ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ความรู้เกี่ยวกับเพศทางเลือก

    ลำดับตอนที่ #6 : พื้นที่พิธีกรรมและศาสนา กับการแสดงพฤติกรรมข้ามเพศ

    • อัปเดตล่าสุด 3 ธ.ค. 55


    ในการศึกษาของโคลแมนและคณะ(1997) พบว่าในสังคมพม่ามีความเชื่อเรื่องวิญญาณ หรือ Nat ซึ่งมีมาก่อนความเชื่อของศาสนาพุทธ  กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในพม่ามีความเชื่อเรื่องวิญญาณและให้ความเคารพในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต โชคชะตาหรือความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวสัมพันธ์กับการให้คุณให้โทษจากวิญญาณ  เพราะวิญญาณมีอำนาจที่จะดลบันดาลให้บุคคลได้รับพรหรือการลงโทษ    วิญญาณที่สำคัญของพม่ามีมากถึง 37 วิญญาณ สิงสถิตย์อยู่ในธรรมชาติ ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ เป็นต้น    ดังนั้น การทำพิธีกรรมบูชาและบวงสรวงวิญญาณ หรือ Nat Pwe จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก  ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะจัดพิธีกรรมนี้เป็นประจำทุกปีในช่วงข้างขึ้นของเดือนสิงหาคม หรือธันวาคม    พื้นที่พิธีกรรมนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงและ “คนข้ามเพศ” ทำหน้าที่เป็นร่างทรงหรือผู้ที่ติดต่อกับวิญญาณ หรือ Nat Kadaw  สถานะของร่างทรงจึงเป็นสถานะพิเศษทางสังคมที่ได้รับการเคารพนับถือ  บุคคลที่มีพฤติกรรมข้ามเพศ โดยเฉพาะผู้ชายที่มีการแสดงออกแบบผู้หญิงจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมดังกล่าวนี้  ในสังคมพม่า บุคคลที่มีพฤติกรรมข้ามเพศรู้จักในนาม Acault หมายถึงผู้ชายที่แต่งตัวและแสดงกิริยาท่าทางเหมือนผู้หญิง  คนข้ามเพศในพม่าหลายคนจะเลือกทำหน้าที่เป็นร่างทรงโดยเชื่อว่าวิญญาณของสตรีชื่อ Manguedon จะมาเข้าฝันทำให้เกิดนิมิตว่าเจ้าแม่ต้องการให้เขาทำหน้าที่เป็นร่างทรง

                      ผู้ชายที่เป็น Acault ซึ่งได้รับการติดต่อจากเจ้าแม่ “มันกีดอน” จะต้องเข้าพิธีสมรสกับเจ้าแม่เป็นที่จะรับพลังอำนาจและทำหน้าที่เป็นร่างทรงในพิธีกรรมบางสรวงวิญญาณ พิธีสมรสกับเจ้าแม่คือสัญลักษณ์ทางสังคมที่ประกาศให้คนในครอบครัวและชาวบ้านรับรู้ว่าคนๆนี้ได้มีสถานะพิเศษที่สามารถติดต่อกับเจ้าแม่ที่ศักดิ์สิทธิ์ได้  เมื่อผ่านพิธีสมรสแล้ว บุคคลที่เป็น Accault จะร่วมงานเฉลิมฉลองนานถึง 3 วัน จากนั้นชาวบ้านก็จะรับรู้ว่าเขามีวิญญาณของเจ้าแม่(สตรี)สิงอยู่ ทุกคนจะให้ความเคารพและพวกเธอ (Acault) สามารถมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายโดยไม่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ในขณะที่ผู้ชายที่ร่วมประเวณีกับพวกเธอก็จะเชื่อว่าเขากำลังมีเพศสัมพันธ์กับวิญญาณของผู้หญิง   ในทางสังคม Accault จะได้รับการยอมรับและมักจะถูกเชิญจากเศรษฐีให้ไปประกอบพิธีกรรมบูชาวิญญาณซึ่งพวกเธอจะได้รับเงินค่าตอบแทนจำนวนมาก  ในพิธีกรรมติดต่อกับวิญญาณ บุคคลที่เป็น Acault จะแต่งตัวเป็นผู้หญิงในชุดที่สวยงามและทำท่าร่ายรำประกอบเสียงดนตรีที่มีจังหวะเร็วเร้าใจ  การร่ายรำนี้เป็นสัญญาณบอกว่าวิญญาณได้มาประทับร่างของเธอแล้ว เจ้าของบ้านที่จัดพิธีสามารถขอพรจากวิญญาณนั้นได้     อาจกล่าวได้ว่าตัวตนของ  Acault คือตัวตนของผู้หญิงที่ปรากฎอยู่บนสรีระของเพศชาย ซึ่งถือเป็นสภาวะพิเศษทางวัฒนธรรม   โลกของวิญญาณและพิธีกรรมบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพม่าจึงเปิดพื้นที่ให้คนข้ามเพศสามารถแสดงตัวตนได้ รวมไปถึงเปิดโอกาสให้คนข้ามเพศ (Acault) สามารถใช้ชีวิตเหมือนกับผู้หญิงที่อยู่กินกับผู้ชายในฐานะสามี

                      ในวัฒนธรรมของชาวบูกิส ชาวอีบัน ชาวนกาจู ดายัค ในเขตตอนใต้ของซูราเวสีของอินโดนีเซีย   มีการนับถือร่างทรงที่เป็นคนสองเพศ หรือ  รู้จักในนาม bissu   ผู้ที่เป็นร่างทรงจะมีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษและถือว่าเป็นสายตระกูลที่ได้รับการยกย่องทางสังคม มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมในราชสำนัก และติดต่อกับวิญญาณ (dewata) ในพิธีกรรมต่างๆ   ในวัฒนธรรมของชาวบูกิส มองว่าผู้ที่เป็นบิสซูจะมีสถานะพิเศษ ไม่ถือว่าเป็นชายหรือเป็นหญิง    การศึกษาของชารีน เกรแฮม(2006) อธิบายว่าวิธีคิดเรื่องเพศภาวะของชาวบูกิสได้แบ่งแยกการแสดงออกทางเพศของมนุษย์เป็น 5 ประเภท คือ ผู้ชาย (oroane)  ผู้หญิง (makunrai) ผู้หญิงที่ดูเหมือนชาย (calabai)  ผู้ชายที่ดูเหมือนหญิง (calabai) และผู้ที่เป็นทั้งชายและหญิง (bissu)   ผู้ที่มีเพศภาวะเป็นบิสซูจะถือว่ามีอำนาจวิเศษ มีพรสวรรค์ และมีทักษะในงานศิลปะด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในทางเพศสรีระจะพบว่าผู้ที่เป็นบิสซูจะเกิดมาเป็น “กะเทยแท้” คือมีอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งชายและหญิงในคนๆเดียว หรือเป็น Intersex ตามทฤษฎีทางการแพทย์  ในทางวัฒนธรรม   บิสซูจะมีการแสดงออกทางเพศทั้งหญิงและชาย มีการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของหญิงและชาย ซึ่งไม่ใช่การแต่งตัวตรงข้ามกับเพศสรีระในความหมายของ cross-dress  แต่เป็นการรวมสองเพศในคนๆเดียว นอกจากนั้น บิสซูยังมีสภาพเป็นทั้งมนุษย์และวิญญาณ เป็นการผสมรวมระหว่างโลกทางธรรมชาติกับโลกเหนือธรรมชาติ  โลกของชีวิตและโลกของความตาย

                      การดำรงเพศภาวะที่เป็นทั้งหญิงและชาย คือสถานะพิเศษที่ไม่เหมือนผู้ชาย หรือผู้หญิง  ชาวบูกิสจะให้การเคารพนับถือบิสซูเทียบเท่ากับเป็น “ผู้วิเศษ” หรือคนที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือเป็นเหมือนกับนักบวช หน้าที่ของบิสซูจึงเกี่ยวข้องกับการเป็นร่างทรง  ติดต่อกับวิญญาณ  และประกอบพิธีกรรมสำคัญๆ เช่น พิธีเพาะปลูก พิธีกรรมเกี่ยวการเกิด การตาย และการเปลี่ยนสถานะของบุคคล เมื่อบิสซูร่ายรำหรือท่องบทสวด อำนาจวิเศษจะดลบันดาลให้เกิดผลต่อชีวิต       ส่วนเพศภาวะแบบคนข้ามเพศ หรือ calabai  คือบุคคลที่มีเพศสรีระแบบหนึ่งแต่มีการแสดงออกตรงข้ามกับเพสสรีระ เช่น ชายแต่งหญิง หรือ หญิงแต่งชาย   ในวัฒนธรรมของชาวบูกิส เชื่อว่าคนข้ามเพศจะทำหน้าที่จัดพิธีแต่งงานให้กับบ่าวสาว หรือเป็นคนเตรียมงานสมรสให้กับผู้ที่จะแต่งงาน     อย่างไรก็ตาม   แต่หลังจากศาสนาอิสลามมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของชาวบูกิส ความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจวิเศษของบิสซูและบทบาทของคาลาไบ ก็ค่อยๆลดน้อยลง และสถานะของบิสซูก็กลายเป็นคนที่แปลกประหลาด

             ในประเทศฟิลิปปินส์ พฤติกรรมแต่งตัวข้ามเพศพบเห็นได้ในพิธีกรรม บุคคลที่แต่งตัวข้ามเพศจะได้รับการยอมรับและมีหน้าที่ประกอบพิธีกรรม เช่น เป็นร่างทรงติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เผ็นผู้ทำนายโชคชะตาราศี  เป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งทางสังคม  หมอรักษาโรค หรือเป็นหัวหน้าชุมชน   บุคคลเหล่านี้จะมีชื่อเรียก ได้แก่ bayoguin, bayok, agi-agin, asog, bido, binabae  คนพื้นเมืองในฟิลิปปินส์เชื่อว่าคนข้ามเพศเป็นผู้มีอำนาจวิเศษเพราะมีวิญญาณของชายและหญิงในเวลาเดียวกัน   เทพเจ้าของคนพื้นเมืองในเขตฟิลิปปินส์จะมีความเป็นชายและหญิงอยู่รวมกัน ได้แก่ เทพเจ้าบาทาล่าและมายารี ซึ่งได้รับการเคารพนับถือในหมู่คนข้ามเพศ  เช่นเดียวกับชนพื้นเมืองนกาจูดายัคบนเกาะบอร์เนียวนับถือเทพเจ้าชื่อ มหาตาลา-ชายา ซึ่งมีทั้งเพศหญิงและเพศชายอยู่ในร่างเดียว    ในชนเผ่าอีบันดายัค จะมีร่างทรงที่เป็นคนข้ามเพศ ซึ่งเรียกว่า manang bali  ผู้ชายที่จะกลายเป็นร่างทรงมักจะฝันว่าตนเองกลายเป็นหญิงและได้รับการติดต่อจากเทพเจ้าให้ทำหน้าที่เป็นร่างทรง     การศึกษาของการ์เซีย(2008) อธิบายว่าก่อนยุคอาณานิคม พฤติกรรมข้ามเพศ หรือการแสดงออกแบบชายแต่งหญิง (bayoguin หรือ asog) พบเห็นได้ทั่วไปในฟิลิปปินส์  แต่หลังจากที่ชาวสเปนได้เข้ามาปกครอง พฤติกรรมข้ามเพศกลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

                      ในอินโดนีเซีย การแสดงพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกันได้รับการยอมรับและมีรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและพิธีกรรม  การศึกษาของโอเตโมและอีมอนด์(1991) ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันรู้จักในนาม banci และwaria  ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ไม่เหมือนกับโฮโมเซ็กช่วลสมัยใหม่  พฤติกรรมของ banci และ waria เป็นพฤติกรรมข้ามเพศที่มีอยู่ในวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนพื้นเมือง (Offord and Cantrell, 2001, p.243.) คนกลุ่มนี้จะทำหน้าที่เกี่ยวกับการแสดง แต่ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่มองว่าคนกลุ่มนี้ทำงานขายบริการทางเพศ ทั้งๆที่ waria มีความหลากหลายในการทำงานด้านต่างๆ

                      การแสดงบทบาทข้ามเพศยังเกิดขึ้นในพิธีกรรมเปลี่ยนสถานภาพของบุคคล เช่น ในวัฒนธรรมเขมรจะมีพิธีที่เรียกว่า hau bralin เป็นพิธีเตรียมตัวให้เด็กชายเข้าสู่ศาสนา     การศึกษาของแอชลีย์ ทอมป์สัน(1996) อธิบายให้เห็นว่าก่อนที่เด็กชายจะบวชเป็นพระ จะต้องเปลี่ยนสถานะของตัวเองเป็น “นาค” สถานะดังกล่าวนี้จะอยู่ตรงกลางระหว่างการเป็นมนุษย์กับการเป็นพระ  สภาวะนี้จะทำให้บุคคลไร้ตัวตน สามารถที่จะแสดงบทบาทของคนข้ามเพศได้ เช่น แต่งตัวเป็นหญิง ช่วงเวลาของการบวชนาคจึงเป็นช่วงเวลาพิเศษที่ความเป็นชายและความเป็นหญิงสามารถเกิดขึ้นในตัวบุคคล การแต่งตัวเป็นหญิงของนาคจึงเป็นการสัญลักษณ์ของสภาวะคลุมเคลือและความศักดิ์สิทธิ์ ก่อนที่ผู้ชายจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นพระสงฆ์   ธรรมเนียมดังกล่าวนี้ยังพบในการบวชนาคของชาวมอญ ซึ่งก่อนบวชเป็นพระหนึ่งวันถือเป็นวัน “สุกดิบ” หรือเป็นวันที่ผู้ชายต้องบวชเป็นนาคและต้องแต่งกายแบบสตรี คือสวมผ้านุ่งและสไบสีสดใส พร้อมกับแต่งหน้าทาปากเหมือนผู้หญิง ทัดดอกไม้ที่หู ใส่ต่างหู สวมเครื่องประดับของสตรี จากนั้นจะมีขบวนแห่นาคไปทำพิธีเคารพเจ้าที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และฟังเทศน์ที่วัด พอถึงเวลากลางคือ นาคจะกลับมาบ้านเพื่อและทำขวัญนาค เรียกว่า “ตกเบ็ด” โดยจะมีอุปกรณ์ไม้ผูกติดกับสายสิญจน์ เหมือนเบ็ดตกปลา ปลายเบ็ดจะเป็นแหวน ญาติพี่น้องจะเข้ามานำเบ็ดไปแตะตามที่ต่างๆเพื่อให้รู้ว่านาคกำลังจะเป็นพระแล้ว รุ่งเช้านาคก็จะโกนผมและแห่นาคไปทำพิธีที่อุโบสถ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×