คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #6 : บทที่ 2 สถาบันการเงินและการคลัง
ธนาคารแห่งประเทศไทย
บทบาทหน้าที่ ธปท. (ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551)
1. ออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคารภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยเงินตรา และมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะออกบัตรธนาคารในราชอาณาจักร
2. กำหนดและดำเนินนโยบายการเงินตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินกำหนด ได้แก่ รับเงินฝาก กำหนดอัตราดอกเบี้ยในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน ซื้อขายเงินตราต่างประเทศและแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดในอนาคต กู้ยืมเงินตราต่างประเทศเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพแห่งค่าของเงินตรา กู้ยืมเงินเพื่อการดำเนินนโยบายการเงิน ซื้อขายหลักทรัพย์เท่าที่จำเป็นและแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดในอนาคต เพื่อควบคุมปริมาณเงินในระบบการเงินของประเทศ รวมถึงยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ตามที่กำหนดโดยมีหรือไม่มีค่าตอบแทน
3. บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท. (ไม่รวมสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา) การนำสินทรัพย์ไปลงทุนหาประโยชน์ โดยคำนึงถึงความมั่นคง สภาพคล่อง ผลประโยชน์ตอบแทนของสินทรัพย์ และความเสี่ยงในการบริหารจัดการ
4. เป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล โดยมีอำนาจหน้าที่ในการรับจ่ายเงินเพื่อบัญชีฝากของกระทรวงการคลัง การรับเก็บรักษาเงิน หลักทรัพย์ หรือของมีค่าอย่างอื่นเพื่อประโยชน์ของรัฐบาล การเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการซื้อขายโลหะทองคำและเงิน การซื้อขายและโอนตั๋วแลกเงิน หลักทรัพย์และใบหุ้น การควบคุมและการรวมไว้ในแหล่งกลางซึ่งเงินปริวรรตต่างประเทศ หรืออาจเป็นนายธนาคารของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ นอกจากนี้ อาจเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล โดยมีอำนาจกระทำการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของรัฐบาล จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย หรืออาจเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
5. เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการให้กู้ยืมเงินหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงิน การรับเก็บรักษาเงิน หลักทรัพย์ หรือของมีค่าอย่างอื่นของสถาบันการเงิน รวมถึงการสั่งให้สถาบันการเงินส่งรายงานหรือชี้แจงเพื่ออธิบายเกี่ยวกับทรัพย์สิน หนี้สิน หรือภาระผูกพันได้
6. จัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน ระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน และบริหารจัดการระบบดังกล่าวให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
7. กำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน วิเคราะห์ฐานะและการดำเนินงาน ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน เพื่อให้มีเสถียรภาพ
8. บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมทั้งบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา ตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
9. ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2487 จากการประชุม United Nations Monetary and Financial Conference หรือ ที่รู้จักดีในนามของ Bretton Woods Conference โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา และและมีฐานะเป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ
ข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กำหนดให้กองทุนการเงินฯ ทำหน้าที่สนับสนุนความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศ สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศให้ขยายตัวอย่างสมดุล เสริมสร้างเสถียรภาพในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ สนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน
กองทุนการเงินฯ มีบทบาทหลักในการสอดส่องดูแลเศรษฐกิจ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิก เพื่อให้ระบบการเงินระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ
การสอดส่องดูแลเศรษฐกิจ: กองทุนการเงินฯ ติดตามภาวะเศรษฐกิจการเงินของประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิด และมีการประชุมหารือกับประเทศสมาชิกเป็นประจำ (หรือ Article IV Consultation) ซึ่งโดยทั่วไปจะกำหนดจัดประชุมทุกปี โดยเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ จะไปเยือนประเทศสมาชิกเพื่อประเมินภาวะและเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก รวมทั้งให้คำแนะนำนโยบาย
ทั้งนี้ กองทุนการเงินฯ จะรวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อนำมาประเมินภาวะเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยจะเผยแพร่ผลการประเมินทุกครึ่งปีในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) และรายงานเสถียรภาพการเงินโลก (Global Financial Stability Report)
ความช่วยเหลือทางการเงิน: กองทุนการเงินฯ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินเพื่อช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านโครงการเงินกู้ (facilities) ประเภทต่างๆ ซึ่งประเทศที่ขอความช่วยเหลือจะต้องดำเนินนโยบายหรือมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดุลการชำระเงินตามที่กำหนดในจดหมายแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) เงินทุนของโครงการเงินกู้ของกองทุนการเงินฯ ได้มาจากการชำระเงินค่าโควตาของประเทศสมาชิกเป็นสำคัญ ดังนั้น ความสามารถในการให้กู้ของกองทุนการเงินฯ จึงกำหนดโดยโควตารวมของประเทศสมาชิกเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม กองทุนการเงินฯ สามารถกู้ยืมจากประเทศที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งจำนวนหนึ่งภายใต้ความตกลงให้กู้แก่กองทุนการเงินฯ (General Arrangements to Borrow - GAB) และความตกลงให้กู้แก่กองทุนการเงินฯ ฉบับใหม่ (New Arrangements to Borrow - NAB) (http://www.imf.org)
ความช่วยเหลือทางวิชาการ: กองทุนการเงินฯ ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิกเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสมาชิกในการกำหนดและดำเนินนโยบาย 4 ด้านหลัก คือ
1) นโยบายการเงินและนโยบายสถาบันการเงิน
2) นโยบายการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะ
3) สถิติข้อมูล
4) กฎหมายเศรษฐกิจการเงิน นอกจากนี้ กองทุนการเงินฯ ได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมและสัมมนาสำหรับประเทศสมาชิกที่สถาบันฝึกอบรมของกองทุนการเงินฯ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี และสถาบันฝึกอบรมในภูมิภาคต่างๆ (ออสเตรเลีย บราซิล สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย สิงคโปร์ ตูนิเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรต)
โครงสร้างองค์กรของสภาผู้ว่าการกองทุนการเงินฯ ประกอบด้วยผู้ว่าการจากแต่ละประเทศสมาชิก (http://www.imf.org/external/np/sec/memdir/members.htm) จะประชุมร่วมกันปีละหนึ่งครั้งระหว่างการประชุมประจำปีกองทุนการเงินฯ และธนาคารโลกเพื่อหารือและตัดสินใจนโยบายสำคัญของกองทุนการเงินฯ นอกจากนี้ ยังมี International Monetary and Financial Committee (IMFC) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 24 ท่านตามองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ โดย IMFC ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสภาผู้ว่าการ ซึ่งจะพิจารณาและจัดทำข้อเสนอสำหรับประเด็นนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลระบบการเงินโลก สำหรับคณะกรรมการบริหารและเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ (http://www.imf.org/external/np/sec/memdir/eds.htm)จะดูแลการดำเนินกิจการทั่วไปของกองทุนการเงินฯ ตามข้อเสนอของ IMFC ทั้งนี้ กรรมการจัดการกองทุนการเงินฯ จะทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการบริหาร และผู้บริหารสูงสุดของเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ
สมาชิกภาพ: จำนวนประเทศสมาชิกของกองทุนการเงินฯ ได้เพิ่มจาก 29 ประเทศเมื่อปี 2488 เป็น ปัจจุบันมีสมาชิก 188 ประเทศ (South Sudan เป็นสมาชิกอันดับที่ 188 เข้าร่วมเมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 2012) ทั้งนี้ ประเทศที่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนการเงินฯ จะต้องเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติก่อน
เมื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนการเงินฯ ประเทศสมาชิกจะได้รับจัดสรรจำนวนโควตาในสกุลสิทธิพิเศษถอนเงิน1/(SDR) ตามขนาดของเศรษฐกิจและความสำคัญของประเทศสมาชิกนั้นๆ เทียบกับเศรษฐกิจโลก (http://www.imf.org/external/np/sec/memdir/members.htm) ตามปกติกองทุนการเงินฯ จะทำการทบทวนโควตาทุก 5 ปี เพื่อปรับปรุงโควตาของแต่ละประเทศให้เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเพื่อเพิ่มทุนดำเนินการของกองทุนการเงินฯ ให้พอเพียงกับความจำเป็น
โควตามีบทบาทสำคัญในการกำหนดสิทธิ และวงเงินกู้ของประเทศสมาชิก กล่าวคือ ประเทศสมาชิกจะได้รับคะแนนเสียงพื้นฐานเท่ากันจำนวน 250 คะแนน และเพิ่มอีกหนึ่งคะแนนเสียงต่อโควตา 100,000 SDR นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกสามารถกู้เงินจากกองทุนการเงินฯ ได้ไม่เกินร้อยละ 100 ของจำนวนโควตาต่อปี และรวมกันไม่เกินร้อยละ 300 ของจำนวนโควตา
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย โดยประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 44 ของกองทุนการเงินฯ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2492 โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นตัวแทนของประเทศไทยในกองทุนการเงินฯ ตามพ.ร.บ. ให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับกองทุนการเงินและธนาคารระหว่างประเทศ พ.ศ. 2494
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโควตาเท่ากับ 1,440.5 ล้าน SDR หรือร้อยละ 0.60 ของจำนวนโควตาทั้งหมด เทียบเท่ากับ 15,142 คะแนนเสียง (http://www.imf.org/external/np/sec/memdir/members.htm)
กองทุนการเงินฯ จะประเมินภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นประจำทุกปีภายใต้พันธะข้อ 4 ของข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินฯ นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการตามพันธะข้อ 8 ของข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินฯ โดยยกเลิกการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการค้า แล้วตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2533 ล่าสุด ประเทศไทยได้เข้าร่วมรับการประเมินเสถียรภาพภาคการเงินภายใต้กรอบ Financial Sector Assessment Program2/ (FSAP) เมื่อปี 2550
ประเทศไทยเคยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินฯ ภายใต้โครงการเงินกู้ Stand-by3/ รวม 5 ครั้งในวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,431 ล้าน SDR โดยครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2521 จำนวนเงิน 45.25 ล้าน SDR ครั้งที่สองเมื่อเดือนมิถุนายน 2524 จำนวน 814.5 ล้าน SDR (แต่เบิกถอนจริงจำนวน 345 ล้าน SDR) ครั้งที่สามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2525 จำนวน 271.5 ล้าน SDR ครั้งที่สี่เมื่อเดือนมิถุนายน 2528 จำนวน 400 ล้าน SDR (แต่เบิกถอนจริงจำนวน 260 ล้าน SDR) และครั้งล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2540 จำนวน 2,900 ล้าน SDR (แต่เบิกถอนจริงจำนวน 2,500 ล้าน SDR) ประเทศไทยได้ชำระคืนเงินกู้จากกองทุนการเงินฯ เสร็จสิ้นแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2546 ซึ่งเป็นการชำระคืนก่อนกำหนดเดิมถึง 2 ปีทำให้ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีภาระคงค้างกับกองทุนการเงินฯ อนึ่ง ปัจจุบัน ประเทศไทยยังได้ร่วมเป็นภาคีความตกลงให้กู้แก่กองทุนการเงินฯ ฉบับใหม่ (New Arrangements to Borrow - NAB) โดยอาจให้กองทุนการเงินฯ กู้ยืมเงินไม่เกิน 340 ล้าน SDR ในกรณีที่กองทุนการเงินฯ ขาดสภาพคล่อง
1/ สิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) เป็นสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศที่สร้างขึ้นโดยกองทุนการเงินฯ เมื่อปี 2512 สำหรับเสริมเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ในขณะนั้น เพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าและการเงินโลก นอกจากนี้ SDR ยังทำหน้าที่เป็นหน่วยบัญชีสำหรับกองทุนการเงินฯ โดยกำหนดมีมูลค่าเทียบกับกลุ่มเงินตราสกุลหลัก 5 สกุล คือ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ยูโร (เยอรมนี) เยนญี่ปุ่น ยูโร(ฝรั่งเศส) และปอนด์สเตอร์ลิง มีสัดส่วนร้อยละ 39, 21, 18, 11 และ 11ตามลำดับ ปัจจุบัน SDR 1 หน่วย มีมูลค่าประมาณ 1.3 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
2/ โครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) เป็นโครงการร่วมระหว่างกองทุนการเงินฯ และธนาคารโลก เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบการเงินในประเทศสมาชิก การประเมินภายใต้โครงการ FSAP จะเน้นการระบุจุดแข็งและจุดอ่อนในระบบการเงินของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วม เพื่อช่วยจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการ ปฏิรูป
3/ Stand-by เป็นโครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินระยะสั้น และเป็นโครงการเงินกู้ที่ประเทศสมาชิกเข้าร่วมมากที่สุด โดยมีระยะเวลาการกู้ยืม 12 – 24 เดือน และระยะเวลาชำระคืน 2¼-4 ปี และมีอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมสำหรับวงเงินกู้ที่สูง
IMF กับบทบาทที่มีต่อไทยโดยสิ่งที่ IMF ให้ความช่วยเหลือลักษณะหนึ่ง คือ การให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนตามโครงการเงินกู้แบบ Stand-By ชุดนโยบายที่ IMF กำหนดให้ไทยทำตามจากการขอความช่วยเหลือทางการเงินกับ IMF นี้โดยสรุปคือ
1. แยกบริษัทเงินทุนที่มีฐานการเงินดี กับบริษัทเงินทุนที่มีปัญหาออกจากกัน
2. ตั้งสถาบันทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และความมั่นคงของสถาบันทางการเงินเอกชน เช่น สถาบันประกันเงินฝาก สถาบันการเงินกันเงินสำรองและเพิ่มทุน
3. Privatization หรือการแปรรูปจากองค์กรรัฐวิสาหกิจให้เป็นองค์กรเอกชน
4. ดูแลงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลให้สมดุล
5. ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว
ดูเหมือนนโยบายที่ IMF กำหนดให้ประเทศไทยทำนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีและจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกทางเช่นการแยกสถาบันการเงินที่มีปัญหากับไม่มีปัญหาออกจากกันเพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ง่าย หรือการตั้งสถาบันทางการเงินใหม่ๆเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงให้กับสถาบันการเงินเอกชนที่มีอยู่เดิม
แต่ดูเหมือนว่าบางสิ่ง จะยังไม่ความเหมาะสมกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540นั่นคือการใช้นโยบายการคลังแบบสมดุลเพราะ ตามหลักการของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแล้วหากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงตกต่ำก็ควรจะใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุล(หรือขยายตัว)เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถดำเนินไปได้ในระยะสั้นแต่การดูแลนโยบายการคลังให้สมดุลอาจส่งผลให้เศรษฐกิจยิ่งซบเซาลงไปกว่าเดิม (โดยจะดูได้จาก GDP ในปี 2540 อยู่ที่ 3,072 พันล้านบาท แต่ในปี2541 ตกลงไปเหลือ 2,497 พันล้านบาท หรือลดลง 4.4% (ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆท้ายต่างจบลงด้วยการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่าง ประเทศ ( International Monetary Fund: IMF) IMFในฐานะเสมือนเป็นคุณหมอทางเศรษฐกิจผู้ให้เงินกู้ จะมีหลักการและแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ได้นำไปใช้กับทุกประเทศเรียกว่า Structural Adjustment Programs : SAPs ซึ่งเป็นแผนงานอย่างกว้าง ๆ ที่อาจจะแตกต่างในรายละเอียดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของวิกฤตการณ์ในแต่ละ ประเทศ โดยสรุปมีหลักการสำคัญ 4 ประการ ดังนี้
1.มาตรการสร้างเสถียรภาพ (Stabilization) มาตรการควบคุมเงินเฟ้อ โดยกำหนดให้รัฐบาลลดงบประมาณลง ให้บรรดาธนาคารในประเทศเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อให้เหลือน้อยที่สุด ให้เพิ่มภาษีอากร ขึ้นราคาค่าสาธารณูปโภค ลดงบประมาณสนับสนุนด้านสวัสดิการสังคม หรือ งานบริกาของรัฐทุกประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดผลทางการผลิต ให้ลดค่าเงินลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ
2.มาตรการเปิดเสรีทางการเงินการลงทุน (Liberalization) ให้ยกเลิกข้อจำกัดการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินตราต่างประเทศ และลดหรือยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินเข้าออกให้เหลือน้อยที่สุด ให้เปิดเสรีให้กับการลงทุนจากต่างประเทศ ให้ทุนต่างชาติสามารถซื้อหุ้นในสถาบันการเงิน อสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินต่างๆได้เสรีมากขึ้น ยกเลิกการควบคุมการคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศให้สิทธิพิเศษในด้านการลดภาษีให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน
3. มาตรการเลิกการควบคุม (Deregulation) ให้เลิกการคุ้มครองค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และสวัสดิการคนจน ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด อนุมัติให้ทุนต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานผลิตได้อย่างเสรี และมีข้อจำกัดน้อยที่สุด ( เช่น เรื่องการควบคุมมลภาวะ หรือเรื่องของการส่งยา ยาฆ่าแมลง ที่ถูกห้ามขายในสหรัฐฯ ก็ให้ส่งเข้ามาขายมาในประเทศที่เป็นลูกหนี้ได้ )
4. มาตรการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน (Privatization) โดยให้รัฐขายหรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อที่ทุนต่างชาติจะได้เข้ามาซื้อได้ IMF เชื่อว่าเงื่อนไขข้างต้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเป็นหลักประกัน ให้ทุนต่างชาติไหลเข้าออกได้อย่างเสรี กล้าที่จะเข้ามาลงทุน ทำให้เครดิตของประเทศดีขึ้น
ธนาคารโลก(World Bank)
หรือเรียกว่า ธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศ (International Bank for Reconstruction and Development: IBRD) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ได้จัดตั้งขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยประเทศมหาอำนาจในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ประเทศสมาชิกได้ทำการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นองค์กรอยู่ในสังกัดขององค์การสหประชาชาติ มีสำนักงานใหญ่ตั้งที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 187 ประเทศ เงินทุนของธนาคารโลกได้มาจากการจำหน่ายพันธบัตรในตลาดการเงินสำคัญของโลก ค่าบำรุงจากประเทศสมาชิก และเงินค่าหุ้นของประเทศสมาชิก
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่สอง โดยให้สมาชิกกู้ยืมไปเพื่อบูรณะซ่อมแซมและพัฒนาประเทศ ต่อมาได้ขยายขอบเขตของการบริการออกไปเป็นการสนับสนุนการลงทุนเพื่อการพัฒนาและเพิ่มผลผลิตในประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศสมาชิก ตามลักษณะกิจการที่จะลงทุนและตามความจำเป็นและยังช่วยเหลือสมาชิกด้วยการให้บริการด้านความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนการลงทุนและบริหารการเงิน
การก่อตั้งเริ่มมาจากการประชุมของกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ที่เบร็ตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ประเทสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการร่างกฎบัตรขึ้นมาสองฉบับเพื่อจัดตั้งธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยทั้งสองสถาบันมีการแบ่งความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน กองทุนการเงินระหว่างประเทศจะให้การสนับสนุนทางการเงินระยะสั้น เพื่อช่วยประเทศต่าง ๆ แก้ปัญหาดุลการชำระเงินในขณะที่ธนาคารโลกจะให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาระยะกลางและระยะยาวในรูปแบบเงินกู้ยืม โครงการพัฒนาที่เน้นเฉพาะเป็นโครงการไป แต่เมื่อเวลาผ่านไปความแตกต่างนี้ก็ลดน้อยลงไปช่วงที่โลกเกิดวิกฤตการณ์การเงินในช่วงปี พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2523 ธนาคารโลกก็เริ่มปล่อยเงินกู้ระยะสั้น เพื่อการปรับปรุงเชิงโครงสร้างประสานกับกองทุนด้วยเช่นกัน
องค์กรทั้งสองนี้มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับองค์การสหประชาชาติ ผ่านทางสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council-ECOSOC) ในฐานะหน่วยงานชำนาญการพิเศษ แต่การตัดสินใจในเรื่องการให้เงินกู้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของธนาคารโลก
กระทรวงการคลัง(ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2367 - 2394) พระองค์ทรงสนพระทัยที่จะปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากทางราชการมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงิน มากกว่าในแผ่นดินก่อนๆ ทรงพยายามหาวิธีเพิ่มรายได้แผ่นดินด้วยการให้ผูกขาดการเก็บภาษีอากร โดยอนุญาตให้เจ้าภาษี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนในประเทศไทยเป็นผู้จัดเก็บภาษีอากรจากราษฎรโดยตรง ในแต่ละปีเจ้าภาษีจะเสนอรายได้สูงสุดในการจัดเก็บภาษีอากรแต่ละชนิดให้แก่รัฐบาล เมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐบาลแล้ว เจ้าภาษีจัดแบ่งส่งเงินรายได้แก่รัฐบาลเป็นรายเดือน จนครบกำหนดที่ได้ประมูลไว้ เป็นการเริ่มระบบเจ้าภาษีนายอากรนับแต่นั้นมา
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2394 - 2411) ประเทศไทยได้เปิดประตูการค้ากับประเทศตะวันตก นับตั้งแต่ได้มีการลงนามใน สนธิสัญญาบาวริง กับประเทศอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2398 และกับประเทศอื่นๆ บทบัญญัติในสนธิสัญญาบาวริง มีผลให้ไทยต้องยกเลิกการค้าแบบผูกขาด โดยระบบพระคลังสินค้าอย่างเด็ดขาด เลิกล้มการเก็บภาษีเบิกร่อง หรือค่าปากเรือ มีการจัดตั้ง ศุลสถานสถาน(Customs House) หรือ โรงภาษี จัดเก็บภาษีขาเข้าในอัตรา "ร้อยชักสาม" และภาษีขาออกตามที่ระบุไว้ในท้ายสัญญา ระบบการศุลกากรแบบใหม่ก็นำมาใช้นับแต่ครั้งนั้น
ภายหลังสนธิสัญญาบาวริง การค้าขายระหว่างไทยกับต่างประเทศเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว พ่อค้าชาวต่างประเทศได้นำเงินเหรียญดอลล่าร์เม็กซิกันมาขอแลกเป็นเงินไทยมาก จนกระทั่งเงินบาทพดด้วงที่มีอยู่ไม่พอใช้หมุนเวียน ดังนั้นใน พ.ศ. 2403 รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง โรงกษาปณ์สิทธิการ ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ผลิตเงินเหรียญด้วยเครื่องจักร มีทั้งที่ทำด้วย ทองคำ เงิน ดีบุก และทองแดงในราคาต่างกัน
การคลังสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ และได้ทรงเริ่มพระราชกรณียกิจ ในการปรับปรุงแก้ไขการบริหารราชการแผ่นดินให้ทันสมัยทันที ได้มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานการคลัง ซึ่งนำไปสู่การสถาปนากระทรวงการคลังขึ้นในรัชกาลนี้
ปี พ.ศ. 2416 ทรงเริ่มทำการปฏิรูปการคลังโดยโปรดเกล้าฯ ให้ ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ใพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ทำการของเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ และให้มีพนักงานบัญชีกลาง สำหรับรวบรวมบัญชีเงินผลประโยชน์แผ่นดิน และตรวจตราการเก็บภาษีอากร ซึ่งกระทรวงต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่เก็บนั้น ให้รู้ว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด และเร่งเรียกเงิน ของแผ่นดินในด้านภาษีอากรให้ส่งเข้าพระคลังมหาสมบัติตามกำหนด พร้อมกันนั้นได้ ทรงตราพระราชบัญญัติสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์ และ ได้พระราชทานอำนาจแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงจัดให้มีเจ้าพนักงานบาญชีกลางรวบรวมพระราชทรัพย์ ซึ่งขึ้นในท้องพระคลังทั้งปวง ตั้งอยู่ในหอรัษฎากรพิพัฒน์ในพระบรมมหาราชวัง ให้มีแบบธรรมเนียมที่เจ้าภาษีนายอากร ต้องปฏิบัติในการรับประมูลผูกขาด จัดเก็บภาษีอากร ให้มีเจ้าจำนวนภาษีของพระคลังทั้งปวงมาทำงานในออฟฟิตเป็นประจำ เพื่อตรวจตราเงินภาษีอากรที่เจ้าภาษี นายอากรนำส่งต่อพระคลังแต่ละแห่ง โดยครบถ้วนตามงวดที่กำหนดให้
การกำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานหอรัษฎากรพิพัฒน์ และระเบียบข้อบังคับให้เจ้าภาษีนายอากรปฏิบัติโดยเคร่งครัด เป็นการตัดผลประโยชน์ของเจ้าพนักงานทั้งปวง จึงกล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงวางรากฐานระเบียบการปฏิบัติการภาษีอากรและการเงินของประเทศไว้เป็นครั้งแรก ทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางระเบียบสำหรับปรับปรุงการคลังของประเทศตามพระราชบัญญัติสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์ไปแล้ว ทรงพระราชดำริว่า การภาษีอากรอันเป็นเงินผลประโยชน์ก้อนใหญ่สำหรับใช้จ่ายในราชการ ทะนุบำรุงบ้านเมือง และใช้จ่ายเป็นเบี้ยหวัดเงินเดือนข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนนั้น พระคลังมหาสมบัติยังจัดไม่รัดกุมเป็นระเบียบเรียบร้อย เงินผลประโยชน์ของรัฐบาลยังกระจัดกระจาย ตกค้างอยู่กับเจ้าภาษีนายอากรเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้เงินยังไม่พอใช้จ่ายในราชการ และทะนุบำรุงบ้านเมืองให้สมดุล จึงทรงปรึกษากับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน หรือเคาน์ซิลเลอร์ ออฟ สเตด ( Councillors of State) พร้อมด้วยคณะเสนาบดี
วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2418 ได้ตราพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติ และจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ กรมพระคลังมหาสมบัติมีฐานะเป็นกระทรวงเพราะใช้คำภาษาอังกฤษเพื่อเรียกอธิบดีว่า มินิสเตอร์ ออฟ ฟิแนนซ์ ดังนั้น จึงถือเอาวันที่ 14 เมษายน 2418 เป็นวันสถาปนากระทรวงการคลัง สืบมา
ปี พ.ศ. 2433 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2433 ยกฐานะกรมพระคลังมหาสมบัติ เป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่สำหรับ รับ จ่าย และรักษาเงินแผ่นดินทั้งสรรพราชสมบัติพัสดุทั้งปวง กับถือบาญชีพระราชทรัพย์สำหรับแผ่นดินทั้งสิ้น และเก็บภาษีอากรเงินขึ้นแผ่นดินตลอดทั่วพระราชอาณาจักร มีเสนาบดีรับผิดชอบบังคับราชการในกระทรวงสิทธิ์ขาด ประกอบด้วยกรมเจ้ากระทรวงและกรมขึ้น รวมเป็นกรมใหญ่ 13 กรม
ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้แบ่งหน่วยราชการส่วนกลางเป็น 12 กระทรวง จัดสรรอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ของแต่ละกระทรวงให้เป็นสัดส่วน ไม่ก้าวก่ายในการปฏิบัติราชการ โดยมีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งกระทรวงแบบใหม่ ดังนี้
1. กระทรวงมหาดไทย
2. กระทรวงกลาโหม
3. กระทรวงการต่างประเทศ
4. กระทรวงวัง
5. กระทรวงนครบาล
6. กระทรวงเกษตราธิการ
7. กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
8. กระทรวงยุติธรรม
9. กระทรวงยุทธนาธิการ
10. กระทรวงธรรมการ
11. กระทรวงโยธาธิการ
12. กระทรวงมุรธาธิการ
ทั้งนี้ ทรงประกาศตั้งเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่างๆ ขึ้นให้มีศักดิ์เสมอกัน ทั้ง 12 กระทรวง ยุบเลิกตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี และเสนาบดีจตุสดมภ์ และแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ เป็นเสนาบดีกระทรวงการคลังพระมหาสมบัติ แต่เนื่องจากทรงพระประชวร กรมหมื่นนราธิปประพันธพงศ์ จึงทรงปฏิบัติราชการแทน ต่อมาในปีเดียวกัน วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2435 ได้มีประกาศเปลี่ยนแปลง ตำแหน่งเสนาบดี โดยให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงการคลังมหาสมบัติแทน
เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมหิศรราชหฤทัย เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (พ.ศ. 2439-2449) ได้กราบทูลเสนอวิธีการปรับปรุงการเก็บภาษีอากรใหม่ ยกเลิกการประมูลผูกขาดเก็บภาษีอากรเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลดำเนินการจัดเก็บเอง
ปี พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้มีการจัดทำ งบประมาณแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก กระทรวงพระคลังมหาสมบัติเริ่มวางระเบียบการจัดงบประมาณรายจ่าย แล้วรวบรวมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต และจะไม่มีการจ่ายเงินเกินงบประมาณโดยที่มิได้รับความเห็นชอบจากองค์พระมหากษัตริย์ เสียก่อน นอกจากนี้ ยังวางระเบียบการควบคุมการใช้จ่ายเงินของกระทรวงและกรมต่างๆ ทั้งหมด การจัดงบประมาณอย่างคร่าวๆ นี้ เป็นการกำหนดรายจ่ายมิให้เกินกำลังของเงินรายได้ เพื่อรักษาดุลยภาพและความมั่นคงของฐานะการคลังของประเทศ ใน พ.ศ. 2444 รัฐบาลสามารถ จัดพิมพ์งบประมาณรายรับรายจ่ายแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก ในการจัดทำงบประมาณแผ่นดินนี้ โปรดฯ ให้แยกการเงินส่วนแผ่นดิน และส่วนพระองค์ออกจากกันอย่างเด็ดขาด พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์นั้นให้พระคลังข้างที่เป็นผู้จัดการดูแล
การคลังสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวบรัดพระคลังในท้องที่ต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักรเข้ามาอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2458
วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2454 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามกรมเก็บ เป็นกรมพระคลังมหาสมบัติ
ปี พ.ศ. 2456 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2456 เพื่อวางระเบียบกำหนดเวลาที่กระทรวงต่างๆ จะต้องยื่นงบประมาณต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เวลาที่จะต้องทูลเกล้าฯ ถวาย กับเวลาที่จะพระราชทานพระบรมราชานุญาต และกำหนดวิธีการจ่ายเงินนอกงบประมาณในระหว่างปี การใช้จ่ายเงินงบประมาณของแต่ละปี กำหนดให้สิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม ของปีงบประมาณนั้น
พ.ศ. 2458 โปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมสรรพากรใน และกรมสรรพากรนอก มาอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และรวมเป็นกรมเดียวกันเรียกว่า กรมสรรพากร นอกจากนี้ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหน่วยงานใหม่ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ คือ
- กรมตรวจเงินแผ่นดิน ทำหน้าที่ตรวจตราเจ้าหน้าที่ต่างๆ ซึ่งทำการรับหรือจ่ายเงินแผ่นดินและเงินอื่นๆ ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ และขณะเดียวกันเพื่อมิให้มีหน้าที่ปะปนกับกรมตรวจ และกรมสารบาญชี ซึ่งมีอยู่แล้วเดิม จึงได้เปลี่ยนนามกรมตรวจและกรมสารบัญชี เป็นกรมบาญชีกลาง มีหน้าที่จัดระเบียบการประมวลบัญชีเงินรายได้และรายจ่ายของแผ่นดิน และสอบสวนการเบิกจ่ายเพื่อรักษารูปงบประมาณ กับเพื่อให้การเบิกจ่ายได้ปฏิบัติไปตามความมุ่งหมายของการงบประมาณ
- กรมสถิติพยากรณ์ ภายหลังได้รับการยกฐานะเป็น กระทรวงพาณิชย์ ในปี พ.ศ. 2463 และในปี พ.ศ. 2469 ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร ฉบับปฐมฤกษ์ โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศไทยได้มีโอกาสเจรจายกเลิกสัญญาบาวริง ที่ไม่เป็นธรรมกับนานาประเทศโดยเฉพาะเรื่องพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่งเดิมจะเก็บภาษีศุลกากรเกินกว่าร้อยชักสามไม่ได้ จนประสบความสำเร็จและประเทศไทยมีอิสระสมบูรณ์ที่จะตั้งพิกัดอัตราศุลกากรได้เต็มที่
การคลังสมัยรัชกาลที่ 7 ใน พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2471 ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกำหนด ให้มีกรมราชการกรมหนึ่งในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เรียกว่า กรมเงินตรา มีหน้าที่กระทำกิจทั้งปวงอันเกี่ยวแก่การจำหน่ายและถอนคืนธนบัตรต่อมาทรงพระราชดำริว่า กิจทั้งปวงซึ่งกรมเงินตรา จะพึงปฏิบัติดังกล่าวมานี้ กรมธนบัตรซึ่งตั้งขึ้นตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ. 121 ได้ปฏิบัติอยู่แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามกรมธนบัตรว่า " กรมเงินตรา" และให้อธิบดีกรมบาญชีกลางเป็นผู้บังคับบัญชากรมเงินตรา ตามประกาศเปลี่ยนนามกรมธนบัตร เป็นกรมเงินตรา วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2471
ในปี พ.ศ. 2473 โปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมกระษาปณ์สิทธิการลงมามีฐานะเป็น โรงงานขึ้นกับกรมฝิ่นหลวงหรือกรมสรรพสามิตในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากเกิดภาวะเศรษฐกิจ ตกต่ำ อย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้โรงกษาปณ์ไทยจึงหยุดการผลิตเหรียญกษาปณ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
การคลังสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475)เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบ ประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอีกด้วย
พ.ศ. 2476 ได้เปลี่ยนนามกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเป็นกระทรวงการคลัง โดยแบ่งส่วนราชการเป็น 8 กรม ได้แก่
1. สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
2. สำนักงานปลัดกระทรวง
3. กรมคลังกรมบัญชีกลาง
4. กรมพัศดุ
5. กรมศุลกากร
6. กรมสรรพสามิตต์
7. กรมสรรพากร
ปี 2484 ได้มีการปรับปรุงส่วนราชการในกระทรวงการคลังโดยให้ยุบกรมพัศดุ และปี 2495 ได้เปลี่ยนชื่อกรมคลังเป็นกรมธนารักษ์ ปี 2504 ได้จัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังโดยมีฐานะเทียบเท่ากรม จุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ที่ให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการวางนโยบายการคลังและเศรษฐกิจของรัฐ ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยยุบกองเศรษฐกิจการคลังและกองสถิติในสำนักงานปลัดกระทรวงมาอยู่ในหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ และแต่งตั้ง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคนแรก
ปี 2496 มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กำหนดให้รัฐบาลสามารถจัดตั้งองค์การของรัฐบาลที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยตรงเป็นพระราชกฤษฎีกาขึ้นได้ ตามที่เห็นสมควรเพื่อดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณะหรือเพื่อประโยชน์ในการเศรษฐกิจหรือช่วยเหลือในการครองชีพหรืออำนวยบริการแก่ประชาชนโดยใช้เงินทุนจากงบประมาณ แผ่นดิน พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นรากฐานของการก่อกำเนิดรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งกระทรวงการคลัง มีรัฐวิสาหกิจในสังกัดประกอบด้วย
1. ธนาคารกรุงไทย จำกัด
2. ธนาคารออมสิน
3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
4. ธนาคารอาคารสงเคราะห์
5. โรงงานสุรา
6. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
7. โรงงานยาสูบ
8. โรงงานไพ่
9. บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด
10. บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด
.............................................................................................................................................................................................
ดู (http://www.mof.go.th)
ดู (http://www.bot.or.th)
ความคิดเห็น