คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : พื้นที่ทางวัฒนธรรมของคนข้ามเพศ และคนรักเพศเดียวกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเขตที่มีกลุ่มวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ที่แตกต่างหลากหลายทั้งในเขตพื้นทวีปและเขตมหาสมุทร กลุ่มคนแต่ละกลุ่มจะมีขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อของตนเองซึ่งสัมพันธ์กับการแสดงออกทางเพศ การแสดงบทบาทชาย หญิง และสถานะทางสังคมของบุคคล เรื่องที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มคนในภูมิภาคนี้คุ้นเคยกับการแสดงออกแบบ “ข้ามเพศ” หรือ พฤติกรรมของบุคคลที่แสดงบทบาททางเพศตรงข้ามกับเพศสรีระหรือเพศกำเนิด เช่น ผู้ชายแสดงบทบาทและอารมณ์ความรู้สึกแบบผู้หญิง แต่งตัวเป็นหญิง ทำหน้าที่เหมือนกับสตรี พฤติกรรมดังกล่าวนี้พบได้ในหลายกลุ่มและได้รับการยอมรับทางสังคม เช่น อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ก่อนที่จะมีความคิดเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีแบบตะวันตกซึ่งเข้ามาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 กลุ่มคนในภูมิภาคนี้ยอมรับการแสดงพฤติกรรม “ข้ามเพศ” แต่หลังจากที่อิทธิพลความรู้แบบตะวันตกแพร่เข้ามา ผู้ปกครองในดินแดนแถบนี้เริ่มนำเอาวิธีคิดเรื่องเพศแบบตะวันตกมาอธิบายและควบคุมการแสดงบทบาททางเพศของหญิงชาย ส่งผลให้การแสดงพฤติกรรม “ข้ามเพศ” กลายเป็นสิ่งที่แปลกแยกจากสังคม
บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า วิธีคิดและโลกทัศน์เรื่องเพศที่ปรากฎอยู่ในท้องถิ่นของกลุ่มคนต่างๆในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แตกต่างไปจากวิธีคิดเรื่องเพศแบบวิทยาศาสตร์ของตะวันตกที่แพร่หลายเข้ามาในยุคอาณานิคมและการแสวงหาผลประโยชน์ของคนผิวขาวในช่วงหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมา อิทธิพลความรู้แบบตะวันตกมีผลต่อความคิดของคนท้องถิ่นในหลายเรื่อง และเรื่องเพศก็เป็นเรื่องหนึ่งที่คนท้องถิ่นได้ซึมซับเอาวิธีคิดแบบคนผิวขาวผ่านการพัฒนาสมัยใหม่ โดยเฉพาะการศึกษาแบบตะวันตกได้เผยแพร่ความคิดเรื่องเพศในเชิงวิทยาศาสตร์ไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ คนชั้นกลาง และคนเมือง ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆของเอเชียอาคเนย์ พลเมืองรุ่นใหม่จึงเติบโตมาพร้อมกับวิธีคิดแบบ “ฝรั่ง” และนำเอาทัศนคติและวิธีคิดเรื่องเพศแบบตะวันตกมาเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิต เช่น การยกย่องสถาบันครอบครัวของรักต่างเพศ การให้คุณค่ากับระบบผัวเดียวเมียเดียว การควบคุมพฤติกรรมทางเพศของสตรี เด็ก และคนชรา และการปฏิเสธการแสดงออกทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศสรีระ เช่น พฤติกรรมข้ามเพศของกะเทย เป็นต้น
การย้อนกลับไปทบทวนวิธีคิดเรื่องเพศของคนกลุ่มต่างๆในดินแดนแถบนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้เข้าใจว่าความรู้สึกรังเกียจหรือการมีอคติต่อคนข้ามเพศและการแสดงพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศสรีระเป็นผลผลิตทางสังคมที่เกิดขึ้นมาภายหลัง บุคคลที่มีพฤติกรรมข้ามเพศและมีความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันค่อยๆกลายเป็น “ตัวประหลาด” หรือถูกมองว่า “ผิดปกติ” หลังจากที่รัฐสมัยใหม่นำเอาบรรทัดฐานเรื่องเพศแบบตะวันตกมาใช้ควบคุมพฤติกรรมทางเพศของพลเมืองของตน ปฏิบัติการของรัฐชาติและการพัฒนาแบบตะวันตกได้เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องเพศของคนท้องถิ่นไปจากเดิม ส่งผลให้พื้นที่การแสดงออกทางสังคมและวัฒนธรรมของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันแคบลงเรื่อยๆ และกลายเป็นเป้าโตมตีจากผู้ปกครองที่พยายามปฏิเสธการแสดงพฤติกรรมทางเพศที่ไม่สอดคล้องกับความรู้วิทยาศาสตร์ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน จะเห็นการรวมตัวของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน (เกย์ เลสเบี้ยน) คนข้ามเพศ (กะเทย สาวประเภทสอง) เพื่อออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง สิ่งนี้เป็นปรากฎการณ์สมัยใหม่ที่สะท้อนให้เห็นว่าความคิดเรื่องเพศเกี่ยวข้องกับสิทธิทางสังคมและวัฒนธรรม เมื่อกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศต่างไปจากชายหญิงต้องการให้สังคมยอมรับหรือให้สิทธิแก่พวกเขามากขึ้น สังคมก็จำเป็นต้องทบทวนว่าการรังเกียจหรือการเลือกปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นนำไปสู่การละเมิดความเป็นมนุษย์อย่างไรบ้าง
การทำความเข้าใจสถานการณ์การเรียกร้อสิทธิของเกย์ กะเทย และเลสเบี้ยนในปัจจุบัน จำเป็นต้องมองดูบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนยุคอาณานิคมมาจนถึงยุคโลกาภิวัตน์ของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารสมัยใหม่ ในแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มเกย์ กะเทย เลสเบี้ยนมีการรวมตัวและแสดงตัวตนที่ต่างกัน กลุ่มคนเหล่านี้อาศัยพื้นที่ทางวัฒนธรรมในการแสดงออก ขณะเดียวกันก็อาศัยความคิดสมัยใหม่เรื่องสิทธิมนุษยชนและการสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มเพื่อขับเคลื่อนทางสังคม อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกันองค์กรของคนเหล่านี้ก็จำเป็นต้องเรียนรู้บริบททางวัฒนธรรมของตนเองที่เคยให้พื้นที่กับการแสดงพฤติกรรม “ข้ามเพศ” และ “รักเพศเดียวกัน” เพื่อที่จะทำความเข้าใจวิธีคิดเรื่องเพศที่เคยปรากฎอยู่ในท้องถิ่น และเปรียบเทียบวิธีคิดแบบตะวันตกที่มาทีหลัง ถึงแม้ว่ารูปแบบและแนวทางการต่อสู้เรื่องสิทธิของเกย์ กะเทย และเลสเบี้ยนในปัจจุบันจะได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่องค์กรเกย์ กะเทย เลสเบี้ยนควรจะนำเอาพื้นที่ทางวัฒนธรรมของตนเองมาเป็นกระจกสะท้อนการแสดงตัวตนทางเพศร่วมสมัย เพื่อมองหาลักษณะเฉพาะและความเป็นสากลของการยอมรับและเห็นคุณค่าของบุคคลที่มีพฤติกรรม “ข้ามเพศ” และรักเพศเดียวกัน
ความคิดเห็น