ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปเอเซีย

    ลำดับตอนที่ #3 : สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

    • อัปเดตล่าสุด 9 ม.ค. 50




     
    สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ
    People’s Republic of Bangladesh


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง ทิศเหนือ ตะวันตก และตะวันออกตอนบนติดกับอินเดียโดยมีแนวชายแดนยาวติดต่อกันประมาณ 4,053 กิโลเมตร ทิศตะวันออกตอนล่างติดกับพม่า มีแนวยาว 193 กิโลเมตร และทิศใต้ติดกับอ่าวเบงกอล

    พื้นที่ 144,000 ตารางกิโลเมตร

    เมืองหลวง กรุงธากา (Dhaka)

    เมืองสำคัญต่างๆ เมืองจิตตะกอง (Chittagong) เป็นเมืองใหญ่อันดับสองและเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ เป็นเมืองธุรกิจและมีสนามบินนานาชาติ

    ภูมิอากาศ พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นที่ราบลุ่ม ในฤดูร้อนมักเกิดอุทกภัย

    ประชากร 141,340,476 คน (2548)

    เชื้อชาติ: เบงกาลี (Bengalee) ร้อยละ 98 นอกนั้นเป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ

    ภาษา : ภาษาบังกลา (Bangla) เป็นภาษาราชการ ภาษาอังกฤษใช้สื่อสารได้ในหมู่ผู้มีการศึกษาดี และมีภาษาท้องถิ่นของชนกลุ่มน้อย

    ศาสนา: นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 88 ศาสนาฮินดู ร้อยละ 10 ศาสนาพุทธ ร้อยละ 0.6 ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 0.3 และประชากรที่เหลือนับถือศาสนาอื่น ๆ


    การศึกษา : อัตราการรู้หนังสือโดยรวม ร้อยละ 43.1

    วันสำคัญ : 26 มีนาคม 2514 (ค.ศ. 1971) เป็นวันที่ปากีสถานตะวันออกประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากปากีสถานตะวันตก และใช้ชื่อว่าบังกลาเทศ

    ประธานาธิบดี Professor Dr. Iajuddin Ahmed ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2545 ขณะนี้ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าที่ปรึกษารัฐบาลรักษาการอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย (chief of caretaker government) และได้แต่งตั้งที่ปรึกษารัฐบาลรักษาการอีก 10 คนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของบังกลาเทศ เพื่อดูแลกระทรวงต่างๆ และเตรียมการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนมกราคม 2549

    การเมืองการปกครอง
    ฝ่ายนิติบัญญัติ
    บังกลาเทศมีเพียงสภาเดียว คือ Jatiya Sangsad หรือสภาแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิก 300 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไปทุก 5 ปี โดยมี Barrister Muhammad Jamiruddin Sircar เป็นประธานสภาแห่งชาติคนปัจจุบัน (โดยประธานสภาจะดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการประธานาธิบดี หากประธานาธิบดีไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้)

    ฝ่ายบริหาร
    ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ มาจากการเลือกสรรโดยรัฐสภา และอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คำแนะนำของนายกรัฐมนตรีและกองทัพ มีบทบาทหน้าที่ในด้านพิธีการ มีอำนาจในการแต่งตั้งรองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หัวหน้าคณะผู้พิพากษาและคณะผู้พิพากษา แต่เมื่ออยู่ในฐานะผู้รักษาการขณะที่ไม่มีรัฐบาล ประธานาธิบดีจะมีอำนาจเพิ่มขึ้นในการควบคุมกระทรวงกลาโหมและสามารถประกาศกฎอัยการศึก รวมทั้งสามารถยุบสภาฯ ตามที่ได้รับการเสนอโดยนายกรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐบาลรักษาการได้ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Iajuddin Ahmed ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2545
    พรรคที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภาจะได้รับโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน โดยหัวหน้าพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากจะได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี พรรค Bangladesh Nationalist Party นำโดยนาง Khaleda Zia ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในปี 2544 ซึ่งได้สิ้นสุดวาระในวันที่ 27 ตุลาคม 2549

    ฝ่ายตุลาการ
    บังกลาเทศใช้ระบบศาลแบบอังกฤษ โดยมีทั้งศาลแพ่งและศาลอาญา โดยศาลฎีกา(Supreme Court) เป็นศาลสูงสุดซึ่งแบ่งเป็นสองส่วนคือ Appellate Division และ High Court Division และยังมีศาลระดับล่างได้แก่ district courts thana courts และ village courts นอกจากนี้ยังมีศาลพิเศษอื่นๆ เช่น ศาลครอบครัว ศาลแรงงาน เป็นต้น

    ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
    ดินแดนที่เป็นประเทศบังกลาเทศในปัจจุบันมีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 1,000 ปี เดิมเป็นส่วนหนึ่งของชมพูทวีป (อินเดีย) เคยเป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธมาก่อน ต่อมาพ่อค้าชาวอาหรับได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่จนชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามมาจนถึงทุกวันนี้
    ในปี 2300 อังกฤษได้เข้าไปยึดครองชมพูทวีป และดินแดนแห่งนี้ได้ตกเป็นอาณานิคมของ อังกฤษเกือบ 200 ปี ต่อมาในปี 2490 ดินแดนแถบนี้ได้รับเอกราช แต่บังกลาเทศก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน เรียกกันว่าปากีสถานตะวันออก ต่อมาชาวเบงกาลีในปากีสถานตะวันออกไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลกลาง ซึ่งอยู่ในปากีสถานตะวันตก เนื่องจากถูกแสวงหาประโยชน์และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ซึ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออก นอกจากนี้ปากีสถานทั้งสองยังมีความแตกต่างด้านภาษา วัฒนธรรมและเชื้อชาติอีกด้วย ชาวเบงกาลีจึงจัดตั้งพรรค Awami League (AL) ขึ้นเมื่อปี 2492 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวเบงกาลี โดยมี Sheikh Mujibur Rahman เป็นหัวหน้า
    เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2514 ปากีสถานตะวันออกได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราช ภายใต้ชื่อ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ทำให้ปากีสถานตะวันตกส่งกองกำลังทหารเข้าปราบปราม อินเดียได้ส่งทหารเข้าไปช่วยเหลือปากีสถานตะวันออก ในที่สุดฝ่ายปากีสถานตะวันตกพ่ายแพ้ในการรบและยินยอมให้เอกราชแก่บังกลาเทศเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2514 มีนาย Sheikh Mujibur Rahman หัวหน้าพรรค AL ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของบังกลาเทศ โดยเป็นประมุขของรัฐและฝ่ายบริหารคนแรก (Father of the Nation)

    พัฒนาการทางการเมืองของบังกลาเทศภายหลังเอกราช
    ประธานาธิบดี Sheikh Mujibur Rahman ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2518 โดยฝีมือนายทหารกลุ่มหนึ่ง การปกครองในระยะแรกนี้มีการก่อรัฐประหารหลายครั้ง และลอบสังหารประธานาธิบดีจนเสียชีวิตหลายคน สถานการณ์ทางการเมืองของบังกลาเทศตกอยู่ในสภาวะระส่ำระสายและเป็นการปกครองโดยผู้นำทางทหารตลอดมากว่า 20 ปี และพลโท Hussain Mohammad Ershad ประธานาธิบดี (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2525 – 2533) ได้ถูกฝ่ายค้านกดดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อถ่ายโอนอำนาจการบริหารจากประธานาธิบดีไปให้นายกรัฐมนตรี พลโท Ershad ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2533 และถูกจำคุกในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง
    ในปี 2533 บังกลาเทศได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเป็นครั้งแรก โดยผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรค Bangladesh Nationalist Party (BNP) นำโดยนาง Khaleda Zia ได้รับชัยชนะ และเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในปี 2535
    นาง Khaledia Zia ก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง และเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2539 ประธานาธิบดีบังกลาเทศได้ประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 12 มิถุนายน 2539 ภายหลังความวุ่นวายจากการประท้วงของพรรคฝ่ายค้านซึ่งประกอบด้วยพรรค Awami League พรรค Jatiya Party (JP) และพรรค Jamaat-e-Islami (JI) ที่ต้องการให้นาง Khaleda Zia ลาออก ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคฝ่ายค้านได้รับชัยชนะและนาง Sheikh Hasina หัวหน้าพรรค AL (บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดี Sheikh Mujibur Rahman )ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐบาลผสมครั้งแรกของบังกลาเทศ ระหว่างพรรค AL และพรรค JP ที่มีพลโท Ershad อดีตประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าพรรค และได้ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งนายรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2539 แต่ต่อมาในเดือนกันยายน 2540 พรรค JP ได้ถอนตัวออกจากรัฐบาลและเข้าเป็นแนวร่วมฝ่ายค้านกับพรรค BNP
    ตามรัฐธรรมนูญของบังกลาเทศ คณะรัฐมนตรีจะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ดังนั้น ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2544 รัฐบาลของนาง Sheikh Hasina จึงได้หมดวาระลง และเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 ประธานาธิบดี Shahabuddin Ahmed ได้ประกาศยุบสภาตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี และเมี่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2544 รัฐบาลของนาง Sheikh Hasina ได้ถ่ายโอนอำนาจไปยังรัฐบาลรักษาการที่จะต้องมีหน้าที่ จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 90 วัน และในการนี้ประธานาธิบดี Shahabuddin Ahmed ได้แต่งตั้ง Justice Latifur Rahman อดีตหัวหน้าผู้พิพากษาศาลฎีกาให้ดำรงตำแหน่ง Chief Advisor ของรัฐบาลรักษาการหรือเทียบเท่านายกรัฐมนตรีและนาย Latifur Rahman ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 15 กรกฎาคม 2544 นอกจากนี้ ประธานาธิบดี Shahabuddin Ahmed ได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา (Council of Advisors) จำนวน 10 คน ตามคำแนะนำของนาย Latifur Rahman เพื่อปฎิบัติหน้าที่เทียบเท่ารัฐมนตรีในคณะรัฐบาล ต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนตุลาคม 2544 พรรค BNP ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งและ นาง Khaleda Zia ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2544 และได้กำหนดที่จะมีการเลือกตั้ง ภายหลังการสิ้นสุดวาระการทำงานของรัฐบาลปัจจุบันในปี 2549
    สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน
    ขณะนี้ บังกลาเทศอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลรักษาการนำโดยประธานาธิบดีซึ่งดำรงเป็นที่ปรึกษารัฐบาลรักษาการ (chief of caretaker government) อีกตำแหน่งหนึ่ง ภายหลังที่อดีตพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านไม่สามารถประนีประนอมเรื่องผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าที่ปรึกษารัฐบาลรักษาการ ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรเป็นอดีตประธานศาล นาย KM Hasan แต่ได้ถูกคัดค้านจากอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งนอกจากได้คัดค้านการดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้ว อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการปฎิรูป กกต. และได้กดดันให้ประธาน กกต ลาออก และตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งใหม่ โดยพรรคฝ่ายค้านได้ใช้วิธีการจัดการประท้วงทั่วประเทศและการปิดล้อมหน้าทำเนียบ โดยภายหลังวาระรัฐบาลของนาง Khaleda Zia ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 27 ต.ค. 49 อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านได้จัดการประท้วงและการปิดกั้นการคมนาคมในประเทศอย่างน้อยแล้ว 4 ครั้ง เพื่อกดดันรัฐบาลรักษาการ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งกำหนดในวันที่ 22 ม.ค. 50 (หลังจากเลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่งจากวันที่ 21 ม.ค. เป็นวันที่ 23 ม.ค 50)
    นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน
    บังกลาเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร โดยมีพรรคสำคัญ 2 พรรคคือพรรค Bangladesh Nationalist Party (BNP) และพรรค Awami League (AL) โดยที่ทั้งสองพรรคได้ผลัดกันขึ้นเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้านตลอดมา โดยล่าสุดพรรค BNP เป็นพรรครัฐบาล และ AL เป็นพรรคฝ่ายค้าน

    ด้านความมั่นคง
    รัฐบาลบังกลาเทศที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อปราบปรามการก่อการร้าย เช่น การจับกุมการค้าอาวุธที่ผิดกฎหมาย การจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกระบุแน่ชัดว่าเป็นผู้ก่อการร้าย การประกาศว่ารัฐบาลจะไม่ให้ที่พักพิงแก่ผู้ก่อการร้าย การปราบปรามกิจกรรมการก่อการร้ายในสถานศึกษา การจัดการประชุมระดับชาติเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้าย การสืบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดต่าง ๆ และการจัดตั้งการปฏิบัติการ “Operation Clean Heart” ซึ่ง เป็นการรวมกองกำลังทหารร่วมกับตำรวจในการจับกุมผู้ต้องสงสัยเรื่องการก่อการร้ายทั่วประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันยังประกาศที่จะยกเลิกกฎหมายต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งออกโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว อย่างไรก็ดี นโยบายการปราบปรามการก่อการร้ายนี้ ถูกวิพากษ์วิจารย์จากพรรคฝ่ายค้าน นักศึกษา และประชาชนว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกระทำไปเพื่อจำกัดบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

    ด้านเศรษฐกิจ
    แม้บังกลาเทศจะเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) แต่ก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจซึ่งไทยไม่ควรมองข้าม โดยเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรทางทะเล พร้อมกันนี้ยังสามารถเป็นตลาดสินค้าต่าง ๆ ของไทย เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค และการบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าภาคธุรกิจบริการจะทำรายได้ให้กับบังกลาเทศคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของ GDP แต่ประชาชนบังกลาเทศส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน และประกอบอาชีพเกษตรกร รัฐบาลบังกลาเทศเน้นในเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (economic freedom) โดยใช้การทูตเชิงเศรษฐกิจ (economic diplomacy) ให้ความสำคัญกับการดึงการลงทุนจากต่างชาติ (อนุญาตให้คนต่างชาติลงทุนถือหุ้นได้ทั้งหมดเช่นเดียวกับชาวบังกลาเทศ) รวมทั้งการเรียกความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุนทั้งภายในและจากต่างประเทศให้กลับคืนมา กระตุ้นการส่งออกโดยเฉพาะการเพิ่มโควต้าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังต่างประเทศ การส่งเสริมให้แรงงานบังกลาเทศไปทำงานในต่างประเทศ และการทบทวนเรื่องการให้ visa on arrival กับประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

    การค้า
    บังกลาเทศยึดหลักเศรษฐกิจการตลาด มีนโยบายส่งเสริมการส่งออก อย่างไรก็ดี โดยที่การส่งออกของบังกลาเทศขึ้นอยู่กับสินค้าเพียงไม่กี่ชนิดและมีตลาดส่งออกที่จำกัดเพียงไม่กี่ประเทศ (โดยร้อยละ 76 ของการส่งออกทั้งหมดเป็นสินค้าสิ่งทอที่ส่งไปยุโรป) จึงให้ความสำคัญกับการสร้างความหลากหลายให้กับตัวสินค้าและหาตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกให้มากที่สุดและลดการขาดดุลการค้า บังกลาเทศพึ่งพาการนำเข้าจากอินเดียเป็นส่วนใหญ่ มีมูลค่าถึงปีละ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลล่าสุดได้มั่งเน้นนโยบายที่จะหันไปค้าขายกับประเทศอื่นๆ ให้มากขึ้น เพื่อลดการพิ่งพาอินเดียลง สวนปัญหาและอุปสรรคทางการค้า ได้แก่ การห้ามนำเข้าหรือการจำกัดโควต้าข้าวและน้ำตาล รวมทั้งปัญหาด้านการขนส่ง เป็นต้น ระบบพิธีการศุลกากรมาตรการที่มิใช่ทางภาษี เช่น การห้ามนำเข้าหรือจำกัดโควต้า

    การลงทุน
    ตั้งแต่ต้นปี 2533 บังกลาเทศได้ปรับเปลี่ยนนโยบายหลายประการเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการถือหุ้นของต่างชาติ อนุญาตให้ส่งผลกำไรและรายได้ออกไปต่างประเทศได้โดยเสรี และมีมาตรการให้ความสำคัญกับบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในประเทศ เป็นต้น โดยสหรัฐอเมริกาเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในบังกลาเทศ รองลงมา คือ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และ สหราชอาณาจักร
    อุตสาหกรรมที่ควรเข้าไปลงทุน ได้แก่ ด้านการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีมากถึง 11 ล้านล้านตารางฟุต ด้านสาธารณูปโภค ด้านประมง (แต่ปัจจุบันรัฐบาลบังกลาเทศยังไม่มีนโยบายที่จะเปิดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในการจับปลาในบังกลาเทศ) การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรด้านอุตสาหกรรม เช่น เสื้อผ้า เครื่องหนัง อุตสาหกรรมเบา ด้านบริการต่าง ๆ และด้านการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคขั้นพื้นฐาน
    อุปสรรคที่สำคัญที่ขัดขวางการลงทุน ได้แก่ การประสบภัยจากพายุไซโคลนและอุทกภัยบ่อยครั้ง การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ และปัญหาการเมืองภายในประเทศโดยเฉพาะการเดินขบวนประท้วง (hartal) ของพรรคฝ่ายค้านที่มีอยู่เป็นประจำ

    ด้านต่างประเทศ
    รัฐบาลชุดล่าสุดได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มุ่งเสริมสร้างผลประโยชน์ทาง
    เศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบมุ่งตะวันออก (Look East) โดยการกระชับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ไทย พม่า และกลุ่มอาเซียน ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของนโยบายต่างประเทศบังกลาเทศ การเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียของนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศอย่างต่อเนื่อง นับเป็นประจักษ์พยานที่ดีต่อการเสริมสร้างนโยบายต่างประเทศที่มุ่งสนับสนุนผลประโยชน์ของบังกลาเทศในประเทศใหม่ ๆ เหล่านี้ ซึ่งการดำเนินนโยบายแบบมุ่งตะวันออกของบังกลาเทศนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการลดอิทธิพลของอินเดียที่มีต่อบังกลาเทศลงด้วยนอกจากนี้ บังกลาเทศมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์กับตะวันออกกลาง ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจบังกลาเทศในด้านพลังงาน การส่งออกแรงงาน และความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาประเทศ และในฐานะที่เป็นประเทศ OIC ปัจจุบัน บังกลาเทศเป็นสมาชิก BIMSTEC ACD SAARC NAM และ ARF และเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในการสนับสนุนภารกิจการรักษาสันติภาพ มีทหารบังกลาเทศจำนวน 9,758 ราย ปฏิบัติใน 1 2 ภารกิจทั่วโลก (ร้อยละ 14 ของกองกำลังรักษาสันติภาพทั้งหมด) ซึ่งเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของบังกลาเทศในทางที่ดี

    เศรษฐกิจการค้า
    หน่วยเงินตรา ตากา (Taka) 1 ตากา เท่ากับ 100 เปซ่า (Paisa)
    หรือ 1 บาทประมาณ 1.83 ตากา และ1 ดอลลารสหรัฐ เท่ากับ ประมาณ 68 ตากา (กันยายน 2549)

    GDP ประมาณ 61,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)

    อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประมาณร้อยละ 5.2 (ปี 2548)

    รายได้เฉลี่ยต่อหัว ประมาณ 412 ดอลลาร์สหรัฐ (2547)

    สินค้าส่งออกที่สำคัญ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ปอและสินค้าจากปอ หนังสัตว์ ปลาและอาหารทะเลแช่แข็ง

    สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ เหล็ก และเหล็กกล้า สิ่งทอ ฝ้ายดิบ อาหาร น้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์จากปิโตเลียม ซีเมนต์

    ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อินเดียสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีน

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ
    ด้านการทูต
    ไทยกับบังกลาเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2515 บังกลาเทศมีความสัมพันธ์อันดีกับไทยมาโดยตลอด ทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชน ปัจจุบันนายสุพัฒน์ จิตรานุเคราะห์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา (ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศภูฏานด้วย) สำหรับเอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือนาย Shahed Akhtar ซึ่งเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2547 และได้ถวายอักษรสาส์นตราตั้งต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 24 มีนาคม 2547

    ด้านการเมือง
    ไทยและบังกลาเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นรม.บังกลาเทศและ นรม. ไทยได้พบหารือกันหลายโอกาส ครั้งล่าสุดได้หารือกันระหว่างการประชุม UNGA เมื่อเดือนกันยายน 2548 ไทยและบังกลาเทศมีความร่วมมือในหลายด้าน ได้แก่ การลดภาษีให้สินค้าบังกลาเทศจำนวน 229 รายการ โครงการก่อสร้างทางยกระดับกรุงธากา โครงการเครือข่ายถนนเชื่อม 3 ฝ่ายระหว่างไทย –พม่า – บังกลาเทศ โครงการปลูกมะพร้าว 10 ล้านต้นเป็นกำแพงกันคลื่นลมตามแนวชายฝั่งบังกลาเทศ ซึ่งในเดือนมิถุนายน 2547 ไทยได้ส่งมะพร้าวจำนวน 4 พันผลไปให้บังกลาเทศ และผู้เชี่ยวชาญด้านพืชสวนไปแนะนำการปลูกมะพร้าว นอกจากนี้ จากการที่บังกลาเทศประสบกับอุทกภัยในเดือนกรกฎาคม 2547 ไทยได้บริจาคข้าวจำนวน 1,000 ตันเพื่อเหตุผลด้านมนุษยธรรม ในด้านพลังงาน มีความร่วมมือระหว่าง ปตท.สผ. กับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของบังกลาเทศ นอกจากนี้ ไทยและบังกลาเทศมีความร่วมมืออย่างดีในเวทีระหว่างประเทศได้แก่ ARF, ACD, BIMSTEC, OIC และสหประชาชาติ และบังกลาเทศเป็นประเทศที่สนันสนุนไทยด้วยดีในเวที OIC


    ด้านเศรษฐกิจ
    ในปี 2548 การค้าระหว่างไทย – บังกลาเทศ มีมูลค่ารวม 424.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจากปี 2547 ประมาณ 36.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 367.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2549 การค้าระหว่างไทย-บังกลาเทศมีมูลค่า 139.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 130 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 9.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปบังกลาเทศ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ผ้าผืน เม็ดพลาสติก น้ำตาล ทราย ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และเคมีภัณฑ์
    สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากบังกลาเทศ ได้แก่ กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ปลาหมึกสด ปุ๋ย หนังดิบและหนังฟอก เครื่องมือและอุปกรณ์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ผ้าผืน ด้ายทอผ้าไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับบังกลาเทศมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี ทั้งสองประเทศยังมีลู่ทางที่จะขยายความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกันอีกมาก สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกไปบังกลาเทศได้แก่ ผลิตผลทางการเกษตร อาหารแช่แข็ง วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์สำหรับทำการประมง เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยอาจส่งอาหารฮาลาลไปยังบังกลาเทศได้อีกด้วย
    สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมบังกลาเทศ-ไทย (BTTCI) ถูกจัดตั้งเมื่อปี 2546 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมธุรกิจระหว่างกัน และมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับสภาธุรกิจไทย-บังกลาเทศ (Thai-Bangladesh Joint Business Council -TBBC) จัดการสัมมนาและการเยือนของนักธุรกิจในลักษณะศึกษาดูงาน และ business matching เพื่อขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน
    ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยไปประกอบธุรกิจในบังกลาเทศประมาณ 13 บริษัท เช่น
    บริษัทซีพีผลิตอาหารสัตว์ บริษัท Thai Classical Leathers ผลิตเครื่องหนัง และบริษัทผลิตน้ำดื่มบังกลาเทศ-ไทยน้ำแร่ จำกัด เป็นต้น
    ไทยและบังกลาเทศเห็นพ้องกันว่า ยังมีโอกาสและศักยภาพที่จะร่วมธุรกิจลงทุนระหว่างกันอีกมาก โดยบังกลาเทศเชิญชวนภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนทั้งในรูปแบบไทยถือหุ้นทั้งหมด หรือการร่วมทุนทางธุรกิจ (Joint Venture) โดยเฉพาะในส่วนที่บังกลาเทศได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าในฐานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries-LDCs) จากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ แต่บังกลาเทศยังมีกำลังการผลิตไม่ถึงโควต้าที่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว นอกจากนั้น ไทยยังสามารถใช้บังกลาเทศเป็นฐานผลิตส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นตลาดใหญ่ เช่น อินเดีย อีกด้วย
    สาขาที่บังกลาเทศสนใจที่จะร่วมลงทุน ได้แก่ การออกแบบและรับเหมาก่อสร้าง
    โดยเฉพาะ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โรงพยาบาล อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องหนัง อุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ และการเลี้ยง Black Mongol Goats เป็นต้น
    ปัจจุบันรัฐบาลบังกลาเทศได้พยายามชักชวนให้นักธุรกิจไทยไปร่วมลงทุนในโครงการก่อสร้าง โรงแรมที่กรุงธากาและโครงการพัฒนาทะเลสาบ Foy’s Lake ที่เมืองจิตตะกองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นอกจากนี้ บังกลาเทศยังมีโครงการสร้างทางยกระดับที่กรุงธากา โดยขอรับความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากประเทศไทย
    ตามที่มีนโยบายให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งทางอากาสของภูมิภาคอีกแห่งหนึ่งของไทย และให้สายการบินไทยเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ – จิตตะกอง เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2545 สัปดาห์ละ 3 เที่ยว และบริษัทการบินไทยเสนอให้พื้นที่ในสำนักงานที่จิตตะกองเป็นที่ทำการออกวีซ่าโดยสอท. ณ กรุงธากาได้จัดเจ้าหน้าที่ของ สอท. ผลัดเปลี่ยนกันไปปฏิบัติงานที่จิตตะกองสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
    ผู้โดยสารที่ใช้บริการเที่ยวบินกรุงเทพฯ-เชียงใหม่-จิตตะกองในปัจจุบันมีจำนวนสูงขึ้นจากสถิติเดิมที่เปิดบริการบินตั้งแต่เดือนธันวาคม 2545 ซึ่งมีผู้โดยสารเฉลี่ยจำนวน 3,896 คนต่อเดือน เมื่อเดือนมีนาคม 2547 มีจำนวน 5,428 คน อันเป็นผลมาจากส่งเสริมด้านการตลาด ดังนั้นการบินไทย จึงได้เปลี่ยนเครื่องบินจากเดิมแบบ B 737 ความจุ 149 ที่นั่ง มาเป็นเครื่องบิน Air Bus ความจุ 247 ที่นั่ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2547 ซึ่งเครื่องบินแบบนี้สามารถขน Cargo ได้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย สำหรับจำนวนเที่ยวบินยังคงบินสัปดาห์ละ 3 เที่ยว
    นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีบังกลาเทศได้อนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงการบินพาณิชย์และการท่องเที่ยวบังกลาเทศให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารสนามบินนานาชาติที่เมืองจิตตะกอง (Shah Amanat International Airport) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งเดิมได้กำหนดลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และบัดนี้บริษัทการบินไทยอยู่ระหว่างเตรียมขนย้ายอุปกรณ์เข้าบริหารสนามบินจิตตะกอง บริษัทการบินไทยได้เสนอรายได้จากการเข้าบริหารสนามบินดังกล่าวให้แก่รัฐบาลบังกลาเทศจำนวน 520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การตัดสินใจให้ภาคเอกชนเข้าบริหารสนามบินดังกล่าวของรัฐบาล เพื่อต้องการลดการขาดทุนซึ่งสะสมมานาน โดยคาดหวังว่าด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของบริษัทการบินไทยจะทำให้การบริหารสนามบินดังกล่าวมีความคุ้มค่า
    ปัญหาอุปสรรคในการทำการค้าและการลงทุนในบังกลาเทศ
    การจัดเก็บภาษีบังกลาเทศยังคงพึ่งระบบการจัดเก็บภาษี/ศุลกากรในการดำเนินนโยบายการค้าต่างประเทศเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยมีการเรียกเก็บสินค้านำเข้าเกือบทุกประเภทและมีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีโดยตรงร่วมด้วย
    - ปัญหาเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองในประเทศ
    - ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
    - การนัดหยุดงานหรือการประท้วงซึ่งมีขึ้นเป็นประจำทำให้เกิดการชะงักงันของการดำเนินธุรกิจ
    - ปัญหาความล่าช้าในระบบราชการ
    - ปัญหาเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่ได้มาตรฐาน
    - ปัญหาการจัดระบบการคมนาคมขนส่งซึ่งรวมถึงความแออัดของท่าเรือจิตตะกอง

    ด้านสังคมและวัฒนธรรม
    ไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางวิชาการกับบังกลาเทศ โดยเน้นความร่วมมือทางวิชาการในด้านการฝึกอบรมหรือ ดูงานเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ด้านการศึกษา สาธารณสุข การเกษตร อุตสาหกรรม การบริหาร เป็นต้น โดยให้อยู่ในรูปของความร่วมมือแบบทวิภาคี ความร่วมมือภายใต้ทุนฝึกอบรมประจำปี ความร่วมมือภายใต้โครงการฝึกอบรมประเทศที่สาม และความร่วมมือแบบไตรภาคี ทั้งนี้ในปี 2547 มีทุนการศึกษาภายใต้ความร่วมมือแบบต่างๆ รวม 26 ทุน และใน ปี 2548 ไทยให้ทุนบังกลาเทศภายใต้กรอบต่างๆ จำนวน 36 ทุน ส่วนสำหรับปี 2549 ไทยได้แจ้งเวียนทุนให้บังกลาเทศเสนอชื่อผู้สมัครรับทุนแข่งขันกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จำนวน 42 หลักสูตร ภายใต้ทุนโครงการฝึกอบรมประจำปี ทุนความร่วมมือแบบไตรภาคี (ร่วมกับ JICA และ UNICEF) และทุนศึกษาระดับปริญญาโทที่ประเทศไทย
    สำหรับความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-บังกลาเทศนั้น ประเทศไทยพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์ในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น การนำคณะสื่อมวลชนบังกลาเทศมาไทย การจัดการแสดงนาฏศิลป์และเทศกาลอาหาร โครงการอาหารไทยที่เมืองจิตตะกอง และการแลกเปลี่ยนคณะนักแสดง ส่วนปี 2549 ได้จัดงานเทศกาลอาหารและผลไม้ไทยที่กรุงธากา ระหว่างวันที่ 24-30 มิถุนายน 2549 นอกจากนี้ ไทยและบังกลาเทศได้จัดทำแผนปฏิบัติการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมสำหรับปี 2549-2553 เพื่อช่วยส่งเสริมการติดต่อระดับประชาชนให้มีมากขึ้น
    ปัจจุบันตลาดนักท่องเที่ยวบังกลาเทศมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.33 เมื่อเทียบกับตลาดนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศอื่นๆ ของไทย
    นอกจากความนิยมในการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยแล้ว ปัจจุบันชาวบังกลาเทศยังนิยมเดินทางเข้ามารับการรักษาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลในไทยและนิยมส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาของไทยด้วย เนื่องจากความเชื่อมั่นในคุณภาพและความก้าวหน้า รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับการเดินทางไปสหรัฐฯ หรือยุโรป
    ในระดับทวิภาคี ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย – บังกลาเทศ ขึ้นเมื่อปี 2525 ซึ่งได้มีการประชุมมาแล้ว 6 ครั้ง (ครั้งที่ 6 จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2541) ในระดับพหุภาคี ไทยกับบังกลาเทศเป็นสมาชิกก่อตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจบังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย (BISTEC) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2540 และต่อมากลายเป็นกรอบความร่วมมือทางBIMSTEC เมื่อมีการรับสมาชิกเพิ่มขึ้น

    ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย
    1. ความตกลงทางการค้าระหว่างกัน (ปี 2520)
    2. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการประมง (ปี 2521)
    3. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม การศึกษา และ วิทยาศาสตร์ระหว่างกัน (ปี 2522)
    4. ความตกลงว่าด้วยการเดินเรือระหว่างกัน (ปี 2531)
    5. ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างกัน (ปี 2540)
    6. ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างกัน (ปี 2545)
    7. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจร่วม ไทย-บังกลาเทศ (ปี 2545)

    6. การเยือนของผู้นำระดับสูง
    ฝ่ายไทย
    พระราชวงศ์

    - สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการระหว่าง 16 – 21 มกราคม 2535
    รัฐบาล
    - พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเยือนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการระหว่าง 8-10 สิงหาคม 2526
    - นายพิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรีเยือนบังกลาเทศระหว่าง 6 -9 กรกฎาคม 2528
    - ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนบังกลาเทศระหว่าง 29 – 30 พฤษภาคม 2532
    - ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนบังกลาเทศ โดยเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยเพื่อร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 3 ระหว่าง19 -21 ธันวาคม 2532
    - น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนบังกลาเทศ โดยนำคณะผู้แทนฝ่ายไทยไปร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 5 ระหว่าง 15-19 มิถุนายน 2537
    - นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการระหว่าง 20-23 เมษายน 2540
    - ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการระหว่าง 8-10 กรกฎาคม 2541
    - นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีเยือนบังกลาเทศวันที่ 9 พฤศจิกายน 2543
    - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนาง Khaleda Zia นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศระหว่าง 8-10 กรกฎาคม 2545
    - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนจิตตะกอง เพื่อเปิดเที่ยวบินเชียงใหม่- จิตตะกอง เที่ยวปฐมฤกษ์ และนำนาง Khaleda Zia นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการวันที่ 12 ธันวาคม 2545
    - พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้พบหารือทวิภาคีกับนาง Khaleda Zia นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศในระหว่างการประชุมสุดยอด NAM ครั้งที่ 13 ที่มาเลเซียเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546
    - นายประจวบ ไชยสาส์น ผู้แทนการค้าไทยเดินทางเยือนบังกลาเทศระหว่าง 30 มีนาคม – 2 เมษายน 2546
    - พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุม International Chamber of Commerce ที่กรุงธากาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2547 และได้พบหารือกับประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ
    - พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนาง Khaleda Zia ในโอกาสการประชุม UNGA สมัยที่ 60 ในเดือนกันยายน 2548
    - ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือทวิภาคีกับ นายมานจูร์ โมร์เชด ข่าน ระหว่างการประชุม ACD ครั้งที่ 6 ที่กรุงโดฮา ระหว่างวันที่23-24 พฤษภาคม 2549
    - ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนบังกลาเทศระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคม 2549

    ฝ่ายบังกลาเทศ

    - นาย Ziaur Rahman ประธานาธิบดีบังกลาเทศ และภริยาเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 8 – 10 เมษายน 2522
    - พลโท Hussain Mohammad Ershad ประธานาธิบดีบังกลาเทศแวะเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการระหว่างวันที่ 22 – 23 มิถุนายน 2528
    - นาย Humayun Rasheed Choudhury รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 26 – 28 สิงหาคม 2530
    - นาย Humayun Rasheed Choudhury รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศเยือนไทย โดยนำคณะผู้แทนบังกลาเทศมาร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6-18 มีนาคม 2531
    - พลโท Hussain Mohammad Ershad ประธานาธิบดีบังกลาเทศและภริยา เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวระหว่างวันที่ 28 – 31 มีนาคม 2531
    - พลโท Hussain Mohammad Ershad ประธานาธิบดีบังกลาเทศเยือนไทยในฐานะอาคันตุกะพิเศษ เพื่อกล่าวปราศรัยเปิดการประชุมเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน (World Conference on Education for All) ระหว่างวันที่ 5 -9 มีนาคม 2533
    - นาย Kazi Zafar Ahmed นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 21-25 พฤษภาคม 2533
    - นาง Khaleda Zia นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศแวะเยือนไทยและหารือข้อราชการกับนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีวันที่ 21 มิถุนายน 2534
    - นาย Abul Hasan Chowdhury รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศเยือนไทยเพื่อร่วมการประชุมลงนามก่อตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจบังกลาเทศ–อินเดีย– ศรีลังกา–ไทย (BISTEC) ระหว่างวันที่ 4 – 6 มิถุนายน 2540
    - นาย Abul Hasan Chowdhury รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศเยือนไทย เพื่อร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีของ BISTEC ระหว่างวันที่ 21 – 22 ธันวาคม 2540
    - นาย Abdus Samad Azad รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 6 ระหว่าง 2-4 พฤศจิกายน 2541
    - นาย Abdur Razzaq รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแหล่งน้ำบังกลาเทศเยือนไทยและได้มีการลงนามใน MOU ด้านความร่วมมือกับไทยในการพัฒนาแหล่งน้ำระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2542
    - นาย Abdul Jalil รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์บังกลาเทศเข้าร่วมการประชุม UNCTAD ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 12-19 กุมภาพันธ์ 2543
    - นาย Abdul Hasan Chowdhury รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศเยือนไทยเพื่อร่วมพิธีการจัดตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจบังกลาเทศ-อินเดีย-พม่า-ศรีลังกา-ไทย BIMSTEC ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2543
    - ดร. Mohiuddin Khan Alamgir รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนบังกลาเทศเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม ESCAP สมัยที่ 57 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 19-25 เมษายน 2544
    - นาย Morshed Khan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุม ACD ครั้งที่ 1 ที่หัวหิน ระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน 2545
    - นาง Khaleda Zia นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่าง 12-14 ธันวาคม 2545 เพื่อตอบแทนการเยือนของ ฯพณฯ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่เดินทางเยือนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่วันที่ 8-10 กรกฎาคม 2545
    - นาย Morshed Khan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุม ACD ครั้งที่ 2 ที่เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน 2546
    - นาย Morshed Khan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมประชุม BIMSTEC ที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 5 -9 กุมภาพันธ์ 2547
    - นาง Khaleda Zia นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ และนาย Morshed Khan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุม BIMSTEC ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯระหว่างวันที่ 29-31 กรกฎาคม 2547

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×