ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปเอเซีย

    ลำดับตอนที่ #5 : บรูไนดารุสซาลาม

    • อัปเดตล่าสุด 9 ม.ค. 50




     
    บรูไนดารุสซาลาม
    Brunei Darussalam


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ชื่อทางการ เนการาบรูไนดารุสซาลาม (Negara Brunei Darussalam แปลว่า ดินแดนแห่งความสงบสุข)

    ที่ตั้ง ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว

    พื้นที่ 5,765 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ร้อยละ 70 เป็นป่าไม้เขตร้อน

    ภูมิอากาศ อากาศโดยทั่วไปค่อนข้างร้อนชื้น มีปริมาณฝนตกค่อนข้างมาก และมีอุณหภูมิอบอุ่น โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียส

    เวลา 8 ชม.ก่อน GMT (เร็วเวลาประเทศไทย 1 ชั่วโมง)

    รูปแบบการปกครอง สมบูรณาญาสิทธิราช โดยมี
    สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ (His Majesty Paduka Seri Baginda Sultan Haji Hassanal Bolkiah Mu’izzaddin Waddaulah) ทรงเป็นองค์พระประมุขของประเทศตั้งแต่ 5 ตุลาคม 2510

    หัวหน้ารัฐบาล สมเด็จพระราชาธิบดีทรงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

    รัฐมนตรีต่างประเทศ เจ้าชายโมฮาเหม็ด โบลเกียห์ (H.R.H. Prince Mohamed Bolkiah) พระอนุชาในสมเด็จพระราชาธิบดี

    วันชาติ 23 กุมภาพันธ์

    ธงชาติ พื้นสีเหลือง มีแถบขาวและดำพาดขวางจากมุมบนด้านซ้าย ตลอดถึงมุมล่างด้านขวา มีเครื่องหมายประจำชาติสีแดงอยู่ตรงกลาง มีธงประจำชาติอยู่บนยอดเสาที่มีปีก 2 ข้าง ซึ่งตั้งอยู่เหนือพระจันทร์เสี้ยวที่หงายขึ้น และอยู่บนป้ายที่เขียนว่า Brunei Darussalam ซึ่งหมายความว่า ดินแดนแห่งความสงบสุข

    เมืองหลวง บันดาร์เสรีเบกาวัน (Bandar Seri Begawan)

    ภาษา ภาษามาเลย์ (Malay หรือ Bahasa Melayu)เป็นภาษาราชการ รองลงมาเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาจีน

    ศาสนา ศาสนาประจำชาติคือ ศาสนาอิสลาม (67%) แต่ก็มีการนับถือศาสนาอื่นได้แก่ ศาสนาพุทธ (13%) ศาสนาคริสต์ (10%) และฮินดู

    เขตการปกครอง แบ่งเป็นสี่เขตคือ เขต Brunei-Muara เขต Belait เขต Temburong และเขต Tutong

    ประชากร 358,098 คน (2546) ประกอบด้วย มาเลย์ (67%) จีน (15%) และอื่น ๆ (18%) มีอัตราการเพิ่มของประชากรปีละ 2

    สมาชิกอาเซียน ปี 2527 (ลำดับที่ 6)

    ประวัติศาสตร์

    - บรูไนรุ่งเรืองและเป็นที่รู้จักมากขึ้นในคริสตศตวรรษที่ 15 และ 16 เมื่อได้ครอบครองส่วนใหญ่ของเกาะบอร์เนียวและส่วนหนึ่งของหมู่เกาะซูลู (Sulu) มีชื่อเสียงทางการค้า สินค้าส่งออกที่สำคัญในสมัยนั้น ได้แก่ การบูร พริกไทย และทองคำ บรูไนเริ่มเสื่อมอำนาจหลังจากคริสตศตวรรษที่ 15 โดยสเปนและดัชท์ได้แผ่อำนาจเข้ามาจนทำให้บรูไนเสียดินแดนและเสื่อมลงมากจนถึงสมัยคริสตศตวรรษที่ 19

    - ในปี 2431 (ค.ศ.1888) ด้วยความวิตกว่าจะต้องเสียดินแดนต่อไปอีก บรูไนได้ยินยอมเข้าอยู่ภายใต้อารักขาของอังกฤษ ต่อมาในปี 2449 (ค.ศ.1906) บรูไนได้ลงนามในสนธิสัญญากับอังกฤษ ยินยอมอยู่ภายใต้อารักขาของอังกฤษอย่างเต็มรูปแบบ

    - ในปี 2472 (ค.ศ.1929) บรูไนสำรวจพบน้ำมันที่เมือง Seria และก๊าซธรรมชาติ ทำให้บรูไนมีฐานะมั่งคั่งในเวลาต่อมา

    - ในปี 2505 (ค.ศ.1962) ได้มีการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคประชาชนบอร์เนียว (Borneo People’s Party) ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แต่ถูกกีดกันไม่ให้จัดตั้งรัฐบาล ต่อมาจึงได้ยึดอำนาจจากสุลต่าน แต่สุลต่านทรงได้รับความช่วยเหลือจากกองทหารกูรข่าของอังกฤษที่ส่งตรงมาจากสิงคโปร์ หลังจากนั้นได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน และต่ออายุทุก ๆ 2 ปี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

    - หลังจากที่อยู่ภายใต้อารักขาของอังกฤษมาถึง 95 ปี บรูไนได้รับเอกราช เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2527 (ค.ศ.1984)

    การเมืองการปกครอง

    - รัฐธรรมนูญปัจจุบันซึ่งแก้ไขล่าสุดเมื่อ 1 มกราคม 2527 กำหนดให้สุลต่านทรงเป็นอธิปัตย์ คือ เป็นทั้งประมุข นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นชาวบรูไนเชื้อสายมาเลย์โดยกำเนิด และจะต้องเป็นมุสลิมนิกายสุหนี่
    - นโยบายหลักของบรูไนได้แก่การสร้างความเป็นปึกแผ่นภายในชาติและดำรงความเป็นอิสระของประเทศ ทั้งนี้ บรูไนมีที่ตั้งที่ถูกโอบล้อมโดยมาเลเซียและมีอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมขนาดใหญ่อยู่ทางใต้ บรูไนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสิงคโปร์ เนื่องจากมีเงื่อนไขคล้ายคลึงกันหลายประการ อาทิ เป็นประเทศเล็ก และมีอาณาเขตติดกับประเทศมุสลิมขนาดใหญ่
    - บรูไนแบ่งเขตการปกครองออกเป็นสี่เขต คือ เขต Brunei-Muara เขต Belait เขตTemburong และเขต Tutong นับจากการพยายามยึดอำนาจเมื่อปี 2505 รัฐบาลได้ประกาศกฎอัยการศึกยังผลให้ไม่มีการเลือกตั้งรวมทั้งบทบาทพรรคการเมืองได้ถูกจำกัดอย่างมาก จนปัจจุบันพรรคการเมืองได้แก่ Parti Perpaduan Kebangsaan Brunei (PPKB) และ Parti Kesedaran Rakyat (PAKAR) ไม่มีบทบาทมากนักเนื่องจากรัฐบาลควบคุมด้วยมาตรการต่าง ๆ อาทิ กฎหมาย Internal Security Act (ISA) ห้ามการชุมนุมทางการเมือง และสามารถถอดถอนการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองได้ ตลอดจนห้ามข้าราชการ (ซึ่งมีเป็นจำนวนกว่าครึ่งของประชากรบรูไนทั้งหมด) เป็นสมาชิกพรรคการเมือง นอกจากนี้ รัฐบาลเห็นว่าพรรคการเมืองไม่มีความจำเป็นเนื่องจากประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นหรือขอความช่วยเหลือจากข้าราชการของสุลต่านได้อยู่แล้ว

    การทหาร

    - กองทัพของบรูไน (Royal Brunei Armed Forces หรือ RBAF) มีกำลังพลเพียง 7,000 นาย และกำลังสำรอง 700 นาย โดยแบ่งเป็นกองทัพบก 4,900 นาย กองทัพเรือ 1,000 นาย และ กองทัพอากาศ 1,100 นาย อย่างไรก็ดี สุลต่านยังมีกองทหารกูรข่าของพระองค์เองเรียกว่า Gurkha Reserve Unit (GRU) จำนวน 2,500 นายและกองทหารกูรข่าของอังกฤษ (British Gurkha) รวมกำลังพล 1,000 คน ประจำอยู่ที่เมือง Seria เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่บ่อน้ำมันและกิจการผลิตน้ำมันของ Brunei Shell Petroleum โดยรัฐบาลบรูไนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

    เศรษฐกิจการค้า
    ระบบเศรษฐกิจ แบบตลาดเสรีภายใต้ความดูแลของรัฐ

    เงินตรา ดอลลาร์บรูไน (Brunei Dollar) ประมาณ 22.98 บาท/1 ดอลลาร์บรูไน (เงินดอลลาร์บรูไนมีมูลค่าเท่ากับเงินดอลลาร์สิงคโปร์และสามารถใช้แทนกันได้)

    รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี 12,335 ดอลลาร์สหรัฐ (2546)

    GDP 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2546)

    GDP Growth ร้อยละ 5.1 (2546)

    อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 1 (2546)

    สินค้าส่งออกสำคัญน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เครื่องนุ่งห่ม

    สินค้านำเข้าสำคัญเครื่องจักรกลและสินค้าอุตสาหกรรม อาหารและเคมีภัณฑ์

    ตลาดส่งออกที่สำคัญญี่ปุ่น (38.94%) อาเซียน (29.19 %) ออสเตรเลีย (10.3%) เกาหลีใต้ (6.9%)

    ตลาดนำเข้าที่สำคัญอาเซียน (34%) สหรัฐ (31%) สหภาพยุโรป (9%)

    เศรษฐกิจ


    - ระบบเศรษฐกิจของบรูไนเป็นแบบตลาดเสรี ภายใต้ความดูแลของรัฐ รายได้หลักของบรูไนมาจากน้ำมัน (ประมาณร้อยละ 48) และก๊าซธรรมชาติ (ประมาณร้อยละ 43) บรูไนนับเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย คือประมาณ 2 แสนบาร์เรลต่อวัน และผลิตก๊าซธรรมชาติได้เป็นอันดับ 4 ของโลกประมาณ 1.2 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมีบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ (Brunei National Petroleum Company Sedirian Berhad หรือ Petroleum Brunei) จัดตั้งเมื่อพฤศจิกายน 2544 เป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายน้ำมันและก๊าซ ด้วยเหตุนี้ มูลค่าการค้าของบรูไนจึงเกินดุลอยู่ตลอดเวลา บรูไนส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่น อังกฤษ ไทย สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ (ตามลำดับ) ในส่วนของสินค้านำเข้า บรูไนนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่จากสิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐฯ และมาเลเซีย โดยเป็นสินค้าประเภทเครื่องจักรอุตสาหกรรม รถยนต์ เครื่องมือ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ และสินค้าเกษตร อาทิ ข้าวและผลไม้
    - บรูไนมุ่งเน้นสร้างความมั่งคั่งโดยอาศัยรายได้จากน้ำมันไปลงทุนในต่างประเทศ
    หรือร่วมทุนกับต่างประเทศ โดยดำเนินการผ่านสำนักงานการลงทุนของบรูไน (Brunei Investment Agency – BIA) ในรูปของการถือหุ้นหรือซื้อพันธบัตรในยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเวียดนาม ทั้งนี้ การลงทุนของ BIA มักอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากสิงคโปร์เป็นผู้ให้คำปรึกษา

    อุตสาหกรรม


    - บรูไนมีอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากอุตสาหกรรมน้ำมันอยู่บ้าง อาทิ การผลิตอาหาร และเครื่องมือ การผลิตเสื้อผ้า เพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในยุโรปและอเมริกา ทั้งนี้ รัฐบาลบรูไนมุ่งที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการแปรรูปอาหารและผลิตเครื่องดื่ม เสื้อผ้า และสิ่งทอ เครื่องเรือนจากไม้ วัสดุก่อสร้างที่ไม่ใช่โลหะ การผลิตแก้วเพื่อใช้ทำกระจกรถยนต์ อย่างไรก็ดี บรูไนยังคงประสบกับอุปสรรคต่าง ๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ การขาดแคลนช่างฝีมือ และตลาดภายในประเทศที่มีขนาดเล็ก ประกอบกับบรูไนไม่มีแรงงานในประเทศเพียงพอและต้องอาศัยแรงงานจากต่างประเทศเป็นหลัก

    แนวโน้มการพัฒนาทางเศรษฐกิจ


    - ปัจจุบัน บรูไนกำลังพยายามเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำมันเป็นหลักไปสู่
    โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันสำรองที่ยืนยันแล้ว (proven reserve) ของบรูไน จะหมดลงในราวปี 2558 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเอเชียตั้งแต่ปี 2543 ทำให้บรูไนเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ได้แก่
    (1) จัดตั้งสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ นำโดยเจ้าชายโมฮาเหม็ด โบลเกียห์ (รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไน) ซึ่งมีแนวทางส่งเสริมภาคเอกชนให้มีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
    (2) ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่เน้นนโยบายให้สวัสดิการ มาเป็นการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ โดยให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ขยายฐานการจัดเก็บภาษี
    (3) ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนในต่างประเทศของ BIA โดยหันมาลงทุนในธุรกิจด้านใหม่ ๆ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ เช่น การซื้อหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและโทคมนาคม หรือธุรกิจสายการบินต่าง ๆ
    (4) แผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 8 (The Eighth National Development Plan: 8th NDP) ที่ดำเนินการระหว่างปี 2544 - 2548 มีสาระสำคัญ ได้แก่ ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน-ประเทศ (GDP) ที่ร้อยละ 5 – 6 โดยตั้งวงเงินงบประมาณสำหรับการดำเนินตามแผนฯ ไว้ 7.3 พันล้านดอลลาร์บรูไน ซึ่งคาดว่ากลยุทธ์ทางการพัฒนาใหม่นี้จะช่วยให้รัฐบาลสร้างสมดุลของงบประมาณได้ดีขึ้น สามารถกำหนดมาตรการในการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สร้างความแข็งแกร่งและการขยายตัวให้กับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งอุตสาหกรรมขนาดเล็กและย่อม การขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน แปรรูปรัฐวิสาหกิจบางกิจการ และสร้างความแข็งแกร่งในระบบการเงินและการคลัง นอกจากนี้รัฐบาลบรูไนยังยึดแนวคิดของระบบการปกครองที่ดี (Good Governance) รวมทั้งเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเอกชน
    (5) ส่งเสริมการลงทุนกับต่างประเทศและมีมาตรการเปิดเสรีด้านการค้าและสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ไม่เฉพาะแต่บริษัทในประเทศแต่รวมถึงประเทศต่าง ๆ จากกลุ่มอาเซียนและนานาประเทศ
    (6) พัฒนาประเทศให้เป็น
    ศูนย์กลางทางการค้าและท่องเที่ยว (Service Hub for Trade and Tourism -SHuTT 2003 Vision) และเป็นตลาดการขนถ่ายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นเป้าหมายประการหนึ่งของโครงการความร่วมมือของกลุ่ม Brunei Indonesia Malaysia Philippines-East ASEAN Growth Area (BIMP-EAGA)
    (7) สร้างความแข็งแกร่งทางการเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเอื้ออำนวยต่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสาธารณูปโภคพื้นฐาน นอกจากนี้ จากการที่บรูไนได้กำหนดแผนพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านการเงินนานาชาติ (Brunei International Financial Center : BIFC) โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะยกระดับประเทศในด้านการบริการการเงินในระดับนานาชาติ กระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจ และสร้างงานให้กับประชาชน

    สังคม


    - บรูไนมีระบบรัฐสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ โดยรัฐให้หลักประกันด้านการศึกษา การเคหะและการรักษาพยาบาล และไม่มีการเก็บภาษีเงินได้ ทำให้บรูไนไม่ค่อยประสบปัญหาทางการเมือง อย่างไรก็ดี ปัญหาสังคมที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และปัญหาการว่างงาน

    นโยบายต่างประเทศ


    - วัตถุประสงค์หลักของนโยบายต่างประเทศบรูไนคือการส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติอันได้แก่ การคงไว้ซึ่งอธิปไตย อิสรภาพและบูรณภาพทางดินแดน การสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสังคม และการรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางการเมือง วัฒนธรรมและศาสนา รวมทั้งส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง ความมีเสถียรภาพและความรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคและระดับโลก ทั้งนี้ บรูไนใช้กลไกพหุภาคีทั้งในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง เสริมสร้างความมั่นคงและผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาเซียน (ซึ่งถือเป็นเสาหลักของนโยบายต่างประเทศบรูไน) Brunei Indonesia Malaysia Philippines-East ASEAN Growth Area (BIMP-EAGA) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย – แปซิฟิก การประชุมเอเชีย - ยุโรป กลุ่มประเทศเครือจักรภพ องค์การการประชุมอิสลาม และองค์การสหประชาชาติ ในระดับทวิภาคี บรูไนพยายามเป็นมิตรกับนานาประเทศทั้งในด้านการค้า การลงทุนเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันประเทศ
    - หลักการดำเนินนโยบายต่างประเทศของบรูไนที่สำคัญได้แก่ การเคารพในอธิปไตย อิสรภาพและบูรณภาพทางดินแดนของประเทศต่าง ๆ การยอมรับในฐานะที่เท่าเทียมกันของประเทศต่าง ๆ การไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในซึ่งกันและกัน การแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีสันติและความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบรูไนดารุสซาลาม
    ความสัมพันธ์ทั่วๆไป

    - ไทยและบรูไนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 1 มกราคม 2526 ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและดำเนินด้วยดีมาโดยตลอด มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับราชวงศ์และผู้นำระดับสูงอยู่เสมอ ทั้งสองฝ่ายมีทัศนคติที่ดีต่อกัน ไม่เคยมีความบาดหมางทางประวัติศาสตร์ และมักเป็นพันธมิตรในเรื่องต่าง ๆ ทั้งในกรอบอาเซียนและกรอบสหประชาชาติ
    - คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับบรูไนดารุสซาลาม (the Joint Commission for Bilateral Cooperation Between Thailand and Brunei Darussalam) เป็นกลไกในการเสริมสร้างและขยายความสัมพันธ์ทวิภาคีด้านต่าง ๆ โดยจะเป็นเวทีสำหรับการหารือถึงลู่ทางความเป็นไปได้ในการขยายความร่วมมือ รวมถึงการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ข้อขัดแย้งซึ่งอาจเกิดขึ้น มีการจัดประชุมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับบรูไนดารุสซาลาม ครั้งที่ 1 ระหว่าง 30-31 มีนาคม 2546 โดยมี ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และเจ้าชาย Mohamed Bolkiah รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบรูไน ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนบรูไนดารุสซาลาม ที่ประชุมได้หารือความร่วมมือด้านทหาร การส่งเสริมการค้าการลงทุน ด้านแรงงาน ความร่วมมือด้านวิชาการ ด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมและข้อมูลข่าวสาร ในด้านการส่งเสริมการค้าทวิภาคีไทย-บรูไน ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศจะหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งสภานักธุรกิจไทย-บรูไน และสภานักธุรกิจบรูไน-ไทย เพื่อเป็นช่องทางในการประสานงานต่างๆ ด้านการค้าการลงทุน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับสินค้าอาหารฮาลาล อุตสาหกรรม เหล็ก การประมง และการจัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยบรูไนจะจัดส่งคณะทำงานมายังประเทศไทยเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการลงทุนร่วมในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และหารือในรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของบรูไนที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดตั้งธนาคารอิสลามในประเทศไทย

    ความสัมพันธ์ด้านการเมือง


    - ไทยและบรูไนสถาปนามีความสัมพันธ์ดำเนินไปด้วยดีตลอดมา มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับพระราชวงศ์ และผู้นำระดับสูงอยู่เสมอ อาทิ
    - สมเด็จพระราชาธิบดีเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่าง 1 – 4 พฤศจิกายน 2531
    - สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์เพื่อทรงร่วมในพระราชพิธีรัชดาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีเมื่อปี 2535
    - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนบรูไนระหว่าง7 – 14 กันยายน 2534
    - นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) เยือนบรูไนเมื่อ 19-20 มีนาคม 2540
    - สมเด็จพระราชาธิบดีเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในลักษณะ Working Visit เมื่อปี 2541
    - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ) เยือนบรูไน เมื่อ 4-6 พฤษภาคม 2541
    - สมเด็จพระราชาธิบดีเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่าง 11-12 กุมภาพันธ์ 2543 เพื่อร่วมประชุม ASEAN-UN Summit ซึ่งจัดขึ้นระหว่างการประชุม UNCTAD X
    - มกุฎราชกุมารบรูไนเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระอาคันตุกะของรัฐบาลไทย ระหว่าง 21-25 พฤษภาคม 2543
    - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบรูไนเสด็จฯ เยือนไทยระหว่าง 23-26กรกฎาคม 2543 เพื่อร่วมประชุม AMM/PMC ครั้งที่ 33
    - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนบรูไนระหว่าง 14-15 กรกฎาคม 2544 เพื่อเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยเข้าร่วมพระราชพิธีฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน
    - นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนบรูไนอย่างเป็นทางการระหว่าง 16-17 สิงหาคม 2544
    - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบรูไนเสด็จฯ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Minister Retreat) ระหว่าง 20 – 21 กุมภาพันธ์ 2545 ที่จังหวัดภูเก็ต
    - สมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินี และพระมเหสี แห่งบรูไนเสด็จฯ เยือนไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ระหว่าง 26 – 28 สิงหาคม 2545
    - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบรูไนเยือนไทยระหว่าง 30-31 มีนาคม 2546 เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับบรูไนดารุสซาลาม ครั้งที่ 1 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพที่กรุงเทพฯ
    - สมเด็จพระราชาธิบดีเสด็จฯ เยือนไทยเมื่อ 29 เมษายน 2546 เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน และผู้นำอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพที่กรุงเทพฯ
    - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย) เดินทางเยือน
    บรูไนระหว่าง 14-16 กรกฎาคม 2546 เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน
    - การเยือนบรูไนดารุสซาลามของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเพื่อเป็น Keynote Speaker ของการประชุม General Meeting ครั้งที่ 15 ของสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในแปซิฟิก (Pacific Economic Cooperation Council : PECC) ในวันที่ 3 กันยายน 2546
    - สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเสด็จฯ เยือนไทยระหว่าง 20 – 21 ตุลาคม 2546 เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 11


    การทหาร


    -ไทยและบรูไนมีทัศนะทางด้านการทหารและความมั่นคงที่สอดคล้องกัน และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงของกองทัพของทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ โดยโดยพลเรือเอก ทวีศักดิ์ โสมาภา ผู้บัญชาการทหารเรือและคณะนายทหารระดับสูงได้เดินทางเยือนบรูไนอย่างเป็นทางการระหว่าง 24 - 25 เมษายน 2546 พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารบกเยือนบรูไนอย่างเป็นทางการระหว่าง 3 – 4 มิถุนายน 2546 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและ พลโทอรพัฒน์ สุกไสวเจ้ากรมข่าวทหารเยือนบรูไนระหว่าง 22 – 25 สิงหาคม 2546 เพื่อเข้าร่วมการประชุม ASEAN Chiefs of Defence Forces and Military Intelligence Informal Meeting พลเรือเอกชุมพล ปัจจุสานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เยือนบรูไนระหว่าง 28 – 30 มกราคม 2547 นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือยังมีกำหนดเยือนไทยระหว่าง 24 – 27 กุมภาพันธ์ 2547
    - บรูไนส่งนายทหารจำนวน 5 นายร่วมสังเกตการณ์การฝึกซ้อมรบ Cobra Gold 02 ที่ประเทศไทยระหว่าง 17-24 พฤษภาคม 2545

    การค้า


    - การค้าระหว่างไทยกับบรูไนในแต่ละปีขยายตัวไม่มากนัก ในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา (2542 – 2546) การค้าระหว่างไทย-บรูไนมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 424.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้ามาตลอด เนื่องจากสินค้าที่ไทยนำเข้าจากบรูไนส่วนใหญ่ คือ น้ำมัน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งมีมูลค่ากว่าสินค้าออกของไทยที่เป็นสินค้าเกษตร
    - การขาดดุลการค้าของไทยต่อบรูไนจะมากหรือน้อยขึ้นกับความต้องการนำเข้าน้ำมันดิบจากบรูไนของไทย อาทิ
    - ในปี 2545 ไทยกับบรูไนมีมูลค่าการค้ารวม 490.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยไทยนำเข้าจากบรูไนเป็นมูลค่า 450.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกไปบรูไนเป็นมูลค่า39.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยขาดดุลการค้า 410.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    - ปี 2546 ไทยกับบรูไนมีมูลค่าการค้ารวม 361.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 26.13) โดยไทยนำเข้าจากบรูไนมูลค่า 319.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ28.93 โดยร้อยละ 99.65 ได้แก่น้ำมันดิบ (ลดลงร้อยละ 29.12 จากปี 2545) และส่งออกไปบรูไนมูลค่า 42.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.54 จากปี 2545) ไทยขาดดุลการค้ารวม 277.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขาดดุลลดลงร้อยละ 32.29)
    - สินค้าที่บรูไนส่งมาไทย ได้แก่ น้ำมันดิบ สินแร่และโลหะ หนังดิบและหนังฟอก เครื่องใช้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรถยนต์
    - สินค้าออกที่ไทยส่งออกไปบรูไนประกอบด้วย ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เซรามิก และผลิตภัณฑ์พลาสติก


    การลงทุน


    - ไทยและบรูไนได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ ในวันที่ 27 สิงหาคม 2545 ระหว่างการเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถระหว่าง 26 – 28 สิงหาคม 2545 ได้แก่
    - Memorandum of Understanding between the Brunei Investment Agency and the Government Pension Fund of Thailand
    - Memorandum of Understanding between the Government of His Majesty the Sultan and Yang di-Pertuan of Brunei Darussalam and Chia Meng Group
    - Memorandum of Understanding between the Brunei Investment Agency and the Biz Dimesion Co. Ltd.
    - เมื่อ 16 มกราคม 2546 Brunei Investment Agency (BIA) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข) ได้ร่วมลงนามในสัญญาจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน (Matching Fund) ในชื่อกองทุนไทยทวีทุน (Thailand Prosperity Fund – TPF) โดยมีวงเงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสามารถเพิ่มวงเงินได้ไม่เกิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ กบข. ลงทุนประมาณ 66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 33 ของวงเงินทั้งหมด และ BIA ลงทุนประมาณ 134 ดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 67 ของวงเงินทั้งหมด
    - กองทุนไทยทวีทุนมีระยะเวลาลงทุน 8 ปี และต่ออายุได้อีก 2 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการลงทุนทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) รวมทั้งหลักทรัพย์ที่มีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจที่กำลังจะแปรรูป ทั้งนี้ กองทุนไทยทวีทุนได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ING (ประเทศไทย) จำกัดเป็นผู้จัดการกองทุน
    - นอกจากนั้น BIA และ กบข. ยังได้ร่วมลงทุน (joint venture) จัดตั้งบริษัท Thai Prosperity Advisory Company Limited (TPA) เพื่อเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางเทคนิคให้กับกองทุนไทยทวีทุน โดย กบข. และBIA มีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 59 และ 41 ตามลำดับ กองทุนไทยทวีทุนได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อ 18 มีนาคม 2546 และได้เข้าร่วมทุนกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยโดยถือหุ้นร้อยละ 15 คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (104.53 ล้านบาท) รวมทั้งร่วมทุนกับบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) คิดเป็นจำนวนเงิน ประมาณ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (780 ล้านบาท) รวมมูลค่าการลงทุนของกองทุนทั้งสิ้นประมาณ 21.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (885 ล้านบาท) ทั้งนี้ กองทุนยังคงอยู่ระหว่างการจัดหาบริษัทอื่น ๆ เพื่อเข้าร่วมลงทุนเพิ่มเติม
    สืบเนื่องจากการหารือทวิภาคีระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีและนายกรัฐมนตรีระหว่าง
    การเสด็จฯ เยือนของสมเด็จพระราชาธิบดีระหว่าง 26 - 28 สิงหาคม 2545 ธนาคารอิสลามแห่งบรูไน (Islamic Bank of Brunei Berhad : IBB) ได้ตกลงร่วมลงทุนในธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยตามข้อเสนอของไทย โดยถือหุ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 104.53 ล้านบาท นอกจากนี้ กองทุนไทยทวีทุนถือหุ้นอีกร้อยละ 15 เช่นกัน ขณะนี้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้เปิดดำเนินการแล้วเมื่อ 12 มิถุนายน 2546 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อ 18 สิงหาคม 2546

    การท่องเที่ยว


    - ระหว่าง 2540 - 2545 จำนวนนักท่องเที่ยวบรูไนมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น
    ร้อยละ 18.35 ระหว่างมกราคม – พฤศจิกายนของปี 2546 มีนักท่องเที่ยวจากบรูไนเดินทางมายังไทยจำนวน 15,392 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2545 ร้อยละ 24.48 โดยในจำนวนนี้ มีนักท่องเที่ยวชาวบรูไนเดินทางมาไทยจำนวน 7,123 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2545 ร้อยละ 20.13 ทั้งนี้ แม้ว่านักท่องเที่ยวบรูไนจะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจำนวนไม่มากนัก แต่ก็เป็นตลาดที่สร้างมูลค่าการใช้จ่ายสูงและยังมีศักยภาพที่สามารถผลักดันต่อไปได้ ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปบรูไนนั้น ระหว่างมกราคม – พฤศจิกายนของปี 2546 มีจำนวนทั้งสิ้น 10,205 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ร้อยละ 2.62 โดยมีส่วนแบ่งการตลาดคิดเป็นร้อยละ 0.56


    แรงงาน


    - ปัจจุบันมีแรงงานไทยในบรูไนประมาณ 16,080 คน(ข้อมูล ณ มีนาคม 2546) ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ทำงานในกิจการก่อสร้าง อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก นอกนั้นทำงานในภาคธุรกิจบริการ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร การตกแต่งดูแลดอกไม้ประดับในวังและสถานที่สำคัญ ช่างซ่อม และงานในภาคเกษตรกรรม แรงงานไทยส่วนใหญ่ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากนักธุรกิจในบรูไนเพราะมีความซื่อสัตย์ อดทน ขยัน หมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบแม้จะด้อยในเรื่องภาษา อย่างไรก็ดี ก็ยังมีปัญหาอยู่บ้าง โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่อง ความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เช่น อัตราค่าจ้างที่ไม่สอดคล้องกับความสามารถในการทำงานและการขาดความรู้และความเข้าใจต่อกฎระเบียบ ข้อบังคับของสัญญาจ้าง

    สังคมและวัฒนธรรม


    - ด้านวัฒนธรรม
    - ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับบรูไนดารุสซาลาม ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ ระหว่าง 30-31 มีนาคม 2546 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่ายเป็นหัวหน้าคณะผู้แทน เห็นพ้องในการขยายความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม นอกจากนี้ในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 20 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – บรูไน สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน ได้ร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมและการกีฬาบรูไน จัดกิจกรรม Thailand Festival 2003 โดยมีการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม นำคณะนาฏศิลป์และนักดนตรี ไปแสดงวัฒนธรรมที่บรูไน ระหว่าง 23 – 26 พฤษภาคม 2546

    - ด้านวิชาการ
    - ระหว่างปี 2537-2542 ไทยเคยให้ทุนฝึกอบรมระยะสั้นในรูปของทุนฝึกอบรมนานาชาติ (Annual International Training Course Programme - AITC) แก่ฝ่ายบรูไน ในสาขาวิชาการต่างๆ อาทิ การเกษตร สาธารณสุข การสื่อสารและการขนส่ง โดยระหว่างปี 2537-2541 ฝ่ายบรูไนรับทุนดังกล่าวจำนวน 16 ทุน และในปี 2542 ฝ่ายบรูไนไม่ส่งผู้สมัคร ฝ่ายไทยจึงมิได้เวียนทุนดังกล่าวให้ฝ่ายบรูไนพิจารณาตั้งแต่ปี 2543-ปัจจุบัน ในทางกลับกัน ฝ่ายบรูไนให้ทุนการศึกษาแก่ฝ่ายไทยเพื่อศึกษาด้านการจัดการ พยาบาล และการศาสนา ที่มหาวิทยาลัยบรูไน ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยภายใต้ทุนดังกล่าวจำนวน 25 คน

    - ด้านข้อมูลข่าวสาร
    - ระหว่างการเดินทางเยือนบรูไนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี เมื่อ 16 สิงหาคม 2544 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยและบรูไนได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีด้านสารสนเทศ และการกระจายเสียงและภาพระหว่างไทย - บรูไน (Memorandum of Understanding between the Government of His Majesty the Sultan and Yang Di-Pertuan of Brunei Darussalam and the Government of the Kingdom of Thailand on Cooperation in the Field of Information and Broadcasting) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนรายการวิทยุ โทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีสาระ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอันจะส่งผลให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ปัจจุบันนี้ ได้มีการดำเนินโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวแล้ว โดยมีการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-บรูไน ครั้งที่ 1 (Joint Technical Committee on Information and Broadcasting ) ระหว่างวันที่ 13 - 15 พฤษภาคม 2545 ณ กรุงเทพฯ และ ครั้งที่ 2 ระหว่าง 7 – 9สิงหาคม 2546 ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน นอกจากนี้ เมื่อ 8 สิงหาคม 2546 ได้มีการจัดโครงการจัดแสดงดนตรีทางวิทยุและโทรทัศน์ โดยกรมประชาสัมพันธ์นำคณะศิลปินซึ่งประกอบด้วยวงดนตรีไทยและวงดนตรีสากล นักร้องและนักแสดงจากกรมศิลปากร ไปแสดงดนตรีร่วมกับศิลปินบรูไน ณ Jerudong Amphitheatre บันดาร์เสรีเบกาวัน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมและถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์บรูไน พร้อมทั้งบันทึกเทปโทรทัศน์เพื่อออกอากาศทางสทท. 11

    เวบไซต์ส่วนราชการบรูไน (LINKS)
    Prime Minister's Office
    Ministry of Foreign Affairs
    Ministry of Home Affairs
    Ministry of Finance
    Ministry of Defence
    Ministry of Education
    Ministry of Industry and Primary Resources
    Ministry of Development
    Ministry of Culture, Youth and Sports
    Ministry of Health
    Ministry of Religious Affairs
    Ministry of Communications

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×