ลำดับตอนที่ #10
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #10 : ไต้หวัน
Taiwan |
ข้อมูลทั่วไป |
พื้นที่ 36,000 ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะทอดยาวจากเหนือสู่ใต้ โดยมีแนวเขาอยู่ที่ส่วนกลางของเกาะ จัดอยู่ในเขตภูเขาไฟและแผ่นดินไหว
เมืองหลวง ไทเป (มีประชากรประมาณ 2.7 ล้านคน)
ประชากร 22.77 ล้านคน (ธ.ค.2548) ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮั่น โดยมีชาวเขาพื้นเมืองที่สำคัญ 9 เผ่า ได้แก่ Ami, Atayal, Paiwan, Bunun, Puyuma, Rukai, Tsou, Saisiyat และ Yami
โครงสร้างประชากร อายุระหว่าง 0-14 ปี ร้อยละ 19.3 อายุระหว่าง 15-64 ปี ร้อยละ 71.2 อายุ 65 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 9.5
ภูมิอากาศ ร้อนชื้นแบบใกล้เขตร้อน ฤดูร้อน (พ.ค.-ก.ย.) อุณหภูมิเฉลี่ย 27 - 35 C ฤดูหนาว (ธ.ค.-ก.พ.) อุณหภูมิเฉลี่ย 10 C
ภาษา จีนกลาง (Mandarin) เป็นภาษาราชการ ฮกเกี้ยน (หมิ่นหนาน) เป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้ทั่วไปคู่กับจีนกลาง ข้าราชการระดับสูงทั่วไปสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้
ศาสนา พุทธมหายาน ขงจื้อ เต๋า และคริสต์
หน่วยเงิน ดอลลาร์ไต้หวัน (New Taiwan Dollar : NT$)
1 USD เท่ากับ 32.7290 ดอลลาร์ไต้หวัน
1 ดอลลาร์ไต้หวัน เท่ากับ 1.2119 บาท (วันที่ 17 มี.ค. 2549)
GDP 344,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
GDP Growth ร้อยละ 3.8
รายได้เฉลี่ยต่อหัว 15,215 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 255,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 3.8 (ม.ค. 2549)
เมืองสำคัญ
-เกาสง (Kaohsiung) เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางธุรกิจทางภาคใต้และเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของไต้หวัน มีท่าเรือขนาดใหญ่ (ติด 10 อันดับแรกของโลก)
- จีหลง (Keelung) เป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดทางภาคเหนือ
ผู้นำ
นายเฉิน สุยเปี่ยน (Chen Shui-bian) ประธานาธิบดี
นางหลู่ ซิ่วเหลียน (Lu Hsiu-lien) รองประธานาธิบดี
นายซู เจินชาง (Su Tseng-chang) นายกรัฐมนตรี
นางไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) รองนายกรัฐมนตรี
นายหวง จื้อฟัง (James Huang) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
การเมืองการปกครอง |
ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายเฉิน สุยเปี่ยน สังกัดพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party หรือ DPP) ซึ่งได้รับการเลือกตั้งในวาระแรกเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2543 โดยรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2543 และต่อมาก็ได้รับการเลือกตั้งในวาระที่ 2 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2547 โดยรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2547อำนาจพิเศษของประธานาธิบดีรวมถึงการแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการของสภาควบคุม และสภาตุลาการ(The Control and Judicial Yuans) แก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอำนาจในการบริหารสภา (inter-Yuan) และการใช้อำนาจในสภาวะการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนั้น ประธานาธิบดียังเป็นประธานของสภาความมั่นคงแห่งชาติโดยตำแหน่ง ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในปี 2551
รัฐธรรมนูญการปกครองแบบ 5 อำนาจ (5 สภา) (The Five Yuans)
รัฐธรรมนูญไต้หวันได้จัดแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 5 สภา ได้แก่ (1) สภาบริหาร
(The Executive Yuan) (2) สภานิติบัญญัติ (The Legislative Yuan) (3) สภาตุลาการ (The Judical Yuan) (4) สภาตรวจสอบและคัดเลือก (The Examination Yuan) (5) สภาควบคุม (The Control yuan) เป็นส่วนของการบริหารประเทศสูงสุด
สภาบริหาร (The Executive Yuan)(คณะรัฐมนตรี)
สภาบริหารมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานรับผิดชอบการสร้างนโยบายของชาติและทำให้บังเกิดผล มีการจัดองค์การย่อย 3 ระดับ ภายใต้สภาบริหาร คือ
(1) คณะมนตรีสภาบริหาร (Executive Yuan Council) คือ คณะรัฐมนตรี
(2) องค์การบริหาร (Executive Organizations) คือกระทรวง และคณะกรรมาธิการ ต่าง ๆ ที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง
(3) หน่วยงานขึ้นตรง (Subordinate Departments) รวมไปถึงสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานสถิติ กรมประชาสัมพันธ์ และคณะกรรมาธิการพิเศษอื่น ๆ และ คณะกรรมาธิการเฉพาะกิจ
สภานิติบัญญัติ (The Legislative Yuan)
สภานิติบัญญัติเป็นตัวแทนของประชาชนในการผ่านการออกกฎหมายและควบคุมการทำงานของสภาบริหาร ผู้แทนของสภานิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 221 คน สภานิติบัญญัติมีสมัยประชุมปีละ 2 ครั้ง และมีอำนาจในการออกกฎหมายทั่วไป การรับรองคำสั่งฉุกเฉิน การตรวจสอบร่างรัฐบัญญัติงบประมาณและการตรวจสอบรายงานทางบัญชี การรับรองรัฐบัญญัติที่ออกโดยกฎอัยการศึก และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันพรรคก๊กมินตั๋งยังคงครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติ
สภาตุลาการ (The Judicial Yuan)
ระบบตุลาการของไต้หวัน นอกจากมีศาลชั้นต้น (The District Court) ศาลอุทธรณ์ (The High Court) และศาลฎีกา (The Supreme Court) แล้ว ยังมีสภาตุลาการเป็นสภาตุลาการที่สูงสุดของประเทศ โดยควบคุมกระทรวงยุติธรรม ศาลฎีกา ศาลฝ่ายบริหาร และคณะกรรมาธิการระเบียบวินัยข้าราชการ สภาตุลาการมี ประธาน รองประธาน และตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คน ทั้งหมดได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโดยความเห็นชอบของสภาควบคุม
สภาตรวจสอบและคัดเลือก (The Examination Yuan)
สภาตรวจสอบและคัดเลือกรับผิดชอบในการสอบสวน การแต่งตั้ง การคัดเลือกการบันทึกข้อมูล การใช้จ่ายเงินของข้าราชการในสังกัดของรัฐบาล การแบ่งหน้าที่ของสภาตรวจสอบและคัดเลือกออกจากฝ่ายบริหารเป็นสิ่งที่รับรองความเป็นอิสระจากอิทธิพลของพรรคพวกเดียวกัน อำนาจเช่นนี้ได้ถูกนำมาใช้โดยสภาตรวจสอบและคัดเลือกแต่เพียงลำพังในระดับการปกครองส่วนกลาง ระบบการตรวจสอบและคัดเลือกได้นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างของรัฐบาลทั้งหมด ไม่ว่าจะมีลำดับยศสูงหรือต่ำ
สภาควบคุม (The Control Yuan)
สภาควบคุมเป็นฝ่ายควบคุมสูงสุดของชาติ มีสิทธิในการให้ความคิดเห็นการพิจารณาความผิดของข้าราชการ การว่ากล่าวตำหนิติเตียน การลงโทษ และการตรวจสอบบัญชี สภาควบคุมมีอำนาจเป็นลำดับที่สองของอำนาจการปกครองของไต้หวันที่สืบต่อกันมา 2 สภา (อีกสภาหนึ่งคือสภาตรวจสอบและคัดเลือก) ซึ่งถูกผสมผสานเข้ากับสภาบริหารสภานิติบัญญัติ สภาตุลาการของระบอบประชาธิปไตยทางตะวันตกในระบบการปกครองทั้ง 5 อำนาจแห่งสภา สภาควบคุมนี้จะประชุมกันเดือนละครั้ง และมีกระทรวงตรวจสอบ (Ministry of Audit) เป็นองค์กรย่อยของสภา
นโยบายต่างประเทศ
ปัจจุบันไต้หวันได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับ 24 ประเทศ (Belize, Costa Rica, Dominican Republic, El Salvador, Guatemala, Haiti, Honduras, Nicaragua, Panama, Paraguay, St. Kitts and Nevis, St. Vincent and Grenadines, Burkina Faso, Gambia, Malawi, Sao Tome & Principe, Swaziland, Kiribati, Marshall Islands, Nauru, Palau, Solomon Islands, Tuvalu, Holy See)ไต้หวันมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เนื่องจาก กรอบนโยบายจีนเดียว ไต้หวันจึงให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์ในกรอบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกับประเทศต่าง ๆ ที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน
สำหรับนโยบายต่างประเทศของไต้หวันต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ไต้หวันได้ดำเนิน “นโยบายมุ่งสู่ใต้” (Go South Policy) เป็นนโยบายส่งเสริมให้ชาวไต้หวันมาลงทุนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไต้หวันต้องพึ่งพาจีนและใช้เศรษฐกิจเป็นช่องทางกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้
ในกรอบเวทีระหว่างประเทศที่ไต้หวันเป็นสมาชิก ได้แก่ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Economic Cooperartion - APEC) ซึ่งเป็นสมาชิกในฐานะเขตเศรษฐกิจ (economy) และองค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO) โดยเป็นการเข้าร่วมในฐานะที่เป็นเขตศุลกากรพิเศษ (custom territory) การเข้าร่วมในเวทีทั้งสองของไต้หวันจึงเป็นการเข้าร่วมในสถานะที่ไม่ใช่รัฐ
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไต้หวัน |
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย ไต้หวัน
การค้ารวม
ปี 2548 การค้าไทย-ไต้หวันมีมูลค่า 7,216.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการค้าปี 2547 ร้อยละ 9.8 โดยไต้หวันเป็นคู่ค้าลำดับที่ 7 ของไทย การค้าระหว่างไทย-ไต้หวันในเดือนมกราคม 2549 มีมูลค่า 624.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 18.46
การส่งออก
ปี 2548 ไทยส่งสินค้าออกไปไต้หวันมูลค่า 2,713.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการส่งออกในปี 2547 ร้อยละ 4.02 การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2549 มีมูลค่า 194.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากระยะเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 3.68
การนำเข้า
ปี 2548 ไทยนำเข้าสินค้าจากไต้หวันมูลค่า 4,503.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าในปี 2547 ร้อยละ 13.61 การนำเข้าของไทยในเดือนมกราคม2549 มีมูลค่า 429.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 26.61
ดุลการค้า
ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าแก่ไต้หวันมาโดยตลอด ในปี 2548 ไทยขาดดุลการค้ากับไต้หวันมูลค่า 1,790.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เดือนมกราคม 2549 ไทยขาดดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 235.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกและนำเข้า
สินค้าส่งออก
เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์กระดาษ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยางพารา เป็นต้น
สินค้านำเข้า
เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ผ้าผืน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์โลหะ เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
ปัญหาอุปสรรคทางการค้า
ไต้หวันกำหนดมาตรการด้านสุขอนามัย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และเป็นการปกป้องผู้ผลิตภายใน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ไต้หวันสามารถผลิตเองได้ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ด พืชผักบางชนิด (มันฝรั่ง มันเทศ ข้าว) ผลไม้เมืองร้อน (มะม่วง ลำไย มะละกอ แตงโม สับปะรด ฯลฯ) ถั่วลิสง ถั่วแดง
นับตั้งแต่การระบาดของโรคไข้หวัดนก เมื่อปี 2547 ไต้หวันได้สั่งห้ามนำเข้าเนื้อไก่สดและไก่ต้มสุกจากประเทศไทย
ไต้หวันอนุญาตให้นำเข้าอาหารสุนัข/แมวชนิดแห้งได้ โดยผู้ส่งออกจะต้องผ่านการตรวจรับรองโรงงานผู้ผลิตอาหารสุนัขและแมวจาก Bureau of Animal and Plant Health Inspection and Quarantine BAHIQ ของไต้หวันก่อน เพื่อเป็นการป้องกันโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อย และโรค Newcastle (ตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2544)
Bureau of Animal and Plant Health Inspection and Quarantine BAHIQ ของไต้หวันได้แก้ไขระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบกักกันโรคพืชของไต้หวัน ซึ่งได้ระบุว่า ไทยเป็นแหล่งแพร่ระบาดของหนอนแมลงในพืช ไต้หวันจึงห้ามนำเข้าผักและผลไม้จากไทย 7 ชนิด ได้แก่ ลำไย มังคุด เงาะ ถั่วฝักยาว พริก หมาก และมะเขือเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ค.49 ไต้หวันได้ประกาศยกเลิกการห้ามนำเข้าหมากจากไทย
การลงทุน
ปี 2548 ไต้หวันลงทุนในไทยมูลค่า 16,456 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนสูงเป็นอันดับที่ 3 รองจากญี่ปุ่นและมาเลเซีย ประเภทธุรกิจที่ไต้หวันมาลงทุนมากในไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมโลหะและเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร และสนใจในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วน รถยนต์และสิ่งทอ
ปัจจุบันมีภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในไต้หวันจำนวนประมาณ 46 บริษัท เกี่ยวกับด้านการเกษตร การขนส่งทางอากาศ ภัตตาคารไทย และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งไทยมีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในภาคบริการในไต้หวันเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพและไต้หวันไม่มีข้อจำกัดการลงทุนของชาวต่างชาติ หรือข้อจำกัดการลงทุนที่ได้รับการผ่อนคลายในภาคดังกล่าว เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการท่องเที่ยว ด้านบริการก่อสร้าง เป็นต้น
ไทยและไต้หวันได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539
แรงงานไทยในไต้หวัน
ไต้หวันเป็นตลาดแรงงานไทยที่สำคัญที่สุด ปัจจุบัน จำนวนแรงงานไทยที่อยู่ในไต้หวัน มีจำนวนประมาณ 98,322 คน (ธ.ค. 2548) โดยเป็นแรงงานต่างชาติที่มากที่สุดในไต้หวัน
การท่องเที่ยว
ประเทศไทยและคนไทยเป็นที่ชื่นชอบของชาวไต้หวันในทุกระดับ เนื่องจากความใกล้ชิดในด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรมและศาสนาพุทธ ปัจจุบันคนไต้หวันเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย ปีละประมาณ 700,000 คน มีชุมชนชาวไต้หวันที่เดินทางมาติดต่อค้าขายและลงทุนในประเทศไทย ประมาณ 150,000 คน
แหล่งข้อมูลที่น่าสนใจ คลิกชื่อที่ต้องการ
กระทรวงพาณิชย์
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
Taiwan Government Information Office
Taiwan Government Website
Taiwan Times: website ข่าว
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น