ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #52 : สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.22K
      0
      3 ก.พ. 50



     
    สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ
    United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง ตะวันตกเฉียงเหนือของภาคพื้นทวีปยุโรป

    พื้นที่ 242,514 ตารางกิโลเมตร

    เมืองหลวง กรุงลอนดอน

    ภูมิประเทศ เป็นเกาะ ยาวประมาณ 1,000 กม. กว้างประมาณ 500 กม.

    ภูมิอากาศ อากาศเย็นสบาย อุณหภูมิเฉลี่ย 8°C ฝนตกตลอดปี

    ประชากร 60.27 ล้านคน

    กลุ่มชนชาติ อังกฤษ สกอต เวลส์ ไอริช เอเชียใต้ และอื่นๆ

    ภาษาราชการ ภาษาอังกฤษ

    ศาสนา คริสตศาสนา

    สกุลเงิน ปอนด์สเตอร์ลิง

    อัตราแลกเปลี่ยน ประมาณ 75 บาท = 1 ปอนด์สเตอร์ลิง

    วันชาติ 14 มิถุนายน

    ระบบการเมือง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

    ประมุข พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2495)

    นายกรัฐมนตรี นายโทนี แบลร์

    รัฐมนตรีต่างประเทศ นายแจ็ค สตรอว์

    อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 2.1

    อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3

    อัตราการว่างงาน ร้อยละ 5.2

    ประเทศคู่ค้าสำคัญ เยอรมนี สหรัฐฯ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น

    มูลค่าการส่งออก 304.5 พันล้านดอลาร์สหรัฐ

    มูลค่าการนำเข้า 363.6 พันล้านดอลาร์สหรัฐ

    สินค้าออกสำคัญ สินค้าอุตสาหกรรม สินค้ากึ่งอุตสาหกรรม เชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์ อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ

    สินค้าเข้าสำคัญ สินค้าอุตสาหกรรม เครื่องจักรกล เชื้อเพลิง อาหาร

    ทรัพยากรธรรมชาติน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน เหล็ก ดีบุก

    การเมืองการปกครอง
    สถาบันทางการเมือง
    สหราชอาณาจักรมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีกษัตริย์ (สมเด็จพระราชินีนาถ) เป็นประมุข สหราชอาณาจักรไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบเรียงลำดับมาตรา แต่ใช้พระราชบัญญัติและกฎหมายจารีตประเพณีในการบริหารประเทศ รัฐสภาทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ และในทางปฏิบัติ เป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ฝ่ายบริหารประกอบด้วยรัฐบาล (คณะรัฐมนตรี) หน่วยงานทางราชการ หน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอิสระ และหน่วยงานที่อยู่ในความดูแลของ รัฐมนตรี ฝ่ายตุลาการกำหนดกฎหมายและตีความจารีตประเพณี

    สมเด็จพระราชินีนาถทรงเป็นประมุขฝ่ายบริหาร ทรงมีบทบาทสำคัญด้านนิติบัญญัติ ทรงเป็นประมุขฝ่ายตุลาการ ทรงเป็นผู้บัญชาการทหารรักษาพระองค์ และทรงเป็น ”ผู้บริหารสูงสุด” ของศริสตจักรแห่งอังกฤษ

    รัฐบาลภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ ได้มีนโยบายส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แคว้นต่าง ๆ มากขึ้น โดยเมื่อปี 2540 รัฐบาลได้จัดให้มีการลงประชามติในแคว้นสก๊อตแลนด์ และเวลส์ และต่อมา ในปี 2542 ได้มีรัฐสภาเป็นของตนเอง และมีการจัดตั้งรัฐบาลของตนเอง ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการบริหารแคว้น ด้านการพัฒนา ด้านกิจการภายในเป็นของตนเอง ส่วนอำนาจด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการต่างประเทศอยู่ภายใต้รัฐบาลกลางสหราชอาณาจักร

    รัฐสภา
    อำนาจทางนิติบัญญัติของรัฐสภาสหราชอาณาจักรประกอบด้วย 3 ส่วน คือ สมเด็จพระราชินีนาถ สภาสามัญหรือสภาผู้แทนราษฎร และสภาขุนนาง โดยการประชุมของทั้ง 3 ส่วนมีขึ้นเฉพาะในโอกาสทางพิธีการ อาทิ พระราชพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา ทั้งนี้ รัฐสภาสหราชอาณาจักรมีหน้าที่ในการออกกฎหมาย ตรวจสอบนโยบายและการบริหารงานของรัฐบาล และเปิดอภิปรายในกระทู้สำคัญ รัฐสภาแต่ละชุดจะมีอายุไม่เกิน 5 ปี มีช่วงสมัยประชุมคราวละ 1 ปี โดยเริ่มต้นและสิ้นสุดในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน โดยมีช่วงพักการประชุมในเวลากลางคืน ช่วงสุดสัปดาห์ เทศกาลคริสต์มาส เทศกาลอีสเตอร์ วันหยุดธนาคารในปลายฤดูใบไม้ร่วง และวันหยุดยาวในฤดูร้อน (ประมาณปลายเดือนกรกฎาคม) ทั้งนี้ การประชุมสภาสามัญมีสมัยประชุมเฉลี่ย 148 วัน และการประชุมสภาขุนนางมีสมัยประชุมเฉลี่ย 152 วัน โดยในการเปิดสมัยประชุมทุกครั้ง สมเด็จพระราชินีนาถจะทรงมีพระราชดำรัสเปิดสมัยประชุมรัฐสภา โดยจะทรงกล่าวถึงนโยบายของรัฐบาล และการเสนอร่างกฎหมาย และจะทรงมีพระราชเสาวนีย์ปิดสมัยประชุม รัฐสภาจะมีช่วงปิดสมัยประชุมเพียง 3 – 4 วัน ก่อนเริ่มสมัยประชุมต่อไป และจะเป็นการยุติกระบวนการทางนิติบัญญัติของสมัยประชุมนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎมายที่ไม่สามารถผ่านการพิจารณาก่อนสิ้นสุดสมัยประชุมจะตกไป ยกเว้นว่าฝ่ายค้านเห็นพ้องจะให้พิจารณากฎหมายต่อในสมัยต่อไป

    สภาสามัญหรือสภาผู้แทนราษฎร (House of Commons) ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 645 คน จากการเลือกคั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2548 มีคณะกรรมาธิการต่างๆ 40 คณะ ที่สำคัญคือ คณะกรรมาธิการต่างประเทศ คณะกรรมาธิการด้านการช่วยเหลือการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะกรรมาธิการด้านการคลัง

    สภาขุนนาง (House of Lords) ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 700 คน มาจากการแต่งตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ (พรรคแรงงาน 196 คน พรรคอนุรักษ์นิยม 171 คน พรรค Liberal Democrat 60 คน) และจากการสืบทอดตำแหน่ง และตัวแทนศาสนา คณะกรรมาธิการต่างๆ ของสภาขุนนางประกอบด้วย 9 คณะกรรมาธิการ ที่สำคัญมี อาทิ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป คณะอนุกรรมาธิการย่อยตามสาขาต่างๆ เช่น เศรษฐกิจการคลัง การพลังงาน อุตสาหกรรมและคมนาคม นโยบายต่างประเทศและการป้องกันประเทศ

    รัฐบาล
    รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างๆ ที่รับผิดชอบดูแลกิจการของประเทศ สมเด็จพระราชินีนาถทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาสามัญที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด) และทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีไม่เกิน 20 คน ตามการถวายคำแนะนำจากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีส่วนใหญ่มาจากสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีสามารถมาจากสภาขุนนางได้ ทั้งนี้ตำแหน่ง The Lord of Chancellor (รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย) จะมาจากสภาขุนนางการปกครองส่วนท้องถิ่น

    การปกครองส่วนท้องถิ่นในอังกฤษและเวลส์ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ County (เทียบเท่าจังหวัด) มี 53 จังหวัด ระดับ District (เทียบเท่าอำเภอ) มี 369 อำเภอ และระดับ Parish (ในอังกฤษ) และ Community (ในเวลส์) การปกครองส่วนท้องถิ่นในสก๊อตแลนด์ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับภาค (Region) และการปกครองในเขตต่างๆ อีก 3 แห่ง ระดับ District 53 แห่ง และระดับ Community ส่วนไอร์แลนด์เหนือ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับ County 6 แห่ง ระดับ District 26 แห่ง การปกครองท้องถิ่นดังกล่าวมาข้างต้นปกครองโดยสภาเทศบาล (council) ซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทุก 4 ปี

    การปกครองส่วนท้องถิ่นสหราชอาณาจักรเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย โดยใช้ระบบเลือกตั้งเทศมนตรี และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจะมีการสำรวจความคิดเห็น จัด roadshow หรือการแสดงประชามติ ในการบริหารงานส่วนท้องถิ่น

    สถานการณ์การเมือง
    พรรคแรงงานภายใต้การนำของนายโทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2548 โดยถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พรรคแรงงานสามารถกลับเข้าบริหารประเทศได้เป็นสมัยที่สามติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม เสียงข้างมากที่พรรคแรงงานเคยได้รับอย่างท่วมท้นเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้ว (ปี 2544) ลดลงอย่างมาก เนื่องจากการตัดสินใจเข้าร่วมสงครามอิรักของสหราชอาณาจักรโดยมีข่าวกรองที่ผิดพลาด ซึ่งประเด็นนี้เป็นที่โจมตีของพรรคอื่นๆ และมีชาวอังกฤษจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมสงครามดังกล่าว ทั้งนี้ ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรของพรรคแรงงานที่มากกว่าพรรคฝ่ายค้านลดลงจาก 161 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเหลือ 67 ที่นั่งในครั้งนี้ (พรรคแรงงานชนะ 356 เขตเลือกตั้ง พรรคอนุรักษ์นิยม 197 เขคเลือกตั้ง และพรรค Liberal Democrats 62 เขตเลือกตั้ง และพรรคอื่นๆ 29 เขตเลือกตั้ง)

    ด้วยที่นั่งในสภาฯ ที่มากกว่าฝ่ายค้านเพียง 67 ที่นั่ง รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคแรงงานในสมัยนี้ประสบความยากลำบากในการผ่านร่างญัตติต่างๆ ในสภามากกว่าในสมัยที่ผ่านมา และขณะนี้ ภาวะความเป็นผู้นำของนายโทนี แบลร์เริ่มอ่อนแอลง โดยมีแรงกดดันจากหลายฝ่ายให้นายโทนี แบลร์ ลาออก และส่งมอบตำแหน่งให้แก่นายกอร์ดอน บราวน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดการณ์ว่านายโทนี แบลร์ น่าจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคแรงงานในช่วงกลางปี 2551

    ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2549 นายโทนี แบลร์ ได้ปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่ามีจุดประสงค์เพื่อดึงความสนใจไปจากความล้มเหลวของพรรคในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2549 ซึ่งพรรคแรงงานได้รับการเลือกตั้งเพียง 26% น้อยกว่าพรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งได้รับคะแนนเสียง 40% และพรรค Liberal Democrats ซึ่งได้รับคะแนน 27% โดยนายแบลร์ได้ปรับนาย Charles Clarke รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกจากคณะรัฐมนตรี และได้แต่งตั้ง นาง Margaret Beckett (เดิมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหาร และชนบท) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทนนาย Jack Straw ซึ่งถูกย้ายไปเป็นผู้นำในสภาสามัญ (Leader of the House of Commons) นาย John Reid (เดิมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นาย Des Browne เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นาย Alan Johnson เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นาย Douglas Alexander เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นต้น

    รัฐบาลภายใต้การนำของนายโทนี แบลร์ เน้นนโยบายภายในประเทศ ในเรื่องการให้บริการสาธารณะ ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข ระบบสวัสดิการสังคม และอาชญากรรม โดยจะผลักดันกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการให้บริการด้านสาธารณสุข การปฏิรูปกฎหมายเรื่องการสร้างผลประโยชน์จูงใจให้ผู้ที่รับผลประโยชน์จากการว่างงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมทั้งจะผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้ได้บำนาญ เงินบำนาญ และผลประโยชน์ของผู้ได้รับบำนาญ และปฏิรูปการเลี้ยงดูเด็กให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ส่วนในด้านนโยบายการต่างประเทศ รัฐบาลชุดนี้จะให้ความสำคัญกับ 1) องค์การสหประชาชาติ 2) สถาบันด้านเศรษฐกิจพหุภาคี โดยเฉพาะ IMF, World Bank และ WTO 3) สหภาพยุโรป 4) สหรัฐอเมริกา 5) ประเทศยุทธศาสตร์ต่างๆ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น รัสเซีย รวมถึงประเทศที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาค ได้แก่ บราซิล เม็กซิโก แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ อาทิ การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรม ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และการฟอกเงิน การป้องกันและแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยระบบความร่วมมือระหว่างประเทศ เสริมสร้างสหภาพยุโรปให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรผ่านตลาดโลกที่เปิดและขยายตัว และ ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและลดความยากจน เป็นต้น

    เศรษฐกิจการค้า
    เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2544 เนื่องจากผลกระทบจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลก การแข็งค่าของเงินปอนด์ และสภาวะ "ฟองสบู่แตก” ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต และการส่งออก แม้กระนั้น เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรยังอยู่ในสภาวะที่แข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป โดยสหราชอาณาจักรมีอัตราเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และการว่างงานที่ต่ำ ซึ่งทำให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีความยากลำบากที่จะใช้เป็นข้ออ้างในการผลักดันให้สหราชอาณาจักรเข้าร่วมสหพันธ์เศรษฐกิจและการเงินยุโรป เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรได้ให้คำมั่นที่จะจัดการลงประชามติ หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อข้อทดสอบทางเศรษฐกิจ 5 ประการตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหราชอาณาจักรเสนอ ซึ่งข้อทดสอบดังกล่าวจะกำหนดว่า การเข้าร่วมสหพันธ์เศรษฐกิจและการเงินยุโรปจะส่งผลดีต่อการลงทุน การจ้างงาน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ สหราชอาณาจักรหรือไม่

    ในหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรดำเนินไปได้ดีกว่าประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศ เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศสูงจากราคาบ้านสูงขึ้น นอกจากนั้น การแข็งค่าของเงินปอนด์ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเอื้ออำนวยให้รัฐบาลสามารถใช้มาตรการทางการเงินในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจได้ จากสถิติของทางการสหราชอาณาจักร ในปี 2547 สหราชอาณาจักรมีอัตราการเจริญเติบโตของ GDP ร้อยละ 2.9 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตลอดปี 2547 อยู่ที่ 1.4% ส่วนในปี 2548 เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรชะลอตัวเหลือร้อยละ 1.8 และนาย Gordon Brown รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในปี 2549 จะอยู่ที่ร้อยละ 2 - 2.5 และจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2550-2551 ที่ร้อยละ 2.75-3.25 ตามลำดับ ด้านอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 1.9 ในเดือนมกราคม 2549 เป็นร้อยละ 2.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ในด้านแรงงาน ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2548 - มกราคม 2549 มีจำนวนผู้ว่างงาน 1.53 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 5 ของจำนวนประชากร ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของประชากรต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ

    ความสัมพันธ์ทางการเมืองไทย-สหราชอาณาจักร
    ไทยกับสหราชอาณาจักรสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2398 ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างกันดำเนินไปอย่างราบรื่นบนพื้นฐานมิตรภาพทั้งในกรอบทวิภาคี และกรอบความร่วมมือพหุภาคี การแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นและกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของความร่วมมือมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อปี 2541 ได้มีการลงนามในแผนปฏิบัติการความสัมพันธ์ไทย-สหราชอาณาจักร (Thailand-UK Action Agenda) ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือในทุกด้านทั้งทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งในระหว่างการเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2548 ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องให้มีการปรับปรุงแผนดังกล่าวเป็นแผนปฏิบัติการร่วมไทย - สหราชอาณาจักร (Joint Plan of Action) เพื่อให้แผนฯ มีความทันสมัยและปรากฏผลความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างแผนฯ

    ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

    การค้า
    สถิติการค้าไทย - สอ. (หน่วย : ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ)
    ปีมูลค่าการค้าไทยส่งออกไทยนำเข้าดุลการค้า
    2544 3,316.9 2,336.8 980.2 1,356.6
    2545 3,240.3 2,393.1 847.3 1,545.8
    2546 3,499.2 2,577.5 921.7 1,655.7
    2547 4,299.0 3,031.1 1,267.9 1,763.3
    2548 4,091.5 2,811.1 1,280.4 1,530.7

    สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าจากยุโรป อันดับที่ 2 ของไทย (รองจากเยอรมนี) ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 30 ของสหราชอาณาจักร โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าในสหราชอาณาจักร ร้อยละ 0.7 ทั้งนี้ ในปี 2548 ไทยส่งออกไปสหราชอาณาจักร เป็นมูลค่า 2,811.1 ล้าน USD ลดลงจากปี 2547 ร้อยละ 7.26 และนำเข้า 1,280.4 ล้าน USD เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ร้อยละ 0.99 สินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ รถยนต์ รถปิกอัพ ไก่แปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง อาหาร Ready-to-eat เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ เสื้อผ้าสำเร็จรูป


    การลงทุน
    สหราชอาณาจักรเป็นประเทศจากยุโรปที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด จากสถิติของ BOI พบว่าในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2543-2548) มีโครงการลงทุนจากสหราชอาณาจักรที่ได้รับการส่งเสริมผ่าน BOI ทั้งสิ้น 224 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 123.3 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการในสาขาบริการและสาธารณูปโภค (โดยเฉพาะการสนับสนุนการค้าและการลงทุน และกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า) รองมาได้แก่ สาขาอิเล็กทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเบา ทั้งนี้ บริษัทขนาดใหญ่ของสหราชอาณาจักรที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว มีอาทิ BP (น้ำมัน, ปิโตรเคมี), ICI (ปิโตรเคมี), Castrol (น้ำมันหล่อลื่น), GKN (ชิ้นส่วนรถยนต์), Thames Water (ผลิตน้ำประปา), Grampian Country Food (เกษตร) โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนสหราชอาณาจักร ได้แก่ ยานยนต์ (ชิ้นส่วนยานยนต์) ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร และเกษตร


    การท่องเที่ยว
    สหราชอาณาจักรเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยสูงเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคยุโรป และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (เติบโตเฉลี่ย 10.36% ต่อปี ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา) โดยในปี 2547 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเดินทางมาไทยจำนวน 634,750 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.39 และในปี 2548 (มกราคม-กันยายน) นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเดินทางมาไทยจำนวน 547,932 คน


    การศึกษา
    ไทยและสหราชอาณาจักรมีประวัติความร่วมมือด้านการศึกษาที่ยาวนาน มีความร่วมมือในระดับสถาบันการศึกษาในทุกระดับอย่างกว้างขวาง สถาบัน British Council ในประเทศไทยเป็นหน่วยงานหลักของฝ่ายสหราชอาณาจักรที่ได้มีโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาต่างๆ กับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องของไทย
    ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยในสถาบันการศึกษาในสหราชอาณาจักรมากกว่า 4,400 คน มีนักเรียนที่รับทุนการศึกษาจากสหราชอาณาจักรประมาณ 400 คน กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรได้ให้ทุนการศึกษา Chevening Scholarship แก่นักศึกษาไทยให้ไปศึกษาในสหราชอาณาจักรในระดับอุดมศึกษาเป็นประจำทุกปี


    ความตกลงทวิภาคีที่สำคัญระหว่างไทย-สหราชอาณาจักร

    1. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินทางอากาศ ลงนามเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2493 (แก้ไขเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2520 และเมื่อเดือนมิถุนายน 2522) ปัจจุบันฝ่าย สหราชอาณาจักรได้เสนอที่จะให้มีการปรับปรุงบางข้อบท และฝ่ายไทยกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา

    2. หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยว่าด้วยสิทธิพิเศษที่ให้แก่ผู้เชี่ยวชาญภายใต้โครงการความร่วมมือตามแผนโคลัมโบ (แลกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2505) ซึ่งคาดว่าการให้สิทธิพิเศษผู้เชี่ยวชาญฯ จะมีน้อยลงเนื่องจากสหราชอาณาจักรได้ยุติการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ไทยในปี 2543

    3. ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ลงนามเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2521 ปัจจุบันมีบริษัทมาขอรับการคุ้มครองภายใต้ความตกลงฯ น้อย เนื่องจากเห็นว่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจะทำให้ได้รับเงื่อนไขที่ดีกว่า

    4. อนุสัญญาว่าด้วยการยกเว้นภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากเงินได้ ลงนามเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2524 ซึ่งมีช่วยเหลืออย่างมากให้ภาคธุรกิจของประเทศทั้งสองไม่ต้องแบกรับภาระภาษีเกินความจำเป็นในการประกอบธุรกิจระหว่างกัน ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจาทบทวนอนุสัญญาดังกล่าว

    5. ความตกลงว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา ลงนามเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2533 ซึ่งฝ่ายสหราชอาณาจักรได้มีการใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ โดยขอให้มีการโอนตัวนักโทษสหราชอาณาจักรกลับไปรับโทษที่สหราชอาณาจักรอยู่เป็นระยะ ๆ

    6. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งกำลังบำรุง ลงนามเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 ซึ่งครอบคลุมไม่เพียงแต่ในเรื่องการส่งกำลัง การซ่อมบำรุง แต่ยังรวมถึงความร่วมมือทางทหารในด้านอื่น ๆ เช่น การฝึก การวิจัยร่วม การถ่ายโอนเทคโนโลยี เป็นต้น และปัจจุบันกองทัพของทั้งสองประเทศก็มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด

    7. ความตกลง 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐบาลไทย-สหราชอาณาจักร-กัมพูชา ว่าด้วยการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างปอยเปตกับคลองลึก ลงนามเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2537 โดยเป็นการใช้เงินของสหราชอาณาจักรร่วมกับกำลังทหารของไทยในการสร้างสะพานให้กัมพูชา ซึ่งได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว

    8. ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งและดำเนินการสถานีถ่ายทอดวิทยุของบริษัทกระจายเสียงของสหราชอาณาจักร (BBC) ในประเทศไทย ลงนามเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2537 ปัจจุบันสถานีวิทยุดังกล่าวได้ดำเนินการกระจายเสียงแล้ว

    9. สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา ลงนามเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2537 และได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกัน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2540

    มิถุนายน 2549

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×