คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #9 : บทที่ 5 พัฒนาการนโยบายทางการค้าของไทย(Trade Policy)
เมื่อกล่าวถึงนโยบายการค้า (Trade Policy) บางคนอาจจะมองเฉพาะเรื่องประโยชน์ที่ได้รับจากการเปิดเสรีและการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เท่านั้น แต่ในความจริงนโยบายการค้ามิได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องการเปิดเสรีอย่างเดียวการที่จะเข้าใจความหมายของนโยบายการค้า เราจำเป็นต้องตอบคำถามต่อไปนี้ก่อน คือ ข้อที่หนึ่ง นโยบายการค้าเป็นเป้าหมายในตัวเองหรือเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อใช้ในการบรรลุเป้าหมาย (An end in it self or a meansto an ends) ข้อที่สองนโยบายการค้าจะเป็นตัวกำหนดหรือถูกกำหนดจากนโยบายอื่นๆ (Shape or be shaped by other policies)
สำหรับคำถามที่หนึ่ง เราจะพบว่า ความเป็นจริงนโยบายการค้ามิได้เป็นเป้าหมายในตัวเอง มิได้มุ่งไปเพียงเฉพาะการเปิดเสรีแล้วจะสามารถบรรลุเป้าหมาย แต่นโยบายการค้าเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐบาล และนโยบายการค้าจะไปทำงานร่วมกันกับนโยบายอื่นๆ ในบางวัตถุประสงค์นโยบายการค้าอาจนำหน้านโยบายอื่น บางเรื่องนโยบายการค้าอาจจะตามหลังนโยบายอื่น เช่น ในปี2515 รัฐบาลออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 227 ให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนผลิตเพื่อการส่งออก นโยบายการลงทุนอาจมาก่อน แล้วตามด้วยนโยบายการค้าจะต้องค่อยๆลดกำแพงภาษีเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่นักลงทุนที่เข้ามาภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI)
ในคำถามที่สอง นโยบายการค้าอาจจะเป็นได้ทั้งเป็นตัวกำหนดนโยบายอื่นๆ หรือถูกกำหนดจากนโยบายอื่นๆ การที่เราดำเนินนโยบายการค้าเปิดเสรีนโยบายการค้ากับนโยบายการลงทุนย่อมเกี่ยวข้องกันโดยเฉพาะในประเทศไทยที่เป็นการลงทุนโดยตั้งฐานการผลิตแล้วส่งออก
ดังนั้น การลงทุนกับการค้าจึงมีความเกี่ยวข้องกัน นโยบายอื่นๆก็ต้องตามมา ในเรื่องการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจมีนโยบายอื่นๆตามมาด้วย เช่นนโยบายเกษตร นโยบายอุตสาหกรรม ที่ต้องปรับเปลี่ยนตามแนวทางของรัฐบาล
เมื่อเราพิจารณานโยบายการค้าของไทย โดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆจะพบว่า นโยบายการค้าของไทยมีลักษณะที่เปิดเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ นโยบายการค้าของไทยเริ่มเปิดเสรีมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2515 ที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงนโยบายอุตสาหกรรมจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (Import Substitution) มาเป็นการผลิตเพื่อส่งออก (Export-Led Growth) ดังนั้น นโยบายการค้าของไทยต้องเปลี่ยนแปลงจากเดิม
ที่ไทยใช้นโยบายปกป้องตั้งกำแพงภาษีสินค้าไว้สูง แต่ภายหลังที่มีการออก พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ซึ่งส่งเสริมให้นำเข้าวัตถุดิบมาผลิตเเปรรูปเพื่อส่งออก ดังนั้น จึงมีการให้สิทธิพิเศษเรื่องภาษีศุลกากร ภาษีเงินได้ และอื่นๆตามมา นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้มากขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติจะสามารถถือหุ้นได้ 100%ถ้าอยู่ภายใต้การส่งเสริมของ BOI ในปี 2525 ไทยจำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิก GATT เพราะในขณะนั้นจำนวนประเทศที่เป็นสมาชิก GATT เริ่มมากขึ้น ถ้าหากไทยไม่เข้าเป็นสมาชิก การที่ไทยจะส่งสินค้าเข้าไปขายในประเทศสมาชิก GATTอาจจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากการค้าขายระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน เช่น สมมติว่าไทยส่งสินค้าไปสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาอาจเก็บภาษีจากสินค้าที่นำเข้าจากไทยในอัตราที่สูงกว่าที่เก็บจากการนำเข้าจากประเทศสมาชิก นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาสามารถใช้มาตรการบางอย่างกับสินค้าที่นำเข้าจากไทย โดยที่ไทยไม่มีสิทธิ์ตอบโต้ ดังนั้น ไทยจึงต้องการเข้าไปเป็นสมาชิกของ GATT เพื่อประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการคือ
1) ต้องการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร
2) ต้องการให้การค้าระหว่างประเทศของไทยได้รับความยุติธรรม โดยถ้าประเทศสมาชิกอื่นใช้มาตรการกีดกันการนำเข้าจากไทยที่ไม่เป็นธรรม ไทยสามารถฟ้อง GATT ได้ และผลจากการที่ไทยเข้าเป็นสมาชิก GATT ทำให้ไทยต้องเริ่มลดกำแพงภาษีลงทั้งทางด้านสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม
ปี 2536 ไทยผลักดันให้มีการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (Asean Free Trade Area: AFTA) การเปิดเสรีในภูมิภาคเป็นจุดสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ไทยมีการเปิดเสรีมากขึ้น นอกจากนี้ การที่ไทยเข้าเป็นสมาชิกAFTA ก็เปรียบเสมือนเป็นด่านทดสอบที่สำคัญให้ผู้ประกอบการของไทยเตรียมรับมือกับการลดภาษีและการแข่งขันจากต่างชาติอีกด้วย
ต่อมาในปี 2538 การเจรจาการค้ารอบอุรุกวัยสำเร็จ เป็นผลให้กำแพงภาษีลดลงมาอีก และในการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัยได้สร้างข้อตกลงของ WTO ที่กำหนดให้สินค้าเกษตรบางตัวที่จำกัดการนำเข้าหรือห้ามนำเข้าต้องเปลี่ยนมาใช้มาตรการภาษีศุลกากรทั้งหมด ทำให้สินค้าเกษตรของไทยที่เคยบังคับห้ามนำเข้า เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม ต้องเปลี่ยนมาเป็นระบบโควตาภาษี (Tariff Quota) แทน
ปี 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แม้จะมีผลให้ไทยชะลอการเปิดเสรีลง แต่มิได้หมายความว่า ไทยจะหวนกลับไปใช้นโยบายปิดประตูการค้าอีก ไทยยังคงเร่งหน้าดำเนินการในหลายๆนโยบาย เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights: IPRs) เรื่องการจัดการระบบศุลกากร เป็นต้น ภายหลังตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา กระแสนิยมในการทำ FTA เกิดขึ้นมากมายทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้ไทยต้องเปิดเจรจาการค้าเสรีขึ้น ทั้งในระดับพหุภาคีและระดับทวิภาคี เพื่อให้การค้าของไทยสามารถเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลก
“การเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจของไทย เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น สังคมเศรษฐกิจไทย ได้เข้าสู่ภาวะ การเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว ทั้งโฉมหน้าการค้าระหว่างประเทศ กำลังจะแปรเปลี่ยนไป จากเวทีพหุภาคีนิยม (กลุ่มประเทศ) และหันเข็ม สู่แนวทางทวิภาคีนิยม (คู่ค้า 2 ประเทศ)”
ประเทศไทยกับเขตการค้าเสรี ( http://www.thaifta.com )
เขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) หรือข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) อาจดูเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว FTA เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมานานแล้ว โดย FTA ฉบับแรกที่ไทยจัดทำคือข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) หรือที่เรียกว่า AFTA ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2535 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะอยู่คู่สังคมไทยมานานกว่าทศวรรษ FTA ก็ยังคงเป็นเสมือนกล่องปริศนาสำหรับหลายคน ในโอกาสนี้ จึงขอให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ FTA เพื่อให้ทุกคนได้รู้จัก เข้าใจ และสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่
เขตการค้าเสรี (FTA) คือความตกลงระหว่าง 2 ประเทศขึ้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อให้เกิดการค้าเสรีระหว่างกัน และปัจจุบันประเทศต่างๆ ก็ได้ขยายขอบเขตของ FTA ให้ครอบคลุมการค้าด้านบริการ อาทิ บริการท่องเที่ยว การรักษา พยาบาล การสื่อสาร การขนส่ง ฯลฯ พร้อมกับความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วย
วัตถุประสงค์ของ FTA
FTA สะท้อนแนวคิดสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า "ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นสูงสุดเมื่อประเทศต่างๆ ผลิตสินค้าที่ตนมีต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุดเมื่อเปรียบ เทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วนำสินค้าเหล่านั้นมาค้าขายแลกเปลี่ยนกัน" ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ประโยชน์สูงสุดดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หากยังมีการเก็บภาษีขาเข้าและมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ซึ่งส่งผลบิดเบือนราคาที่แท้จริงของสินค้า และทำให้การค้าขายไม่เป็นไปอย่างเสรีและมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ FTA ถือเป็นเครื่องมือทางการค้าสำคัญที่ประเทศต่างๆ สามารถใช้เพื่อขยายโอกาสในการค้า สร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาให้แก่สินค้าของตน เนื่องจากสินค้าที่ผลิตใน FTA จะถูกเก็บภาษีขาเข้าในอัตราที่ต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิก FTA จึงทำให้สินค้าที่ผลิตภายในกลุ่มได้ เปรียบในด้านราคากว่าสินค้าจากประเทศนอกกลุ่ม
ลักษณะสำคัญของ FTA
FTA จะมีรูปแบบเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเทศคู่สัญญา FTA จะตกลงกัน ไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดตายตัวว่า FTA จะต้องมีลักษณะอย่างไร แต่ถึงกระนั้นก็ดี ทุก FTA จะมีลักษณะพื้นฐานที่เหมือนกันอยู่ 3 ประการ คือ
- มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และไม่สร้างอุปสรรคทางการค้าเพิ่มต่อประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิก (No fortress effects)
- ครอบคลุมการค้าระหว่างประเทศมากพอ (Substantial coverage) ซึ่งเป็นกติกาที่ WTO กำหนดไว้เพื่อปกป้องและป้องกันผลกระทบของ FTA ที่จะมีต่อประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกของ FTA นั้นๆ
- มีตารางการลดภาษีหรือเปิดเสรีที่ประเทศคู่สัญญา FTA เจรจากันว่าจะลดภาษีให้แก่กันในสินค้าใดบ้าง จะลดอย่างไร และจะใช้ระยะเวลายาวนานเท่าไรในการลด
หลักเกณฑ์ในการทา FTA ของไทย
1) การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ควรทำในกรอบกว้าง (Comprehensive) ครอบคลุมการเปิดเสรีทั้งการค้าสินค้า การบริการและการลงทุน รวมทั้งการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆกำหนดให้มีความยืดหยุ่น (Flexibility) สอดคล้องกับระดับการพัฒนาของประเทศคู่เจรจาเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
2) การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีที่สอดคล้องกับกฎของ WTO ซึ่งมีเงื่อนไขให้การเปิดการค้าเสรีครอบคลุมการค้าสินค้าและการบริการอย่างมากพอ (Substantial coverage) สร้างความโปร่งใสและเปิดให้สมาชิกอื่นตรวจสอบความตกลงได้
3) การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี จะยึดหลักการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (Reciprocity) และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยคำนึงถึงสถานะของไทยที่เป็นประเทศกาลังพัฒนา ในกรณีที่คู่เจรจาเป็นประเทศที่พัฒนาไปแล้ว ไทยควรเรียกร้องความยืดหยุ่นเพื่อให้มีเวลาในการปรับตัวนานกว่า หรือมีภาระผูกพันน้อยกว่า
4) การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ควรครอบคลุมมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures: NTMs) ด้วย เช่น มาตรการด้านสุขอนามัย มาตรฐานสินค้า และกฎระเบียบข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน
5) ความตกลงเขตการค้าเสรี ควรมีมาตรการป้องกันผลกระทบของการเปิดเสรีต่ออุตสาหกรรมภายใน เช่น มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-dumping Measures: AD) มาตรการต่อต้านการอุดหนุน (Countervailing Measures: CVD) มาตรการปกป้อง (Safeguards) รวมทั้งกำหนดกลไกการยุติข้อพิพาททางการค้าอย่างเป็นธรรม (Dispute Settlement)
6) การจัดทำเขตการค้าเสรี ควรให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว ทั้งนี้อาจมีการเจรจาเพื่อเริ่มลดภาษีหรือเปิดเสรีระหว่างกันในเรื่องที่พร้อม(http://www.mfa.go.th)
.......................................................................................................................................................................................
ดู (http://www.thaichamber.org)
ดู (นโยบายการค้าระหว่างประเทศของไทยและการค้ากับสหรัฐอเมริกาเอกสารข้อมูลหมายเลข 34
เมษายน 2552ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)โครงการ WTO Watch
ความคิดเห็น