นิเทศศิลป์ นฤมิต - นิเทศศิลป์ นฤมิต นิยาย นิเทศศิลป์ นฤมิต : Dek-D.com - Writer

    นิเทศศิลป์ นฤมิต

    พี่เห็นน้องๆ หลายคนถามมาว่า - สายศิลปกรรม/มัณฑนศิลป์ นิเทศศิลป์ ออกแบบสื่อสาร นฤมิตศิลป์ จบมาทำอะไรได้บ้าง ใส้แห้งหรือเปล่า - คณะที่มีชื่อประหลาดๆเหล่านี้ เข้าไปเค้าเรียนอะไรกันบ้าง

    ผู้เข้าชมรวม

    41,550

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    5

    ผู้เข้าชมรวม


    41.55K

    ความคิดเห็น


    3.09K

    คนติดตาม


    9
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  6 เม.ย. 48 / 12:05 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    นิยายแฟร์ 2024
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      บทความโดย พี่ยอด FA CU

      พี่เห็นน้องๆ หลายคนถามมาว่า

      - สายศิลปกรรม/มัณฑนศิลป์ นิเทศศิลป์ ออกแบบสื่อสาร นฤมิตศิลป์ จบมาทำอะไรได้บ้าง ใส้แห้งหรือเปล่า
      - คณะที่มีชื่อประหลาดๆเหล่านี้ เข้าไปเค้าเรียนอะไรกันบ้าง
      - การเตรียมตัวในปีหน้า ต้องเตรียมยังไงบ้าง
      - สมมติถ้าคะแนนเอนท์ไม่ถึง ม รัฐบาล มีที่ไหนบ้างที่เทียบเท่า (จากประสบการณ์)

      • ความหมายของนิเทศศิลป์ นฤมิตศิลป์ ออกแบบสื่อสาร

      ความจริงแล้ว ชื่อเหล่านี้ก็เหมือนชื่อของรถยนต์ ชื่อคน
      ต่างคนก็ต่างตั้งกันไป แต่แท้จริงแล้ว มีความหมายเดียวกัน
      ซึ่งอาจจะเรียกเป็นภาษาไทยได้ว่า พาณิชยศิลป์นั่นเอง (Commercial Design)

      พี่จะขอจัดกลุ่มที่ใช้ข้อสอบร่วมกันในปีนี้นะครับ จะได้ง่ายขึ้น

      - ข้อสอบ ทฤษฎีนฤมิตศิลป์ ปฏิบัตินฤมิตศิลป์
      จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
      คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ (Creative Arts) สาขาเรขศิลป์ (Graphic Design)
      โดยรากฐานของภาควิชานี้ มีความคล้ายกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม
      เพราะผู้ก่อตั้งคณะ และอาจารย์ประมาณครึ่งนึง เป็นอาจารย์ที่มาจาก ID
      แต่ตัดวิชาโครงสร้างและวิชาทางสถาปัตย์ออกไป จึงมีการเรียนการสอนตามปกติ 4 ปี

      มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใช้ชื่อสาขาการออกแบบ สังกัดคณะวิจิตรศิลป์

      ม.นเรศวร(ใช้ชื่อ สถาปัตย์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์) ม.มหาสารคาม (ใช้ชื่อ นฤมิตศิลป์)
      สังกัดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

      - ข้อสอบ ความถนัดทางนิเทศศิลป์
      สถาบันที่ใช้ชื่อ นิเทศศิลป์
      สถาบันเทคโนฯ เจ้าคุณทหารลาดกระบัง, พระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด)สังกัดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (ไม่มีวิชาอะไรเกี่ยวกับสถาปัตย์ สังกัดเฉยๆ) บูรพา, ขอนแก่น, ม.กรุงเทพ,เอแบค, สังกัดคณะศิลปกรรม

      - ข้อสอบ วาดเส้นมัณฑนศิลป์ ออกแบบนิเทศศิลป์
      สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ สังกัดคณะมัณฑนศิลป์

      - ข้อสอบ สอบตรงกลางปี
      มศว ประสานมิตร
      ใช้ชื่อออกแบบสื่อสาร สัีงกัดคณะศิลปกรรมศาสตร์

      - ข้อสอบ ความถนัดทางศิลป์
      ครุศาสตร์ ศิลปศึกษา จุฬาฯ สังกัดคณะครุศาสตร์

      เพราะฉะนั้น คณะที่ว่ามาทั้งหมด ทางด้านบนที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า
      Creative Arts
      Graphic Design
      Communication Design
      Commercial Arts
      Art Education
      จบมาทำงานประเภทเดียวกันหมด
      สถาบันไม่มีส่วน หรือไม่มีผลในการรับเข้าทำงาน
      ตัวงานเมื่อเรียนจบเท่านั้นที่จะเป็นตัววัด

      =====================================================
      • ชีวิตในมหาลัย

      สำหรับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ก็จะคล้ายๆกันทุกที่
      ในช่วงปีต้นๆของการเรียน จะต้องเรียน วิชาพื้นฐานทฤษฎีศิลปะ, การออกแบบ, ทฤษฎีสี, วาดเส้น
      และวิชานอกคณะได้แก่พวกสังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์เบื้องต้น พลศึกษา วิชาเลือกนอกคณะ

      แต่พอขึ้นปีสองปีสาม แต่ละสถาบันก็จะเริ่มมีการสอนที่แตกต่างกันออกไป
      ซึ่งก็แล้วแต่หลักสูตร และความเป็นมาเบื้องหลังของอาจารย์ที่นั่น

      แต่พอถึงปีสุดท้าย นักศึกษาทุกๆที่ ก็จะต้องทำอะไรที่คล้ายๆกันอย่างหนึ่งคือต้องมีการทำวิทยานิพนธ์ / ศิลปนิพนธ์
      หรือที่เรียกว่า Art Thesis ซึ่งจะเป็นการประมวลความรู้ที่เราเรียนมาตลอดระยะเวลาสี่ปีว่าเราสามารถทำงานจริงได้ขนาดไหน

      เรียนทางด้านนี้ ต้องยอมอดนอน อย่างที่เค้าว่าๆกันไว้แหละ

      สำหรับระยะเวลาการทำ Thesis  ก็กินเวลาทั้งเทอม คือทั้งเทอมทำไอ้นี่อย่างเดียว ไม่ต้องไปทำอย่างอื่นเลย
      จะต้องคอยสอบกับคณะกรรมการเป็นระยะๆ ตั้งแต่เลือกหัวข้อที่จะทำด้วยตัวเอง

      คือพอจบปั๊บจะต้องมีหนังสือเล่มหนาๆเล่มนึงกับผลงานที่จะต้องเอาไปจัดนิทรรศการให้คนทั่วไปดู

      =====================================================

      • เรียนยากมั๊ย
      คือถ้าน้องเป็นคนที่มีใจรักศิลปะ รักสวยรักงาม มีเทสต์ในการเลือกของใช้ส่วนตัว ช่างสังเกต
      ชอบขีดๆเขียนๆ วาดรูปเล่น ชอบคิดอะไรใหม่ๆ ชอบคอมฯ ชอบงานออกแบบ
      หรืออ่านหนังสือ Wall Paper / Surface / Art4D  นั่นแหละ น้องเรียนได้แน่ๆ

      การเรียนที่ว่ายากไม่ยากขึ้นอยู่กับผู้เรียน สาขาวิชาสายอาชีพแบบนี้ไม่ค่อยมีการสอบ
      มีแต่การทำงานส่ง ผลงาน ไอเดีย และความขยันจะเป็นตัววัดว่าเราจะเรียนรอดป่าว

      =====================================================

      • อาชีพหล่ะ ทำไรได้มั่ง

      จากประสบการณ์การทำงาน ที่ได้เจอคนหลายสาขาอาชีพ
      ก็เลยสามารถแยกแยะตามสาขาอาชีพต่างๆที่พวกเรียน นิเทศศิลป์ ออกแบบสื่อสาร นฤมิตศิลป์ ได้ดังนี้


      1. Graphic Designer หรือเรียกว่า \"นักออกแบบกราฟฟิก\"
      นักออกแบบกราฟฟิก ก้อสามารถแยกย่อยออกได้อีกคือ

      1.1.Web Graphic Designer ชื่อบอกกันโต้งๆว่าออกแบบเวบ
      นักออกแบบเวบ ก็มีสองลักษณะ คือทำอยู่กับบริษัทที่นักออกแบบเป็นใหญ่ อันนี้ก็จะรุ่ง
      อย่างเช่นบริษัท Ogilvy One ในเครือ Ogilvy เอเยนซี่ยักษ์ใหญ่ หรือ Wonderman เป็นต้น
      ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
      แต่ถ้าไปอยู่บริษัทที่โปรแกรมเมอร์เป็นใหญ่ ก็จะไม่รุ่ง งานออกแบบก็จะเละ ไม่เป็นโล้เป็นพาย
      ชีวิตนักออกแบบจะอับเฉา ยิ่งถ้าไปอยู่ประจำตามเวบธุรกิจขายของยิ่งไปกันใหญ่ ยกเว้นว่าจะ
      สู้จริงๆ
      ลักษณะการทำงานก็จะออกแบบเวบเพจ และทำสื่อมัลติมีเดีย อินเตอร์แอคทีฟต่างๆ
      ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
      1.2.Advertising Graphic Designer Graphic Unit
      เป็นนักออกแบบกราฟฟิกที่ต้องอยู่กับสินค้านานชนิด ทำงานได้ทุกอย่างทุกประเภท ตั้งแต่งานออกแบบ
      สิ่งพิมพ์ โปสเตอร์ ไดเรกเมล์ บิลบอร์ด ยันออกแบบบูท สินค้าที่ระลึก หรือบรรจุภัณฑ์

      อยู่กับบริษัทโฆษณามีข้อดีคือ เงินเดือนเยอะ และข้อสำคัญ มีเวทีให้คุณประกวดงาน
      ถ้าดังได้รางวัลจาก Cannes กับ D&AD ก็รับรองว่าจะไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องเงินเดือนอีกต่อไป
      แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทที่เข้าไปทำด้วยว่า ส่งเสริมเรื่องการส่งรางวังเหล่านี้หรือเปล่า
      ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
      1.3.Graphic Designer / Artist ประจำ Graphic House
      นักออกแบบประจำกราฟฟิกเฮาส์ ซึ่งลักษณะการทำงานจะคล้ายๆกับทำอยู่กับเอเยนซี่
      แต่จะทำอะไรได้อิสระขึ้น ได้ทดลองทำอะไรที่มันส์ๆได้ กราฟฟิกเฮาส์ที่ดังๆก็ได้แก่
      Blind, Color Party, G49 ที่เป็นเครือของ A49
      อีกพวกนึงที่อาจจะอยู่ในกลุ่มนี้ได้ ก็ได้แก่นักออกแบบที่อยู่ประจำนิตยสาร ซึ่งที่ดังๆก็ได้แก่
      DNA, DAY BED, aDAY, Art 4D หรือเครืออมรินพริ้นติ้ง
      ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
      1.4.Graphic Designer ประจำบริษัท หรือหน่วยงานต่างๆ
      อันนี้ก็จะกร่อยหน่อยนึงถ้าเลือกทำ แต่ถ้าอยู่กับฝรั่งก็เงินเดือนดี แต่ก็ยังแห้วอยู่ดี
      เพราะพวกเราจะไม่มีทางโตได้ในบริษัทเหล่านี้
      =====================================================
      2. Art Director
      หรือผู้กำกับศิลป์ หรือจะเรียกว่านักออกแบบ นักคิดโฆษณาก็ได้
      พวกเขาเหล่านี้อยู่ตามบริษัทโฆษณาชื่อดัง คอยคิดโฆษณาประหลาดๆแหวกแนว
      เป็นต้นว่า โฆษณา โซเคน หรือหนอนยูนิฟ กรีนที

      ลักษณะงานคือจะนั่งคิดโฆษณา คิดหนังโฆษณา และจะทำงานร่วมกับก๊อบปี้ไรท์เตอร์
      ใครที่เข้าใจว่า เรียนนิเทศเท่านั้นถึงจะทำงานคิดโฆษณาได้  ก็ให้คิดใหม่นะครับ
      เพราะพวกนิเทศเค้าจะเป็นก๊อบปี้ไรท์เตอร์ (Copy Writer) คือคิดคำพูดในโฆษณา
      หรือคิดโฆณาวิทยุ คิดบทพูดเท่านั้น ไม่ได้ยุ่งกับภาพ หรืออาร์ตเท่าไหร่นัก

      เป็นอาชีพที่เงินดี แต่ทำงานหนักยิ่งกว่าวัวควาย กลับบ้านเลยเที่ยงคืนบ่อยๆ
      ต้องไปคุมผู้กำกับถ่ายหนัง ดูคนตัดต่ออีก สารพัด
      หน้าที่กว่าจะออกเป็นโฆษณาเรื่องนึง

      ที่คนอยากเป็นกันเยอะเพราะเงินเดือน กับมีเวทีให้ประกวดงานโฆษณาอย่าง Cannes กับ D&AD
      =====================================================
      3. Animator
      นักออกแบบอนิเมชั่น ที่ฮิตๆอยากจะเป็นกันเยอะแยะ แต่น้องเอ๋ย รู้ป่าวว่า งานหนักยิ่งกว่าพวก
      กราฟฟิคกับอาร์ตไดโฆษณาอีก

      แต่ถ้าชอบก็เอาเลย ถ้าเก่งเมื่อไหร่ รับรองรุ่ง
      ลักษณะงานก็จะคล้ายงานโฆษณา แต่โหดกว่า ไม่ค่อยได้กลับบ้าน แต่ถ้าเขียนการ์ตูนเก่ง(วาดมือ)
      ชอบคอม ก็ลุยเลย ค่าตอบเแทนของอาชีพนี้จัดว่าสูงเอาการ

      สตูดิโอที่ดังๆก็รู้ๆกันอยู่คือ กันตนา กับ Imaginmax
      ถ้าเรียนด้านนี้โดยตรงก็ที่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.รังสิต ภาควิชาคอมพิวเตอร์อาร์ต ดังสุด
      เครื่องมือพร้อมสุดๆ
      =====================================================
      4. Motion Graphic Designer
      จริงๆ พวกนี้ก็จัดอยู่ในกลุ่มทำเวบกับอนิเมเตอร์ เรียกว่าคนที่จบภาพยนตร์ ลาดกระบังมาจะทำงานได้ตรงกว่า
      แต่ถ้าเราเรียนแล้วชอบทางนี้ เราก็ทำได้เหมือนกันนะ

      เฮาส์ที่ดังๆที่พวกนี้จะไปอยู่ก็ได้แก่ ฟีโนมีนา และแมชชิ่ง สตูดิโอ หรือ Final Cut
      =====================================================
      5. Environmental Graphic Designer
      งงอ่ะดิ ว่าทำอะไรกันหน่ะอาชีพนี้ มีด้วยหรอ
      ก็นักออกแบบกราฟฟิกในนิทรรศการ หรือป้ายสัญลักษณ์ต่างๆแหละ เป็นต้นว่าป้ายธนาคาร
      หรือถ้าห้างสักห้างจะเปิดตัว ก็ต้องออกแบบกราฟฟิกในอาคาร และนอกอาคาร
      นักออกแบบพวกนี้จะทำ interior+exterior graphic อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นวัตถุสามมิติ
      อันนี้รวมถึงนักออกแบบนิทรรศการด้วยนะ แต่อาชีพนี้ที่มีสอนตรงๆก็ที่ศิลปกรรมฯ จุฬา
      ภาควิชานิทรรศการศิลป์

      สำหรับบริษัทที่ดังๆก็ได้แก่ Urban Graphic,G49
      =====================================================
      6. Illustrator / Digital Artist
      นักออกแบบภาพประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเพื่อหนังสือ นิทาน นิยาย หรือหน้าปกนิตยสาร
      โดยมากจะทำงานแบบศิลปิน ไม่สังกัดบริษัทไหน โดยมากจะผ่านงานมาแล้วหลายปี
      และต้องมีทักษะและสไตล์ที่โดดเด่นพอ จึงจะมีงานเรื่อยๆ เป็นอาชีพที่ทำรายได้ดี
      =====================================================
      7. Visualizer / Digital Artist
      คล้ายกับข้อหก แต่จะเน้นมาทางด้านตกแต่งภาพมากกว่า
      หรือจะเรียกอีกอย่างว่า Retoucher ก็ได้
      ลักษณะการทำงานก็คือจะมีหน้าที่ตกแต่งภาพ ตามที่กราฟฟิก หรืออาร์ตไดเรกเตอร์จากบริษัทโฆษณา
      กำหนดมา ทำโปสเตอร์หนัง ทำภาพประกอบหนังสือ โดยพวกนี้จะเป็นเซียนเหนือเซียน Photoshop
      และ Illustrator โดยตรง ค่าตอบแทนจัดว่าสูงมาก แต่ต้องแลกกับการอดหลับอดนอน
      โดยจะทำงานอยู่นบริษัททำรีทัชที่มีชื่อเสียงได้แก่ Illusion, remix, Zone Retouch Nagara, Omni Vision เป็นต้น
      =====================================================
      8. อาชีพนักออกแบบอิสระ หรือเรียกว่า Freelance Designer ซึ่งนักออกแบบที่ทำงานประจำในบริษัทก็
      สามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ถ้าคิดว่าเวลานอนมีเยอะเกินไป

      เรียกว่าถ้าทำได้ก็มีแต่ได้กับได้ครับ

      นอกจากนี้แล้ว นักออกแบบกราฟฟิก สามารถผันตัวเองไปทำอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและการออกแบบได้อีก
      เช่น นักถ่ายภาพ นักออกแบบนิทรรศการและเวที สไตล์ลิสต์ นักออกแบบแฟชั่น นักออกแบบเครื่องประดับ
      หรีอศิลปินและจิตรกรอิสระเป็นต้น
      =====================================================
      • แก้ต่างเรื่องใส้แห้งกับพ่อแม่
      ที่กล่าวมาก็พอจะสรุปได้คร่าวๆว่า
      ถ้าพ่อแม่ ลุงป้าน้าอาทวดยายตาย่าเหลนถามว่า
      จบไป ทำอาไรกิน ก็จะได้สาธยายให้เค้าฟังได้
      รวมๆจัดว่าค่าตอบแทนวิชาชีพใช้ได้-ดีมากๆ(ดีจนน่าตกใจ ถ้าได้เป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ดังๆ)
      ไม่ตกงานแน่ๆ แถมรับงานได้อีก
      อันนี้ก็เป็นข้อได้เปรียบของคนที่เรียนสายวิชาชีพ
      อย่างน้อยก็อุ่นใจว่าสามารถทำงานได้ด้วยตัวคนเดียว เพราะมี Skill ติดตัว ไม่เหมือนสายงานด้านอื่นที่ไม่มี
      =====================================================
      • จะไปเรียนได้ที่ไหนบ้างเนี่ยยยยย

      พี่จะแนะนำโดยยึดจาก อัตราการสอบเข้า ความฮิต
      และบวกกับประสบการณ์ที่ทำงานอยู่ในบริษัทโฆษณา
      ไม่ได้มีเจตนาจะชี้นำ หรือค่อนแคะสถาบันไหนนะครับ

      ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
      - คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ สาขาการออกแบบเรขศิลป์ จุฬาฯ :มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Creative Arts
      สอบทฤษฎีนฤมิตศิลป์ ปฏิบัตินฤมิตศิลป์ พ่วงด้วยคณิตศาสตร์อีกวิชานึง แต่ไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำ
      รับน้อยไปหน่อย แค่ 25 - 28 คนต่อปี
      เป็นคณะที่เข้าไปเรียนรวมตอนปีหนึ่ง แล้วค่อยเลือกเมเจอร์ตอนปีสอง มีGraphic Fashion Ceramics Exhibitions ให้เลือกเรียน
      ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
      - คณะมัณฑนศิลป์ สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ ศิลปากร : สอบดรออิ้งกะออกแบบนิเทศ ที่ต้องผ่านห้าสิบทั้งสองวิชา
      ถ้าตำกว่าแม้วิชาใดวิชาหนึงก็กินแห้ว อดเข้า สุดยอดความเก่าแก่ทางด้านศิลป์ๆในวงการ
      ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
      - คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ ลาดกระบัง : สอบความถนัดทางนิเทศศิลป์
      มีเกณฑ์ขั้นต่ำ 45 สังกัดคณะถาปัด แต่เรียนสี่ปี และไม่มีอะไรเกี่ยวกับถาปัด
      เพียงแต่อยู่ในสังกัด (สมัยก่อน มีเรียนร่วมกับพวกถาปัด แต่ปัจจุบันแยกกันอยู่ แยกกันบริหาร)
      นักออกแบบดังๆหลายๆคนก็จบจากที่นี่
      ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
      - คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ บงมด : น้องใหม่ มาแรง เป็นอินเตอร์นะ
      มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษหมด
      ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
      - คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชาการออกแบบสื่อสาร มศว ประสานมิตร : สอบตรง ใช้ Portfolioที่ต้องมีงานออกแบบนะ
      ไม่ใช่พอร์ตประเภทรางวัลมารยาทงาม ประกวดเรียงความดีเด่น......คู่แข่งแยะในปีนี้ ตามประวัติ แยกจากคณะมนุษยศาสตร์ มาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว อาจารย์เขาเก่งๆทั้งนั้น ได้แก่อาจารย์วิรุณ  อาจารย์อารี
      ความเก๋าในวงการ เป็นที่ยอมรับ
      ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
      - คณะครุศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา จุฬาฯ : อย่าเพิ่งร้องจ๊ากว่าต้องเป็นคุนคู แต่มีเป็นแค่ไม่ถึงสิบเปอร์เซนต์หรอก
      สอบวัดแวว กับความรู้ความถนัดทางศิลป์ ที่รวมเอาทฤษฎีกะปฏิบัติเข้าด้วยกัน
      คนในวงการโฆษณา ก็มาจากที่นี่เยอะ
      ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
      - คณะวิจิตรศิลป์ สาขาการออกแบบ ม.เชียงใหม่ : น้องใหม่ของวงการออกแบบทางเหนือ ปีนี้สอบใช้
      คะแนนนฤมิตสอบ น่าเรียนเหมือนกันนะ บรรยากาศดีมากๆ
      ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
      - คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ มอขอนแก่น : ใช้ข้อสอบลาดกระบัง
      ที่นี่เค้าก็ดังนะ คนในวงการก็แยะ
      ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
      - คณะศิลปกรรมฯภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์  มอกรุงเทพ มอรังสิต ภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คอมพิวเตอร์อาร์ต
      เอแบค สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์(อินเตอร์) พวกนี้เจ๋งหมด
      เรื่องอุปกรณ์ ความพร้อมของสถานที่ ชนะมอของรัฐทุกที่แบบไม่เห็นฝุ่น เรื่องวิชาการก็เทียบเท่า
      เด็กจบมาก็เก่งเป็นคนดังในวงการตรึม
      ถ้าตัดค่านิยมทิ้งไปก็โอเคมากกกกกกกกกกเลยแหละที่จะเข้าไปเรียน ขอแนะนำๆ
      มอรัฐ ถ้ายังไม่พัฒนา พี่ว่าอาจจะตาม เอกชนไม่ทัน เพราะคิดว่า เค้่าจะเป็น St. Martin เมืองไทยในไม่ช้า
      =====================================================
      • เตรียมตัวยังไง

      ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ขยัน ไปติว ไปฝึกเอง ยังไงก็ติดแค่ขยัน
      และต้องเตรียม Portfolio ที่มีงานด้านการออกแบบอย่างน้อย 15 ชิ้น (เผื่อใช้ เผื่อใช้)
      ถ่ายรูปแล้ว Scan เก็บไว้ อาจจะต้องทำหลายชุด เพราะน่าจะต้องส่งด้วย
      เพราะสอบตรงกันหมดในปีหน้า เหนื่อยกว่าพี่มอหกเค้าหน่อยนะ
      และแย่กว่าตรงที่ป่านนี้ ยังไม่มีใครรู้เลยว่าสอบยังไง รู้ว่าตามคณะต่างๆ
      เริ่มซุ่มทำข้อสอบของตัวเองแล้ว และรู้มาว่าบางที่ต้องใช้ Portfolio เป็นเกณฑ์ในการสอบเข้าด้วย

      เรื่องการเตรียมตัว ต้องอาศัยเวลาเหมือนกันนะครับ
      ดังนั้น น้องที่ค้นพบตัวเองว่าชอบ และจะสอบเข้าในปีหน้่า เริ่มฝึกได้แล้วนะครับ
      เพราะการฝึกฝนฝีมือต้องอาศัยเวลาเหมือนกัน

      น้องที่คะแนนถึง แล้วรักจริง ก็เลือกไปเลยครับ ตักตวงสิ่งที่มหาลัยครูบาอาจารย์สอนไว้ให้ได้มากที่สุด

      หรือน้องที่เพิ่งเอนท์เสร็จไป เห็นคะแนนแล้วเหนื่อยหน่าย และถ้าเรารักด้านนี้จริง
      เรียนเอกชนอย่างที่พี่ว่ามา ก็เข้าท่านะครับ เพราะตอนนี้ที่ทำงานพี่ เด็กจากเอกชน
      ก็ทำงานได้โดดเด่นไม่แพ้มหาลัยอื่นๆเลย พอจบแล้ว เค้าไม่ดูเกรด วัดกันที่ผลงานเลยครับ
      ดังนัี้นอย่ามัวฟูมฟายไปกะคะแนนที่เราทำได้ไม่ถึง การเอนท์ ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต
      วันนี้เราพลาดไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวันหน้าเราจะพลาด
      โอกาสทางการศึกษายังมีอีกเยอะครับ แค่ารู้จักตักตวงสิ่งที่ได้ร่ำเรียนจากมหาลัย แค่นั้น เราก็จะเก่ง

      ในโลกของการทำงานด้านนี้ เค้าจะก้มหัวคำนับ ก็ดูที่ผลงาน เรื่องมหาลัยไม่เกี่ยวเลยครับ

      =====================================================

      ยินดีกับน้องที่คะแนนถึง และขอบอกน้องที่คะแนนไม่ถึงว่าให้สู้ต่อไปครับอย่าท้อถอย

      พี่ยอด FA CU

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×