ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #48 : สาธารณรัฐทาจิกิสถาน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.7K
      2
      2 ก.พ. 50



     
    สาธารณรัฐทาจิกิสถาน
    Republic of Tajikistan


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง อยู่ทางตอนใต้บริเวณเอเชียกลางของอดีตสหภาพโซเวียต ระหว่างอุซเบกิสถานและจีน

    พื้นที่ 143,100 ตารางกิโลเมตร

    ประชากร 6.44 ล้านคน (กรกฎาคม 2543) แบ่งเป็น ชาวทาจิก รัอยละ64.9 ชาวอุซเบก ร้อยละ 25 และชาวรัสเซีย ร้อยละ 3.5

    เมืองหลวง ดูชานเบ (Dushanbe) (ประชากร 6 แสนคน)

    ภาษาราชการ ภาษาทาจิก มีการใช้ภาษารัสเซียกันอย่างแพร่หลายในภาครัฐและภาคเอกชน และประมาณ 1/4 ของประชากรใช้ภาษาอุซเบก

    ศาสนา อิสลาม นิกายสุหนี่ ร้อยละ 80 นิกายชีอะห์ ร้อยละ 5

    ภูมิอากาศ ภูเขาสูงแบบภาคพื้นทวีป

    เวลา เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 6 ชั่วโมง

    สกุลเงินทาจิกรูเบิล (Tajik Rouble-TJR) (เริ่มใช้วันที่ 11 พฤษภาคม 2538)
    อัตราแลกเปลี่ยนกับเงินเหรียญสหรัฐฯ 1 เหรียญสหรัฐฯ = 1550 TJR (มกราคม 2543)

    วันชาติ 9 กันยายน (วันประกาศเอกราชจากอดีตสหภาพโซเวียต ในปี2534)

    ระบบการเมือง ประชาธิปไตยโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ

    ประมุข ประธานาธิบดี Imamali Rahmonov (ได้รับเลือกตั้ง 6 พฤศจิกายน 2537)

    นายกรัฐมนตรี Ogil Oqilov (20 มกราคม 2542)

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Talbak Nazarov

    ผลิตภัณฑ์ประชาชาติ (GDP) 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2542)

    GDP รายสาขา เกษตรกรรม 34% อุตสาหกรรม 24% ภาคบริการ 42% (2542)

    รายได้ประชาชาติต่อหัว 1,020 ดอลลาร์สหรัฐ (2542)

    การเจริญเติบโตของ GDP 2% (2542)

    ภาวะเงินเฟ้อ 22% (2542)

    หนี้ต่างประเทศ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2542)

    มูลค่าการส่งออก 634 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2542)

    สินค้าส่งออกสำคัญ อะลูมิเนียม, ไฟฟ้า, ฝ้าย, ผลไม้, น้ำมันพืช, สิ่งทอ

    ตลาดส่งออกสำคัญอุซเบกิสถาน 37%, ลิคเตนสไตน์ 26%, รัสเซีย 16%,คาซัคสถาน 6%

    มูลค่าการนำเข้า 770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2542)

    สินค้านำเข้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม, อะลูมิเนียมออกไซด์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน,อาหาร

    แหล่งนำเข้าสำคัญ เนเธอร์แลนด์ 32%, อุซเบกิสถาน 29%, สวิตเซอร์แลนด์ 20%, รัสเซีย 9%

    อุตสาหกรรมหลัก อะลูมิเนียม, สังกะสี, ตะกั่ว, เคมีภัณฑ์และปุ๋ย, ซีเมนต์, น้ำมันพืช, เครื่องมือและอุปกรณ์ตัดโลหะ, ตู้เย็นและตู่แช่

    การเมืองการปกครอง
    ประวัติความเป็นมา
    ในอดีต ทาจิกิสถานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแคว้นบูคาราน (Bukharan Emirate) ต่อมาในปี 2466 สหภาพโซเวียตได้เข้ายึดครองดินแดนในเอเชียกลางและได้แบ่งดินแดนดังกล่าวออกเป็นอาณาเขตตามเชื้อชาติในปี 2467 แต่ทาจิกิสถานก็ยังเป็นเพียงสาธารณรัฐภายใต้การปกครองของอุซเบกิสถานจนกระทั่งในปี 2472 ทาจิกิสถานจึงได้กลายเป็นสาธารณรัฐหนึ่งในสหภาพโซเวียตอย่างสมบูรณ์ โดยมีเขตเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ เขตเลนินอาบัด (Leninabad region) อย่างไรก็ตาม การแบ่งเขตแดนตามเชื้อชาตินี้ทำให้เกิดปัญหาชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติตามมาเนื่องจากมีชนกลุ่มน้อยชาวอุซเบกในทาจิกิสถานและชนกลุ่มน้อยชาวทาจิกในอุซเบกิสถาน ซึ่งแม้ว่าทั้งสองประเทศมีความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก แต่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของทั้งสองประเทศก็มีนโยบายด้านชาตินิยมสูงเป็นหลัก สาธารณรัฐทาจิกิสถานได้รับเอกราชภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปลายปี 2534 ในชั้นต้นการเมืองภายในของประเทศก็ขาดเสถียรภาพเนื่องจากเกิดความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรงเนื่องจากนโยบาย Perestroika ของนายมิคาเอล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต ทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านคอมมิวนิสต์และเกิดขบวนการชาตินิยมในทาจิกิสถานเช่นในรัฐอื่นๆ ของสหภาพโซเวียต อันเป็นผลทำให้เกิดการจลาจลในเดือนกุมภาพันธ์ 2533 เนื่องจากมีข่าวลือว่าผู้อพยพชาวอาร์เมเนียจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองหลวง (ดูชานเบ) และต่อมาในปี 2535 นาย Rahmom Nabiyev ประธานาธิบดีทาจิกิสถาน ซึ่งเป็นผู้นำคอมมิวนิสต์ ถูกบังคับโดยกลุ่มผู้เดินขบวนประท้วงให้ยอมรับรัฐบาลผสมที่รวมกลุ่มอิสลามและกลุ่มประชาธิปไตยไว้ด้วย และสถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น เมื่อกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของประธานาธิบดีNabiyev ผลักดันให้กลุ่มอิสลามและกลุ่มประชาธิปไตยถอนตัวออกจากรัฐบาลผสม และก่อตั้งกลุ่ม Neo-communist ขึ้น โดยมีนาย Imamali Rahmonov ดำรงตำแหน่งประธานสภาและประธานาธิบดีทาจิกิสถาน สงครามกลางเมืองได้เกิดขึ้น และต่อมาพวกต่อต้านรัฐบาลได้อพยพออกนอกประเทศพร้อมด้วยประชาชนหลายหมื่นคน โดยพรรค Islamic Rebirth Party (IRP) ซึ่งมีที่ตั้งในภาคเหนือของอัฟกานิสถานกลับเข้ามาปฏิบัติการแบบกองโจรทำให้รัฐบาลทาจิกิสถานต้องพึ่งกองกำลังรัสเซียช่วยดูแลแนวชายแดนทาจิกิสถาน-อัฟกานิสถาน การสู้รบยืดเยื้อเป็นเวลาหลายปี และในที่สุด ด้วยความร่วมมือระหว่างอิหร่าน รัสเซีย และสหประชาชาติ รัฐบาลทาจิกิสถานและฝ่ายค้านได้ยินยอมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2540 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป โดยจะมีรัฐบาลผสมที่รวมพรรคอิสลามและฝ่ายค้านอื่นๆ ด้วย

    การปกครองการปกครอง
    นาย Imamali Rahmonov อดีตประธานรัฐสภาได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2537 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2537 และได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2542 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไปจนถึงปี 2549 ทั้งนี้ประธานาธิบดีมีอำนาจควบคุมทั้งรัฐบาลและรัฐสภา รัฐบาลปัจจุบันเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ใหม่ (neo-communist) ซึ่งเอนเอียงไปทางรัสเซีย ประกอบด้วยรัฐมนตรีเชื้อสายทาจิกจากภูมิภาค Kulyab ทางตอนใต้ของประเทศเป็นส่วนใหญ่ สำหรับฝ่ายค้านประกอบด้วยกลุ่มพลังอิสลามได้รวมตัวกันจัดตั้ง United Tajik Opposition (UTO) โดยมีฐานกำลังอยู่ในบริเวณตะวันออกของหุบเขา Garm และภูมิภาค Kurgan-Tyube ทางตะวันออกเฉียงใต้ พรรคฝ่ายค้านที่สำคัญได้แก่ Islamic Renaissance Party และพรรค Democratic Party ซึ่งไม่ยึดหลักทางศาสนาแต่ก็รวมอยู่ใน UTO ด้วย

    สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน
    ปัจจุบัน ข้อตกลงต่างๆ ของสนธิสัญญาสันติภาพที่ลงนามไปเมื่อกลางปี 2540 ยังได้รับการปฏิบัติตามไม่มากนัก ยังมีการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงจากทั้งสองฝ่ายอยู่เรื่อยๆ ล่าสุดในเดือนมีนาคม 2541 ได้เกิดการปะทะกันในบริเวณ Kofarnihorn ที่อยู่ทางภาคตะวันออกของกรุงดูชานเบ เมืองหลวง 20 กิโลเมตรซึ่งขณะนี้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ถอนกองกำลังทหารจากบริเวณดังกล่าวแล้ว นอกจากนั้น ยังมีอุปสรรคต่างๆ มากมาย เช่น ปัญหาการรวมกองกำลังของแต่ละฝ่ายให้เป็นกองทัพแห่งชาติ การจัดสรรตำแหน่งในรัฐบาลผสม ซึ่งตามข้อตกลงสันติภาพ พรรคฝ่ายค้าน UTO จะต้องได้ที่นั่งในรัฐบาลร้อยละ 30 การเลือกตั้งรัฐสภา การเลือกตั้งประธานาธิบดี และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายค้าน UTO คัดค้านการใช้คำว่า “เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับทางศาสนา (secular)” ในการให้คำจำกัดความของคำว่ารัฐทาจิก เนื่องจากฝ่ายค้านเกรงว่าฝ่ายรัฐบาลจะใช้คำนี้ในการกีดกันพวกตนออกจากการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2541 ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยังยืนยันที่จะใช้คำนี้อยู่ ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมีการตกลงกันได้ จะมีการให้ประชาชนลงประชามติต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลทาจิกิสถานได้เรียกร้องให้เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ คณะผู้สังเกตการณ์แห่งสหประชาชาติ (the United Nation Mission of Observers in Tajikistan :UNMOT) และ รัฐผู้ค้ำประกันของความตกลงเรื่องการสถาปนาสันติภาพและความตกลงแห่งชาติในทาจิกิสถาน เข้ามามีบทบาทสำคัญในการยุติการใช้กำลังอาวุธของฝ่ายค้านพรรค UTO และขณะนี้คณะ UNMOT ได้ส่งทหารกว่า 70 คน เข้าไปสังเกตการณ์กระบวนการสันติภาพในทาจิกิสถาน และพยายามเป็นตัวกลางจัดให้มีการเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพื่อให้กระบวนการสันติภาพบรรลุผลได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้น มีความพยายามร่วมกันระหว่างรัสเซีย อุซเบกิสถาน และทาจิกิสถาน จัดตั้งกลุ่ม Troika เมื่อเดือนพฤษภาคม 2541 เพื่อหาวิธีการยุติความรุนแรงในสงครามกลางเมืองทาจิกิสถานและร่วมกันยับยั้งกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงในภูมิภาคเอเชียกลาง

    ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
    ทาจิกิสถานมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับรัสเซีย โดยรัสเซียพยายามที่จะครอบงำทาจิกิสถานทั้งทางด้านการเมือง ทหาร และเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีกองกำลังทหารรัสเซียกว่า 20, 000 คน ประจำการอยู่ในทาจิกิสถาน นอกจากนั้น ทาจิกิสถานยังสนใจที่จะเข้าร่วมในสหภาพภาษีศุลกากรร่วมกับรัสเซีย เบลารุส คาซัคสถานและคีร์กิซ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมกราคม 2541 ประธานาธิบดี Rahmonov ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับประธานาธิบดีของกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ประกาศเจตนารมย์ ที่จะลดการพึ่งพิงรัสเซีย และหันมาร่วมมือกันในภูมิภาคเอเชียกลางให้มากขึ้นทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ อุซเบกิสถานเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีอิทธิพลสูงในแง่เศรษฐกิจต่อทาจิกิสถาน โดยสามารถโยงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในเรื่องเส้นทางคมนาคมขนส่ง และการขนส่งก๊าซ เป็นข้อต่อรองกับรัฐบาลทาจิกิสถานเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองได้ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์กับอุซเบกิสถานไม่ค่อยจะราบรื่นนัก เนื่องจากท่าทีของอุซเบกิสถานในปี 2535 ที่ให้การสนับสนุนทั้งรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันและกลุ่มฝ่ายค้านอิสลาม อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเยือนอุซเบกิสถานของประธานาธิบดี Rahmonov เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2541 ทั้งสองประเทศได้ออกแถลงการณ์ร่วมที่จะให้มีการส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างกัน รวมทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การคมนาคม การขนส่ง การเงินการคลัง ด้านสังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการผลิตให้เพิ่มมากขึ้น ความสัมพันธ์กับอิหร่านเริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2535 เมื่ออิหร่านร่วมมือกับรัสเซียทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอิหร่านกับทาจิกิสถานจะมีวัฒนธรรมและมีภาษาที่คล้ายคลึงกัน แต่หากพิจารณาด้านศาสนาแล้ว ทาจิกิสถานนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ในขณะที่อิหร่านนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะ ซึ่งทำให้ทาจิกิสถานเกิดความแคลงใจว่าอิหร่านอาจจะให้ความช่วยเหลือกลุ่มอิสลามที่ต่อต้านรัฐบาลอย่างลับๆ สำหรับความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถานนั้น จัดอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากมีชนกลุ่มน้อยชาวทาจิกที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่อาศัยอยู่ในอัฟกานิสถานจำนวนหนึ่ง และพรรค UTO เคยได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากรัฐบาลมูจาเฮ็ดดินของอัฟกานิสถาน

    เศรษฐกิจการค้า
    สภาวะเศรษฐกิจทาจิกิสถาน
    สาธารณรัฐทาจิกิสถานเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตของประชากรมากที่สุด และมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ต่ำที่สุดในบรรดาประเทศที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียต เศรษฐกิจของทาจิกิสถานอาศัยรายได้จากภาคอุตสาหกรรม พลังงาน และภาคเกษตรเป็นส่วนใหญ่ โดยในภาคการเกษตร เน้นการปลูกฝ้ายเพื่อการส่งออก ช่วงปี 2530-2534 ทาจิกิสถานมีผลผลิตฝ้ายคิดเป็นร้อยละ 11 ของผลผลิตมวลรวมของสหภาพโซเวียต และมีการส่งออกฝ้ายประมาณ 880,000 ตันต่อปี การล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทาจิกิสถานเป็นอย่างมากและทำให้ทาจิกิสถานต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในการค้าขายกับต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี 2539 เศรษฐกิจของทาจิกิสถานเริ่มฟื้นตัวขึ้น การปฏิรูปทางเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า เนื่องจาก ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทาจิกิสถานอย่างสำคัญ โดยเฉพาะ เมื่อรัสเซียเริ่มลังเลที่จะให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่ทาจิกิสถานอีกต่อไป แผนการเพื่อจัดตั้งสหภาพการเงินระหว่างทาจิกิสถานกับรัสเซีย ซึ่งกำหนดไว้ในปี 2537 มิได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียเท่าที่ควรนักในขณะที่ทาจิกิสถานกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนเงินสดมากขึ้น โดยได้มีการประเมินกันว่ารัฐบาลทาจิกิสถานค้างเงินค่าจ้างและบำนาญแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลประมาณ 85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินดังกล่าว รัฐบาลทาจิกิสถานได้ควบคุมการผลิตฝ้ายและอลูมิเนียม ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าเงินตราต่างประเทศให้รัดกุมยิ่งขึ้น รายได้จากการส่งออกฝ้ายและอลูมิเนียมจะถูกนำมาชำระหนี้ของทาจิกิสถานก่อนเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตาม โรงงานผลิตอลูมิเนียมของทาจิกิสถานที่เมือง Tursunzada ก็สามารถผลิตอลูมิเนียมได้เพียง 300,000 ตันต่อปี เท่านั้น ทั้งๆ ที่ความสามารถของโรงงานอยู่ที่ 500,000 ตันต่อปีและทาจิกิสถานเคยผลิตอลูมิเนียมได้ถึงร้อยละ 13 ของผลผลิตของสหภาพโซเวียตทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2535 รัฐบาลทาจิกิสถานได้กำหนดนโยบายปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นระบบการตลาดแบบเสรีให้มากที่สุด โดยเน้นด้านการปฏิรูปภาคเกษตรกรรม การโอนถ่ายกิจการของรัฐทั้งธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่ให้เป็นของเอกชนให้มากที่สุด การปรับปรุงสถาบันการเงิน การธนาคาร และระบบภาษี ซึ่งการปฏิรูประบบเศรษฐกิจนี้จะต้องอาศัยเงินทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลทาจิกิสถานประสบปัญหาการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2537 ขาดดุลร้อยละ 10.5 และปี 2538 ขาดดุลร้อยละ 11.2 ของ GDP ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลทาจิกิสถานจึงได้ตัดสินใจรับเงื่อนไขที่เข้มงวดของ IMF เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งกำหนดให้ทาจิกิสถานมีงบประมาณขาดดุลเพียงร้อยละ 6 โดยกำหนดให้มีรายรับร้อยละ 13 ของ GDP และรายจ่ายไม่เกินร้อยละ 19 ของ GDP ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องหารายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มภาษี ความตกต่ำทางเศรษฐกิจของทาจิกิสถานและความไม่ต้องการให้กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงขึ้นมามีอำนาจในเอเชียกลาง ทำให้ประเทศต่าง ๆ เสนอที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ทาจิกิสถาน โดยสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือเป็นข้าวสาลีจำนวน 35,000 ตัน และตุรกีให้สินเชื่อเพื่อสร้างโรงงานผลิตฝ้ายจำนวน 12 แห่ง ในขณะที่ปากีสถานก็วางแผนที่จะสร้างเส้นทางขนส่งระยะทาง 850 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างปากีสถานกับเอเชียกลาง

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐทาจิกิสถาน
    ความสัมพันธ์ทางการทูต
    ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับทาจิกิสถาน เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2537 โดยในชั้นต้น ได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก มีเขตอาณาครอบคลุมทาจิกิสถาน ในปี 2541 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศให้มีการปรับเปลี่ยนเขตอาณาในส่วนที่อยู่ในความดูแลของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก โดยมอบหมายให้เอกอัครราชทูตผู้มีถิ่นพำนัก ณ กรุงเทพฯ ดูแลทาจิกิสถาน รวมทั้งประเทศเอเชียกลางอีก 3 ประเทศ คือ อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน และคีร์กิซ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยยังมิได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตผู้มีถิ่นพำนัก ณ กรุงเทพฯ เนื่องจากรัฐบาลประสบปัญหาด้านงบประมาณ ปัจจุบัน รัฐบาลไทยอนุญาตให้บุคคลสัญชาติทาจิก เข้ามาขอรับการตรวจลงตราประเภท visa on arrival (พำนักในประเทศไทยได้ 15 วัน) ได้ที่ท่าอากาศยานระหว่างประเทศในประเทศไทย

    ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
    ไทยกับทาจิกิสถานมีความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันตั้งแต่ปี 2536 แต่มูลค่าการค้ารวมจะยังต่ำมาก นอกจากนี้ ไทยยังเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับทาจิกิสถานมาโดยตลอด เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้าประเภทเส้นใยใช้ในการทอเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ทาจิกิสถานสั่งสินค้าจำพวกเสื้อผ้าสำเร็จรูปในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น สาเหตุที่การค้า การลงทุน และการติดต่อสัมพันธ์ทางด้านต่างๆ ระหว่างสองประเทศยังมีไม่มากนัก เนื่องจากทั้งผู้ประกอบการฝ่ายไทยประสบปัญหาความยากลำบากในการเดินทางและขนส่งสินค้าไปยังทาจิกิสถาน เพราะยังไม่มีสายการบินที่บินตรงระหว่างกันจึงต้องส่งสินค้าผ่านประเทศที่สาม นอกจากนั้น ยังประสบปัญหาเรื่องระบบการชำระเงินที่ยังไม่ได้มาตรฐานในทาจิกิสถาน

    สถิติการค้าในรอบ 10 ปีระหว่างไทย-ทาจิกิสถาน
    ที่มา : กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์

    สินค้าส่งออก เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและชิ้นส่วน เคหะสิ่งทอ

    สินค้านำเข้า เส้นใยใช้ในการทอ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบสินแร่และโลหะอื่นๆ และเศษโลหะ แร่ดิบ

    ตารางแสดงมูลค่าการค้าไทย-ทาจิกิสถาน ดังเอกสารแนบ

    ความตกลงทวิภาคี
    ไทยและทาจิกิสถานได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศไทย-ทาจิกิสถาน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2538 โดยมีเอกอัครราชทูตไทยและเอกอัครราชทูตทาจิกิสถานประจำกรุงมอสโกเป็นผู้ลงนาม ความตกลงฯ ฉบับนี้ เป็นพื้นฐานให้แต่ละฝ่ายสามารถเปิดเส้นทางการบินตรงระหว่างดูชานเบและกรุงเทพฯ ได้ ซึ่งจะทำให้การติดต่อระหว่างกันเป็นไปได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งจะช่วยเพิ่มพูนการค้า การท่องเที่ยว และความร่วมมือต่างๆ ระหว่างกันเพิ่มขึ้น

    ความช่วยเหลือต่างๆ จากไทย
    ทาจิกิสถานเคยขอรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากไทย ซึ่งไทยได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือด้วยเหตุผลที่ว่าทาจิกิสถานเป็นประเทศเกิดใหม่ในทวีปเอเชียประเทศหนึ่งที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยรวมทั้งยังอยู่ในภูมิภาคเอเชียกลางและมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไม่ห่างไกลจากประเทศไทยมากนัก ดังนั้น จึงเป็นภูมิภาคที่ไทยสนใจที่จะขยายความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เนื่องจากอาจจะเป็นตลาดรองรับสินค้าของไทยและเป็นแหล่งวัตถุดิบให้ไทยได้ ทั้งนี้ ไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ทาจิกิสถานในรูปของยารักษาโรค ซึ่งมีมูลค่า 700,000 บาท โดยส่งมอบให้สถานเอกอัครราชทูตทาจิกิสถาน ประจำกรุงมอสโก เพื่อส่งต่อไปยังกรุงดูชานเบ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2538

    พฤษภาคม 2544

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×