คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #7 : พื้นที่ละครและมหรสพ กับบทบาทของคนข้ามเพศ
การศึกษาของเรย์แบ็ค(1986) พบว่าชาวมาเลย์ดั้งเดิมยอมรับการแสดงพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน กลุ่มคนที่รักเพศเดียวกันในดินแดนมาเลเซียจะมีชุมชนของตัวเองและยั่งชีพด้วยการทำงานเป็นนักแสดงในการแสดงพื้นบ้านที่รู้จักในนาม Mak Yong ชาวบ้านจะยอมรับในความสามารถในการแสดงของคนข้ามเพศ เพราะการแสดงนี้ต้องอาศัยทักษะส่วนตัว การแสดง Mak Yong แพร่หลายในเขตเคลันตันของมาเลเซีย แต่ต่อมาถูกห้ามไม่ให้มีการแสดงในช่วงปี 1991 เมื่อพรรคการเมือง Pan-Malaysian Islamic เข้ามาปกครองเพราะเห็นว่าการแสดงนี้มีรากเหง้ามาจากศาสนาฮินดูและความเชื่อไสยศาสตร์ ในอดีตก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแพร่เข้ามา การแสดงดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมบวงสรวงเทพเจ้า Semar และการบูชาวิญญาณ (Semah Kumpung) เพื่อให้ปกปักษ์รักษาพืชพันธุ์ที่เพาะปลูก ซึ่งจะมีร่างทรงที่เป็นคนข้ามเพศทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม ร่างทรงหรือหมอผีจะรู้จักในนาม pawang ซึ่งจะมีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษภายในตระกูลของร่างทรง นอกจากนั้นการแสดงนี้ยังใช้ในพิธีกรรมรักษาโรค นักแสดงจะร่ายรำและเชิญวิญญาณมาเข้าร่างเพื่อที่จะใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์รักษาผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้การแสดงดังกล่าวถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่แต่มีความหมายเปลี่ยนไป โดยมุ่งเน้นเพื่อความบันเทิงมากกว่าเป็นพิธีกรรม และเปลี่ยนมาใช้ผู้หญิงเป็นนักแสดง พร้อมๆกับร่างทรงและนักแสดงที่เป็นคนข้ามเพศค่อยๆหายไปจากวัฒนธรรมมาเลย์ ในสังคมมาเลย์ บุคคลที่มีพฤติกรรมข้ามเพศจะได้รับฉายาว่า “Pondan” ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่แสดงกิริยาท่าทางและแต่งกายเป็นหญิง บุคคลดังกล่าวนี้จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเตรียมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้เจ้าสาวและดูแลการจัดงานสมรส ชาวบ้านจะรู้ดีว่า Pondan จะเป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับการจัดงานแต่งงานให้กับหนุ่มสาว
ในประเทศไทย การแสดงออกในพฤติกรรมข้ามเพศพบเห็นได้ในการแสดงละครชาตรี โนรา ละครนอก ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น และจะใช้นักแสดงที่เป็นเพศชายล้วน ตัวละครที่เป็นหญิงจะแสดงโดยเพศชายจะสวบทบาทเป็นผู้หญิง ละครประเภทนี้แพร่หลายในหมู่ชาวบ้าน เป็นความบันเทิงที่ตอบสนองอารมณ์ชาวบ้าน เพราะผู้เล่นจะมีลีลาสนุกสนานและขบขัน ในภาคใต้ของไทย ละครชาตรีได้รับความนิยมมากซึ่งจะมีนักแสดงเพียง 3 ตัว คือ ตัวพระ ตัวนาง และตัวตลก ชีวิตของนักแสดงชายในคณะละครอาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน โดยเฉพาะนักแสดงที่รับบทเป็นผู้หญิงมักจะมีความสัมพันธ์กับนักแสดงชายหรือผู้ชาย เพราะผู้แสดงบทหญิงมักจะมีกิริยาท่าทางอ่อนหวานเหมือนผู้หญิง หรือเป็น “กะเทย” หลักฐานที่มีการบันทึกไว้ได้แก่สมัยรัชกาลที่ 3 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศซึ่งทรงดูแลกรมวัง พระองค์ทรงโปรดตัวละครนอกที่เล่นบทบาทเป็นหญิง และโปรดไปบรรทมด้วยเป็นประจำ
นอกจากนั้น ในงานมหรสพและงานวัดจะมีการจัดเวทีรำวง ซึ่งกะเทยมักจะเป็นนางรำเพื่อที่จะให้ผู้ชายมาเป็นคู่รำ ถ้ากะเทยคนไหนสวยก็จะได้รับความนิยมมาก เวทีรำวงเปิดโอกาสให้กะเทยแสดงออกได้อย่างอิสระ เช่น แต่งตัวเป็นหญิงได้เต็มที่ และแสดงความสนใจต่อเพศชาย การที่เอากะเทยมาเป็นสาวรำวง ก็เพราะไม่ต้องการให้เกิดการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้ชาย ถ้าเอาผู้หญิงมาเป็นนางรำวงแล้วอาจนำไปสู่การแย่งผู้หญิงและผู้ชายอาจชกต่อยกันทำให้เสียบรรยากาศ กะเทยจึงกลายเป็นผู้ควบคุมไม่ให้เกิดการทะเลาะวิวาทในงานมหรสพ พื้นที่ที่กะเทยสามารถแสดงตัวตนได้อิสระอีกพื้นที่หนึ่งคือ การประกวดนางฟ้าจำแลง ซึ่งเมื่อมีงานวัดหรืองานเทศกาลต่างๆ กะเทยทั้งหลายก็จะแต่งตัวอย่างสวยงามเพื่อเข้าประกวด
ตารางเปรียบเทียบคำเรียกท้องถิ่นของพฤติกรรมข้ามเพศ ในประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศ |
คำเรียกพฤติกรรมข้ามเพศ |
มาเลเซีย |
Pondan |
อินโดนีเซีย |
Waria, Banci, Calabai |
สิงคโปร์ |
Ah-qua |
พม่า |
Acault |
ฟิลิปปินส์ |
Bakla, Bayoguin, Asog |
ไทย |
Kathoey |
กัมพูชา |
Khteuy |
ความคิดเห็น