ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #39 : โรมาเนีย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.44K
      1
      2 ก.พ. 50



     
    โรมาเนีย
    Romania


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ชื่อทางการ โรมาเนีย (Romania)
    ที่ตั้ง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป อยู่บนคาบสมุทรบอลข่าน มีพรมแดนด้านเหนือและตะวันออกติดกับมอลโดวาและยูเครน ด้านตะวันตกเฉียงเหนือติดฮังการี ด้านใต้ติดบัลแกเรีย ด้านตะวันตกเฉียงใต้ติด เซอร์เบีย-มอนเตนิโกร และด้านตะวันออกเฉียงใต้ติดทะเลดำ
    พื้นที่ 238,391 ตารางกิโลเมตร (อันดับ 11 ของยุโรป)
    พื้นที่เป็นภูเขา 31% เนินเขาและที่ราบสูง 33% ที่ราบลุ่ม 36%
    ประชากร 22,303,552 คน (กรกฎาคม ค.ศ. 2006)
    ประกอบด้วยเชื้อชาติโรมาเนีย (89.5%) ฮังการี (6.6%) โรมา (2.5%) เยอรมัน(0.3%)
    ยูเครน (0.3%) และอื่น ๆ นอกจากนี้ มีคนโรมาเนียประมาณ 8 ล้านคนอาศัยอยู่นอกประเทศ
    เมืองหลวง บูคาเรสต์ (ประชากร 2.02 ล้านคน)
    เมืองสำคัญ คลูช (Cluj) 334,000 คน ทีมิชัวรา (Timisoara) 327,000 คน
    ไครโอวา (Craiova) 308,000 คน บราชอฟ (Brasov) 316,000 คน คอนสตันชา (Constanta) 344,000 คน
    ท่าเรือสำคัญ คอนสตันชา (Constanta) มันกาเลีย (Mangalia) ซูลินา (Sulina)
    แม่น้ำสำคัญ Danube 1,705 กม. Prut 742 กม. Mures 761 กม.
    Olt 615 กม. Siret 559 กม.
    ภูมิอากาศ มี 4 ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ (มีค.-พค.) ฤดูร้อน (มิย.-สค.) ฤดูใบไม้ร่วง (กย.-พย.) ฤดูหนาว (ธค.-กพ.)
    ภาษาราชการ ภาษาโรมาเนีย
    ศาสนา Romanian Orthodox (70%) Roman Catholics (6%) Protestant (6%)
    วันชาติ 1 ธันวาคม (ตั้งแต่ปี 2533 เป็นตันมา)
    สกุลเงิน Leu (ROL) US$1 = 2.61 Leu (ธันวาคม 2549)

    การเมืองการปกครอง
    รูปแบบการปกครอง
    ภายหลังจากการปกครองแบบระบบคอมมิวนิสต์ของโรมาเนียถูกล้มล้างโดยการปฏิวัติของประชาชนในเดือนธันวาคม ค.ศ.1989 ประเทศโรมาเนียได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตย โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ.1991 มีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นประมุข มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามที่พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภาเสนอเพื่อรับหน้าที่ในการจัดตั้งรัฐบาล

    ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
    ในอดีต ดินแดนที่เรียกว่า ประเทศโรมาเนียในปัจจุบัน อยู่ภายใต้การปกครองของ
    จักรวรรดิ์ออโตมัน ต่อมา ได้ประกาศเอกราช โดยได้สถาปนาเป็นประเทศในปี 2421
    ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โรมาเนียถูกกองทัพเยอรมนีเข้ายึดครอง แต่กองทัพโซเวียตได้ปลดปล่อยและมีอำนาจเหนือโรมาเนียแทนเมื่อสิ้นสุดสงคราม มีการโค่นล้มระบอบกษัตริย์และเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ ในปี 2490 ในเดือนธันวาคม 2532 ประชาชนได้ก่อการปฏิวัติล้มล้างการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐใหม่เป็นรัฐประชาธิปไตยและสวัสดิการสังคม (Democratic and Social State) มีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเป็นประมุข

    ฝ่ายนิติบัญญัติ
    โรมาเนียมีระบบสภาคู่ (Bicameral Parliament) ประกอบด้วยวุฒิสภา (Senate) จำนวน 140 คน และสภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) จำนวน 345 คน ซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายจัดขึ้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004
    ประธานาธิบดี Mr. Traian Basescu สังกัดพรรค Democratic Party (PD) (12 ธันวาคม ค.ศ. 2004)
    นายกรัฐมนตรี Mr. Calin Popescu Tariceanu สังกัดพรรค National Liberal Party (NLP) (28 ธันวาคม ค.ศ. 2004)
    รัฐมนตรีต่างประเทศ Mr. Mihai-Razvan Ungureanu สังกัดพรรค National Liberal Party (NLP) (28 ธันวาคม ค.ศ. 2004)

    นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
    รัฐบาลชุดปัจจุบันของนายกรัฐมนตรี Calin Popescu Tariceanu ซึ่งได้รับการแต่งตั้ง
    เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 ได้มุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ดังนี้
    - การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของโรมาเนีย ภายในปี 2550
    - แก้ไขปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง
    - ปฏิรูประบบศาลให้มีอิสระอย่างแท้จริง
    - เพิ่มสิทธิเสรีภาพแก่สื่อมวลชน
    - เสริมสร้างบรรยากาศการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์
    - พัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีและพหุภาคี ส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิก EU และสหรัฐอเมริกา
    - สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งด้านพรมแดนกับยูเครน รวมทั้งการส่งเสริมความสัมพันธ์กับมอลโดวาโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
    - พัฒนาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ วิชาการ และวัฒนธรรมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศในภูมิภาคเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้
    - ขยายความร่วมมือกับวาติกัน อิสราเอล และญี่ปุ่น

    การปกครองส่วนท้องถิ่น
    โรมาเนียแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 40 จังหวัด (judet หรือ County ในภาษาอังกฤษ) กับ 1 เมืองหลวง (municipui หรือ municipalityในภาษาอังกฤษ) และเขตการเกษตร ซึ่งอยู่รอบชานเมืองหลวง ชื่อว่า Ilfov หรือ Agricultural Sector มี 260 เมือง ซึ่งมี 57 เทศบาลเมือง การจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปตามหลักแห่งการปกครองตนเอง และการกระจายอำนาจการบริการสาธารณะ (Public Services)

    นโยบายต่างประเทศ
    โรมาเนียมุ่งเน้นการพัฒนาความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับ EU และ NATO เป็นอันดับแรก นอกจากนี้ โรมาเนียยังส่งเสริมการทูตเชิงเศรษฐกิจและขยายการทูตเชิงวัฒนธรรม อักทั้งจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับชาวโรมาเนียที่อพยพไปอยู่ประเทศอื่น โดยธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติและวัฒนธรรม โรมาเนียให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้าง UN รวมทั้งการขยายสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) อาทิ ญี่ปุ่น และเยอรมนี และมีนโยบายที่จะธำรงไว้ซึ่งความร่วมมือกับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) และศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรป ขณะเดียวกัน โรมาเนียมุ่งมั่นมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น โดยพยายามเข้าเป็นสมาชิกของ OECD และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของ WTO, OSCE, EU, NATO และองค์กรอื่นๆ ของ UN มากยิ่งขึ้น และได้ยื่นข้อเสนอที่จะเลือกให้โรมาเนียเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสำนักเลขาธิการของ UN ซึ่งเกิดจากอนุสัญญาและพิธีสาร รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ข้างต้น

    นโยบายในภูมิภาคยุโรปกลางและตะวันออก
    โรมาเนียมีนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ และพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้ลงนามสนธิสัญญาพื้นฐานทางการเมืองกับบัลแกเรีย ยูโกสลาเวีย ฮังการี และล่าสุดกับประเทศยูเครน เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1997 และได้เจรจาจัดทำสนธิสัญญาพื้นฐานทางการเมืองกับประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศ อาทิ มอลโดวา และรัสเซีย ปี ค.ศ.1996 โรมาเนียได้รับการพิจารณาเข้าเป็นสมาชิกสมบูรณ์ขององค์การ Central European Initiative (CEI) ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคยุโรปกลาง และมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคในช่วงที่เกิดกรณีขัดแย้งในสาธารณรัฐอดีตยูโกสลาเวีย และมีบทบาทในการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของภูมิภาคดังกล่าวด้วย ปี ค.ศ.1996 โรมาเนียเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือพหุภาคียุโรปตะวันออกเฉียงใต้ (The South-East European Multilateral Cooperation) ปี ค.ศ.1997 โรมาเนียเข้าเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรียุโรปกลาง : CEFTA (Central European Free Trade Agreement)

    สถานการณ์สำคัญ

    1. การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
    โรมาเนียได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.2007 ทั้งนี้ โรมาเนียได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมทบของสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1995 และเริ่มการเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปตั้งแต่กุมภาพันธ์ ค.ศ.2000
    IMF ได้ชื่นชมความพยายามของโรมาเนียในการปฏิรูปเพื่อเตรียมเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการยุโรปเห็นว่า ยังมีบางสาขาที่โรมาเนียจะต้องเร่งดำเนินการปฏิรูปต่อไป ได้แก่ การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง อาชญากรรมจัดตั้ง การปฏิรูประบบภาษีสรรพากร ตลอดจนระบบควบคุมการใช้จ่ายเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป
    ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปจะมีกลไกตรวจสอบการดำเนินการปฏิรูปในสาขาเหล่านี้อย่างใกล้ชิดเป็นระยะต่อไปจนกว่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เช่น ในด้านการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง โรมาเนียและบัลแกเรียจะต้องรายงานความคืบหน้าทุก 6 เดือน (รายงานฉบับแรกภายในวันที่ 31 มีนาคม 2550) เพื่อทำการวัดผลการดำเนินงาน และคาดว่า ประเทศสมาชิกอื่นๆ จะใช้มาตรการจำกัดการเคลื่อนย้าย
    ในขั้นต่อไป รายงานดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะมนตรียุโรปและสภายุโรป ซึ่งทั้งสองสถาบันไม่น่าจะมีข้อขัดข้อง ส่วนในด้านกฎหมาย ยังมีประเทศสมาชิกที่ต้องให้สัตยาบันสนธิสัญญาการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อีก 3 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี และเดนมาร์ก ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการภายในเร็วๆ นี้

    2. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การ NATO
    โรมาเนียเป็นประเทศแรกในภูมิภาคยุโรปตะวันออกที่เข้าร่วมโครงการ Partnership for Peace โดยได้ลงนามใน Framework Document ซึ่งเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับการปฎิรูปตามโครงการ Partnership for Peace เมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1994 นอกจากนี้ โรมาเนียยังได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามโครงการ Partnership for Peace อาทิ การเป็นเจ้าภาพจัดการซ้อมรบทางเรือบริเวณทะเลดำ การส่งทหารเข้าร่วมการซ้อมรบอย่างสม่ำเสมอ และการส่งกองกำลังทหารเข้าร่วมในกองกำลังผสมเพื่อรักษาสันติภาพในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา อังโกลา และแอลเบเนีย
    โรมาเนียได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ระหว่างการประชุมผู้นำประเทศสมาชิกนาโตที่กรุงวอชิงตัน เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1999 โดยเป็นประเทศกลุ่มที่สองของยุโรปตะวันออกซึ่งประกอบด้วยบัลแกเรีย โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย เอสโตเนีย และแลตเวีย และลิธัวเนีย หลังจากที่ได้รับโปแลนด์ ฮังการี และเช็กเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มแรกเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1999 และในการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศสมาชิกนาโต ที่กรุงปราก ระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 นาโตได้พิจารณารับโรมาเนียพร้อมกับประเทศกลุ่มที่สองอื่น ๆ เข้าเป็นสมาชิก NATO

    เศรษฐกิจการค้า
    ข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐานของโรมาเนีย

    ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) 197.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ. 2006)
    รายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per capita-PPP) 8,800 ดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ. 2006)
    อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ร้อยละ 6.4 (ค.ศ. 2006)
    อัตราการว่างงาน ร้อยละ 6.1 (ค.ศ. 2006)
    อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 6.8 (ค.ศ. 2006)
    การส่งออก 33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ. 2006)
    สินค้าส่งออก สิ่งทอ รองเท้า ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ แร่ธาตุ น้ำมัน เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์การเกษตร
    ประเทศคู่ค้า อิตาลี 19.4% เยอรมนี 14% ตุรกี 7.9% ฝรั่งเศส 7.4% สหราชอาณาจักร 5.5% ฮังการี 4.1% สหรัฐ 4.1% (ค.ศ. 2005)
    การนำเข้า 46.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ. 2006)
    สินค้านำเข้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ น้ำมันและแร่ธาตุ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ โลหะ ผลิตภัณฑ์การเกษตร
    ประเทศคู่ค้า อิตาลี 15.5% เยอรมนี 14% รัสเซีย 8.3% ฝรั่งเศส 6.8% ตุรกี 4.9%
    หนี้ต่างประเทศ 42.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ. 2006)

    เศรษฐกิจของโรมาเนียโดยทั่วไป
    โรมาเนียประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยกว่า 3 ปี ก่อนที่จะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ในปี 2543 จากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของตลาดสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา โรมาเนียประสบปัญหาหลัก 4 ประการ คือ (1) การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้สินทั้งของภาครัฐและเอกชน (2) ปัญหาค่าเงินเลตกต่ำ (3) ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และ (4) ปัญหาระบบธนาคาร ซึ่งรัฐบาลโรมาเนียได้พยายามดำเนินมาตรการจำเป็นต่างๆ เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ และระบบราชการ รวมทั้งแก้ปัญหาการขาดความชัดเจนด้านกฎหมาย ปัญหาด้านศุลกากร และปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการระดมทุนจากต่างประเทศ
    ในปี 2545 เศรษฐกิจของโรมาเนียเริ่มมีสภาวะดีขึ้น โดยภาคธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมให้ได้รับการพัฒนาได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง การสร้างทางรถไฟและท่าเรือ และโครงการด้านการพลังงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ยังมีภาคธุรกิจอื่นๆ ที่มีแนวโน้มในศักยภาพ อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์ ประกันภัย การท่องเที่ยว เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหาร ในการปฏิรูประบบโครงสร้าง รัฐบาลมีโครงการจำหน่ายรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ อาทิ ธนาคาร Banca Coerciala Romana (BCR) ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และบริษัทน้ำมันแห่งชาติ PETROM และยังมีโครงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน เหมืองแร่ และอาวุธ รัฐบาลโรมาเนียจึงต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ มาชำระหนี้สิน โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้อนุมัติเงินกู้ระยะ 2 ปี จำนวน 367 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่โรมาเนีย โรมาเนียได้ดำเนินการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เพื่อให้พร้อมในการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้โรมาเนียได้รับเงินช่วยเหลือทางการเกษตรหลายร้อยล้านยูโร ความช่วยเหลือในการพัฒนาระบบขนส่งและสาธารณูปโภค รวมทั้ง เงินลงทุนจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เนื่องจากค่างจ้างแรงงานและค่าใช้จ่ายซึ่งถูกกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโรมาเนีย
    1. ความสัมพันธ์ทางการทูต

    ไทยกับโรมาเนียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.1973 โดยโรมาเนียได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพ ฯ เมื่อปี ค.ศ.1976 และไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ.1980 ซึ่งนับตั้งแต่โรมาเนียได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองเป็นไปด้วยความราบรื่นมาโดยตลอด

    2. ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับโรมาเนีย

    ความตกลงที่ลงนามแล้ว
    1. ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (มกราคม 2527)
    2. ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (เมษายน 2536)
    3. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (เมษายน 2536)
    4. พิธีสารความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (เมษายน 2536)
    5. ความตกลงวัฒนธรรม (มกราคม 2538)
    6. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างหอการค้าและอุตสาหกรรมของโรมาเนียและ
    สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (พฤศจิกายน 2538) และต่อมา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 ได้มีข้อตกลงจัดตั้ง Thailand-Romania Business Council
    7. อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งโรมาเนีย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (มิถุนายน 2539)
    8. ความตกลงด้านการค้า และพิธีสารว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าไทย-โรมาเนีย (เมษายน 2540)
    9. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (พฤษภาคม 2540)
    10. บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงศึกษาธิการไทยกับโรมาเนีย (มิถุนายน 2540)
    11. ความตกลงระหว่างสำนักงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติโรมาเนียและกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กรกฎาคม 2542)
    12. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงระหว่างกระทรวงกลาโหมไทยและกระทรวงกลาโหมโรมาเนีย (พฤษภาคม 2546)
    13. ความตกลงความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยและกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการพัฒนาชนบทของโรมาเนีย (มิถุนายน 2549)

    ความตกลงทวิภาคีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
    1. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และวิชาการ (Agreement on the Economic, Scientific and Technical Cooperation)
    2. ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Agreement on the Promotion and Protection of Investment)
    3. ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (Air Services Agreement)
    4. ความตกลงโอนตัวนักโทษไทย-โรมาเนีย (Treaty on the Transfer of Offenders and on Co-operation in the Enforcement of Penal Sentence)
    5. ความตกลงทวิภาคีด้านการขนส่งทางทะเล (Thailand-Romanian Agreement on Maritime Transport)
    6. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านศุลกากร และการปราบปราม สอบสวน และป้องกันการทุจริตด้านศุลกากร (Agreement regarding Customs Cooperation and Mutual Administrative Assistance for the Prevention, Investigation and Combating of Customs Offenses)
    7. ความตกลงว่าด้วยการรับกลับคนชาติและคนต่างชาติ (Agreement on the Readmission of theirs Own Citizens and of Aliens)
    8. อนุสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา (Convention on the Mutual Assistance in Criminal Matters)

    3. การเยือนของผู้นำระดับสูง

    การเยือนของฝ่ายไทย

    พระบรมวงศานุวงศ์
    - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนโรมาเนียอย่าง
    เป็นทางการ ระหว่างวันที่ 14-17 มีนาคม 2537 นับเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโรมาเนีย เนื่องจากเป็นการเสด็จฯ เยือนครั้งแรกของพระบรมวงศานุวงศ์ไทย
    - สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือน
    โรมาเนียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 11-16 พฤษภาคม 2543

    รัฐบาล
    - นายอำนวย วีรวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
    (ในขณะนั้น) เดินทางเยือนโรมาเนียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 26-27 มิถุนายน 2539
    - ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น)
    เยือนโรมาเนีย ระหว่างวันที่ 11-12 พฤษภาคม 2542
    - ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้าไทย (ในขณะนั้น) เดินทางเยือนโรมาเนียอย่าง
    เป็นทางการ (พร้อมกับลิทัวเนีย และบัลแกเรีย) ระหว่างวันที่ 4-8 ตุลาคม 2546
    - ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) เดินทาง
    เยือนโรมาเนีย ตามคำเชิญของเจ้าชาย Radu of Hohenzollern-Veringenผู้แทนพิเศษของรัฐบาลโรมาเนียด้านการรวมตัว ความร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายน 2548

    การเยือนของฝ่ายโรมาเนีย
    - นาย Ovidiu Ghenman ประธานรัฐสภาโรมาเนีย เยือนไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2538
    - นาย Emil Constantinescu ประธานาธิบดีโรมาเนีย (ในขณะนั้น) เยือนไทยอย่าง
    เป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2543
    - นาย Dan Ioan Popescu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรโรมาเนียนำคณะผู้แทนโรมาเนียมาเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้าไทย-โรมาเนีย ครั้งที่ 10 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 25-26 มิถุนายน 2544
    - นาย Mihnea Motoc รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศโรมาเนีย เยือนไทย
    ในฐานะตัวแทนประธาน OSCE เพื่อเข้าร่วมการประชุม OSCE - Thailand Conference on Human Dimension of Security ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2545
    - นาย Petru Cordos อธิบดีกรมเอเชีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง
    กระทรวงการต่างประเทศโรมาเนีย เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อร่วมประชุมหารือในกรอบพิธีสารความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-โรมาเนีย ระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน 2546
    - นาย Adrian Mitu ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจโรมาเนีย เดินทางเยือนไทย ระหว่างวันที่
    10-13 ธันวาคม 2546 และได้เข้าร่วมการประชุมสภาธุรกิจไทย-โรมาเนีย ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2546
    - เจ้าชาย Radu of Hohenzollern-Veringen ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลโรมาเนียด้านการรวมตัว ความร่วมมือ และการพัฒนาที่ยั่งยืน เยือนไทย ระหว่างวันที่ 8-13 มีนาคม

    4. ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ

    กลไกดำเนินความสัมพันธ์ทางการค้า
    ไทยและโรมาเนียมีการจัดตั้งกลไกส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการค้าระหว่างกัน ทั้งในระดับรัฐบาล ซึ่งมีการลงนามพิธีสารจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee –JTC) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2521 และมีการจัดประชุมมาแล้ว 10 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2522 และครั้งสุดท้าย ฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 มิถุนายน 2544 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการเพิ่มพูนการค้าระหว่างกันโดยตั้งเป้าหมายที่จะให้การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวมถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    สำหรับภาคเอกชน ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามพิธีสารความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศโรมาเนีย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2523 และต่อมา ได้จัดตั้งสภาธุรกิจไทย-โรมาเนีย (Thailand-Romania Business Council) ภายใต้กรอบพิธีสารเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 และได้มีการประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง โดยล่าสุด ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมสภาธุรกิจไทย-โรมาเนีย ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2548 และในปี 2550 จะจัดการประชุมครั้งที่ 8 ณ กรุงบูคาเรสต์

    สถิติการค้าไทย-โรมาเนีย
    มูลค่า : ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    ปี ปริมาณการค้ารวม ส่งออก นำเข้า ดุลการค้า
    2544 49.7 23.3 26.4 -3.1
    2545 46.4 17.7 28.7 -11.0
    2546 48.7 28.9 19.8 9.1
    2547 67.1 43.7 23.4 20.3
    2548 90.8 61.3 29.5 31.8
    2549 82.4 65.7 16.7 49.1

    ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร

    สินค้าที่ไทยส่งออก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา ผลไม้กระป๋องและแปรรูป วงจรพิมพ์ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
    สินค้าที่ไทยนำเข้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ไม้ซุง ไม้แปรรูป และผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ธุรกรรมพิเศษ ผ้าผืน

    ความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างไทยกับโรมาเนีย
    โรมาเนียกำลังดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่สำคัญ เช่น ธนาคาร อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เหล็กกล้า ปิโตรเคมี การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร การพลังงาน และการท่องเที่ยว ในการนี้ ฝ่ายโรมาเนียได้เชิญชวนนักธุรกิจไทยให้เข้าไปมีส่วนในการร่วมลงทุน จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์โรมาเนีย ในปี 2549 มีนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในโรมาเนีย 14 โครงการ มีมูลค่าประมาณ 47.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.07 และอยู่ในอันดับที่ 45 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในโรมาเนีย โดยสาขาที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนได้แก่ สาขาอุตสาหกรรม (ร้อยละ 64 ) รองลงมาคือ สาขาการเกษตร (ร้อยละ 18) และสาขาการก่อสร้าง (ร้อยละ 9) ตามลำดับ ทั้งนี้ สาขาความร่วมมือที่ไทยและโรมาเนียมีศักยภาพและควรส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันได้แก่ อุตสาหกรรมอะไหล่รถยนต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร วัสดุและอุปกรณ์การก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสิ่งทอ
    ในขณะเดียวกัน นักธุรกิจโรมาเนียได้แสดงความประสงค์ที่จะร่วมลงทุนกับนักธุรกิจไทย ทั้งในโรมาเนียและในไทย ในสาขาที่โรมาเนียมีความชำนาญ อาทิ การก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมี การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การก่อสร้างสถานีผลิตและจ่ายพลังงาน การก่อสร้างโครงการพื้นฐาน และงานบริการด้านโทรคมนาคม โดยในปัจจุบันมีการลงทุนของโรมาเนียในไทย 1 ราย เป็นการร่วมลงทุนร่วมกันระหว่างกลุ่มบริษัทเทพารักษ์ จำกัด ของไทย กับบริษัท TMUCB S.A. ของโรมาเนีย ในกิจการติดตั้งอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบท่อที่ใช้ในอุตสาหกรรมโดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทไทย แต่มูลค่าไม่มากนัก และบริษัท Siderca S.A. Calarasi ของโรมาเนีย ได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนร่วมกับกลุ่มบริษัทเทพารักษ์จำกัดของไทย ในด้านอุตสาหกรรมเหล็กที่โรมาเนีย

    ***************************
    กรมยุโรป
    มกราคม 2550

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×