ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปเอเซีย

    ลำดับตอนที่ #6 : ราชอาณาจักรกัมพูชา

    • อัปเดตล่าสุด 9 ม.ค. 50




     
    ราชอาณาจักรกัมพูชา
    Kingdom of Cambodia


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ลักษณะภูมิประเทศ
    • ที่ตั้ง กัมพูชาตั้งอยู่กลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนทิศเหนือติดกับ ประเทศไทย (จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์) และลาว (แขวง อัตตะปือและจำปาสัก) ทิศตะวันออกติดเวียดนาม (จังหวัดกอนทูม เปลกู ซาลาย ดั๊กลั๊ก ส่องแบ๋ เตยนิน ลองอาน ด่งท๊าบ อันซาง และเกียงซาง) ทิศตะวันตกติดประเทศไทย (จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราด) และทิศใต้ติดอ่าวไทย
    • ขนาด กว้าง 500 กิโลเมตร ยาว 450 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 181,035 ตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศไทย เส้นเขตแดนโดยรอบประเทศยาวประมาณ 2,000 กิโลเมตร โดยมีเส้นเขตแดนติดต่อกับประเทศไทยยาว 798 กิโลเมตร
    • แม่น้ำ/ทะเลสาบสำคัญ ได้แก่ (1) แม่น้ำโขง ไหลจากลาวเข้าสู่ภาคเหนือของกัมพูชาแล้วไหลผ่านเข้าเขตเวียดนาม มีความยาวในเขตกัมพูชารวม 500 กิโลเมตร (2) แม่น้ำทะเลสาบ เชื่อมระหว่างแม่น้ำโขงกับทะเลสาบ ความยาว 130 กิโลเมตร (3) แม่น้ำบาสัก (Bassac) เชื่อมต่อกับแม่น้ำทะเลสาบที่หน้าพระมหาราชวัง กรุงพนมเปญ ความยาว 80 กิโลเมตร (4) ทะเลสาบ (Tonle Sap) เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 3,000 ตารางกิโลเมตร
    สภาพภูมิอากาศ ร้อนชื้น มีฤดูฝนยาวนาน อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 20 - 36 องศาเซลเซียส
    เมืองหลวง กรุงพนมเปญ (Phnom Penh)
    เขตการปกครอง มี 4 กรุง ได้แก่ กรุงพนมเปญ กรุงไพลิน กรุงแกบ กรุงพระสีหนุ และ 20 จังหวัด ได้แก่ กระแจะ เกาะกง กันดาล กัมปงจาม กัมปงชนัง กัมปงทม กัมปงสะปือ กัมปอต ตาแก้ว รัตนคีรี พระวิหาร พระตะบอง โพธิสัต บันเตียเมียนเจย เปรเวง มณฑลคีรี สตึงเตรง สวายเรียง เสียมราฐ อุดรมีชัย
    ประชากร 13.6 ล้านคน ประกอบด้วยชาวเขมรร้อยละ 94 ชาวจีนร้อยละ 4 และอื่น ๆ อีกร้อยละ 2 มีอัตราการเพิ่มของประชากรเฉลี่ยร้อยละ 1.7 ต่อปี
    ธงชาติ/เพลงชาติ เป็นธงที่เคยใช้ก่อนวันที่ 18 มีนาคม 2513 มีแถบสีน้ำเงิน – แดง – น้ำเงินตามแนวนอน โดยมีรูปปราสาทนครวัดสามยอดสีขาวอยู่ตรงกลางบนแถบสีแดง
    เพลงชาติ เพลงนาคราช (Nokoreach)
    ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
    สภานิติบัญญัติ
    • สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิก 123 คน มาจากการเลือกตั้งโดยระบบสัดส่วนตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี
    • วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิก 61 คน มาจากการเลือกตั้ง (กษัตริย์ทรงแต่งตั้ง 2 คน) ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี
    กษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี (His Majesty Preah Bat Samdech Preah Boromneath Norodom Sihamoni) เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547
    ประธานสภาแห่งชาติ สมเด็จเฮง สัมริน (Samdech Heng Samrin)
    นายกรัฐมนตรี สมเด็จฮุน เซน (Samdech Hun Sen)
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ นายฮอร์ นัมฮอง (Mr. Hor Namhong) ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้วย
    โครงสร้างการบริหาร ประกอบด้วยกระทรวงหลัก 26 กระทรวง ได้แก่ (1) สำนักนายกรัฐมนตรี (2) กลาโหม (3) มหาดไทย (4) ประสานงานกับรัฐสภาและการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ (5) การต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ (6) เศรษฐกิจและการคลัง (7) ข่าวสาร (8) สาธารณสุข (9) อุตสาหกรรม เหมืองแร่ และพลังงาน (10) วางแผน (11) พาณิชย์ (12) ศึกษาธิการ เยาวชน และการกีฬา (13) เกษตร ป่าไม้ และการประมง (14) วัฒนธรรมและศิลปากร (15) สิ่งแวดล้อม (16) พัฒนาชนบท (17) แรงงานและการฝึกฝนอาชีพ (18) ไปรษณีย์และโทรคมนาคม (19) ศาสนา (20) กิจการสตรี (21) กิจการสังคมและทหารผ่านศึก (22) โยธาธิการและการขนส่ง (23) ยุติธรรม (24) การท่องเที่ยว (25) พัฒนาผังเมืองและการก่อสร้าง (26) ชลประทาน และอีก 2 สำนักงานอิสระ (เทียบเท่าทบวง) ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนและสำนักงานข้าราชการพลเรือน
    พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party - CPP) พรรคฟุนซินเปค (FUNCINPEC หรือ Front Uni National pour un Cambodge Indépendant, Neutre, Pacifique, et Coopératif) และพรรคสม รังสี (Sam Rainsy Party - SRP)
    ภาษา ภาษาเขมรเป็นภาษาราชการ ส่วนภาษาที่ใช้โดยทั่วไป ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เวียดนาม จีน และไทย
    ศาสนา ศาสนาประจำชาติคือศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท (แยกเป็น 2 นิกายย่อย คือ ธรรมยุตินิกายและมหานิกาย) และศาสนาอื่นๆ อาทิ ศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์
    หน่วยเงินตรา เงินเรียล (Riel) อัตราแลกเปลี่ยน 4,200 เรียลเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 100 เรียล เท่ากับ 1 บาท
    ผลิตภันฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2547)
    รายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) 320 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2547)
    การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 7.7 (ปี 2547)
    ทุนสำรองระหว่างประเทศ 915 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
    อุตสาหกรรม สิ่งทอ สินค้าเกษตรแปรรูป การท่องเที่ยว
    การค้าระหว่างประเทศ มูลค่า 4,764 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548) เป็นการนำเข้า 2,484 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งออก 2,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลการค้า 156 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    ตลาดนำเข้า จีน (18.1%) ฮ่องกง (16.8%) เวียดนาม (12.3%) ไทย (12.2%) ไต้หวัน (10.9%)
    ตลาดส่งออก สหรัฐฯ (66.6%) เยอรมนี (9.6%) สหราชอาณาจักร (5.5%) แคนาดา (4%) เวียดนาม (2.7%)
    นักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.421 ล้านคน (ปี 2548) ได้แก่ เกาหลีใต้ (15.24%) ญี่ปุ่น (9.7%) สหรัฐฯ (7.7%) ฝรั่งเศส (4.85%) สหราชอาณาจักร (4.68%) ไทย (4.48% หรือ 63,631 คน)
    คนไทยในกัมพูชา 658 คน (จำนวนคนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร)
    การลงทุนในกัมพูชา ปี 2547 มีมูลค่า 342 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2548 มีมูลค่า 831 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    การลงทุนของไทยในกัมพูชา ในปี 2547 สูงเป็นลำดับ 8 ส่วนในปี 2548 ขยับขึ้นมาอยู่ลำดับ 5 มูลค่า 58.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองจากจีน กัมพูชา ไต้หวัน และเกาหลีใต้ สาขาที่ไทยลงทุนมาก ได้แก่ โทรคมนาคม การขนส่ง โรงแรมและการท่องเที่ยว การเกษตร โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ การลงทุนของไทยในช่วงปี 2537 - 2548 มีมูลค่ารวม 267,705,761 ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นภาคการเกษตร 40,930,223 ดอลลาร์สหรัฐ ภาคอุตสาหกรรม 39,212,976 ดอลลาร์สหรัฐ ภาคโครงสร้างพื้นฐาน 59,142,979 ดอลลาร์สหรัฐ และภาคการท่องเที่ยว 128,419,583 ดอลลาร์สหรัฐ
    การค้าทวิภาคี ในปี 2548 มูลค่า 0.953 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณร้อยละ 0.4 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย) ไทยได้เปรียบดุลการค้า 0.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
    การค้าชายแดน ในปี 2548 มูลค่า 0.778 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้าชายแดน 0.701 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
    สินค้าที่ไทยส่งออกไปกัมพูชา สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง เครื่องดื่มและเครื่องดื่มบำรงกำลัง
    สินค้าที่ไทยนำเข้าจากกัมพูชา เหล็ก เหล็กกล้า ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์จากไม้ สินค้ากสิกรรม สินค้าประมงและปศุสัตว์ สิ่งทอ
    ระบบคมนาคม
    • ทางรถไฟ มีเส้นทางรถไฟสำคัญ 2 สาย ได้แก่ กรุงพนมเปญ – ศรีโสภณ และกรุงพนมเปญ – กัมปงโสม มีความยาวรวมทั้งสิ้น 702 กิโลเมตร ขณะนี้ รัฐบาลกัมพูชาอยู่ในระหว่างการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟช่วงศรีโสภณ - ปอยเปต ระยะทาง 48 ก.ม. เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟของไทยที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เพื่อรองรับโครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์ - คุนหมิง (Singapore - Kunming Railways Links)
    • ทางรถยนต์ มีความยาวรวมกัน 14,790 กิโลเมตร แต่อยู่ในสภาพใช้การได้ดีเพียง 2,600 กิโลเมตร เส้นทางสำคัญ ได้แก่ (1) เส้นทางหมายเลข 1 กรุงพนมเปญ – บ๋าแว็ต (ชายแดนเวียดนาม) ระยะทาง 165 กิโลเมตร (ซึ่งต่อไปถึงนครโฮจิมินห์ของเวียดนามอีก 68 กิโลเมตร) (2) เส้นทางหมายเลข 4 กรุงพนมเปญ – กรุงพระสีหนุ (กัมปงโสม) ระยะทาง 246 กิโลเมตร (3) เส้นทางหมายเลข 5 กรุงพนมเปญ – ปอยเปต ระยะทาง 402 กิโลเมตร (4) เส้นทางหมายเลข 6 เสียมราฐ – ศรีโสภณ ระยะทาง 106 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีถนนอีก 2 สายที่ไทยให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งระหว่างไทยกับกัมพูชา ได้แก่ ถนนหมายเลข 67 (สะงำ - อันลองเวง - เสียมราฐ) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทยกับภาคเหนือของกัมพูชาและจังหวัดเสียมราฐ และถนนหมายเลข 48 (เกาะกง - สแรอัมเบิล) เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างภาคตะวันออกของไทยกับภาคใต้ของกัมพูชาและเวียดนาม
    • ทางน้ำ มีท่าเรือระหว่างประเทศที่กรุงพนมเปญและกรุงพระสีหนุ (กัมปงโสม) และมี เส้นทางเดินเรือภายในประเทศตามลำแม่น้ำโขง แม่น้ำทะเลสาบ และแม่น้ำบาสัก
    • ทางอากาศ มีท่าอากาศยานที่สำคัญ 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานนานาชาติโปเชนตง กรุงพนมเปญ และท่าอากาศยานเมืองเสียมราฐ กับมีท่าอากาศยานสำรองเพื่อการขนส่งสินค้าที่จังหวัดกำปงชนัง และท่าอากาศยานขนาดเล็กที่กรุงพระสีหนุ
    การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต วันที่ 19 ธันวาคม 2493 (ค.ศ. 1950) เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญคนปัจจุบัน คือ นายวีรพันธุ์ วัชราทิตย์ ส่วนเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน คือ นายอึง เซียน (Ung Sean)
    สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ เลขที่ 196, Preah Norodom Boulevard, Sangkat Tonle Bassac, Khan Chamcar Mon, Phnom Penh หมายเลขโทรศัพท์ (855) 23 726 306 - 10 (สายอัตโนมัติ) หมายเลขโทรสาร (855) 23 726 303 E-mail : thaipnp@mfa.go.th Website : http://www.thaiembassy.org/phnompenh
    สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย 185 ถนนราชดำริ ลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2253-7967, 0-2253-9851, 0-2254-6630 หมายเลขโทรสาร 0-2253-9859 E-mail : recbkk@cscoms.com
    วันชาติกัมพูชา 9 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันได้รับเอกราชเมื่อปี ค.ศ. 1953

    การเมืองการปกครอง
    นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
    การเมืองการปกครอง
    1. กัมพูชามีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งนี้ นับจากการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2536 การเมืองของกัมพูชามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
    2. ระบอบประชาธิปไตยของกัมพูชาในปัจจุบันมีความก้าวหน้าและหยั่งรากลึกลงในสังคมของกัมพูชาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ฝ่ายต่าง ๆ มีอิสระในการแสดงความเห็นและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น ประชาชนมีความกระตือรือร้นในการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
    3. รัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ รวมถึงการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การบริหารราชการแผ่นดิน ระบบศาลยุติธรรมและกฎหมาย การทหาร เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้การดำเนินงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพ สามารถใช้งบประมาณและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างคุ้มค่า ตลอดจนสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชนบทและห่างไกลความเจริญได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างแท้จริง ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชาได้ดำเนินการปฏิรูปในสาขาต่าง ๆ อาทิ การลดจำนวนข้าราชการทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร การปฏิรูปด้านการศาล การปรับปรุงระเบียบและแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังและไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศ การปฏิรูปที่ดินและการเร่งออกเอกสารสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน การส่งเสริมการศึกษาและฝึกฝนอาชีพ การปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ อย่างเป็นระบบ การพัฒนาระบบชลประทานและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อรองรับการพัฒนาด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว เป็นต้น

    เศรษฐกิจและสังคม
    1. กัมพูชายังถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่มีความยากจนมากประเทศหนึ่ง ดังนั้น รัฐบาลกัมพูชาจึงให้ความสำคัญอย่างสูงสุดต่อการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศเพื่อมุ่งขจัดความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทให้ดีขึ้น ปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชาอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามแผนพัฒนายุทธศาสตร์แห่งชาติ (National Strategic Development Plan - NSDP) ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2549 - 2553 ยุทธศาสตร์ลดความยากจนแห่งชาติ (National Poverty Reduction Strategy - NPRS) รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ (Cambodia’s Millennium Development Goals - CMDGs) ซึ่งล้วนแล้วแต่มีจุดมุ่งหมายให้กัมพูชาก้าวเดินไปสู่การพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าที่มั่นคงและยั่งยืน
    2. รัฐบาลปัจจุบันซึ่งนำโดยสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายและประกาศใช้ยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม (จัตุโกณ) เพื่อการเจริญเติบโต การจ้างงาน ความเสมอภาคและประสิทธิภาพในกัมพูชา (“Rectangular Strategy” for Growth, Employment, Equity and Efficiency in Cambodia) ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
    ก. หลักการภายใต้ยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม
    • เป็นวาระแห่งชาติของกัมพูชาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่กัมพูชากำลังเผชิญอยู่และการพัฒนาศักยภาพของกัมพูชา ได้แก่ (1) การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (2) ส่งเสริมการสร้างงาน (3) การปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการของรัฐบาลเพื่อประกันความเท่าเทียมกันและความเป็นธรรมในสังคม (4) การเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถของรัฐบาลในการดำเนินโครงการปฏิรูปในทุกสาขาเพื่อลดความยากจนและบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน
    • ความสำคัญของยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม ได้แก่ การมุ่งพัฒนาประเทศเพื่อต่อยอดจากยุทธศาสตร์สามเหลี่ยม (ตรีโกณ หรือ Triangular Strategy) ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของการดำเนินงานของรัฐบาลชุดก่อน โดยมีวัตถุประสงค์ 9 ประการ ได้แก่ (1) การขจัดความยากจนและหิวโหย (2) การจัดระบบการศึกษาขั้นต้น 9 ปี (3) การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ (4) การลดอัตราการตายของทารก (5) การปรับปรุงระบบสาธารณสุข (6) การต่อสู้กับโรคติดต่อร้ายแรง (HIV/AIDS มาลาเรีย ฯลฯ) (7) การปกป้องสิ่งแวดล้อม (8) การสร้างหุ้นส่วนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา (9) การเก็บกู้ทุ่นระเบิดและการช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้าย ทั้งนี้ เพื่อเป็นพื้นฐานของการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจโดยมุ่งพัฒนาและนำประเทศไปสู่การเติบโต การจ้างงาน ความเท่าเทียมกัน และความมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเกื้อกูลต่อการปฏิรูป ทางการเมือง และความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล
    ข. โครงสร้างของยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม ประกอบด้วย
    • ยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) โดยมุ่งเน้นการปฏิรูป 4 ประการ ได้แก่ (1) การต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง (2) การปฏิรูปกฎหมายและการศาล (3) การบริหารสาธารณะ (4) การปฏิรูปกองทัพ โดยเฉพาะการลดจำนวนกำลังพลและหันไปเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรและอาวุธยุทโธปกรณ์
    • สร้างเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศ ได้แก่ (1) ความสงบเรียบร้อย เสถียรภาพทางการเมือง และระเบียบทางสังคม (2) การสร้างหุ้นส่วนด้านการพัฒนาซึ่งรวมถึง ภาคเอกชน ประเทศผู้บริจาค และประชาชน (3) การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการคลัง (4) การบูรณาการกัมพูชาเข้าสู่ภูมิภาคและโลก
    • ยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยมยังได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศใน 4 สาขาหลัก ได้แก่ (1) ด้านการเกษตร (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (3) การพัฒนาภาคเอกชนและสนับสนุนการสร้างงาน (4) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะด้านการศึกษาและสาธารณสุข
    ค. ยุทธศาสตร์การลดความยากจนของรัฐบาล ได้แก่
    • การเสริมสร้างความสงบเรียบร้อย เสถียรภาพ และจัดระเบียบทางสังคมโดยใช้มาตรการซึ่งสนับสนุนกฎเกณฑ์และความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย การเคารพในสิทธิมนุษยชนและความเป็นประชาธิปไตย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางการเมืองและความมั่นคงให้นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว
    • การรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนประมาณร้อยละ 5 - 7 ต่อปี
    • การส่งเสริมการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกันระหว่าง คนรวยกับคนจน ระหว่างเมืองกับชนบท และระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง
    • การพัฒนาการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

    นโยบายต่างประเทศ
    กัมพูชายึดถือการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดตามที่ได้ประกาศไว้ต่อสภาแห่งชาติ ภายหลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวายในประเทศสงบลงกัมพูชาเริ่มแสวงหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อเพิ่มบทบาทของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ ได้แก่
    1. การเพิ่มบทบาทในสหประชาชาติ อาทิ การสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของประชาคมโลก การแก้ไขปัญหาโรคเอดส์และโรคระบาดต่างๆ นอกจากนี้ กัมพูชายังมองว่าสหประชาชาติเป็นองค์กรสำคัญ ที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาภายในกัมพูชา เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินการตามแผนพัฒนา ยุทธศาสตร์แห่งชาติ (National Strategic Development Plan - NSDP) ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2549 – 2553 บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
    2. การเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั้งในกรอบทวิภาคี
    และพหุภาคี โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศในเชิงบวกในสายตาของนานาประเทศ และการแสวงหาประโยชน์ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความช่วยเหลือ เพื่อการพัฒนา การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ การพัฒนาด้านการศึกษา และการส่งเสริมการท่องเที่ยว

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา
    ความสัมพันธ์ทั่วไป
    ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชานับได้ว่ามีพัฒนาการที่ก้าวหน้าและดำเนินไปบนพื้นฐานของความเข้าอกเข้าใจกัน โดยมีกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เป็นพลังขับเคลื่อนความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันได้แก่ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS) กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region - GMS) กรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกต มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย - กัมพูชา (ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2546) ที่เมืองเสียมราฐและจังหวัดอุบลราชธานี (ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นคืนความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชาให้กลับคืนสู่ภาวะปกติอย่างสมบูรณ์แบบภายหลังการเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546) และมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - กัมพูชา ครั้งที่ 5 ที่กรุงพนมเปญ (ระหว่างวันที่ 7 - 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549) นอกจากนี้ ยังมีกลไกความร่วมมืออีกมากทั้งในระดับรัฐบาลและระดับท้องถิ่นซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชาที่สำคัญในปัจจุบันและถือเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศได้แก่ การจัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 55 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - กัมพูชา (ระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2548 - 19 ธันวาคม พ.ศ. 2549) โดยมีกิจกรรมที่ทั้งสองฝ่ายฉลองร่วมกันกว่า 40 โครงการ ซึ่งหลายโครงการได้ดำเนินการลุล่วงไปแล้วและประสบความสำเร็จด้วยดี

    1. ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
    ผู้นำไทยกับกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ความร่วมมือระหว่างสองประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่นและสามารถแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สำหรับความร่วมมือที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่
    • การสำรวจและปักปันเขตแดนทางบกไทย - กัมพูชา ไทยกับกัมพูชามีพรมแดนทางบกติดต่อกันประมาณ 798 กิโลเมตร มีหลักเขตทั้งสิ้น 73 หลักเขต โดยมีคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมและ คณะอนุกรรมการเทคนิคร่วมเป็นกลไกสำคัญที่กำกับดูแลภารกิจการสำรวจปักปันและแก้ไขปัญหาเขตแดน ทางบก ขณะนี้ มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเขตแดนทางบกโดยสองฝ่ายจะเริ่มสำรวจเส้นเขตแดนบริเวณ หลักเขตที่ 48 - 49 ในจังหวัดสระแก้ว ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 และจะทยอยสำรวจและปักปันเขตแดน ที่เหลือต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาลไทยกับกัมพูชายังสนับสนุนให้มีการแก้ไขปัญหาพื้นที่ไหล่ทวีปที่ทั้งสองฝ่าย อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันเพื่อให้สามารถแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในทะเลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปัญหาที่เกิดขึ้น อาทิ มีการปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำเขตแดนหรือปรับสภาพภูมิประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ใดๆ ในพื้นที่ที่ยังขาดความชัดเจนในเรื่องเส้นเขตแดน มีส่วนสำคัญในการทำลายสันปันน้ำและสภาพภูมิประเทศตามธรรมชาติของเส้นเขตแดน และมักเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งและไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างสองประเทศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา เพื่อให้มีการปฏิบัติตามความตกลงร่วมกัน
    • ความร่วมมือชายแดน ปัจจุบันไทยกับกัมพูชามีจุดผ่านแดนถาวรระหว่างกัน 6 จุด และจุดผ่อนปรนอีก 9 จุด เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการสัญจรข้ามแดนระหว่างประชาชนทั้งสองฝ่ายบนพื้นฐานของความตกลงสัญจรข้ามแดนไทย - กัมพูชา ปี 2540 ซึ่งกำหนดให้ผู้สัญจรข้ามแดนต้องใช้เอกสารเดินทาง ที่ถูกต้อง ได้แก่ หนังสือเดินทางและบัตรผ่านแดน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามเอกสาร Concept Paper on Thailand - Cambodia Border Points of Entry: Ways towards New Order, Effective Border Management and Greater Bilateral Cooperation ซึ่งส่งเสริมการสัญจรข้ามแดนที่ถูกต้อง การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติในพื้นที่ชายแดน การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่ชายแดน อย่างไรก็ดี ปัญหาในพื้นที่ชายแดนยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการลักลอบค้ายาเสพติด แรงงานลักลอบเข้าเมือง โดยผิดกฎหมาย การโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ปัญหาการปฏิบัติต่อชาวกัมพูชาที่ถูกจับกุม ในบางครั้ง การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไทยเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมอาจนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลและประชาชนของทั้งสองประเทศได้
    • ความร่วมมือด้านแรงงานและการต่อต้านการค้ามนุษย์ ไทยกับกัมพูชาได้จัดทำบันทึก
    ความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงานไทย - กัมพูชา และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการขจัดการค้าเด็กและหญิงและการช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2546 เพื่อจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามแดนโดยผิดกฎหมายชาวกัมพูชาในประเทศไทย รวมทั้งป้องกันและปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2548 ทางการไทยได้ขึ้นทะเบียนแรงงานชาวกัมพูชาไว้แล้วจำนวน 183,541 คน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิสูจน์สัญชาติและออกเอกสารประจำตัว (Certificate of Identity - C.I.) แก่แรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานจำนวน 75,804 คน ซึ่งนับจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2549 มีผู้ได้รับการรับรองสัญชาติและได้รับเอกสารประจำตัวแล้วจำนวน 32,254 คน
    • การพัฒนาร่วมเขาพระวิหาร รัฐบาลไทยกับกัมพูชาเห็นชอบร่วมกันที่จะพัฒนาปราสาทเขาพระวิหารเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันดีงามที่ยั่งยืน โดยได้จัดตั้งกลไกขึ้นกำกับดูแล การดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่สำคัญคือคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาเขาพระวิหาร และคณะอนุกรรมการอีก 2 คณะ ได้แก่
    (1) คณะอนุกรรมการวางแผนการพัฒนาร่วมเขาพระวิหาร
    (2) คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทเขาพระวิหาร โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันให้เริ่มโครงการพัฒนาภายหลังจากที่ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแล้ว และให้เชื่อมโยงการพัฒนาช่องตาเฒ่า (ห่างจากเขาพระวิหาร 5 ก.ม.) ซึ่งฝ่ายกัมพูชามักรบเร้าให้ฝ่ายไทยเปิดเป็นจุดผ่านแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาร่วมเขาพระวิหาร โดยให้ดำเนินการทั้งสองเรื่องควบคู่กันในลักษณะ package และให้การพัฒนาส่งเสริมซึ่งกันและกัน

    ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
    ความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชาในทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในกัมพูชาประมาณ 495 คน6 ส่วนใหญ่เข้าไปประกอบธุรกิจส่วนตัว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร และค้าขาย ประเทศไทยถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญและเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในกัมพูชา แต่โดยที่ระบบการบริหารจัดการภายในของกัมพูชา อาทิ การจัดเก็บภาษี การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ความโปร่งใส ฯลฯ ยังขาดมาตรฐานและ
    ไม่เป็นสากล ทำให้การค้าและการลงทุนของไทยในกัมพูชามีต้นทุนสูงและเติบโตช้าซึ่งไม่สอดคล้องกับศักยภาพและสถานะทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ รัฐบาลสองฝ่ายได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและตกลงที่จะร่วมมือกันเร่งรัดการแก้ไขปัญหาและลดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้ปรากฏผลที่เป็นรูปธรรมต่อไปมูลค่าการค้าทวิภาคีไทย - กัมพูชา ในปี พ.ศ. 2548 มีมูลค่า 38,137.70 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 26.27 โดยฝ่ายไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 35,597.50 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบสินค้าเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง เครื่องดื่มและเครื่องดื่มบำรุงกำลัง สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนสินค้าสำคัญที่นำเข้าจากกัมพูชา ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์จากไม้
    สินค้ากสิกรรม สินค้าประมงและปศุสัตว์ สิ่งทอ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องจักรไม่ใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์โลหะ ผลิตภัณฑ์กระดาษ สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สำหรับการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา
    ในปี 2548 มีมูลค่า 31,128.18 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 32.29 โดยฝ่ายไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าชายแดน 28,057.37 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการค้าชายแดนมีความสำคัญในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าหลังการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมทางบกระหว่างไทย - กัมพูชาแล้วเสร็จ ได้แก่ ถนนหมายเลข 5 (ช่วงปอยเปต - ศรีโสภณ) และหมายเลข 6 (ช่วงศรีโสภณ - เสียมราฐ) หมายเลข 67 (สะงำ - อันลองเวง - เสียมราฐ) และหมายเลข 48 (เกาะกง - สแรอัมเบิล) การค้าชายแดนจะขยายตัวอีกมาก ด้านการลงทุน ในปี 2547 การลงทุนของไทยในกัมพูชาสูงเป็นลำดับ 9 มีการลงทุนเพียง 1 โครงการ มูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อผลิตพื้นซีเมนต์สำเร็จรูป ต่อมาในช่วง 8 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2548 การลงทุนของไทยขยับขึ้นเป็นลำดับ 4 รวม 5 โครงการ มูลค่าทุนจดทะเบียน 5.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ โรงงานผลิตน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก โครงการก่อสร้างโรงแรมพร้อมสนามกอล์ฟในจังหวัดเสียมราฐ 6 จำนวนคนไทยที่มีสิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในปี 2549 ทั้งนี้ จำนวนที่แท้จริงอาจมีมากถึง 700 คน ซึ่งทั้ง 3 โครงการเป็นการลงทุนโดยคนไทยทั้งหมด โครงการเหมืองแร่และโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนไทย - กัมพูชา ถือเป็นโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ตั้งอยู่ที่จังหวัดกัมปอต (ห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ 130 ก.ม.) มีเงินลงทุนประมาณ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    นอกจากนี้ ไทยกับกัมพูชายังขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภายใต้กรอบต่าง ๆ โดยเฉพาะACMECS อาทิ การจัดทำ Contract Farming การรับซื้อผลิตผลการเกษตร 10 ชนิดในอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 0 การส่งเสริมการซื้อขายสินค้าแบบหักบัญชี (Account Trade) การจัดตั้ง One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิธีศุลกากร การฝึกอบรมและพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร โครงการจัดทำแปลงเกษตรสาธิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนของกัมพูชา เป็นต้น

    ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
    • ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ไทยกับกัมพูชามีความคล้ายคลึงกันทางด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างมาก จึงเป็นเรื่องง่ายที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะใช้ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมเป็นสื่อกลางในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ดังเช่นความพยายามที่จะประสานรอยร้าวของความสัมพันธ์ภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงพนมเปญเมื่อปี 2546 ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย – กัมพูชา
    เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและใช้เป็นกลไกในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยสองฝ่ายได้จัดประชุมร่วมกันแล้วหลายครั้งเพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือและแผนปฏิบัติการประจำปีสำหรับใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานร่วมกัน นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยว เพื่อผลักดันความร่วมมือในแต่ละสาขาด้วย
    • ความร่วมมือทางวิชาการไทย - กัมพูชา ไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาผ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านการเกษตร การศึกษาและด้านสาธารณสุขเป็นหลัก รวมทั้งการพัฒนาในสาขาอื่นๆ อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาชนบท และการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยในปี 2546 และปี 2547 ไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาเป็นงบประมาณจำนวน 81.35 ล้านบาท และ 38.38 ล้านบาท ตามลำดับ (ไม่นับความช่วยเหลือที่กัมพูชาได้รับโดยตรงจากส่วนราชการ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนอีกจำนวนมาก)

    สถานะล่าสุดของความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชา
    • พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) แนะนำตัวตามธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูต สร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกับผู้นำของกัมพูชา และ “จับมือกัมพูชาไว้ให้อุ่น” โดยสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันเพื่อปูทางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปด้วยดี บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน (2) ชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้นำของกัมพูชาเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย ภารกิจและความจำเป็นของรัฐบาลในการสร้างความสมานฉันท์ภายในชาติ สร้างความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ และการแก้ไขปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ได้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอุทกภัยภายในประเทศ (3) เน้นย้ำความสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีให้ก้าวหน้าและยั่งยืนต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บนพื้นฐานของการส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันของประชาชนทั้งสองฝ่าย โดยยืนยันนโยบายและเจตนาที่จะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนกัมพูชาให้พัฒนาเจริญก้าวหน้าขึ้น พร้อมกับย้ำถึงความต่อเนื่องของโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่และตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันว่าจะดำเนินต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก
    • สำหรับประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ที่ได้มีการหารือกันในครั้งนี้ ที่สำคัญได้แก่
    (1) การปักปันเขตแดนทางบกและการพัฒนาในพื้นที่ชายแดน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันที่จะร่วมมือกันอย่างจริงจังในการปักปันเขตแดนทางบกให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งป้องกันมิให้การพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่ชายแดนมีผลกระทบ/สร้างปัญหาให้กับการปักปันเขตแดน นอกจากนั้น ยังได้ตกลงกันผลักดันความร่วมมือไทย - ลาว - กัมพูชาในกรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกต อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยว และความสัมพันธ์ภาคประชาชน และอื่น ๆ
    (2) การเชื่อมโยงคมนาคมทางบก สองฝ่ายเน้นย้ำถึงความสำคัญของเรื่องนี้เพื่อส่งเสริมการสัญจรไปมาหาสู่กันของประชาชนทั้งสองฝ่าย และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันในระยะยาว โดยจะเร่งรัดดำเนินการโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงที่ไทยได้ให้การสนับสนุนแก่กัมพูชา (ถนนหมายเลข 67 (สะงำ - อันลองเวง - เสียมราฐ) และหมายเลข 48 (ตราด - เกาะกง - สแรอัมเบิล) ให้แล้วเสร็จตามกำหนดก่อนที่จะพิจารณาร่วมมือกันในการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงอื่น ๆ ที่จะมีประโยชน์ร่วมกันต่อไป ตลอดจนเรื่องการให้ความสนับสนุนกัมพูชาในเรื่องการซ่อมสร้างเส้นทางรถไฟช่วงปอยเปต - ศรีโสภณ
    (3) การพัฒนาร่วมในพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะเดินหน้าโครงการตามที่ได้ตกลงกันไว้ กล่าวคือ ให้มีการดำเนินงานทางด้านเทคนิคทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดอาณาเขตทางทะเล และการพัฒนาร่วมในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป
    (4) ความร่วมมือในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ยกเป็นตัวอย่างของความร่วมมือสำคัญนอกเหนือจากประเด็นด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดยได้ตกลงจะร่วมมือกันอย่างจริงจังในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งให้ขยายขอบเขตเป็นความร่วมมือด้านสาธารณสุขในภาพรวมด้วย

    แนวโน้มความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชา
    เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชานับจากต้นปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในทุกสาขาและทุกระดับน่าจะพัฒนาต่อไปได้อย่างราบรื่น โดยมีกรอบความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีตามข้างต้นเป็นกลไก ขับเคลื่อนที่สำคัญ อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย - กัมพูชา อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัย และสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมภายในกัมพูชาได้เช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองภายใน และการถดถอยทางเศรษฐกิจเนื่องจากวิกฤติการณ์ด้านพลังงานและปัจจัยแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การก่อการร้าย เป็นต้น

    ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
    1. ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (ลงนามเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2537)
    2. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (ลงนามเมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2538)
    3. ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการชายแดน (ลงนามเมื่อ 29 กันยายน พ.ศ. 2538)
    4. ความตกลงว่าด้วยการค้า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (ลงนามเมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2539)
    5. ความตกลงทางวัฒนธรรม (ลงนามเมื่อ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2540)
    6. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการปราบปรามการค้ายาเสพติด สารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารตั้งต้น (ลงนามเมื่อ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541)
    7. สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (ลงนามเมื่อ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541)
    8. ความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบขนส่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรมข้ามแดนและการส่งคืนทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (ลงนามเมื่อ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2543)
    9. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (ลงนามเมื่อ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2543)
    10. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต (ลงนามเมื่อ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544)
    11. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาถนนหมายเลข 48 (เกาะกง - สแรอัมเบิล) และถนนหมายเลข 67 (สะงำ - อันลองเวง - เสียมราฐ) (ลงนามเมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2546)
    12. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการขจัดการค้าเด็กและหญิง และการช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ (ลงนามเมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2546)
    13. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร (ลงนามเมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2546)
    14. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน (ลงนามเมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2546)
    15. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา (ลงนามเมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2546)
    16. พิธีสารยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางราชการ (ลงนามเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549)
    17. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสารสนเทศและกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ไทย - กัมพูชา (ลงนามเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549)

    การเยือนที่สำคัญ
    ฝ่ายไทย
    พระราชวงศ์ (ระหว่างปี พ.ศ. 2535 - 2549)
    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
    - วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2535 เสด็จฯ เยือนกรุงพนมเปญ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ
    - วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2536 เสด็จฯ เยือนโรงพยาบาลและโรงเรียนในจังหวัดเกาะกง (เสด็จฯ โดยเรือหลวงกระบุรีจากจังหวัดตราด)
    - วันที่ 12 - 18 มกราคม พ.ศ. 2536 เสด็จฯ เยือนกัมพูชา เพื่อทอดพระเนตรและศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของกัมพูชาในกรุงพนมเปญและเมืองเสียมราฐในฐานะพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ
    - วันที่ 1 - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2539 เสด็จฯ นำคณะนักเรียนจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ เยือนกัมพูชา เพื่อศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในเมืองเสียมราฐ
    - วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2542 เสด็จฯ นำคณะนักเรียนจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ เยือนกัมพูชา เพื่อศึกษาปราสาทบันเตียชมาร์ นครวัด นครธมและปราสาทบายน
    - วันที่ 7 - 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 เสด็จฯ เยือนจังหวัดเสียมราฐ และจังหวัดกำปงธม เพื่อศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของกัมพูชา
    - วันที่ 15 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 เสด็จฯ นำคณะกรรมการมูลนิธิอานันทมหิดล เยือนกัมพูชา เพื่อศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ
    - วันที่ 16 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 เสด็จฯ เยือนกรุงพนมเปญ เพื่อเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ
    - วันที่ 16 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 เสด็จฯ เยือนกรุงพนมเปญในฐานะอาคันตุกะของรัฐบาลกัมพูชา
    - วันที่ 21 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 เสด็จฯ เยือนกัมพูชาเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรโครงการโรงเรียนพระราชทาน (โรงเรียนมัธยมกัมปงเชอเตียล อำเภอสมโบร์ไพรกุก จังหวัดกัมปงธม)
    - วันที่ 9 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เสด็จฯ เยือนกัมพูชา เพื่อพระราชทานโรงเรียนมัธยมกัมปงเชอเตียล อำเภอสมโบร์ไพรกุก จังหวัดกัมปงธม
    สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
    - วันที่ 31 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2536 เสด็จฯ เยือนจังหวัดพระตะบองและกรุงพนมเปญ เพื่อนำคณะแพทย์ไปตรวจรักษาประชาชนชาวกัมพูชา และบรรยายสรุปเกี่ยวกับแผนอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา

    รัฐบาล (ระหว่างปี พ.ศ. 2544 - 2549)
    นายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร)
    - วันที่ 18 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2544 เยือนกรุงพนมเปญ (ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง)
    - วันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 เยือนกรุงพนมเปญ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 1 และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 8
    - วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 เยือนเมืองเสียมราฐ เพื่อเข้าร่วมการประชุม
    คณะรัฐมนตรีร่วมไทย – กัมพูชา
    - วันที่ 10 สิงหาคม 2549 เยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ
    นายกรัฐมนตรี (พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์)
    - วันที่ 15 ตุลาคม 2549 เยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ (ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง)

    ฝ่ายกัมพูชา
    พระราชวงศ์ (ระหว่างปี พ.ศ. 2535 - 2549)
    พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชา
    - วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2549 เสด็จฯ เยือนประเทศไทยเพื่อทรงเข้าร่วมงานฉลองศิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    รัฐบาล (ระหว่างปี พ.ศ. 2544 - 2549)
    นายกรัฐมนตรี (สมเด็จฮุน เซน)
    - วันที่ 13 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
    - วันที่ 31 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2546 เยือนจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย - กัมพูชา
    - วันที่ 13 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×