คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเจดีย์
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเจดีย์
เจดีย์ถือเป็นปูชนียสถานหรือวัตถุเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าหรืออาจจะหมายถึงตัวแทนของพระพุทธองค์ มีความมุ่งหมายให้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือบรรจุพระบรมธาตุ เจดีย์จึงเป็นประธานในวัด ต้นกำเนิดของเจดีย์มาจากอินเดียเรียกว่า “สถูป” ในภาษาบาลี หรือ “ถูป” ในภาษาสันสกฤต แต่เดิมก่อนมีพระพุทธศาสนาเป็นที่ฝังอัฐิ ในล้านนาเรียกเจดีย์ว่า กู่ เช่น กู่เต้า กู่กุด ต่างจากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมเรียกเจดีย์ว่า ธาตุ เช่น พระธาตุพนม ในทางพุทธศาสนาแบ่งเจดีย์ออกเป็น 4 ประเภท คือ ธาตุเจดีย์ ธรรมเจดีย์ อุเทสิกเจดีย์ และบริโภคเจดีย์ ต่อมาสามัญชนหรือบุคคลชั้นปกครองได้นิยมนำอัฐิเจดีย์ของผู้มีเกียรติสูง บรรจุไว้ในเจดีย์ด้วยแต่ต่างวัตถุประสงค์กัน(โชติ กัลยาณมิตร, 2539: 94 – 97) เจดีย์ล้านนาของไทย ได้มีการทำการศึกษาในภาพรวมของล้านนากันต่อๆมาในปี 2510 งานวิทยานิพนธ์ของ พิเศษ เจียรจันทรพงษ์และขนิษฐา อัตถสันปุณณะ (จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา, 2541: 3) ได้เสนอเรื่องเจดีย์เชียงใหม่ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1
ในช่วงพญามังราย ถึงพญาผายูเป็นเจดีย์ที่ประกอบด้วย ฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมจัตุรัสเตี้ยรองรับเขียงกลมสามชั้น ถัดไปเป็นมาลัยเถาที่แปลงมาจากฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จแต่ทำเป็นฐานกลมซ้อนสามชั้น เหนือขึ้นไปเป็นองค์ระฆังขนาดเล็ก เช่นเจดีย์วัดพระสิงห์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีเจดีย์เหลี่ยมที่สืบทอดจากหริภุญไชย คือเจดีย์เหลี่ยมที่เวียงกุมกาม อ.สารภี จ.เชียงใหม่
ระยะที่ 2
ระหว่างรัชกาลพญากือนา ถึงพระเจ้าสามฝั่งแกน ซึ่งแยกเป็น 2 แบบคือ แบบแรกได้รับอิทธิพลขององค์ระฆังและแผนผังที่ประกอบด้วยฐานทักษิณรวมทั้งสี่ทิศจากเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่วัดสวนดอก แบบที่สองเป็นอิทธิพลจากศิลปะพม่า ลักษณะเด่นคือ ท้องไม้ของมาลัยเถามีช่องสี่เหลี่ยมเจาะเป็นระยะ เช่นเจดีย์วัดอุโมงค์ เชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
ระยะที่ 3
เป็นเจดีย์มณฑปผสมทรงกลมที่เริ่มก่อสร้างสมัยพระเจ้าติโลกราชถึงพระเกศเกล้า ลักษณะเป็นเจดีย์ที่มีการผสมกันระหว่างมณฑปกับเจดีย์ทรงกลมแบบสุโขทัย โดยพิจารณาจากชั้นมาลัยเถาและองค์ระฆังเป็นสำคัญ
ระยะที่ 4
ตั้งแต่รัชกาลพรเกศเกล้าลงมาได้มีความนิยมสร้างเจดีย์ย้อนรอยตามแบบระยะแรก แต่ดัดแปลงมาลัยเถาเป็นเหลี่ยม รวมทั้งจำนวนชั้นมากขึ้น เช่นเจดีย์วัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นต้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 กรมศิลปากรได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเจดีย์ในจังหวัดเชียงใหม่ได้อธิบายถึงการกำหนดอายุสมัยของการสร้าง คือในระยะแรกของการสร้างเมืองเชียงใหม่เข้าใจว่ามีอิทธิพลของศิลปะจากหริภุญไชย ได้แก่เจดีย์เหลี่ยมที่เวียงกุมกาม เจดีย์แปดเหลี่ยมองค์ระฆังกลมในบริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเก่า น่าจะเป็นอิทธิพลจากเจดีย์กู่กุด และเจดีย์แปดเหลี่ยมที่วัดจามเทวี ลำพูน ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 20 ได้ปรากฏศิลปะพม่าแบบพุกามที่เชียงใหม่ ได้แก่เจดีย์วัดอุโมงค์เถรจันทร์ ในระยะเวลาใกล้เคียงกับศิลปะสุโขทัยก็เข้ามายังเชียงใหม่ เช่นมีการสร้างเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ในวัดสวนดอก และน่าจะมีความแพร่หลายมากขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ต้นแบบได้แก่เจดีย์วัดป่าแดงหลวง ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นยุครุ่งเรืองของล้านนามีกลุ่มเจดีย์ที่เรียกว่าแบบสี่เหลี่ยมผสมทรงกลมที่พัฒนามาจากเจดีย์เชียงยัน ลำพูน เจดีย์แบบนี้น่าจะเริ่มในสมัยรัชกาลของพระเจ้าติโลกราช คือ เจดีย์หลวง สำหรับส่วนยอดเจดีย์คงเลียนแบบทรงระฆังในศิลปะสมัยสุโขทัยที่มีการดัดแปลงไป คือการเพิ่มจำนวนของลวดบัวใต้องค์ระฆัง องค์ระฆังที่สั้นลง และบัลลังก์ที่แสดงลักษณะเปลี่ยนไปจากรูปสี่เหลี่ยม เช่นเจดีย์วัดพระธาตุดอยสุเทพคงเป็นลักษณะเจดีย์แบบนี้ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ที่มีศิลปะแบบพม่า เป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งบนฐานย่อเก็จตื้นๆ ส่วนประกอบตั้งแต่องค์ระฆังถึงปลียอดจะทำต่อเนื่องกันโดยไม่มีบัลลังก์คั่นจะพบมากในระยะหลัง(จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา, 2541: 5)
นอกจากนี้ยังมีผู้ศึกษาและเสนอแบ่งเจดีย์ออกเป็นหลายรูปแบบเช่นในปี 2524 นักวิชาการท้องถิ่นแบ่งตามรูปแบบตามอิทธิพลที่ได้รับ คือ
1. พระเจดีย์แบบทวารวดี เช่น เจดีย์เหลี่ยมที่เวียงกุมกาม
2. พระเจดีย์แบบมหาโพธิพุทธคยา คือ เจดีย์เจ็ดยอดในวัดมหาโพธารามซึ่งบางตำราถือเป็นวิหารที่มียอดทรงเจดีย์
3. เจดีย์แบบสุโขทัย ลังกา เช่น เจดีย์วัดอุโมงค์เถรจันทร์ เจดีย์วัดสวนดอก เจดีย์วัดป่าแดงหลวง
4. เจดีย์แบบลานนา พุกาม เช่น เจดีย์ประธานในวัดพระสิงห์มหาวรวิหาร
5. เจดีย์แบบพม่า เช่น เจดีย์วัดบุปพาราม วัดเชตะวัน
6. พระเจดีย์ปล่อง เช่น เจดีย์วัดร่ำเปิง วัดพวกหงส์ และวัดเชียงโฉม(สมหมาย เปรมจิตต์ กมล ศรีวิชัยนันท์ และสุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์, 2524 :60-153)(จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา, 2541 :5)
เจดีย์วัดตะโปทาราม (ร่ำเปิง) ลักษณะเป็นเจดีย์ปล่อง มีจระนัมประดิษฐานพระพุทธรูปโดยรอบ
เจดีย์วัดเจดีย์เหลี่ยม เวียงกุมกาม เดิมชื่อกู่คำ สร้างขึ้นโดยพญามังราย
รูปทรงของเจดีย์
เจดีย์เมืองเชียงใหม่ ได้มีนักวิชาการทำการศึกษาในแง่มุมต่างๆ มากมาย สำหรับเนื้อหาโดยสรุปในงานวิจัยนี้เป็นการสรุปความจากผลของงานวิจัยเรื่องเจดีย์เมืองเชียงใหม่ของจิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา (2541) ซึ่งได้จัดแบ่งกลุ่มรูปแบบเจดีย์ในเมืองเชียงใหม่ได้ 3 กลุ่มใหญ่ คือ เจดีย์ทรงระฆัง เจดีย์ทรงปราสาท และเจดีย์แบบอื่นๆ
1 เจดีย์ทรงระฆัง อาจจำแนกได้ 3 กลุ่มย่อย คือ
กลุ่มที่ 1 เป็นเจดีย์ที่รับอิทธิพลจากศิลปะพม่าและพัฒนาจนกลายเป็นรูปแบบของเจดีย์พื้นเมือง เจดีย์ที่เก่าที่สุดน่าจะได้แก่ เจดีย์วัดอุโมงค์เชิงดอยสุเทพ(สวนพุทธธรรม) เป็นเจดีย์ทรงระฆังที่เก่าที่สุดสร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ลักษณะที่แสดงรูปแบบศิลปะพม่าอย่างเด่นชัดคือ ชั้นฐานบัวในผังกลมซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น เจาะช่องสี่เหลี่ยมตลอดแนวท้องไม้ ชั้นฐานบัวในผังกลมนี้มีการพัฒนาให้สูงขึ้นและแนวการเจาะช่องสี่เหลี่ยมที่ท้องไม้ได้หายไป เช่น ที่เจดีย์วัดสวนดอกที่สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1916 และอาจมีฐานปัทมลูกแก้วอกไก่เตี้ยๆ รองรับ เช่น เจดีย์วัดแสนเส้า ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ลงมาเจดีย์กลุ่มนี้ได้พัฒนาจนเป็นรูปแบบที่แน่นอน คือ ส่วนฐานเขียงสี่เหลี่ยมรับฐานปัทมลูกแก้วอกไก่ยกเก็จ ส่วนกลางเป็นฐานบัวในผังกลมยืดสูงซ้อนลดหลั่นกันสามฐานรับทรงระฆังที่เล็กลง บัลลังก์และส่วนยอดเช่นเจดีย์วัดปันเส่า (องค์นอก) ความลงตัวที่สมบูรณ์ของเจดีย์กลุ่มนี้เกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20–ต้นพุทธศตวรรษที่ 21 คือการเพิ่มความสูงของฐานกลมเหนือฐานปัทมลูกแก้วอกไก่ยกเก็จ เช่น เจดีย์วัดกิตติ
ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21 เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงปรากฏขึ้น คือ การเปลี่ยนชั้นฐานบัวในผังกลมเป็นผังแปดเหลี่ยม ซึ่งส่อเค้าว่าจะเริ่มขึ้นรัชกาลของพระเมืองแก้วเป็นต้นมา ตัวอย่างได้แก่ เจดีย์วัดดวงดี ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ส่วนฐานของเจดีย์มีการพัฒนาไปสองแบบคือ แบบแรก ได้เพิ่มชั้นบัวคว่ำเหนือฐานเขียงสี่เหลี่ยมและชั้นบัวหงายเหนือฐานปัทมลูกแก้วอกไก่ยกเก็จ ตัวอย่างได้แก่ เจดีย์วัดหนองหญ้าแพรก แบบที่สอง มีการเพิ่มชั้นฐานสี่เหลี่ยมเจาะช่องสี่เหลี่ยมวงโค้งเหนือฐานปัทมลูกแก้วอกไก่ยกเก็จ เช่น เจดีย์แดง (นอก) ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ส่วนฐานยังคงเพิ่มความสูงมากขึ้น เช่น เจดีย์วัดอีก้าง หรือมีการเพิ่มชั้นฐานสี่เหลี่ยมเหนือฐานสี่เหลี่ยมเจาะช่อง เช่น เจดีย์พระบรมธาตุศรีจอมทอง เจดีย์กลุ่มนี้ส่อเค้าการฟื้นฟูอีกครั้งหนึ่งในสมัยครูบาศรีวิชัย เช่น การสร้างเจดีย์ที่วัดพระนอนปูคา เมื่อ พ.ศ. 2471 หรือเจดีย์รายในวัดสวนดอก
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มเจดีย์ที่รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัยแล้วพัฒนาปะปนกันจนแตกต่างไปจากต้นแบบ เจดีย์ที่กล่าวถึงกันมา ได้แก่ เจดีย์วัดป่าแดง ที่นำไปเปรียบเทียบกับเจดีย์ช้างล้อม ศรีสัชชนาลัย เจดีย์ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 เช่นเดียวกันอีกองค์หนึ่งได้แก่ เจดีย์วัดป่าพร้าวใน ที่แสดงลักษณะมาลัยเถาแบบสุโขทัยอย่างชัดเจนในขณะที่ฐานปัทมยกเก็จแบบพื้นเมืองก็ยังปะปนด้วย
ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา แนวทางการพัฒนาของทรงเจดีย์ยังคงเป็นไปในทำนองเดียวกันกับเจดีย์ทรงระฆังมนกลุ่มที่ 1 คือ การเพิ่มความสูงของฐานและมาลัยเถา ตัวอย่างได้แก่ เจดีย์วัดแสนตาห้อย ตลอดจนการเปลี่ยนมาลัยเถาให้อยู่ในผังเหลี่ยมในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21 เช่น เจดีย์วัดป่าอ้อย ความลงตัวของรูปทรงปรากฏขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ได้แก่ เจดีย์วัดพระธาตุดอยสุเทพที่ควรบูรณะรูปแบบครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2081
ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 22 การปรับเปลี่ยนที่ส่วนฐาน เช่น เจดีย์แดง (นอก) ก็พบในเจดีย์กลุ่มนี้เช่นกัน ได้แก่ เจดีย์ร้างที่บ้านทุ่งหมากหนุ่ม ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 แนวโน้มของรูปแบบน่าจะเป็นการพัฒนาให้อยู่ในผังเหลี่ยมทั้งองค์ เช่น เจดีย์วัดหัวข่วง หรือเจดีย์ร้างที่เวียงท่ากาน
มีความพยายามรื้อฟื้นรูปเจดีย์แบบนี้ทดแทนเจดีย์องค์เดิมอีกครั้งหนึ่งที่วัดหม้อคำตวง เมื่อ พ.ศ. 2480 แต่สุนทรียะของรูปทรงไม่สามารถใกล้เคียงกับของเดิมได้
กลุ่มที่ 3 เป็นเจดีย์ที่เลียนแบบศิลปะพม่ารุ่นหลังราวพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา รูปแบบของเจดีย์ไม่ค่อยมีความแตกต่างมากนัก ถึงแม้ว่างานนั้นจะเกิดจากกลุ่มชนที่ต่างกัน เช่น เจดีย์วัดป่าเป้า ของชาวไต เจดีย์วัดลวงเหนือของชาวลื้อ เจดีย์วัดทรายมูลพม่าของชาวพม่า ลักษณะที่ร่วมกันคือ ส่วนฐานปัทมลูกแก้วอกไก่ยกเก็จเตี้ยซ้อนลดหลั่นกันรับองค์ระฆังกลมที่ไม่มีบัลลังก์ ต่อด้วยปล้องไฉน ปัทมาท ปลีและฉัตรโลหะ ความแตกต่างที่พบเกิดจากขนาดขององค์เจดีย์เป็นสำคัญ
2 เจดีย์ทรงปราสาท ทรงปราสาทที่นำมาเรียกชื่อของเจดีย์นั้น ต้องการให้หมายถึงเจดีย์ที่มีเรือนธาตุและยอดที่เรียวแหลมขึ้นไป ความแตกต่างของยอดสามารถแยกเป็น 4 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 เจดีย์ทรงปราสาทยอดเจดีย์ เจดีย์วัดอุโมงค์อารยมณฑล น่าจะสร้างขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ลงมา ลักษณะประกอบด้วย ฐานเขียงเตี้ยๆ รับเรือนธาตุที่มีคูหาหลังคาโค้ง เหนือเรือนธาตุเป็นชั้นลดที่ชำรุดไปแล้วเหลือแต่วงแหวนรูปบัวคว่ำรับทรงระฆังที่ไม่มีบัลลังก์ต่อเนื่องด้วยปล้องไฉน และที่มุมเหนือเรือนธาตุควรมีเจดีย์มุมประดับด้วย
ตัวอย่างเจดีย์กลุ่มนี้ ราวพุทธศตวรรษที่ 20 หลงเหลือเค้าโครงอยู่เพียงองค์เดียว คือ เจดีย์วัดอุ้มโอ สภาพที่ชำรุดอาจสามารถสังเกตเค้าโครงได้อย่างคร่าวๆ เท่านั้น สิ่งที่นำมากำหนดอายุการสร้างได้คงมีแต่ลายปูนปั้นประดับที่ยังมีความคิดเห็นขัดแย้งกันอยู่
ราวพุทธศตวรรษที่ 21 ความแตกต่างของส่วนยอดทำให้แยกได้เป็น 3 กลุ่มย่อย ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีแนวทางการพัฒนาแตกต่างกันออกไปอีก กลุ่มย่อยที่ 1 ได้นำเอาลักษณะของเจดีย์ทรงระฆังแบบพื้นเมืองเข้ามาผสม ตัวอย่างได้แก่ เจดีย์วัดร่มโพธิ และเจดีย์มุมนั้นเริ่มหายไปเนื่องจากการขยายตัวของฐานบัวในผังกลม ซึ่งต่อมาการพยายามไม่ให้เจดีย์ถูกทดแทนด้วยชั้นบัวถลาขนาดใหญ่ เช่นที่ เจดีย์หลวง ซึ่งระบุในเอกสารว่า “ทำให้มีกระพุ่มยอดเดียว” กลุ่มย่อยที่ 2 ส่วนยอดของกลุ่มนี้เป็นชั้นลดที่ยกเก็จต่อเนื่องจากเรือนธาตุรับฐานแปดเหลี่ยมและทรงระฆัง เช่น เจดีย์วัดป่าตาล ชั้นลดนี้ได้พัฒนาซ้อนลดหลั่นกันหลายชั้น เช่น เจดีย์วัดโลกโมฬี กลุ่มย่อยที่ 3 เป็นการผสมกันระหว่างกลุ่มย่อยที่ 1 และกลุ่มย่อยที่ 2 คือ ใช้ชั้นบัวถลาขนาดใหญ่รับชั้นลดยกเก็จ เช่น เจดีย์บรรจุอัฐิพระเจ้าติโลกราชในวัดเจ็ดยอด การพัฒนาที่ต่อเนื่องลงไปของเจดีย์ทั้งสามกลุ่มเป็นไปในทำนองเดียวกันกับเจดีย์ทรงระฆังในระยะเดียวกัน คือ การเพิ่มความสูงของฐานแบบต่างๆ ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงยอดที่เรียวเล็กลง ตลอดจนการเพิ่มแนวบัวหัวเสาและบัวเชิงเสาของเรือนธาตุที่สัมพันธ์ไปกับการเปลี่ยนแปลงของจระนำเรือนธาตุด้วย
ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา ยังคงมีการซ่อมแซมเจดีย์ทรงปราสาทยอดเจดีย์อยู่บ้าง อาทิ ราว พ.ศ. 2114 เจดีย์วัดเชียงมั่นถูกสร้างครอบทับเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งส่วนยอดนั้นน่าจะแสดงเค้าโครงที่ซ่อมทับได้เป็นอย่างดีเมื่อเปรียบเทียบกับเจดีย์ร้างวัดพระบาทแก้วขาว อำเภอฮอด ที่จำนวนของยกเก็จเรือนธาตุเพิ่มจำนวนมากขึ้น อันเป็นแนวทางการวิวัฒนาการราวพุทธศตวรรษที่ 22
กลุ่มที่ 2 เจดีย์ทรงปราสาทแปดเหลี่ยมและเจดีย์ปล่อง องค์ประกอบของเจดีย์ทรงปราสาทแปดเหลี่ยมคล้ายกับเจดีย์ทรงปราสาทยอดเจดีย์ เพียงแต่มีแผนผังอยู่ในรูปแปดเหลี่ยมเท่านั้น เจดีย์แปดเหลี่ยมที่วัดสะดือเมือง น่าจะสร้างขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เค้าโครงที่ถูกบูรณะแล้ว คือ ส่วนฐานและชั้นบัวถลา นอกจากนั้นเข้าใจว่าเป็นของเดิมยกเว้นลายปูนปั้นบางตำแหน่งที่ซ่อมเพิ่มเติมราวพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเจดีย์องค์นี้ได้รับรูปแบบจากเจดีย์แปดเหลี่ยมในวัดกู่กุด ลำพูน แต่เป็นที่น่าสงสัยในรูปทรงที่เตี้ยป้อมกว่าและการเจาะคูหาที่เรือนธาตุ ซึ่งส่อเค้าโครงถึงเจดีย์แปดเหลี่ยมหลายองค์ที่สร้างกันในศิลปะพุกามราวพุทธศตวรรษที่ 19 การถ่ายทอดรูปแบบน่าจะปรากฏที่อนิมิตเจดีย์ในวัดเจ็ดยอดที่สร้างเมือง พ.ศ. 1998 ซึ่งยึดส่วนบัวถลาเหนือเรือนธาตุให้สูงขึ้น กึ่งกลางของแต่ละด้านประดับด้วยซุ้มวงโค้ง ยืนยันถึงรูปแบบที่ขาดหายไปของเจดีย์แปดเหลี่ยมวัดสะดือเมือง รวมทั้งฐานปัทมลูกแก้วอกไก่ควรมียกเก็จเล็กๆ ในแต่ละด้านด้วย เจดีย์วัดยางกวงน่าจะได้รับการซ่อมเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปมากแล้ว ลักษณะเดิมอาจเป็นเรือนธาตุแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันหลายชั้นที่พัฒนาต่อเนื่องจากอนิมิตเจดีย์นั่นเอง จากลักษณะดังกล่าวและลักษณะของกรอบซุ้มจระนำทำให้นึกถึงซุ้มในตำแหน่งเดียวกันของกลุ่มเจดีย์ปล่องที่คล้ายกันสามองค์ในเชียงใหม่ คือ เจดีย์วัดร่ำเปิงที่สร้างเมื่อ พ.ศ.2035 เจดีย์วัดพวกหงส์ และเจดีย์วัดเชียงโฉม รูปแบบของเจดีย์น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจาก ถะ ในศิลปะจีนแต่คงถูกนำมาดัดแปลงไปพร้อมกับแนวการสร้างเจดีย์แปดเหลี่ยม การพัฒนาต่อมาของเจดีย์ทรงนี้น่าจะได้แก่ เจดีย์วัดกู่เต้า เป็นระยะสุดท้าย
กลุ่มที่ 3 เจดีย์ทรงปราสาทสี่เหลี่ยม พบเพียงองค์เดียว คือ เจดีย์เหลี่ยมในเวียงกุมกาม ที่ตำนานกล่าวถึงว่าสร้างในรัชกาลพญามังราย เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าน่าจะได้รับรูปแบบจากเจดีย์วัดกู่กุด ลำพูน แต่สภาพปัจจุบันนี้ถูกดัดแปลงไปแล้วโดยหลวงโยทการวิจิตร สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ พระพุทธเจ้าในจระนำ ลวดลายกรอบซุ้มจระนำ การเพิ่มซุ้มจระนำที่ฐานเพื่อให้ครบตามจำนวนอายุของผู้ซ่อม สถูปจำลอง และฉัตรโลหะ เค้าโครงที่พอจะเชื่อถือได้ คือ ส่วนฐานด้านทิศเหนือที่พบร่องรอยการซ่อมทับศิลาแลงที่อยู่ภายในและลักษณะพระพุทธรูปองค์หนึ่งในซุ้มจระนำด้านทิศตะวันออก ซึ่งยังคงแสดงความคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปในจระนำเจดีย์วัดกู่กุด
กลุ่มที่ 4 เจดีย์ทรงมณฑปปราสาท ชื่อของมณฑปที่นำมาเรียกเจดีย์กลุ่มนี้เพื่อต้องใช้เห็นภาพว่า มีการใช้สอยพื้นที่ว่างภายในอาคารตามคติเดิมของมณฑปที่เริ่มขึ้นในประเทศอินเดีย ซึ่งบางท่านอาจจะเรียกเป็นอย่างอื่นก็ได้ตามแต่เหตุผลประกอบ เจดีย์กลุ่มนี้อาจแบ่งได้ 3 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มย่อยที่ 1 เป็นมณฑปห้ายอดที่มีคูหาต่อเนื่องกับวิหารด้านหน้า ซึ่งบางท่านเรียกว่า “คันธกุฎี” รูปแบบของการใช้สอยน่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มวิหารในศิลปะพุกาม และมณฑปห้ายอดนั้นคงมีความสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างได้แก่ มณฑปท้ายวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ ซึ่งยังคงเป็นปัญหาในเรื่องของระยะเวลาการสร้างอยู่ ราวพุทธศตวรรษที่ 21 เจดีย์วัดปันสาท (ร้าง) คงเป็นตัวอย่างของการสืบทอดต่อมา กลุ่มย่อยที่ 2 สืบเนื่องการใช้ชั้นบัวถลาขนาดใหญ่ในเจดีย์ทรงปราสาทยอดเจดีย์ ทำให้มีอิทธิพลถึงมณฑปอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น เจดีย์วัดศรีพูนโต ที่น่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21 เมื่อเปรียบเทียบกับมณฑปสำริดที่มีจารึก พ.ศ. 2051 ที่พบที่วัดพระธาตุหริภุญไชย ลำพูน กลุ่มย่อยที่ 3 มณฑปกลุ่มนี้มีรูปแบบที่นำเอาเรือนธาตุมาวางซ้อนลดหลั่นกันเป็นชั้นทำให้กลายเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น มณฑปประดิษฐานพระแก่นจันทร์ในวัดเจ็ดยอด ส่วนใหญ่แล้วมณฑปแบบนี้มักตั้งประดิษฐานพระพุทธรูปในวิหาร ซึ่งเรียกกันในภาษาเหนือว่า “โขงพระเจ้า” นั่นเอง
3 เจดีย์แบบอื่นๆ ยังมีเจดีย์อีก 2 แบบ ที่เชียงใหม่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะใกล้เคียง คือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และเจดีย์เพิ่มมุม
เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะสุโขทัยที่น่าจะสร้างขึ้นในรัชกาลพญาลิไท หลักฐานที่พบในเชียงใหม่คงเหลือแต่รูปถ่ายเก่าของเจดีย์ทรงนี้ในวัดสวนดอก ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับเจดีย์ประธานในระยะนั้น เจดีย์ที่วัดธาตุกลาง ถึงแม้ว่าเค้าโครงจะเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ในรายละเอียดของพุ่มข้าวบิณฑ์และยอดแตกต่างออกไป คงเป็นการพยายามสร้างเลียนแบบต่อมาในรุ่นหลังราวพุทธศตวรรษที่ 20 มากกว่าที่จะสร้างขึ้นในระยะเดียวกัน
เจดีย์เพิ่มมุม เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นในศิลปะอยุธยาตอนกลางและมีวิวัฒนาการต่อเนื่องลงมาจนถึงศิลปะรัตนโกสินทร์ เจดีย์เพิ่มมุมที่พบในเชียงใหม่ส่อเค้าครั้งแรกที่เจดีย์วัดหมื่นตูม และพบอีกองค์หนึ่งที่เจดีย์วัดศรีโขงซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2464(จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา, 2541)
องค์ประกอบของเจดีย์
องค์ประกอบของเจดีย์โดยทั่วไป ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังแสดงในรูปที่ 1 นี้
รูปที่ 1 ส่วนต่างๆ ของเจดีย์
1. ลูกแก้ว องค์ประกอบส่วนที่ตั้งอยู่บนปลายยอดสุดของพระเจดีย์ นิยมทำเป็นรูปทรงกลมเกลี้ยง บางแห่งทำเป็นรูปคล้ายหยดน้ำ ซึ่งเรียกว่า “หยดน้ำค้าง”
2. ปลี องค์ประกอบของยอดพระเจดีย์ส่วนที่ทำเป็นรูปกรวยกลมเกลี้ยงคล้ายปลีกล้วย ต่อจากส่วนของปล้องไฉนขึ้นไป บางแห่งยืดปลีให้ยาวแล้วคั่นด้วย “บัวลูกแก้ว” ตอนกลาง ทำให้ปลีถูกแยกเป็น 2 ส่วน ซึ่งจะเรียกส่วนล่างว่า “ปลีต้น” และส่วนบนว่า “ปลียอด
3. บัวกลุ่ม ชื่อเรียกองค์ประกอบชุดหนึ่งซึ่งทำเป็นรูป“บัวโถ” ต่อซ้อนให้มีขนาดลดหลั่นกันขึ้นไปอย่าง“บัวลูกแก้ว” สำหรับใช้เป็นส่วนของ“ปล้องไฉน” ในเจดีย์ย่อเหลี่ยม
4. ปล้องไฉน ชื่อเรียกส่วนปลายที่เป็นยอดแหลมของพระเจดีย์ ซึ่งทำเป็นบัวลูกแก้วคั่นเป็นข้อๆ ใหญ่เล็กลดหลั่นลงตลอดแท่ง ตรงเชิงฐานรับด้วย “บัวถลา” ก่อนวางเทินบน “ก้านฉัตร”
5. ก้านฉัตร องค์ประกอบทางโครงสร้างของพระเจดีย์ ที่ทำเป็นรูปทรงกระบอกกลม ทำหน้าที่เทินรับปล้องไฉนให้ตั้งฉาก
6. เสาหาน องค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ทำหน้าที่ช่วยเสริม “ก้านฉัตร” ในการรับน้ำหนักของ “ปล้องไฉน” และ “ปลี” นิยมทำเป็นรูปทรงกระบอกกลมหรือแปดเหลี่ยมขนาดเล็ก แต่สูงเท่ากับก้านฉัตร วางล้อมก้านฉัตรในตำแหน่งของทิศประจำทั้ง 8
7. บัลลังก์ องค์ประกอบสำคัญที่ทำเป็นรูป “ฐานปัทม์” 4 เหลี่ยม หรือ4 เหลี่ยมย่อมุม หรือ กลม หรือ 8 เหลี่ยม วางเทินเหนือหลังองค์ระฆัง เพื่อตั้งรับ “ก้านฉัตร” และ “เสาหาน”
8. องค์ระฆัง องค์ประกอบส่วนที่สำคัญที่สุดของพระเจดีย์ในฐานะตัวเรือนของอาคาร ที่ทำเป็นรูปทรงกลมปากผายคล้ายระฆังคว่ำปากลง ในงานสถาปัตยกรรมไทยองค์ระฆังนี้มีทั้งแบบทรงกลม ทรง 8 เหลี่ยม และทรง 4 เหลี่ยมย่อมุมตามคตินิยมของแต่ละยุคสมัยที่แตกต่างกัน
9. บัวคอเสื้อ องค์ประกอบตกแต่งที่ทำเป็นรูปกระจัง ปั้นทับลงบนส่วนของสัน
บ่า“องค์ระฆัง”ในเจดีย์ย่อเหลี่ยม
10. บัวปากระฆัง ชื่อเรียกส่วนประกอบที่ทำเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย บางแห่งปั้นปูนประดับเป็นรูปกลีบบัว
11. บัวโถ ชื่อเรียกองค์ประกอบสำคัญที่เป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์ย่อเหลี่ยม ที่ทำเป็นรูปบัวมีกลีบขนาดใหญ่ดอกเดียวเทินรับองค์ระฆังแทน“บัวปากระฆัง”ในเจดีย์ทรงกลม บ้างเรียกว่า “บัวคลุ่ม” ก็มี
12. มาลัยเถา ชื่อเรียกองค์ประกอบชุดหนึ่งที่ทำเป็นชั้นของ “บัว” หรือ “ลูกแก้ว”คล้ายพวงมาลัยซ้อนต่อกันขึ้นไป 3 ชั้น ใต้บัวปากระฆัง
13. ชุดฐานสิงห์ ชื่อเรียกฐานเท้าสิงห์ ซ้อนกัน 3 ชั้น ใช้เป็นชุดของ“มาลัยเถา” สำหรับเจดีย์ย่อเหลี่ยม
14. ฐานปัทม์ องค์ประกอบสำคัญทางโครงสร้างของพระเจดีย์ที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักอาคารทั้งองค์ หรือใช้เสริมองค์พระเจดีย์ให้ดูสูงขึ้นเหตุที่เรียกว่า “ฐานปัทม์” เนื่องเพราะฐานชนิดนี้ก่อรูปด้วยลักษณะของฐานบัวชุด“บัวคว่ำ”และ“บัวหงาย” (ปัทม์หมายถึง ดอกบัว)
15. ฐานเขียง ชื่อเรียกฐานหน้ากระดานเกลี้ยงๆ ชั้นล่างสุดขององค์พระเจดีย์ ซึ่งแต่ละองค์แต่ละรูปแบบอาจจะมีฐานเขียงได้ตั้งแต่1-5 ชั้น ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปแล้วแต่จะกำหนด
ความคิดเห็น