ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปเอเซีย

    ลำดับตอนที่ #14 : สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน

    • อัปเดตล่าสุด 9 ม.ค. 50




     
    สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
    Islamic Republic of Iran


    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้งและอาณาเขต ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้
    ทิศเหนือ ติดทะเลสาบแคสเปียน อาเซอร์ไบจัน เติร์กเมนิสถาน อาร์เมเนีย
    ทิศตะวันตก ติดตุรกีและอิรัก
    ทิศตะวันออก ติดอัฟกานิสถานปากีสถาน
    ทิศใต้ ติดอ่าวเปอร์เซียและอ่าวโอมาน

    พื้นที่ 1,648,000 ตารางกิโลเมตร (636,296 ตารางไมล์) มีขนาดใหญ่เป็น 3.2 เท่าของประเทศไทย

    ภูมิประเทศ พื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นที่สูงและแห้งแล้งอยู่ระหว่างเทือกเขาสองลูก คือ Alborz ซึ่งทอดตัวจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปทางเหนือ และ Zagros ซึ่งทอดตัวจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปทางใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ที่ราบที่อยู่ระหว่างเทือกเขาทั้งสอง คือ ที่ราบสูงอิหร่าน ซึ่งเป็นทะเลทราย ตอนกลางประเทศเป็นทะเลทรายที่แห้งแล้งขนาดใหญ่ เฉพาะทางแถบตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นสามารถเพาะปลูกได้

    ภูมิอากาศ มีภูมิอากาศแห้งแล้ง และมีอุณหภูมิเฉลี่ยแตกต่างกันมากอากาศจะหนาวจัดในฤดูหนาว (ธ.ค.-มี.ค.) และร้อนจัดในฤดูร้อน (มิ.ย.-ก.ย.) ปีหนึ่งมี 4 ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูหนาว และฤดูใบไม้ร่วง

    เมืองหลวง เตหะราน (Tehran) มีประชากรประมาณ 8 ล้านคน

    เมืองสำคัญ Mashad มีประชากร 1.4 ล้านคน Isfahan มีประชากร 9 แสน
    กว่าคน Shiraz มีประชากร 8 แสนกว่าคน

    ประชากร 66.1 ล้านคน

    ศาสนา ศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ 95% นิกายสุหนี่ 4% และอื่น ๆ 1%

    ภาษาราชการ ฟาร์ซี (Farsi) หรือภาษาเปอร์เซีย

    ชาติพันธุ์ เปอร์เซีย 66% เติร์ก (Turks) 25% เคิร์ด (Kurds) 5%อาหรับ-อาร์เมเนีย 4%

    วันชาติ 11 กุมภาพันธ์ (Victory of the Islamic Revolution of Iran)

    สกุลเงิน Rial อัตราแลกเปลี่ยน 1,752 rials : 1 เหรียญสหรัฐ (export rate)

    เวลา ช้ากว่าเวลาที่ประเทศไทย 3 ชั่วโมงครึ่ง

    ธงชาติ แถบสีเขียว ขาว แดง และมีสัญญลักษณ์ประจำชาติสีแดงอยู่ตรงกลาง (อยู่บนแถบสีขาว)

    การเมืองการปกครอง
    รูปแบบการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งประกาศใช้เมื่อเดือนธันวาคม1979 (2522) และแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 1989 กำหนดให้อิหร่านเป็นสาธารณรัฐอิสลาม โดยมีโครงสร้างดังนี้

    ประมุขสูงสุด ปัจจุบันคือ Ayatollah Seyed Ali Khamenei (เกิดเมื่อ 15 กรกฎาคม 1939) เป็นผู้นำสูงสุดทั้งฝ่ายศาสนาจักรและอาณาจักร ได้รับเลือกโดยสภาผู้ชำนาญการ(Assembly of Expert ประกอบด้วยสมาชิก 360 คน ซึ่งได้รับเลือกโดยตรงจากประชาชนและจากนักบวชอาวุโสในศาสนาอิสลามทั่วประเทศ) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989 และมีอำนาจถอดถอนประธานาธิบดีได้

    ประธานาธิบดี เป็นตำแหน่งที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทุก ๆ 4 ปี
    และจะได้รับเลือกตั้งได้ไม่เกิน 2 สมัย ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบริหาร ถึงแม้ประธานาธิบดีจะได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนก็ตาม แต่อาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งโดยประมุขสูงสุดได้
    ปัจจุบัน Hojjatoleslam Seyed Mohammad Khatami (เกิด 25 สิงหาคม ค.ศ. 1934) ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2544 (ครั้งแรกได้รับเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 เป็นประธานาธิบดีต่อจาก Hojatoleslam Ali Akbar Hashemi Rafsanjani) นโยบายสำคัญของประธานาธิบดี Khatami คือ การผลักดันให้มีประชาธิปไตยตามหลักศาสนาอิสลามในประเทศต่อไปจนบรรลุผล และจะดำเนินการปฏิรูปด้านการเมือง สังคม วัฒนธรรมและวิชาการต่อไป เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ โดยการปฏิรูปต้องมีขึ้นทั้งในภาครัฐบาลและเอกชน นอกจากนี้ ยังจะให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน ปกป้องสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายของประชาชนและหนังสือพิมพ์ และรับฟังความต้องการของประชาชนโดยสันติวิธี ประธานาธิบดี Khatami เป็นผู้ริเริ่มแนวความคิดที่จะสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศให้มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอารยธรรม ซึ่งได้พัฒนามาสู่การเสนอข้อมติสมัชชาสหประชาชาติเรื่อง Global Agenda for Dialogue among Civilizations
    รองประธานาธิบดี 6 คน และคณะรัฐมนตรี 20 คน ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

    สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (Majlis) ประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทุก ๆ 4 ปี จำนวน 290 คน ทำหน้าที่นิติบัญญัติและควบคุมฝ่ายบริหาร สภา Majlis มีการเลือกตั้งสมัยที่ 6 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ปรากฏว่ากลุ่มปฏิรูปที่สนับสนุนแนวนโยบายของประธานาธิบดี Khatami ได้รับเสียงข้างมาก

    สภาผู้พิทักษ์ (Guardian Council) ประกอบด้วยสมาชิก 12 คน โดยประมุข
    สูงสุดจะแต่งตั้งจากนักบวชผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาอิสลาม 6 คน และจากสภา Majlis 6 คน สภานี้ทำหน้าที่กลั่นกรองและให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายที่ผ่านสภา Majlis แล้ว รวมทั้งพิจารณาว่า กฎหมายฉบับใดขัดต่อรัฐธรรมนูญและ/หรือหลักศาสนาอิสลามหรือไม่ รวมทั้งมีอำนาจตรวจสอบคุณสมบัติและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและสมาชิกสภา Majlis ด้วย

    สภาตุลาการสูงสุด (Supreme Judicial Council) ทำหน้าที่ฝ่ายตุลาการ

    ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
    อิหร่านมีนโยบายเร่งพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเอกราชใหม่ที่แยกตัวออกมาจากอดีตสหภาพโซเวียต (ประเทศเอเชียกลาง) เพื่อหวังเป็นประตูออกสู่อ่าวเปอร์เซียสำหรับประเทศในเอเชียกลาง อย่างไรก็ดี ขณะนี้อิหร่านถูกโดดเดียวโดยประเทศตะวันตกบางประเทศและสหรัฐฯจึงจำต้องหันมาขยายความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามนโยบาย Look eastของอิหร่าน

    เศรษฐกิจการค้า
    สถานะทางเศรษฐกิจ
    ผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP) 185 พันล้านเหรียญสหรัฐ (2543)
    รายได้ต่อหัว 2,900 เหรียญสหรัฐ
    มูลค่าการนำเข้า 12.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (2543)
    มูลค่าการส่งออก 19.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (2543)
    ดุลการค้า +7.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (2543)
    ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมันสำรองประมาณ 93.7 พันล้านบาร์เรล (9% ของน้ำมันสำรองทั่วโลก) แก๊สธรรมชาติ 24 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต(มากเป็นอันดับ 2 รองจากรัสเซีย) แร่ธาตุที่สำคัญอีก 5,600 ล้านตัน ที่สำรวจพบแล้วได้แก่ แร่เหล็ก 1,618 ล้านตัน ทองแดง 800 ล้านตัน ถ่านหิน 413 ล้านตัน และอื่น ๆ อีกประมาณ 300 ล้านตัน
    สินค้าส่งออกที่สำคัญน้ำมันดิบ (ผลิตได้วันละประมาณ 3.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) พรม ผลไม้ ถั่วต่าง ๆ ฝ้าย อัญมณี ทองคำ ไข่ปลาคาร์เวียร์
    สินค้านำเข้าที่สำคัญ ยุทโธปกรณ์ทางการทหาร (จากลิเบีย บราซิล จีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ) เครื่องจักรกล เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์
    อาหาร เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ในการขนส่ง
    ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ เยอรมัน และเนเธอร์แลนด์

    ที่มา: สถานเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
    ทั่วไป
    ไทยและอิหร่านได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1955 (2498) ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่าน โดยเฉพาะภายหลังจากไทยได้เข้าร่วมสมาชิกกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในปี 2536 อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองยังไม่ใกล้ชิดเท่าที่ควร ไทยพยายามเน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์กับอิหร่านเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่อยู่ในกรอบคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจไทย-อิหร่านเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาได้ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ขณะที่ฝ่ายอิหร่านพยายามส่งเสริมความร่วมมือ และให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนเพื่อหวังผลทางการเมืองเป็นสำคัญ

    การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างไทย-อิหร่านที่สำคัญ ๆ
    ฝ่ายอิหร่าน
    - นาย Mir Mohammadi รองประธานาธิบดีอิหร่านเยือนไทยระหว่างวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2540
    -นาย Mostafa Morsali รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านเยือนไทยระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2540
    -นาย Mir Bagheri ที่ปรึกษาประธานาธิบดีและเลขาธิการสภาสูงเยาวชนอิหร่านเยือนไทยระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม 2540
    - นาย Amin Zadeh รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศไทยวันที่ 1-4 มีนาคม 2541
    -นาย Ali Akbar Nategh Noori ประธานรัฐสภาอิหร่านเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐสภาไทย ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2541 และ
    -นาย Mohammad Ali Najafi รองประธานาธิบดีและหัวหน้าองค์การวางแผนและงบประมาณอิหร่านเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม ESCAP ครั้งที่ 54 และครั้งที่ 55 ระหว่างวันที่ 21-22 เมษายน 2541 และระหว่างวันที่ 25-30 เมษายน 2542 ตามลำดับ
    -ดร.คามาล คาราซี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงฯ ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2542 และระหว่างวันที่ 4-7 มิถุนายน 2543 โดยเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของสายการบิน Mahan Air และเข้าร่วมในฐานะประธานการประชุม ESCAP ครั้งที่ 56 ตามลำดับ
    -เมื่อวันที่ 23-24 เมษายน 2544 นาย Kamal Kharrazi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม ESCAP ครั้งที่ 57 ที่กรุงเทพฯ และได้เข้าพบหารือข้อราชการกับนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่กระทรวงการต่างประเทศ
    -เมื่อวันที่ 23-25 เมษายน 2545 นาย Seyed Ahmad Motamedi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไปรษณีย์ โทรเลขและโทรศัพท์ ของอิหร่านเยือนไทยในฐานะประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-อิหร่าน ครั้งที่ 6
    ฝ่ายไทย
    - ฯพณฯ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาเยือนอิหร่านระหว่างวันที่ 7-12 มิถุนายน 2540 และ
    -ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางเยือนอิหร่านอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายน 2541 และได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การพาณิชย์ อุตสาหกรรม เทคนิคการเกษตรและวิทยาศาสตร์ไทย-อิหร่าน ครั้งที่ 5 ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยระหว่างวันที่ 2-7 กรกฎาคม 2542 และ
    -นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เดินทางเยือนอิหร่านอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 24-27 กันยายน 2542


    ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
    1. คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การพาณิชย์อุตสาหกรรม เทคนิค การเกษตรและวิทยาศาสตร์ (Joint Commission – JC ไทย-อิหร่าน ไทยและอิหร่านได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฯ (JC) ไทย-อิหร่าน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2533 และได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ไปแล้ว 5 ครั้ง โดยฝ่ายไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย 4 ครั้ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมครั้งที่ 5 ที่ฝ่ายอิหร่านได้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงเตหะราน ระหว่างวันที่ 2-7 กรกฎาคม 2542 โดยฝ่ายอิหร่านมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไปรษณีย์ โทรเลขและโทรศัพท์เป็นหัวหน้าคณะในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ไทย-อิหร่าน ครั้งที่ 5 ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะส่งเสริมการค้าในสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน โดยฝ่ายไทยได้เสนอให้อิหร่านปรับเงื่อนไขการค้าให้มีความเป็นสากลมากขึ้น นอกจากนั้น ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ที่ประชุมได้พิจารณาความร่วมมือด้านการเงินการธนาคาร โดยทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารเพื่อเป็นกลไกในการเสริมสร้างการค้าระหว่างกันและได้ตกลงที่จะชำระเงินโดยเงินตราสกุลหลักตามกฎระเบียบและประเพณีปฏิบัติระหว่างประเทศ และได้มีการพิจารณาความตกลงต่าง ๆ ระหว่างไทยและอิหร่าน อันได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศ ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางเรือ ความร่วมมือด้านการขนส่งและคมนาคมระหว่างอิหร่าน-ไทย และประเทศที่สามในเอเชียกลาง และความตกลงด้านการท่องเที่ยวและความร่วมมือด้านการศุลกากร เป็นต้น
    ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JC ไทย-อิหร่าน ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 23-25 เมษายน 2545 โดยมีนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนาย Seyed Ahmad Motamedi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไปรษณีย์ โทรเลขและโทรศัพท์ของอิหร่าน เป็นประธานร่วม ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในระหว่างการประชุม นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนรายการสินค้าส่งออกระหว่างกัน และหารือเพื่อขยายความร่วมมือในด้านอื่นๆ ได้แก่ ความคืบหน้าในการจัดทำความตกลงความร่วมมือในการเดินเรือพาณิชย์ ความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน และความตกลงเกี่ยวกับการชำระเงินเพื่อการจัดทำ Account Trade เป็นต้น ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมการติดต่อระหว่างภาคเอกชน ความร่วมมือด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ความร่วมมือด้านการเกษตร ความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ความร่วมมือด้านศุลกากร และความร่วมมือในการต่อต้านยาเสพติด ซึ่งเป็นประเด็นความร่วมมือใหม่ด้วย ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม ได้มีการจัดสัมมนาระหว่างภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย เรื่องโอกาสทางธุรกิจของไทยในอิหร่านด้วย
    2. การค้า
    มูลค่าการค้าอิหร่านเป็นคู่ค้าลำดับที่ 7 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง มูลค่าการค้ารวมในปี 2543 ประมาณ 499.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 63.3 โดยไทยขาดดุลการค้า 143 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2544 (มกราคม-ธันวาคม) มูลค่าการค้ารวม 208.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงร้อยละ 58.3 จากระยะเดียวกันของปี 2543 และมูลค่าการค้าสองฝ่ายโดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปี เท่ากับปีละ 260.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
    การส่งออก ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2540-2544) ไทยส่งสินค้าออกไปอิหร่านมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 167.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2543 และ 2544 (มกราคม-ธันวาคม) ไทยส่งออกไปอิหร่านมูลค่า 178.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 132.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
    สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ข้าว ด้ายเส้นใย-ประดิษฐ์ เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน เหล็ก เหล็กกล้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
    การนำเข้าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2540-2544) ไทยนำสินค้าเข้าจากอิหร่านมูลค่าเฉลี่ยปีละ 193.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2543 และปี 2544 (มกราคม-ธันวาคม) ไทยนำสินค้าเข้าจากอิหร่านมูลค่า 321.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 76.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
    สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เหล็กและเหล็กกล้า สินแร่โลหะอื่น ๆ และเศษโลหะ ปลาหมึกสดแช่เย็น แช่แข็ง เคมีภัณฑ์ เส้นใยใช้ในการทอ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เครื่องไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เสื้อผ้า รองเท้าและสิ่งทออื่นๆ

    การขายข้าวให้รัฐบาลอิหร่าน
    เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2542 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายข้าวกับรัฐบาลอิหร่านที่กรุงเทพฯ โดยฝ่ายอิหร่านมีDr.M. Ansari ประธาน Government Trading Corporation (GTC) เป็นผู้ลงนามในนามรัฐบาลอิหร่านสัญญาดังกล่าวระบุว่าฝ่ายไทยตกลงที่จะขายข้าวขาว 100% ชั้น 2 จำนวน 3 แสนตันให้กับอิหร่านโดยไทยให้สินเชื่ออิหร่านมีกำหนด 2 ปี และในระหว่างการเยือนอิหร่านอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่24-26 กันยายน 2542 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ได้ร่วมลงนามในบันทึกช่วยจำ โดยฝ่ายอิหร่านมีประธาน Government Trading Corporation เป็นผู้ลงนามฝ่ายอิหร่าน โดยรัฐบาลไทยตกลงขายข้าวขาว 100% ชั้น 2 ให้แก่รัฐบาลอิหร่านอีก 3 แสนตันโดยไทยให้สินเชื่ออิหร่าน 2 ปี และจะเริ่มส่งมอบตั้งแต่เดือนธันวาคม 2542 เป็นต้นไป โดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไขเช่นเดียวกับสัญญาขายข้าวให้กับรัฐบาลอิหร่านฉบับวันที่ 14 พฤษภาคม 2542 ในปี 2543 อิหร่านซื้อข้าวไทย 3 แสนตัน และในปี 2544 อิหร่านได้ซื้อข้าวไทยอีก 1 แสนตัน

    อิหร่านขอเสียงสนับสนุนจากไทยเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO ผู้แทนอิหร่านประจำองค์การการค้าโลก ได้ขอเสียงสนับสนุนจากไทยในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก และคณะผู้แทนไทยประจำองค์การการค้าโลก ได้แสดงท่าทีสนับสนุนในหลักการ เนื่องจากไทยเห็นพ้องกับหลักการ universality และประสงค์ให้มีการขยายสมาชิกภาพขององค์การการค้าโลกให้มากยิ่งขึ้น

    ความร่วมมือด้านการบิน
    สายการบิน Mahan Air ซึ่งเป็นสายการบินเอกชนอันดับหนึ่งของอิหร่านได้เปิดเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ – เตหะรานตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2543 โดยทำการบินสัปดาห์ละ 2 ครั้ง สาเหตุสำคัญของการขยายเส้นทางการบินสู่กรุงเทพฯ เนื่องจาก Mahan Air มีเครือข่ายการบินในภูมิภาคอยู่แล้ว และเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการท่องเที่ยวและการค้า ไทยและอิหร่านได้เจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศระหว่างกันเมื่อปี 2542 และได้เจรจาปรับปรุงสิทธิการบินระหว่างกันเสร็จสิ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2544 ซึ่งได้ลงนามความตกลงดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2545 ระหว่างการประชุม JC ไทย-อิหร่าน ครั้งที่ 6
    ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว
    จำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวอิหร่านในปี 2544 เพิ่มขึ้นเป็น 16,700 คน หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 72 ซึ่งมีผลมาจากการที่สายการบิน Mahan Air เปิดเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ – เตหะราน สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทั้สองฝ่ายได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มพูนการติดต่อ และอำนวยความสะดวกสำหรับความร่วมมือในด้านนี้ยิ่งขึ้น

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×