ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปเอเซีย

    ลำดับตอนที่ #4 : ราชอาณาจักรภูฏาน

    • อัปเดตล่าสุด 9 ม.ค. 50





     
    ราชอาณาจักรภูฏาน
    Kingdom of Bhutan


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับทิเบต 470 กิโลเมตร และอาณาเขตด้านอื่นๆ ติดกับอินเดีย 605 กิโลเมตร ไม่มีทางออกทะเล ( land – locked country )
    พื้นที่ 47,000 ตารางกิโลเมตร
    เมืองหลวง กรุงทิมพู (Thimphu)
    เมืองสำคัญต่างๆ เมืองพาโร (Paro) เป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ เมืองพูนาคา (Punaka)เป็นเมืองที่มีความสำคัญ ทางประวัติศาสตร์ เป็นที่ตั้งของพระราชวังฤดูหนาว และเป็นที่ราบสำหรับทำการเกษตร
    ประชากร คน 752,700 คน (2548)
    อัตราการเพิ่มของประชากรร้อยละ 2.14 (ปี 2546) ประกอบด้วย 3 เชื้อชาติ ได้แก่ Sharchops(ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ส่วนใหญ่อยู่ภาคตะวันออก) Ngalops (ชนเชื้อสายทิเบต ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันตก) และ Lhotshams (ชนเชื้อสายเนปาล ส่วนใหญ่อยู่ทางใต้)
    ศาสนา ศาสนาพุทธมหายาน นิกาย Kagyupa (มีลามะเช่นเดียวกับทิเบต) ร้อยละ 75 (ส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติ Sharchops และ Ngalops) และศาสนาฮินดูร้อยละ 25 (ส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติ Lhotshams)
    ภาษา ซองข่า (Dzongkha) เป็นภาษาราชการภาษาอังกฤษใช้เป็นสื่อกลางในสถาบันการศึกษาและในการติดต่อ ธุรกิจภาษาธิเบตและภาษาเนปาลมีใช้บางส่วนในทางภาคใต้ของประเทศ
    การศึกษา อัตราการรู้หนังสือโดยรวม ร้อยละ 42.2
    อัตราการรู้หนังสือในเพศชายร้อยละ 56.2 และเพศหญิงร้อยละ 28.1
    วันชาติ 17 ธันวาคม (พ.ศ. 2450 หรือ ค.ศ. 1907) ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนา สมเด็จพระราชาธิบดี Ugyen Wangchuck ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกของภูฏาน
    ระบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
    เดิมพระมหากษัตริย์ภูฏานทรงเป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล จนเมื่อปี 2541 (ค . ศ .1998) สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก องค์ที่ 4 แห่งภูฏาน ได้ทรงมีพระราโชบายเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารราชการแผ่นดินภูฏาน ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองภูฏานเป็นการกระจายอำนาจและลดการรวมศูนย์ไว้ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว และมีสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ทำหน้าที่ผ่านกฎหมายแต่งตั้งสมาชิกระดับสูงของคณะรัฐบาลและให้คำแนะนำข้อราชกาารที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ อยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปีมีสมาชิก 150 คน ประกอบด้วยผู้แทนประชาชน 105 คน ผู้แทนจากคณะรัฐบาล(ได้รับการเสนอชื่อจากกษัตริย์) 35 คน และผู้แทนจากองค์กรทางศาสนา 10 คน
    ประมุข ประมุขของประเทศองค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก พระราชบิดาทรงมีพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุก เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2549)
    หัวหน้าฝ่ายบริหาร ตามพระราชกฤษฎีกาที่ได้ผ่านการรับรองโดยสมัชชาแห่งชาติภูฏานเมื่อ พ.ศ. 2541(ค.ศ.1998) ระบุว่า สมเด็จพระราชาธิบดีไม่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลอีกต่อไป ตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล (Head of Government)คือ ประธานสภาคณะมนตรี (Chairman of the Council of Ministers) ซึ่งคัดเลือกจากสมาชิกสภาคณะมนตรี หรือเทียบเท่ารัฐมนตรีต่างๆ จำนวน 10 คน (จากเดิม 6 คน) หมุนเวียนกันดำรงตำแหน่งประธานสภาคณะมนตรี คราวละ 1 ปี และสมาชิกสภาคณะมนตรีอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ประธานสภาคณะมนตรีและหัวหน้ารัฐบาล (Chairman of the Council of Ministers and Head of Government) หรือนายกรัฐมนตรี คนปัจจุบัน คือ เลียนโป คันดุ วังชุก (Lyonpo Khandu Wangchuk) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศด้วย เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2549 (ค.ศ. 2006)

    การเมืองการปกครอง
    การเมืองการปกครอง
    ภูฏานอยู่ระหว่างการปฏิรูปการเมือง เดิมมีระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล จนกระทั่งเมื่อปี 2541 สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ ที่ 4 (Jigme Singye Wangchuck - จิกมี ซิงเย วังชุก) ได้ทรงเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารราชการแผ่นดินให้มีหัวหน้ารัฐบาลและสภาคณะมนตรีขึ้นบริหารประเทศซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองภูฏาน เป็นการกระจายอำนาจการปกครองและลดการรวมศูนย์ไว้ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว และไม่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลอีกต่อไป
    หัวหน้าฝ่ายบริหาร
    นับตั้งแต่เมื่อปี 2541 ตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี (Head of Government) คือ ประธานสภาคณะมนตรี (Chairman of the Council of Ministers) ซึ่งคัดเลือกจากสมาชิกสภาคณะมนตรี (เทียบเท่าคณะรัฐมนตรี) ซึ่งมีจำนวน 10 คน และอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี โดยผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดลำดับ 1-5 หมุนเวียนกันดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี/ประธานสภาคณะมนตรีคราวละ 1 ปี ประธานสภาคณะมนตรีและหัวหน้ารัฐบาล (Chairman of the Council of Ministers and Head of Government ) หรือนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ เลียนโป คันดุ วังชุก ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยได้รับเลือกจากสภาคณะมนตรีให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณะมนตรีและหัวหน้ารัฐบาล เมื่อเดือนกันยายน 2549

    การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
    เมื่อปี 2541 สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 (จิกมี ซิงเย วังชุก) ได้เปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดินจากแบบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยให้มีหัวหน้ารัฐบาลและสภาคณะมนตรีขึ้นบริหารประเทศ ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจการปกครองและลดการรวมศูนย์ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ภูฏานได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2548 โดยได้ศึกษารัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ กว่า 150 ประเทศรวมทั้งของไทย เพื่อพัฒนาการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น รัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ และอำนาจบริหารประเทศของคณะรัฐมนตรี และให้มีระบบรัฐสภาที่มีเพียง 2 พรรคการเมืองสำคัญ ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 75 คน และวุฒิสภา 25 คน นอกจากนี้ยังกำหนดวาระการครองราชย์ของพระราชาธิบดีให้อยู่ในตำแหน่งจนถึงอายุ 65 พรรษา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภูฏานต้องการลดบทบาทของพระราชาธิบดี และต้องการให้พรรคการเมืองเข้ามาส่วนร่วมในการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ภูฏานจะจัดการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในปี 2551 ซึ่งจะเป็นปีเดียวกันกับปีที่ภูฏานจะมีการปกครอง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ครบ 100 ปี

    วันที่ 17 ธ.ค. 2548 ซึ่งเป็นวันชาติของภูฏาน สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 (จิกมี ซิงเย วังชุก) ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ และประกาศจะสละราชบัลลังก์ให้กับมกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (Jigme Khesar Namgyel Wangchuck) ในปี 2551 ซึ่งได้สร้างความตะลึงให้กับชาวภูฏานเป็นอย่างมาก เนื่องจากเกรงว่าประชาธิปไตยอาจก่อให้เกิดปัญหาความวุ่นวาย และการฉ้อราษฏรบังหลวงภาย ในประเทศเหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน

    วันที่ 9 ธ.ค. 2549 สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 (จิกมี ซิงเย วังชุก) ทรงสละราชสมบัติให้แก่มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระองค์ในฐานะสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 ซึ่งเร็วขึ้น 2 ปีจากเดิมที่ทรงประกาศจะสละราชสมบัติในปี 2551 เนื่องจากทรงเห็นว่าภูฏานกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ดังนั้น จึงจำเป็นที่มกุฎราชกุมาร ฯ จะต้องเรียนรู้ประสบการณ์ที่แท้จริงในการปกครองประเทศ และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในฐานะพระประมุข

    วันที่ 17 ธ.ค. 2549 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงมีพระราชดำรัสต่อประชาชนภูฏานเป็นครั้งแรกหลังจากขึ้นครองราชย์ รัฐบาลภูฏานจะจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 ในปี 2551

    ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
    ในสมัยศตวรรษที่ 17 นักบวช ซับดุง นาวัง นำเยล (Zhabdrung Ngawang Namgyal) ได้รวบรวมภูฏานให้เป็นปึกแผ่นและก่อตั้งเป็นประเทศขึ้น และในปี 2194 นักบวชซับดุงได้ริเริ่มการบริหารประเทศแบบสองระบบ คือ แยกเป็นฝ่ายฆราวาสและฝ่ายสงฆ์ ภูฏานใช้ระบบการปกครองดังกล่าวมาเป็นเวลากว่าสองศตวรรษ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2450 พระคณะที่ปรึกษาแห่งรัฐ ผู้ปกครองจากมณฑลต่าง ๆ ตลอดจนตัวแทนประชาชนได้มารวมตัวกันที่เมืองพูนาคา และทำการเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ อูเก็น วังชุก (Ugyen Wangchuck) ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ปกครองเมืองตองซา (Trongsa) ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์แรกของภูฏาน โดยดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์แรกแห่งราชวงศ์วังชุก (Wangchuck) เนื่องจากคุณสมบัติที่โดดเด่นของพระองค์ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้ปกครองเมือง Trongsa ทรงมีลักษณะความเป็นผู้นำและเป็นผู้นำที่เคร่งศาสนาและมีความตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ราชวงศ์ Wangchuck ปกครองประเทศภูฏานมาจนถึงปัจจุบันสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (Jigme Khesar Namgyel Wangchuck) มีพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุกเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2549

    นโยบายรัฐาลชุดปัจจุบัน
    รัฐบาลภูฏานชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงของการเมืองภายในและการปฏิรูปไปสู่ระบบประชาธิปไตย เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตามแผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2550) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในด้านการศึกษา สาธารณสุข การเกษตร การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงริเริ่มปรัชญาในการพัฒนาประเทศที่เรียกว่า “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness) โดยเน้นการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนมีความสุขและความพึงพอใจมากกว่าวัดการพัฒนาด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติโดยมีหลักสำคัญ 4 ประการ คือ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน 2) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 3) การส่งเสริมวัฒนธรรม และ 4) ธรรมรัฐ ซึ่งหลักการทั้ง 4 ได้ถูกบรรจุอยู่ในนโยบายและแผนงานของรัฐบาลทุกด้าน ทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติ ได้ข้อสรุปจากบทเรียนความผิดพลาดในการพัฒนาของโลกในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา และเห็นว่าประเทศจำนวนมากเข้าใจว่าการพัฒนาคือ การแสวงหาความสำเร็จทางวัตถุเพียงอย่างเดียวซึ่งประเทศเหล่านี้ได้แลกความสำเร็จ ในการพัฒนาเศรษฐกิจกับการสูญเสียวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่ดีทางธรรมชาติ และเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งหลายประเทศได้พิสูจน์แล้วว่าประชาชนไม่ได้มีความสุขที่แท้จริง

    ด้านเศรษฐกิจ
    อดีตสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงดำเนินนโยบายเปิดประเทศสู่ภายนอกหรือนโยบายมองออกไปข้างนอก(outward-looking policy) ภูฏานเริ่มดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปสู่ภาคเอกชน (privatization) ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนและขณะนี้รัฐบาลภูฏานกำลังเสนอพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงทุนต่อสภานิติบัญญัติ เมื่อผ่านสภาฯ แล้วจะทำให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับการเข้ามาลงทุนในภูฏานของนักธุรกิจต่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภูฏาน ต้องการที่จะพัฒนาประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของประเทศ

    ด้านการคลัง
    แม้ภูฏานเป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่นคงและมีฐานะดุลการชำระเงินดี แต่ภูฏานต้องพึ่งพิงเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ประมาณร้อยละ 33 ของ GDP ขณะนี้ภูฏานกำลังอยู่ในระหว่างการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ โดยเป็นการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยความช่วยเหลือจากธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือจากตะวันตกและญี่ปุ่น เศรษฐกิจของภูฏานยังคงมีความผูกพันกับอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าและเงินกู้แก่ภูฏานอยู่มาก

    สังคมและวัฒนธรรม
    สังคมของภูฏานเป็นสังคมเกษตรกรรมที่เรียบง่าย ดำรงตามวิถีทางพุทธศาสนานิกายมหายาน และยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาช้านาน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งนั้นมาจากพระราโชบายของอดีตสมเด็จพระราชาธิบดี Wangchuck ซึ่งต้องการให้ภูฏานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของภูฏานไว้ นอกจากนี้ นโยบายในการเปิดประเทศของภูฏานก็ทำให้ภูฏานสามารถอนุรักษ์รูปแบบของสังคมได้ เช่น นโยบายการคัดเลือกและจำกัดนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าภูฏาน ซึ่งจะจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวและคัดเลือกแต่นักท่องเที่ยวคุณภาพดีเท่านั้น และการจำกัดสื่อของภูฏาน โดยภูฏานเพิ่งเริ่มที่จะมีโทรทัศน์ในปี 2542 (ค.ศ 1999) และมีเพียงสถานีแห่งชาติสถานีเดียวเท่านั้น สถาบันกษัตริย์ยังคงเป็นสถาบันที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวภูฏาน โดยเฉพาะอดีตสมเด็จพระราชาธิบดีที่เป็นที่เคารพรักของประชาชนชาวภูฏานเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากพระองค์จะเป็นกษัตริย์นักพัฒนาแล้ว ความเป็นกันเองของพระองค์ในการเสด็จเยี่ยมราษฎรและการเข้าถึงประชาชนของพระองค์ทำให้พระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์ของประชาชน” ของภูฏาน อาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการที่จะเปลี่ยนแปลงภูฏานให้เป็นสังคมสมัยใหม่แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยทรงใช้หลักความสุขมวลรวมของชาติ (Gross National Happiness) แทนการวัดการพัฒนาเป็นค่าทางเศรษฐกิจ

    ด้านการต่างประเทศ
    มีเป้าหมายในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เพื่อรักษาบูรณาภาพแห่งดินแดนของประเทศและส่งเสริมการพัฒนาประเทศ จากเป้าหมายดังกล่าว ภูฏานได้ดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ โดยยึดหลักนโยบาย Utilitarian Engagement โดยเลือกที่จะมีความสัมพันธ์ อย่างใกล้ชิดกับเพียงบางประเทศที่ภูฏานเห็นว่ามีความสำคัญและให้ประโยชน์สูงสุดแก่ชาวภูฏาน ทั้งนี้จะเห็นได้จากการตั้งสถานเอกอัครราชทูตประจำในประเทศเหล่านี้ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ คูเวต และไทย และมีคณะทูตถาวรฯ ประจำองค์การสหประชาชาติที่นครเจนีวาและนครนิวยอร์กเท่านั้น นอกจากนั้น ภูฏานได้ให้ความสำคัญกับประเทศในทวีปเอเชีย และการมีบทบาทในองค์การระหว่างประเทศในภูมิภาค เช่น SAARC BIMSTEC และ ACD

    เศรษฐกิจการค้า
    เศรษฐกิจ
    หน่วยเงินตรา งุลตรัม (Ngultrum) มีค่าเท่ากับเงินรูปีของอินเดีย และเงินรูปีของอินเดีย สามารถใช้ได้ทั่วไปในภูฏาน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 45.75 งุลตรัม(กันยายน 2549)
    GDP 645 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ปี 2547)
    GDP growth ร้อยละ 7.1(ปี 2547)
    อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3.91 (ปี 2547)
    รายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัว698.8 ดอลล่าร์สหรัฐ (ปี 2547)
    ทุนสำรองเงินตรา391 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2547)
    สินค้าส่งออก ยิบซั่ม ไม้ซุง สินค้าหัตถกรรม ซีเมนต์ ผลไม้ ไฟฟ้าจากพลังน้ำ อัญมณี และเครื่องเทศ
    สินค้านำเข้า น้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น ธัญพืช เครื่องจักรและชิ้นส่วนรถบรรทุก ผ้า และข้าว
    ประเทศคู่ค้า อินเดีย บังกลาเทศ และญี่ปุ่น

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชอาณาจักรภูฏาน
    ความสัมพันธ์กับประเทศไทยและสถานะล่าสุดของความร่วมมือ

    ด้านการทูต
    ไทยและภูฏานสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2532 รัฐบาลไทยมอบหมายให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา(บังกลาเทศ) คนปัจจุบัน คือ นายสุพัฒน์ จิตรานุเคราะห์ มีเขตอาณาดูแลราชอาณาจักรภูฏานอีกแห่งหนึ่ง และภูฏานได้จัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตภูฏานประจำประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 โดยมีนาย Singye Dorjee ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตภูฏานประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน มีเขตอาณาดูแลประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ภูฏานยังได้จัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ราชอาณาจักรภูฏานประจำประเทศไทยด้วย โดยนายภาคย์ เสถียรพัฒน์ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ เมื่อปี 2543 ไทยได้จัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ราชอาณาจักรไทยประจำภูฏาน มี ดาโช๊ะ อูเก็น เชชุบ (Dasho Ugen Tshechup) ซึ่งเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระราชินีภูฏาน ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ เมื่อปี 2546

    ด้านการค้า
    ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับภูฏานยังมีน้อยมาก โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า
    มาโดยตลอด การค้ารวมในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา (2544-2547) มีมูลค่าประมาณ 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปภูฎาน 6.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากภูฏานประมาณ 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการค้าในปี 2548 มีมูลค่า 2.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปภูฏานประมาณ 2.3 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากภูฏานประมาณ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังภูฏาน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยานพาหนะอื่น ๆ เป็นต้น สินค้าที่ไทยนำเข้าจากภูฏาน ได้แก่ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์อาหาร

    ความช่วยเหลือทางวิชาการ
    ด้านทุนศึกษาอบรม
    ไทยให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ภูฏานมาตั้งแต่ปี 2535 เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การแพทย์ สาธารณสุข การศึกษา การท่องเที่ยว การเกษตร และการพัฒนาชนบท เป็นต้น การให้ความช่วยเหลือเป็นไปในรูปของทุนการศึกษาและฝึกอบรม / ดูงานในสถาบันการศึกษาต่างๆ ของไทย โดยดำเนินการในลักษณะรัฐบาลไทยออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือภูฏานและไทยร่วมกันออกค่าใช้จ่าย หรือประเทศที่สาม/องค์การระหว่างประเทศเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเยือนภูฏาน เมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน 2548 ไทยได้ประกาศจะมอบทุนการศึกษาและฝึกอบรมให้แก่ภูฏานจำนวน 180 ทุน ในระยะเวลา 3 ปี (ปี 2548-2551) ทั้งนี้ ในปี 2548 ไทยได้ให้ทุนแก่ภูฏานจำนวน 48 ราย และไทยพร้อมที่จะขยายความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถของภูฏาน ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพและเป็นความต้องการของฝ่ายภูฏาน

    ด้านสาธารณสุข
    ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขไทย-ภูฏานเมื่อปี 2530 ไทยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญไปภูฏานเพื่อให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวิจัย การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ในชนบท และการให้บริการรักษาแก่ภูฏานในนามองค์การอนามัยโลก แต่ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ลดการให้ความช่วยเหลือด้านนี้ลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ไทยยังให้ความช่วยเหลือแก่ภูฏานด้านการฝึกอบรมและบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง อาทิ การให้การผึกอบรมแพทย์ พยาบาล และเทคนิคการแพทย์ของภูฏาน ในสถาบันการแพทย์และโรงพยาบาลของไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุนการศึกษาแก่ นักศึกษาแพทย์และพยาบาลของภูฏาน เพื่อมาศึกษาในประเทศไทย โดยอยู่ในความดูแลของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีที่จังหวัดขอนแก่นและโครงการส่งผู้ป่วยจากภูฏานมารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย โดยผ่านการเห็นชอบจากกระทรวงสาธารณสุขภูฏาน

    ด้านการเกษตร
    ไทยและภูฏานได้จัดทำกรอบความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน เมื่อปี 2545 ซึ่งหลังจากมีความความตกลงดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ทุนฝึกอบรมด้านการเกษตรแก่ภูฏานเฉลี่ยปีละ 6- 10 ทุน รวมทั้งได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้ความช่วยเหลือภูฏานในการพัฒนาเกษตรในพื้นที่สูง การอนุรักษ์ดินและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ได้ให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะด้านการศึกษาและฝึกอบรมแก่ภูฏาน ปัจจุบันโครงการหลวง โดย ม.จ. ภีศเดช รัชนี ได้มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรแก่ภูฏาน โดยให้ความรู้ในเรื่องพฤกษ์ศาสตร์ การปรับปรุงการปลูกผักและผลไม้เมืองหนาว การแลกเปลี่ยนพันธุ์ไม้และเทคโนโลยี การแปรรูปสินค้าเกษตร และการปลูกพืชในที่สูง ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในด้านการเกษตรของภูฏานอย่างมาก

    ด้านการท่องเที่ยว
    การท่องเที่ยวเคยเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้แก่ภูฏานเป็นอันดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันภูฏานมีนโยบายคัดเลือกนักท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เพื่อจะได้ไม่สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมของภูฏาน และโดยที่ปัจจุบันไทยให้ความสำคัญต่อการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวที่เป็นรูปธรรมกับประเทศในเอเชียใต้ โดยเน้นความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (eco-tourism) การท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา (Buddhist tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (health tour) ซึ่งไทยและภูฏานสามารถร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะนี้ได้

    ด้านวัฒนธรรม
    สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา ร่วมกับกรมศาสนาได้ถวายศาสนาพระพุทธรูปแด่สมเด็จพระราชชนนีแห่งภูฏาน ในโอกาสฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี ของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏานเพื่อนำไปประดิษฐาน ณ วัดในเมืองบุมทัง (Bumthang) เมื่อเดือนมิถุนายน 2543 เนื่องในวโรกาสที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ 6 รอบ รัฐบาลไทยได้สร้างศาลาไทยในกรุงทิมพู เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับภูฏาน มอบให้แก่รัฐบาลภูฏานเมื่อปี 2544

    ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
    1. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านการพัฒนาสาธารณสุขระหว่างกัน (ปี 2530)
    2. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างกัน (ปี 2536)
    3. ความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน (ปี 2545)
    4. ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ปี 2547)
    5. ความตกลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกด้าน (ปี 2547)
    6. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม (ปี 2548)

    การเยือนของผู้นำระดับสูง

    ฝ่ายไทย
    พระราชวงศ์
    - สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เสด็จฯ เยือนภูฏาน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2531
    - สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จฯ เยือนภูฏาน เมื่อวันที่ 23-26มิถุนายน 2534
    รัฐบาล
    - ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนภูฏาน เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2532
    - นายสรจักร เกษมสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนภูฏาน เมื่อเดือนกันยายน 2547
    - พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนภูฏานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน 2548

    ฝ่ายภูฏาน
    ราชวงค์
    - มกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุกเสด็จฯ เยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์เพื่อทอดพระเนตรโครงการหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-22 มีนาคม 2546
    - มกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เสด็จฯ เยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ระหว่างวันที่ 11-20 มิ.ย. 2549
    - มกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เสด็จฯ เยือนงานพืชสวนโลก ที่ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 24 พ.ย. 49 รับพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีในวันที่ 25 พ.ย. 49 และเข้าร่วมพิธีถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยรังสิตเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 49
    รัฐบาล
    - Lyonpo Jigmi Yoeser Thinley รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภูฏานเดินทางมาเยือนประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2532
    - Lyonpo Jigmi Yoeser Thinley ประธานสภาคณะมนตรีและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภูฏาน เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2541
    - Lyonpo Jigmi Yoeser Thinley รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภูฏานเดินทาง มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2544
    - Lyonpo Jigmi Yoeser Thinley นายกรัฐมนตรีภูฏาน พร้อมกับ Lyonpo Khandu Wangchuck รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภูฏาน เดินทางมาเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม สุดยอด BIMSTEC เมื่อเดือนกรกฎาคม 2547
    - Lyonpo Wangdi Norbu รัฐมนตรีกระทรวงการคลังภูฏาน เดินทางมาเยือนไทยเพื่อเชิญผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม RTM for Bhutan รอบที่ 9 ที่ นครเจนีวา เมื่อเดือนมกราคม 2549

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×