ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #44 : สาธารณรัฐสโลวีเนีย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.9K
      0
      2 ก.พ. 50



     
    สาธารณรัฐสโลวีเนีย
    Republic of Slovenia


     
    ข้อมูลทั่วไป
    รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งเป็นระบบสองสภา (Bicameral Parliament) คือ วุฒิสภา (National Council) ทำหน้าที่นิติบัญญัติ มี 40 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 22 ที่นั่ง มาจากตัวแทนกลุ่มทางสังคม เศรษฐกิจและ
    สาขาอาชีพต่างๆ 18 ที่นั่ง มีวาระ 5 ปี และ สภาผู้แทนราษฎร (National Assembly) มี 90 ที่นั่ง มาจากระบบสัดส่วน 50 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 38 ที่นั่ง มาจากผู้แทนชนกลุ่มน้อยชาวฮังกาเรียนและอิตาเลียน 2 ที่นั่ง มีวาระ 4 ปี เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2547 เลือกตั้งครั้งต่อไปเดือนตุลาคม 2551 ประธานาธิบดี เป็นประมุขแห่งรัฐ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระ 5 ปี ดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ 2 วาระ เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน และ 1 ธันวาคม 2545 เลือกตั้งครั้งต่อไปในปี พ.ศ.2550 นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจในการบริหารสูงสุด มาจากการเลือกตั้งของสภาผู้แทนราษฎร โดยการแต่งตั้งของประธานาธิบดี มีวาระ 4 ปี คณะรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของสภาผู้แทนราษฎร ได้รับการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี

    ผู้นำสำคัญทางการเมือง

    ประธานาธิบดี นาย Janez Drnovsek (เข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 เมื่อเดือนธันวาคม 2545)

    นายกรัฐมนตรี นาย Janez Jansa (เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม 2547)

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Dimitrij Rupel (เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม 2547)

    รัฐบาลปัจจุบัน รัฐบาลผสม 4 พรรค แนวกลาง-ขวา รวม 49 ที่นั่ง จากที่นั่งในสภาฯ 90 ที่นั่ง ได้แก่ พรรค
    - Slovenian Democratic (SDS) ของนายกรัฐมนตรี Jansa 29 ที่นั่ง
    - New Slovenia (NSI) 9 ที่นั่ง
    - Slovenian People’s Party (SLS) 7 ที่นั่ง
    - Democratic Party of Retired Persons of Slovenia (DeSUS) 4 ที่นั่ง

    วันชาติ 25 มิถุนายน

    เมืองหลวง Ljubljana (ลุบลิยานา) ประชากรประมาณ 330,000 คน

    พื้นที่ 20,273 ตารางกิโลเมตร (ใกล้เคียงกับอิสราเอล เล็กกว่าออสเตรีย 4 เท่า และเล็กกว่าไทย 25 เท่า)

    ที่ตั้ง อยู่บริเวณยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ทิศเหนือติดกับออสเตรีย (330 กม.) ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับฮังการี (102 กม.) ทิศตะวันตกติดกับ
    อิตาลี (280 กม.) ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับโครเอเชีย (670 กม.)
    มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอาเดรียติก ยาวรวม 46.6 กิโลเมตร

    สภาพภูมิประเทศ อยู่ในระดับสูงกว่าน้ำทะเลโดยเฉลี่ยประมาณ 298 เมตร โดยร้อยละ 54.4 เป็นพื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 39 เป็นพื้นที่การเกษตร และร้อยละ 6.8 เป็นพื้นที่ไม่สามารถใช้เพาะปลูก

    สภาพอากาศ แบบเมดิเตอร์เรเนียน อุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูร้อน ช่วงเดือนกรกฎาคมประมาณ 21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูหนาว ช่วงเดือนมกราคม ประมาณ -2 องศาเซลเซียส

    ประชากร 2 ล้านคน (พ.ศ. 2546) ชาวสโลวีน ร้อยละ 92 ชาวโครอัต ร้อยละ 1 ชาวเซิร์บ บอสเนีย ฮังกาเรียน และอื่นๆ

    ศาสนา โรมันคาธอลิก ร้อยละ 70.8 ที่เหลือประกอบด้วยลูเธอแรน โปรแตสแตนท์ มุสลิม และอื่น ๆ

    ภาษา สโลวีเนียน (Slovenian) ร้อยละ 92 (ภาษาราชการ) เซอร์โบ-โครอัต ร้อยละ 6.2 รวมทั้งภาษาอิตาเลียนและฮังกาเรียน

    เมืองสำคัญ Maribor (ประชากรประมาณ 142,860 คน) Kran (ประชากรประมาณ 75,000 คน) Novo Mesto (ประชากรประมาณ 60,000 คน) Celje
    (ประชากรประมาณ 50,000 คน)

    การเมืองการปกครอง
    ลำดับเหตุการณ์สำคัญของสโลวีเนีย

    ศตวรรษที่ 9 ดินแดนสโลวีเนียตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรบาวาเรียและนครรัฐเวนิซ

    ศตวรรษที่ 14 อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ Habsburg แห่งอาณาจักรออสเตรีย

    ตุลาคม 2461 รัฐอิสระของชาวสโลวีน โครอัทและเซิร์บได้รับการก่อตั้งขึ้น

    ธันวาคม 2461 รวมตัวกับอาณาจักรเซอร์เบียกลายเป็นอาณาจักรเซิร์บ โครอัท และสโลวีน

    3 ตุลาคม 2472 อาณาจักรดังกล่าวได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า ยูโกสลาเวีย

    พ.ศ.2486 - 2488 มีการก่อตั้งรัฐของชาวสโลวีน แต่อยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาลกลางในเบลเกรดอย่างเต็มที่

    พ.ศ.2517 มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ยูโกสลาเวียเปลี่ยนรูปแบบจากรัฐที่รวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางไปเป็นสหพันธ์อย่างหลวม ๆ

    พ.ศ.2529 นาย Milan Kucan (ภายหลังได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสโลวีเนีย) เข้ารับตำแหน่งผู้นำของคอมมิวนิสต์ในสโลวีเนีย และนับเป็นจุดเริ่มของการผ่อนคลายระบบคอมมิวนิสต์ในสโลวีเนีย เริ่มมีการอนุญาตให้ใช้ระบบหลายพรรค และ
    เปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และเริ่มต้นปฏิเสธอำนาจจากส่วนกลาง (เบลเกรด) ซึ่งนำไปสู่ความพยายามในการแยกตัวออกเป็นอิสระจากสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียในที่สุด

    23 ธันวาคม 2533 สโลวีเนียจัดการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย

    25 มิถุนายน 2534 สภาผู้แทนราษฎรสโลวีเนียผ่านกฎหมายประกาศตนเป็นเอกราชจากสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย และประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการในวันรุ่งขึ้น (26 มิถุนายน) เป็นผลให้กองทัพสหพันธ์ฯ ใช้ข้ออ้างเพื่อพิทักษ์
    ชาวเซิร์บในสโลวีเนีย เคลื่อนพลเข้าไปในสโลวีเนีย แต่ต้องพบกับการต่อต้านของประชาชนชาวสโลวีน เนื่องจากไม่มีชาวเซิร์บอาศัยอยู่ในสโลวีเนียเลย จนกองทัพสหพันธ์ฯ ต้องยุติการดำเนินการทางทหารในอีก 10 วันต่อมา

    7 ตุลาคม 2534 สโลวีเนียประกาศตนเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์ โดยประกาศใช้สกุลเงินของตนเอง มีกำลังทหารประจำชายแดน และเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2534 สภาฯ ได้ผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ในการปกครองประเทศ

    24 มีนาคม 2535 สโลวีเนียได้รับการรับรองให้เข้าเป็นสมาชิกองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organisation for Security and Cooperation in Europe: OSCE)

    15 มกราคม 2535 สหภาพยุโรปให้การรับรองสโลวีเนียอย่างเป็นทางการ

    22 พฤษภาคม 2535 สโลวีเนียเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 176 ขององค์การสหประชาชาติ

    ธันวาคม 2535 สโลวีเนียจัดการเลือกตั้งทั่วไป พรรค Liberal Democratic (LDS) ของนาย Janez Drnovsek ได้รับชัยชนะ

    30 มีนาคม 2537 สโลวีเนียเข้าร่วมโครงการ Partnership for Peace (PfP) ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และได้ดำเนินการเพื่อเข้าเป็นสมาชิก NATO กลุ่มที่ 2

    1 มกราคม 2539 สโลวีเนียเข้าเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรียุโรปกลาง (CEFTA)

    10 มิถุนายน 2539 สโลวีเนียเข้าเป็นสมาชิกสมทบของสหภาพยุโรป (EU)

    25 มิถุนายน 2539 สโลวีเนียเข้าเป็นสมาชิกสมทบของสหภาพยุโรปตะวันตก (WEU)

    31 มีนาคม 2541 สโลวีเนียได้เปิดการเจรจากับ EU อย่างเป็นทางการเพื่อเข้าเป็นสมาชิก EU อย่างถาวรในช่วงปี พ.ศ. 2547

    2 พฤศจิกายน 2545 องค์การ NATO ได้เชิญสโลวีเนียเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ โดยจะมีสมาชิกภาพโดยสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547

    26 มีนาคม 2546 ในการประชุม NATO ที่กรุงบรัสเซลส์ สโลวีเนียได้รับเชิญอย่างเป็นทางการ ให้เข้าเป็นสมาชิก NATO และได้ลงนามใน NATO Accession Protocol

    31 มีนาคม 2546 ประชาชนสโลวีเนียร้อยละ 89.61 ลงประชามติให้สโลวีเนียเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU และร้อยละ 66.02 สนับสนุนให้เข้าเป็นสมาชิกองค์การ NATO

    16 เมษายน 2546 สโลวีเนียร่วมลงนามใน Accession Treaty ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ EU (European Council) อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งส่งผลให้สโลวีเนียสามารถเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2547

    สถานการณ์ทางการเมืองในสโลวีเนีย

    การเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2533 – 2547

    สโลวีเนียมีการเลือกตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2533 นาย Milan Kucan ได้รับเลือกตั้งให้
    ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ภายหลังการแยกตัวเป็นเอกราช มีการจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีในเดือนธันวาคม 2535 ซึ่งประธานาธิบดี Kucan ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง

    ในปี พ.ศ. 2535 พรรค Liberal Democratic (LDS) ของนาย Janez Drnovsek ได้รับ
    ชัยชนะในการเลือกตั้ง นาย Drnovsek ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลผสมโดยการประสานผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆ นาย Drnovsek มีนโยบายที่จะนำสโลวีเนียสู่เวทีระหว่างประเทศ ทำให้พรรค LDS ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างต่อเนื่องและได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2539 ในสมัยที่ 2 นี้ นาย Drnovsek ให้ความสำคัญต่อการเข้าเป็นสมาชิก EU และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในด้านเศรษฐกิจ มีนโยบายส่งเสริมระบบเศรษฐกิจเสรี โดยเน้นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง

    อย่างไรก็ดี ในเดือนเมษายน 2543 เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล นาย Drnovsek ได้พยายามปรับคณะรัฐมนตรี แต่ไม่เป็นผล พรรค Slovenian People's Party (SLS) ซึ่งรวมกับพรรค Christian Democrats (SKD) และใช้ชื่อพรรคใหม่ว่าพรรค SLS+SKD สามารถร่วมมือกับพรรค Slovenian Democratic (SDS) จนมีเสียงสนับสนุนในสภาฯ มากพอ ได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2543 โดยมีนาย Andrej Bajuk รองหัวหน้าพรรค SLS+SKD เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลของนาย Bajuk ได้บริหารประเทศจนถึงเดือนกันยายน 2543 เมื่อรัฐสภาสโลวีเนียครบวาระ

    ในเดือนตุลาคม 2543 สโลวีเนียได้จัดการเลือกตั้งทั่วไป ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า
    พรรค LDS ของนาย Drnovsek ยังคงได้รับความนิยมจากประชาชน นาย Drnovsek ได้จัดตั้งรัฐบาลผสม 4 พรรค โดยร่วมกับพรรค United List of Social Democrats (ZLSD) พรรค SLS+SKD และพรรค Democratic Party of Retired Persons of Slovenia (DeSUS) โดยนาย Drnovsek ยังคงได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน 2545 นาย Drnovsek ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีและได้รับเลือกตั้ง จึงได้แต่งตั้งนาย Anton Rop เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐสภาได้ให้การรับรองเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2545

    การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนตุลาคม 2547

    ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2547 ปรากฏว่า พรรค
    Slovenian Democratic (SDS) ของนาย Janez Jansa ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเมืองสโลวีเนีย โดยมีคะแนนนำพรรค LDS ซึ่งครองความนิยมมานานกว่า 13 ปี ได้ที่นั่งในสภาฯ 29 ที่นั่ง ขณะที่พรรค LDS ได้ 23 ที่นั่ง จากจำนวนที่นั่งในสภาฯ ทั้งหมด 90 ที่นั่ง ชัยชนะของพรรค SDS สืบเนื่องจากพรรคได้ออกเคมแปญเสนอแผนการปรับลดค่าใช้จ่ายภาครัฐและการปฎิรูปรัฐวิสาหกิจเป็นการล่วงหน้าก่อนที่สโลวีเนียจะใช้สกุลเงินยูโร

    โดยสรุป ตลอด 10 ปีนับจากสโลวีเนียประกาศเอกราช มีพัฒนาการทางการเมืองที่ก้าวหน้า โดยมีการพัฒนาสถาบันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานของยุโรป และมีแนวทางในการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจเสรี มีการพัฒนาทางทหารตามแบบแผนของประเทศตะวันตก นโยบายหลักของรัฐบาลแทบทุกสมัยจะมุ่งส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และลดภาวะการเกินดุลงบประมาณให้อยู่ในอัตราไม่เกินร้อยละ 1 ของรายได้ประชาชาติ ตลอดจนเร่งปรับปรุงพัฒนากฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของ EU จนสโลวีเนียประสบความสำเร็จในการเข้าเป็นสมาชิก EU เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547

    เศรษฐกิจการค้า
    GDP 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (พ.ศ. 2547)

    GDP per capita 13,732 ดอลลาร์สหรัฐ (พ.ศ. 2547)

    GDP Growth Rate ร้อยละ 3.5 (พ.ศ. 2547)

    เงินตรา/อัตราแลกเปลี่ยน สโลวีเนียโตลาร์ (SIT) เริ่มมีการนำใช้เมื่อเดือนตุลาคม 2534 1 US$ = 182.122 SIT 1 EUR = 228.5017 SIT (23 พฤษภาคม 2548)

    อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3.3 (พ.ศ. 2547)

    อัตราการว่างงาน ร้อยละ 6.4 (พ.ศ. 2547)

    ประเทศคู่ค้าสำคัญ EU (เยอรมนี อิตาลี ออสเตรีย ฝรั่งเศส) กลุ่ม
    ประเทศอดีตยูโกสลาเวีย (โครเอเชีย เซอร์เบีย-มอนเตเนโกร) กลุ่มประเทศ CEFTA (Central European Free Trade Agreement ได้แก่ โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย ฮังการี สโลวีเนีย โรมาเนีย บัลแกเรีย) กลุ่มประเทศ EFTA (European Free Trade Association (EFTA) ได้แก่ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์) ออสเตรียเป็นประเทศที่ลงทุน (FDI) มากเป็นอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 40)

    สินค้าส่งออกที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การขนส่ง เคมีภัณฑ์ อาหาร

    สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การขนส่ง ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ เชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น อาหาร

    สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของสโลวีเนีย

    ภาพรวมเศรษฐกิจสโลวีเนีย

    เมื่อครั้งที่สโลวีเนียยังอยู่ภายใต้สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย สโลวีเนีย
    มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสูงที่สุดและก้าวหน้ามากที่สุดในบรรดาสาธารณรัฐทั้ง 6 ของยูโกสลาเวีย แม้จะมีประชากรเพียงร้อยละ 8 ของประชากรยูโกสลาเวียทั้งหมด แต่ครองสัดส่วนการส่งออก คิดเป็นร้อยละ 29 ขณะที่มีสัดส่วนการนำเข้า คิดเป็นร้อยละ 25 ของการนำเข้าทั้งหมดของยูโกสลาเวีย โดยการค้ากว่าร้อยละ 40 เป็นการค้ากับเยอรมันและอิตาลี ในปี 2533 ความสามารถในการผลิต(productivity) โดยเฉลี่ยสูงเป็น 2 เท่าของความสามารถในการผลิตของยูโกสลาเวียทั้งหมด ทั้งนี้ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของสโลวีเนียเป็นระบบผสมระหว่างกลไกตลาดกับการวางแผนจากส่วนกลาง
    จึงมีระบบเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับระบบกลไกตลาดในประเทศตะวันตกมากกว่าประเทศสังคมนิยมอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่ ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการในกิจการค้าสินค้าเกษตร การค้าย่อย และการบริหาร รวมทั้งกิจการของรัฐที่ใช้ระบบของประเทศตะวันตกเชนกัน

    หลังจากได้แยกตัวออกจากยูโกสลาเวีย รัฐบาลสโลวีเนียได้ดำเนินมาตรการเปิดเสรี
    ด้านเศรษฐกิจในด้านต่างๆ อาทิ ออกกฎหมาย Enterprise Ownership Transformation Act เมื่อเดือนธันวาคม 2535 จุดประสงค์หลักเพื่อแปรรูปวิสาหกิจของรัฐกว่า 1,400 แห่งให้เป็นของเอกชน ยกเว้นกิจการด้านการธนาคาร การขนส่งและการสาธารณูปโภค ซึ่งได้ดำเนินการในเวลาต่อมา

    การล่มสลายของประเทศยูโกสลาเวียทำให้สโลวีเนียต้องสูญเสียตลาด 1 ใน 3 ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ โดยเฉพาะในช่วงปี 2534-2535 สโลวีเนียจึงหันไปขยายการค้ากับประเทศยุโรปตะวันตกมากขึ้น เพื่อทดแทนตลาดที่สูญเสียไป โดยมีเป้าหมายระยะยาวที่จะเสริมสร้างสถานะของสโลวีเนียให้เป็นตัวเชื่อมระหว่างกลุ่มประเทศตะวันตกซึ่งมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากับตลาดขนาดใหญ่ของยุโรปตะวันออก โดยได้เริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการค้ากับต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2532 ภายในปี 2536 ได้ยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าสินค้าเกือบร้อยละ 98 และกำหนดให้มีสินค้าเข้าบางประเภทเท่านั้นที่มีการกำหนดโควต้า นอกจากนี้ ยังขจัดอุปสรรคทางการค้าให้เหลือน้อยที่สุด อาทิ จำกัดให้สินค้าประเภทอาวุธและโลหะมีค่าเท่านั้นที่ต้องขอใบอนุญาตนำเข้าเป็นพิเศษ รัฐบาลสโลวีเนียยังปรับกฎระเบียบด้านการค้าให้เข้ากับกฎระเบียบของ EU รวมทั้งยกเลิกการกีดกันทางการค้าในรูป non-tariff barriers ด้วย

    ในช่วงปี พ.ศ. 2544-2545 แม้สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของยุโรปได้ชะลอตัวลง แต่สโลวีเนียจัดเป็นประเทศหนึ่งที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากความผูกพันทางประวัติศาสตร์กับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก รวมทั้งการที่รัฐบาลมีนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) และมาตรการในการลดการขาดดุลงบประมาณจากร้อยละ 2.9 ของ GDP ในปี พ.ศ. 2545 ให้เหลือร้อยละ 1.2 ในปี พ.ศ. 2546 ส่งผลให้สโลวีเนียสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้ที่ระดับร้อยละ 3 อย่างไรก็ดี การเข้าเป็นสมาชิก EU ทำให้สโลวีเนียยังต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในเพื่อสร้างบรรยากาศทางธุรกิจและการลงทุน รวมทั้ง
    ต้องพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

    การค้า

    EU เป็นตลาดการค้าหลักของสโลวีเนีย โดยการค้าในปี พ.ศ. 2544 คิดเป็นร้อยละ 68 ของปริมาณการค้ารวมของสโลวีเนีย โดยสโลวีเนียเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับ EU มูลค่า - 987.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (พ.ศ. 2543) ประเทศคู่ค้าที่สำคัญในกลุ่ม EU คือ เยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี และฝรั่งเศส

    CEFTA สโลวีเนียได้เข้าเป็นสมาชิกในปี พ.ศ. 2539 มูลค่าการค้าระหว่างสโลวีเนียกับCEFTA กันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง คู่ค้าที่สำคัญของสโลวีเนียในกลุ่มนี้ คือ ฮังการีและโปแลนด์

    รัสเซียและประเทศอดีตสหภาพโซเวียต สโลวีเนียส่งออกไปรัสเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และส่งออกไปประเทศอดีตสหภาพโซเวียตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ประเทศคู่ค้าที่สำคัญในกลุ่มนี้ คือ ยูเครน ลิทัวเนีย อาร์เมเนีย จอร์เจีย และเอสโตเนีย

    การลงทุน

    การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสโลวีเนียได้เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2533 เป็น 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ.2538 ในปี 2534 สโลวีเนียประกาศใช้กฎหมายด้านการลงทุน อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการได้ 100% ยกเว้นกิจการบางประเภท เช่น การผลิตอาวุธ รถไฟ ขนส่งทางอากาศ ด้านคมนาคมและโทรคมนาคม การประกันภัย และการสื่อสารมวลชนและหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้ สโลวีเนียยังแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะสาขาการธนาคาร สื่อสารคมนาคม และสาธารณสุข และมีมาตรการผ่อนคลายการควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดย ณ ปี 2542 ปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศเท่ากับ 2,683.615 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกรองจากฮังการี

    ประเทศที่เข้าไปลงทุนหลัก ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย ฝรั่งเศส โครเอเชีย และอิตาลี ส่วนใหญ่ เป็นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต รองลงมาคือการก่อสร้างการขนส่งและการท่องเที่ยว และการบริหารภาคธุรกิจ

    ภาคบริการ

    ภาคบริการมีศักยภาพสูงและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของสโลวีเนียมากที่สุด คิดเป็น
    ร้อยละ 61 ของ GDP โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) เป็นบริษัทเอกชนขนาดเล็ก
    ภาคบริการหลัก ได้แก่ การขนส่ง ท่องเที่ยว และการคลังสินค้า รวมทั้งด้านการเงินและด้านธุรกิจระหว่างประเทศที่นับวันจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น

    โอกาสทางการค้า

    สโลวีเนียมีทางออกสู่ทะเลอาเดรียติก (Adriatic Sea) ที่เมืองโคเปอร์ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญในการขนถ่ายสินค้าจากประเทศยุโรปตะวันออก ออกทางทะเลอาเดรียติก ไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ท่าเรือที่เมืองโคเปอร์เป็นท่าเรือที่ทันสมัย มีเครือข่ายระบบขนส่ง ทั้งทางรถไฟและทางบกที่เชื่อมต่อกับประเทศในยุโรป อาทิ เยอรมนี ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย ฮังการี สวิตเซอร์แลนด์ โครเอเชีย และอิตาลี อีกทั้งเมืองโคเปอร์ยังเป็นเมืองปลอดภาษีด้วย จึงมีสินค้าขนถ่ายผ่านท่าเรือดังกล่าวเฉลี่ย 7 ล้านตันต่อปี ประเทศที่ใช้บริการผ่านท่าเรือดังกล่าว ได้แก่ ฮังการี (16%) ออสเตรีย (12%) สาธารณรัฐเช็กและสโลวาเกีย (10%) นอกจากนี้ สโลวีเนียมีเครือข่ายการติดต่อทางธุรกิจกับประเทศในยุโรป โดยเฉพาะอดีตยูโกสลาเวีย


    นโยบายต่างประเทศ

    เมื่อสโลวีเนียประกาศเอกราช นโยบายต่างประเทศของสโลวีเนียให้ความสำคัญในลำดับต้นเพื่อสร้างการยอมรับจากประเทศในภูมิภาคยุโรป และพยายามสร้างเสริมความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาค จนได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรปในฐานะรัฐเอกราชภายหลังจากการประกาศเอกราชได้ 6 เดือน และในเดือนเมษายน 2536 ได้ลงนามความตกลงในการมีความร่วมมือกับสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้สโลวีเนียได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ นอกจากนี้ สโลวีเนียได้ดำเนินการเพื่อเข้าเป็นสมาชิก NATO OSCE และ WEU ในเวลาต่อมา และได้มีส่วนร่วมในปฏิบัติการทางทหารของ NATO โดยอนุญาตให้ NATO ใช้น่านฟ้าเพื่อการปฏิบัติการทางทหารใน
    อดีตยูโกสลาเวียในเดือนตุลาคม 2541 สำหรับในปี 2548 สโลวีเนียรับตำแหน่งประธาน OSCE ด้วย

    ในกรอบขององค์การสหประชาชาติ ในเดือนพฤษภาคม 2535 สโลวีเนียได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งทำให้สโลวีเนียได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศภายใต้กรอบของสหประชาชาติอีกหลายองค์กรในเวลาต่อมา อาทิ UNCTAD UNDP UNICF UNESCO ILO UNIDO IAEA FAO ทำให้สโลวีเนียได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ และแต่งตั้งผู้แทนทางการทูตไปประจำที่สโลวีเนีย ปัจจุบัน กรุงลุบลิยานาเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ของ 26 ประเทศ และอีก 57 ประเทศได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตของตน
    ที่กรุงเวียนนา บูดาเปสต์ และเมืองหลวงในภูมิภาคยุโรป ดูแลสโลวีเนีย

    นอกจากนี้ นโยบายต่างประเทศสโลวีเนียให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านที่มี
    พรมแดนติดกับสโลวีเนีย ได้แก่ อิตาลี ฮังการี ออสเตรีย และโครเอเชีย รวมทั้งให้ความสำคัญกับ ประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย สำหรับประเทศนอกภูมิภาคยุโรปนั้น สโลวีเนียให้ความสำคัญกับการมีความสัมพันธ์และความร่วมมือกับจีน

    โดยสรุป แม้สโลวีเนียจะเพิ่งประกาศตนเป็นรัฐเอกราชและมีนโยบายต่างประเทศของ
    ตนเองได้ไม่นาน แต่ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา มีนโยบายที่สอดคล้องกับประชาคมระหว่างประเทศ และได้พยายามเข้าร่วมกับนานาชาติเพื่อสนับสนุนให้มีสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคยุโรป รวมทั้งให้ความสำคัญกับประเด็นระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งการเคารพสิทธิมนุษยชน การมีบูรณภาพแห่งดินแดน การปกป้องและพัฒนาเอกลักษณ์ของชาติ และการพัฒนาประชาธิปไตย



    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐสโลวีเนีย
    1. ความสัมพันธ์ทางการทูต

    รัฐบาลไทยได้ประกาศรับรองเอกราชของสโลวีเนียเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2535 และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2535 ปัจจุบัน สโลวีเนียอยู่ภายใต้เขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ในขณะที่ฝ่ายสโลวีเนียกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตสโลวีเนียประจำกรุงปักกิ่งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

    นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้มีการแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำเมืองหลวงของแต่ละฝ่าย โดยกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงลุบลิยานา ได้แก่ นาย Zvonko Volaj และกงสุลกิตติมศักดิ์สโลวีเนียประจำไทย คือ นางภัทรา พุฒิพรรณพงศ์

    2. ความสัมพันธ์ทางการเมือง

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสโลวีเนียดำเนินมาด้วยความราบรื่นโดยตลอด ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน ดังนี้

    การเยือนของฝ่ายสโลวีเนีย

    - Dr. Dimitrij Rupel รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสโลวีเนีย เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเดือนตุลาคม 2535

    - Dr. Dimitrij Rupel เยือนไทยในฐานะนายกเทศมนตรีกรุงลุบลิยานา เมื่อเดือนมกราคม 2540 และได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับนายพิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

    - Dr. Marjan Senjur รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการ
    พัฒนาสโลวีเนีย เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม UNCTAD ครั้งที่ 10 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ 2543 และได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนไทย-สโลวีเนีย

    - Dr. Dimitrij Rupel รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสโลวีเนีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ 25-26 เมษายน 2549

    - Dr. Dimitrij Rupel รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสโลวีเนีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ 1-2 มิถุนายน 2549

    การเยือนของฝ่ายไทย

    - ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เยือนสโลวีเนีย เมื่อเดือนสิงหาคม 2537 ในฐานะแขกของรัฐบาลสโลวีเนียตามคำเชิญของ
    Dr. Davorin Kracun รองนายกรัฐมนตรีสโลวีเนีย

    - ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือน
    สโลวีเนีย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2542 เพื่อลงนามความตกลงความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าไทย-สโลวีเนีย

    - ดร. ประชา คุณะเกษม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการฯ เดินทางไปเยือนสโลวีเนีย ระหว่าง
    วันที่ 10-11 ธันวาคม 2544

    - ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับ
    นาย Dimitrij Rupel รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสโลวีเนีย ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 57 ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2545

    - ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือน
    สโลวีเนีย อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2546

    - ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้าไทย เดินทางเยือนสโลวีเนีย ระหว่างวันที่
    7-11 กันยายน 2547

    3. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

    การค้า

    ไทยและสโลวีเนียมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้ามาเป็นเวลานาน นับแต่สมัยที่สโลวีเนียยังรวมอยู่ในยูโกสลาเวีย จากสถิติการค้าระหว่างไทย-ยูโกสลาเวีย ปริมาณการค้ามากกว่าร้อยละ 50 เป็นการค้ากับสโลวีเนีย ภายหลังการประกาศเอกราช สโลวีเนียพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์ในทุกๆ ด้านกับไทยโดยเฉพาะด้านการค้า ในปี 2547 การค้าระหว่างไทยและสโลวีเนียมีมูลค่ารวม 47.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปสโลวีเนีย 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากสโลวีเนีย 9.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    ไทยได้ดุลการค้า 28.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    สินค้าที่ไทยส่งออกไปสโลวีเนีย ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อาหารทะเล
    กระป๋องและแปรรูป ยางพารา รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป รองเท้าและชิ้นส่วน ตาข่ายจับปลา

    สินค้าที่ไทยนำเข้าจากสโลวีเนีย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและ
    ส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กและเหล็กล้า ธุรกรรมพิเศษ วัสดุทำจากยาง

    การลงทุน

    สโลวีเนียเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในบรรดาประเทศยุโรปตะวันออก โดยในปี 2546 สโลวีเนียมีอัตรารายได้ประชาชาติต่อหัวสูงถึง 13,732 ดอลลาร์สหรัฐ จึงมีลู่ทางที่ไทยและสโลวีเนียจะขยายความร่วมมือทางด้านการลงทุนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ นักธุรกิจสโลวีเนียได้แสดงความประสงค์ที่จะขยายความร่วมมือด้านการลงทุนกับฝ่ายไทย และมีการส่งคณะนักธุรกิจสโลวีเนียมาเยือนไทยเพื่อพบหารือลู่ทางการขยายความร่วมมือกับนักธุรกิจไทยหลายครั้ง นอกจากนี้ สโลวีเนียพยายามเชิญชวนให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในสโลวีเนีย ซึ่งได้รับความสนใจจากนักธุรกิจไทยไปร่วมลงทุนสร้างสปาที่สโลวีเนียโดยใช้สถาปัตยกรรมแบบไทยและจ้างพนักงานไทยจำนวนกว่า 20 คน

    4. ความตกลงทวิภาคีไทย - สโลวีเนีย

    ภายหลังการประกาศเอกราชจากยูโกสลาเวีย สโลวีเนียได้ขอสืบสิทธิความตกลงที่ไทยมีกับยูโกสลาเวีย 2 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงทางการค้า และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ ซึ่งฝ่ายไทยได้เสนอให้มีการจัดทำความตกลงฉบับใหม่ระหว่างกัน โดยใช้ความตกลงดังกล่าวเป็นพื้นฐาน นอกจากนี้ ฝ่ายสโลวีเนียได้เสนอขอทำความตกลงอื่นๆ กับไทย โดยมีความตกลงที่ลงนามแล้ว ดังนี้

     ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Agreement for the Promotion and Protection of Investment) (กุมภาพันธ์ 2543)

     อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Convention for the Avoidance of Double Taxation and the Prevention of Fiscal Evasion with Respect on Taxes on Income) (กรกฎาคม 2546)

     ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Agreement on
    Scientific and Technological Cooperation) (กันยายน 2547)

    ข้อมูลคนไทยในสโลวีเนีย
    จำนวนคนไทยในสโลวีเนีย 12 คน

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×