ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #50 : เติร์กเมนิสถาน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.75K
      5
      2 ก.พ. 50



     
    เติร์กเมนิสถาน
    Turkmenistan


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง อยู่ในเอเชียกลาง ทางด้านตะวันออกของทะเลสาบแคสเปียนและทางตะวันตก ของแม่น้ำ Amu-Darya ระหว่างอิหร่านและอุซเบกิสถาน ภาคเหนือ ติด คาซัคสถาน ภาคใต้ ติด อัฟกานิสถาน ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ติด อุซเบกิสถาน ภาคตะวันตก ติด อิหร่าน

    พื้นที่ 488,100 ตารางกิโลเมตร ซึ่งขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของกลุ่มประเทศ CIS

    ประชากร 4.5 ล้านคน (กรกฏาคม 2543) ประกอบด้วยชาวเติร์กเมน 77% อุซเบก 9.2%, รัสเซีย 6.7% คาซัค 2%

    เมืองหลวง อาชคาบัต (Ashgabat) (ประชากร 5.2 แสนคน)

    ภาษา เติร์กเมน เป็นภาษาราชการ และมีการใช้ภาษารัสเซียอย่างกว้างขวาง

    ศาสนา อิสลามนิกายสุหนี่ ร้อยละ 87 คริสต์นิกายออโธด็อกซ์ตะวันตก ร้อยละ 11

    อากาศ ทะเลทรายแบบภาคพื้นทวีป

    ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เกลือ กำมะถัน และฝ้าย

    เวลา เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 5 ชั่วโมง

    สกุลเงิน มานัท (Manat) (เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2536) อัตราแลกเปลี่ยนกับเงินเหรียญสหรัฐฯ 1 เหรียญสหรัฐฯ = 5,200 มานัท (มกราคม 2543)

    วันชาติ 27 ตุลาคม (วันประกาศเอกราช 27 ตุลาคม 2534)

    ระบบการเมือง ประธานาธิบดีเป็นประมุขและทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ
    ประมุข ประธานาธิบดี Niyazov Saparmurat Atayevich (ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2533 และได้รับเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อ 21 มิถุนายน 2535)

    นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี Niyazov ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลด้วยอีกตำแหน่ง

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Batyr Berdiyev

    สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ CCC, CIS, EBRD, ECE, ECO, ESCAPE,
    IBRD, ICAO, IDB, ILO, IMF, IMO, INTELSAT (nonsignatory user), ICO, ISO (correspondent), ITU, NACC, OIC, OSCE, PFP, UN, UNCTAD, UNESCO, UPU, WHO, WMO, WTO.

    การเมืองการปกครอง
    ประวัติโดยสังเขป
    ชาวเติร์กเมนเป็นลูกหลานของเผ่าพันธ์โอกุซ (Oghuz) ซึ่งอพยพเข้ามายังดินแดนเอเชียกลางราวศตวรรษที่ 10 และครอบครองผืนดินบริเวณทิศตะวันออกของทะเลสาบแคสเปียน ช่วงระหว่างศตวรรษที่ 15 ถึงที่ 17 ดินแดนของผู้ครองแคว้นทางตอนใต้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเปอร์เซีย ในขณะที่ดินแดนทางตอนเหนือถูกผนวกเข้าอยู่ในอำนาจการปกครองของเจ้าผู้ครองแคว้น Bukhara และเจ้าผู้ครองแคว้น Khiva ของอาณาจักร Turkestan ราวช่วงต้นของศตวรรษที่ 18 เจ้าผู้ครองแคว้น Bukhara ได้ขยายอาณาจักร Turkestan มายังตอนใต้ โดยได้ผนวกแคว้น Merv (หรือ Mary ในปัจจุบัน) เข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองเจ้าผู้ครองแคว้น Bukhara ในยุคการล่าอาณานิคมของรัสเซียต่อเอเชียกลางในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 นั้น กองทหารรัสเซียทำการปราบปรามการต่อต้านของชาวเติร์กเมนและสังหารชาวเติร์กเมนเสียชีวิตถึง 150,000 คนในสงคราม Gok Tepe ปี ค.ศ.1877-1881 ในปี 1885 อังกฤษยอมทำความตกลงกับรัสเซีย ยินยอมให้รัสเซียปักปันเขตแดนพื้นที่บริเวณที่ชาวเติร์กเมนอาศัยอยู่ แต่ชาวเติร์กเมนก็ยังแข็งข้อต่อการรุกรานเข้ามาของรัสเซีย และไม่ยอมรับการปกครองของรัสเซีย แต่อย่างใด ในระหว่างการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซีย ได้มีการก่อตั้งรัฐบาลต่อต้านรัสเซียของชาว Transcaspian ขึ้น โดยที่ทำการรัฐบาลตั้งอยู่ที่เมือง Ashgabad รัฐบาลรัสเซียจึงส่งกำลังทหารเข้ายึดอำนาจที่Ashgabad และจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมเติร์กสถานขึ้นในปี ค.ศ.1918 โดยผนวกดินแดน Transcaspia (ดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศเติร์กเมนิสถานในปัจจุบัน) เข้ามาด้วย อย่างไรก็ตาม ขบวนการต่อต้านรัสเซียยังปฏิบัติการต่อไปโดยมีกองทหารอังกฤษให้การสนับสนุนอยู่ด้วย และสามารถล้มรัฐบาลของสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมเติร์กสถานที่ Ashgabad ได้สำเร็จ และจัดตั้งรัฐบาลอิสระของชาวเติร์กเมนขึ้นที่เมือง Ashgabad ต่อมาในปี ค.ศ.1920 กองทัพแดงของรัฐบาลรัสเซียก็ได้เข้ายึดเมือง Ashgabad ได้อีกครั้ง และจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมเติร์กเมนขึ้น เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ.1924 และในปี ค.ศ.1925 ก็ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสหภาพโซเวียตจนถึงปี ค.ศ.1991 ที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย สาธารณรัฐเติร์กเมนิสถานก็ได้ประกาศเป็นประเทศเอกราช

    การเมืองและการปกครอง
    ภูมิหลังทางการเมือง
    เติร์กเมนิสถานจัดได้ว่าเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงประเทศหนึ่งในบรรดาประเทศที่แยกตัวออกจากอดีตสหภาพโซเวียต รัฐบาลเติร์กเมนิสถานภายใต้การนำของประธานาธิบดี Niyazov ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบกันไปด้วยนั้น ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ และนโยบายต่างประเทศของเติร์กเมนิสถานเข้าสู่ช่วง Transitional Period เพื่อนำไปสู่การสถาปนาระบบประชาธิปไตย และเศรษฐกิจแบบตลาด รัฐบาลจึงวางนโยบายพื้นฐานที่เน้นการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองเป็นหลัก ซึ่งหมายถึงการประกันให้ระบบการเมืองและสถาบันหลักทางการเมือง ได้แก่ระบบประธานาธิบดี คณะรัฐบาล และรัฐสภาได้พัฒนาไปอย่างเป็นเอกภาพ โดยปราศจากการต่อสู้และความขัดแย้ง
    ประธานาธิบดี Niyazov เป็นผู้นำระบบอัตตาธิปไตยที่มีความสามารถ มีบุคลิกภาพ และเป็นนักปฏิบัติที่เน้นการเข้าหาประชาชน โดยการจัดตั้งสมัชชาประชาชน (National Conference) ซึ่งเป็นที่ประชุมใหญ่ที่ประธานาธิบดี คณะรัฐบาล และสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดมาร่วมกันกำหนดแผนนโยบายสำคัญของประเทศ ในส่วนของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัตินั้น มีฉันทามติระหว่างกันที่จะไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในระยะ10 ปีของการสร้างประเทศ โดยฝ่ายนิติบัญญัติยอมรับระบบรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นใหญ่ในขณะที่ฝ่ายค้านจากพวกนิยมศาสนาอิสลามและคอมมิวนิสต์ชาตินิยมยังอ่อนแอ และไม่สามารถรวมตัวได้เข้มแข็งพอ

    สภานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน
    ประธานาธิบดี Niyazov ยังคงรักษาอำนาจของตนเอาไว้ได้อย่างมั่นคงด้วยการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทั้งการสั่งปลดและลงโทษบุคคลระดับสูงเป็นตัวอย่างให้เห็น เพื่อป้องกันการตีตนออกห่างของเจ้าหน้าที่รัฐบาลทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นและเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเติร์กเมนว่าตนยังมีอำนาจสูงสุดในประเทศอยู่ แม้จะปรากฎข่าวเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพของตัวประธานาธิบดีออกมาเป็นระยะ ๆ ก็ตาม และจากการลงประชามติเมื่อปี 2537 ประธานาธิบดี Niyazov จะสามารถดำรงตำแหน่งนี้ได้จนถึงปี 2545 อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจการบริหารประเทศของรัฐบาลในเรื่องนโยบายสาธารณะที่รัฐบาลนำเงินจำนวนมากไปใช้ในโครงการที่ฟุ่มเฟือย เช่น สร้างทำเนียบสำหรับประธานาธิบดีแห่งใหม่ หรือการสร้างสนามกีฬา มูลค่า 26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ประชาชนกำลังทุกข์ยากกับการขาดแคลนสินค้าต่างๆ ที่จำเป็น

    ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
    ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศนั้น เติร์กเมนิสถานพยายามรักษาระดับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจต่าง ๆ รวมถึงตุรกีและอิหร่านซึ่งต้องการจะเข้ามามีอิทธิพลในเอเชียกลาง ให้เท่าเทียมกันตลอดเวลา การเดินทางเยือนตุรกีของประธานาธิบดี Niyazov เมื่อเดือนมิถุนายน 2537 นั้น มิได้ส่งผลต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองมากนัก นอกจากการที่เติร์กเมนิสถานได้รับการต่ออายุสถานะประเทศผู้ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN) จากตุรกีและมีการลงนามในบันทึกช่วยจำเกี่ยวกับการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากเติร์กเมนิสถานผ่านตุรกีไปยังยุโรป สำหรับนโยบายต่างประเทศ เติร์กเมนิสถานได้วางตัวเป็นกลางในปัญหาความขัดแย้งภายในภูมิภาคและให้ความสำคัญต่อการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มประเทศ CIS และกลุ่มประเทศมุสลิมนอกรัฐ CIS โดยเฉพาะกับตุรกีและอิหร่าน รัฐบาลเติร์กเมนมีนโยบายการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ บนพื้นฐานการจัดทำความตกลงทวิภาคีเป็นรายประเทศ และไม่ต้องการที่จะมีความสัมพันธ์ในกรอบขององค์กรความร่วมมือใด ๆ ที่มีลักษณะเหนือรัฐ โดยประสงค์เข้าร่วมในองค์กรในลักษณะการปรึกษาหารือกันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมกราคม 2541 ประธานาธิบดี Niyazov ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับประธานาธิบดีของ 4 ประเทศเอเชียกลาง ประกาศเจตนารมณ์ที่จะให้ลดการพึ่งพิงรัสเซียโดยหันมาร่วมมือกันในภูมิภาคเอเชียกลางให้มากขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง
    ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับสิทธิในการใช้ทะเลสาบแคสเปียน ซึ่งดำเนินมานับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายลงเมื่อปลายปี 2534 ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้โดยง่าย โดยเฉพาะเมื่อประเทศเหล่านี้ยังมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แม้เท่าที่ผ่านมา เติร์กเมนิสถานจะไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่มากนัก แต่การที่เติร์กเมนิสถานเองมีพรมแดนส่วนหนึ่งติดกับทะเลสาบแคสเปียนและก็ต้องการเงินตราสกุลแข็งมาใช้ในการปฏิรูปเศรษฐกิจเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทำให้ในระยะยาวแล้ว เติร์กเมนิสถานก็คงไม่อาจทนนิ่งเฉยอยู่ได้เช่นกัน
    กรณีพิพาทเหนือดินแดนที่คาบเกี่ยวกับอาเซอร์ไบจานได้ทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อบริษัทน้ำมันกึ่งเอกชนของรัสเซีย “LUKOIL” และ บริษัท “ROSNEFT” ของรัสเซียที่เข้าไปขุดเจาะน้ำมันในบริเวณทะเลสาบแคสเปียนใกล้ฝั่งเมือง KYAPAZ โดยอ้างคำอนุญาตจากรัฐบาลอาเซอร์ไบจาน ทั้งที่เติร์กเมนิสถานเองก็อ้างสิทธิเหนือดินแดนนี้เช่นเดียวกัน จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เติร์กเมนิสถานต้องการยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว รวมทั้งขู่ว่าจะ Boycott การเจรจาเรื่องเขตแดนในทะเลสาปแคสเปียน ระหว่างอาเซอร์ไบจาน อิหร่าน คาซัคสถาน รัสเซีย รวมทั้งเติร์กเมนิสถาน ซึ่งอิหร่านมีท่าทีสนับสนุนจุดยืนของเติร์กเมนิสถาน และรัสเซียก็เปลี่ยนท่าทีมาสนับสนุนเติร์กเมนิสถานในภายหลัง ซึ่งเห็นได้จากการยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวกับอาเซอร์ไบจาน ซึ่งการกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจน้ำมันของชาวต่างชาติในอาเซอร์ไบจานเป็นอย่างมาก ต่อมานาย Artur Rasizade นายกรัฐมนตรีของอาเซอร์ไบจาน ออกมากล่าวยอมรับว่า ดินแดนดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างกรณีพิพาทกับเติร์กเมนิสถาน ซึ่งได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อปักปันเขตแดนช่วยแบ่งสรรน้ำมันตามจุดกึ่งกลางระหว่างสองประเทศส่วนความสัมพันธ์กับรัสเซียนั้น เติร์กเมนิสถานยังต้องพึ่งพารัสเซียในเรื่องการขนส่งก๊าซโดยผ่านท่อส่งก๊าซของรัสเซียแต่เพียงประเทศเดียว จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องการกำหนดราคาค่าขนส่งก๊าซ และเติร์กเมนิสถานต้องการจะปลดแอกตัวเองออกจากรัสเซีย โดยพยายามหาแสวงหาพันธมิตรใหม่กับอิหร่าน เพื่อจะสร้างเครือข่ายท่อขนส่งก๊าซผ่านอิหร่านไปยังตุรกีและยุโรป ซึ่งเติร์กเมนิสถานได้ทำความตกลงในชั้นต้นกับตุรกีและอิหร่าน แล้ว เมื่อเดือนธันวาคม 2540 แต่เติร์กเมนิสถานอาจต้องประสบกับปัญหาในการร่วมงานกับอิหร่าน เนื่องจากปัญหาการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาต่ออิหร่าน อย่างไรก็ตาม เติร์กเมนิสถานกับรัสเซียต่างพยายามที่จะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่ยังตกลงกันไม่ได้ โดยนายวิกเตอร์ เชอร์โนมิร์ดิน นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ได้เดินทางเยือนเติร์กเมนิสถาน ระหว่างวันที่ 12-13 มกราคม 2541 เพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ ในเรื่องการกำหนดอัตราราคาก๊าซ ค่าธรรมเนียมการขนส่งก๊าซ การพิจารณาความตกลงว่าด้วยภาษี และการชำระหนี้สินระหว่างสองประเทศ ซึ่งเติร์กเมนิสถานเป็นหนี้รัสเซียจำนวน 107 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ผลการเจรจาครั้งนี้ ทั้งสองประเทศได้แค่ลงนามกันในความตกลงว่าด้วยการยกเว้นภาษีซ้อน ส่วนเรื่องก๊าซ ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องราคาค่าส่งก๊าซผ่านท่อส่งก๊าซของรัสเซีย เนื่องจากรัสเซียกำหนดราคาไว้ต่ำมากในราคา 32-36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 1000 คิวบิคเมตร ในขณะที่เติร์กเมนิสถานยืนยันในราคา 42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 1000 คิวบิคเมตร ซึ่งหากสามารถตกลงกันได้ เติร์กเมนิสถานจะสามารถขายก๊าซให้แก่รัสเซียในปริมาณ 25 พันล้านคิวบิค

    เศรษฐกิจการค้า
    ผลิตภัณฑ์ประชาชาติ (GDP) 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2542)

    GDP รายสาขา เกษตรกรรม 10% อุตสาหกรรม 62% ภาคบริการ 28% (2540)

    รายได้ประชาชาติต่อหัว 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ (2542)

    การเจริญเติบโตของ GDP 9% (2542)

    ภาวะเงินเฟ้อ 30% (2542)

    หนี้ต่างประเทศ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2542)

    มูลค่าการส่งออก 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2542)

    สินค้าส่งออกสำคัญ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 55%, ฝ้าย 22%

    ตลาดส่งออกสำคัญ อิหร่าน, ตุรกี, รัสเซีย, คาซัคสถาน, ทาจิกิสถาน, อาเซอร์ไบจาน

    มูลค่าการนำเข้า 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2542)

    สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักรและชิ้นส่วน 45%, เคมีภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์อาหาร

    แหล่งนำเข้าสำคัญ ยูเครน, ตุรกี, รัสเซีย, เยอรมนี , สหรัฐ ,คาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน

    อุตสาหกรรมหลัก ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สิ่งทอ การแปรรูปอาหาร

    ประเทศคู่ค้าสำคัญ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเลเซียอินโดนีเซีย อินเดีย จีน

    สภาวะทางเศรษฐกิจเติร์กเมนิสถาน
    เติร์กเมนิสถานเป็นประเทศที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยทะเลทราย มีการเลี้ยงปศุสัตว์แบบเร่ร่อน ซึ่งม้าพันธุ์ Akhaltekin ของเติร์กเมนิสถานเป็นม้าพันธุ์ดีที่สุดพันธุ์หนึ่งของโลก มีการทำการเกษตรขนาดหนักในพื้นที่ชลประทาน ซึ่งมีการปลูกฝ้ายมากเป็นอันดับ 10 ของโลก สินค้าเกษตรอื่น ๆ ได้แก่ ไหม ขนสัตว์ หนังแกะอ่อน ชะเอม และฟัก นอกจากนี้ เติร์กเมนิสถานยังมีแหล่งน้ำมันและบ่อก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่มาก ทำให้เติร์กเมนิสถานเป็นผู้ส่งออกน้ำมันกลั่นรายสำคัญ โดยผลิตน้ำมันได้ประมาณปีละ 4 ล้านเมตริกตัน และมีปริมาณน้ำมันสำรอง 700 ล้านเมตริกตัน ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกด้วย อีกทั้ง เติร์กเมนิสถานยังเป็นประเทศเดียวของกลุ่ม CIS ที่มีโรงงานแปรรูปน้ำมันเพื่อใช้สำหรับเครื่องบิน และในปัจจุบัน บริษัทต่างชาติได้เข้ามาลงทุนในด้านการสำรวจน้ำมันแล้ว อาทิ UNICAL ของสหรัฐฯ DELTA ของ ซาอุดิอาระเบีย และ PETRONAS ของมาเลเซีย ทำให้เติร์กเมนิสถานต้องดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆเพื่อคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้แก่การลงทุนของต่างชาติในประเทศ นอกจากนั้น เติร์กเมนิสถานยังเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยผลิตได้ปีละประมาณ 84 พันล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองถึง 13 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ด้วย ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ทำให้เติร์กเมนิสถานประสบปัญหาทางเศรษฐกิจน้อยที่สุดตั้งแต่การแยกประเทศในบรรดาประเทศที่แตกออกจากอดีตสหภาพโซเวียต ประธานาธิบดี Niyazov ได้ดำเนินนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบบเสรีนิยมแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยคำนึงถึงการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นสำคัญ และใช้รายได้จากการส่งออกฝ้ายและก๊าซธรรมชาติมาสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตาม ในปี 2538 เติร์กเมนิสถานประสบปัญหาการขาดรายได้ เนื่องจากไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากประเทศผู้ซื้อก๊าซของตนได้ และการเก็บเกี่ยวผลผลิตฝ้ายตกต่ำลงในปี 2537 ดังนั้น เติร์กเมนิสถานจึงจำเป็นที่จะต้องหาทางส่งออกก๊าซไปยังประเทศอิหร่านและตุรกี ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ในขณะเดียวกัน เติร์กเมนิสถานต้องเผชิญกับปัญหาจากการส่งออกก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน เนื่องจากประเทศผู้สั่งซื้อสินค้าจากเติร์กเมนิสถานส่วนใหญ่เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ล้วนแต่แยกออกจากสหภาพโซเวียตเดิม ซึ่งกำลังประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน จึงไม่สามารถที่จะชำระเงินแก่เติร์กเมนิสถานเพื่อเป็นค่าสินค้าได้ในทันที นอกจากนี้ โครงการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากเติร์กเมนิสถานไปยังตลาดต่างประเทศเพื่อจำหน่ายก๊าซธรรมชาติแลกกับเงินตราสกุลแข็ง ยังก้าวหน้าไปน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างท่อส่งก๊าซผ่านอิหร่านไปยังตุรกีหรือผ่านคาซัคสถานและจีนไปยังญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม การผลิตก๊าซธรรรมชาติของเติร์กเมนิสถานได้เพิ่มปริมาณขึ้นที่ระดับ 75 พันล้านลูกบาศก์เมตรเมื่อปี 2536 (ปี 2535 ปริมาณการผลิต 86 พันล้านลูกบาศก์เมตร) ปริมาณการส่งออกของเติร์กเมนิสถานลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2540 เนื่องจากมีการระงับการส่งก๊าซไปยังยูเครนซึ่งรายได้จากการส่งออกก๊าซไปยังยูเครนคิดเป็นร้อยละ 70 ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของเติร์กเมนิสถาน ทว่าการนำเข้าก็ได้มีการลดลงอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ปัจจุบันเติร์กเมนิสถานเสียดุลการค้ากว่า 120 พันล้านดอลลาห์คิดเป็นร้อยละ 14 ของรายได้ประชาชาติ รัฐบาลของเติร์เมนิสถานเองก็ได้มีการพยายามแก้ไขภาวะการรั่วไหลของเงินตราต่างประเทศ โดย ฯพณฯ Nyazov ได้ออกกฤษฎีกาที่ให้เป็นมาตรการที่เข้มงวดกับหนี้ต่างประเทศและส่งเสริมให้มีการเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเติร์กเมนิสถาน
    ความสัมพันธ์ทางการทูต
    นับตั้งแต่ประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเติร์กเมนิสถานเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2535 จนถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยังคงอยู่ในระดับเริ่มต้น ปัจจุบันฝ่ายไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา มีเขตอาณาครอบคลุมเติร์กเมนิสถาน เนื่องจากตุรกีเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดประเทศหนึ่งของเติร์กเมนิสถาน มีภาษาและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันมาก รัฐบาลไทยอนุญาตให้บุคคลสัญชาติเติร์กเมนเข้ามาขอรับการตรวจลงตราประเภท Visa on Arrival (พำนักในประเทศไทยได้ 15วัน) ได้ที่ท่าอากาศยานระหว่างประเทศในประเทศไทย

    การแลกเปลี่ยนการเยือน
    นับตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมา ฝ่ายเติร์กเมนิสถานเคยแจ้งผ่านสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อกราบบังคมทูลฯเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จเยือนเติร์กเมนิสถานอย่างเป็นทางการ และแจ้งว่าประธานาธิบดีเติร์กเมนิสถานแสดงท่าทีสนใจที่จะเยือนไทย
    - เมื่อเดือนตุลาคม 2537 นางสาว สุจิตรา หิรัญพฤกษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก เคยไปร่วมงานฉลองวันครบรอบเอกราช 3 ปีของเติร์กเมนิสถาน
    - ฯพณฯ ม.ร.ว. เทพ เทวกุล ปลัดกระทรวงฯ ในขณะนั้น นำคณะผู้แทนไทยเยือนสหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน ระหว่างวันที่ 15-27 กันยายน2539 ซึ่งเป็นคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากไทยคณะแรกที่ไปเยือนเติร์กเมนิสถาน

    ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ
    นับตั้งแต่ไทยกับเติร์กเมนิสถานเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันจนถึงปี 2542 ไม่ปรากฎตัวเลขทางการค้าระหว่างกัน ทั้งๆที่เติร์กเมนิสถานอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะ น้ำมันก๊าซธรรมชาติ และฝ้าย อย่างไรก็ตาม ในปี 2543 ไทยและเติร์กเมนิสถานเริ่มมีการติดต่อค้าขายระหว่างกัน โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2543 มีการค้าระหว่างกันเป็นมูลค่า 28.8 ล้านบาท โดยไทยส่งออกเป็นมูลค่า 14.5 ล้านบาท และนำเข้าจากเติร์กเมนิสถานเป็นมูลค่า 14.3 ล้านบาท ฝ่ายไทยอาจพิจารณาหาลู่ทางให้เติร์กเมนิสถานเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบประเภทฝ้าย ไหม และหนังวัว (Pelts) ให้แก่อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย หรืออาจลงทุนร่วมในด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปป้อนตลาด CIS ทั้งนี้ ฝ่ายเติร์กเมนิสถานเคยเสนอให้ไทยไปลงทุนในด้านอุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น การเก็บรักษาผลไม้และการแปรรูปผลไม้ อาหารและนมเด็ก และน้ำมันพืช

    ความตกลงทวิภาคี
    ฝ่ายเติร์กเมนิสถานเคยแสดงความประสงค์ที่จะจัดทำความตกลงในด้านต่าง ๆ กับไทยได้แก่
    - ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน
    - ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า
    - ความตกลงว่าด้วยการบินพาณิชย์ (ขณะนี้ได้มีการลงนามย่อแล้ว)
    - บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ
    ขณะนี้ไทยยังไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้าที่เด่นชัดในภูมิภาคและเติร์กเมนิสถานเองก็มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ห่างไกลจากไทย อย่างไรก็ตาม ในช่วงข้างหน้าไทยคงจะต้องหาทางส่งเสริมความสัมพันธ์กับเติร์กเมนิสถานในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากต่อไปเติร์กเมนิสถานจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการค้าระดับภูมิภาคที่สำคัญยิ่ง อันเนื่องจากการเป็น gateway ที่เชื่อมเอเชียกลางทั้งหมดกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ความสำเร็จของโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟที่เชื่อมเมือง Tedjen ของเติร์กเมนิสถานกับเมือง Mashad ของอิหร่านจะเป็นจุดผกผันที่สำคัญของระบบการค้าโลก และการค้าระหว่างเอเชีย-แปซิฟิกกับเอเชียกลางกำลังเริ่มต้นขึ้น เส้นทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะเป็นตลาดสินค้าใหม่และแหล่งวัตถุดิบอีกแห่งสำหรับอุตสาหกรรมของไทย

    การท่องเที่ยว
    ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจากกลุ่มเครือรัฐเอกราชเป็นตลาดกลุ่มใหม่ที่มีการขยายตัวดีมาก จากสถิติของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในปี 2540 มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ CIS เดินทางมาประเทศไทยจำนวน 7,848 คน เพิ่มจากปี 2539ที่มีจำนวน 6,998 คน ร้อยละ 12.15 สำหรับปี 2539 มีนักท่องเที่ยวชาวเติร์กเมนเดินทางมาไทยเพียง 27 คน และในปี 2540 ไม่มีตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวเติร์กเมน

    ธันวาคม 2543

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×