากมูลค่า FDI ในปี 2546
ผู้ลงทุนที่สำคัญ
ฮ่องกง ไต้หวัน สหรัฐฯ เยอรมนี สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน |
1. ด้านการเมือง
ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 ความสัมพันธ์ไทย-จีนดำเนินมาด้วยความราบรื่นบนพื้นฐานของความเสมอภาค เคารพซึ่งกันและกัน ไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน และอยู่ภายใต้หลักการของผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคง สันติภาพ และเสถียรภาพของภูมิภาค และได้มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงสงครามกัมพูชาที่ได้ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีและได้ขยายไปสู่ความร่วมมือทางการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุน เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็นและจีนสามารถมีความสัมพันธ์กับอาเซียนทุกประเทศแล้ว ความสำคัญของไทยต่อจีนในทางยุทธศาสตร์ได้ลดลงไปจากเดิม ความสัมพันธ์ในปัจจุบันจึงได้เน้นด้านการค้าและเศรษฐกิจบนพื้นฐานของผลประโยชน์ต่างตอบแทนเป็นหลัก
ไทยกับจีนไม่มีปัญหาหรือข้อขัดแย้งใดๆ ที่ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์ การไปมาหาสู่ของผู้นำระดับสูงสุดก็เป็นไปอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะการเสด็จฯ เยือนจีนอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อเดือนตุลาคม 2543 การแลกเปลี่ยนการเยือนของนายกรัฐมนตรีไทย-จีน ในปี 2544 การเสด็จฯ เยือนจีนของพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมมิตรภาพและความเข้าใจระหว่างประชาชนของสองประเทศอีกด้วย
ปัจจุบันความสัมพันธ์ไทย-จีนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นในทุกด้าน ทั้งกรอบทวิภาคี พหุภาคี และเวทีภูมิภาค เช่น ASEAN-China Annual Consultation, ASEAN+3, ARF, ASEM เป็นต้น ในการเยือนจีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2544 ไทยและจีนต่างเห็นพ้องที่จะมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์และขอบข่ายความร่วมมือระหว่างกันให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในลักษณะของความเป็นหุ่นส่วนทางยุทธศาสตร์ การเยือนจีนของนายกรํฐมนตรีประสบความสำเร็จหลายด้าน เช่น ความร่วมมือด้านยาเสพติด ด้านการเงิน การคลัง พาณิชย์นาวี รวมทั้งได้ลงนามความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-จีน/ จีน-ไทย
ปี 2548 ที่ผ่านมา เป็นปีครบรอบ 30 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างไทยและจีน ทั้งสองประเทศจะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและใกล้ชิดกันเป็นพิเศษระหว่างไทยและจีน อาทิ การแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับผู้นำ โดยนายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 เพื่อร่วมฉลองในกิจกรรมต่างๆ ที่รัฐบาลไทย-จีนร่วมกันจัดขึ้นที่จีน การจัดกิจกรรมฉลองร่วม การจัดทำหนังสือที่ระลึก การจัดงานสายสัมพันธ์สองแผ่นดิน และการแลกเปลี่ยนเยาวชน เป็นต้น
ล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกวางสี เมื่อวันที่ 30-31 ตุลาคม 2549 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนสมัยพิเศษ ที่จัดขึ้นในโอกาสที่อาเซียนและจีนฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 15 ปี โดยได้พบหารือกับผู้นำระดับรัฐบาลและระดับท้องถิ่นของจีน รวมถึงผู้นำอีก 9 ประเทศของอาเซียน ซึ่งการเยือนประสบผลสำเร็จอย่างดี
2. ด้านเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2546 ได้มีการลงนามความตกลงเร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ระหว่างไทย-จีน (Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the People's Republic of China on Accelerated Tariff Elimination under the Early Harvest Programme of the Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation between ASEAN and China) ซึ่งช่วยลดอุปสรรคด้านภาษีในการค้าสินค้าผักและผลไม้ (สินค้าพิกัดภาษี 07 08) ทั้งประเทศไทย และจีนมีความพร้อมในการลดภาษีอยู่แล้ว ซึ่งได้มีผลยกเว้นภาษีสำหรับสินค้า 116 รายการ ในพิกัดภาษี 07 08 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546
การค้าของไทยกับจีน
การค้าไทย-จีนในปี 2548 มีมูลค่า 20,343.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.31 ไทยส่งออก 9,183.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐและนำเข้า 11,159.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าเข้าจากไทยที่สำคัญ
สายอากาศและเครื่องสะท้อนสัญญาณทางอากาศ พลาสติก มันสำปะหลัง คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ แผงวงจรไฟฟ้า ไม้ที่เลื่อยแล้ว
สินค้าที่จีนส่งออกมาไทยที่สำคัญ
ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์แผ่นเหล็กรีดร้อน เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์หรือโทรเลขแบบใช้สาย เงิน ตะกั่ว
การลงทุนของไทยในจีน
ณ ปี 2548 ไทยลงทุนในจีนรวม 95.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ธัญพืช ฟาร์มสัตว์ มอเตอร์ไซค์ โรงแรม ร้านอาหาร การนวดแผนไทย
การลงทุนของจีนในไทย
ณ ปี 2548 จีนลงทุนในไทยรวม 2,286 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก และอุตสาหกรรมโลหะพื้นฐานการลงทุนที่จีนได้รับอนุมัติจากรัฐบาลจีนมีจำนวนทั้งสิ้น 15 โครงการ ประกอบด้วยกิจการก่อสร้าง การค้า ธนาคาร การแปรรูปโลหะ การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ สายการบิน เครื่องจักร ร้านอาหาร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
Related Websites
(คลิกชื่อที่ต้องการ)
กระทรวงพาณิชย์
ข้อมูลการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
ข้อมูลการจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน
กระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน
China Internet Information Center
สำนักข่าวซินหัว
สำนักข่าวพีเพิลเดลี่
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น