ลำดับตอนที่ #6
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #6 : สาธารณรัฐเบลารุส
|
|
Republic of Belarus |
ข้อมูลทั่วไป |
สมัยประวัติศาสตร์
นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าชาวเผ่าบอลติกและชาวสลาฟเป็นพวกแรกที่มาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่เป็น เบลารุสในปัจจุบันตั้งแต่ต้นคริสตกาล ในต้นศตวรรษที่ 9 เบลารุสได้ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรคีฟวันรุส (Kievan Rus) ซึ่งเป็นอาณาจักรรัสเซียโบราณ หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับเบลารุสปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 980 เมื่อเจ้าชาย Rogvold ของเบลารุสได้ปกครองดินแดน Polotsk ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเบลารุส โดยอาณาจักรนี้มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างแน่นแฟ้นกับอาณาจักรของชาวเยอรมันและชาวสแกนดิเนเวีย ในขณะที่รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมมาจากไบเซนไทน์และพัฒนาขึ้นมาเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองในศตวรรษที่ 12 หลังจากนั้น เบลารุสได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของชาวมองโกลในช่วงสั้นๆ และตกอยู่ภายใต้อาณาจักรสำคัญอื่นๆ ของยุโรป อาทิ Grand Duchy of Lithuania อาณาจักรโปแลนด์ และจักรวรรดิรัสเซียตามลำดับ
สมัยอยู่ภายใต้จักรวรรดิรัสเซีย
เบลารุสได้ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของจักรวรรดิรัสเซียตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 โดยในช่วงเวลาดังกล่าว รัสเซียได้บังคับให้ชาวเบลารุสนับถือศาสนารัสเซียนออร์โธดอกซ์ และชาวเบลารุสได้ตกเป็นทาสใน ที่ดินของชาวรัสเซีย แต่ยังได้รับสิทธิให้ใช้ภาษาเบลารุส ชาวเบลารุสได้พยายามต่อต้านการปกครองของจักรวรรดิรัสเซียแต่ล้มเหลว อย่างไรก็ดี หลังการปฏิวัติรัสเซีย เบลารุสได้ประกาศเอกราชจากรัสเซียในช่วงสั้นๆ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1918 แต่ต่อมาสหภาพโซเวียตได้กลับเข้ามายึดครอง โดยผนวกเบลารุสเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตแห่งเบลารุสในปี ค.ศ. 1919 ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1920-1930 ประธานาธิบดี สตาลินแห่งสหภาพโซเวียตได้นำระบบนารวมเข้ามาใช้ในเบลารุส ทำให้ชาวเบลารุสหลายแสนคนถูกกวาดต้อนไปเป็นแรงงานในไร่นาหรือโรงงานต่างๆ ตามเมืองใหญ่ๆ ของเบลารุสและภาคตะวันออกของรัสเซีย ในระหว่างนั้น สหภาพโซเวียตได้ลงนามกับโปแลนด์แบ่งเบลารุสเป็นสองส่วน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1921
แต่เบลารุสส่วนที่เป็นของโปแลนด์ก็ได้กลับมารวมกับสหภาพโซเวียตอีกครั้งเมื่อกองทัพนาซีบุกโปแลนด์ในปี ค.ศ. 1939
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2- การประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพเยอรมันได้เข้ามายึดครองเบลารุส ส่งผลให้ชาวเบลารุสเสียชีวิต ทั้งสิ้น 2.2 ล้านคน และเมืองต่างๆ ได้รับความเสียหายอย่างมาก หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เบลารุสกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตอีกครั้ง และกลายเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1970 มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง เนื่องจากพื้นฐานทางอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง
ในขณะเดียวกัน ภาษารัสเซียได้กลายเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคม
เบลารุส อย่างไรก็ดี
ความไร้ประสิทธิภาพของระบบสหภาพโซเวียต ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วสหภาพโซเวียต และความไร้ ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขผลกระทบจากกรณีการระเบิดของโรงงานปฏิกรณ์ปรมาณู Chornobyl ที่ตั้งอยู่ในยูเครนในปี ค.ศ. 1986 ซึ่งสารกัมมันตภาพรังสีส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 ตกลงบน พื้นดินของเบลารุส กอปรกับประธานาธิบดีกอร์บาชอฟดำเนินนโยบายเปิดกว้างทางการเมือง ได้ส่งผลให้รัฐบาลของสหภาพโซเวียตจำเป็นต้องให้อำนาจแก่สาธารณรัฐและดินแดนปกครองตนเองต่างๆ มากขึ้น สภาสูงสุดของโซเวียตเบลารุสจึงได้ประกาศเอกราชและสถาปนาสาธารณรัฐอธิปไตยแห่งสังคมนิยมโซเวียตเบลารุสขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1991 ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นสาธารณรัฐเบลารุสในเวลาต่อมา
ที่ตั้ง เบลารุสตั้งอยู่ทางตะวันออกของโปแลนด์ ทางตอนใต้ของลัตเวีย และลิธัวเนีย ทางตอนหนือของยูเครน
พื้นที่ 207,600 ตารางกิโลเมตร (ไม่มีทางออกทะเล)
ประชากร 9.8ล้านคน เป็นชาวเบลารุสเซีย (Belarusian) ร้อยละ 81.2 % ชาวรัสเซีย 13.2 % ชาวโปแลนด์ 4.1 % ชาวยูเครน 2.9 % และอื่นๆ 1.9%
อัตราการเจริญเติบโตของประชากร ร้อยละ - 0.15 (2544)
ภาษา เบลารุส และมีการใช้ภาษารัสเซียอย่างกว้างขวาง
ศาสนาคริสต์ นิกายออโธด็อกซ์ตะวันออก 80 % อื่น ๆ (โรมันคาธอลิก
โปรแตสแตนต์ ยิว และมุสลิม)
เมืองหลวง มินสก์ (Minsk : ประชากร 1.8 ล้านคน)
สกุลเงิน Belarus Rubles (2150 Rubles = 1 USD)
วันประกาศเอกราช 25 สิงหาคม 2534 (สภาโซเวียตสูงของเบลารุสประกาศอิสรภาพจากสหภาพโซเวียต
ภูมิอากาศ แบบภาคพื้นทวีป หน้าหนาวอากาศหนาวจัด หน้าร้อนอากาศเย็น ชื้น
เวลา เร็วกว่าเวลามาตรฐานกรีนนิช (GMT) 3 ชั่วโมง (ช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง)
การเมืองการปกครอง |
เขตการปกครอง แบ่งเป็น 6 เขตการปกครอง (voblasti) และ 1 เขตปกครองอิสระ* (municipality) ได้แก่ Minsk* Brestskaya Homyel?skaya Hrozyenskaya Mahilyowskaya Minskaya และ Vitsyebskaya
ประธานาธิบดี นาย Alexander Lukashenko
( ตั้งแต่ 10 กรกฎาคม 2537 และได้รับเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อ 9 กันยายน 2544)
นายกรัฐมนตรี นาย Sergei Sidorsky (19 ธันวาคม ค.ศ. 2003)
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ นาย Sergei N. Martynov มีนาคม ค.ศ. 2003)
สถาบันทางการเมือง - ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบ 2 สภา (Bicameral) โดยรัฐสภาของเบลารุสประกอบด้วยสภาสูง (Council of the Republic) มีสมาชิก 64 คน และสภาล่าง หรือสภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Representatives) มีสมาชิก 110 คน ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล และมีอำนาจทางการในการบริหารอยู่มาก
- ฝ่ายบริหาร
1. ประธานาธิบดีเป็นประมุข อยู่ในตำแหน่งวาระละ 7 ปี (จากการลงประชามติขยายวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2539 ) มีอำนาจในการบริหารประเทศ และเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจำนวน 25 คน ตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ
*ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 9 กันยายน 2544 นาย Alexander Lukashenko ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนร้อยละ 75.6
2. นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งประธานาธิบดีจะเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภา และนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้เสนอชื่อคณะรัฐมนตรีต่อประธานาธิบดี
- ฝ่ายตุลาการ ศาลฎีกา (ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษาศาล) ศาลรัฐธรรมนูญ (ผู้พิพากษาศาลจำนวนครึ่งหนึ่งแต่งตั้งโดย
ประธานาธิบดี และอีกครึ่งหนึ่งแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนฯ)
พรรคการเมือง Commuist Party of Belarus (CPB)
The Agrarian Party
The party of All-Belarusian Unity and Accord
The United Civic Party
The Party of People?s Accord
Belarusian Social Democratic Union (Gramada)
Belarusian Ecological Green Party ฯลฯ
สมาชิกภาพองค์การระหว่างประเทศ BSEC (observer), CEI, CIS, EAPC, EBRD, IAEA, IBRD, ICAO, ICFTU, ICRM, IFC, IFRCS, ILO, IMF, Interpol, IOC, IOM, IPU, ISO, ITU, MIGA, NAM, NSG, OPCW, OSCE, PCA, PFP, UN, UNCTAD, UNESCO, UNIDO, UPU, WCO, WFTU, WHO, WIPO, WMO, WToO, WTO (observer) และล่าสุดได้รับการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิก ECOSOC วาระปี ค.ศ. 2007-2009
สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ
ภาพรวมของสถานการณ์การเมืองเบลารุสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994
เบลารุสมีประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1994 คือนาย Alexander Lukashenko อดีตสมาชิกสภาและประธานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตของรัฐสภา และได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ นาย Lukashenko เป็นนักการเมืองสายอนุรักษ์ที่มีนโยบายพัฒนาความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกับรัสเซีย ทั้งยังมีแนวความคิดชาตินิยมรุนแรง จนได้รับได้รับสมญานามเมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้งว่า Zhirinovsky แห่งเบลารุส (Zhirinovsky เป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย)
สถานการณ์ทางการเมืองของเบลารุสในปัจจุบันกล่าวได้ว่า อำนาจในการปกครองประเทศเกือบทั้งหมดอยู่ในการควบคุมของประธานาธิบดี Lukashenko ซึ่งควบคุมคะแนนเสียงข้างมากในสภาและเป็นผู้แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในระดับรัฐบาลไปจนถึงระดับสภาประจำมณฑล นาย Lukashenko ไม่สนับสนุนการปฏิรูปสู่ระบบตลาด เน้นการแทรกแซงของรัฐ (State Intervention) มีการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์กิจการบางอย่างมาเป็นการวางแผนจากส่วนกลาง การริดรอนสิทธิของสื่อและห้ามการชุมนุมประท้วงของประชาชาติ รวมทั้งมี การจับกุมคุมขังบุคคลต่างๆ โดยใช้ข้ออ้างการฉ้อราษฎร์บังหลวง ผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจหลายรายถูกไล่ออกและบางแห่งถูกปิดกิจการ ทำให้ธุรกิจภาคเอกชนและการลงทุน จากต่างประเทศซบเซาลง โดยบริษัทต่างชาติหลายรายได้ย้ายฐานการผลิตไปจากเบลารุสแล้ว นอกจากนี้ นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลนาย Lukashenko ยังให้ความสำคัญกับรัสเซีย และพึ่งพารัสเซียทางด้านพลังงานและวัตถุดิบอย่างมาก และยังได้ลงนามในสนธิสัญญาเพื่อจัดตั้งสหภาพด้านการเงินกับรัสเซีย ที่ผ่านมา ประชาชนเบลารุสได้เคยเดินขบวนประท้วงเพื่อต่อต้านการผูกขาดอำนาจในการบริหารประเทศของประธานาธิบดี Lukashenko หลายครั้ง
การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1996
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1996 ประธานาธิบดี Lukashenko ได้จัดให้มีการลงประชามติในร่าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญ คือการขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีออกไปจาก 5 ปี เป็น 7 ปี และจะเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในด้านต่าง ๆ มากขึ้น อาทิ การยุบศาล
รัฐธรรมนูญและจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนโดยให้ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกจำนวนครึ่งหนึ่ง และการเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในการออกคำสั่งประธานาธิบดีอย่างกว้างขวางและยุบสภาได้ตามแต่จะเห็นควร เป็นต้น
โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้มีลักษณะรวบอำนาจมากเกินไป จึงมีผลให้เกิดการต่อต้านจากฝ่ายรัฐสภาและศาลรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายประธานาธิบดีและฝ่ายรัฐสภามีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ อาทิ ประธานาธิบดี Lukashenko ได้สั่งปลดประธานคณะกรรมการตรวจสอบการเลือกตั้งที่วิพากษ์วิจารณ์การลงประชามติ สั่งจับผู้นำฝ่ายค้านและสั่งปิดหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทำให้ฝ่ายรัฐสภาเตรียมที่จะดำเนินกระบวนการทางนิติบัญญัติเพื่อถอดถอนประธานาธิบดี Lukashenko ออกจากตำแหน่ง
รัสเซียในฐานะประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเบลารุสมากที่สุด ได้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย ซึ่งในที่สุดก็สามารถตกลงกันได้ โดยให้การลงประชามติยังคงดำเนินต่อไป แต่ให้มีผลเป็นเพียงการให้ความเห็นเท่านั้น ในขณะเดียวกันรัฐสภาเบลารุสก็จะระงับกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ผลการลงประชามติปรากฏว่าประธานาธิบดี Lukashenko ได้รับชัยชนะตามความคาดหมาย
โดยชาวเบลารุสร้อยละ 70.5 ให้การสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญที่ประธานาธิบดีเสนอ และมีเพียงร้อยละ 7.9 เท่านั้น ที่ให้การสนับสนุนร่างของสภา
เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากตะวันตกอย่างมากว่า ระบบประชาธิปไตยและสถานการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนในเบลารุสเลวร้ายลงอย่างมาก กลุ่มประเทศตะวันตกและประชาชนชาวเบลารุสได้ร่วมกันประท้วงรัฐบาลเบลารุสก่อให้เกิดผลกระทบในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Council of Europe ของเบลารุสรวมทั้งรัฐบาลสหรัฐ ฯ ได้แสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลเบลารุสโดยตัดความ
ช่วยเหลือที่ให้แก่เบลารุส 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย
สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน
• การเลือกตั้งทั่วไป
เบลารุสจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อวันที่ 15 และ 29 ตุลาคม ค.ศ. 2001 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ผู้สมัครอิสระที่สนับสนุนประธานาธิบดี Lukashenko ได้รับเสียงสนับสนุนเป็นลำดับที่ 1 ได้รับที่นั่งในสภา 81 จาก 110 ที่นั่ง ลำดับที่สองได้แก่ Communist Party of Belarus ได้รับเลือกเพียง 6 ที่นั่ง
ทั้งนี้
การเลือกตั้งเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 2004; ทั่วโลกกล่าวว่าการเลือกตั้งนั้นมีการโกงกันอย่างมากและไม่เป็นไปในระบอบประชาธิปไตย; กล่มที่สนับสนุน ปธน. LUKASHENKO ชนะหมด หลังจากที่พรรคฝ่ายค้านโดนหาว่าโกงการเลือกตั้ง
• การเลือกตั้งประธานาธิบดี
การเลือกตั้งประธานาธิบดีของเบลารุสมีขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 2001 โดยนาย
Lukashenko ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสืบต่อเป็นวาระที่ 2 เป็นเวลา 5 ปี มีคะแนนเสียงสนับสนุนเป็นร้อยละ 75.6 ในขณะที่นาย Vladimir Goncharik ได้รับเสียงสนับสนุนเป็นลำดับที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 15.4
เมื่อเดือนมี.ค. ปี 2006 เบลารุสได้จัดการเลือกตั้งปธน.ดีขึ้น โดยนาย Lukashenko ปธน.คนปัจจุบัน ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย เอาชนะคู่แข่งสำคัญ คือ นาย Alexander Milinkevich ผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม นาย Milinkevich และประชาชนประมาณหมื่นคน ได้ออกมาประท้วงผลการเลือกตั้ง และได้เกิดการปะทะกันระหว่างตร.กับผู้ประท้วง ส่งผลให้ฝ่ายค้าน รวมทั้งกลุ่มผู้ประท้วงถูกทางการจับกุม และมีผู้ได้รับ บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ทำให้ EU สหรัฐฯ และ OSCE ต่างประนามการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าไม่โปร่งใสและไม่ยอมรับ ผลการเลือกตั้งดังกล่าว นอกจากนี้ EU ยังได้ออกมาตรการระงับการให้ VISA แก่บุคคลสำคัญในรัฐบาลเบลารุส รวมถึงปธน. Lukashenko อีกด้วย ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศตะวันตกพยายามที่จะใช้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นเงื่อนไขในการล้มรัฐบาลของปธน. Lukashenko โดยอ้างความไม่ชอบธรรมในการปกครอง แบบไม่เป็นประชาธิปไตย ในขณะที่รัสเซียเป็นประเทศเดียวที่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งดังกล่าว และให้การสนับสนุนปธน. Lukashenko อย่างเต็มที่ เนื่องจากในด้านภูมิรัฐศาสตร์ เบลารุสมีความสำคัญอย่างยิ่งกับรัสเซีย ในแง่ที่เป็นรัฐกันชนกับฝ่ายตะวันตก ขณะที่รอบข้าง คือ ยูเครน โปแลนด์ ลัตเวีย และลิทัวเนีย อยู่ฝ่ายตะวันตกหมดแล้ว รวมทั้งยังเป็นที่มั่นสุดท้ายในยุโรปในการสกัดการขยายอิทธิพลของ NATO อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของเบลารุสกับรัสเซียเกิดความตึงเครียดมากขึ้น เมื่อตอนเดือน ธ.ค. 49 เกิดปัญหาความขัดแย้งด้านพลังงาน (รัสเซียขึ้นราคาก็าซธรรมชาติถึง 2 เท่า และขู่ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของเบลารุส
ทุกอย่าง หากยังยืนยันที่จะขึ้นภาษีขึ้นราคาส่งน้ำมันของรัสเซียผ่านท่อของเบลารุสไปยังประเทศในยุโรป ภายหลังเบลารุสจำยอมต่อข้อเสนอของรัสเซีย)
เศรษฐกิจการค้า |
ระบบเศรษฐกิจเบลารุสค่อนข้างพัฒนาล่าช้า เนื่องจากรัฐบาลของประธานาธิบดี Lukashenkoไม่สนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบเสรี และส่งเสริมเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางแบบโซเวียตเดิมโดยรัฐบาลพยายามเข้ามาควบคุมการผลิตและปัจจัยการผลิตทั้งหมด กฎระเบียบของรัฐที่ไม่เอื้ออำนวย ต่อการลงทุนและความเสี่ยงในการประกอบการด้านต่างๆ ส่งผลให้บริษัทต่างชาติหลายแห่งถอนฐาน
การผลิตออกไปจากเบลารุส อาทิ บริษัท Ikea ของสวีเดน และบริษัทเบียร์ Balika ของรัสเซีย เป็นต้น ในขณะเดียวกัน เบลารุสไม่มีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญมากนัก และยังต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันจากรัสเซีย ในด้านการเกษตร ปัจจุบันผลิตผลการเกษตรของเบลารุสอยู่ในเกณฑ์ไม่ดีนัก เนื่องจากดินที่ใช้ในการเพาะปลูกได้รับสารกัมมันตภาพรังสีจากอุบัติเหตุที่โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เมืองเชอร์โนบิล (Chernobyl) ของยูเครน เมื่อปี ค.ศ. 1986 ซึ่งปริมาณกัมมันตภาพรังสีกว่าร้อยละ 70 ตกลงบนพื้นดินของเบลารุส ทำให้พื้นดินกว่าร้อยละ 25 เสียหายอย่างมากจนไม่สามารถเพาะปลูกหรืออยู่อาศัยได้
สำหรับในปี ค.ศ. 2002 GDP ของเบลารุส คือ 13.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 4.1 มีอัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 42.8 มีหนี้สินต่างประเทศคิดเป็นมูลค่า 850 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นหนี้รัสเซียกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าหนี้ และมีเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) นับตั้งแต่แยกตัวจากสหภาพโซเวียตเพียง 1.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของต่างชาติในการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ Yamal pipeline จากรัสเซียไปสู่ยุโรปตะวันตก นอกจากนี้ได้แก่ การลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร และการก่อสร้าง โดยประเทศผู้ลงทุนสำคัญในเบลารุส ได้แก่ รัสเซีย เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ไซปรัส สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และโปแลนด์ ตามลำดับ
ในด้านการค้ากับต่างประเทศ สินค้าออกสำคัญของเบลารุส ได้แก่ ปุ๋ยฟอสเฟต รถแทรกเตอร์(มีส่วนแบ่งในตลาดโลกประมาณร้อยละ 12) เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ (เบลารุสมีชื่อเสียงในการผลิตขดลวดเหล็กกล้าส่งไปยังยุโรป) เป็นต้น ปัจจุบันรัฐบาลเบลารุสพยายามปรับโครงสร้างการส่งออกจากรถแทรกเตอร์และรถบรรทุกมาเป็นสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในส่วนของปุ๋ยนั้น เบลารุสกำลังแสวงหาตลาดใหม่ เนื่องจากตลาดหลักดั้งเดิมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะโปแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย
ซึ่งเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังพยายามแก้ปัญหาการให้การอุดหนุนแบบ cross-subsidizing รวมทั้งดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการค้าเสรี รวมถึงให้มีการกำหนดราคาเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ได้อย่างเสรีอีกด้วย
GDP (purchasing power parity) : $73.09 billion (2005 est.)
GDP (official exchange rate) : $26.69 billion (2005 est.)
GDP - real growth rate: 9.2% (2005 est.)
GDP - per capita (PPP): $7,100 (2005 est.)
GDP - แบ่งตามสาขา:
การเกษตร: 9.3%
อุตสาหกรรม: 31.6%
การบริการ: 59.1% (2005 est.)
แรงงาน :
4.3 million (31 December 2005)
แรงงานแบ่งตามอาชีพ
เกษตร: 14%
อุตสาหกรรม: 34.7%
การบริการ: 51.3%
อัตราว่างงาน :
1.6% (2005)
อัตราเงินเฟ้อ
10.3% (2005 est.)
อัตราการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรม
15.6% (2005 est.)
ดุลย์การค้า
$852 million (2005 est.)
มูลค่าการส่งออก :
$16.14 billion f.o.b. (2005 est.)
สินค้าส่งออก
แร่ธาตุ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์และยาง อาหาร
ตลาดส่งออกที่สำคัญ
รัสเซีย ยูเครน เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน เยอรมนี
มูลค่านําเข้า :
$16.94 billion f.o.b. (2005 est.)
สินค้านำเข้าที่สำคัญ
แร่ธาตุ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์และยาง อาหาร
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ
รัสเซีย เยอรมนี ยูเครน โปแลนด์ อิตาลี สหรัฐฯ
อุตสาหกรรม
เครื่องจักรและอุปกรณ์ตัดโลหะ อุปกรณ์ทางเกษตรกรรม ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย สิ่งทอ
ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ถ่านหินเลน
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเบลารุส |
นโยบายต่างประเทศของเบลารุสให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับรัสเซียเป็นอันดับแรก ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีความผูกพันทางเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์การเมือง ในขณะที่เบลารุสมีปัญหาขัดแย้งกับชาติตะวันตกในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความไม่โปร่งใสในระบอบประชาธิปไตยเรื่อยมา นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดี Lukashenko ได้รับเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ นอกจากนี้
เบลารุสสนับสนุนการบูรณาการของกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตในกรอบ CIS และกลุ่มองค์การย่อยอื่นๆ เช่น Eurasian Economic Community (EEC) และการจัดตั้งสหภาพด้านการเงินกับรัสเซีย
ความสัมพันธ์กับรัสเซีย
ความสัมพันธ์ระหว่างเบลารุสกับรัสเซียอยู่บนพื้นฐานสำคัญคือสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมือกับรัสเซียซึ่งได้ลงนามร่วมกันไว้เมื่อปี ค.ศ. 1995 การพึ่งพารัสเซียด้านพลังงาน และการจัดตั้งสหภาพรัสเซีย-เบลารุส
ความสัมพันธ์ด้านพลังงานกับรัสเซีย
เบลารุสต้องพึ่งพารัสเซียด้านพลังงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และพลังงานไฟฟ้า โดยก๊าซจากรัสเซียจะผ่านท่อส่ง Yamal pipeline ที่ผ่านดินแดนของเบลารุสไปยังยุโรปตะวันตก รัสเซียจึงสนใจที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท่อส่งก๊าซดังกล่าว โดยให้บริษัท Gazprom ของรัสเซีย เสนอขอซื้อหุ้นจากบริษัท Betransgaz ของเบลารุสร้อยละ 50 คิดเป็นมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มูลค่าจริงประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งที่ผ่านมา มีการเจรจากันหลายครั้งแต่ยังไม่
สามารถยุติได้ ในขณะเดียวกันเบลารุสได้พยายามขอขึ้นค่าผ่านทางสำหรับขนส่งก๊าซของรัสเซียไปยังยุโรปตะวันตก ทำให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดขึ้น ทั้งนี้ รัสเซียได้ยุติการส่งก๊าซผ่านท่อส่ง Yamal pipeline ไปยังเบลารุสเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2004 โดยกล่าวหาว่าเบลารุสแอบนำก๊าซที่ รัสเซียขายให้ในราคาต่ำไปขายต่อยังยุโรปตะวันตกอีกต่อหนึ่ง และได้เริ่มส่งก๊าซให้เบลารุสใหม่เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์
ค.ศ. 2004 ซึ่งในช่วงสั้นๆ ที่รัสเซียยุติการส่งก๊าซให้เบลารุสนั้น แม้ว่าเบลารุสจะแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงานโดยนำเข้าจากบริษัทก๊าซรายย่อย แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวเบลารุสอย่างมาก และส่งผลต่อกระบวนการรวมตัวเป็นสหภาพรัสเซีย-เบลารุส ซึ่งได้มีการเจรจากันมาแล้วถึง 9 ปีอีกด้วย
ปัญหาความขัดแย้งด้านพลังงานระหว่างรัสเซียและเบลารุส
ปัญหาความขัดแย้งด้านพลังงานระหว่างเบลารุส และรัสเซีย มีท่าทีว่าจะคลี่คลายความตึงเครียดแล้ว โดยล่าสุด ท่าทีของเบลารุสเริ่มอ่อนลง โดยยอมที่จะยกเลิกการขึ้นภาษีสำหรับน้ำมันที่ส่งออกจากรัสเซียผ่านท่อน้ำมันของเบลารุสไปยังประเทศในยุโรป ที่มีผลบังคับตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม2550 ภายหลังรัสเซียขู่ที่จะเพิ่มภาษีการนำเข้าสินค้าทุกอย่างและระงับการส่งน้ำมันผ่านท่อส่งน้ำมันในเบลารุส เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2550
ทั้งนี้ รัสเซียให้เหตุผลว่ามีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการมาตรการระงับการส่งออกน้ำมันผ่านท่อส่งน้ำมันในเบลารุส เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศที่กำลังประสบกับความเสียหายอยู่ มาตรการนี้ เกิดขึ้นเมื่อเบลารุสขึ้นค่าภาษีสำหรับน้ำมันที่ส่งออกจากรัสเซีย โดยรัฐบาลเบลารุส ประกาศอัตราภาษีใหม่ เพิ่มขึ้นเป็น 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ภายหลังจากเบลารุสต้องจำยอมลงนามในข้อตกลงก๊าซธรรมชาติฉบับใหม่กับรัสเซีย เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ซึ่งทำให้เบลารุส ต้องจ่ายค่าซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย เพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 เท่า จาก 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร (ราว 1,620 บาท) เป็น 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร (ราว 3,600 บาท) โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 อีกทั้งยังต้องขายหุ้นร้อยละ 50 ในบริษัทเบลทรานส์ก๊าซ ซึ่งเป็นบริษัทก๊าซธรรมชาติแห่งชาติ ให้แก่ บริษัทก๊าซพรอม ซึ่งเป็นบริษัทก๊าซธรรมชาติแห่งชาติของรัสเซีย ตามเงื่อนไขส่วนหนึ่งของข้อตกลงฉบับดังกล่าวด้วย เนื่องจาก เบลารุสต้องพึ่งพิงภาคเศรษฐกิจของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม เบลารุสเริ่มแข็งขืนและประกาศจะดำเนินมาตรการตอบโต้รัสเซียเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องอ่อนข้อเมื่อรัสเซียประกาศว่าจะขึ้นค่าภาษีการนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากเบลารุส
ปัญหาความขัดแย้งด้านพลังงานระหว่างสองประเทศ เกิดขึ้นไม่ถึงปีหลังจากที่เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันระหว่างรัสเซียกับยูเครนและจอร์เจีย ซึ่งในที่สุดทั้งสองประเทศจำยอมที่จะจ่ายซื้อก็าซธรรมชาติในราคาที่สูงกว่าถึงสองเท่า
ผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้ง
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเบลารุส กับรัสเซีย ได้สร้างความวิตกกังวลต่อกลุ่มประเทศในยุโรปที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซีย ผ่านเบลารุส ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ากลุ่มประเทศในยุโรปจะออกมายืนยันว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศตนในระยะสั้น เนื่องจากได้มีการสำรองพลังงานไว้ค่อนข้างมากพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามประเทศในยุโรปได้แสดงความไม่พอใจและความไม่เชื่อมั่นต่อรัสเซียในฐานะที่รัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งพลังงานแก่ประเทศตน เนื่องจากไม่ได้มีการปรึกษาหารือกันก่อนล่วงหน้าถึงมาตรการดังกล่าว ขณะเดียวกันทางประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้มีการแสดงความประสงค์ที่จะจัดการรือกัน โดยเน้นไปที่ประเด็นที่ว่าสหภาพฯ จะช่วยสร้างหลักประกันก็าซธรรมชาติและน้ำมันในอนาคตได้อย่างไร
เหตุการณ์นี้ยังได้สร้างความไม่พอใจแก่ประเทศในกลุ่ม CIS ด้วย โดยล่าสุดทางอาเซอร์ไบจาน ซึ่งประสบปัญหาความขัดแย้งกับรัสเซียในเรื่องของการขึ้นราคาก็าซธรรมชาติ ได้ระงับการส่งออกน้ำมันให้แก่รัสเซีย แล้ว
ปัญหานี้ยังได้แสดงถึงการที่รัสเซียพยายามที่จะใช้ทรัพยากรด้านพลังงานของประเทศที่มีเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ในการต่อรองทางการเมืองในเวทีระดับระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ซึ่งในอดีตได้รับซื้อพลังงานจากรัสเซียในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดจริง เหตุเพราะทางรัสเซียต้องการที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศในกลุ่ม CIS ภายหลังจากการประกาศอิสรภาพจากสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ดี ประเทศในกลุ่ม CIS เริ่มมีนโยบายที่หันเหไปทางตะวันตกมากขึ้น จึงคาดได้ว่ามาตรการขึ้นราคาในการซื้อพลังงานของรัสเซีย นั้น เกิดจากการที่รัสเซียต้องการที่จะแสดงอำนาจให้ประเทศในกลุ่ม CIS ได้เห็น และการที่เบลารุส ยอมอ่อนข้อต่อรัสเซียก็อาจแสดงว่าการดำเนินการดังกล่าวของรัสเซียประสบผลสำเร็จในระดับหนึง
การจัดตั้งสหภาพรัสเซีย-เบลารุส
เมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1996 เบลารุสและรัสเซียได้ลงนามในสนธิสัญญาเพื่อจัดตั้งประชาคมสาธารณรัฐอธิปไตย (Community of Sovereign Republics) อันเป็นการวางพื้นฐานให้ทั้งสองประเทศก้าวไปสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจเดียวกันภายในเงื่อนเวลาที่กำหนด และต่อมาได้มีการลงนามในเอกสารข้อตกลงต่างๆ เพื่อเป้าหมายดังกล่าว จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1999 ทั้งสองฝ่ายได้ ลงนามในสนธิสัญญาสหภาพ (The Belarus-Russia Union Treaty) เพื่อก่อตั้งสหภาพที่มีการรวมตัวกันในระดับองค์กรเหนือรัฐ และมีการประสานนโยบายด้านการทหาร เศรษฐกิจ และการเงินอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการใช้ระบบเงินสกุลเดียวกัน (Single Currency System) ภายในปี ค.ศ. 2005 โดยจะมีการตั้งองค์กรสำคัญคือ Supreme State Council ซึ่งประกอบด้วยผู้นำของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งองค์กรร่วมในด้านบริหาร และนิติบัญญัติ ทั้งนี้ ภายใต้ความตกลงดังกล่าว รัสเซียจะได้ประโยชน์ในการใช้ฐานที่มั่นและระบบพื้นฐานทางทหารจากเบลารุสซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศสมาชิกของนาโต ในขณะที่เบลารุสจะได้สิทธิในการเข้าสู่ตลาดของรัสเซีย การซื้อก๊าซจากรัสเซียในราคาต่ำ และการสนับสนุนทางการเมืองจากรัสเซีย
สำหรับโครงการที่น่าจะมีการดำเนินการร่วมกันหากการเจรจาเรื่องรูปแบบการดำเนินการของสหภาพฯ ประสบความสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ได้แก่ โครงการก่อสร้างโรงงานถลุงโลหะ โครงการโรงงานประกอบรถยนต์และรถบรรทุกในหลาย ๆ เมือง เส้นทางขนส่ง Paris-Minsk-Moscowการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและศุลกากรร่วมกัน การจัดระบบการเก็บภาษีและอากรมาตรฐานเดียวกัน การกำหนดราคามาตรฐานของเชื้อเพลิงและพลังงาน
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2002 เป็นต้นมา ได้เกิดกระแสความไม่เห็นพ้องอย่างเห็นได้ชัดเกี่ยวกับรูปแบบและการดำเนินการของสหภาพรัสเซีย-เบลารุสระหว่างประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซีย และประธานาธิบดี Lukashenko ของเบลารุส โดยประธานาธิบดีปูตินได้ออกมาให้สัมภาษณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเบลารุสที่จะรวมตัวกันโดยใช้เงินสกุลรูเบิ้ลของรัสเซีย และมีสิทธิในการผลิตเงินตรา แต่คงความเป็นอธิปไตยของแต่ละฝ่ายอยู่ รวมทั้งมีสิทธิออกเสียงยับยั้งมติหรือการ
ตัดสินใจของสภาร่วม กล่าวคือ ในขณะนี้ประธานาธิบดีปูตินสนับสนุนแนวทางการจัดตั้งองค์กรเหนือชาติ (supra-national body) ที่มีอำนาจในตรากฎหมายและตัดสินในประเด็นต่าง ๆ เหนือกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งจะทำให้เบลารุสสูญเสียความเป็นอธิปไตย นอกจากนี้ ประธานาธิบดีปูตินเห็นว่า การที่จะให้สิทธิกับเบลารุสในการผลิตเงินตราเองนั้นไม่สามารถรับได้ เพราะจะทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียที่กำลังเติบโตและพัฒนาไปข้างหน้าจะถูกดึงให้ตกต่ำลง
ประธานาธิบดีปูตินได้เสนอแนวทางการรวมตัวของเบลารุสเข้ากับรัสเซียใน 2 รูปแบบคือ 1) ให้ 7 จังหวัดของเบลารุสรวมเข้าเป็น 7 สมาชิกของสหพันธรัฐรัสเซีย โดยดำเนินการบริหารตามแนวปฏิบัติที่กำหนดไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญของรัสเซีย หรือ 2) รวมตัวในลักษณะ confederation ที่แต่ละประเทศยังมีอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนในลักษณะเดียวกับสหภาพยุโรป
ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบในสาระของร่างความตกลงว่าด้วยการใช้สกุลเงินร่วมกันแล้ว และในวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 2004 นาย Boris Gryslov ประธานรัฐสภารัสเซียจะเดินทางไปประชุมร่วมกับฝ่ายเบลารุส และเข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดี Lukashenko เพื่อหารือถึงงบประมาณของรัฐบาลกลางรัสเซีย-เบลารุส ประจำปี ค.ศ. 2004 ที่จะเข้าสู่การพิจารณารอบแรกในการประชุมครั้งนี้
ความสัมพันธ์กับจีน
เบลารุสได้พยายามพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการทหารกับจีนภายใต้กรอบความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการทหารและวิทยาศาสตร์การทหารที่มีระหว่างกัน โดยได้มีการลงนามในความตกลงเพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ กว่า 100 โครงการ นอกจากนี้ ยังจะมีการแลกเปลี่ยนการฝึกอบรม โดยจีนจะส่งนายทหารมาฝึกอบรมที่โรงเรียนเตรียมทหารของเบลารุสระหว่างปีค.ศ. 2002-2005
ความสัมพันธ์กับตะวันตก
ความสัมพันธ์ระหว่างเบลารุสกับตะวันตก ค่อนข้างเย็นชามาโดยตลอด นับตั้งแต่ประธานาธิบดีLukashenko จัดการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1996 ซึ่งทำให้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากตะวันตกอย่างมาก นอกจากนี้ ข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ของรัฐบาลเบลารุส การฉ้อราษฎร์บังหลวง และการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่างรุนแรง ได้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านความเป็นเผด็จการของประธานาธิบดี Lukashenko ในหมู่ชาติตะวันตกอย่างกว้างขวาง โดยในปี ค.ศ. 2002 องค์การเพื่อความร่วมมือและความมั่นคงในยุโรป (OSCE) ได้ระงับสมาชิกภาพของ เบลารุส เนื่องจากผลการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเบลารุส ในขณะที่สหรัฐอเมริกาก็เคยใช้นโยบาย Selective Engagement กับเบลารุส และเรียกผู้แทนทางการทูตกลับประเทศ เมื่อรัฐบาลเบลารุสจับกุมเลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำเบลารุส โดยอ้างว่าเป็นสายลับของ CIA นอกจากนี้ มูลนิธิ Soros ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางสังคม วัฒนธรรมในประเทศยุโรปตะวันออก โดยมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน Goerge Soros ก็ได้ถอนตัวออกจากเบลารุสเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1997
ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเบลารุส
หลังจากสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายลงในช่วงปลายปี 2534 โดยสาธารณรัฐต่างๆ ซึ่งเคย รวมเป็นสหภาพโซเวียตได้แยกตัวออกเป็นอิสระและประกาศตัวเป็นเอกราชรวม 12 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย ยูเครน เบลารุส คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน จอร์เจีย อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กิซ และ
มอลโดวา ซึ่งไทยได้ให้การรับรับรองเอกราชของประเทศเหล่านี้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2534 และทั้ง 11 ประเทศ ยกเว้น จอร์เจีย ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States - CIS)
ประเทศไทยให้ความสำคัญแก่เบลารุสเป็นลำดับที่ 5 ในบรรดาสาธารณรัฐเอกราชใหม่ที่ไทยจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย และเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2535 ประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐเบลารุส และโดยที่ทั้งสองฝ่ายยังมิได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตในเมืองหลวงของกันและกัน ฝ่ายไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก รับผิดชอบดูแลความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย - เบลารุส โดยเอกอัครราชทูตไทยประจำเบลารุสคนแรก ได้แก่ นายกษิต ภิรมย์ คนที่สอง ได้แก่ นางสาวสุจิตรา หิรัญพฤกษ์ คนที่สามได้แก่ นายวิเชียร เจนสวัสดิชัย และปัจจุบันคือ นายรังสรรค์ พหลโยธิน เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำเบลารุสสืบแทนนายวิเชียร เจนสวัสดิชัย
ฝ่ายเบลารุสเองได้แต่งตั้งให้นาย Oleg Chekunkov เอกอัครราชทูตเบลารุสประจำกรุง ฮานอย ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มดูแลประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
การแลกเปลี่ยนการเยือนที่สำคัญ
การเยือนของฝ่ายไทย
- นายกษิต ภิรมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก เดินทางเยือนเบลารุส ระหว่างวันที่ 1-3 มิ.ย. 2536 โดยได้มอบร่างความตกลงของฝ่ายไทยให้เบลารุสพิจารณา 4 ฉบับ คือ ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ความตกลงว่าด้วยการบริการการบิน อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี
- คณะจากกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนเบลารุส ระหว่างวันที่ 8-22 ส.ค. 2536 เพื่อศึกษาลู่ทางเข้าสู่ตลาดในประเทศเบลารุส ตามโครงการศึกษาลู่ทางใช้โปแลนด์และฟินแลนด์เป็นประตูสู่การค้าเข้าสู่รัสเซียและ CIS
การเยือนของฝ่ายเบลารุส
- นาย Nikolai N.Kostikov รองนายกรัฐมนตรีเบลารุส เยือนไทยระหว่างวันที่ 20-25 มี.ค. 2535 ตามคำเชิญของบริษัท Aspac ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนด้านการค้าระหว่างเอกชนไทย สหภาพโซเวียตเดิม และญี่ปุ่น ในระหว่างการเยือน ไทยและเบลารุสได้ตกลงที่จะร่วมมือกันในด้านต่างๆดังนี้
1.) ฝ่ายไทยตกลงที่จะซื้อโปตัสเซียมและปุ๋ย NPK จาก เบลารุส
2.) ฝ่ายไทยตกลงที่จะทาบทามให้ญี่ปุ่นไปพัฒนาการผลิตโซดาไฟ (caustic Soda) ในเบลารุส
3.) ฝ่ายไทยรับจะศึกษาเรื่องการปลูกมันเทศในเบลารุส
4.) ฝ่ายไทยตกลงที่จะไปร่วมปรับปรุงการผลิต glucose จากมันฝรั่ง และจะศึกษาการนำสารหวาน (sweetener) ที่เป็น by product จากการผลิต glucose ตามข้างต้นไปใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ จากการหารือกับรัฐมนตรีพาณิชย์ ฝ่ายเบลารุสได้แจ้งความประสงค์จะขอซื้อยางพาราจากไทย จำนวน 10,000-15,000 ตัน และน้ำตาล 1,000-2,000 ตัน โดยวิธีใช้สินเชื่อ (credit line) หรือใช้แลกเปลี่ยนสินค้าตามแต่ฝ่ายไทยจะพิจารณา
- นาย Valery Tsepkala รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบลารุสคนที่หนึ่งเยือนไทย ระหว่างวันที่ 14-16 ต.ค. 2539 เพื่อหารือเรื่องความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย?เบลารุส และยื่นหนังสือเชิญ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เยือนเบลารุสอย่างเป็นทางการ
- นาย Mikhail A. Marinich รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐสัมพันธ์เยือนไทยในปลายปี 2539 เพื่อพบปะหารือกับ ฯพณฯ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์กับ ฯพณฯ นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในระหว่างการประชุม WTO ที่สิงคโปร์
- นาย Boris Batura รองนายกรัฐมนตรีเบลารุส เดินทางมาไทยระหว่างวันที่ 17-18 ก.พ. 2543 เพื่อร่วมการประชุม UNCTAD X
- นาย Vladimir Zametalin รองนายกรัฐมนตรีเบลารุส เยือนไทยระหว่างวันที่ 15-17 พ.ค. 2543 โดยเป็นแขกของกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นการเดินทางมาแทนนาย Ural Latypov รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งติดภารกิจไม่สามารถเดินทางมาเยือนตามที่ได้ทาบทามไว้ก่อนได้ โดยในการเยือนครั้งนี้นาย Zametalin ได้ลงนามในความตกลง 2 ฉบับ คือ
1. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยกับกระทรวงการ
ต่างประเทศเบลารุส และ
2. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเบลารุส
ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ไทยกับเบลารุสไม่มีปัญหาทางการเมืองหรือข้อขัดแย้งใดๆ ความสัมพันธ์ระหว่างกันราบรื่น แม้ว่าจะมีการปฏิสัมพันธ์ไม่มากนัก โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมมือกันด้วยดีในองค์การระหว่างประเทศต่างๆ เบลารุสเคยให้การสนับสนุนไทยในตำแหน่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Commission on Human Rights?CHR) ซึ่งมีการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 และไทยได้ให้การสนับสนุนเบลารุสในตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (Non-Permanent Member of the United Nations Security Council?UNSC) สำหรับวาระปี 2543-2544
ไทยได้งดออกเสียงในข้อมติของ UN เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเบลารุสตลอดมา ล่าสุด เบลารุสได้ให้การสนับสนุนผู้สมัครไทยในตำแหน่งสมาชิก CEDAW โดยแลกกับการที่ไทยให้การสนับสนุนเบลารุส ในตำแหน่งสมาชิก ECOSOC วาระปีค.ศ.2007-2009 นอกจากนี้ เบลารุสขอเสียงสนับสนุนไทยในการสมัครสมาชิก ITU ด้วย ทั้งสองฝ่ายยังไม่เคยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง ปธน.เบลารุส ได้เชิญนรม.เยือนเบลารุส อย่างเป็นทางการ ทั้งสองฝ่ายยังมิได้เปิดสนง.ทางการทูตระหว่างกัน ทั้งนี้ ไทยอยู่ระหว่างดำเนินการเปิดสถานกงสุล (กิตติมศักดิ์) ประจำเบลารุส และสรรหากงสุลกิตติมศักดิ์ฯ รมว.กต. ได้พบหารือกับนาย Sergei Martynov รมว.กต.เบลารุส ระหว่างการประชุม NAM CoB ณ เมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือนพ.ค. ค.ศ.2006 รมว.กต.เบลารุส ได้มีสารถึงรมว.กต.ยืนยันที่จะเยือนไทย พร้อมนักธุรกิจเบลารุสในอนาคตอันใกล้ และเชิญออท.ณ กรุงมอสโก เยือนเบลารุส เพื่อศึกษาลู่ทางความร่วมมือระหว่างกันด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ทางการค้า
- ภาพรวมการค้าไทย-เบลารุส
การค้าระหว่างไทยกับเบลารุสยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และมีความไม่แน่นอน ตามสถิติมูลค่าการค้าในปี 2544 เบลารุสจัดเป็นประเทศคู่ค่าลำดับที่ 6 ของไทยในกลุ่ม CIS มูลค่าการค้าสูงสุดปรากฏในปี 2543 คือ 6.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในปี 2544 มีมูลค่าการค้า 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยโดยรวม ทั้งนี้ ไทยขาดดุลการค้าเบลารุสเป็นมูลค่า 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในปัจจุบันประเทศไทยส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ สิ่งทออื่นๆ หม้อ
แปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ หลอดภาพโทรทัศน์สี อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด เครื่องพักกระแสไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไปยังเบลารุส และในปี 2543 ไทยนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าจากเบลารุสเป็นมูลค่าถึง 4.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในปี 2544 ผลิตภัณฑ์โลหะ
เป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าจากเบลารุสมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 23,311 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามการค้าระหว่างไทยกับเบลารุสยังอยู่ในปริมาณน้อย
คณะกรรมการเศรษฐสัมพันธ์ต่างประเทศของเบลารุสได้เคยแสดงความประสงค์จะนำเข้า สินค้าจากไทยดังต่อไปนี้ คือ ข้าว ยางพารา อาหารเด็ก เวชภัณฑ์ น้ำมันพืช โดยส่วนหนึ่งจะขอซื้อเป็นเงินสดและอีกส่วนหนึ่งจะขอแลกกับสินค้าของเบลารุส เช่น ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ รถที่ใช้ในงานหนัก นอกจากนี้ กระทรวงการค้าเบลารุสเคยเสนอขอแลกปุ๋ยกับน้ำตาลของไทยด้วย
การค้าระหว่างไทยกับเบลารุส
มูลค่าการค้ารวม (ม.ค.-ก.ย.49)
3.2 ล้าน USD (ไทยส่งออก 2.9 ล้าน USD นำเข้า 3 แสน USD เบลารุสขาดดุล 2.9 ล้าน USD)
ไทยส่งออก
หลอดภาพทีวี ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ
ไทยนำเข้า
เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรกลและสิ่งประกอบ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์
นักท่องเที่ยวมาไทย (ม.ค.-ก.ย.49) 1,827 คน
การลงทุน
โดยที่เบลารุสเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมเบาประเทศหนึ่ง ประชากรมีการศึกษา แรงงานมีความชำนาญ และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ติดกับยุโรปตะวันออกและกลุ่มประเทศบอลติก ฝ่ายไทยจึงอาจพิจารณาใช้เบลารุสเป็นฐานผลิตสำหรับอุตสาหกรรมที่ฝ่ายไทยมีความชำนาญได้อีกแห่งหนึ่ง โดยฝ่ายไทยอาจเข้าร่วมลงทุนในการผลิตสินค้าต่างๆในเบลารุส อาทิ รองเท้า สิ่งทอ อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ เครื่องไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือน รถจักรยานยนตร์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ฯลฯ โดยคำนึงถึงความได้เปรียบของเบลารุสทางด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นหลัก
ความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ฝ่ายไทยและเบลารุสอาจพิจารณาจัดให้มีการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและนักศึกษาระหว่างกัน โดยเบลารุสมีความเชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์บางสาขา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ และเทคโนโลยีด้าน Metallurgy ซึ่งฝ่ายเบลารุสเองก็ยินดีที่จะรับนักศึกษาของไทยมาฝึกอบรมในสถาบันวิทยาศาสตร์ของเบลารุส
การขอรับความช่วยเหลือจากไทย
เมื่อเดือนธันวาคม 2537 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ได้รับหนังสือจากสถาน เอกอัครราชทูตเบลารุส ณ กรุงมอสโก นำส่งหนังสือจากคณะรัฐมนตรีเบลารุสขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยในด้านมนุษยธรรม อาหาร และเงินช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาภัยแล้งในเบลารุส ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเกิดภาวะความแห้งแล้งอย่างต่อเนื่องในเบลารุส นับจากช่วงฤดูร้อนปี 2537 ซึ่งมีผลกระทบต่อการเพาะปลูก และการจัดสรรอาหารให้แก่ประชาชนเบลารุส รวมทั้งก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อการปฎิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากข้อจำกัดของงบประมาณ ไทยจึงไม่ได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่เบลารุส
ความตกลงทวิภาคีไทย-เบลารุส
ความตกลงที่ลงนามแล้ว
1. พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศอาร์เมเนียกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย(Protocol on Consultation between the Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand and the Ministry of Foreign Affairs of the Republic of Belarus)
หมายเหตุ : ลงนามโดย มรว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร และ นาย Vladimir Zametalin รองนายกรัฐมนตรีเบลารุส เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2543 ณ กระทรวงการต่างประเทศ
2. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเบลารุส (Agreement on Cooperation between Belarussian Chamber of Commerce and Industry and Board of Trade of Thailand)
หมายุเหตุ : ได้มีการลงนามความตกลงดังกล่าว ในระหว่างการเยือนไทยของนาย Vladimir Zametalin รองนายกรัฐมนตรีเบลารุส ระหว่างวันที่ 15-17 พฤษภาคม โดยประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเบลารุสลงนามล่วงหน้าในความตกลงฯ
ความตกลงที่อยู่ระหว่างการเจรจา
1. อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน
2. ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน
3. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า
4. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
มกราคม 2550
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น