ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #16 : จอร์เจีย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.69K
      2
      21 ม.ค. 50



     
    จอร์เจีย
    Georgia


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
    ประวัติศาสตร์ของจอร์เจียมียาวนานกว่า 2,500 ปี และภาษาจอร์เจียก็เป็นหนึ่งในภาษา เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังมีการใช้อยู่ กรุงทบิลิซิ (เมืองหลวง) ซึ่งมีอายุกว่า 1,500 ปี ตั้งอยู่ในหุบเขา (valley) ที่งดงามซึ่งถูกแบ่งโดยแม่น้ำ Mtkvari พื้นที่ส่วนใหญ่ของจอร์เจียถูกยึดครองโดยเปอร์เซีย ตุรกี อาหรับและมองโกล ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึง 18 ซึ่งเป็นเวลา 11 ศตวรรษที่จอร์เจียถูกปกครองโดยเผ่าต่างๆ ทั้งนี้ ในระหว่างศตวรรษที่ 11 ถึง 12 จอร์เจียได้รับการคุ้มครองจากรัสเซีย ซึ่ง ในที่สุดรัสเซียก็ได้ผนวกจอร์เจียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และเนรเทศราชวงศ์จอร์เจียในปี ค.ศ. 1801 (พ.ศ. 2344) อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนจอร์เจียจำนวนหนึ่งที่ต่อต้านการปกครองของรัสเซียเมื่อระบบกษัตริย์ (Tsarist) ของรัสเซียถูกโค่นลง สาธารณรัฐจอร์เจียก็ได้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) และภายในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1921 (พ.ศ. 2464) กองทัพแดง (Red Army) ของสหภาพโซเวียตก็ได้เข้ายึดครองจอร์เจียอีกครั้งหนึ่ง ทำให้จอร์เจียเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียต ในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) Supreme Council ของสาธารณรัฐจอร์เจียก็ได้ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต
    จอร์เจียประสบปัญหาความขัดแย้งด้านเชื้อชาติตั้งแต่ประกาศเอกราช และเพิ่งเริ่มมีเสถียรภาพในปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) อย่างไรก็ตาม ปัญหาคนพลัดถิ่นภายใน (internally displaced persons--IDPs) กว่า 230,000 คน ก็ยังคงเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการการเมืองท้องถิ่น ปัญหาความขัดแย้งใน Abkhazia และ South Ossetia ซึ่งต้องการแยกตัวออกจากจอร์เจียยังคงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ยังคงต้องอาศัยกองกำลังสันติภาพของรัสเซีย และองค์การระหว่างประเทศในการรักษาสันติภาพ ซึ่งต้องมีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน การเจรจาระหว่างจอร์เจียกับ South Ossetia มีความคืบหน้าพอสมควร ในขณะที่การเจรจาระหว่างจอร์เจียกับ Abkhazia ยังคงหาผลสรุปไม่ได้
    รัฐบาลจอร์เจียยึดมั่นในแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับนโยบายของ IMF และ World Bank และให้ความสำคัญกับการบูรณะเส้นทางสายไหม ในฐานะที่เป็น Eurasian corridor โดยจะใช้ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของจอร์เจียเป็นสะพานเชื่อมการค้าระหว่างยุโรป และเอเชีย


    ที่ตั้ง ทางตอนใต้ของเทือกเขา Transcaucasus
    ทิศเหนือ จรดพรมแดนรัสเซีย
    ทิศตะวันออก จรดพรมแดนอาเซอร์ไบจาน
    ทิศใต้จรดพรมแดนอาร์เมเนีย และตุรกี
    ทิศตะวันตก ติดชายฝั่งทะเลดำ

    พื้นที่ 69,700 ตารางกิโลเมตร หรือ 26,911 ตารางไมล์
    ความหนาแน่นของประชากร 206 คน ต่อ
    ตารางไมล์

    ประชากร 4,960,951 คน (2545) แบ่งเป็น
    ชาวจอร์เจีย ร้อยละ 70.1
    ชาวอาร์เมเนียน ร้อยละ 8.1
    ชาวรัสเซีย ร้อยละ 6.3
    ชาวอาเซอรี ร้อยละ 5.7
    ชาวอับคาเซีย ร้อยละ 1.8
    ชาวออสเซเทีย ร้อยละ 3 และอื่นๆ


    ภาษาราชการ ภาษาจอร์เจีย เป็นภาษาราชการ(ร้อยละ 71)
    ภาษารัสเซีย (ร้อยละ 9) ภาษาอาร์เมเนีย (ร้อยละ 7)
    ภาษาอาเซอรี (ร้อยละ 6)
    ภาษาอับคาซเป็นภาษาราชการในอับคาเซีย

    ศาสนา คริสต์ นิกายจอร์เจียนออโธด็อกซ์ (ร้อยละ 65)
    รัสเซียนออโธด็อกซ์ (ร้อยละ 10)
    มุสลิม (ร้อยละ 11)
    Armenian Apostolic (ร้อยละ 8)

    เมืองหลวง กรุงทบิลิซี (Tbilisi) มีประชากรประมาณ 1.3 ล้านคน

    สกุลเงิน lari per US dollar - 1.8127 (2005)

    วันชาติ 26 พฤษภาคม 1918

    ภูมิอากาศ อบอุ่นสบาย ส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลดำมีภูมิอากาแบบเมดิเตอร์เรเนียน

    ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ พลังน้ำ แมงกานีส เหล็ก ทองแดง ถ่านหิน
    น้ำมัน ใบชา และมะนาว

    เวลา เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 3 ชั่วโมง
    (ช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง)


    สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ ACCT (observer), BSEC, CE, CIS, EAPC, EBRD, FAO, GUAM, IAEA, IBRD, ICAO, ICC, ICCt, ICFTU, ICRM, IDA, IFAD, IFC, IFRCS, ILO, IMF, IMO, Interpol, IOC, IOM, IPU, ISO (correspondent), ITU, MIGA, OAS (observer), OIF (observer), OPCW, OSCE, PFP, SECI (observer), UN, UNCTAD, UNESCO, UNIDO, UPU, WCO, WHO, WIPO, WMO, WToO, WTO

    การเมืองการปกครอง
    สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ
    การลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของนาย Eduard Shevardnadze เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.2003 จอร์เจียได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น ผลจากการนับคะแนน เบื้องต้นโดย Central Election Commission ปรากฏว่า พรรค For a New Georgia ของประธานาธิบดี Eduard Shevardnadze ได้คะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 1 ประมาณร้อยละ 24.7 และพรรค National Movement ของนาย Mikhail Saakashvilli ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ได้คะแนนสนับสนุนเป็นลำดับที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 22.2 ในขณะที่ผลการนับคะแนนโดยกลุ่มองค์กรเอกชน (NGOs) ปรากฏว่า พรรค National Movement ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 1 ทำให้เกิดการสงสัยว่า รัฐบาลทุจริตในการเลือกตั้ง ทั้งนี้ องค์การ OSCE และ Council of Europe ซึ่งร่วมสังเกตการณ์ ก็มีความเห็นเช่นเดียวกันกับกลุ่ม NGOs จึงทำให้ฝ่ายค้าน และประชาชนได้ร่วมกันชุมนุมประท้วง เพื่อร้องเรียนความไม่ถูกต้องของกระบวนการเลือกตั้ง รวมถึงการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาล และได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดี Shevardnadze ซึ่งครบวาระ การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี 2548 ลาออกด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.2003 นาย Saakashvilli ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ได้นำผู้ประท้วง ราว 30,000 คน บุกเข้าไปในอาคารสำนักงานรัฐสภา ในขณะที่สมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ ซึ่งได้รับการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.2003 เข้าร่วมในการเปิดประชุมสภาเป็นครั้งแรก ทำให้ประธานาธิบดี Shevardnadze ซึ่งกำลังกล่าวปราศรัยอยู่นั้น ต้องหลบหนีออกจากรัฐสภา และประกาศภาวะฉุกเฉินและได้ลาออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา ทั้งนี้ การประกาศลาออกดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากการหารือกับ นาย Igor Ivanov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ซึ่งได้เดินทางไปจอร์เจียและพบหารือ กับบุคคลสำคัญต่างๆ ของฝ่ายจอร์เจีย
    ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีจอร์เจีย
    เมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.2004 จอร์เจียได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นใหม่ ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า นาย Mikhail Saakashvili ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน และผู้นำในการโค่นล้มอดีตประธานาธิบดี Shevardnadze ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น โดยได้รับคะแนนเสียงสนับสนุน ถึงร้อยละ 96.3 ทั้งนี้ นาย Saakashvili อายุ 37 ปี จบการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเคียฟในยูเครน และมหาวิทยาลัย Columbia และ George Washington ในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน พรรค National Movement
    ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ.2004 นาย Saakashvili ได้ปฏิญานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีจอร์เจียอย่างเป็นทางการ และได้แถลงนโยบายว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ปรับปรุงระบบการจ่ายเงินเดือนและเงินบำนาญ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในด้านนโยบายต่างประเทศ นาย Saakashvili สนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและนาโต้ของจอร์เจีย แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญด้วย
    บุคคลสำคัญจากประเทศต่างๆ ได้เดินทางมาร่วมพิธีปฏิญาณตนของนาย Saakashvili
    อาทิ นาย Colin Powell รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และนาย Igor Ivanov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย โดยในระหว่างการหารือ นาย Powell แจ้งว่า สหรัฐฯ ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการความช่วยเหลือแก่จอร์เจียในปี ค.ศ.2004 เป็นมูลค่า 166 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขอเชิญนาย Saakashvili เดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ในขณะที่รัฐมนตรี Ivanov ของรัสเซีย ได้ย้ำว่า รัสเซียให้ความสำคัญต่อการปรับความสัมพันธ์กับจอร์เจียให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่รัสเซียอ้างปัญหาความขัดแย้งในดินแดน Abkhasia และ South Ossetia ของจอร์เจีย ในการส่งกองกำลังทหารเข้าไกล่เกลี่ยแล้ว ไม่ยอมถอนกองกำลังออกไป แม้ว่าปัญหาจะคลี่คลายลงแล้ว
    สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน
    ในปีค.ศ.2006 คาดว่า ประธานาธิบดี Saakashvili ยังคงคุมทิศทางการเมืองของจอร์เจียต่อไปได้ โดยเฉพาะหลังจากที่นาย Zurab Zhvania นายกรัฐมนตรีจอร์เจียคนที่ผ่านมา เสียชีวิตลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2005 ทำให้การแบ่งอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มของประธานาธิบดี Saakashvili ซึ่งกำกับดูแลด้านความมั่นคงและการทหารเป็นหลัก กับกลุ่มของนายกรัฐมนตรี Zhvania ซึ่งกำกับดูแล ด้านเศรษฐกิจ ในขณะนั้นหมดลง โดยประธานาธิบดี Saakashvili สามารถก้าวขึ้นมาบริหารประเทศได้ อย่างเต็มตัว นอกจากนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดในการเมืองจอร์เจียยุคปัจจุบัน คือการถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองจากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ โดยบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ของจอร์เจียหลายคน เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากประธานาธิบดี Saakashvili อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า บุคคลเหล่านี้ ยังไม่มีประสบการณ์และความสามารถพอที่จะนำจอร์เจียบรรลุเป้าหมายหลักสำคัญ 3 ประการ คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในดินแดน Abkhasia และ South Ossetia และการรักษาความสัมพันธ์กับรัสเซียให้อยู่ในระดับปกติ
    นอกจากนี้ ในปีค.ศ.2006 รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี Saakashvili จะต้องผ่านการทดสอบครั้งสำคัญในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้น โดยการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ จะแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งอย่างโปร่งใสและเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด อีกทั้งยังเป็นบทพิสูจน์ด้วยว่า กลุ่มที่ให้การสนับสนุนประธานาธิบดี Saakashvili เมื่อครั้ง Rose Revolution ยังคงจะให้การสนับสนุนนาย Saakashvili ต่อไปหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลจะยังมีข้อบกพร่องบ้าง แต่ก็ยังได้รับความนิยมจากประชาชนมาโดยตลอด ท้ายที่สุด การเลือกตั้งดังกล่าว จะแสดงให้เห็นว่า รัฐบาล ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบัน รัฐบาลยังคงรวมอำนาจการปกครองไว้ที่ส่วนกลางอยู่


    ระบบการเมือง ประธานาธิบดีเป็นประมุขและทำหน้าที่ในการ บริหารและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยผ่านการเห็นชอบ 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา

    ประมุขและหัวหน้ารัฐบาล ประธานาธิบดี Mikhail Saakashvili

    ตำแหน่ง State Minister นาย Zurab Noghaideli ทำหน้าที่ State
    Minister ซึ่งคล้ายคลึงกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ดูแลบริหารคณะรัฐมนตรี

    รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Gela Bezhuashvili

    สถาบันนิติบัญญัติ ระบบสภาเดียว (Unicameral Supreme Council) มีสมาชิก 235 คน เลือกตั้งจากการแบ่งเขตประชากรต่อพื้นที่ โดยแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 150 เขต เขตละ 1 คน และจากการเสนอของพรรคการเมืองอีก 85 คน ดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี

    พรรคการเมืองสำคัญCitizens’ Union of Georgian (UGC - พรรครัฐบาล)
    All-Georgian Union of Revival (AGUR)
    Industry will save Georgia (IWSG)
    Georgian Labour Party (Shromis)
    National-Democratic Alliance
    Popular Party
    United Communist Party and Workers’ Union

    เศรษฐกิจการค้า
    สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
    หลังจากที่จอร์เจียได้รับเอกราชในปีค.ศ.1991 รัฐบาลต้องเผชิญปัญหาด้านความมั่นคงจนไม่สามารถทุ่มเทให้กับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ โดยสงครามได้ทำให้จอร์เจียกลายเป็นรัฐที่โดดเดี่ยวจากประชาคมเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็พยายามที่จะปลูกฝังให้หมู่ประชาชนเข้าใจว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นแนวทางที่ดีสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ กฎหมายว่าด้วยการลงทุนจากต่างประเทศ ฉบับใหม่นี้ ได้ให้ธุรกิจที่เป็นการลงทุนจากต่างชาติ เสียภาษีจากกำไรเพียงร้อยละ 5 ใน 5 ปีแรก ของการผลิต ประธานาธิบดี Shevardnadze ยังได้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อดูแลการแปรรูปรั{วิสาหกิจ ในทุกเมือง อาทิ ในเมือง Kutaisi เมืองใหญ่เป็นลำดับสองของจอร์เจีย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับอนุญาตจากประธานาธิบดีให้เปิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใน Kutaisi ได้อย่างเต็มที่ แต่การดำเนินการต่างๆ ยังคงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เนื่องจากปัญหาการชะงักงันทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในขณะที่สกุลเงินของจอร์เจีย ซึ่งเริ่มใช้เมื่อ 1 เมษายน
    ค.ศ.1993 เป็นเงินตราที่ตกต่ำมากที่สุดในบรรดาสกุลเงินที่ประกาศ ใช้ในประเทศที่เกิดจากอดีตสหภาพโซเวียต
    ปัจจัยที่ค่าของสกุลเงินจอร์เจีย ตกต่ำมาก เนื่องจากเหตุผล 2 ประการ ประการแรก เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณทุกเดือน ประการที่สอง เนื่องจากการที่รัฐบาลยังคงให้สินเชื่อโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางการเงิน โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ผลผลิตทางอุตสาหกรรมก็ยังคงตกต่ำลงร้อยละ 50 ต่อปี จากสงคราม เงินเฟ้อ และปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านใน CIS โดยเฉพาะการไม่ชำระหนี้เชื้อเพลิงแก่เติร์กเมนิสถาน จนทำให้เติร์กเมนิสถานลดการส่งเชื้อเพลิง ลงร้อยละ 60 แม้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจอร์เจีย จะมีกลุ่มแบ่งแยกดินแดน Abkhasia เป็นอุปสรรคสำคัญ กอปรกับโครงสร้างสาธารณูปโภคทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ แต่รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี Shevardnadze สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางบวก อาทิ ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง สามารถบรรลุ เป้าหมาย IMF เกือบทั้งหมดใน Review ของ IMF ฉบับกรกฎาคม ค.ศ.1998 เสถียรภาพของสกุลเงิน
    การบังคับใช้ราคาตลาดเสรีในสินค้าบริโภค การเตรียมตัวเข้าเป็นสมาชิก WTO ในระดับที่สอง (จอร์เจียสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานในระดับแรกได้แล้ว) การลงนามในความตกลงอนุญาตให้มีการสร้างท่อลำเลียงน้ำมันผ่านจอร์เจียไปออกทะเลดำ และการผ่านกฎหมายต่างๆ อาทิ กฎหมาย commercial banking กฎหมายปฏิรูปที่ดิน และกฎหมายปฏิรูปภาษี ถึงแม้ว่าในระยะหลังๆ จอร์เจียจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในรัสเซีย เนื่องจาก รัสเซียเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ แต่รัฐบาลจอร์เจียยังยึดมั่นในนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างจริงจัง ทำให้จอร์เจียได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศในระดับหนึ่ง
    ภาวะเศรษฐกิจของจอร์เจียมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีค.ศ. 2005 ร้อยละ 7 เนื่องจากมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในโครงการท่อขนส่งน้ำมัน Baku-Tbilisi-Ceyhan แต่ยังนับเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศ CIS โดยมีรายได้ประชาชาติเพียง 941 ดอลลาร์สหรัฐ

    ข้อมูลทั่วไป
    GDP (purchasing power parity)
    $16.03 billion (2005 est.)
    GDP (official exchange rate)
    $6.4 billion (2005 est.)
    GDP - real growth rate
    9.3% (2005 est.)
    GDP - per capita (PPP)
    $3,400 (2005 est.)
    สัดส่นแบ่ง GDP ตามสาขา
    เกษตร: 17.2%
    อุตสาหกรรม: 27.5%
    การบริการ: 55.3% (2005 est.)
    แรงงาน
    2.04 million (2004 est.)
    อัตราว่างงาน
    12.6% (2004 est.)
    อัตราเงินเฟ้อ
    8.2% (2005 est.)
    อุตสาหกรรม
    เหล็ก เครื่องบิน เครื่องจักรกล เครื่องไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ไม้ ไวน์
    ดุลการค้า
    $-625 million (2005 est.)
    มูลค่าส่งออก
    $1.4 billion (2005 est.)
    สินค้าออกที่สำคัญ อัลลอย ทอง เหล็กและเหล็กเส้น ไวน์
    ตลาดส่งออกที่สำคัญ
    รัสเซีย ตุรกี อาเซอร์ไบจาน เติร์กเมนิสถาน อาร์เมเนีย
    มูลค่านําเข้า
    $2.5 billion (2005 est.)
    สินค้านำเข้าที่สำคัญน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยา
    ตลาดนําเข้าที่สําคัญ รัสเซีย ตุรกี อาเซอร์ไบจาน ยูเครน เยอรมนี

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจอร์เจีย
    ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
    ปัญหาความขัดแย้งกับรัสเซีย
    เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.2002 จอร์เจียกล่าวหารัสเซียว่า ได้ส่งกองกำลังจู่โจมทางอากาศในแถบหุบเขาช่องแคบ Pansiki ของจอร์เจีย ซึ่งใกล้กับชายแดนเชชเนีย โดยรัสเซียเชื่อว่า เขตหุบเขาช่องแคบ Pankisi เป็นฐานที่มั่นใหม่ของกองโจรเชชเนีย และเห็นว่ารัฐบาลจอร์เจีย ไม่ให้ความร่วมมือแก่รัสเซียในการกวาดล้างกลุ่มผู้ก่อการร้ายเชชเนีย ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองประเทศขึ้น โดยรัสเซียได้ขู่จะบุกเข้าไปกวาดล้างกลุ่มกองโจรเชชเนียในดินแดนของจอร์เจีย อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ.2002 รัฐบาลจอร์เจียได้ตัดสินใจจะส่งมอบผู้ก่อการร้ายชาวเชชเนีย 13 คนแก่รัสเซีย
    เมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ.2002 ประธานาธิบดี Shevardnadze ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าปัจจุบันไม่มีกลุ่มกบฏชาวเชชเนียในหุบเขาช่องแคบ Pansiki ของจอร์เจียเหลืออยู่แล้ว และต่อมาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ประธานาธิบดี Putin ของรัสเซีย ได้พบหารือกับประธานาธิบดี Shevardnadze ที่มอลโดวา ซึ่งผลจากการหารือดังกล่าว ทำให้มีการลงนามความตกลงลาดตระเวนร่วมกัน (Agreement of the Joint Patrolling) บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ
    ประธานาธิบดี Putin ของรัสเซีย และประธานาธิบดี Saakashvili ของจอร์เจีย ได้พบหารือกันในบ้านรับรองของประธานาธิบดี Putin แถวนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ.2006 ซึ่งการหารือดังกล่าว ได้ยืนยันถึงความไม่ลงรอยที่มีอยู่ระหว่างกันทั้งสองฝ่าย โดยประธานาธิบดี Putin เรียกร้องให้ประธานาธิบดี Saakashvili หมั่นเจรจาหาทางปรองดองกันให้ได้ และหลีกเลี่ยงการเชือดเฉือนกันในกรณีพิพาทในดินแดน Abkhasia และ South Ossetia นอกจากนี้ ประธานาธิบดีPutin ได้เสนอคตินิยมว่า การหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องดินแดนดังกล่าว นั้น ควรจะยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ส่วนประธานาธิบดี Saakashvili ยืนยันว่า ทางการจอร์เจีย
    ดำเนินท่าทีในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ส่วนบทบาทของฝ่ายรัสเซีย นั้น ก็พอจะประเมินกันได้ว่า เป็นการพยายาม ที่จะผนวกดินแดนจอร์เจียเข้าไว้ผืนหนึ่ง
    ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ
    จอร์เจียมีความร่วมมือทางวิชาการ (technical cooperation) กับสหรัฐฯ ตั้งแต่ปีค.ศ.2000 โดยสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านยุทโธปกรณ์แก่จอร์เจีย อาทิ เฮลิคอปเตอร์ และหลังจากเหตุการณ์วินาศกรรมในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2002 ความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ก็เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด
    ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน
    เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ.2002 ได้มีการลงนามในโครงการสร้างท่อส่งน้ำมันระหว่างรัฐบาลจอร์เจียกับนักลงทุนต่างประเทศ ภายใต้โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันเส้นทาง Baku-Tbilisi-Ceyhan ซึ่งโครงการดังกล่าวจะมีความสำคัญต่อจอร์เจียและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคคอเคซัส เนื่องจากจะนำไปสู่การขยายตัว ทางเศรษฐกิจของจอร์เจียและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคคอเคซัส ทั้งนี้ ท่อส่งน้ำมันดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นจากอาเซอร์ไบจาน (กรุงบากู) ผ่านจอร์เจียไปยังเมืองท่า Ceyhan ของตุรกี เพื่อขนถ่ายน้ำมันทางเรือต่อไปยังยุโรปทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งแล้วเสร็จและดำเนินการส่งออกก๊าซและน้ำมัน เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2005
    นอกจากนี้ จอร์เจียยังมีโครงการ North-South Transport Corridor ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างเอเชียและยุโรป มีจุดเชื่อมจากเมืองในอิหร่านไปถึงท่าเรือในทะเลดำ อย่างไรก็ตาม ระยะทางประมาณ140 กิโลเมตร จากอิหร่านไปยังอาเซอร์ไบจาน ยังคงต้องสร้างเพิ่มเติม เนื่องจากในปัจจุบันยังต้องอาศัย การขนส่งโดยรถไฟ

    ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทยกับจอร์เจีย
    สหภาพโซเวียตได้ล่มสลายลงในช่วงปลายปี ค.ศ. 1991 โดยสาธารณรัฐต่าง ๆ ซึ่งเคยรวมเป็นสหภาพโซเวียตได้แยกตัวออกเป็นอิสระ และประกาศตัวเป็นเอกราช รวม 15 ประเทศ โดย 12 ประเทศได้แก่ สหพันธรัฐรัสเซีย ยูเครน เบลารุส คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน จอร์เจีย อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กิซ และมอลโดวา ได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent State-CIS)
    ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจอร์เจียเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1992 ฝ่ายไทยจึงมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกรับผิดชอบดูแลความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-จอร์เจีย ในขณะที่ฝ่ายจอร์เจียได้แต่งตั้งนาย Tatsuya Nishimura ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์จอร์เจียประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2003

    การแลกเปลี่ยนการเยือน

    นับแต่สถาปนาความสัมพันธ์ ยังไม่มีการเยือนระหว่างกันที่สำคัญ เว้นแต่การเดินทางไปยื่นพระราชสาส์นของเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก และการเยือนจอร์เจียของนายสวนิต คงสิริ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 3-5 มิถุนายน ค.ศ. 1999

    ความสัมพันธ์ทางการค้า
    ไทยกับจอร์เจียเพิ่งเริ่มมีความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันเมื่อปี ค.ศ. 1995 โดยมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศยังมีมูลค่าไม่สูงมากนัก แต่มีแนวโน้มที่ดีในการขยายลู่ทางทางการค้าระหว่างกันต่อไป ในปี ค.ศ. 2003 มูลค่าการค้ารวมคิดเป็น 7,466,363 ดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า คิดเป็นมูลค่า 3,857 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากจอร์เจีย ได้แก่ ธัญพืชและธัญพืชสำเร็จรูป หลอดและท่อโลหะ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ และเศษโลหะ
    สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังจอร์เจีย ได้แก่ เม็ดพลาสติก น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ยางพารา ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผักกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง
    มูลค่าการค้ารวม (ม.ค.-พ.ย. 49) 17 ล้าน USD (ไทยส่งออก 8.3 ล้าน USD นำเข้า 8.6 ล้าน USD ขาดดุล 3 แสน USD)

    ความร่วมมือด้านอื่นๆ
    การแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการ
    คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และวิชาการจากจอร์เจีย กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานของจอร์เจียได้แสดงความสนใจที่จะร่วมมือในด้านนี้ในสาขาต่างๆ กับไทย ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพฯ ได้เดินทางไปเยือนและเจรจาความร่วมมือดังกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2536 แต่หลังจากนั้น ก็ไม่มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกันแต่อย่างใด
    ความตกลงต่างๆ
    ปัจจุบันไทยและจอร์เจียมีความตกลงที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 5 ฉบับ ได้แก่
    1. ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Agreement for the Avoidance of Double Taxation and the Prevention of Fiscal Evasion with respect to Taxes on Income) ฝ่ายจอร์เจียได้เสนอร่างให้กับฝ่ายไทย เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2540
    สถานะล่าสุด: ขณะนี้ฝ่ายไทยได้เสนอร่างความตกลงต้นแบบของไทยให้ฝ่ายจอร์เจียแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายจอร์เจีย
    2 ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Agreement on the Promotion and Protection of Investments) ฝ่ายจอร์เจียได้เสนอร่างให้กับฝ่ายไทย เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2539 สถานะล่าสุด: ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอกำหนดวันเจรจาต่อไป
    3 ความตกลงทางการค้า (Trade Agreement)
    ฝ่ายจอร์เจียได้เสนอร่างให้กับฝ่ายไทย เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2539
    สถานะล่าสุด: ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายไทย
    4 ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางเรือ (Agreement on Maritime Transport)
    ฝ่ายจอร์เจียได้เสนอร่างให้กับฝ่ายไทย เมื่อปี 2539
    สถานะล่าสุด: ฝ่ายจอร์เจียเคยแจ้งความประสงค์จะส่งคณะมาเจรจาความตกลง ฯ เมื่อปลายปี 2540 แต่ในที่สุดเปลี่ยนเป็นคณะเพื่อเจรจาความตกลงว่าดัวยการขนส่งทางอากาศแทน จึงยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกี่ยวกับความตกลง ฯ นี้
    5 ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศ (Air Transport Agreement)
    ฝ่ายจอร์เจียได้เสนอร่างให้กับฝ่ายไทย เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2540
    สถานะล่าสุด: ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายจอร์เจีย

    มกราคม 2550

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×