ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปเอเซีย

    ลำดับตอนที่ #18 : สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

    • อัปเดตล่าสุด 9 ม.ค. 50




     
    สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
    The Lao People's Democratic Republic


    ข้อมูลทั่วไป
    พื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร (ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย)
    เมืองหลวง นครหลวงเวียงจันทน์
    ประชากร 5.6 ล้านคน (ปี 2548) ประกอบด้วยลาวลุ่มร้อยละ 68 ลาวเทิงร้อยละ 22 ลาวสูงร้อยละ 9 รวมประมาณ 68 ชนเผ่า
    อัตราการเพิ่มประชากร ประมาณร้อยละ 2.42 ต่อปี (ปี 2548)
    ศาสนา ร้อยละ 75 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 16-17 นับถือผี ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์
    (ประมาณ 100,000 คน) และอิสลาม (ประมาณ 300 คน)
    ภาษาทางการ ภาษาลาว
    รูปแบบการปกครอง ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์โดยพรรคการเมืองเดียว คือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาวซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดตั้งแต่ลาวเริ่มปกครองในระบอบสังคมนิยม เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2518
    ประมุข พลโท จูมมะลี ไชยะสอน ประธานประเทศ
    หัวหน้ารัฐบาล นายบัวสอน บุบผาวัน นายกรัฐมนตรี
    รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนายทองลุน สีสุลิด
    สถาบันการเมืองที่สำคัญ 1. พรรคประชาชนปฏิวัติลาว
                                             2. สภารัฐมนตรี (พรรคฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี)
                                             3. สภาแห่งชาติ (ประชาชนเลือกสมาชิกสภาแห่งชาติ จากผู้ที่พรรคฯ เสนอ)
    รัฐธรรมนูญและกฎหมาย ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2534 (เดิมกฎหมาย อยู่ในรูปของคำสั่งฝ่ายบริหาร คือ ระเบียบคำสั่งของพรรคและสภารัฐมนตรี)
    การแบ่งเขตการปกครอง แบ่งเป็น 16 แขวง และ 1 เขตปกครองพิเศษ (นครหลวงเวียงจันทน์) แขวงที่สำคัญได้แก่ เวียงจันทน์ สะหวันนะเขต หลวงพระบาง จำปาสัก คำม่วน
    วันชาติ 2 ธันวาคม
    ระบบเศรษฐกิจ เริ่มปฏิรูปจากระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีการตลาด ตามนโยบาย “จินตนาการใหม่” เมื่อปี 2529
    ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว(GDP per capita) 491 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
    อัตราการเพิ่มของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(GDP Growth) ร้อยละ 7.2 (ปี 2548)
    เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 217 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
    สกุลเงิน กีบ
    เงินเฟ้อ ร้อยละ 9.6 (ปี 2548)
    อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท : 265 กีบ (พฤษภาคม 2549)
    ธนาคารต่างชาติ ดำเนินการได้ ธนาคารไทยมี 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา
    ตลาดหุ้น ไม่มี
    ตลาดส่งออกที่สำคัญ ไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี
    แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ไทย จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมนี
    สินค้าส่งออกที่สำคัญ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไม้ซุง ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้ สินแร่ เศษโลหะ ถ่านหิน หนังดิบ และหนังฟอก ข้าวโพด ใบยาสูบ กาแฟ ในปี 2548 ลาวส่งออกสินค้าเป็นมูลค่าประมาณ 379 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ร้อยละ 2
    สินค้านำเข้าที่สำคัญ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน อาหาร ผ้าผืน สารเคมี และเครื่องอุปโภคบริโภค ในปี 2548 ลาวนำเข้าสินค้าเป็นมูลค่าประมาณ 541 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2547 ร้อยละ 0.21 (หมายเหตุ : สถิติการนำเข้า-ส่งออกดังกล่าวไม่รวมถึงการค้าชายแดนซึ่งมีปริมาณประมาณร้อยละ 25-30 ของมูลค่าการนำเข้า-ส่งออก)
    ทรัพยากรสำคัญ ไม้ ดีบุก ยิบซั่ม ตะกั่ว หินเกลือ เหล็ก ถ่านหินลิกไนต์ สังกะสี ทองคำ อัญมณี หินอ่อน น้ำมัน และแหล่งน้ำผลิตไฟฟ้า
    การลงทุน รัฐบาลลาวได้ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากยิ่งขึ้น อาทิ มาตรการด้านภาษี อนุญาตให้นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงจำปาสัก และแขวงหลวงพระบาง มีอำนาจอนุมัติโครงการลงทุนที่มีมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนแขวงอื่น ๆ สามารถอนุมัติโครงการลงทุนที่มีมูลค่าลงทุนไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศในลาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2546 มีมูลค่า 465 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2547 มีมูลค่า 533 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2548 มีมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย จีน
    วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 19 ธันวาคม 2493
    เอกอัครราชทูตประจำ สปป.ลาว นายรัฐกิจ มานะทัต
    เอกอัครราชทูต สปป.ลาวประจำประเทศไทย นายเฮียม พมมะจัน
    การเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศและความร่วมมือในภูมิภาคที่สำคัญ
               - สหประชาชาติ (ปี 2495)
               - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ปี 2504)
               - กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (ปี 2507)
               - อาเซียน (กรกฎาคม 2540)
               - การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมือง และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ปี 2540)
               - ความร่วมมือเอเชีย (ปี 2545)
               - ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ปี 2546)
               - การประชุมเอเชีย-ยุโรป (ตุลาคม 2547)

    การเมืองการปกครอง
    นโยบายรัฐบาล สปป.ลาว

    • พรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดผูกขาดการปกครองประเทศ ตามระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ พรรคฯ ได้กำหนดนโยบายและเป้าหมายการพัฒนาประเทศในการประชุมสมัชชาพรรคฯ ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนมีนาคม 2549 ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติ ดังนี้

      • ปี 2563 ต้องพ้นจากสถานะการเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ต้องมีความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจต้องขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประชาชนต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากปัจจุบัน 3 เท่าตัว
      • ปี 2549-2553 เป็นช่วงของการเสริมสร้างพื้นฐานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่กำหนดไว้สำหรับปี 2563 เศรษฐกิจต้องมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปี ยุติการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย แก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นไป เตรียมพัฒนาบุคลากรรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ประชากรมีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

    • ลาวดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มุ่งสร้างเสริมความสัมพันธ์แบบรอบด้านกับทุกประเทศ บนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยไม่แบ่งแยกลัทธิอุดมการณ์เพื่อขอรับการสนับสนุนและความ ช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายตามที่พรรคฯ กำหนดไว้ ทั้งนี้ ลาวให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นลำดับแรก ได้แก่ เวียดนาม จีน พม่า กัมพูชาและไทย รองลงมาเป็นประเทศร่วมอุดมการณ์ ได้แก่ รัสเซีย เกาหลีเหนือ และคิวบา อย่างไรก็ดี แม้ว่าลาวจะพยายามดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ให้สมดุลเพื่อลดการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นหลัก แต่ข้อจำกัดของลาวที่ไม่มีทางออกทางทะเลและการด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ กอปรกับเวียดนามและจีนต้องการคงอิทธิพลในภูมิภาคอินโดจีนไว้ จึงทำให้ลาวมีความสัมพันธ์พิเศษกับเวียดนามและจีนทั้งด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลให้ประเทศทั้งสองสามารถขยายอิทธิพลในลาวได้ในระยะต่อไป

    สถานการณ์สำคัญ
    1. ด้านการเมืองและความมั่นคง
    ในปี 2548 สถานการณ์ภายในประเทศโดยรวมมีความสงบเรียบร้อย แม้ว่ายังคงมีรายงานการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลตามแขวงต่างๆ แต่ทางการลาวสามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยได้จัดวางกองกำลังลาดตระเวนในพื้นที่ต่างๆ อย่างเข้มงวดทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2549 ยุบเขตการปกครองพิเศษไชสมบูนซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง โดยโอนพื้นที่การปกครองไปขึ้นกับแขวงเชียงขวางและแขวงเวียงจันทน์ เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นแล้ว

    เมื่อวันที่ 18-21 มีนาคม 2549 ที่ประชุมสมัชชาพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ครั้งที่ 8 มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก พลโท จูมมะลี ไชยะสอน รองประธานประเทศ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะบริหารศูนย์กลางพรรค (Central Committee) และสมาชิกคณะกรมการเมือง (Politburo) ลำดับที่ 1 แทนพลเอกคำไต สีพันดอน อดีตประธานประเทศที่สละตำแหน่งในพรรคทุกตำแหน่ง และได้แต่งตั้งคณะบริหารพรรค ได้แก่ คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรค จำนวน 55 คน คณะกรมการเมือง จำนวน 11 คน คณะเลขาธิการศูนย์กลางพรรค จำนวน 7 คน และคณะกรรมการตรวจตราพรรคฯ ระดับศูนย์กลางพรรคฯ จำนวน 3 คน รวมทั้ง ได้กำหนดแผนพัฒนาประเทศระยะสั้นปี 2553 และระยะยาวปี 2563 เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ

    เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2549 สปป.ลาวได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ ชุดที่ 6 โดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาวได้คัดเลือกส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง จำนวน 175 คนเพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ จำนวน 115 ที่นั่งใน 17 เขตเลือกตั้ง (16 แขวงและนครหลวงเวียงจันทน์) ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า มีประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละร้อย สมาชิกสภาแห่งชาติที่ได้รับเลือกจำนวน 115 คน เป็นสมาชิกพรรคประชาชนปฏิวัติลาว จำนวน 113 ที่นั่ง และผู้สมัครอิสระจำนวน 2 ที่นั่ง แบ่งเป็นชนเผ่าลาวลุ่ม 92 คน ลาวเทิง 17 คน และลาวสูง 6 คน

    การประชุมสภาแห่งชาติ ชุดที่ 6 ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 17 มิถุนายน 2549 โดยในการประชุมวันแรก ที่ประชุมได้รับรองผู้ดำรงตำแหน่งประธานประเทศ รองประธานประเทศ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รวมทั้งได้มีการปรับ/จัดตั้งกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ปรับกระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรมไปรวมกับกระทรวงการค้า เป็น “กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า” และจัดตั้ง “กระทรวงพลังงานและบ่อแร่” ขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ และนำศักยภาพด้านพลังงาน (พลังงานน้ำและแร่ธาตุ) มาใช้ในการพัฒนาประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด

    2. ด้านเศรษฐกิจ
    ภาวะเศรษฐกิจของ สปป.ลาวมีพัฒนาการที่ดีตามลำดับ โดยในช่วง 20 ปีนับตั้งแต่ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีการตลาดเมื่อปี 2529 สปป.ลาวมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 6.2 ต่อปี ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2529 เป็น 491 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2548 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 10 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าเป็นสาขาหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ

    ในปี 2548 สปป.ลาวมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 7.2 เพิ่มจากร้อยละ 6.6 ในปี 2547 ภาคเกษตรกรรม มีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 190,000 เฮกตาร์ (1,187,500 ไร่) และผลิตข้าวได้ 2.6 ล้านตัน ภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล สปป.ลาวได้อนุมัติสัมปทานโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเหมืองแร่ (ทองคำ ทองแดง ดีบุก ถ่านหิน สังกะสี ยิปซั่ม) โครงการผลิตซีเมนต์และเหล็กในหลายพื้นที่เพื่อเพิ่มการส่งออก ด้านการคมนาคมขนส่ง การก่อสร้างถนนเชื่อมโยงลาวกับประเทศในอนุภูมิภาคมีความคืบหน้าอย่างมาก ถนนที่สร้างแล้วเสร็จ ได้แก่ ถนนหมายเลข 9 (ไทย-ลาว-เวียดนาม) และถนนหมายเลข 18 B (ลาว-เวียดนามตอนใต้) ในขณะที่ถนนหมายเลข 3 (ไทย-ลาว-จีน) ถนนหมายเลข 8 และหมายเลข 12 (ไทย-ลาว-เวียดนาม) จะแล้วเสร็จในปี 2550

    อย่างไรก็ดี ลาวยังคงประสบปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ที่สำคัญได้แก่ ปัญหาราคาน้ำมัน ที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาการขาดดุลการค้าในอัตราสูง ค่าเงินกีบไม่มีเสถียรภาพ การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย และปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง

    3. ด้านสังคม
    ปัญหายาเสพติดเป็นประเด็นที่รัฐบาล สปป.ลาวให้ความสำคัญในลำดับต้นและ ประสบความสำเร็จในการขจัดพื้นที่การปลูกฝิ่นในลาวให้หมดสิ้นไปภายในปี 2548 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมทั้งได้จัดทำแผนขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาชนบท ป้องกันไม่ให้ประชาชนหวนกลับไปปลูกฝิ่นอีก สำหรับปัญหาอื่น ๆ ได้แก่ ปัญหาภัยธรรมชาติ ปัญหา ความไม่รู้หนังสือของประชาชน ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์และปัญหาการเก็บกู้กับระเบิดที่ตกค้าง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่การเกษตรและเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเสียชีวิต ของประชากรลาว

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
    ความสัมพันธ์กับประเทศไทยและสถานะปัจจุบันของความร่วมมือ
    ยุทธศาสตร์ของไทยต่อลาว
    สนับสนุนและส่งเสริมลาวในทุกทางเพื่อให้มีความก้าวหน้า เข้มแข็ง รุ่งเรือง

    กลไกความร่วมมือไทย-ลาว ความสัมพันธ์ไทย-ลาวในปัจจุบันดำเนินไปอย่างราบรื่นใกล้ชิด ทั้งสองฝ่ายได้ใช้กลไกและเวทีความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีผลักดันความร่วมมือและแก้ไขปัญหาเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสันติวิธี ที่สำคัญได้แก่
    1. คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว เป็นกลไกกำกับดูแลการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ลาวในภาพรวม ตั้งขึ้นเมื่อพฤษภาคม 2534 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม สองฝ่ายได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมขึ้นทุกปี โดยมีผู้แทนจากทุกหน่วยงานหลักของไทยและลาวเข้าร่วม การประชุมครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 23-25 มกราคม 2549 ที่จังหวัดตราด
    2. คณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไปไทย-ลาว ตั้งขึ้น เมื่อเดือนสิงหาคม 2534 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศเป็นประธานร่วม เป็นกลไกกำหนดแนวทางและมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อย และเสถียรภาพตามชายแดน การประชุมครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 14-15 กรกฎาคม 2548 ที่นครหลวงเวียงจันทน์
    3. คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-ลาว ตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2539 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและลาวเป็นประธานร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนร่วมตลอดแนวชายแดน การประชุมครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 7 ระหว่าง วันที่ 9-11 ธันวาคม 2545 ที่กรุงเทพมหานคร
    4. คณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-ลาว เป็นผลสืบเนื่องจากการเยือนลาวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนมกราคม 2540 และการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนกันยายน 2540 การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ครั้งที่ 1 มีขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2541 ที่กรุงเทพฯ มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและการท่องเที่ยวลาวเป็นประธานร่วม แต่ยังมิได้มีการจัดการประชุมครั้งที่ 2 ขึ้น
    5. คณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุนไทย-ลาว (เปลี่ยนชื่อมาจากคณะกรรมการไกล่เกลี่ยแก้ไขข้อพิพาทด้านธุรกิจและการลงทุนไทย-ลาว) จัดตั้งโดยมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนกันยายน 2540 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม เพื่อเป็นกลไกอำนวยความสะดวกการไกล่เกลี่ยแก้ไขข้อพิพาทด้านธุรกิจและการลงทุนและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจระหว่างไทย-ลาว การประชุมครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2549 ที่เกาะช้าง จังหวัดตราด
    6. การประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าแขวงชายแดนไทย-ลาว จัดตั้งโดยมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว ครั้งที่ 6 เมื่อกันยายน 2539 ณ จังหวัดสงขลา การประชุมครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 11-12 พฤษภาคม 2548 ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี นอกจากนี้ ยังมีการประชุมคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยในระดับจังหวัดกับแขวงเพื่อเป็นกลไก ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาตามบริเวณชายแดนในระดับท้องถิ่นมิให้ลุกลามเป็นปัญหาระดับชาติ
    7. การประชุมทวิภาคีว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นกลไกความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานฝ่ายไทย และรัฐมนตรีประจำสำนักงานประธานประเทศเป็นประธานฝ่ายลาว การประชุมครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 17-18 กรกฏาคม 2548 ณ เมืองหลวงพระบาง
    8. สมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ จัดตั้งโดยกระทรวงการต่างประเทศเมื่อปี 2537 เพื่อเป็นกลไกเสริมในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาวในระดับประชาชนต่อประชาชน ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยฝ่ายลาวได้จัดตั้งสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพ ภายใต้ศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว เป็นสมาคมร่วมดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ กับสมาคมไทย-ลาวฯ ทั้งสองสมาคมมีการประชุมร่วมกันทุกปี การประชุม ร่วมระหว่างสองสมาคมครั้งล่าสุด คือ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2549 ที่กรุงเทพฯ

    สถานะความร่วมมือ พัฒนาการที่สำคัญของความสัมพันธ์ไทย-ลาวได้แก่การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-ลาวอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2547 ณ แขวงจำปาสัก และจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นการประชุม ครั้งประวัติศาสตร์ ทั้งสองฝ่ายสามารถหารือในปัญหาที่คั่งค้างเป็นเวลานานได้อย่างตรงไปตรงมา และหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกันได้ และได้ผลักดันความร่วมมือในระยะต่อไปเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายได้นำผลการประชุมดังกล่าวมาปฏิบัติจนมีผลคืบหน้า สรุปได้ ดังนี้
    ด้านการเมืองและความมั่นคง

    • ความร่วมมือด้านการทหาร กองทัพไทย-ลาวมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่น สามารถแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างความมั่นคงทำให้พื้นที่บริเวณชายแดนไทย-ลาวส่วนใหญ่ มีความสงบเรียบร้อยดี พัฒนาการที่สำคัญ ได้แก่ การลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงบริเวณชายแดนไทย-ลาว ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศเมื่อเดือนตุลาคม 2546 ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติงานให้ชายแดนไทย-ลาวเป็นชายแดนแห่งมิตรภาพ สันติภาพ และความมั่นคง โดยขณะนี้กองทัพไทย-ลาวอยู่ระหว่างจัดทำแผนงานประกอบ ความตกลงเพื่อนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
    • การแก้ไขปัญหาบุคคลผู้ไม่หวังดีต่อความสัมพันธ์ไทย-ลาว หรือ “คนบ่ดี” ทางการไทยได้ยืนยันกับลาวในทุกโอกาสว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่ยินยอมให้กลุ่มหรือบุคคลใด ใช้ดินแดนไทยเป็นฐานหรือทางผ่านเข้าไปก่อความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้านและได้ดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2546 เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรี เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางดำเนินการและจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลผู้ต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร (blacklist) เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบและอนุญาตให้บุคคลต่างด้าวเข้าเมือง สำหรับกรณีชาวม้งในที่พักสงฆ์ถ้ำกระบอกทางการสหรัฐอเมริกาได้ประกาศเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2546 ยินดีรับชาวม้งในที่พักสงฆ์ ถ้ำกระบอกซึ่งมีจำนวน 15,639 คน ไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา และได้ดำเนินการแล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547– พฤษภาคม 2548
      • การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-ลาว เขตแดนไทย-ลาวมีระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 1,810 กิโลเมตร แบ่งเป็นเขตแดนทางบก 702 กิโลเมตร และเขตแดนทางน้ำ 1,108 กิโลเมตร ไทยและลาวได้ลงนามความตกลงเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนวร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนวเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายรู้ที่ตั้งของเส้นเขตแดนอย่างแน่ชัดและ ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-ลาวขึ้นเป็นกลไกกำกับดูแลการดำเนินงานดังกล่าว มีรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและลาวเป็นประธานร่วม นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2540 ที่สองฝ่ายได้เริ่มสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในภูมิประเทศจริงจนถึงเดือนมิถุนายน 2549 สามารถจัดทำ หลักเขตแดนทางบกร่วมกันได้ 190 หลัก ระยะทางประมาณ 675 กิโลเมตร ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วม ว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 23-25 มกราคม 2549 ได้ตั้งเป้าหมายให้สองฝ่ายดำเนินการเจรจาจัดทำหลักเขตแดนทางบกให้แล้วเสร็จภายในปี 2549 และเขตแดนทางน้ำให้แล้วเสร็จภายในปี 2551
    • ความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ไทยและลาวได้ลงนาม ในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และ สารตั้งต้น เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2544 หน่วยงานด้านปราบปรามยาเสพติดไทย-ลาวมีความร่วมมือทั้งด้าน วิชาการ แลกเปลี่ยนข้อมูล และความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดโดยได้จัดการประชุม ว่าด้วยความร่วมมือด้านยาเสพติดเป็นประจำทุกปี การประชุมครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 17-18 กรกฏาคม 2548 ณ เมืองหลวงพระบาง ความคืบหน้าของความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่

      • เจ้าหน้าที่สองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการลักลอบค้ายาเสพติด อย่างต่อเนื่อง และขยายไปสู่การปฏิบัติการร่วมในการจับกุมนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ
      • ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้จัดตั้งสำนักงานประสานงานปราบปรามยาเสพติดชายแดน (Border Liaison Office- BLO) เพิ่มเติมอีก 8 จุด ใน 6 จังหวัด เพิ่มจากเดิมที่มี 2 จุด (ที่เชียงของ-ห้วยทราย และช่องเม็ก-วังเต่า) และเห็นชอบให้ขยายพื้นที่การลาดตระเวนร่วมตามลำแม่น้ำโขงจากพื้นที่ลำน้ำโขงตอนบน สู่ลำน้ำโขงตอนกลาง (อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย- เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ) และลำน้ำโขงตอนล่าง (อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร – เมืองคันทะบุรี แขวงสะหวันนะเขต / อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี – เมืองชะนะสมบูน แขวงจำปาสัก และอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี – เมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขต)
      • โครงการก่อสร้างศูนย์บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่แขวง จำปาสัก ที่ฝ่ายไทยให้ความช่วยเหลือมูลค่า 24.75 ล้านบาทได้ก่อสร้างเสร็จและส่งมอบให้ฝ่ายลาวเมื่อเดือนธันวาคม 2548 และฝ่ายไทยได้มอบวัสดุ/อุปกรณ์ในโครงการความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาทให้ฝ่ายลาวเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2548

    • ความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกด้านการสัญจรของประชาชน ไทยและลาวมีพรมแดนติดต่อกัน รวม 11 จังหวัด / 9 แขวง สองฝ่ายได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2547 และได้ร่วมกันเปิด/ยกระดับจุดผ่านแดนที่เห็นเหมาะสมร่วมกัน ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 23-25 มกราคม 2549 ได้เห็นชอบในหลักการให้ขยายเวลาทำการด่านช่องเม็ก-วังเต่า จากเดิมเวลา 06.00-18.00 น. เป็น 06.00-20.00 น. ซึ่งฝ่ายไทยได้ดำเนินการแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549

    ด้านเศรษฐกิจ

    • ความร่วมมือด้านการค้า การค้าไทย-ลาวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2548 การค้าไทย-ลาว มีมูลค่ารวม 40,107 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.27 จากปี 2547 ที่มีมูลค่าการค้า 27,993.3 ล้านบาท [ดูเอกสารแนบ] สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน ผ้าผืน เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินค้านำเข้าจากลาวที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เชื้อเพลิง สินแร่โลหะ
    • ความร่วมมือด้านการลงทุน ไทยเป็นประเทศที่ลงทุนในลาวมากที่สุด ในช่วงปี 2544-2548
      มีบริษัทไทยได้รับอนุมัติโครงการลงทุนในลาวจำนวน 102 โครงการ มูลค่าประมาณ 606.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สาขาที่มีการลงทุนมาก ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า ขนส่งและโทรคมนาคม ธุรกิจโรงแรม และการท่องเที่ยว ธนาคาร อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ เครื่องนุ่งห่มและหัตถกรรม
    • การให้สิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรในการนำเข้าสินค้าเกษตรจากลาว ไทยมีนโยบายสนับสนุนการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งลาว ทั้งในกรอบอาเซียน และยุทธศาสตร์ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ACMECS) เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับในปี 2547 ไทยได้ให้สิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรในการนำเข้าสินค้าเกษตรจากลาวทั้งในรูปของการ ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ (ASEAN Integration System of Preferences – AISP) และยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าในลักษณะ One Way Free Trade รวมจำนวน 187 รายการและเพิ่มเป็น 300 รายการในปี 2548 และปี 2549
      • ความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่ง ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ
      ไทย-ลาว ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2546 ณ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีมติให้แก้ไข
      ความไม่สะดวกในการสัญจรของประชาชนและยานพาหนะ โดยกระทรวงคมนาคมไทยและลาวได้ประชุมหารือ และร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

      • การอำนวยความสะดวกในการสัญจรของยานพาหนะ ทั้งสองฝ่ายได้ออกเอกสาร ประจำรถลักษณะเดียวกับหนังสือเดินทางเพื่อขอรับการตรวจเข้าเมืองที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองซึ่งมีผลในทาง ปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2547 ทำให้ประชาชนไทยและลาวสามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลเดินทางผ่าน เข้า-ออก ดินแดนของแต่ละฝ่ายได้โดยสะดวกซึ่งแต่เดิมนั้นหากจะนำรถยนต์เข้าลาวต้องจอดรถไว้ที่ฝั่งไทยแล้ว ดำเนินการเพื่อขออนุญาตนำรถเข้าจากหน่วยงานกลางที่เวียงจันทน์ใช้เวลาประมาณ 2 วัน
      • การขนส่งสินค้าผ่านแดน รัฐบาลไทยและลาวได้เห็นชอบให้เปิดเสรีผู้ประกอบการ ขนส่งทางถนนผ่านแดนไทย-ลาวจากเดิมที่จำกัดเพียง 5 ราย ให้ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดมาขออนุญาตเป็นผู้ประกอบการขนส่งสินค้าไทย-ลาวได้ไม่จำกัดจำนวน มีผลปฏิบัติเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2547 ณ เดือนมิถุนายน 2549 มีผู้ประกอบการได้รับอนุญาตจำนวน 230 ราย จำนวนรถที่ได้รับอนุญาต 7,170 คัน ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลงร้อยละ 20-30
      • การขนส่งผู้โดยสาร สองฝ่ายได้เปิดเดินรถโดยสารประจำทางในเส้นทาง
        (1) อุดรธานี-เวียงจันทน์ (2) หนองคาย-เวียงจันทน์ เมื่อเดือนเมษายน 2547 (3) อุบลราชธานี-ปากเซ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 และจะเปิดเดินรถเส้นทางมุกดาหาร-สะหวันนะเขต ในต้นปี 2550 รวมทั้งในเส้นทางอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในระยะต่อไป

    • ความร่วมมือด้านการเงินและการธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ความ ช่วยเหลือร่วมมือกับธนาคารแห่ง สปป.ลาว ทั้งในด้านคำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนและบริหารนโยบาย การเงินและการคลัง การฝึกอบรมพนักงาน การศึกษาภาวะการค้าชายแดนร่วมกัน นอกจากนั้น ธนาคาร แห่งประเทศไทยและธนาคารแห่ง สปป.ลาวได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวก และการสร้างความเชื่อมั่นในการชำระเงินระหว่างสองประเทศ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2546 และเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ได้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินกีบและเงินบาท และความตกลงว่าด้วยการสนับสนุนสภาพคล่องเงินบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทยส่งมอบเงินบาท 500 ล้านบาทเข้าบัญชีเงินบาทของธนาคารแห่ง สปป.ลาว ที่เปิดไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารแห่ง สปป. ลาวส่งมอบเงินกีบคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 500 ล้านบาทเข้าบัญชีเงินกีบของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เปิดไว้กับธนาคารแห่ง สปป.ลาว ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยจะสนับสนุนสภาพคล่องเงินบาทแก่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการใช้เงินกีบและเงินบาทในการชำระค่าสินค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ
    • ความร่วมมือด้านไฟฟ้าและพลังงานอื่น ๆ ลาวให้ความสำคัญต่อโครงการพลังงานเนื่องจากเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญให้แก่ประเทศ ไทยและลาวได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วย การพัฒนาไฟฟ้าในลาว 2 ฉบับเมื่อเดือนมิถุนายน 2536 และมิถุนายน 2539 สรุปว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าในลาวเพื่อจำหน่ายให้ไทยจำนวน 3,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2549 ปัจจุบัน มีโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ที่อยู่ในแผนการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากลาวจำนวน 8 โครงการ รวมกำลังผลิต ณ จุดส่งมอบประมาณ 3,596 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแล้ว 2 โครงการ รวม 313 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการน้ำเทิน-หินบูน (เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2541) และโครงการห้วยเฮาะ (เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2542) มีกำลังผลิต ณ จุดส่งมอบ 187 เมกะวัตต์ และ 126 เมกะวัตต์ ตามลำดับ และมีโครงการ ที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการน้ำเทิน 2 กำลังการผลิต 920 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2552 และโครงการน้ำงึม 2 กำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2554
    • ความร่วมมือด้านการพัฒนาเครือข่ายคมนาคม ไทยให้ความสำคัญกับความ ร่วมมือเพื่อพัฒนาเครือข่ายคมนาคมเชื่อมโยงไทย-ลาว ซึ่งนอกจากจะทำให้ประชาชนไทย-ลาวสามารถเดินทาง ไปมาหาสู่กันได้สะดวกยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือให้ลาวเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล เป็นจุดเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคตามนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลลาวด้วย ปัจจุบัน โครงการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมที่ไทยให้ความช่วยเหลือแก่ลาวมีความคืบหน้าตามลำดับ โครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว ได้แก่ สะพานข้ามแม่น้ำเหืองระหว่างจังหวัดเลยกับแขวงไชยะบุรี การพัฒนาสนามบินวัดไตที่นครหลวงเวียงจันทน์ การก่อสร้าง ทางลาดขึ้น-ลง (RAMP) บริเวณท่าเทียบเรือแขวงคำม่วน และโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมท่าเทียบเรือแขวง คำม่วน-ถนนหมายเลข 13 นอกจากนั้น สะพานข้ามแม่น้ำโขงระหว่างจังหวัดมุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต กำหนดสร้างเสร็จในปลายปี 2549
    • ความร่วมมือในกรอบพหุภาคีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ ไทยและลาว มีความร่วมมือในกรอบพหุภาคีภูมิภาคที่สำคัญ ได้แก่

      • อาเซียน ลาวเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2540 ได้เป็นประธาน คณะกรรมการประจำอาเซียนเมื่อกรกฎาคม 2547 ไทยได้ให้ความร่วมมือแก่ลาวเพื่อให้สามารถมีส่วนร่วม ในอาเซียนได้อย่างทัดเทียมกับประเทศสมาชิกอาเซียนเก่า ทั้งในกรอบความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน การให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร รวมทั้งให้ความร่วมมือแก่ลาวเตรียมความพร้อมในโอกาสที่ลาวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 โดยได้จัดการดูงานให้เจ้าหน้าที่ลาว ให้การสนับสนุนด้านวัสดุอุปกรณ์สำหรับจัดตั้งศูนย์ข่าว มูลค่าประมาณ 11.80 ล้านบาท และให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อปรับปรุงสนามบินวัดไตมูลค่าประมาณ 320 ล้านบาท
      • ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS) ลาวมีส่วนร่วมในกรอบ ACMECS อย่างแข็งขัน ล่าสุด ลาวได้เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับ ACMECS Plan of Action และทบทวนโครงการความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2549 ที่กรุงเทพฯ และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACMECS ระดับรัฐมนตรีที่เมืองดอนโขง แขวงจำปาสัก ระหว่างวันที่ 3-4 กรกฎาคม 2549
         ความร่วมมือในกรอบสามเหลี่ยมมรกต ลาวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีความร่วมมือในกรอบสามเหลี่ยมมรกต ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2546 ที่แขวงจำปาสัก ที่ประชุมได้เห็นชอบปฎิญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวซึ่งมีสาระสำคัญมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก และได้กำหนดพื้นที่ความร่วมมือเพื่อผลักดันให้กรอบความร่วมมือมีความเด่นชัด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา และภาคใต้ของลาว ทั้งนี้ ไทยได้จัดสรรงบประมาณ 2 ล้านบาท ในโครงการปรับปรุงศูนย์ข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยวสามเหลี่ยมมรกตที่แขวงจำปาสักด้วย
        ด้านสังคมและการพัฒนา

    • ความร่วมมือด้านแรงงานไทยและลาวได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วย ความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2545 ทั้งสองฝ่ายได้หารือทั้งในระดับนโยบายและ ระดับเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่องเพื่อกำหนดแนวทางร่วมมือในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง กำหนดขั้นตอนการจ้างแรงงาน และให้การคุ้มครองแรงงานสัญชาติของแต่ละฝ่ายอย่างเหมาะสม ปัจจุบัน ความร่วมมือมีความคืบหน้าตามลำดับ ดังนี้
      - การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาวในไทย ทางการลาวได้จัดส่งคณะเจ้าหน้าที่มาพิสูจน์สัญชาติแรงงานลาวในไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2548 ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2549 สรุปได้ว่า มีแรงงานสัญชาติลาวมาขอรับการพิสูจน์สัญชาติจำนวน 43,788 คน จากที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในปี 2548 จำนวน 90,073 คน ได้รับการรับรอง 43,657 คน และจะได้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2549 (ขยายจากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 30 มิถุนายน 2549)
      - การนำแรงงานลาวกลุ่มใหม่มาทำงานในไทยโดยถูกกฎหมาย ไทยมีความต้องการแรงงานจากลาวจำนวนมากเพื่อรองรับการขยายตัวทางอุตสาหกรรมและการเกษตร ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2549 กรมการจัดหางานได้ส่งข้อมูลแจ้งความต้องการจ้างแรงงานของนายจ้างให้ฝ่ายลาวรับสมัครและคัดเลือกคนงาน จำนวน 27,621 คน และได้มีการส่งแรงงานลาวมาทำงานในไทยแล้วจำนวน 1,136 คน
    • ความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ ไทยและลาวได้ลงนามในบันทึก ความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็กไทย-ลาว เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 ทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมและผู้ประสานงานกลาง รวมทั้งจัดทำร่างแผนปฏิบัติการตาม บันทึกความเข้าใจ นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 2 ล้านบาทแก่
      สหพันธ์แม่หญิงลาวเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการฝึกอาชีพแม่บ้านให้แก่สตรีลาวที่ประสงค์จะมาทำงาน ในประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการหลอกลวงหญิงลาวมาทำงานในไทยและปัญหาการค้ามนุษย์
    • ความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ไทยได้เริ่มดำเนิน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับลาวตั้งแต่ปี 2516 เน้นด้านการพัฒนาบุคลากรในลักษณะการให้ ทุนการศึกษา ทุนฝึกอบรม/ดูงาน และโครงการพัฒนาใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ การเกษตร การศึกษาและ สาธารณสุข ความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างประเทศทั้งสองเป็นไปตามแผนงานโครงการความร่วมมือ ทางวิชาการรายปีซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันกำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงความต้องการ ขีดความสามารถและความพร้อมของแต่ละฝ่าย ตั้งแต่ปี 2540 - 2548 ไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ แก่ลาวเป็นมูลค่าประมาณ 610.37 ล้านบาท ล่าสุด ฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมมือทางวิชาการ ไทย-ลาว ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 27-29 สิงหาคม 2548 ที่จังหวัดตราด เพื่อกำหนดแผนงานความร่วมมือสำหรับ ปี 2548/2549 ซึ่งไทยตกลงให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 25 ทุน และทุนฝึกอบรม/ดูงานในสาขา ต่าง ๆ จำนวน 100 ทุน
    • โครงการสันถวไมตรี กระทรวงการต่างประเทศได้จัดสรรงบประมาณภายใต้โครงการสันถวไมตรีเพื่อช่วยเหลือลาวพัฒนาด้านการศึกษาโดยได้ก่อสร้างอาคารเรียนที่โรงเรียนประถมแขวง สะหวันนะเขต (1 ล้านบาท) แขวงบ่อแก้ว (2.3 ล้านบาท) แขวงอุดมไชย (2 ล้านบาท) แขวงจำปาสัก 1.5 ล้านบาท และได้สร้างหอนอนโรงเรียนเด็กกำพร้าแขวงไชยะบุรี (2.4 ล้านบาท) รวมทั้งได้ให้ความช่วยเหลือสร้างสุขศาลาที่เมืองดอนโขง แขวงจำปาสัก (3.2 ล้านบาท)


    ความตกลงไทย-ลาวที่สำคัญ
    1. ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (22 สิงหาคม 2533)
    2. ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว (9 พฤษภาคม 2534)
    3. ความตกลงว่าด้วยการค้า (ฉบับแก้ไขใหม่) (20 มิถุนายน 2534)
    4. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนไทย-ลาว (17 สิงหาคม 2534)
    5. สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือไทย-ลาว (กุมภาพันธ์ 2535)
    6. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต
    (8 ตุลาคม 2537)
    7. ความตกลงเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนวร่วมกัน (8 กันยายน 2539)
    8. ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วน ที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (20 มิถุนายน 2540)
    9. ความตกลงว่าด้วยการเดินทางข้ามแดนไทย-ลาว ฉบับลงนาม 20 มิถุนายน 2540 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 19 กันยายน 2540 เป็นความตกลงฉบับใหม่ที่ใช้แทนความตกลงเรื่องข้อบังคับร่วมกัน ว่าด้วยการจราจรชายแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส (16 สิงหาคม 2486)
    10. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ
    (5 มีนาคม 2542)
    11. ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางถนน (5 มีนาคม 2542) ซึ่งใช้แทนความตกลง ว่าด้วยการขนส่งสินค้าผ่านแดนไทย-ลาว ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2521 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามข้อตกลง กำหนดรายละเอียดการขนส่งทางถนนเมื่อ 17 สิงหาคม 2544
    12. สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (5 มีนาคม 2542)
    13. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาท และสารตั้งต้น (17 สิงหาคม 2544)
    14. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน (18 ตุลาคม 2545)
    15. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงบริเวณชายแดน (16 ตุลาคม 2546)
    16. สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (20 มีนาคม 2547)
    17. ความตกลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย-ลาว (20 มีนาคม 2547)
    18. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา (20 มีนาคม 2547)
    19. ความตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินกีบและเงินบาท (17 สิงหาคม 2547)
    20. ความตกลงว่าด้วยการสนับสนุนสภาพคล่องเงินบาท (17 สิงหาคม 2547)
    21. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทย-ลาว (28 ตุลาคม 2547)
    22. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็กไทย-ลาว (13 กรกฎาคม 2548)

      การแลกเปลี่ยนการเยือน

      การเยือนของฝ่ายไทย

      1. การเสด็จฯ เยือนของพระราชวงศ์
      • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนลาวเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนมีนาคม 2533 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลลาว
      • สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนลาวอย่างเป็นทางการ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของนายไกสอนฯ ประธานประเทศลาว เมื่อเดือนมิถุนายน 2535
      • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนลาว เพื่อพระราชทานผ้าพระกฐินและติดตามผลการดำเนินโครงการส่งเสริมกิจกรรมโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า หลัก 67 แขวงเวียงจันทน์ ตามพระราชดำริ เมื่อเดือนตุลาคม 2535
      • สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
      • สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงร่วมพิธีศพนายไกสอน พมวิหาน ประธานประเทศลาวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535

      • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย
      • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เยือนลาวระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน 2537 (ภายหลังจากที่ทรงเป็นประธานร่วมกับนายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาวในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาวที่จังหวัดหนองคาย) ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศครั้งแรกในรอบ 27 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ ได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว อันเป็นโครงการในพระราชดำริ ร่วมกับประธานประเทศลาวที่เมืองนาทรายทอง แขวงเวียงจันทน์ รวมทั้งเสด็จฯ เยี่ยมชมโครงการส่งเสริมกิจกรรมโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้าฯ ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
      • สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จฯ เยือนลาว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2537
      • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จฯ เยือนแขวงเซกอง และแขวงอัตตะปือทางใต้ของลาว และได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยซอนและระบบส่งน้ำของโครงการระหว่างวันที่ 8-11 เมษายน 2539
      • สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จฯ เยือนลาว เมื่อเดือนมกราคม 2539
      • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนแขวงอุดมไซและ แขวงหลวงน้ำทา ระหว่างวันที่ 21-24 มกราคม 2540
      • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนลาว เพื่อติดตาม ความคืบหน้าของโครงการตามพระราชดำริ ระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคม 2541
      • สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินที่วัดแสนสุขาราม เมืองหลวงพระบาง ระหว่างวันที่ 28-29 ตุลาคม 2541
      • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนแขวงพงสาลี ระหว่างวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2542
      • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนลาวเพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร (หลัก 22) และโรงเรียนวัฒนธรรม แขวงเวียงจันทน์ (หลัก 67) ที่นครหลวงเวียงจันทน์ และเสด็จฯ เยือนแขวงเชียงขวาง ระหว่างวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2544
      • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนแขวงหัวพัน (โรงเรียนมัธยมสมบูนพันซำ โรงพยาบาลแขวงหัวพัน วัดโพไซซะนาราม และอนุสรณ์สถานถ้ำผู้นำ) ระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2545
      • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร (หลัก 22) และโรงเรียนวัฒนธรรมแขวงเวียงจันทน์ (หลัก 67) ระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม 2547
      • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนนครหลวงเวียงจันทน์ แขวงสะหวันนะเขต และแขวงจำปาสัก ระหว่างวันที่ 14-16 มีนาคม 2548

      การเยือนของนายกรัฐมนตรี
      • นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เยือนลาวอย่างเป็นทางการ (มิถุนายน 2536)
      • นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี เยือนลาวอย่างเป็นทางการ (มิถุนายน 2539)
      • พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี เยือนลาวอย่างเป็นทางการ (มิถุนายน 2540)
      • นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เยือนลาวอย่างเป็นทางการ (พฤษภาคม 2543)
      • พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนลาวอย่างเป็นทางการ (มิถุนายน 2544)
      • พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนลาว (แขวงจำปาสัก) เพื่อเข้าร่วมการประชุม คณะรัฐมนตรีร่วมไทย-ลาวอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2547 และเป็นประธานร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2547 ที่จังหวัดมุกดาหารและแขวงสะหวันนะเขต
      • พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนลาว (นครหลวงเวียงจันทน์) เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2547
      • พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนลาว (แขวงคำม่วน) เพื่อเป็นประธานร่วม ในพิธีเปิดโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ “น้ำเทิน 2” เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2548

      การเยือนไทยของฝ่ายลาว
      1. การเยือนในระดับประมุข
      • นายไกสอน พมวิหาน ประธานประเทศลาว และภริยา เดินทางมาเยือนไทย อย่างเป็นทางการในฐานะราชอาคันตุกะในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เมื่อมกราคม 2535
      • นายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาวและภริยาเยือนไทยในฐานะราชอาคันตุกะระหว่างวันที่ 14-19 กุมภาพันธ์ 2538

      2. การเยือนของหัวหน้ารัฐบาล
      • นายคำไต สีพันดอน นายกรัฐมนตรีลาว เยือนไทยอย่างเป็นทางการ (กุมภาพันธ์ 2535)
      • นายสีสะหวาด แก้วบุนพัน นายกรัฐมนตรีลาว เยือนไทยอย่างเป็นทางการ (มีนาคม 2542)
      • นายบุนยัง วอละจิด นายกรัฐมนตรีลาว เยือนไทยอย่างเป็นทางการ (สิงหาคม 2544) และร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 28-30 เมษายน 2546
      • นายบุนยัง วอละจิด นายกรัฐมนตรีลาว เยือนไทย (จังหวัดอุบลราชธานี) เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วม ไทย-ลาวอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2547 และเป็นประธานร่วม ในพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานข้ามแม่น้ำโขงรแห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) เมื่อวันที่ 21มีนาคม 2547 ที่จังหวัดมุกดาหารและแขวงสะหวันนะเขต
      • นายบุนยัง วอละจิด นายกรัฐมนตรีลาวเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง เมื่อวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2548 ที่กรุงเทพฯ

      ติดตามเรื่องนี้
      เก็บเข้าคอลเล็กชัน

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×