ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #4 : สาธารณรัฐออสเตรีย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.15K
      0
      16 ม.ค. 50



     
    สาธารณรัฐออสเตรีย
    Republic of Austria


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ชื่อทางการ สาธาณรัฐออสเตรีย (The Republic of Austria)

    รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ ซึ่งเป็นระบบสองสภา โดยมี ประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งวาระละ 6 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วาระ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งมีอำนาจในการ บริหารสูงสุด ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี รัฐบาลบริหารงาน 11 กระทรวง

    ผู้นำสำคัญทางการเมือง
    ประธานาธิบดี นาย Heinz Fischer (ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2547)
    นายกรัฐมนตรี นาย Alfred Gusenbauer (เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2550)
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาง Ursula Plassnik

    ทั้งนี้ ออสเตรียเพิ่งจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 พรรค Austrian Social Democrats Party (SP) ของนาย Alfred Gusenbauer ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายและพรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลชุดที่แล้ว ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งดังกล่าว

    วันชาติ 26 ตุลาคม
    พื้นที่ 83,858 ตารางกิโลเมตร
    ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในบริเวณยุโรปกลาง ไม่มีทางออกทะเล
    ทิศเหนือ จรดสาธารณรัฐเช็ก และเยอรมนี
    ทิศตะวันออก จรดฮังการี และสาธารณรัฐสโลวัก
    ทิศตะวันตก จรดสวิตเซอร์แลนด์ และลิคเตนสไตน์
    ทิศใต้ จรดสโลวีเนีย และอิตาลี

    การแบ่งเขตการปกครอง แบ่งเป็น 9 รัฐ ( Federal State )ได้แก่ Lower Austria , Upper Austria , Salzburg , Styria, Carinthia , Tirol , Vorarlberg, Burgenland และ Vienna ซึ่งมีสถานะเป็นทั้ง เมืองหลวงและรัฐหนึ่งของออสเตรีย แต่ละรัฐมีอำนาจปกครอง เป็นอิสระ ยกเว้นการต่างประเทศและการป้องกันประเทศ แต่ ละจังหวัดมีผู้ว่าการ ซึ่งได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติและมีศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ

    เมืองหลวง กรุงเวียนนา ( ประชากร 1.6 ล้านคน )

    เมืองสำคัญอื่นๆ Salzburg , Graz , Linz , Innsbruck , Klagenfurt

    ประชากร 8,192,880 คน (ประมาณการ พ.ศ. 2549) เป็นชาวออสเตรียร้อยละ 91.1 ชาวยูโกสลาฟเดิม (รวมโครเอเชีย สโลเวเนีย เซิร์บ และบอสเนีย)ร้อยละ 4 ชาวเติร์กร้อยละ 1.6 ชาวเยอรมันร้อยละ 0.9 และอื่นๆ ร้อยละ 2.4

    อัตราการเพิ่มของประชากร ร้อยละ 0.09 (ประมาณการ พ.ศ. 2549)

    ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาธอลิกร้อยละ 73.6 คริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ร้อยละ 4.7 มุสลิมร้อยละ 4.2 ไม่มีศาสนาร้อยละ 12 อื่นๆ และไม่ระบุศาสนาร้อยละ 5.5

    สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ EBRD, EU, FAO, IAEA, IBRD, ILO, IMF, Interpol, NAM (guest), OECD, OSCE, UN, UNCTAD, UNESCO, UNHCR, UNIDO, WEU (observer), WHO, WTO, WtoO (World Tourism Organisation)

    การเมืองการปกครอง
    ประวัติศาสตร์ออสเตรียโดยสังเขป

    ก่อนปลายศตวรรษที่ 8 ดินแดนซึ่งเป็นประเทศออสเตรียในปัจจุบัน ได้มีชนชาติต่างๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ที่สำคัญได้แก่ ชนเผ่าเยอรมัน ซึ่งได้ข้ามแม่น้ำดานูบลงมาทางใต้ และชาวสลาฟซึ่งได้อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของออสเตรีย จนสิ้นสุดศตวรรษที่ 8 กษัตริย์ Charlemagne ได้ก่อตั้งเขตชายแดนระหว่างแม่น้ำอินส์ แรบ และดราวา เพื่อเป็นป้อมปราการป้องกันการรุกรานของชาวเอวาร์ และภายหลังจากที่ชาวโรมันได้อพยพออกไป นักบวชชาวไอริชและสก็อตจึงได้เข้ามาเผยแพร่คริสตศาสนาในดินแดนบริเวณเทือกเขาอัลไพน์แห่งนี้ ราชวงศ์ Babenberg ของชาวบาวาเรียนได้เข้าปกครองออสเตรียในปี ค . ศ . 976 ซึ่งยังมีประชาชนอยู่เพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษต่อๆ มา ราชวงศ์ Babenberg ได้ใช้ยุทธศาสตร์สร้างความแข็งแกร่งให้แก่อาณาจักร และขยายประเทศไปอย่างกว้างขวาง ภายหลังจากที่ราชวงศ์ Babenberg ได้หมดอำนาจลงในกลางศตวรรษที่ 13 ราชวงศ์ Habsburg ได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนนี้แทน และขยายอาณาเขตออกไปจนถึงแถบประเทศสเปน จนกระทั่ง ในปี 1522 ราชวงศ์ Habsburg จึงได้แตกออกเป็นสายออสเตรีย และสายสเปน อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์ Habsburg ยังคงขยายอาณาเขตต่อไป โดยในปี ค . ศ . 1526 ได้ผนวกดินแดนโบฮีเมียและฮังการี เข้าไว้ด้วย ทั้งนี้ ในช่วงศตวรรษที่ 16 และ 17 ออสเตรียต้องเผชิญหน้ากับอาณาจักรออตโตมัน แต่โดยที่ออสเตรียสามารถเอาชนะกองทัพของอาณาจักรออตโตมันได้ ออสเตรียจึงได้ครอบครองดินแดนเพิ่มขึ้น และกลายเป็นมหาอำนาจรายหนึ่งในยุโรป ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 จักรพรรดินีมาเรีย เธเรซา และโจเซฟ ที่สอง ได้ทำการปฏิรูป และวางรากฐานการปฏิรูปการบริหารจัดการของรัฐให้ทันสมัย แต่การปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามนโปเลียน ได้ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นเปลี่ยนไป นอกจากนี้ หลังจากที่อิตาลีได้ก่อตั้งขึ้นเป็นประเทศ ราชวงศ์ฮับสบรูกส์ต้องต้องยินยอมต่อการเคลื่อนไหวของนักชาตินิยมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และในปี ค . ศ . 1867 จักรพรรดิฟรันซ์ โจเซฟ จึงได้ยอมตั้งราชวงศ์ร่วม (double monarchy) ออสเตรีย - ฮังการี ราชวงศ์ออสเตรีย - ฮังการี เป็นผู้เริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี ค . ศ . 1914-1918 อันมีสาเหตุเนื่องมากจากการลอบสังหารเจ้าชาย Francis-Ferdinand ซึ่งเป็นทายาทของราชวงศ์ออสเตรีย - ฮังการี โดยนักชาตินิยมชาวเซิร์บ โดยออสเตรียเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ออสเตรียจึงได้ประกาศตัวเป็นสาธารณรัฐ แต่ในขณะนั้น ออสเตรียมิได้มีอำนาจดังเช่นในอดีตแล้ว ในปี ค . ศ . 1938 ออสเตรียถูกกดดันจากเยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ และประสบกับภาวะการขาดเสถียรภาพภายในประเทศในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่ง ในปี ค . ศ . 1945 เมื่อสงคราม โลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศพันธมิตรได้ช่วยออสเตรียให้ฟื้นตัวขึ้นสู่ความเป็นประเทศสาธารณรัฐอีกครั้ง แต่ออสเตรียยังคงถูกยึดครองโดยกองทัพฝรั่งเศส อังกฤษ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกาจนถึงปี 1955 ซึ่งได้มีการลงนามในสนธิสัญญาประเทศออสเตรีย และในปีเดียวกัน รัฐสภาออสเตรียได้ออกกฎหมายให้ออสเตรียเป็นประเทศที่มีสถานะเป็นกลางอย่างถาวร รวมทั้งได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วย ออสเตรียได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค . ศ . 1995 และได้เป็นประธานสภาสหภาพยุโรปเป็นครั้งแรกในครึ่งหลังของปี ค . ศ . 19985.

    พรรคการเมืองออสเตรีย

    ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ออสเตรียเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมาโดยตลอด โดยมีพรรคการเมืองที่สำคัญดังนี้คือ
    พรรค Austrian People\'s Party- ÖVP เป็นพรรคใหญ่ และเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรค Social Democratic Party - SPÖ มา 3 สมัย ก่อนที่จะหันมาร่วมมือกับพรรค Alliance for the Future of Austria (BZ) ที่ได้แยกตัวออกมาจากพรรค Freedom Party-FPÖ ในเดือนเมษายน 2548 มีนาย Wolfgang Schüssel เป็นหัวหน้าพรรค
    พรรค Social Democratic Party - SPÖ เป็นพรรคใหญ่ที่สุดของออสเตรีย และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่ทศวรรษ 60 ในการเลือกตั้งในปี 2543 พรรค SPÖ ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดแต่ไม่สามารถโน้มน้าวพรรคอื่นร่วมจัดตั้งรัฐบาล จึงต้องกลับเป็นฝ่ายค้าน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันสังกัดพรรคการเมืองนี้
    พรรค Alliance for the Future of Austria - BZÖ เป็นพรรคที่แยกตัวออกมาจากพรรค FPO นำโดยนาย Jörg Haider
    พรรค Freedom Party - FPÖ เป็นพรรคที่มีแนวนโยบายขวาจัด ปัจจุบัน นาย Herbert Haupt ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
    พรรค Greens เป็นพรรคฝ่ายค้าน มีนโยบายอนุรักษ์นิยม
    นอกจากนี้ ยังมีพรรคการเมืองอื่นๆ อีก อาทิ พรรคคอมมิวนิสต์ พรรค Liberal Reform พรรค Democrats พรรค Christian Election Community และ พรรค Socialist Left แต่ไม่คะแนนมีเสียงที่จะมีที่นั่งในสภา

    สถานการณ์ทางการเมืองที่สำคัญล่าสุดของออสเตรีย

    เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2548 รัฐสภาออสเตรียได้ลงมติที่จะไม่จัดทำการลงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญสหภาพยุโรป ตามที่ชาวออสเตรีย 5,000 คน เข้าชื่อเรียกร้อง แต่มีการลงคะแนนเสียงของรัฐสภาแทนเพื่อให้สัตยาบันต่อรัฐธรรมนูญสหภาพยุโรปในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2548 ทั้งนี้ มีเพียงหนึ่งเสียงเท่านั้นจาก183 เสียงที่ไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญสหภาพยุโรป

    เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2550 ประธานาธิบดี Heinz Fischer ได้แต่งตั้งให้ นาย Alfred Gusenbauer หัวหน้าพรรค Austrian People Party (SPÖ) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายสังคมนิยมและพรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลชุดที่แล้ว เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีออสเตรีย โดยมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมแบบ Grand Coalition ระหว่างพรรค SPÖ กับ พรรคอนุรักษ์นิยม Social Democratic Party (ÖVP) การจัดสรรตำแหน่งในรัฐบาลมีดังต่อไปนี้ พรรค SPÖ บริหารกระทรวงกระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษา กระทรวงยุติธรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงการสังคม กระทรวงกีฬา ส่วนนาย Wolfgang Schüssel อดีตนายกรัฐมนตรี จะไม่รับตำแหน่งในรัฐบาลและสละตำแหน่งหัวหน้าพรรค ÖVP ให้แก่นาย Wilhelm Molterer ซึ่งจะเข้าดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ พรรค ÖVP จะคุมกระทรวงอื่นๆ อีก ดังต่อไปนี้ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจและแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อม นาง Ursula Plassnik จากพรรค ÖVP ยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเช่นในรัฐบาลชุดที่แล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลจะจัดตั้งกระทรวงสตรี (ÖVP) และกระทรวงวิทยาศาสตร์ (SPÖ) เพิ่ม
    ออสเตรียได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2549 ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกว่าร้อยละ 74 พรรค SPÖ ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดคิดเป็น 68 ที่นั่ง จากทั้งหมด 183 ที่นั่งในสภา (ร้อยละ 35.3) ตามมาด้วยพรรค ÖVP) ได้ 66 ที่นั่ง (ร้อยละ 34.3) ถัดมาได้แก่พรรค Green 21 ที่นั่ง (ร้อยละ 11.0) พรรค Freedom Party (FPÖ) 21 ที่นั่ง (ร้อยละ 11.0) พรรค Alliance for the Future of Austria (BZÖ) 7 ที่นั่ง (ร้อยละ 4.1) ผลการเลือกตั้งได้พลิกความคาดหมาย โดยผลการสำรวจชี้ว่าพรรค ÖVP ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดจนถึงนาทีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง 3 เดือนภายหลังจากการเลือกตั้งพรรค SPÖ และ ÖVP ได้เข้าสู่การเจรจาต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล และได้มีความคืบหน้าในข้อตกลงบางเรื่อง เช่น การปฏิรูปค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยนักศึกษาที่อาสาเข้าทำงานช่วยเหลือสังคมเป็นเวลา 60 ชม. ต่อภาคการศึกษาจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษา นอกจากนี้ รัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณสำหรับการศึกษาและการวิจัย รวมทั้งงบประมาณสนับสนุนระบบประกันความมั่นคงทางสังคม เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของออสเตรียในเวทีนานาชาติ ลดอัตราการว่างงาน ในด้านการต่างประเทศ ยังคงนโยบายการต่างประเทศที่เป็นกลาง และจะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนนโยบายด้านความมั่นคงของสหภาพยุโรป รวมทั้งไม่สนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกภาพสหภาพยุโรปของตุรกี นอกจากนี้เป็นที่คาดการณ์ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นาย Gusenbauer จะชะลอกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจลง ทั้งนี้ ระหว่างพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีประชาชนกว่า 2,000 คนประท้วงรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสังคมนิยมที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลผสมแบบ Grand Coalition โดยนักศึกษาส่วนหนึ่งและแกนนำสหภาพการค้าที่เป็นฐานเสียงของพรรคสังคมนิยมมีข้อกังขาต่อพรรค SPÖ ที่ยอมให้พรรคอนุรักษ์นิยมได้คุมกระทรวงสำคัญ

    ประเด็นสำคัญที่พรรคต่างๆ ใช้หาเสียง

    นโยบายที่สำคัญของพรรค ÖVP
    1. ด้านเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาการว่างงาน จัดเป็นแผนงานสำคัญเร่งด่วนของพรรค โดยตั้งเป้าที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มอีก 150,000 ตำแหน่ง
    2. ด้านพลังงาน จัดเป็นนโยบายระยะยาว โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจากเดิม 20% เป็น 45% ภายในปี พ.ศ. 2563
    3. นโยบายการต่างประเทศ อาทิ ไม่สนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิก EU ของตุรกี กระชับความสัมพันธ์และเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับรัสเซียและยูเครน อนุญาตให้แรงงานจากยุโรปกลาง และยุโรปตะวันออกเข้ามาทำงานในออสเตรียในสาขาพยาบาล และการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้เพื่อรองรับกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น จนขาดแคลนบุคลากรด้านนี้

    นโยบายที่สำคัญของพรรค SPÖ
    แก้ไขปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน อีกทั้งชะลอกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแบบเบ็ดเสร็จของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยให้ภาครัฐยังคงมีสัดส่วนการถือหุ้นในระดับที่สามารถกำหนดบทบาทนโยบายได้ อาทิ ถือหุ้นในบริษัทน้ำมัน OMW 31% บริษัท Telekom Austria 25%

    นโยบายที่สำคัญของพรรค Greens
    ปฏิรูประบบการศึกษา ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน แก้ไขปัญหาความยากจน เพิ่มการจ้างงานสตรีและผู้สูงอายุ

    เศรษฐกิจการค้า
    ข้อมูลทางเศรษฐกิจ

    เงินตรา ออสเตรียเปลี่ยนสกุลเงินจากชิลลิงออสเตรีย (ATS) มาใช้ สกุลยูโร (EURO) เมื่อปี 2545 โดย 1 ยูโร = 1.3 ดอลลาร์สหรัฐ (9 ม.ค. 2549)

    ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 293.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการ พ.ศ. 2548)

    ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDP per Capita) 37,457 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการ พ.ศ. 2548)

    GDP Growth Rate - ร้อยละ 1.8 (ประมาณการ พ.ศ. 2548)

    อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ2.3 (ประมาณการ พ.ศ. 2548)

    แรงงาน 3.49 พันล้านคน (ประมาณการ พ.ศ. 2548) อยู่ในภาคบริการร้อยละ 70 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 27 และภาคเกษตรกรรมร้อยละ 3 (พ.ศ. 2547)

    อัตราการว่างงานร้อยละ 5.2 (ประมาณการ พ.ศ. 2548)

    เงินทุนสำรองระหว่างประเทศและทองคำ 11.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการ พ.ศ. 2548)

    การค้าระหว่างประเทศ 241.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการ พ.ศ. 2548)

    มูลค่าการส่งออก 122.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการ พ.ศ. 2548)

    มูลค่าการนำเข้า 118.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการ พ.ศ. 2548)

    สินค้าส่งออกที่สำคัญ เครื่องจักร ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ สินค้าโลหะ กระดาษ สิ่งทอและอาหาร (พ.ศ. 2548)

    ตลาดส่งออกที่สำคัญ เยอรมนี อิตาลี สหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส (พ.ศ. 2548)

    สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักร ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ สินค้าโลหะ น้ำมัน อาหาร (พ.ศ. 2548)

    ตลาดนำเข้าที่สำคัญ เยอรมนี อิตาลี ฮังการี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ (พ.ศ. 2548)

    สถานการณ์เศรษฐกิจออสเตรีย

    ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง วิสาหกิจของออสเตรียที่สำคัญหลายแห่งมีการบริหารจากศูนย์กลาง โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดูแล เพื่อป้องกันการครอบครองจากโซเวียต จนกระทั่งในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 ออสเตรียจึงเริ่มแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และได้พัฒนาเศรษฐกิจแบบตลาดได้สำเร็จ ซึ่งทำให้ประชาชนมีมาตรฐานความเป็นอยู่สูง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปัจจุบันมีแผนที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจการของรัฐเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการบริการ และหากดำเนินการสำเร็จ การมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจของรัฐบาลออสเตรียจะถูกลดลงอย่างมาก เศรษฐกิจออสเตรียมีจุดแข็งในด้านอุตสาหกรรม การธนาคาร การคมนาคมขนส่ง การบริการ และการอำนวยความสะดวกด้านการพาณิชย์ ในขณะที่ภาคการเกษตรมีขนาดเล็ก และมีผลผลิตค่อนข้างน้อยและมีราคาแพง อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 2538 ออสเตรียได้ปฏิรูปด้านการเกษตรภายใต้นโยบายทางการเกษตรร่วมของสหภาพยุโรป และในปัจจุบัน เกษตรกรออสเตรียสามารถผลิตอาหารได้ร้อยละ 80 ของการบริโภคในประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 ของ GDP ออสเตรียได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมายจากการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากต่างประเทศ และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เศรษฐกิจออสเตรียมีบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี นอกจากนี้ ออสเตรียยังเป็น หนึ่งในประเทศที่เริ่มใช้เงินยูโรสำหรับบัญชีต่าง เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค . ศ . 1999 และใช้เงินยูโรแทนเงินชิลลิ่งอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค . ศ . 2002 ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ความเห็นว่า การใช้สกุลเงินร่วมกับประเทศยุโรปอื่นๆ จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจออสเตรีย ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของออสเตรียคือ การขยายการค้าและการลงทุนในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โดยมูลค่าการค้าระหว่งออสเตรียกับประเทศในยุโรปกลางและยุโรป ตะวันออกมีมูลค่าถึงร้อยละ 15 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของออสเตรีย รวมทั้ง บริษัทออสเตรีย ได้มีการลงทุนขนาดใหญ่มากมายในตลาดเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก แต่ไม่ ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีระดับสูง สำหรับในออสเตรียเองนั้น แม้การลงทุนขนาดใหญ่จะเริ่มลดน้อยลง แต่ออสเตรียก็ยังมีศักยภาพที่จะดึงดูดการลงทุนจากบริษัทของประเทศในสหภาพยุโรป ที่ต้องการเข้าถึงตลาดยุโรป กลางและยุโรปตะวันออก

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐออสเตรีย
    นโยบายต่างประเทศออสเตรีย

    1. หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตได้บีบให้ออสเตรียประกาศนโยบายเป็นกลางเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่สหภาพโซเวียตจะถอนทหารออกจากออสเตรีย ทำให้ออสเตรียยึดหลักดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเป็นกลางมาโดยตลอด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อออสเตรียเอง เนื่องจากเป็นหลักประกันว่าออสเตรียจะไม่ต้องไปเกี่ยวพันในสงครามและความหายนะจากสงครามดังเช่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

    2. อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ได้ลงนาม ในสนธิสัญญา State Treaty of Vienna เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2498 เพื่อรับรองฐานะความเป็นกลางถาวรของออสเตรีย และออสเตรียได้ประกาศความเป็นกลางของประเทศไว้เป็นการถาวรในรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2498 ซึ่งทำให้ออสเตรียไม่สามารถร่วมเป็นพันธมิตรทางทหาร หรืออนุญาตให้ทหารต่างชาติเข้ามาตั้งฐานทัพในดินแดนออสเตรียได้ รัฐบาลออสเตรียทุกสมัยจึงยึดถือนโยบายเป็นกลางถาวรเป็นพื้นฐานในการดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศต่างๆ ในลักษณะที่เรียกกันว่า active neutrality โดยให้ความ ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติในปฏิบัติการรักษาสันติภาพตั้งแต่ปี 2503 และร่วมมือในการรักษาเสถียรภาพยุโรปในกรอบของคณะมนตรียุโรปและองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือแห่งยุโรป (OSCE)

    3. ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติในยุโรปในช่วงหลังสงครามเย็นได้ส่งผลให้ออสเตรียเริ่มปรับนโยบายต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงไปในทิศทางที่มีบูรณาการกับประเทศยุโรปอื่นๆ มากขึ้น เนื่องจากออสเตรียเริ่มยอมรับว่า ความพยายามร่วมกันของประเทศต่างๆ ที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในกรอบพหุภาคีเป็นแนวโน้มที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ
    การปราบปรามผู้ก่อการร้าย และในการระงับการแพร่หลายของอาวุธที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษยชาติ (weapons of mass destruction) อย่างไรก็ตาม ออสเตรียก็ยังคงยึดถือนโยบายเป็นกลางอย่างเคร่งครัด

    4. นับแต่ปี 2538 ออสเตรียได้เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ใน Western European Union และ เข้าร่วมโครงการ Partnership for Peace ขององค์การนาโต้ โดยจำกัดบทบาทเฉพาะด้านปฏิบัติการรักษาสันติภาพและการให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนและการบรรเทาภัยพิบัติ 5. นอกจากนี้ การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 ทำให้ออสเตรียมีบทบาทและนโยบายที่จะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการกำหนดสถานะทางการเมืองของยุโรป และได้ให้การสนับสนุนนโยบายบูรณาการระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ทั้งในด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง และด้านนโยบายต่างประเทศ

    6. ออสเตรียสนับสนุนให้สหภาพยุโรปขยายตัวไปครอบคุลมกลุ่มประเทศอดีตสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก โดยที่ออสเตรียมีพรมแดนติดกับสาธารณรัฐเช็ก สโลวีเนีย และฮังการี ซึ่งจะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในเดือนพฤษภาคม 2547 และมีมูลค่าการค้ากับกลุ่มประเทศเหล่านี้สูงที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศยุโรปอื่นๆ ออสเตรียจึงเป็นประเทศที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการขยายสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาการส่งออกของออสเตรียไปยังสาธารณรัฐเช็ก สโลวีเนีย และฮังการีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 250

    7. นอกจากโครงสร้างร่วมของยุโรปด้านความมั่นคง การใช้แนวทางที่รวดเร็วในการสนับสนุนให้ประเทศยุโรปกลางและตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว ออสเตรียยังให้ความสำคัญต่อการยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรปให้สูงขึ้น การแก้ไขปัญหาการว่างงานในยุโรป การปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชนกลุ่มน้อย และความโปร่งใสและความพร้อมในการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน

    8. สำหรับภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากยุโรป ออสเตรียให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทในประเด็นระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา โดยเน้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางนั้น ออสเตรีย มีนโยบายส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศอาหรับบางประเทศ และอิสราเอล โดยเน้นที่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

    9. ในกรอบพหุภาคี ออสเตรียให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทของสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ โดยคำนึงถึงบทบาทของออสเตรียในฐานะที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ขององค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง อาทิ IAEA, UNIDO, OSCE, UNDCP

    ความสัมพันธ์กับไทย

    การสถาปนาความสัมพันธ์ ไทยและออสเตรียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ . ศ . 2496 อย่างไรก็ตาม ไทยกับออสเตรียมีความสัมพันธ์ด้านกงสุลตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รวมทั้ง ออสเตรียยังเป็นประเทศตะวันตกประเทศแรกที่ส่งผู้แทนทางการทูตมาประจำประเทศไทย ในปี พ . ศ . 2421 ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่

    การเยือนระหว่างกันที่สำคัญ
    การเยือนของฝ่ายออสเตรีย
    -นาย Franz Jonas ประธานาธิบดีออสเตรีย และภริยาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปี 2510
    -นาย Franz Vranitzky นายกรัฐมนตรีออสเตรียเยือนไทยระหว่างวันที่ 1-2 ตุลาคม 2532
    -นาย Thomas Klestil ประธานาธิบดีออสเตรียเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลเมื่อปี 2538
    -นาย Franz Vranitzky นายกรัฐมนตรีออสเตรียเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม ASEM ระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคม 2539 โดยมีนาย Wolfgang Schüssel รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐ มนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ( ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ) ร่วมคณะ

    การเยือนของฝ่ายไทย
    -พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2507 และ วันที่ 29 กันยายน - 2 ตุลาคม 2509 ( ทั้งนี้ มีการเยือนออสเตรียในระดับพระบรมวงศานุวงศ์หลายครั้ง )
    -ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเยือนออสเตรีย ระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน 2525
    -พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีแวะออสเตรียก่อนเยือนสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 12-19 มิถุนายน 2533 โดยได้พบกับ ดร . Franz Vranitzky นายกรัฐมนตรีออสเตรีย
    -ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนออสเตรียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2546
    -ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนออสเตรีย เมื่อวันที่ 7-9 ตุลาคม 2548

    กลไกความสัมพันธ์ทวิภาคี
    - คณะทำงานร่วมทางการค้าไทย - ออสเตรีย จัดตั้งเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2532 จัดการประชุมแล้ว 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายจัดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2542 ที่กรุงเทพฯ
    - คณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีการประชุม Task Force ทุก ๆ 2 ปี ครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่ กรุงเวียนนา เมื่อเดือนมิถุนายน 2544

    การค้ากับไทย ออสเตรียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 43 ของไทย และเป็นอันดับที่ 12 ในกลุ่มคู่ค้าจากประเทศสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ในปี 2546 มี มูลค่าการค้ารวม 263.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 129.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 134.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    สำหรับปี 2547 (ม.ค.-ธ.ค.) การค้ารวมมีมูลค่า 367.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 50.84 โดยไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า 30.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    สินค้านำเข้าจากไทย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ , อัญมณีและเครื่องประดับ , เสื้อผ้าสำเร็จรูป , ผลิตภัณฑ์ยาง , เครื่องกีฬาและเครื่องเล่มเกม , วงจรพิมพ์ , ยางพารา , เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

    สินค้าส่งออกมาไทย เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม , เคมีภัณฑ์ , เครื่องจักรไฟฟ้า และส่วนประกอบ , แก้วและผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา , ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม , เหล็กและเหล็กกล้า , สินแร่โลหะอื่น ๆ และเศษโลหะ , ผลิตภัณฑ์โลหะ , ผ้าผืน , กระดาษ กระดาษแข็ง และผลิตภัณฑ์

    เอกอัครราชทูตไทยประจำออสเตรีย นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์

    เอกอัครราชทูตออสเตรียประจำไทย นาย Arno Riedel

    ข้อมูลคนไทยในออสเตรีย
    จำนวนคนไทยในออสเตรีย 2,375 คน
    สถานะ/อาชีพของคนไทยในออสเตรีย: แม่บ้าน (70%) พนักงานทำความสะอาด (20%) พ่อครัว/แม่ครัว (5%) รับจ้างทั่วไป (5%)
    จำนวนสมาคม/ชมรมไทยในออสเตรีย
    1. สมาคมออสเตรีย-ไทย (สอท. ณ กรุงเวียนนา มีส่วนร่วมในการก่อตั้ง)
    2. สมาคมไทยรักไทย ร่วมด้วยช่วยเมืองไทย
    3. ชมรมนักศึกษาและคนไทยในออสเตรีย

    ทั้งนี้ มีวัดไทยในออสเตรีย จำนวน 1 วัด ชื่อ วัดญาณสังวร เวียนนา

    สถานะ วันที่ 15 มกราคม 2549

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×