ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปเอเซีย

    ลำดับตอนที่ #11 : สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี

    • อัปเดตล่าสุด 9 ม.ค. 50




     
    สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี Democratic People s Republic of Korea


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ชื่อทางการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (The Democratic People's Republic of Korea)

    รูปแบบการปกครอง
    สังคมนิยม

    ผู้นำประเทศ
    นายคิม จอง อิล (Kim Jong Il)

    ประธานสภาบริหารสูงสุด
    นายคิม ยอง นาม (Kim Yong Nam)

    นายกรัฐมนตรี
    นายปาร์ค พง จู (Park Pong Ju)

    รัฐมนตรีต่างประเทศ
    นายเป็ก นัม ซุน (Paek Nam Sun)

    วันชาติ
    9 กันยายน

    ที่ตั้ง
    ระหว่างเส้นลองติจูดที่ 125-130 องศาตะวันออก และเส้นละติจูดที่ 38-43 องศาเหนือ

    พื้นที่
    120,540 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 55 ของพื้นที่คาบสมุทรเกาหลี โดยมีพรมแดนติดกับจีน เกาหลีใต้ และรัสเซีย

    ประชากร
    23.11 ล้านคน (ประมาณการ ก.ค. 2549)

    เมืองหลวง
    กรุงเปียงยาง (Pyongyang)

    เมืองท่าสำคัญ
    Nampo เป็นท่าเรือบนฝั่งทะเลเหลือง Wonan และ Chongjin บนฝั่งทะเลญี่ปุ่น

    ภาษา
    เกาหลี (Korean)

    อัตราการรู้หนังสือ
    ร้อยละ 99

    การเมืองการปกครอง
    - เกาหลีเหนือปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ตามแนวทางของอดีตสหภาพโซเวียต ระบบการเมืองของเกาหลีเหนือตั้งอยู่บนพื้นฐานของลัทธิจูเช่ (Juche) ซึ่งอดีตประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ได้บัญญัติขึ้นเมื่อ 26 ธ.ค. 2498 ประกอบด้วยหลักการสำคัญ คือเอกราชทางการเมืองอย่างแท้จริง การพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ และการป้องกันประเทศด้วยตนเอง

    - เกาหลีเหนือมีการปกครองระบบพรรคเดียวมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีการก่อตั้งประเทศเมื่อ 9 ก.ย. 2491 โดยมีพรรคคนงานเกาหลี (Workers Party of Korea) เป็นองค์กรที่มีบทบาทและอิทธิพล สูงสุดในทางการเมืองที่คอยควบคุมหน่วยงานของรัฐบาลในการบริหารประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญปกครองประเทศของเกาหลีเหนือบัญญัติไว้ว่า อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของสมัชชาประชาชนสูงสุด ซึ่งมีสมาชิก 687 คน มาจากการเลือกตั้งและมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี

    - สถานการณ์การเมืองภายในของเกาหลีเหนือได้เข้าสู่ความไม่แน่นอน ภายหลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของประธานาธิบดีคิม อิล ซุง ในปี 2537 ซึ่งทำให้ประชาคมระหว่างประเทศกังวลว่าเกาหลีเหนือจะประสบปัญหาวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม การเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศของนายคิม จอง อิล ในเดือนกรกฎาคม 2541 แสดงให้เห็นว่านายคิม จอง อิล สามารถกุมอำนาจการปกครองประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยนายคิม จอง อิล ก็ได้มีท่าทีที่ต้องการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศในโลกเสรีมากขึ้น คาดว่าเพราะต้องการได้รับเงินตราต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับปรุงและฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศ

    - เมื่อ 5 ก.ย. 2541 การประชุมสภาประชาชนสูงสุดครั้งที่ 10 มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยระบุว่า 1) นายคิม อิล ซุง เป็นผู้ก่อตั้งเกาหลีเหนือ และเป็นบรรพบุรุษแห่งสังคมนิยมของเกาหลี ดังนั้น จึงยกย่องให้เป็นประธานาธิบดีตลอดกาล (Eternal President) 2) ยกเลิกระบบประธานาธิบดีเป็นประมุข ให้ประธานคณะกรรมการป้องกันประเทศ (Chairman of the National Defense Commission) เป็นตำแหน่งสูงสุดของประเทศ โดยมีอำนาจปกครองด้านการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ 3) ให้สภาบริหารสูงสุด (Presidium) ของสภาประชาชนสูงสุดเกาหลีเหนือ (Supreme People's Assembly) เป็นองค์กรนิติบัญญัติสูงสุดของประเทศ
    อนึ่ง สภาฯ มีมติแต่งตั้งนายคิม ยอง นาม ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาบริหารสูงสุดของสภาประชาชนสูงสุดเกาหลีเหนือ รับผิดชอบงานด้านการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับต่างประเทศ ได้แก่ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพิธีการทูต การให้และยกเลิกสัตยาบัน การแต่งตั้งและเรียกกลับผู้แทนทางการทูตในต่างประเทศ การรับสาส์นตราตั้งทูตต่างประเทศ การเป็นผู้แทนประเทศพบบุคคลสำคัญจากต่างประเทศที่ไปเยือนเกาหลีเหนือ รวมทั้งเป็นผู้แทนประเทศเดินทางไปเยือนประเทศอื่นๆ
    - เมื่อ 3 ก.ย.2546 ได้มีการประชุมสภาประชาชนสูงสุดของเกาหลีเหนือ โดยที่ประชุมฯ มีมติดังนี้
    1. นาย Kim Jong Il ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกลาโหม (Chairman of the National Defense Commission) ต่อไป
    2.นาย Kim Yong Nam ดำรงตำแหน่งประธานสภาบริหารสูงสุดของสภาประชาชนสูงสุด (President of the Presidium of the DPRK Supreme People's Assembly) ต่อไป
    3.นาย Park Pong Ju รมว.อุตสาหกรรมเคมี ดำรงตำแหน่ง นรม. สืบแทนนาย Hong Song Nam
    4.นาย Paek Nam Sun ดำรงตำแหน่ง รมว.กต.ต่อไปทั้งนี้ นรม.คนใหม่มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศให้มากยิ่งขึ้น สนับสนุนด้านการทหารอย่างเต็มที่ และส่งเสริมการรวมประเทศเกาหลีทั้งสอง

    เศรษฐกิจการค้า
    - เกาหลีเหนือมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในลักษณะวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง โดยเกาหลีเหนือได้ยึดถืออุดมการณ์ลัทธิจูเช่ (Juche) ของพรรคแรงงานเกาหลีมาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ โดยเน้นความเป็นเอกภาพ การพึ่งพาตนเอง เกียรติภูมิของชาติ และการสร้างความเจริญให้กับประเทศ พร้อมกับประกาศ “ขบวนการม้าบิน” (Chollima Movement) ในปี 2501 ที่กระตุ้นให้ประชาชนขยันขันแข็งในการทำงาน เร่งเพิ่มผลผลิตโดยเฉพาะทางด้านการเกษตร

    - เกาหลีเหนือมีระบบการค้าผูกขาดโดยภาครัฐ ทั้งการค้าในประเทศและต่างประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์ควบคุมการค้าภายในประเทศ และกระทรวงการค้าต่างประเทศควบคุมการค้าระหว่างประเทศ โดยได้จัดตั้งบริษัทการค้าของรัฐหรือสหกรณ์การค้าของรัฐ เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการค้า รัฐบาลเกาหลีเหนือพยายามขยายการค้ากับต่างประเทศให้มากขึ้น โดยได้เน้นการผลิตสินค้าที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการเพิ่มขึ้น พยายามปรับปรุงเครดิตของเกาหลีเหนือ ส่งเสริมสินค้าออกทั้งแบบ merchant trade และ barter trade ส่งเสริมการร่วมลงทุนกับต่างประเทศ นอกจากนี้ เกาหลีเหนือได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (Commission for the Promotion of Foreign Trade) เพื่อสนับสนุนการค้ากับประเทศที่ยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ

    - เกาหลีเหนือสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เพียงร้อยละ 20 ของปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศเท่านั้น ภาวะการขาดแคลนพลังงานของเกาหลีเหนือ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถทำการผลิตได้เพียงร้อยละ 20 ของความสามารถในการผลิต ทั้งนี้ มีรายงานว่าระบบการสื่อสารและคมนาคมขนส่งของเกาหลีเหนืออยู่ในสภาพย่ำแย่ ซึ่งหากสภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไป อาจส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจเกาหลีเหนือล่มสลายได้ และนำไปสู่การอพยพของชาวเกาหลีเหนือไปสู่จีนและเกาหลีใต้

    - อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเกาหลีเหนือมีทหารประจำการกว่า 1 ล้านคน ทำให้องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ แสดงข้อห่วงกังวลว่าความช่วยเหลือด้านอาหารที่นานาประเทศส่งไปช่วยเหลือชาวเกาหลีเหนือ ส่วนใหญ่อาจถูกนำไปใช้เลี้ยงดูกองทัพและไม่ถึงมือประชาชนที่อดอยากและขาดแคลนอาหาร

    - ในปี 2538 และ 2539 ได้ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรกรรมและโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ ต่อมาในปี 2540 เกาหลีเหนือประสบกับภาวะภัยแล้งและพายุในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวทางฝั่งตะวันตกของประเทศ ทำให้ไม่สามารถผลิตอาหารให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ประชาชนเจ็บป่วยและล้มตายเป็นจำนวนมาก รัฐบาลเกาหลีเหนือจึงได้เริ่มขอรับความช่วยเหลือจากประชาคมโลกมาตั้งแต่ปี 2538 ทั้งนี้ ก่อนการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในปี 2532-2533 ประเทศที่เคยเป็นคู่ค้าที่สำคัญของเกาหลีเหนือคือ สหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก แต่หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต มูลค่าการค้ากับรัสเซียได้ลดน้อยลงอย่างมาก และประเทศยุโรปตะวันออกก็ไม่มีกำลังซื้อ นอกจากนี้ สินค้าส่งออกของเกาหลีเหนือ ก็ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าประเภทเดียวกันจากประเทศอื่นๆ ทั้งทางด้านคุณภาพและราคาได้ รวมทั้ง เกาหลีเหนือยังประสบปัญหาการขาดเแคลนเงินตราต่างประเทศ เพื่อนำไปซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการผลิตสินค้าอีกด้วย

    - รัฐบาลเกาหลีเหนือได้พยายามหาเงินตราจากต่างประเทศ โดยไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ ดังนี้ 1) ในปี 2534 ได้พยายามทดลองเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในลักษณะเดียวกับจีน บริเวณใกล้พรมแดนจีนและรัสเซียเรียกว่า Rajin-Sonbong Free Trade Zone (FTZ) เพื่อเป็นเขตผ่อนผันให้กับนักลงทุนต่างชาติผ่านเข้าออกได้ โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา มีการลดภาษีศุลกากร และมีสิ่งจูงใจอื่นๆ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในเขตดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวได้รับความสนใจน้อยมาก (มีนักลงทุนจากไทยและจีนเข้าไปลงทุนในขณะนี้) เนื่องจากค่าจ้างแรงงานที่สูง การแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดำเนินงาน นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติ ยังไม่ค่อยแน่ใจในสถานการณ์ทางการเมืองภายในเกาหลีเหนือ ตลอดจนปัญหาเรื่องนโยบายคุ้มครองการลงทุน รวมทั้งความไม่พร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ สนามบิน ท่าเรือ และการขาดพื้นฐานทางอุตสาหกรรม และ 2) ในปี 2541 ได้เปิดให้บริษัทฮุนไดของเกาหลีใต้เข้าไปลงทุนโดยการนำนักท่องเที่ยวเข้าชมบริเวณเทือกเขา Kumgang โดยบริษัทฮุนไดต้องจ่ายค่าสัมปทานให้กับรัฐบาลเกาหลีเหนือเดือนละ 12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ [แต่ปรากฏว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้น้อยเกินคาด คือน้อยกว่า 4,000 คนต่อเดือนทำให้บริษัทฮุนไดขาดทุนอย่างนัก จนเมื่อเดือน ม.ค. 2545 รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่โครงการดังกล่าว เพราะเห้นว่าเป็นโครงการที่ส่งเสริมนโยบายปรองดองระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้] 3) เมื่อ ก.ย. 2545 เกาหลีเหนือได้ประกาศให้เมืองชินอึยจู ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ติดชายแดนจีนตรงข้ามเมืองตานตงของมณฑลเหลียวหนิงมีแม่น้ำยาลูเป็นเส้นกั้นพรมแดนให้เป็นเขตบริหารพิเศษขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางโดยสามารถบัญญัติกฎหมายมีอำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ 4) นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ระหว่างนายคิม จอง-อิล ผู้นำเกาหลีเหนือกับนายคิม แด-จุง อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในปี 2543 เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ได้มีความพยายามร่วมกันในการส่งเสริมโครงการนิคมอุตสาหกรรมแกซอง (Gaeseong Industrial Complex- GIC) ซึ่งปัจจุบัน โครงการดังกล่าวอยู่ในระยะที่ 1 (เสร็จสิ้นในปี 2550) มีอุตสาหกรรมได้รับประโยชน์จากค่าจ้างแรงงานที่ถูก การพึ่งพาและทำงานร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรม เช่น บริษัทผลิตเครื่องใช้ในครัว บริษัทผลิตเสื้อผ้า เป็นต้น


    - อย่างไรก็ตาม การทดลองขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนและการค้าต่างประเทศชะงักงัน โดยเฉพาะผลกระทบจากข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 1718 (2006) หากปัญหาต่างๆ ดังกล่าวได้รับการแก้ไข รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานทางการเงินให้เป็นสากลมากขึ้น ก็อาจทำให้การลงทุนในเขตเศรษฐกิจดังกล่าวได้รับความสนใจจากต่างประเทศมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

    - เมื่อ 2 ส.ค. 2545 เกาหลีเหนือได้เริ่มทดลองมาตรการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ โดยลดการปันส่วนอาหาร และให้ประชาชนซื้ออาหารจากตลาดมากขึ้นแทน และเพิ่มค่าแรงเพื่อให้ประชาชนมีกำลังซื้ออาหารจากตลาดเอง รัฐบาลเกาหลีเหนือจะใช้ family production system ในพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งคล้ายกับระบบที่จีนใช้เมื่อเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต รัฐบาลเกาหลีเหนือจะลดการซื้อธัญญพืชสำหรับการปันส่วนของรัฐ และจะปล่อยให้เกษตรกรสามารถขายพืชผลได้เองมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีเหนือจะลดค่าเงินของเกาหลีเหนือจาก 2.2 วอนต่อ 1 เหรียญสหรัฐ เป็น 200 วอนต่อ 1 เหรียญสหรัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับตัวเข้าสู่ระบบตลาดต่อไปในอนาคต

    - การปฏิรูประบบเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือมีความคืบหน้าที่ดีขึ้น ถือว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยเกาหลีเหนือสามารถรับมือกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปได้ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงการจัดสรรอุปทานพลังงานเพื่อรองรับความต้องการได้ดีขึ้น มีความพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้นทั้งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการค้าระหว่างประเทศ ในปี 2546 ภาคเกษตรมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 4.156 ล้านตันจากความต้องการบริโภค 5.1 ล้านตัน ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 และภาคการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 2,390 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 11 ปี
    - ปัจจุบัน รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ให้อิสระมากขึ้นแก่ประชาชน รัฐวิสาหกิจ และบริษัทต่างๆ ในการเลือกประกอบอาชีพ การบริหารจัดการ การจัดทำข้อตกลงการค้าได้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดตั้งตลาดซื้อขายสินค้าเพิ่มอีกกว่า 300 แห่ง เพื่อรองรับการขยายตัวของการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบเศรษฐกิจการตลาด ในขณะที่สตรีเกาหลีเหนือก็เข้าไปมีบทบาทในการหารายได้เลี้ยงครอบครัวเพิ่มขึ้นด้วย
    - ล่าสุด จากการประชุมสภาประชาชนสูงสุด (SPA) เมื่อ 11 เม.ย. 49 ที่ผ่านมา นโยบายทางเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือจะเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี อันเป็นยุทธศาสตร์ของเกาหลีเหนือในการเพิ่มความสามารถในการผลิตและเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองได้ ตามหลักจูเช่ และเชื่อว่าเกาหลีเหนือจะเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง และอุตสาหกรรม Software (นาย Kim Jong Il เคยประกาศให้ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคของการประวัติทางเทคโนโลยีสารสนเทศ) ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2541เป็นต้นมา เกาหลีเหนือประกาศว่าการสร้าง ”ประเทศที่เข้มแข็งและมั่งคั่ง” (Kangsong Taeguk- 강성대국) จะต้องตั้งอยู่บนเสาหลักสำคัญ 3 ประการคือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุดมการณ์ และการทหาร

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (조선민주주의인민공화국)
    ภูมิหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต

    - เริ่มต้นในปี 2515 จากการแลกเปลี่ยนการติดต่อในด้านการค้าและกีฬาอย่างไม่เป็นทางการ
    - ในปี 2517 เกาหลีเหนือแสดงความสนใจที่จะขอเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น
    - 8 พ.ค. 2518 ไทยและเกาหลีเหนือได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน และมีการแลกเปลี่ยน ออท.ระหว่างกันในเวลาต่อมา โดย ออท.เกาหลีเหนือประจำสหภาพพม่า (ในขณะนั้น) ดำรงตำแหน่ง ออท.ประจำประเทศไทย และออท.ณ กรุงปักกิ่ง ดำรงตำแหน่งออท.ณ กรุงเปียงยาง
    - 15 มี.ค. 2534 เกาหลีเหนือได้ยกระดับสำนักงานผู้แทนการค้าของเกาหลีเหนือในกรุงเทพฯ (ที่ตั้งขึ้นเมื่อ 25 ธ.ค.2522) เป็น สอท.แต่ไทยยังไม่ได้เปิด สอท.ณ กรุงเปียงยาง โดยขณะนี้ สอท.ณ กรุงปักกิ่ง เป็นผู้ดูแล

    การแลกเปลี่ยนการเยือน

    - นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันแล้ว ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือน ระหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างสม่ำเสมอ ดังนี้

    การเยือนที่สำคัญจากฝ่ายเกาหลีเหนือมาไทย ได้แก่

    - ก.พ. 2525 นาย Li Jong Ock รมว.กต.
    - ต.ค. 2531 นาย Kim Yong Nam รองนรม. และ รมว.กต.
    - 13-17 ธ.ค. 2537 นาย Kim Yong Nam รอง นรม. และ รมว.กต.
    - ปลาย ม.ค. 2534 นาย Yon Hyung Muk นรม.เกาหลีเหนือ
    - ต้น พ.ย. 2536 นาย Chan Chol รองนรม.และรมว.ศึกษา ศิลปและวัฒนธรรม ระหว่าง 5-9 ก.พ. 2538 นาย Li Song Dae ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจระหว่างประเทศมาเยือนไทย
    - 24 ก.ค. 2538 นาย Choi U Jin รมช.กต.มาเยือนไทย เมื่อปลาย ส.ค. 2541 นาย Pak Song Chol รองประธานาธิบดีมาแวะผ่านประเทศไทย ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ นรม.และรองประธานสภา ระหว่าง 25-29 ก.ค. 2543 นาย Paek Nam Sun รมว.กต.ได้เดินทางมาเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ และเข้าร่วมการประชุม ARF ครั้งที่ 7
    - 29 ต.ค.–2 พ.ย. 2543 นาย Cho Tae Bok ประธานสมัชชาประชาชนสูงสุด
    เกาหลีเหนือ (ซึ่งมีฐานะเทียบเท่าประธานสภาผู้แทนราษฎร) ได้เดินทางเยือนไทยในฐานะแขกของรัฐสภา
    - 28 เม.ย.-2 พ.ค.2544 นาย Ri Ryong Nam รมช.การค้า มาเยือนไทยตามคำเชิญของรมว.พณ.
    - 4-8 ธ.ค. 2544 นาย Ri Kwang Gun รมว.การค้าต่างประเทศเยือนไทยตามคำเชิญของ รมว.พณ. และได้ลงนามข้อตกลงซื้อข้าวไทย 300,000 ตันด้วยเงินเชื่อ 2 ปี เรื่อง Account Trade และการขยายความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน (เมื่อ 29 ม.ค. 2545 ครม. มีมติเห็นชอบการขายข้าวดังกล่าว)
    - 28 ก.พ. – 3 มี.ค. 2545 นายคิม ยอง นาม นำคณะเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยมี พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีให้การต้อนรับที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ และในวันที่ 1 มีนาคม 2545 มีการหารือสองฝ่ายเต็มคณะ และพิธีลงนามความตกลง 3 ฉบับ คือ ความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ความตกลงทางวัฒนธรรม และความตกลงแลกเปลี่ยนข่าวสารและความร่วมมือระหว่างสำนักข่าวไทย และสำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือ
    - 22-29 มิ.ย. 2545 นาย Ri Kwang Gun รมว. การค้าต่างประเทศเยือนไทยเพื่อขอเจรจาการแสดงความจริงใจในการค้าข้าวระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือ
    - 28-31 ม.ค. 2546 นาย Ri Kum Bom รมว.ไปรษณีย์และโทรคมนาคม เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
    - 16-19 ก.ย. 2546 นาย Ri Ju Kwan อธิบดีกรมสารนิเทศ กต.เกาหลีเหนือ เยือนไทยตามโครงการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่กรมสารนิเทศ กต.ของสองประเทศ
    - 26 มิ.ย.-1 ก.ค. 2547 นาย Rim Kyong Man รมว.การค้าต่างประเทศเกาหลีเหนือเดินทางเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงพาณิชย์
    - 3-5 ส.ค. 2547 นาย Kim Yong Il, Vice Minister กต.เกาหลีเหนือ เยือนไทยในฐานะแขก กต.
    - 24-28 ก.ค. 2548 นาย Paek Nam Sun รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีเหนือเยือนไทยอย่างเป็นทางการ

    การเยือนที่สำคัญจากฝ่ายไทย ได้แก่

    - 8-15 พ.ค. 2530 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
    - 22-26 มี.ค. 2534 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
    - 9-14 มี.ค. 2535 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และ เสด็จฯ เป็นครั้งที่ 2 เมื่อปลาย มิ.ย.2536
    - 21-24 ส.ค. 2530 รมว.กต. (พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา)
    - เม.ย. 2536 นายมารุต บุนนาค ประธานรัฐสภา
    - ปลาย มิ.ย. 2537 นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานวุฒิสภา
    -18-21 เม.ย. 2538 นายอุทัย พิมพ์ใจชน รมว.พาณิชย์
    -15-18 ก.ค. 2543 นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร รมช.พณ.
    -22- 27 ต.ค. 2544 นายกระแส ชนะวงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
    - 13-16 พ.ย. 2544 นายประจวบ ไชยสาส์น ผู้แทนทางการค้าของไทย
    - 8-11 มิ.ย. 2545 นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา
    - 30 ก.ค - 3 ส.ค. 2545 นาย พิเชฐ พัฒนโชติ รองประธานสภาคนที่หนึ่ง
    - 30 ก.ย.-5 ต.ค 2545 อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กต.(นายนรชิต สิงหเสนี) และคณะ
    - 18-25 ต.ค. 2546 กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-เกาหลีเหนือ
    - 14-19 มิ.ย. 2547 อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กต.(นายอภิชาติ ชินวรรโณ)และคณะ
    - 19-24 ก.ค. 2547 นายกันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้าไทย ที่ปรึกษา รมว.กต.และคณะ
    - 12-16 ต.ค. 2547 รอง อ.กรมสารนิเทศ (นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ) และคณะ
    - 27-30 ส.ค. 2548 นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนเกาหลีเหนืออย่างป็นทางการ

    ความร่วมมือด้านการค้า/การลงทุน
    - กลไกความสัมพันธ์ทวิภาคีได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า (Joint Trade Commission:JTC) รมว.พณ.ของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน
    - การลงทุนไทยในเกาหลีเหนือ บริษัท ล็อกซเลย์ จำกัด มหาชน (Loxley Public Co.,Ltd) ลงทุนด้านกิจการโทรคมนาคม
    - การค้าไทยกับเกาหลีเหนือ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด ทั้งนี้ ในปี 2548 มีมูลค่า 13,695.9 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการนำเข้า 5,357.2 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 8,338.7 ล้านบาท
    - สินค้านำเข้าจากไทยได้แก่ หลอดไฟฟ้า ยางพารา แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ฯลฯ
    - สินค้าส่งออกมาไทยได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ฯลฯ

    ความตกลงการบิน

    - เมื่อ 18 มี.ค. 2536 ไทยและเกาหลีเหนือได้ทำความตกลงการบินระหว่างกัน โดยสายการบิน Koryo ของเกาหลีเหนือ ได้เริ่มทำการบินจากกรุงเปียงยางมาไทยแล้วระยะหนึ่ง (เที่ยวบินปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2536) และได้ระงับเที่ยวบินไว้ระยะหนึ่ง เพราะมีผู้โดยสารน้อย โดยเกาหลีเหนืออ้างว่าสาเหตุที่ไม่มีผู้โดยสารเพราะปัญหาความไม่สะดวกเกี่ยวกับการขอรับการตรวจลงตราให้แก่ชาวเกาหลีเหนือที่เดินทางมาไทย ซึ่งไม่สามารถรับการตรวจลงตราที่ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ได้ แต่ยังต้องไปขอรับการตรวจลงตราที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้เปิดเส้นทางบินไปกลับ เปียงยาง-มาเก๊า-กรุงเทพฯ โดยบินสัปดาห์ละ 1 เที่ยว เมื่อเดือนเม.ย. 2540 ได้ขยายเป็นสัปดาห์ละ 2 เที่ยว แต่ต่อมาได้ลดลงเป็นสัปดาห์ละ 1 เที่ยวเหมือนเดิม เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารมีไม่มากพอ ปัจจุบันเนื่องจากมีผู้โดยสารน้อยมาก สายการบิน Koryo จึงทำการบินเส้นทางเปียงยาง-กรุงเทพฯ-เปียงยาง เพียงเดือนละ 1 เที่ยวเท่านั้น

    ความร่วมมือทางทหาร

    - ไทยและเกาหลีเหนือยังไม่มีความร่วมมือทางทหารที่เป็นทางการระหว่างกันแต่อย่างใด แต่ทั้งสองฝ่ายก็มีการติดต่อระหว่างกัน โดยนาย Oh Jin-U รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเกาหลีเหนือมาเยือนไทย เมื่อ ธ.ค. 2533 และเมื่อระหว่าง 18-21 ส.ค. 2536 พล.อ.วิจิตร สุขมาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยก็ได้ไปเยือนเกาหลีเหนือ

    - ฝ่ายเกาหลีเหนือได้เคยทาบทามขอแต่งตั้งผู้ช่วยทูตทหารเกาหลีเหนือประจำประเทศไทย และเสนอให้ไทยพิจารณาแต่งตั้งให้ผู้ช่วยทูตทหารประจำกรุงปักกิ่ง มีเขตอาณาปกคลุมถึงเกาหลีเหนือด้วย ซึ่งกระทรวงกลาโหมกำลังพิจารณาข้อเสนอของเกาหลีเหนือ

    ด้านวัฒนธรรม

    - ไทยและเกาหลีเหนือมีการแลกเปลี่ยนการติดต่อและการดำเนินกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมในสาขาต่าง ๆ ระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ เช่น โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน โครงการแลกเปลี่ยนสื่อมวลชน กีฬา นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-เกาหลีเหนือ โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้น

    - อนึ่ง เกาหลีเหนือได้เคยทาบทามขอทำความตกลงด้านวัฒนธรรมกับไทยในปี 2532 และปี 2534 แต่ไทยไม่ได้ตอบสนอง ล่าสุด เมื่อนายคิม ยอง นาม ประธานสภาบริหารสูงสุดกำหนดเยือนไทยตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีระหว่าง 28 ก.พ. – 3 มี.ค. 2545 ฝ่ายเกาหลีเหนือได้เสนอร่างความตกลงฯ อีกครั้ง และไทยตอบรับ และมีการลงนามความตกลงใน 1 มี.ค. 2545
    - ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2548
    ไทยและเกาหลีเหนือได้เห็นชอบให้มีการแลกเปลี่ยนกิจกรรมทางวัฒนธรรม โดยเกาหลีเหนือเสนอจะให้มีการแลกเปลี่ยนการแสดงของคณะนาฏศิลป์

    ความร่วมมือทางวิชาการ

    - ปัจจุบันไทยได้ให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่เกาหลีเหนือภายใต้การดำเนินงานของกรมวิเทศสหการ โดยเมื่อปี 2539 เกาหลีเหนือได้จัดส่งคณะผู้แทนเข้าหารือกับผู้แทนกรมวิเทศสหการเพื่อแสดงความประสงค์ในการที่จะจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมในโครงการหลักสูตรฝึกอบรมประจำปี ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในสาขาต่าง ๆ เช่น สาขาการค้าระหว่างประเทศ การคลัง การลงทุน และการขนส่ง โดยการเข้าร่วมการฝึกอบรมดังกล่าวของเกาหลีเหนืออยู่ในรูปแบบของความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (Technical Cooperation among Developing Countries- TCDC) ซึ่งรัฐบาลของประเทศผู้ขอรับการฝึกอบรมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางระหว่างประเทศ และรัฐบาลของประเทศผู้จัดการฝึกอบรมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายภายในประเทศทั้งหมด พร้อมกันนี้ เกาหลีเหนือยังได้เสนอที่จะให้ไทยจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรฝึกอบรมที่เกาหลีเหนือจัด ซึ่งเกาหลีเหนือมีศักยภาพ เช่น สาขาเหมืองแร่ และนิวเคลียร์ เป็นต้น ซึ่งในปี 2541 คณะผู้แทนกรมวิเทศสหการได้เดินทางไปหารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับเกาหลีเหนือที่กรุงเปียงยาง ตามคำเชิญของรัฐบาลเกาหลีเหนือ โดยฝ่ายไทยได้ตกลงที่จะให้ความร่วมมือทางวิชาการ ดังนี้ ทุนฝึกอบรม/ดูงานระยะสั้นทางด้านวิทยาศาสตร์และการเกษตรฯ การเชิญเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือเยือนไทย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น นอกจากนี้ กรมวิเทศสหการยังได้จัดสรรการให้ความร่วมมือในกรอบการฝึกอบรมประเทศที่สาม (Third Country Training Program) โดยร่วมมือกับ WHO ในการจัดการฝึกอบรม/ดูงานด้านสาธารณสุขให้แก่เกาหลีเหนือปีละประมาณ 15-18 หลักสูตรด้วย
    ผู้แทนทางการทูตเกาหลีเหนือในไทย
    เอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำประเทศไทย นายโอ ยอง ซอน (Mr. O Yong Son)
    ที่อยู่สถานเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำประเทศไทย

    The Embassy of the Democratic People's Republic of Korea
    14 Mooban Suanlaemtong 2 (Soi 28)
    Pattanakan Road, Suan Luang,
    Bangkok 10250
    Tel (66) 2-319-2686
    Fax (66) 2-318-6333

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×