คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #4 : ความเข้าใจเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บทความของไมเคิล พีเล็ตซ์(2006) ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาเพศภาวะ (gender) และเพศวิถี (sexuality) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงที่ผ่านมามักจะสนใจประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และมักจะใช้แนวคิดสตรีนิยมมาศึกษาประสบการณ์ของผู้หญิงโดยมองข้ามประสบการณ์ของผู้ชาย ทั้งนี้ นักวิชาการที่สนใจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะนำประเด็นเรื่อง “เพศภาวะ” ไปเป็นตัวแทนของการศึกษาผู้หญิง (รักต่างเพศ) จนทำให้มองไม่เห็นเพศภาวะแบบอื่นๆที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้ พีเล็ตซ์จึงพยายามเปิดพื้นที่ในการมองเรื่องเพศในดินแดนแถบนี้โดยนำความคิดเรื่อง พหุลักษณ์ของเพศภาวะ (gender pluralism) มาเป็นแนวทางในการมองมิติวัฒนธรรมของเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีของผู้คนในอุษาคเนย์ ความคิดดังกล่าวจะช่วยให้เข้าใจถึงความหลากหลายในการแสดงออกทางเพศซึ่งไม่ใช่มีเพียงผู้หญิงหรือผู้ชายเท่านั้น
การศึกษาของพีเล็ตซ์ได้ย้อนกลับไปถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งผู้คนในดินแดนแถบนี้ยึดความเชื่อทางศาสนาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต ความเชื่อทางศาสนาเกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น วิญญาณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์และเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่สิงสถิตย์อยู่ในธรรมชาติ ความเชื่อเหล่านี้ได้เปิดพื้นที่ในการแสดงออกทางวัฒนธรรมให้กับคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนข้ามเพศ ที่มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมและติดต่อกับวิญญาณ สถานะของคนข้ามเพศจึงเป็นสภานะศักดิ์สิทธิ์เพราะอยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นชายและความเป็นหญิง เรื่องทางโลกกับเรื่องทางศาสนา และ ภาวะทางวัตถุกับภาวะทางจิตวิญญาณ การศึกษาเรื่องคนข้ามเพศ หรือคนที่ไม่ได้จัดอยู่ในเพศหญิงหรือเพศชาย เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเข้าใจแบบข้ามวัฒนธรรม Ramet (1996) เคยชี้ให้เห็นว่าสังคมที่ให้ความสำคัญกับเพศภาวะ มักจะจัดแบ่งมนุษย์ออกเป็นกลุ่มๆตามพฤติกรรมที่แสดงออก การศึกษาเรื่องนี้มักจะพูดถึง gender culture ที่มองว่าเพศภาวะของมนุษย์เป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น สังคมจะมีวิธีการนิยามเพศภาวะของบุคคลโดยดูจากการแสดงพฤติกรรมทางสังคม นักวิชาการบางคนเรียกว่า gender code และ gender ideology เพื่ออธิบายพฤติกรรมทางเพศที่มีแบบแผน หรือถูกควบคุมจัดระเบียบภายในสถาบันทางสังคม เช่น ครัวเรือน ศาสนา การเมือง ความเชื่อ เป็นต้น ดังนั้นในแต่ละสังคมจึงไม่จำเป็นต้องมีระบบการจัดจำแนกเพศภาวะเหมือนกัน
ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีวัฒนธรรมหลายแห่งที่แบ่งเพศภาวะมากกว่าชายหญิง ซึ่งมีการแยกบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ชายและผู้หญิงไว้เป็นอีกจำพวกหนึ่ง เช่น คนแต่งตัวข้ามเพศ (cross-dressing) คนที่มีเพศภาวะแบบนี้มักจะปรากฎตัวในบริบทของความเชื่อทางศาสนา และมีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมและติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บางสังคม คนที่มีเพศภาวะแบบนี้ปรากฎอยู่ในพื้นที่การแสดงและละคร เป็นผู้ให้ความบันเทิงเริงรมย์ และทำงานเกี่ยวกับความสวยงาม Ramet(1996)อธิบายว่าหน้าที่ทางสังคมของคนข้ามเพศ หรือคนที่มีสองเพศ ได้แก่การรักษาระเบียบของสังคมเพราะคนข้ามเพศสามารถทำงานแบบชายและหญิงได้ หากสังคมต้องการแรงงานจากผู้ชาย คนข้ามเพศก็จะไปทำงานแทนได้ ในการศึกษาของโบลิน(1996) พบว่ารูปแบบของคนข้ามเพศที่พบเห็นในแต่ละวัฒนธรรม
อาจแบ่งได้เป็น 5 รูปแบบ คือ 1) คนข้ามเพศเพราะปัจจัยทางเพศสรีระ หรือคนที่เกิดมามีระบบสืบพันธุ์ทั้งชายและหญิง (Hermaphroditic Genders) คนกลุ่มนี้เกิดมามีเพศสรีระที่คลุมเคลือ ซึ่งสังคมจะมองว่าเป็นคนพิเศษและมีอำนาจวิเศษ เมื่อเกิดมามักจะถูกเลี้ยงให้เป็นเด็กผู้หญิง แบบที่ 2 คือ Two-Spirit หมายถึงบุคคลที่แสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับเพศสรีระ เช่น เพศชายแต่งตัวเป็นหญิงและมีเพศสัมพันธ์กับเพศชาย ในการศึกษาทางวัฒนธรรมพบว่า เพศภาวะแบบข้ามเพศเป็นบทบาทที่เพิ่มให้กับชายหญิง ซึ่งอาจจะมีการแสดงพฤติกรรมข้ามเพศได้ แบบที่ 3 Cross-Gender หมายถึงหญิงชายที่แสดงออกตรงข้ามกับบทบาททางสังคม โดยไม่จำเป็นต้องแต่งตัวข้ามเพศ เช่น ผู้ชายที่อ่อนหวานและมีจิตใจอ่อนแอ ผู้หญิงที่แข็งแรงและมีจิตใจห้าวหาญ แบบที่ 4 คือ Woman-Marriage /Boy -Marriage หมายถึง การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันซึ่งอาจไม่มีเรื่องเซ็กส์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การแต่งงานแบบนี้จะเกิดขึ้นในสังคมที่ผู้หญิงเป็นหมันและไม่สามารถมีลูกได้ หรือสังคมที่มีผู้หญิงน้อย ผู้ชายจึงจับคู่กัน โดยฝ่ายหนึ่งจะมีอายุมากกว่า อีกฝ่ายหนึ่งอายุน้อยกว่า แบบที่ 5 คือ Cross-Gender Ritual หมายถึง การแสดงพฤติกรรมข้ามเพศเฉพาะเมื่ออยู่ในพิธีกรรม เช่นชายแต่งหญิง หญิงแต่งชาย การแสดงออกแบบนี้จะเป็นสภาวะก่ำกึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์เมื่ออยู่ในพิธีกรรม รูปแบบของคนข้ามเพศนี้เป็นเพียงการแบ่งอย่างหยาบๆ และยังมีความคิดเห็นที่หลากหลายของนักวิชาการเกี่ยวกับการจัดประเภทของคนข้ามเพศ อย่างไรก็ตาม รูปแบบดังกล่าวนี้ก็อาจช่วยทำให้เห็นลักษณะของคนข้ามเพศ และการจัดแบ่งเพศภาวะที่อยู่ในเอเชียอาคเนย์ได้ชัดเจนขึ้น
ส่วนการศึกษาเรื่องคนรักเพศเดียวกัน นักมานุษยวิทยาได้จัดประเภทของความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ 1) ความสัมพันธ์ที่มาจากโครงสร้างอายุ โดยในช่วงที่ยังเป็นวัยรุ่น บุคคลจะมีความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน แต่เมื่ออายุมากขึ้นจะแต่งงานมีครอบครัวทำหน้าที่พ่บ้านและเป็นสามีของภรรยา แบบที่ 2 คือ ความสัมพันธ์ที่เกิดจากหน้าที่การงาน โดยที่บุคคลสามารถมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันได้ เช่น ร่างทรง หรือโสเภณี แบบที่ 3 คือ การเป็นคนข้ามเพศซึ่งมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันผ่านการนิยมบทบาทการเป็นฝ่ายรุกและฝ่ายรับ แบบที่ 4 การแสดงบทบาทแบบเท่าเทียมกัน เช่น เกย์ในสังคมตะวันตกที่แต่ละฝ่ายไม่มีความแตกต่างของอายุหรือเพศภาวะ รูปแบบนี้เป็นผลผลิตของสังคมสมัยใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ตาม รูปแบบความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันนี้อาจแยกไม่ได้ง่ายๆเหมือนกับทฤษฎีที่วางไว้ เพราะหลายๆวัฒนธรรม บุคคลอาจแสดงความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันภายใต้เงื่อนไขที่ซับซ้อน (Sullivan, 2001)
ความคิดเห็น