ลำดับตอนที่ #38
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #38 : สาธารณรัฐโปรตุเกส
|
|
Republic of Portugal |
ข้อมูลทั่วไป |
ทิศตะวันตกและทิศใต้จรดมหาสมุทรแอตแลนติก ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดสเปน ดินแดนของโปรตุเกสยังรวมถึงหมู่เกาะ 2 แห่งในมหาสมุทรแอตแลนติก ได้แก่ หมู่เกาะ Azores และ Madeira
พื้นที่ 92,391 ตารางกิโลเมตร
ประชากร 10.2 ล้านคน (ค.ศ. 2002)
ภาษา โปรตุกีส (Portuguese)
ศาสนา คริสต์ นิกายโรมันคาธอลิก 97% โปรแตสแตนท์ 1% และอื่นๆ 2%
เมืองหลวง กรุงลิสบอน (Lisbon)
สกุลเงิน ยูโร (EURO)
วันชาติ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1580
รูปแบบการปกครอง สาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบรัฐสภา(Parliamentary Republic) อำนาจนิติบัญญัติ รัฐสภาเป็นแบบสภาเดียวชื่อ The Assembly of the Republic หรือ Assembleia da Republica มีสมาชิก 230 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละไม่เกิน 4 ปี เป็นการเลือกตั้งระบบพรรค ให้มีการเลือกตั้งนอกประเทศและการออกเสียงทางไปรษณีย์
อำนาจบริหาร
- ประธานาธิบดี เป็นประมุขของประเทศ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน มีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี/ยุบรัฐบาล หากเห็นว่ากระทำผิดรัฐธรรมนูญ กฎหมายทุกฉบับต้องได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี ซึ่งมีสิทธิยับยั้งร่างกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Anibal CAVACO Silva (พรรค Social Democratic Party หรือ PSD) รับตำแหน่ง เมื่อ 9 มีนาคม ค.ศ. 2006
- นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาล มาจากผู้นำพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ตามประเพณีปฏิบัติจะไม่ดำรงตำแหน่งเกินสองสมัยติดต่อกัน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นาย Jose SOCRATES (หัวหน้าพรรค Socialist Party หรือ PS) เข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 2005
- คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี 1 คนและ รัฐมนตรี 16 คน รวม 17 คน รัฐมนตรีต่างประเทศ คือ นาย Luís Amado
- อำนาจตุลาการศาลมีอิสระในการพิพากษา และ ศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุดของประเทศ
พรรคการเมืองสำคัญ
Socialist Party (PS) แนวนโยบายแบบ centre-left,
Social Democratic Party (PSD) แนวนโยบายแบบ centre-right,
Communist-Green Party Alliance
Christian Democrat Popular Party (PP)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 200.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ.2005)
รายได้เฉลี่ยต่อหัว 198,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ.2005)
หนี้ต่างประเทศ ร้อยละ 63.9 ของ GDP (ค.ศ.2005)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 0.3 (ค.ศ.2005)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 2.3 (ค.ศ. 2005)
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 7.6 (ค.ศ. 2005)
การลงทุนจากต่างประเทศ 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ. 2003)
ดุลการค้า ขาดดุลเฉลี่ย 17.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ. 2005)
ประเทศคู่ค้าสำคัญ ประเทศคู่ค้าที่สำคัญในปี 2547 คือ ประเทศที่โปรตุเกสส่งออกมาที่สุดได้แก่ ได้แก่ สเปน ร้อยละ 24.9 ฝรั่งเศส ร้อยละ 14 เยอรมนี ร้อยละ 13.5 สหราชอาณาจักร ร้อยละ 9.6 และประเทศที่โปรตุเกสนำเข้ามากที่สุดได้แก่ สเปน ร้อยละ29.3 เยอรมนี ร้อยละ14.3 ฝรั่งเศส ร้อยละ9.6 อิตาลี ร้อยละ6.1 และ สหราชอาณาจักร ร้อยละ4.6 ประเทศสำคัญที่โปรตุเกส re-export ได้แก่ กลุ่ม PALOPs
สินค้าเข้าสำคัญ เชื้อเพลิง สินค้าเกษตรกรรม อุปกรณ์สื่อสารและคมนาคม เครื่องจักรกล รถยนต์และอุปกรณ์ และเคมีภัณท์
สินค้าออกสำคัญ เครื่องจักรกล สิ่งทอ รถยนต์และอุปกรณ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ไม้ก๊อก และเคมีภัณฑ์
การเมืองการปกครอง |
โปรตุเกสเป็นประเทศที่เก่าแก่มากชาติหนึ่งในยุโรป เดิมดินแดนส่วนนี้มีชื่อว่า Lusitania ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของคาบสมุทรไอบีเรีย โดยมีชนชาติต่างๆ อาทิ ไอบีเรีย โรมัน กรีซ มุสลิม และยิว ผลัดเปลี่ยนเข้ามาตั้งรกรากในดินแดนส่วนนี้มาช้านาน ก่อนที่โปรตุเกสจะประกาศเป็นประเทศเอกราชในปี 1671 (ค.ศ. 1128) ภายใต้การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมี Afonso Henriques เป็นกษัตริย์องค์แรกของโปรตุเกส ในช่วงทศวรรษที่ 15 นับเป็นช่วงปีทองของโปรตุเกส ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากทั้งทางด้านการทหาร การค้าขาย การเดินเรือ และการขยายอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินเรือ โปรตุเกสประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากความได้เปรียบทางด้านที่ตั้ง ภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยี ความก้าวหน้าและความชำนาญในการเดินเรือ ทำให้โปรตุเกสค้นพบเส้นทางเดินเรือใหม่ๆ ผู้มีชื่อเสียงทางด้านการเดินเรือและเป็นที่รู้จักอย่างดี คือ เจ้าชาย Henry the Navigator ผู้ค้นพบทวีปแอฟริกา และนาย Vasco da Gama ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเส้นทางเดินเรือไปยังประเทศอินเดีย จากความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการเดินเรือ จึงส่งผลให้โปรตุเกสเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ชาติหนึ่งและมีอาณานิคมมากมายในแอฟริกา ได้แก่ แองโกล่า โมซัมบิก กีนีบิสเซา เซาโตเม ปรินซิเป และเคปเวิร์ด ในละตินอเมริกา ได้แก่ บราซิล และในเอเชีย (โปรตุเกสเป็นยุโรปชาติแรกที่เข้ามาบุกเบิกเอเชีย) ประกอบด้วย เมืองกัวในอินเดีย ลังกา มะละกา มาเก๊า และหลายเมืองในอินโดนีเซีย
ในช่วงทศวรรษที่ 16 การปกครองของโปรตุเกสภายใต้ระบอบกษัตริย์เริ่มอ่อนแอลง ส่งผลให้สเปนซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามารุกรานและผนวกโปรตุเกสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสเปนในปี 2123 (ค.ศ. 1580) ต่อมาในปี 2183 (ค.ศ. 1640) กลุ่มขุนนางโปรตุเกสได้รวมตัวกันกู้เอกราชกลับคืนมาจากสเปน โดยมีฝรั่งเศสให้การสนับสนุนและสถาปนาการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้นมาอีกครั้ง ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ Joao IV ของราชวงศ์ Braganza จนปี 2453 (ค.ศ. 1910) จึงได้มีการปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์และจัดตั้งการปกครองแบบสาธารณรัฐ การเมืองโปรตุเกสได้ดำเนินอย่างไร้เสถียรภาพนับตั้งแต่นั้นมา เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งจากฝ่ายทหารและพลเรือนมาโดยตลอด โดยรัฐบาลแต่ละชุดมักอยู่ในอำนาจได้ไม่นาน จนในปี 2469 (ค.ศ. 1926) Dr. Antonio de Oliveira Salazar เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้จัดตั้งการปกครองแบบเผด็จการฝ่ายขวาที่มีระบบรัฐสภาแต่สมาชิกล้วนเป็นฝ่ายรัฐบาล โดยได้รับอิทธิพลจากระบอบฟาสซิสต์ของอิตาลี ทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โปรตุเกสเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี 2498 (ค.ศ. 1955) โดยที่โปรตุเกสมีนโยบายไม่ยอมปลดปล่อยอาณานิคมที่มีอยู่จำนวนมาก ทุกทวีปอาณานิคมของโปรตุเกสจึงเริ่มทำสงครามกู้ชาติเพื่อปลดปล่อยตนเองตั้งแต่ปี 2504 (ค.ศ. 1961) เป็นต้นมา รัฐบาลโปรตุเกสได้ทุ่มเททรัพยากรในการทำสงครามกับดินแดนอาณานิคมเหล่านั้นเป็นเวลายาวนาน เศรษฐกิจของโปรตุเกสจึงเสื่อมโทรมลงจนมีฐานะเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบบเผด็จการในโปรตุเกสเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2517 (ค.ศ. 1974) ส่งผลให้การเมืองภายในระส่ำระสาย อาณานิคมในแอฟริกาจึงถือโอกาสเรียกร้องและได้รับเอกราชไปในที่สุด ยกเว้นติมอร์ตะวันออกที่อินโดนีเซียเข้าไปยึดครองตั้งแต่เดือนธันวาคม 2518 (ค.ศ. 1975)
ในปี 2519 (ค.ศ. 1976) รัฐบาลโปรตุเกสได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีแนวทางประชาธิปไตยมากขึ้น และได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเป็นครั้งแรก ซึ่งปรากฏว่า พรรคสังคมนิยม (PS) ได้ที่นั่งในสภามากที่สุดและได้จัดตั้งรัฐบาลแบบเสียงข้างน้อย โปรตุเกสมีรัฐบาลพรรคสังคมนิยมมาจนถึงปี 2528 (ค.ศ. 1985) ซึ่งพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (PSD) ได้รับเลือกเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลเป็นครั้งแรกและคงอำนาจการปกครองยาวนานนับ 10 ปีที่ผ่านมา ระบบการเมืองโปรตุเกสขาดเสถียรภาพจากปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลโปรตุเกสชุดหลังๆ จึงเล็งเห็นประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรป (EEC) ว่า จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ จึงพยายามอย่างจริงจังเพื่อให้สามารถเข้าร่วม EEC ที่สมัครไว้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2520 (ค.ศ. 1977) โดยดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเป็นเวลา 18 เดือน ควบคุมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ส่งเสริมการลงทุนโดยกระตุ้นให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น และควบคุมเงินเฟ้อ จนสามารถปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอและเข้าร่วม EEC ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2529 (ค.ศ. 1986)
การที่โปรตุเกสเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้สำเร็จ แต่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจด้อยกว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ เมื่อเทียบกับในอดีตที่โปรตุเกสเคยเป็นประเทศมหาอำนาจทางทะเลและมีอาณานิคมอยู่มากมาย เหตุดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้โปรตุเกสริเริ่มที่จะก่อตั้งประชาคมประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกส (Community of Portuguese Speaking Countries-CPLP) ขึ้นในปี 2537 (ค.ศ. 1994) ซึ่งประเทศใน CPLP ประกอบด้วยประเทศอดีตอาณานิคมของโปรตุเกสในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ (โปรตุเกส บราชิล อังโกลา โมชัมบิก กินี-บิสเชา เคปเวิร์ด เชาโตเม และปรินชิเป) และติมอร์ตะวันออก โดยโปรตุเกสได้ใช้ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านภาษา เป็นจุดเชื่อมโยงในการขยายช่องทางการค้าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นฐานเสียงในการสนับสนุนด้านการเมืองซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ
สภาวะทางการเมือง
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2549 ได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโปรตุเกส เนื่องจากประธานาธิบดี Jorge Sampaio ได้ครบวาระแล้ว ซึ่งปรากฏว่า นาย Anibal Cavaco Silva อตีดนายกรัฐมนตรี จากพรรค PSD ได้ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนร้อยละ 50.59 จากคะแนนเสียงทั้งหมด ทั้งนี้ นาย Silva Cavaco ได้เข้าพิธีสาธาปนาตนเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549
รัฐบาลปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2548 โปรตุเกสได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ผลปรากฏว่าพรรคสังคมนิยม (PS) ซึ่งมีนาย Jose Socrates เป็นหัวหน้าพรรคได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 45 ในขณะที่พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (PSD) ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 28.6 ซึ่งส่งผลให้พรรค PS มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 120 ที่นั่งและพรรค PSD มี 72 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 230 ที่นั่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548 ประธานาธิบดี Jorge Sampaio ได้ประกาศแต่งตั้งนาย Jose Socrates ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของโปรตุเกส และเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2548 นาย Jose Socrates ได้นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีจำนวน 16 คน ได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งต่อประธานาธิบดี (ในสมัยนั้น) นาย Jorge Sampaio
การเลือกตั้งครั้งนี้ นับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของพรรค PS เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ได้รับเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2517 การที่พรรค PS ประสบชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นผลมาจากประชาชนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายการบริหารประเทศของพรรค PSD ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Lopes ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่สะสมมานานหลายปี ประชาชนจึงหันไปเทคะแนนให้พรรคฝ่ายค้าน แม้ว่าตามความเป็นจริง นโยบายของทั้งสองพรรคไม่ได้แตกต่างกันมากนัก อย่างไรก็ดี รัฐบาลชุดใหม่ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดก่อนโดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งขาดดุลเกินร้อยละ 3 ของ GDP และปัญหาการว่างงานที่สูงถึงร้อยละ 1.7
หลังจากที่พรรคสังคมนิยมได้รับชัยชนะ รัฐบาลของนาย Socrates มีนโยบายเร่งด่วนแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยมีวิสัยทัศน์เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางด้านเศาษฐกิจอย่างยั่งยืนและนำประเทศไปสู่สังคมแห่งความรู้และสร้างสรร (Knowledge and Innovative society) โดยเน้นการแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณ การปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัย ริเริ่มโครงการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทชาวโปรตุเกส เพื่อมีส่วนแบ่งตลาดโลกมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้า High Technology และการขายหุ้นที่รัฐมีอยู่ในรัฐวิสาหกิจโดยเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2549 รัฐบาลได้ประกาศโครงการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจซึ่รวมถึง ปริษัท น้ำมัน Galp Energia บริษัทผลิตไฟฟ้า Energias de Portugal (EDP) บริษัทการบินโปรตุเกส TAP ซึ่งมีการคาดการว่ารัฐบาลจะขายหุ้นได้ประมาณ 2100 ล้านยูโร ระหว่างปี 2550-2552
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
นโยบายต่างประเทศของโปรตุเกสให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นกับประชาคมยุโรป ส่งเสริมความสัมพันธ์กับทุกประเทศ เน้นความร่วมมือกับประเทศอดีตอาณานิคมของโปรตุเกส โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกสในแอฟริกาและบราซิล โปรตุเกสให้ความสนใจในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประชาคมยุโรปกับแอฟริกา เพราะทุกประเทศในแอฟริกาเคยเป็นอาณานิคมของประเทศสมาชิกประชาคมยุโรป ในขณะเดียวกัน โปรตุเกสให้ความสนใจในการพัฒนาความสัมพันธ์กับเอเชียด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการส่งมอบมาเก๊าคืนให้แก่จีน และติมอร์ตะวันออกกำลังไปสู่การเป็นประเทศเอกราชสำหรับติมอร์ตะวันออกนั้น โปรตุเกสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมเดิม มีความมุ่งมั่นที่จะเห็นติมอร์ตะวันออกมีการบูรณะฟื้นฟู จัดระบบการปกครองประเทศที่ดีและเป็นรัฐเอกราชโดยสมบูรณ์โดยเร็ว และได้ ให้เงินช่วยเหลือในกรอบต่างๆ อาทิ Trust Fund for east Timor, UNHCR, ICRC, WFP และในโอกาสอื่นๆ เช่นเมื่อนาย Jaime Gama รัฐมนตรีต่างประเทศโปรตุเกสเยือนติมอร์ตะวันออกระหว่างวันที่ 6-19 มกราคม ค.ศ. 2001 โปรตุเกสให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในรูปทุนการศึกษา ตำราและอื่นๆ ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการตกลงที่จะจัดตั้ง Centre of Portuguese Language ที่เมืองดิลี โปรตุเกสเป็นประธานสหภาพยุโรป (EU Presidency) ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน ค.ศ. 2000 และรับหน้าที่เป็นประธานองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ในปี ค.ศ.2002 ในอนาคต คือ ระหว่างเดือน ก.ค.- ธ.ค.ค.ศ. 2007 โปรตุเกสจะรับเป็นประธานสหภาพยุโรปอีกวาระ
เศรษฐกิจการค้า |
ดังเช่นประเทศสมาชิกประชาคมยุโรปอื่น ระบบเศรษฐกิจของโปรตุเกสเป็นระบบเศรษฐกิจการตลาดเสรี โปรตุเกสจึงใช้กฎระเบียบต่างๆ ของสหภาพยุโรป เมื่อปี 2535 (ค.ศ. 1992) โปรตุเกสได้เข้าร่วมในกลไกการแลกเปลี่ยนเงินตรา (Exchange Rate Mechanism-ERM) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับระบบเงินและเศรษฐกิจเพื่อเข้าสู่การเป็นสหภาพการเงินยุโรป โปรตุเกสสามารถรักษาค่าเงินเอสคูโดให้มีเสถียรภาพมาโดยตลอด รวมทั้งสามารถควบคุมการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะให้เข้าเกณฑ์ในอัตราที่สหภาพยุโรปกำหนด ยังผลให้โปรตุเกสสามารถใช้เงินสกุลยูโรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 (ค.ศ. 2001) ร่วมกับอีก 11 ชาติ โดยกำหนดอัตราการแลกเปลี่ยนของหน่วยเงินเอสคูโดของโปรตุเกสให้อยู่ในระดับคงที่ ที่ 200.482 เอสคูโด ต่อ 1 ยูโร และกำหนดให้ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) ควบคุมนโยบายอัตราการแลกเปลี่ยนเงินของประเทศที่ใช้เงินยูโร
หลังจากเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 2529 (ค.ศ. 1986) โปรตุเกสได้เร่งรัดการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ทัดเทียมกับประเทศสมาชิกอื่น ที่สำคัญคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายโครงการ อาทิ เพิ่มทางด่วน ปรับปรุงระบบทางรถไฟ รถใต้ดิน สร้างเขื่อน ระบบบำบัดน้ำเสีย และพัฒนาแหล่งชุมชนยากจน เป็นต้น การพัฒนาดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปในกรอบต่างๆ อาทิ Cohesion Fund ซึ่งโปรตุเกสได้รับมาแล้วกว่า 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในกรอบ European Regional Development Fund ซึ่งในปี 2542 (ค.ศ. 1999) โปรตุเกสได้รับ 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
โปรตุเกสประสบผลสำเร็จในการพัฒนาตนเองจากประเทศยากจนที่สุดในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) มาเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับที่ 4 ของสหภาพยุโรป (เมื่อปี ค.ศ. 1998) ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจของโปรตุเกสขยายตัวอย่างรวดเร็วและเทียบเท่ากับนานาประเทศในภูมิภาคยุโรปได้สำเร็จนั้น เป็นผลจากการที่รัฐบาลดำเนินนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจเร่งรัดและส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว รวมถึงอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดต่ำลงจนเทียบเท่ากับประเทศสมาชิกอื่นๆของสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (EMU) คือ ลดจากระดับเฉลี่ยร้อยละ 10-12 มาเป็นเฉลี่ยร้อยละ 4-5 ในปี 2541 (ค.ศ. 1998) ปัจจัยเหล่านี้เป็นแรงกระตุ้นที่ส่งผลดีต่อการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2541 (ค.ศ. 1998) ซึ่งมีการจัดงาน Expo 98 ที่กรุงลิสบอน ส่งผลให้กิจกรรมการก่อสร้างตลอดทั้งปี 2541 (ค.ศ. 1998) ขยายตัวถึงร้อยละ 12 อาทิ การเปิดใช้สะพาน Vasco da Gama ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำทากุสแห่งที่สอง
เงินช่วยเหลือด้านการพัฒนาชนบท
เดือนกันยายนนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือด้านการพัฒนาชนบทแก่ประเทศสมาชิก EU ทั้ง 25 ประเทศ ในช่วงปี 2550-2556 ซึ่งโปรตุเกสได้รับมากเป็นอันดับหกคือ 3,900ล้านยูโร โดยโปรตุเกสจะใช้เงินนี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ยากจนของประเทศ โดยมีเป้าหมายที่การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในภาคเกษตรกรรม การป่าไม้ และการรักษาสิ่งแวดล้อม
สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ในระยะหลัง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโปรตุเกสเริ่มชะลอตัว และอยู่ที่ร้อยละ -1.2 ในปี 2546 (ค.ศ.2003) ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของสหภาพยุโรป ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.7 เหตุผลสำคัญคือ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทั่วโลก ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น และปัจจุยทางการผลิตอื่น ที่ทำให้โปรตุเกสจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถทางการผลิตเพื่อปรับสภาพทางเศรษฐกิจให้เข้ากับภาวะการแข่งขันสูงของเศรษฐกิจโลก
ในปี 2548 โปรตุเกสประสบปัญหาการขาดดุลงบประมาณถึง 6%ของGDP ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลง Stability and Growth Pact ของสหภาพยุโรป ซึ่งจำกัดการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐของประเทศสมาชิกไว้ไม่เกินร้อยละ 3 รัฐบาลปัจจุบันจึงได้เข้มงวดมากขึ้นในนโยบายทางการเงิน และขึ้นภาษีประเภทต่างๆ รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน เชื้อเพลิง และภาษียาสูบ ฯลฯ
เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2548 มีเพียง 0.3% และในการเติบโตดังกล่าว ประกอบกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจของโลกที่สูงขึ้น จากกลุ่มประเทศสมาชิกใหม่ในสหภาพยุโรป และประอื่นๆ นอกสหภาพยุโรป รัฐบาลโปรตุเกสมีนโยบายควบคุมไม่ให้ค่าครองชีพของประชาชนพุ่งสูงขึ้น เพื่อระวังการลดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต
นอกจากนี้ การเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นของประชาชน( 13.8% คิดเป็นมูลค่า 3,600 ล้านยูโร) สามารถส่งผลกระทบต่อสเถียรภาพทางเศรษฐกิจของโปรตุเกสในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากหนี้ดังกล่าวถึง 80%เป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อหรือปลูกสร้างบ้าน
จากรายงานของ OECD ในปี 2549 โปรตุเกสจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างการผลิตให้ทันสมัยขึ้น โดยพัฒนาการศึกษา การส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาทางเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความสามารถทางการผลิตของโปรตุเกสในระยะยาว และมาตรการปิองกันการสร้างเงินเฟ้อที่เกิดจากการขึ้นค่าจ้างทั้งนี้ โปรตุเกสมีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ (ในปี 2549 เป็นจำนวน385.9ยูโร/เดือน) ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปก่อนปี ค.ศ. 2003 เพื่อการสร้างสเถียรภาพทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของแหล่งลงทุนในโปรตุเกส รัฐบาลได้เป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างกลุ่มสหภาพแรงงานและผู้จ้างในช่วง 5 ปี ระหว่างปี 2007-2001 (เฉลี่ยปีละ 4.5 %) โดยในปี ค.ศ. 2011 ค่าจ้างขั้นต่ำในโปรตุเกสโดยเฉลี่ยจะอยุ่ที่ 500 ยูโร
นอกจากนี้รัฐบาลโปรตุเกสเห็นความสำคํญในการลดการขาดดุลงบประมาณ โดยการปฏิรูประบบอากรให้มีประสิทธิภาพ การปฏิรูประบอบราชการให้ทันสมัยขึ้น และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลโปรตุเกสพยายามผลักดันอย่างมากในเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และประสบผลสำเร็จอย่างสูงในปี 2531 (ค.ศ.1988) รัฐวิสาหกิจในความรับผิดชอบของรัฐมีจำนวนร้อยละ 19.4 และเป็นแหล่งจ้างงานร้อยละ 6.4 ของการจ้างงานโดยรวมของประเทศ ในปี 2540 (ค.ศ.1997) รัฐวิสาหกิจของโปรตุเกสลดจำนวนลงเหลือเพียงร้อยละ 5.8 และ 2.2 ตามลำดับ รัฐบาลโปรตุเกสได้ดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในปี 2542 (ค.ศ.1999) สามารถทำรายได้ให้รัฐถึง 23.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันวิสาหกิจหลายแห่งที่เคยเป็นกิจการของรัฐได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์และมีการขยายตัวสูง หลายบริษัทที่มีศักยภาพสูงได้ขยายไปลงทุนในต่างประเทศด้วย อาทิเช่น EDP (ไฟฟ้า) และ Portugal Telecom (โทรคมนาคม) ได้ไปลงทุนอย่างมากในกิจการไฟฟ้าและโทรคมนาคมในประเทศบราซิล เป็นต้น
อุตสาหกรรม
โปรตุเกสเป็นประเทศขนาดย่อมและไม่มีทรัพยากรมากนัก เดิมเป็นประเทศเกษตรกรรมและต้องนำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันจากต่างประเทศทั้งหมด การพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจที่มีรากฐานด้านการเกษตรและการประมง มาเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการบริการ
โปรตุเกสไม่มีอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมหลักของโปรตุเกส ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องหนัง ไม้ ไม้ก๊อก (cork) กระดาษและสิ่งพิมพ์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยาง แร่โลหะ แร่อโลหะ base metallurgy อุปกรณ์การขนส่ง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แต่โรงงานอุตสาหกรรมของโปรตุเกสมักมีขนาดย่อมและต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาป้อนโรงงาน ดังนั้น โปรตุเกสจึงสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ
การท่องเที่ยว
โปรตุเกสเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจของชาวยุโรปเหนือ เนื่องจากโปรตุเกสเป็นประเทศที่สวยงาม มีอากาศอบอุ่น ฤดูหนาวไม่หนาวจัด ทางภาคใต้ของโปรตุเกสมีอากาศอบอุ่นตลอดปี อีกทั้งการเดินทางสะดวกทั้งทางเครื่องบิน รถยนต์ และรถไฟ
โปรตุเกสมีรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมากต่อปี โดยระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2544 (ค.ศ. 2001) มีรายได้จำนวน 4,655 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีการจ้างงานในสาขานี้ คิดเป็นร้อยละ 5 ของแรงงานทั้งหมด โดยมีจำนวนแรงงานประมาณ 255,000 คน มีนักท่องเที่ยวจำนวน 12 ล้านคน และคนต่างชาติที่เดินทางเข้าโปรตุเกสจำนวน 22 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากปีที่แล้ว แม้ว่าหลังเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 (ค.ศ. 2001) จะมีนักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางไปโปรตุเกสในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้โรงแรมในกรุงลิสบอนสูญเสียรายได้ประมาณ 4.9 ล้านยูโร สำนักงานการท่องเที่ยวโปรตุเกสก็ยังคาดหวังว่า ช่วงต่อไปโปรตุเกสจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยือนโปรตุเกสมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรปซึ่งหลีกเลี่ยงการเดินทางไปเที่ยวแหล่งเดิม เช่น สหรัฐอเมริกาและตะวันออกกลาง โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปโปรตุเกสมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ สเปน สหรัฐฯ และเยอรมนี
ชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นนักผจญภัยโดยสายเลือดมักจะนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ ในปัจจุบันชาวโปรตุเกสไปเยือนยุโรปเป็นจำนวนมาก เพราะการเดินทางสะดวกมากทั้งทางเครื่องบิน รถไฟ และรถยนต์ ซึ่งหากนับจำนวนเที่ยวเดินทางจะเห็นได้ว่าสูงมาก ในขณะที่เดินทางไปเยือนประเทศแถบเอเชียเพียงประมาณร้อยละ 1
เมื่อเดือนมกราคม 2549 รัฐบาลโปรตุเกสประกาศแผน 10 ปี เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มสัดส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยวใน GDP 1และเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีคุณภาพในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยตั้งเป้าหมายใน 7 พื้นที่ต่างกันคือ Alqueva, Alentejo, Douro, Serra da Estrela, Porto Santo, Madeira , Azores และมีนโยบายเสริมสร้างแบรนด์ Portugal tourism ในต่างประเทศ
การลงทุนจากต่างประเทศและการลงทุนในต่างประเทศของโปรตุเกส
สหภาพยุโรปเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการลงทุนโดยตรง (FDI) สำคัญที่สุดของโปรตุเกส ระหว่างปี 1996 ถึง ปี 2006 พบว่า ประเทศที่เข้าไปลงทุนในโปรตุเกสมากที่สุดมีลำดับดังต่อไปนี้ สเปน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สวิสเซอแลนด์ และเยอรมนี ภาคธุรกิจที่มีการเข้ามาลงทุนมากที่สุดได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูป ร้อยละ 34 งานบริการในโรงแรม ร้ายอาหาร ร้อยละ 26 งานบริการอื่นๆร้อยละ 24 การเงินการธนาคาร ร้อยละ 7 ปัจจุบัน ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในมือของนักธุรกิจต่างชาติ โดยเฉพาะนักธุรกิจสเปนซึ่งได้กว้านซื้อธุรกิจและการลงทุนจำนวนมากในโปรตุเกส รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในโปรตุเกสเป็นธนาคารของสเปน
นอกจากนั้น โปรตุเกสยังมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศด้วย โดยเน้นการลงทุนในประเทศอดีตอาณานิคม เช่น ในแอฟริกาเน้นการลงทุนที่อังโกลาและโมซัมบิก (ปัจจุบันโปรตุเกสเป็นประเทศหลักที่นำสินค้าและบริการเข้าอังโกล่า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าดังกล่าวมีการเพิ่มตัวถึงร้อยละ 12 ในปี 2005) ส่วนในอเมริกาใต้ การร่วมทุนที่สำคัญคือ โครงการการลงทุนทางตอนใต้ของบราซิล หรือ Lisbon-South Brazil Investment Program ในปี 2549 โปรตุเกสไปลงทุนในบราซิลรวมมูลค่าถึง 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนทางด้านโทรคมนาคมและโรงงานไฟฟ้า การปฏิบัติงานบนทางหลวง ซีเมนต์ และ ธุรกิจขายส่ง นอกจากนั้น โปรตุเกสยังมีการลงทุนในกลุ่มประเทศ Mercosur ซึ่งประกอบด้วย บราซิล อาร์เจนตินา ปารากวัย และอุรุกวัย ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า นับจากปี 2542 (ค.ศ. 1999) เป็นต้นมา โปรตุเกสไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าต่างประเทศเข้าไปลงทุนในโปรตุเกส อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความน่าลงทุนของโปรตุเกสอาจมีท่าทีดีขึ้น โดยเมื่อกลางเดือน กันยายน 2549บริษัทเฟอร์นิเจอร์ IKEA ของสวีเดน ซึ่งได้มาก่อตั้งบริษัทในโปรตุเกสได้ระยะหนึ่งแล้ว ได้ประกาศร่วมกับรัฐบาลโปรตุเกสถึงแผนการลงทุนในโปรตุเกสเพิ่มอีก 660 ล้านยูโรภายในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนถึง 2000 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า นับจากปี 2542 (ค.ศ.1999) เป็นต้นมา โปรตุเกสไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าต่างประเทศเข้าไปลงทุนในโปรตุเกส โดยเฉพาะขยายไปยังประเทศในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกส (CPLP) อัฟริกา และเอเชีย และเน้นการลงทุนในภาคการบริการ อาทิ การธนาคร และการสื่อสารโทรคมนาคม
การค้าระหว่างประเทศ
สหภาพยุโรปเป็นตลาดสำคัญสำหรับการส่งออกของโปรตุเกส หรือคิดเป็นร้อยละ 82.8 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของโปรตุเกส ประเทศคู่ค้าสำคัญคือ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ได้แก่ เยอรมนี (ร้อยละ 19.2) สเปน (ร้อยละ 18.6) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 12.6) และอังกฤษ (ร้อยละ 10.3) ตลาดสำคัญนอกสหภาพยุโรป ได้แก่ สหรัฐฯ กลุ่มประเทศ EFTA และญี่ปุ่น สำหรับการนำเข้าสินค้า โปรตุเกสนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปมากที่สุดหรือคิดเป็นร้อยละ 77.4 ได้แก่ สเปน (ร้อยละ 26.5) เยอรมนี (ร้อยละ 13.9) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 10.3) และอังกฤษ (ร้อยละ 5) แหล่งนำเข้านอกสหภาพยุโรปที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น
สินค้าส่งออกที่สำคัญของโปรตุเกส ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันดิบ รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ น้ำมันสำเร็จรูป ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ยารักษาหรือป้องกันโรค
สินค้านำเข้าที่สำคัญของโปรตุเกส รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ น้ำมันสำเร็จรูป ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ รองเท้าที่มีพื้นด้านนอกทำด้วยยาง/พลาสติก เครื่องรับวิทยุ
มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า
โปรตุเกสได้สร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ที่เมืองซีเนส ทางใต้ของกรุงลิสบอน ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทท่าเรือของสิงคโปร์ โดยรัฐบาลได้สนับสนุนให้มีการสร้างถนนจากท่าเรือตัดผ่านประเทศไปยังสเปนเพื่ออำนวยความสะดวกด้านโลจิสติก
หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนและการค้าของโปรตุเกส
รัฐบาลโปรตุเกสมีหน่วยงาน ICEP (www.icep.pt) ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และการส่งออกสินค้าโปรตุเกส
ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนในโปรตุเกส
- โปรตุเกสเข้าเป็นสมาชิกและถือปฏิบัติตามข้อบังคับทางศุลกากรของสหภาพยุโรป (EU Customs Code) อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1993
- โปรตุเกสได้กำหนดให้สินค้าเกษตร สินค้าสิ่งทอบางประเภท และสินค้าอุตสาหกรรมบาง รายการ ต้องมีใบอนุญาตการนำเข้าเป็นพิเศษ และสินค้านำเข้าต้องมีการให้รายละเอียดตาม directives ของสหภาพยุโรป และเมื่อมีการนำออกจำหน่ายในท้องตลาด จะต้องมีการให้รายละเอียดและวิธีการใช้สินค้าเป็นภาษาโปรตุเกส
- แม้โปรตุเกสส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยผู้ต้องการลงทุนในโปรตุเกสเพียงแต่ลงทะเบียนกับสำนักงาน Foreign Trade, Tourism, and Investment Promotion Agency แต่โปรตุเกสจำกัด สัดส่วนการถือหุ้นสำหรับเจ้าของซึ่งไม่ใช่คนชาติของสหภาพยุโรป ในกิจการด้านการการบินพลเรือน โทรทัศน์ และการโทรคมนาคม นอกจากนี้ หากประสงค์จะจัดตั้งสถาบันทางการเงิน หรือบริการสินเชื่อ หรือเข้าควบคุมกิจการบริษัทการเงินหรือการตั้งสาขา จะต้องได้รับการอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศโปรตุเกส (สำหรับบริษัทจากสหภาพยุโรป) หรือจากกระทรวงการคลัง (ในกรณีของบริษัทนอกกลุ่มสหภาพยุโรป) และโปรตุเกสยังไม่มี export processing zones
- สำหรับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่รัฐเป็นเจ้าของกิจการ กฎหมายของโปรตุเกสให้อำนาจ รัฐบาลโปรตุเกสในการกำหนดการเข้าร่วมของต่างชาติเป็นรายกรณี แต่มีนโยบายสนับสนุนการเข้ามีส่วนร่วม ลงทุนซื้อหุ้นของคนชาติโปรตุเกสมากกว่าต่างชาติ เพื่อส่งเสริมและเพิ่มจำนวนการดำเนินการบริษัทโปรตุเกส ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
- ด้านการจ้างงาน บริษัทที่จ้างงานคนงานมากกว่า 5 คน จะจำกัดการจ้างคนงานต่างชาติไม่ให้เกินร้อยละ 10 ของแรงงานจัดจ้าง แต่มีข้อยกเว้นสำหรับกิจการบางประเภทที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ดี คนงานสัญชาติสหภาพยุโรปและบราซิล ไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว
- โปรตุเกสไม่มีการควบคุมการไหลเข้าออกของทุน ยกเว้นในบางกรณีที่ธนาคารชาติมีสิทธิยับยั้งชั่วคราว แต่ในกรณีการนำเข้าหรือนำออกทอง หรือเงินในปริมาณมาก จะต้องแจ้งต่อศุลกากร
- สำหรับการขออนุญาตเปิดร้านอาหารในโปรตุเกส ในทางปฏิบัติจะใช้เวลานานในการขอรับใบอนุญาต (ประมาณ 1 ปี) เนื่องจากโปรตุเกสมีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากในการดำเนินกิจการร้านอาหารและต้องปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานของโปรตุเกสดังที่กล่าวข้างต้นอย่างเคร่งครัด
ระดับการศึกษาของชาวโปรตุเกส
สภาวะการถดถอยด้านการศึกษาในโปรตุเกสเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจในระยะ 5ปีที่ผ่านมา OECDได้รายงานด้านการศึกษาของโปรตุเกสว่า คนโปรตุเกสไปโรงเรียนโดยเฉลี่ยเพียง 8.5 ปี ในขณะที่ประเทศ OECDอื่นๆ ได้แก่ 11.4 ปี คนโปรตุเกสประมาณ 25% จบการศึกษาระดับมัธยมปลาย ในขณะที่ประเทศ OECD อื่นๆโดยเฉลี่ย 67% จบมัธยมปลาย และพบว่านักเรียนโปรตุเกสศึกษาวิชาณิตศาสตร์น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศ OECD ส่วนใหญ่
คนเข้าเมืองโดยถูกกฎหมายในโปรตุเกส
ตั้งแต่ปี 2545 ที่โปรตุเกสเริ่มใช้เงินยูโร พบว่ามีชาวต่างประเทศจากยุโรปตะวันออก อัฟริกา บราซิล และอื่นๆอพยพเข้ามาหางานทำในโปรตุเกสจำนวนมาก ในเดือนธันวาคม 2548 จำนวนคนที่เข้าเมืองและอยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมายได้ประมาณ 460,000 คน แต่ปลายเดือนสิงหาคม 2549 ปรากฏรายงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองโปรตุเกสว่า คนงานต่างชาติในโปรตุเกสลดลงเหลือ 418,000คน สำหรับสถานะจำนวนชาวต่างชาติที่ทำงานอย่างถูกกฎหมายในโปรตุเกสขณะนี้ พบว่าชาวเคปเวิร์ดมีจำนวนสูงสุด คือ 68,000 คนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3,000คน ชาวบราซิล 64,000คนลดลง 11,000คน ชาวยูเครน 43,000 คน ชาวอังโกล่า 34,000 คน ชาวกินีบิสเซา 25,000คน ขางอังกฤษ 18,000 คน สเปน 16,000 คน และมอลโดวา 15,000 คน ซึ่งเป็นชาวยุโรปตะวันออกชาติเดียวที่มีจำนวนมากขึ้นในปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 โปรตุเกสได้ประกาศยกเลิกการขอใบอนุญาตทำงานในโปรตุเกสสำหรับพลเรือนประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป10ประเทศไม่ที่เข้าร่วมสหภาพในปี 2548 ซึ่งนับเป็นการเพิ่มจำนวนประเทศที่พลเรือนไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตทำงาน ตามความประสงค์ของคณะกรรมการสหภาพยุโรปที่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี รัฐบาลโปรตุเดกสได้ประกาศที่จะยกเลิก้อกีดกันคนงานจากประเทศยุโรปตะวันออกที่เข้าเป็นสมาชิกEU เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2004 รวม 8 ประเทศ คือ สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี เอสโตเนีย ลัตเวีย วิทัวเนีย โปแลนด์ สโลวาเกีย และสโลวีเนีย โดยแรงงานจากประเทศดังกล่าวสามารถเดืนทางเข้าไปหางานทำในโปรตุเกสได้ โดยประกาศดัวกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2549
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐโปรตุเกส |
โปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เริ่มเข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี ค.ศ.1511 ในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้มีการติดต่อค้าขายและร่วมมือกันหลายด้านด้วยดี สมเด็จพระไชยราชาธิราชได้พระราชทานที่ดินแก่ชาวโปรตุเกสที่อาศัยอยู่ในพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าบ้านโปรตุเกส และต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชทานที่ดินฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้แก่โปรตุเกส เมื่อปี ค.ศ.1820 อันเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสในปัจจุบัน ดังนั้น โปรตุเกสจึงนับเป็นประเทศยุโรปที่มีความสัมพันธ์กับไทยมานานที่สุดเกือบ 5 ศตวรรษไทยและโปรตุเกสได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1859 ซึ่งทั้งสองประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรี การพาณิชย์ และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) ในปี ค.ศ. 1981 ไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงลิสบอน ส่วนโปรตุเกสเข้ามาตั้งสถานกงสุลที่กรุงเทพ ฯ เมื่อปี ค.ศ.1818 ซึ่งนับเป็นสถานกงสุลแห่งแรกในประเทศไทย ปัจจุบันสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยมีเขตอาณาครอบคลุมสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ลาว และ พม่า
ในปี พ.ศ. 2554 ที่จะถึงนี้จะเป็นปีที่ครบรอบความสัมพันธ์ 500 ปี ไทย-โปรตุเกส
การแลกเปลี่ยนการเยือนที่สำคัญ
ระดับพระราชวงศ์
- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนโปรตุเกส เมื่อเดือนตุลาคม
ค.ศ. 1897
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ
เยือนโปรตุเกสอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 22 - 25 สิงหาคม ค.ศ. 1960
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐโปรตุเกส
อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 1-8 เมษายน 2543
ระดับรัฐบาล
- 20 - 21 เมษายน ค.ศ. 1987 ศาสตราจารย์ ดร.อนิบัล กาวักกู ซิลวา (Anibal Cavaco Silva) นายกรัฐมนตรีโปรตุเกสเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล พร้อมด้วยนาย Pires de Miranda รัฐมนตรีต่างประเทศโปรตุเกส
- 1-2 มีนาคม ค.ศ. 1996 นายอันโตนิโอ มานูเอล เดอ โอลิเวียร่า กูเตร์เรส (Antonio Manuel de Oliveira Guterres) นายกรัฐมนตรีโปรตุเกส และนาย Jaime Gama รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโปรตุเกสเดินทางเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ครั้งที่ 1
- 20-21 ธันวาคม ค.ศ. 1999 ดร. Jorge Fernando Branco de Sampaioประธานาธิบดีโปรตุเกสและภริยา และคณะซึ่งประกอบด้วยนาย Luis Amado รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประธานสภาหอการค้าโปรตุเกส และประธานสภาอุตสาหกรรมโปรตุเกส เดินทางเยือนไทย อย่างเป็นทางการ ฐานะแขกของรัฐบาล (working visit)
- 17-19 พฤษภาคม 2545 (ค.ศ. 2002) ดร. Jorge Fernando Branco de Sampaio ประธานาธิบดีโปรตุเกสและนาง Maria Jose Ritta ภริยา ได้เดินทางแวะผ่านประเทศไทยเพื่อไปร่วมงานฉลองเอกราชของติมอร์ตะวันออก โดยในวันที่ 18 พฤษภาคม 2545 (ค.ศ. 2002) ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระวังไกลกังวล หัวหิน และหลังจากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเป็นเกียรติ
2. ความสัมพันธ์ทางการเมือง
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกสดำเนินไปด้วยความราบรื่นและไม่มีปัญหาขัดแย้งระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อโปรตุเกสยังคงผูกพันนโยบายและผลประโยชน์ของตนอยู่กับสหภาพยุโรปอย่างเหนียวแน่น ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-โปรตุเกสจึงไม่ได้พัฒนามากเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการเมืองกับประเทศไทยตลอดยาวนานเกือบ 500 ปี โปรตุเกสให้ความสนับสนุนแก่อาเซียนและไทยตลอดมาในปัญหาสำคัญ ๆ อาทิ ปัญหากัมพูชา รัฐบาลโปรตุเกสมีโครงการจะเปิดสถานเอกอัครราชทูตเพิ่มเติมขึ้นในประเทศอาเซียน เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย ปัจจุบันปัญหาติมอร์ตะวันออกที่เคยเป็นอุปสรรคในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสกับไทยและประเทศต่างๆ ในอาเซียน ตลอดช่วง 2 ทศวรรษได้หมดไปแล้ว และทั้งไทยและโปรตุเกสพยายามร่วมมือกันมากขึ้นในการฟื้นฟูติมอร์ตะวันออกและผลักดันอาเซียนและสหภาพยุโรปเพิ่มความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2000 ซึ่งโปรตุเกสดำรงตำแหน่งประธานสหภาพยุโรป (EU Presidency) และไทยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประจำอาเซียน(ASEAN Standing Committee-ASC)
3. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
3.1 การค้า
ในปี 2549 โปรตุเกสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 64 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 17 ของไทยในกลุ่มสหภาพยุโรป
การค้ารวม
ในปี 2548 การค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ย 134.31 ล้านดอลลาร์ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออกของไทยไปโปรตุเกส
ในปี 2548 การส่งออกมีมูลค่าเฉลี่ย 101.57 ล้านดอลลาร์ และในระยะ 4 ปีระหว่าง 2542-2545 การส่งออกมีมูลค่าเฉลี่ย 114.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2545 (ค.ศ. 2002) การส่งออกมีมูลค่า 84.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 24.54 ในปี 2549 โปรตุเกสเป็นประเทศที่ไทยส่งออกเป็นอันดับที่ 54 สัดส่วนร้อยละ 0.12
สินค้าส่งออกของไทยไปโปรตุเกสที่สำคัญ
ในปี 2548 สินค้าส่งออกของไทยไปยังโปรตุเกส ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ (24.5ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (13.3ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (12.2ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ (10.3ล้นดอลลาร์สหรัฐ) แผงวงจร (3.7ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ข้าว (3.4ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ผลิตภัณฑ์ยาง (2.9ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ผลิตภัณฑ์พลาสติก (2ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อัญมณีและเครื่องประดับ (1.8ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้(1.7ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปโปรตุเกสรวม 101.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2547 ร้อยละ 11.55 (ในปี2547มีมูลค่า115ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
สินค้าส่งออกที่มีโอกาสขยายตลาด เครื่องปรับอากาศ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ แผงพิมพ์วงจร ข้าว และผลิตภัณฑ์ยาง
การนำเข้าจากโปรตุเกสมาไทย
ในปี 2548 การนำเข้ามีมูลค่าเฉลี่ย 32.75 ล้านดอลลาร์ และในระยะ 4 ปีระหว่าง 2542-2545 การนำเข้ามีมูลค่าเฉลี่ย 26.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 และ ไทยเป็นผู้นำเข้าสินค้าโปรตุเกสอันดับที่ 56 สัดส่วนร้อยละ 0.08
สินค้านำเข้าจากโปรตุเกสมาไทยที่สำคัญ
ในปี 2548 สินค้าที่ไทยนำเข้าจากโปรตุเกส (มูลค่าจากมากไปน้อย จำนวน 10อันดับแรก) เครื่องจักรและส่วนประกอบ (7.2ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โลหะอื่นๆ และเศษโลหะ (6.7ล้านดอลลาร์สหรัฐ)ผลิตภัณฑ์เบ็ดเตล็ด (5.7ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ (1.9ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ผลิตภัณฑ์กระดาษ (1.8ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (1.4ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เคมีภัณฑ์ (1.2ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เส้นใย (1.1ล้านดอลลาร์สหรัฐ) คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (0.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ (0.7ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากโปรตุเกสรวม 32.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ร้อยละ 62.37 (ในปี 2547 มีมูลค่า 20.2ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า
- การนำสินค้าเข้าไปขายในโปรตุเกสโดยตรงจากไทยยังไม่สามารถทำได้เต็นที่เพราะการขนส่งไม่สะดวก ไม่มีสายการบินตรงระหว่างโปรตุเกสและไทย สินค้าไทย ส่วนใหญ่จะนำเข้าสู่โปรตุเกสผ่านประเทศที่สาม เช่น เนเธอร์แลนด์ สเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี
- การติดต่อประสานงานกระทำได้ยาก ขาดข้อมูลข่าวสารการตลาด อีกทั้ง อุปสรรคทางด้านภาษาที่ใช้ติดต่อกัน ปัจจุบันสำนักงานพาณิชย์ฯ ณ กรุงลิสบอนได้ปิดทำการลง โดยมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์ฯ ณ กรุงมาดริด เป็นผู้ดูแลแทน ส่งผลให้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอนขาดข้อมูลที่สำคัญทางด้านการค้าไปมาก อีกทั้งการจัดตั้งสมาคมการค้าไทย-โปรตุเกสยังไม่เป็นที่เรียบร้อย
- เสียเปรียบประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปในด้านค่าขนส่งและภาษี
- โปรตุเกสให้ความสำคัญในด้านการติดต่อค้าขายกับประเทศสมาชิกประชาคมประเทศ ที่ใช้ภาษาโปรตุเกส (CPLP) ซึ่งเป็นประเทศอดีตอาณานิคมของโปรตุเกสในแอฟริกาและบราซิล ตลอดจนให้สิทธิพิเศษตลอดจนมาตรการด้านภาษีที่สนับสนุนการนำเข้าสินค้า
- สินค้าส่งออกของโปรตุเกสมีลักษณะใกล้เคียงสินค้าส่งออกของไทย ดังนั้น โปรตุเกสจึงมองประเทศไทยในฐานะคู่แข่งมากกว่าคู่ค้า
สมาคมการค้าไทย-โปรตุเกส
เมื่อเดือนตุลาคม 2539 (ค.ศ. 1996) สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสแห่งประเทศไทยร่วมกับนายอัมรินทร์ คอมันตร์ กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐเบนินประจำประเทศไทยและประธานกลุ่มธุรกิจThai Star ได้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมการค้าไทย-โปรตุเกส (Commercial Association Luso-Thai - ACLT) เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในด้านการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศทั้งสอง และสนับสนุนโครงการร่วมทุนของทั้งสองฝ่าย สมาคมการค้าไทย-โปรตุเกส กำหนดมีพิธีเปิดเมื่อต้นปี 2540 (ค.ศ.1997) แต่ต่อมา ทางสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสได้แจ้งขอเลื่อนกำหนดการดังกล่าวออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากยังมีข้อชัดข้องบางประการในการจัดประชุม ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า
3.2 โอกาสของแรงงานไทยในโปรตุเกส
โอกาสที่แรงงานไทยจะเข้าไปทำงานในโปรตุเกสมีน้อย เนื่องจากโปรตุเกสไม่อยู่ในภาวะ ขาดแคลนแรงงาน และต้องแข่งขันกับแรงงานของประเทศอื่น ๆ ที่ได้อพยพเข้าไปอยู่ในโปรตุเกสเป็น จำนวนมาก ทั้งจากประเทศอาณานิคมเก่าและประเทศยุโรปตะวันออก นอกจากแรงงานเหล่านี้จะได้เปรียบด้านภาษาแล้ว ยังเป็นแรงงานฝีมือขั้นสูงอีกด้วย อาทิ แรงงานในการแพทย์ทางเลือก (alternative medicine) อาทิ การนวดแผนไทย การประกอบอาหารไทย และช่างแกะสลักผักผลไม้
4. ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและวิชาการ
4.1 ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม
ไทยกับโปรตุเกสได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1985 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1985 และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม ฯ โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพตามแต่จะตกลงกัน โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1990 และฝ่ายโปรตุเกสที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ โดยสถาบันคามอยซึ่งเป็นองค์กรภายใต้กระทรวงการต่างประเทศโปรตุเกสได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม สำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านวัฒนธรรมฯ ครั้งต่อไป ซึ่งจะเป็นครั้งที่ 3 โดยฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ทั้งสองฝ่ายจะหารือกันเพื่อกำหนดวันการประชุมที่จะเป็นการสะดวกสำหรับทั้ง 2 ฝ่ายต่อไป ปัจจุบันความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยโปรตุเกสมีเพิ่มขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก 3 สถาบัน ดังนี้
1.มูลนิธิกุลเบงเกียน (Calouste Gulbenkian Foundation) ของโปรตุเกส ได้ให้ทุนการศึกษาแก่
ฝ่ายไทยโดยเน้นการศึกษาทางมรดกวัฒนธรรม นอกจากนั้น ในโอกาสเฉลิมฉลองงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี มูลนิธิกุลเบงเกียนร่วมกับกรมศิลปากรได้จัดพิมพ์หนังสือ "476 ปี แห่งความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส" ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารทางวิชาการที่มีคุณค่ายิ่งทางด้านประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ
นอกจากนั้น เมื่อปี ค.ศ.1983 มูลนิธิฯ ยังได้มอบเงิน 800,000 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่กรมศิลปากร เพื่อสนับสนุนโครงการบูรณะหมู่บ้านโปรตุเกส ที่ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา เพื่อค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ อาทิ โบสถ์นักบุญเปโดร โบสถ์นักบุญเปาโล โบสถ์นักบุญโดมินิก และโบสถ์คณะฟรานซิสกัน รวมทั้งสร้างศาลาท่าน้ำ โป๊ะเทียบเรือ ศาลาอเนกประสงค์ และศาลาริมทาง เพื่อบริการแก่ผู้สนใจเข้าชมและศึกษา และยังสนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรม อีกหลายกิจกรรม รวมทั้งการบูรณะพื้นฟูโบสถ์โปรตุเกสอื่นๆ ในไทย และให้ทุนการศึกษา
ในการเตรียมงานการฉลอง 500 ปี ไทย-โปรตุเกส มูลนิธิร่วมกันกับกรมศิลปากรจะทำการบูรณะหมู่บ้านโปรตุเกสในจังหวัดอยุทธยาเพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุทธยา
2. มูลนิธิตะวันออก (Orient Foundation) ของโปรตุเกส ให้ทุนการศึกษาแก่ฝ่ายไทยปีละ 2 ทุน โดยเน้นทางด้านภาษาและศิลปะโปรตุเกส และกำลังบูรณะกำแพงเมืองที่สร้างโดยทหารช่างโปรตุเกส
3. สถาบันคามอย (Instituto Camoes) ซึ่งดำเนินการภายใต้กระทรวงการต่างประเทศโปรตุเกสได้ให้การสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายแก่ฝ่ายไทย โดยเน้นทางด้านการศึกษาต่อทางด้านวัฒนธรรมและมีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิชาการระหว่างไทย โปรตุเกสภายใต้ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศด้วย
4.2 ความร่วมมือทางวิชาการ
ปัจจุบันมีความร่วมมือทางวิชาการระหว่างทบวงมหาวิทยาลัยของไทยกับโปรตุเกส
ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการ คือ
1) มหาวิทยาลัย Porto (Universidade do Porto)
มีข้อตกลงกับ 3 มหาวิทยาลัย คือ
:- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ลงนาม 17 เมษายน ค.ศ. 1998 มีผลบังคับใช้ 5 ปี) มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้บริหารระดับสูงและอาจารย์ และไทยส่งนักศึกษาไปศึกษาที่โปรตุเกส ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ความสำคัญกับการวิจัยเกี่ยวกับต้นมะกอกและการผลิตน้ำมันมะกอก
:- มหาวิทยาลัยบูรพา (ลงนาม 9 มิถุนายน ค.ศ. 1997 มีผลบังคับใช้ 5 ปี) มีการแลกเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง อาจารย์และนักศึกษา และมหาวิทยาลัย Porto เคยส่งคณะนักร้องประสานเสียง 50 คน มาร่วมพิธีเฉลิมฉลองในวโรกาสครบ 72 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
:- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ลงนาม 17 มิถุนายน ค.ศ. 1997 มีผลบังคับใช้ 5 ปี) ยังไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดๆ หลังลงนาม
2) มหาวิทยาลัย Portuguese Catholic University (Universidade Catolica Portuguese) มีข้อตกลงฯ กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ลงนามเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1998 มีผลบังคับใช้ 5 ปี ฝ่ายไทยได้เสนอขอรับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า
4) มหาวิทยาลัยโคอิมบรา (Universidade de Coimbra)มีข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนาม 31 มกราคม ค.ศ.2000 ไม่ระบุวันหมดอายุ ทั้งนี้ เคยมีการจัดสัมมนา ร่วมกันระหว่างสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยกับคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยส่ง อาจารย์มาสอนภาษาโปรตุเกสที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีข้อตกลงกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว
ไทยและโปรตุเกสได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ.1989 เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดยุโรปอื่นๆ ตลาดนักท่องเที่ยวโปรตุเกสยังคงจัดว่ามีขนาดเล็ก ทั้งที่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโปรตุเกสมีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ชาวโปรตุเกสมีความเป็นอยู่ที่ดี มีกำลังซื้อและใช้สอยเพิ่มขึ้น และเริ่มสนใจการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น (นักท่องเที่ยวโปรตุเกสส่วนใหญ่จะชอบเที่ยวเป็นกลุ่มและเลือกที่หมายที่สามารถสื่อสารเข้าใจ นอกจากนั้น ยังชอบเที่ยวธรรมชาติ ป่าเขา ชายทะเล เล่นกีฬากลางแจ้ง และเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์) แต่จำนวนนักท่องเที่ยวโปรตุเกสที่เดินทางมาท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (ยกเว้นมาเก๊า) ยังมีน้อยมากสำหรับไทยนั้น สำหรับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดนักท่องเที่ยวโปรตุเกสในไทย มีการขยายตัวพอสมควร ปัจจุบันมีบริษัททัวร์ในโปรตุเกสประมาณ 20 แห่งที่ได้บรรจุประเทศไทยในโปรแกรมการท่องเที่ยวแล้ว ชาวโปรตุเกสโดยทั่วไปมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทย และได้เดินทางมาเยือนไทยเพิ่มขึ้น จากจำนวนพันเป็นจำนวนหมื่น ซึ่งนับว่าไม่น้อยเมื่อเทียบกับประชากรที่มีเพียง 10.6 ล้านคนและอยู่ห่างไกลจากประเทศไทยมาก แต่ในปี 2543 (ค.ศ. 2000) จำนวนนักท่องเที่ยวจากโปรตุเกสได้ลดจำนวนลงถึงร้อยละ 36 โดยมีจำนวนเพียง 7,150 คน ซึ่งอาจเนื่องมาจาก ค่าครองชีพของโปรตุเกสเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้มีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวชะลอตัวลง ชาวโปรตุเกสจึงเลือกเดินทางไปยังประเทศยุโรปที่ใกล้เคียงมากกว่าเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ชาวโปรตุเกสจำนวนมากได้เคยเดินทางมาประเทศไทยแล้ว จึงอาจขาดแรงจูงใจที่จะเดินทางมาเยือนอีก ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวโปรตุเกสในไทยยังรวมถึง
- ปัญหาการเข้าถึง (accessibility) ในช่วงปลายปี ค.ศ.1998 หลังจากสายการบิน TAP ซึ่งเป็นสายการบินเดียวที่ให้บริการตรงในเส้นทางลิสบอน-กรุงเทพฯ-มาเก๊า ถูกยกเลิก ทำให้ขาดความสะดวกในการเดินทาง โดยต้องไปอาศัยสายการบินอื่นๆ ในยุโรปซึ่งต้อง stop-over ที่ยุโรปก่อน ระยะเวลาในการเดินทางและค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นจึงมีผลต่อ package การท่องเที่ยวไปยังประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ ในกลุ่ม long haul ด้วยกัน เช่นแคริบเบียนหรืออเมริกา
- ความรู้จักประเทศไทยทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวและในธุรกิจท่องเที่ยวยังมีค่อนข้างต่ำ
Travel agency ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย package การท่องเที่ยวให้กับ tour operators ต่างๆ ยังขาดความรู้เกี่ยวกับสินค้าท่องเที่ยวในไทย โอกาสที่บริษัทดังกล่าวจะชักชวนให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปประเทศไทยจึงค่อนข้างน้อย
- ความสัมพันธ์ทางด้านอื่นๆ เช่น การค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ ยังมีไม่สูงนัก
7. ความตกลง
7.1 ความตกลงที่ลงนามแล้ว
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒธรรม
- สนธิสัญญาแลกเปลี่ยนนักโทษ
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการบิน
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
7.2 ความตกลงที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ
7.2.1 ความตกลงว่าด้วยการการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (The Agreement on Promotion and Protection of Investment)
7.2.2 อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (The Convention on the Avoidance of Double Taxation)
7.2.3 ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (The Agreement between Thailand and Portugal on Abolition of Visa Requirement for Holders of Diplomatic and Official Passports)
7.2.4 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Agreement)
7.2.5 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และวิชาการ
8. คนไทยในโปรตุเกส
คนไทยในโปรตุเกสมีจำนวน 108 คน ส่วนใหญ่เป็นสตรีที่สมรสกับชาวโปรตุเกส หรือสมรสกับชาวยุโรปหรืออเมริกันและติดตามสามีไปทำงานที่โปรตุเกส ผู้ที่เป็นนักเรียนมีจำนวน 5 คน
10. ร้านอาหารไทยในโปรตุเกส
ปัจจุบันมีร้านอาหารไทย ทั้งหมด 10 ร้านในโปรตุเกส โดย 4 ร้านอยู่ในลิสบอน ที่เหลื่อกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ส่วนใหญ่ในเมืองท่องเที่ยวของโปรตุเกส ร้านอาหารไทยในกรุงลิสบอนเกือนทั้งหมดเป็นร้านที่ตั้งใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
11. หน่วยราชการของไทยในโปรตุเกส
Royal Thai Embassy Rus de Alcolena , 12 , Restelo Tel (351) 2130-14848, 2130-15051, 2130-15151
12.รายชื่อคณะรัฐมนตรีโปรตุเกส
นายกรัฐมนตรี (Prime Minister) Jose Socrates
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบริหารภายใน (Minister if State and Minister for Internal Administration) Antonio Costa
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ (Minister of State and Minister of Foreign Affairs) Luís Filipe Marques Amado
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง (Minister of State and Minister for Finance) Teixeira dos Santos
รัฐมตรีประจำประธานาธิบดี (Minister for the Presidency) Pedro Silva Pereira
รัฐมนตรีกลาโหม (Minister for National Defence) Luis Amado
รัฐมนตรียุติธรรม (Minister for Justice) Alberto Costa
รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม วางผังเมืองและพิฒนาภูมิภาค (Minister for Environment, Territorial Planning and Regional Development) Francisco Nunes Correia
รัฐมนตรีเศรษฐกิจและนวัตกรรม (Minister for the Economy and Innovation) Manuel Pinho
รัฐมนตรีเกษตร กิจกรรมชนบท และการประมง (Minister for Agriculture, Rural Affairs and Fisheries) Jaime Silva
รัฐรัฐมนตรีโยธาธิการขนส่ง และการสื่อสาร (Minister for Public Works, Transports and Communication) Mario Lino
มนตรีศึกษาธิการ (Minister for Education) Maria de Lurdes Rodrigues
รัฐมนตรีแรงงานและความสามัคีสังคม (Minister for Labour and Social Solidarity) Jose Veira da Silva
รัฐมนตรีสาธารณสุข (Minister for Health) Antonio Correia de Campos
รัฐมนตรีศีกษาธิการ (Minister for Education) Maria de Lurdes Rodgriques
รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการศึกษาระดับสูง (Minister for Science, Technology and Higher Education) Mariano Gago
รัฐมนตรีวัฒนธรรม (Minister for Culture) Isabel Pires de Lima
รัฐมนตรีกิจการสภา (Minister for Parliament Affairs) Augusto Santos Silva
มกราคม 2550
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น