ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ความรู้เกี่ยวกับเพศทางเลือก

    ลำดับตอนที่ #5 : บริบทสังคมกับการเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    • อัปเดตล่าสุด 3 ธ.ค. 55


    การศึกษาพีเล็ตซ์ (2006)ได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อชาวยุโรปเดินทางเข้ามาติดต่อทางการค้าและเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ไปจนถึงยุคอาณานิคมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ดินแดนต่างๆในอุษาคเนย์ตกอยู่ใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคม ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์    การเข้ามาของชาวยุโรปทำให้เกิดท่าทีดูหมิ่ดูแคลนพฤติกรรมของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกัน เพราะศาสนาคริสต์ไม่ยอมรับพฤติกรรมดังกล่าว     สิ่งนี้เป็นความแตกต่างจากศาสนาอิสลามที่แพร่หลายในเขตหมู่เกาะ ซึ่งยอมรับในพฤติกรรมทางเพศของคนพื้นเมือง  ชาวยุโรปได้นำเอาวิธีคิดแบบตะวันตกมาสู่ดินแดนแถบนี้โดยผ่านระบบการค้า มิชชันนารี การเมืองและการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ทำให้เจ้าผู้ครองนครต่างๆต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของเจ้าอาณานิคม  วิธีคิดแบบตะวันตกนั้นถือเอาระบบรักต่างเพศเป็นใหญ่และให้อำนาจกับผู้ชายในฐานะเป็นผู้ควบคุมสั่งการเรื่องทางสังคม   เมื่อผู้ปกครองท้องถิ่นรับเอาวิธีคิดตะวันตกมาปฏิบัติ ส่งผลให้เกิดการควบคุมพฤติกรรมทางเพศของผู้คน  การแสดงพฤติกรรมของคนข้ามเพศ คนรักเพศเดียวกันในพื้นที่ทางวัฒนธรรมจึงกลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจและไม่ได้รับการยอมรับ  คนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันจึงถูกลดบทบาทและคุณค่าลง

                      การศึกษาเพศภาวะและเพศวิถีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การเข้ามาของศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ลัทธิอาณานิคม  แนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่  และระบบการเมืองการปกครองในคริสต์ศตวรรษที่20  ซึ่งล้วนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องเพศ และการควบคุมเพศด้วยกระบวนทัศน์แบบตะวันตก  พีเล็ตซ์ชี้ให้เห็นว่าหลังจากที่ชาวยุโรปเข้ามาในดินแดนแถบนี้ทำให้พื้นที่ทางวัฒนธรรมของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันหดหายไป และถูกแทนที่ด้วยบรรทัดฐานรักต่างเพศ  พื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เคยรองรับการแสดงบทบาทคนข้ามเพศ เช่น ในพิธีกรรมทางศาสนา และการบูชาวิญญาณ  ถูกให้คุณค่าใหม่ด้วยศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม สิ่งนี้ทำให้สถานะพิเศษและสภาวะศักดิ์สิทธิ์ของคนข้ามเพศสูญสิ้นไป  เมื่อวิธีคิดแบบตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้    สถานะของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันจะถูกมองเป็นเรื่อง “ผิดปกติ” หรือกลายเป็นเรื่อง “ทางโลก” ส่งผลให้กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกันต้องแสวงหาเครื่องมือใหม่ๆมาใช้ในการสร้างการยอมรับ  อย่างไรก็ตาม  เครื่องมือใหม่ๆนี้มาพร้อมกับวัฒนธรรมบริโภค ระบอบประชาธิปไตย และอุดมการณ์ของสิทธิมนุษยชน  พื้นที่ทางวัฒนธรรมเดิมที่สัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติค่อยๆเปลี่ยนไปสู่พื้นที่วัฒนธรรมใหม่ที่สัมพันธ์กับสินค้า บริการ แฟชั่น ไลฟสไตล์ และการเมืองเรื่องอัตลักษณ์   การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เป็นประสบการณ์เชิงลบที่มีต่อคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งผลผลิตของการตกอยู่ใต้ความคิดของตะวันตกที่แย่ที่สุดคือการที่สังคมออกกฎหมายลงโทษคนเหล่านี้ เช่น สังคมมาเลเซีย เป็นต้น

                      การให้คุณค่ากับการแสดงพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกัน ซึ่งปรากฎอยู่ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเรื่องที่ท้าทายความคิดแบบวิทยาศาสตร์ของตะวันตก เพราะการให้คุณค่าต่อพฤติกรรมทางเพศดังกล่าวมาจากวิธีคิดเรื่องเพศและตัวตนของมนุษย์ ซึ่งผู้คนในอุษาคเนย์มองว่ามนุษย์ต้องเคารพธรรมชาติ  ธรรมชาติเปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถให้คุณให้โทษแก่ชีวิตมนุษย์ได้  การยอมรับสถานะของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันจึงเป็นการแสดงความเคารพต่ออำนาจเหนือธรรมชาติที่มีวิญญาณสิงสถิตย์อยู่ เพราะคนข้ามเพศเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจวิเศษและวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์     วิธีคิดเหล่านี้บ่งบอกให้ทราบว่า ผู้คนในดินแดนแถบนี้มองชีวิตเป็นองค์รวม  กล่าวคือ มนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ มองเห็นสิ่งต่างๆในโลกธรรมชาติว่าเป็นสภาวะศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์ต้องกราบไหว้บูชา   หลังจากที่ความคิดเหล่านี้หายไปพร้อมกับการให้คุณค่าต่อสถาบันรักต่างเพศและอำนาจชายเป็นใหญ่  ส่งผลให้ความสัมพพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติของผู้คนในแถบนี้เปลี่ยนแปลงไป  เพราะธรรมชาติกลายเป็น “วัตถุ” ที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ มิติทางจิตวิญญาณของธรรมชาติหดหายไป  เช่นเดียวกับคุณค่าของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันที่ถูกทำลายไปภายใต้ทฤษฎีเพศแบบชีววิทยาและจิตเวชศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20

                      นอกจากนั้น การทำความเข้าใจวิธีคิดเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีในอุษาคเนย์ จำเป็นต้องทำความเข้าใจวิธีการจัดจำแนกเพศของมนุษย์ สิ่งมีชีวิต และอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งต่างไปจากวิธีคิดแบบตะวันตกที่แยกเพศสรีระเป็นเพียงสองแบบ คือชายและหญิงเท่านั้น      การศึกษาทางมานุษยวิทยาในดินแดนแถบนี้พบว่า ผู้คนให้นิยามและจัดแบ่งเพศที่มากกว่าชายหญิง โดยเฉพาะการจัดให้คนสองเพศ หรือคนข้ามเพศมีพื้นที่ของตัวเอง     สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความเป็นชายและความเป็นหญิงไม่ได้ผูกติดอยู่กับอวัยวะเพศ กล่าวคือ คนข้ามเพศ หรือคนสองเพศสามารถแสดงความเป็นชายและหญิงได้ในเวลาเดียวกัน สิ่งนี้เป็นความยืดหยุ่นของการมองเพศภาวะที่แยกจากเพศสรีระ และทำให้คนข้ามเพศสามารถยืนยันบทบาททางเพศของตนได้ชัดเจนขึ้นและมีความปลอดภัยที่จะแสดงบทบาททั้งชายและหญิงในพื้นที่สาธารณะ       ตรงข้ามกับความรู้ตะวันตกที่พยายามนำเอาเพศภาวะไปรวมอยู่กับเพศสรีระ ซึ่งมีผลทำให้บุคคลที่แสดงเพศภาวะไม่ตรงกับเพศสรีระไม่สามารถแสดงออกทางเพศในแนวทางของตนเองได้ และกลายเป็นคนที่ “เบี่ยงเบน” และไม่ได้รับการยอมรับ   นอกจากนั้น วิธีคิดเรื่องเพศในเอเชียอาคเนย์ สนใจเรื่องบทบาทหน้าที่มากกว่าอารมณ์ความรู้สึกทางเพศ    ดังนั้น การจำแนกเพศของบุคคลจึงเกิดจากการแสดงความเป็นหญิงชายที่สัมพันธ์กับบทบาททางสังคม  โดยไม่สนใจว่าบุคคลนั้นจะมีเพศวิถีแบบไหน ไม่ว่าจะชอบเพศเดียวกันหรือต่างเพศ   มีการตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิด Homosexuality และ Transgenderism เป็นแนวคิดของตะวันตกซึ่งต่างไปจากวิธีคิดเรื่องของคนที่อาศัยอยู่ในที่อื่นๆ  เช่นเดียวกับผู้คนในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีวิธีคิดเรื่องเพศต่างไปจากตะวันตก กล่าวคือ การแสดงพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกันไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอัตลักษณ์ แต่เป็นการแสดงบทบาทที่สัมพันธ์กับสถานะทางสังคมและบริบทความเชื่อ ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายให้เห็นในลำดับต่อไป

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×