คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : ข้อสันนิษฐาน
๒.ข้อสันนิษฐาน
หมออธิคมนั่งฟังข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับคนไข้ที่หมอสำราญและหมอพิษณุช่วยกันถ่ายทอดให้เขาฟังอย่างตั้งใจ จุดที่ทำให้เขาสนใจมากเป็นพิเศษในเรื่องนี้มีด้วยกันสองจุด นั่นคือ การที่คนไข้ทุกคนซึ่งนอนหมดสติมาหลายวัน มีประวัติเคยเป็นลมหมดสติก่อนจะเกิดอาการอย่างนี้มาก่อนเหมือนกันทุกๆ คน และอาการของคนไข้ที่นอนกระสับกระส่ายกับอาการนอนนิ่งสลับกันไปมาในแต่ละวัน
...เพียงสองจุดนี้ก็ทำให้เขาได้ข้อสมมติฐานบางอย่างอยู่ในใจ แต่ก็มีบางจุดที่ไม่วายทำให้เขามีข้อสงสัยเช่นกัน..
“เรื่องนี้ หมอคิดว่ายังไงครับ มันจะเกี่ยวกับอาการทางจิตของคนไข้หรือเปล่าครับ” หมอพิษณุเป็นคนเอ่ยถาม
“เป็นไปได้ค่อนข้างมากครับว่าจะเกี่ยวกับการมีปัญหาทางจิตบางอย่างของคนไข้ หมอพอจะรู้มั๊ยครับว่าคนไข้มีประวัติเคยเข้ารับปรึกษาปัญหาทางจิตมาก่อนบ้างหรือเปล่า” หมออธิคมถามกลับ
“ไม่รู้สิครับ...เดี๋ยวนะ ผมพอจะจำได้เลาๆ ว่าคนไข้ไม่น่าจะมีประวัติเคยเข้ารับปรึกษาปัญหาทางจิต เอ...หรือคุณว่าไงพิษณุ” หมอสำราญหันมาถามหมอพิษณุเพื่อความมั่นใจ
“นั่นสิครับ ดูเหมือนผมจะคลับคล้ายคลับคลาเหมือนกันว่า ไม่เคยมีประวัติ แล้วอย่างนี้มันจะโยงไปเรื่องอาการทางจิตได้เหรอครับ ถ้าคนไข้ไม่เคยมีประวัติว่าเคยเข้ารับปรึกษาปัญหาทางจิตมาก่อน”
“ไม่ต้องกังวลหรอกครับหมอ เป็นเรื่องธรรมดาครับถ้าคนไข้จะไม่เคยมีประวัติว่าเคยเข้ารับปรึกษาปัญหาทางจิตมาก่อน เพราะคนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะยอมรับอยู่แล้วครับว่าตัวเองมีปัญหาทางจิตบางอย่าง ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงครับที่จะไม่ยอมเข้าไปรับฟังคำปรึกษาจากจิตแพทย์ด้วย”
“งั้นเรื่องนี้ หมอสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับอะไรเหรอครับ” หมอพิษณุเป็นฝ่ายเอ่ยถามบ้าง
“ผมคิดว่าน่าจะเกี่ยวกับเรื่องสองเรื่องครับ คือ เรื่องแรกเรื่องนี้น่าจะเกี่ยวกับความเครียดของคนไข้...”
“ความเครียดเหรอครับ..” หมอสำราญเอ่ยแทรกขึ้น “ความเครียดมันจะทำให้คนเป็นลมหมดสติได้ถึงขนาดนี้เลยเหรอครับ”
“ครับ ถ้ามันอยู่ในระดับรุนแรงมากพอ” หมออธิคมหยุดคำพูดไว้ชั่วขณะก่อนที่เขาจะเอ่ยอธิบายต่อ
“ถ้ามันอยู่ในระดับที่รุนแรงมากพอที่จะทำให้ปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ภายในร่างกายของคนไข้แปรปรวน จนทำให้สมดุลต่างๆ ในร่างกายของเขาเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมันจะส่งผลข้างเคียงหลักๆ อยู่สองอย่างครับ คือคนไข้จะพยายามหาทางออกโดยการผลักความเครียดภายในนั้นออกไป เช่นการมีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือขวางโลก กับการที่คนไข้จะพยายามหาทางออกโดยการกดเก็บไว้หรือดึงปัญหานั้นเข้าหาตัวเอง”
“หมายความว่าลักษณะนี้คนไข้พยายามหาทางออกโดยการดึงปัญหาเข้าหาตัวเองอย่างนั้นเหรอครับ”
“ใช่ครับ คนไข้น่าจะมีลักษณะการพยายามหาทางออกให้กับตัวเอง โดยการกดเก็บปัญหาต่างๆ ไว้ภายในจิตใต้สำนึก จนมาถึงขั้นๆ หนึ่งที่จิตใต้สำนึกไม่อยากจะรับรู้หรือสัมผัสถึงภาวะปัญหาที่ตัวเองประสบอยู่ จึงทำให้เกิดภาวะของการพยายามหลีกหนีปัญหานั้น โดยการซ่อนตัวจากปัญหาเลยมีผลทำให้คนไข้มีอาการหมดสติเพื่อหลีกหนีโลกแห่งความจริงน่ะครับ”
“แล้วอีกประเด็นหนึ่งล่ะครับ” หมอสำราญเอ่ยถามต่อ
“อีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับอาการนอนกระสับกระส่ายของคนไข้ครับ มันทำให้ผมคิดว่าบางทีคนไข้ของหมอกำลังนอนฝัน...และแน่นอนครับผมคิดว่ามันเป็นฝันร้าย”
“ฝัน??..ฝันร้ายนี่นะหมอ มันเกี่ยวกันยังไง”
“ผมคิดว่ามันเกี่ยวกับอาการหลีกหนีปัญหาของคนไข้ด้วยครับ ความฝันเป็นช่องทางหนึ่งในการลดความเครียดของจิตใต้สำนึกครับ ดังนั้นถ้าคนไข้มีภาวะของความเครียดในชีวิตประจำวันในระดับสูงจึงมีความเป็นไปได้ครับว่าคนไข้จะเกิดการฝันเพื่อหาทางออกให้กับความเครียดนั้น”
“แล้วทำไมหมอดูมั่นใจนักล่ะครับว่า ถ้าคนไข้เกิดอาการฝันจริงๆ ความฝันของเขาจะเป็นฝันร้าย” หมอพิษณุซึ่งนิ่งฟังอยู่นานเป็นฝ่ายเอ่ยถามขึ้นมาบ้าง เพราะบางครั้งจากการสังเกตอาการของคนไข้ เขากับพยาบาลในแผนกก็อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่าอาการนอนกระสับกระส่ายของคนไข้นั่นเป็นเพราะคนไข้กำลังฝัน
...ใช่...ในความคิดของเขามันเป็นฝันร้ายเหมือนอย่างที่หมออธิคมสันนิษฐานไม่มีผิด...
“จริงๆ คนไข้อาจจะฝันได้หลายลักษณะครับทั้งฝันดีและฝันร้ายเพื่อบรรเทาระดับความเครียดในจิตใต้สำนึกของตนเอง แต่จากลักษณะอาการที่คุณเล่ามามีความเป็นไปได้มากกว่าครับที่คนไข้จะฝันร้าย เพราะอาการกระสับกระส่ายขณะนอนหมดสติอยู่นั้นมันสะท้อนให้เห็นว่าคนไข้กำลังพยายามจะหลีกหนีอะไรบางอยู่ ซึ่งสิ่งๆ นั้นคงไม่ใช่สิ่งที่ดีงามเป็นแน่ครับ”
“แล้วทำไมมันถึงเกิดอาการอย่างนี้กับคนหลายๆ คนในเวลาไล่เลี่ยกันด้วยล่ะครับ ความเครียดของแต่ละคนมันจะเชื่อมโยงกันได้ยังไงกัน” หมอสำราญเอ่ยถามในสิ่งที่เขาสงสัย
“ข้อนี้ผมก็ยังให้คำตอบไม่ได้ครับ มีอีกหลายๆ เรื่องที่จะต้องตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลความเป็นไปได้ต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง”
“ตรวจสอบเหรอครับ หมอคิดว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เราจะต้องตรวจสอบ” หมอสำราญพยายามเน้นคำว่า “เรา” เพื่อทำให้หมออธิคมรับรู้ว่าเขาและหมอพิษณุต้องการให้หมออธิคมเข้ามาช่วยทำการตรวจสอบในครั้งนี้ด้วย
“เรื่องแรกก็คือ ต้องตรวจดูก่อนครับว่าคนไข้มีภาวะเครียดหรือเปล่า ถ้าไม่มีแสดงว่าสมมติฐานที่ผมตั้งไว้อาจจะผิด ถ้าเป็นอย่างนี้เราคงต้องมาคิดตั้งสมมติฐานกันใหม่” หมออธิคมใช้คำว่าเราเพื่อแสดงให้หมอสำราญและหมอพิษณุรับรู้เช่นกันว่าเขายินดีที่จะเข้าร่วมตรวจสอบความเป็นมาของอาการที่เกิดขึ้นกับคนไข้ทั้งหมดด้วย
“ถ้าคนไข้มีภาวะเครียดจริงหรือมีเหตุการณ์ที่จะทำให้คนไข้มีภาวะเครียดได้ แสดงว่าสมมติฐานที่ผมกับหมอตั้งไว้มีความเป็นไปได้ครับ สิ่งที่เราจะทำต่อก็คือตรวจสอบว่าคนไข้มีอาการฝันจริงหรือเปล่า โดยการตรวจ REM (อาการเคลื่อนไหวของดวงตาขณะนอนหลับ) และตรวจคลื่นสมองของคนไข้ประกอบด้วย”
“แล้วถ้ามันเป็นอย่างที่หมอคิดจริงๆ เราจะจัดการยังไงล่ะครับ จะทำยังไงให้คนไข้ฟื้นขึ้นมา” หมอพิษณุอดถามไม่ได้ เพราะเขาเองก็พยายามมาหลายวิธีแล้วที่จะทำให้คนไข้ฟื้นคืนสติ
“อาจจะต้องลองกระตุ้นคลื่นสมองเขาดูครับ แต่ตอนนี้ผมยังบอกไม่ได้ว่ามันจะได้ผลหรือเปล่า”
“อีกเรื่องนะครับหมอ ถ้ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความฝันของคนไข้จริง แสดงว่าจริงๆ คนไข้ก็ไม่ได้หลับลึกอะไรนะสิครับ แล้วอะไรมันทำให้คนไข้นอนหมดสติได้นานขนาดนั้นล่ะครับ” หมอพิษณุยังอดสงสัยไม่ได้
“มีความเป็นไปได้ครับว่าคนไข้อาจจะมีสติ หรือตื่นขึ้นมาเป็นพักๆ แต่เหตุการณ์เหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีหรือเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่วินาที เรื่องนี้ผมคิดว่าหมอน่าจะลองเอาข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการเต้นของหัวใจและคลื่นสมองของคนไข้มาวิเคราะห์ดูอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งนะครับ ถ้าคนไข้มีภาวะที่สติหรือตื่นขึ้นมาเป็นพักๆ จริงก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะหาวิธีการที่จะปลุกพวกเขาให้ตื่นขึ้นมา
ส่วนอะไรทำให้คนไข้นอนหมดสติได้นานขนาดนั้นเป็นเรื่องที่เราจะต้องช่วยกันค้นหาอีกทีหนึ่งครับ ตอนนี้ผมเองก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่ามันเกี่ยวข้องกับความรู้สึกว่าไม่อยากจะตื่นขึ้นมาเผชิญปัญหาในโลกของความเป็นจริงของคนไข้หรือเปล่า”
“เข้าใจล่ะหมอ แต่ผมยังมีอีกคำถามหนึ่ง...เคยมีคนไข้ตายเพราะความฝันหรือเปล่าครับ” หมอสำราญเป็นฝ่ายเอ่ยถามขึ้นบ้าง
“มันระบุชัดเจนอย่างนั้นไม่ได้หรอกครับ แต่ผมค่อนข้างจะมั่นใจว่าหากเราไม่สามารถหาวิธีให้คนไข้ฟื้นคืนสติได้ในเร็ววัน มีความเป็นไปได้สูงครับที่คนไข้จะเสียชีวิต”
“เพราะอะไรเหรอครับ”
“เพราะจิตใต้สำนึกเลวร้ายของเขาในความฝันจะค่อยๆ กัดกินร่างกายของเขาเองให้ค่อยๆ เหี่ยวแห้ง ไร้กำลังและทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายของเขาไม่สามารถทำงานได้ในที่สุดนะสิครับ
ถ้าเป็นไปได้ผมอยากจะให้พยาบาลในแผนกของหมอช่วยเช็คประวัติคนไข้โดยละเอียดจากญาติหรือเพื่อนของคนไข้อีกทีหนึ่งครับ ว่ามีเหตุการณ์อะไรบ้างที่จะทำให้คนไข้มีแนวโน้มที่จะมีภาวะความเครียดสูง และ...” หมออธิคมหันมาทางหมอพิษณุก่อนเอ่ยคำพูดประโยคต่อไป
“เสร็จจากที่นี่แล้ว ผมอยากจะขออนุญาตเข้าไปเช็คอาการของคนไข้ในแผนกของหมอหน่อยครับ”
***********************
หลังเสร็จสิ้นการสนทนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น หมอสำราญก็ขอตัวกลับไปทำงานที่แผนกของตน เพื่อที่เขาจะได้มอบหมายงานให้พยาบาลในแผนกช่วยกันเช็คข้อมูลประวัติคนไข้แต่ละคนจากญาติๆ และเพื่อนๆ ของคนไข้ให้อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่หมออธิคมและหมอพิษณุเดินออกจากแผนกจิตเวช มุ่งหน้าสู่หอผู้ป่วยหนักซึ่งเป็นตึกทำงานของหมอพิษณุ
ทันทีที่ทั้งสองก้าวเท้าเข้าสู่ห้องผู้ป่วยหนัก พยาบาลประจำแผนกก็รายงานให้กับหมอพิษณุทราบถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในห้องทันที
“หมอค่ะ คนไข้รายหนึ่งอาการไม่ค่อยดี หมอรีบเข้าไปดูหน่อยค่ะ สัญญาณชีพของเขาอ่อนแรง เหมือนคนกำลังใกล้จะตายแล้วค่ะ”
หมอพิษณุ โผเข้าไปดูอาการของคนไข้แทบจะทันทีหลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลนั้น ในขณะที่หมออธิคมยืนรอท่าอยู่ที่หน้าประตู เพราะเขากลัวว่าการเข้าไปยุ่มย่ามของเขาจะทำให้การดูแลอาการคนไข้ของหมอพิษณุยุ่งยากขึ้น เขาเลือกที่จะรอให้หมอพิษณุดูอาการของคนไข้หนักเสร็จก่อนจึงจะเข้าไปดูอาการของคนไข้คนอื่นๆ อีกครั้งหนึ่ง
...ไม่น่าเชื่อ ว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นเร็วอย่างนี้ เมื่อกี้เขาเพิ่งตอบคำถามของหมอสำราญไปเองว่า มีความเป็นไปได้ที่คนไข้จะเสียชีวิตถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือให้ฟื้นคืนสติโดยเร็ว...
หมออธิคมอดมองไปที่เตียงคนไข้ที่หมอพิษณุและพยาบาลกำลังพยายามช่วยเหลือชีวิตคนไข้กันอยู่ไม่ได้
....คนไข้เป็นหญิงสาว อายุไม่น่าจะเกิดยี่สิบห้าปี...ขณะที่มองคนไข้อย่างพิจารณา หมออธิคมได้แต่นึกภาวนาอยู่ในใจว่า ขออย่าให้คนไข้เป็นอะไรไปเลย
***************************
ถึง คุณชนะสงครามครับ....ผมใช้ font "Browallia New" ครับ และเป็นคนเดียวกับ "พายุ" ที่เขียนอยู่ในเจเจบุ๊คส์ คุณชนะสงครามเข้าใจถูกต้องแล้วครับ
ความคิดเห็น