คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #15 : Queer Theory
โดย อ.ปีเตอร์ แจ็คสัน
เรียบเรียง โดย ปลั๊กกิโกะ
อาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ กล่าวหลังอาจารย์ปีเตอร์บรรยายจบในงานเสวนาวันที่ 5 มกราคม 2550 ว่าเลค เชอร์ของอาจารย์ปีเตอร์ เป็นเลคเชอร์เรื่อง Queer Theory ที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปี ที่อาจารย์เคยได้ยินมาในเมืองไทย
ในที่นี้จึงขอสรุปเลคเชอร์นี้ สำหรับคนที่พลาดโอกาสไปฟังอาจารย์ปีเตอร์ในวันนั้น ชื่องานเสวนาเต็ม ๆ มีว่า “แนวความคิดหลักใน Queer Theory และประเด็นที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย” งานนี้กลุ่มอัญจารีจัดร่วมกับโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ในเวลาสั้น ๆ อาจารย์ปีเตอร์ได้อธิบายถึงที่มาที่ไปของ Queer Theory, อาจารย์ 3 ท่านที่มีอิทธิพลต่อทฤษฎีนี้และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย
ที่มาที่ไป
Queer Theory เป็นแนวคิดที่เพิ่งเริ่มเมื่อ 10-15 ปีมานี้เองที่อเมริกา ก่อนหน้านั้นมีการศึกษาวิเคราะห์เรื่องเกย์ เลสเบี้ยน ไบ และทรานสเจนเดอร์มาอยู่แล้ว ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นคลื่นลูกแรก คลื่นลูกนี้เริ่มสักประมาณทศวรรษที่ 70 แนวคิดหลักคือ ถือว่าอัตลักษณ์ (Identity) เป็นสิ่งที่ตายตัวตลอดกาลไม่มีเปลี่ยนแปลง (Essentialism) เป้าหมายการวิจัยคือค้นหาหลักฐานที่ถูกปกปิดอยู่ทั้งหลาย มาสนับสนุนว่าความเป็นเกย์นั้นมีมาตลอดประวัติศาสตร์ เช่น มีเกย์ในยุคกรีก ยุคโรมัน
แต่วิธีการเช่นนี้ก็ใช้ไม่ค่อยได้นักในบางสาขาวิชา เช่น ในมานุษยวิทยา ตัวอย่างหนึ่งก็เช่น ในงานวิจัยของ Gilbert Herdt ซึ่งทำการศึกษาชนเผ่าแซมเบีย บนเกาะนิวกีนี เมื่อ 30 ปี ที่แล้ว ในชนเผ่านี้เด็กผู้ชายทุกคนก่อนที่จะเป็นผู้ชายเต็มตัวได้ ต้องมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายและกินน้ำอสุจิของผู้ชายก่อนที่จะเป็นผู้ชายแท้ ๆ ดังนั้นผู้ชายทุกคนจึงมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ แต่ผู้ชายเผ่านี้ไม่ได้ถือว่าตัวเองเป็นเกย์ อัตลักษณ์ของพวกเขานั้นเป็นสามี เป็นนักล่า แต่ไม่ได้มีอัตลักษณ์เป็นเกย์
ดังนั้นแล้วความคิดที่ว่าเกย์เป็นอัตลักษณ์ที่มีอยู่ตลอดประวัติศาสตร์ ในทุกสังคมทั่วโลก จึงไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่าเป็นจริง เลยมีการปรับปรุงแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ แนวคิดใหม่ถือว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนตามเวลา แล้วแต่สังคม วัฒนธรรมภายนอก หรือพูดได้ว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งประกอบสร้าง (Constructionism) Queer Theory ซึ่งถือว่าเป็นคลื่นลูกที่ 2 ได้ยึดเอาแนวคิดนี้เป็นแนวคิดหลัก ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่ขัดแย้งกับแนวคิดของคลื่นลูกแรก
อีกสิ่งหนึ่งที่คลื่นลูกที่ 2 ปรับปรุงจากคลื่นลูกแรกก็คือ คนรุ่นใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 90 รู้สึกว่า Gay/Lesbian Studies ของคลื่นแรก เน้นที่กลุ่มเฉพาะคือ คนขาว, ชนชั้นกลาง, อเมริกัน, เกย์ผู้ชาย โดยเฉพาะในนิวยอร์ค ซานฟรานซิสโก และมองข้ามกลุ่มคนอื่นๆ คลื่นลูกที่สองจึงมีการปรับปรุงให้รวมคนกลุ่มอื่น ๆ มากขึ้น เช่น คนผิวสี, คนชั้นกรรมาชีพ, คนที่ไม่ใช่อเมริกัน, และหญิงรักหญิง
การวิจัยของคลื่นลูกที่สองจึงเน้นว่า อัตลักษณ์เป็นสิ่งประกอบสร้าง ไม่ตายตัว และขยายขอบเขตการวิจัยให้ครอบคลุมคนที่ไม่ใช่คนขาวเท่านั้น คนรุ่นนี้เห็นว่า Gay/Lesbian Studies เชยแล้ว เป็นความคิดของคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ก็หาอัตลักษณ์ใหม่ๆ โดยเลือกใช้คำว่า “Queer”
“Queer” เป็นคำอังกฤษโบราณ ซึ่งแปลว่า แปลก พิลึก เพี้ยน ต้นศตวรรษที่ 20 ที่อเมริกาและอังกฤษใช้คำนี้เรียกคนรักเพศเดียวกันและคนที่แต่งตัวข้ามเพศ นัยของคำสื่อถึงการดูถูก เป็นคำที่แรง คนรุ่นใหม่เลือกที่จะใช้คำที่ดูถูกอย่างแรงนี้มาเป็นสัญลักษณ์
ถ้าจะแปล Queer Theory เป็นไทยให้ได้ความรู้สึกเดียวกัน อาจจะใช้คำว่า “ลักเพศวิทยา” หรือ “วิปริตวิทยา” หรือ “วิตถารศึกษา”
อาจารย์ที่เป็นคลื่นลูกแรกฟังคำนี้แล้วก็รับไม่ได้ แต่คนรุ่นใหม่บอกว่า นี่เป็นคำที่แสดงความคิดแนวใหม่ เอาความหมายแง่ลบมาทำเป็นบวก เป็นยุทธศาสตร์ทางภาษา
อาจารย์ 3 ท่านที่มีอิทธิพลต่อทฤษฎีนี้
Queer Theory ไม่ได้มีทฤษฎีเดียว ซึ่งน่าจะคล้าย ๆ กับความคิดหลังโครงสร้างนิยม คือเป็นเหมือน “หีบ” ที่ใส่วิธีวิทยาและแนวคิดหลาย ๆ อย่างเอาไว้ ให้เราหยิบเอามาใช้ แนวคิดต่าง ๆ ที่อยู่ในนี้เป็นทางเดียวกันบ้าง บางทีก็ขัดแย้งกันบ้าง ในที่นี้จึงแนะนำอาจารย์ 3 ท่านที่มีอิทธิพลยิ่งต่อ Queer Theory จาก 3 สาขาวิทยาที่แตกต่างกัน จะได้เห็นการนำไปใช้ที่หลากหลาย อาจารย์ทั้ง 3 คือ
1 Eve Kosofsky-Sedgwick
หนังสือสำคัญของอาจารย์ท่านแรกนี้คือ “Epistemology of the Closet” ซึ่งฟังยากและแปลกมาก เพราะ epistemology เป็นคำปรัชญา แต่ closet เป็นคำชาวบ้าน หมายถึงเกย์เลสเบี้ยนที่ไม่เปิดตัว แปลเป็นไทยจะคล้าย ๆ คำว่า “แอบจิต” ถ้าจะแปลชื่อหนังสือนี้เป็นไทยให้ได้ความรู้สึกเดียวกับภาษาอังกฤษ อาจแปลได้ว่า “ญาณวิทยาของแอบจิต”
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของ Queer Studies ที่อาจารย์ชอบเล่นคำตลอดเวลา บางครั้งทำให้หนังสืออ่านยากมาก เพราะไม่รู้ว่าคนเขียนกำลังพูดจริงหรือพูดเล่น หนังสือของอาจารย์ทั้ง 3 ท่านนี้อ่านยากมาก แม้จะเป็นเจ้าของภาษาอ่านก็ตาม แต่แนวคิดหลักไม่ยากเท่าไร
Sedgwick เป็นอาจารย์ด้านวรรณคดี สนใจ Canon ของวรรณคดีอังกฤษ ซึ่งก็คือวรรณคดีหลัก ๆ ในวัฒนธรรม เช่น ของเช็คสเปียร์ หรือ ดิคเคน Sedgwick สนใจว่ามีความคิดใดที่สังคมสมัยใหม่ไม่ยอมรับแฝงอยู่ในข้อความหรือไม่ และความคิดเหล่านี้เป็นเรื่องที่สังคมไม่อยากพูดถึง เช่น เชคสเปียร์พูดถึงเรื่องโสเภณีและเรื่องเพศอย่างเปิดเผย เพราะว่าในสมัยนั้นอาจเห็นเป็นเรื่องเปิดเผย แต่คนสมัยนี้ไม่กล้าพูด
Sedgwick สนใจเอาความคิดแอบแฝงเช่นนี้มาเปิดเผย โดยเฉพาะเรื่องคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งสมัยนี้เป็นสิ่งที่น่าอาย แต่เขาขุดออกมาเปิดเผย คำว่า Epistemology นี้อาจแปลง่าย ๆ ว่าขุด คือขุดสิ่งที่ถูกปกปิดออกมาเปิดเผย
อีกแนวคิดหนึ่งที่ Sedgwick ใช้คือ “แนวคิดการรื้อสร้าง” (Deconstructionism) แนวคิดนี้บอกว่าในวาทกรรมกระแสหลักมีแนวคิดที่เป็นคู่ตรงข้าม (Binary Pairs) อยู่ เช่น ตะวันออก-ตะวันตก ขาว-ดำ คนรักต่างเพศ-คนรักเพศเดียวกัน ซึ่งความเป็นคนรักต่างเพศนั้นในกระแสหลักเป็นบวก มีอำนาจ ส่วนคนรักเพศเดียวกันต้องเป็นลบและอยู่ใต้ดิน
Sedgwick ใช้แนวคิดคู่เช่นนี้มาวิเคราะห์วรรณกรรมหลักต่าง ๆ ถ้าเทียบกับในสังคมไทย เราอาจเอาเรื่องสี่แผ่นดิน หรือขุนช้างขุนแผน มาหาแนวคิดเรื่องกะเทย หรือเรื่องคนรักเพศเดียวกันในนั้น การทำเช่นนี้เรียกว่า Queering the Canon โดยคำว่า Queer ในที่นี้เป็นคำกริยา แปลว่า หาหลักฐาน (เช่น เรื่องคนรักเพศเดียวกัน) ที่ถูกปกปิดเอาไว้จากกระแสหลัก
2 Judith Butler
งานของ Butler นั้นอ่านยากมาก จนลูกศิษย์ของเธอให้รางวัลแซวเธอว่าเป็น “ผู้เขียนบทความที่อ่านไม่ออกมากที่สุดในโลก” Butler นั้นเป็นอาจารย์ด้านปรัชญาและสนใจสตรีนิยมสมัยใหม่ เธอสนใจอัตลักษณ์เป็นหลัก งานสำคัญของอาจารย์ท่านนี้คือ “Bodies That Matter” ซึ่งชื่อหนังสือก็เป็นการเล่นคำเช่นกัน แปลตรง ๆ ได้ว่า “ร่างกายที่สำคัญ” แต่ matter ยังสามารถแปลว่า “สสาร” ก็ได้ นี่มาจากแนวคิดหลักของหนังสือว่า อัตลักษณ์ไม่ได้อยู่ภายในตลอดเวลา แต่เป็นการประกอบสร้างจากสิ่งภายนอกที่อยู่รอบตัว มาจากสสารหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา
ความคิดสำคัญเรื่องหนึ่งของอาจารย์ท่านนี้คือ Performativity คำนี้มาจากคำว่า perform แปลว่าการกระทำ performativity หมายถึงอัตลักษณ์ประกอบสร้างจากการกระทำของเรา ซึ่งการกระทำไม่ได้ลอยอยู่เฉย ๆ แต่ต้องอยู่ในกรอบวัฒนธรรมที่เราอยู่ตลอด และการกระทำก็จะค่อย ๆ สร้างอัตลักษณ์ของเรา ยกตัวอย่างเช่น คนไทยไหว้ ถ้า อาจารย์ Butler มาเมืองไทย อาจจะเสนอว่า ความรู้สึกความเป็นคนไทยไม่ได้มาจากการแสดงออกของวิญญาณคนไทยเท่านั้น แต่เด็กไทยถูกสอนมาให้ทำ คือถูกสอนว่าคนระดับต่ำต้องไหว้คนระดับสูงกว่า และต้องทำตลอดมา นี่แหละจะสร้างความรู้สึกของการเป็นคนไทยไปด้วย
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ภาษาไทยมีสรรพนามเยอะมาก ซึ่งต้องรู้จักความแตกต่างระหว่างคนที่พูดด้วย กว่าที่จะเอ่ยถึงสรรพนามได้ คนไทยที่ไม่รู้จักกัน เจอกันครั้งแรกต้องพยายามดูว่าใครพี่ใครน้อง บางทีถามตรง ๆ ไม่ได้ก็ต้องอ้อมไปเรื่องอื่น ๆ เช่น ถามว่าเกิดวันไหน นี่เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นโครงสร้างวัฒนธรรมไทยที่อยู่ในภาษาด้วย ในกรณีนี้อาจารย์ Butler เสนอว่า การพูดเป็นการกระทำประเภทหนึ่ง การพูดไม่ได้เกี่ยวกับวิญญาณหรือสมองอย่างเดียว เราใช้ร่างกายพูด และทุกครั้งที่เราพูดเราต้องใช้สิ่งที่ประกอบเป็นตัวร่างกายของเรา และที่เราต้องพูดอย่างนี้ซ้ำ ๆ ไป ตั้งแต่เด็ก มันจะค่อย ๆ สร้างอัตลักษณ์ของเรา สร้างความรู้สึกว่าเราเป็นคนแบบนี้แบบนั้น การทำซ้ำ ๆ กันหรือพูดซ้ำ ๆ นี้ เรียกว่า Iteration
อาจารย์ Butler เอาความคิดเช่นนี้มาวิเคราะห์ gender ของเรา อาจารย์บอกว่า เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายต่างก็ถูกสอนมาจากทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนว่า เด็กชายที่ดีต้องทำอย่างนั้น เด็กหญิงที่ดีต้องทำอย่างนี้ ทั้งพ่อแม่ พี่น้อง ครู จะสอนเด็กชายและเด็กหญิงในวิถีที่แตกต่าง จนทำให้เด็กชายและเด็กหญิงมีความประพฤติที่แตกต่างกัน และเข้ากรอบของความเป็นชายแท้หญิงแท้ อัตลักษณ์ชายและหญิง จึงไม่ใช่การแสดงออกของวิญญาณที่เป็นมาตั้งแต่เกิด แต่สะท้อนถึงสิ่งที่ได้รับการสอนตลอดมา
ดังนั้น gender จึงเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราแสดงออก เรามีความรู้สึกว่าเราเป็นชายเป็นหญิง แต่ความรู้สึกนั้นมันเกิดมาจากที่ไหน ความคิดเก่าจะบอกว่า มันอยู่ในเราตั้งแต่เกิดมา หรือเป็นวิญญาณ ถ้าเป็นคริสเตียนจะบอกว่าพระเจ้าสร้าง แต่ Butler บอกว่าความรู้สึกอย่างนั้นมันถูกสร้างภายในตัวเรา นี่แหละเป็นความคิดหลักของ Butler
3 Michel Foucault
อาจารย์ท่านสุดท้ายนี้อยู่อีกแขนงวิทยาคือ ด้านประวัติศาสตร์ จริง ๆ เขาจบปรัชญาแต่เป็นปรัชญาด้านประวัติศาสตร์ คนที่นำความคิดของอาจารย์ Foucault มาใช้ส่วนใหญ่จึงเป็นนักประวัติศาสตร์ อย่างที่กล่าวไปตอนแรกว่า Queer Theory ไม่ได้เป็นสิ่งเดียว แต่มีลักษณะเป็นเหมือนหีบความรู้ ดังนั้น คนที่สนใจวิเคราะห์วรรณคดี อาจจะใช้ความคิดของอาจารย์ Sedgwick คนที่สนใจปรัชญาอาจใช้แนวคิดอาจารย์ Butler ส่วนคนที่สนใจประวัติศาสตร์อาจเห็นว่าแนวคิดของอาจารย์ Foucault มีประโยชน์
ความคิดของอาจารย์ Foucault นี้คล้าย ๆ อีก 2 ท่าน แต่มีความคิดเรื่องอำนาจ และสนใจเรื่องที่มาของอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศวิถี (Sexuality) มากที่สุด
งานของอาจารย์ Foucault จริง ๆ มีหลายเรื่อง แต่เรื่องที่เกี่ยวกับเพศภาวะนั้น งานที่เป็นงานหลักคือ “The History of Sexuality” หรือ ประวัติศาสตร์แห่งเพศวิถี ซึ่งฟังแล้วก็ง่าย ไม่ยากเท่าไร แต่ที่จริงแล้วคำนี้มีความหมายแฝงอยู่ด้วย เพราะว่าไอเดียหลักของหนังสือเล่มนี้คือ เพศวิถีเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม เพศวิถีที่คนเน้นว่าเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตนั้นมีประวัติศาสตร์ มีที่มา และเมื่อมีที่มาก็อาจจะมีที่ไปด้วย สักวันหนึ่งอาจจะหายไปได้
อาจารย์ Foucault สนใจหาที่มาของเพศวิถี เขาบอกว่าเรื่องเพศวิถีไม่ว่าจะเป็นของคนรักต่างเพศหรือรักเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นไอเดียพื้นฐานของคนในสังคมสมัยนี้ และเราคุ้นเคยกับมันเหมือนปลาในน้ำ เราไม่ต้องคิดกับมันเท่าไร แต่เขาพบว่าในประวัติศาสตร์ ไอเดียแบบนี้เมื่อสัก 200-300 ปีก่อนไม่สำคัญเท่าไร มีสิ่งอื่น ๆ ที่สำคัญกว่า เช่น คุณแต่งงานหรือยัง มีอาชีพอะไร คนเรานั้นมีพฤติกรรมเรื่องเพศตลอดมา แต่ไม่สำคัญต่ออัตลักษณ์ของคนสมัยก่อนเท่าไรเมื่อเทียบกับในสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งรักต่างเพศหรือรักเพศเดียวกัน
อาจารย์ Foucault จึงถามว่า ถ้าอย่างนั้นแล้ว ทำไมเพศสัมพันธ์จึงสำคัญสำหรับเราอย่างมากในสมัยนี้ มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงที่ทำให้เรื่องนี้สำคัญ Foucault เป็นนักประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส ส่วนใหญ่จึงใช้หลักฐานของฝรั่งเศสในการศึกษา เขาเสนอว่า เมื่อระบอบอุตสาหกรรม และทุนนิยมเข้ามามีอิทธิพล เมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้ว ต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไปด้วย เมื่อก่อนคนเป็นชาวนาชาวไร่ชีวิตจะเป็นคนละรูปแบบกับคนที่ต้องทำงานในโรงงาน และระบบอำนาจของสังคมเปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่ การเรียน การทำงาน กฎหมาย โครงสร้างของสังคมหลาย ๆ อย่างก็เปลี่ยนไป
ระบอบใหม่ที่เข้ามานี้เน้นตรงที่ร่างกายและพฤติกรรมทางเพศของคนมากขึ้น และสิ่งแวดล้อมแบบใหม่จะเน้นให้เพศเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ไปด้วย ซึ่งไอเดียของ Foucault นี้ก็คล้าย ๆ กับของ Butler ที่เน้นว่าสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ของคน แต่ Butler นั้นสนใจเพศภาวะ (gender) ส่วน Foucault สนใจเพศวิถี (Sexuality) มากกว่า
ทั้งสามท่านนี้ก็มีคนวิจารณ์ว่าไอเดียยังไม่ครบถ้วน คิดว่าอาจารย์ Foucault น่าจะโดนวิจารณ์อย่างรุนแรงมากที่สุด อาจารย์ Butler และผู้หญิงในสายสตรีนิยมวิจารณ์ว่า อาจารย์ Foucault ไม่สนใจและมองข้ามเพศภาวะไป สนใจแต่เพศวิถีเท่านั้น บางคนก็เห็นว่าไอเดียของเขาเอามาใช้ได้ แต่ก็ต้องปรับปรุงด้วย
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย
แล้ว Queer Theory นี้จะนำมาใช้วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ปรัชญาไทยได้หรือไม่ เรื่องนี้อาจจะเป็นประโยชน์บ้าง แต่เราต้องคิดว่าทฤษฎีมันคืออะไรมาจากไหน ทฤษฎีนั้นไม่ได้มาจากสวรรค์และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทฤษฎีเป็นแค่การพยายามหาแก่นความคิดหลักในปรากฏการณ์รอบตัวเรา เช่น อาจารย์ Foucault ใช้ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสในการวิเคราะห์ เขาไม่รู้เรื่องประเทศอื่นๆ เลย แม้ในยุโรป เอเชีย แอฟริกา ไม่รู้เรื่องเลย ถ้า Foucault เอาหลักฐานจากที่อื่นที่ไม่ใช่ของยุโรปมาวิเคราะห์ ก็มีความเป็นไปได้ว่าไอเดียของเขาจะเปลี่ยนไป
ถ้าเราจะนำมาใช้ที่นี่ เราต้องคิดว่าทฤษฎีอาจจะเปลี่ยนไปได้ คำตอบนั้นยังไม่ชัดเจน ยกตัวอย่างเมื่อ 30 ปีก่อน ทฤษฎีของมาร์กซจะใหญ่ที่นี่ ทั้งในพรรคคอมมิวนิสต์ของไทย ในธรรมศาสตร์ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ประยุกต์ใช้ไอเดียของมาร์กซมาวิเคราะห์ประวัติศาสตร์และวรรณกรรมของไทย คนสมัยนั้นก็เจอคำถามเดียวกับเราคือ ไอเดียของมาร์กซมาจากยุโรป แล้วจะนำมาใช้ที่นี่ได้หรือ คำตอบที่ออกมาก็เป็นการถกเถียง บางคนบอกว่าใช้ได้ บางคนว่าใช้ไม่ได้ บางคนบอกว่าต้องนำทฤษฎีมาปรับปรุง
ในเมืองจีนนั้น มีแนวคิดเรื่องกึ่งอาณานิคม ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเอามาใช้ด้วย ในสมัยที่มีการปฏิวัติที่จีน เหมาเซตุงมีความคิดว่า มาร์กซนั้นเอามาใช้ประโยชน์ที่จีนได้ แต่ไม่ได้ 100 % เพราะว่ามาร์กซนั้นคิดถึงแต่ประเทศที่เป็นเอกราชและประเทศอาณานิคม ตามความเข้าใจของคนตะวันตก แต่จีนนั้นไม่ได้เป็นอาณานิคมแท้ ๆ เพราะว่าบางส่วนเป็นอาณานิคม แต่บางส่วนก็เป็นเอกราช มาร์กซไม่มีความคิดเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นคนสมัยนั้นที่จะเอาไอเดียของมาร์กซมาใช้ก็ต้องสร้างความคิดใหม่ ที่เรียกว่า “กึ่งอาณานิคม”
นี่อาจจะเป็นตัวอย่างหนึ่งในการนำทฤษฎีมาใช้ อาจจะเป็น Butler กึ่ง Foucault กึ่ง หรือ Sedgwick กึ่ง ถ้าเราจะนำมาใช้เราต้องเปิดใจกว้าง ดูว่าทฤษฎีของอาจารย์ทั้ง 3 ท่านมีข้อบกพร่องบ้างไหม มีบางอย่างที่นำมาอธิบายสังคมไทยได้ หรือมีบางสิ่งที่อธิบายไม่ได้ชัดเจนในสังคมเราไหม
ตัวอาจารย์ปีเตอร์เอง พยายามเอาทฤษฎี Foucault มาอธิบายประวัติศาสตร์ของวาทกรรมทางเพศของไทย Foucault มีความคิดว่าโครงสร้างของโรงเรียน โครงสร้างของการแพทย์ โครงสร้างของรัฐ ที่เน้นเรื่องเพศของคน จะเป็นที่มาของอัตลักษณ์ทางเพศของสังคมสมัยใหม่ หมายความว่าอำนาจในสิ่งแวดล้อมมาก่อน อัตลักษณ์มาทีหลัง แต่ว่าอาจารย์พบว่าในเมืองไทย เรื่องคนรักเพศเดียวกันนั้น ทางการแพทย์เริ่มพูดถึงเมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อนนี้เอง เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สองก็มีคนรักเพศเดียวกัน แต่ว่าหมอที่นี่ไม่เข้าใจเลย เป็นเรื่องเล็กที่ไม่เป็นปัญหา
อาจารย์ปีเตอร์เสนอว่า สำหรับที่นี่ มีอัตลักษณ์ใหม่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีวิธีแก้ไข ความเป็นเกย์ปรากฏในหนังสือพิมพ์เมื่อปี 2507-08 เป็นครั้งแรก หนังสือพิมพ์รายงานเป็นครั้งแรกว่ามีเกย์ไปชุมนุมกันที่สวนลุมพินี แต่สมัยนั้นหมอไทย ครูไทย ยังไม่ได้ระบุว่าคนรักเพศเดียวกันเป็นปัญหา เขาระบุว่านี่เป็นปัญหาหลังจากอัตลักษณ์ใหม่ลงในหนังสือพิมพ์ ซึ่งหลักฐานนี้ตรงกันข้ามกับแนวคิดของ Foucault
อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่ออาจารย์ปีเตอร์กลับมาดูหลักฐานของนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่เดินทางมาไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งไม่มีใครพูดถึงเรื่องเกย์กะเทยเลย ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบัน หนังสือท่องเที่ยวเมืองไทยจะต้องมีหัวข้อเรื่องกะเทยอยู่ด้วย ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทยในสมัยนี้ที่แตกต่างจากสมัยก่อนมาก หลักฐานแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรม
เมื่อกลับไปดูหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ 5 พบว่าสมัยนั้นไม่สนใจเรื่องเพศวิถี ไม่สนใจว่าคนรักเพศเดียวกันไหม แต่สนใจว่าคนแต่งตัวแบบไหน นี่เป็นเพราะหลังจากที่รัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากยุโรปแล้ว ก็พยายามเปลี่ยนวิธีแต่งตัวของคนในวังให้เป็นในรูปแบบของยุโรป คือแต่งตัวให้ทั้งสองเพศมีความต่างกัน เช่น ให้ผู้หญิงในวังไว้ผมยาว ใส่กระโปรง ผู้ชายใส่กางเกง ซึ่งก่อนหน้านั้นทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะแต่งตัวคล้าย ๆ กัน จะต่างกันบ้างก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ระบบอำนาจที่ Foucault เรียกว่า Bio-power เป็นโครงสร้างอำนาจที่เกี่ยวกับชีวิตของคน เช่น การแพทย์ กฎหมาย โรงเรียน ในประเทศไทยมีอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างน้อย แต่ไม่ได้สนใจจะกำหนดเรื่องเพศวิถีของคน แต่สนใจที่การกำหนดเพศภาวะของคน
ตัวอย่างสุดท้าย สมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม นโยบายของจอมพลป. หลาย ๆ ครั้งก็เลียนแบบนโยบายของรัชกาลที่ 5 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพลป.จัดตั้งคณะกรรมการที่จะตั้งชื่อคนไทยให้ตรงเพศ ก่อนหน้านั้นชื่อคนไทยไม่ได้ระบุเพศ สมศักดิ์อาจเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ แต่คณะกรรมการนี้ระบุเพศให้ตายตัว แล้วจอมพลป.ก็ประกาศชื่อที่ถูกต้องตามเพศ และบังคับให้พ่อแม่ที่ตั้งชื่อลูกต้องตั้งชื่อตามเพศ ดังนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชื่อคนไทยจึงมีเพศ นี่เป็นเพราะอำนาจรัฐเข้ามาควบคุม แต่เราจะเห็นว่าชื่อเล่นยังไม่แบ่งแยกเพศตามแบบโบราณอยู่ ซึ่งจอมพลป. ไม่ได้ให้ระบุชื่อเล่นของคนไทยตามเพศ
ถ้าใช้ทฤษฎีของ Foucault นี่เป็นตัวอย่างของ Bio-power ที่รัฐเอาอำนาจมาแบ่งเพศ ทั้งรัชกาลที่ 5 ถึงจอมพลป. เน้นให้ผู้หญิงและผู้ชายต่างกัน สมัยจอมพลป. เองมีกฎหมายด้านวัฒนธรรมหลายอย่างมาก จนสมัยนี้เราคิดว่านี่แหละเป็นวัฒนธรรมไทย แต่จริง ๆ เพิ่งมีมาเมื่อสมัยจอมพลป. เท่านั้น การแต่งตัวแยกเพศของคนในประเทศก็ถูกบังคับในสมัยจอมพลป. เช่นกัน มีกฎหมายระบุว่า ถ้าชาวบ้านจะไปอำเภอต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย คือ ผู้ชายต้องใส่กางเกง ผู้หญิงต้องใส่กระโปรง และต้องใส่เสื้อด้วย เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ผู้ชายไทยต้องมีกางเกงสักตัว และผู้หญิงต้องมีกระโปรง คือแต่งตัวแบบตะวันตก แต่จอมพลป. ไม่ได้สนใจเพศวิถี ไม่ได้สนใจว่าผู้ชายที่ใส่กางเกงเป็นเกย์หรือไม่
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือเรื่องกะเทย เมื่อย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์หลักฐานของกะเทยค่อย ๆ น้อยลง จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 เกือบจะไม่มีเลย กะเทยเป็นเรื่องใหญ่ประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเริ่มมีปรากฏในหนังสือพิมพ์ เป็นที่สนใจของแพทย์ ซึ่งอาจารย์ปีเตอร์เสนอว่ากะเทยเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาหลังจากที่คนไทยต้องแต่งตัวแบบตะวันตก คือแบ่งแยกชายหญิงชัดเจน เพราะนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่แต่งตัวข้ามเพศได้ ดังนั้นถ้าชายแต่งหญิง หญิงแต่งชาย จะเห็นออกมาได้ชัดเจน หนังสือพิมพ์ไทยลงข่าวเรื่องกะเทยครั้งแรกก็ในสมัยจอมพลป. นี่เป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่ และชี้ให้เห็นถึง Bio-power
สรุปว่า Foucault มีประโยชน์ แต่ว่าในการวิเคราะห์ เราต้องคำนึงถึงหลักฐานของที่นี่ และบางครั้งต้องปรับปรุงทฤษฎีให้เข้ากับที่นี่
หลังจากอาจารย์ปีเตอร์บรรยายให้ความเข้าใจเรื่อง Queer Theory แล้ว ก็เปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้แลกเปลี่ยนและสอบถามเพิ่มเติม ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจที่ช่วยให้ความเข้าใจเรื่อง Queer Theory ชัดเจนขึ้น ขอนำเสนอประเด็นเหล่านี้เป็นตอนปิดท้ายนะคะ
(3 คำถามแรกมาจากอาจารย์ชลิดาภรณ์ ที่ทางอัญจารีเรียนเชิญมาเพื่อช่วยเสนอประเด็น และชวนแลกเปลี่ยน)
1 เมื่อพูดถึงเรื่อง Deconstruction of Binary of Position หรือคิดเป็น Hierarchical เป็น Dualism ในสังคมไทยเรามีความเป็นไปได้แค่ไหน คนไทยมีความคิดเป็น Binary นี้ไหม แม้เราจะรับอิทธิพล Colonial Modernity ความคิดโลกทัศน์ฝรั่งมาเยอะ แต่เราเลือกรับมา บางเรื่องเราก็ไม่ได้รับในแง่รากของมัน เช่น เรื่อง public กับ private ซึ่งเราก็พูดกันมามาก แต่ไม่ค่อยจะ make sense เท่าไรในสังคมไทย จริงๆ เราไม่มีแบบนั้นหรือเปล่า
2 ประเด็นหลังที่พูดว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งสมมติ (Fictional) มันมีอันตรายบางอย่าง คนที่อ่านหนังสืออย่างนี้มาก ๆ โดยเฉพาะ Judith Butler เอง ที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย ในรุ่นหลัง ๆ อย่าง 20 กว่า ๆ 30 ต้น ๆ เห็นว่าเมื่อ Identity มัน Fictional มันก็ไม่มีความหมายอะไร แล้วมันนำไปสู่อันตรายหลาย ๆ อย่าง แล้วบางคนที่มีปัญหาบางอย่างอยู่คนประเภทนี้ก็จะไปบอกเขาว่า มันไม่สำคัญอะไรหรอก มันเป็น Performativity เป็นสิ่งสร้าง สิ่งสมมติ มันทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอะไรบางอย่าง ถ้า Identity มัน Fictional แต่ว่าคนแต่ละคนต่อรองหรืออยู่กับมันไม่เหมือนกัน สำหรับคนจำนวนมาก มันเป็นเรื่องใหญ่ เช่น ถ้าไปบอกผู้หญิงในสังคมอัฟกานิสถาน ว่าการเป็นผู้หญิงเป็น Fictional มันจะmake sense ไหม และแปลว่าผู้หญิงเหล่านั้นทำเช่นนั้นได้ไหม
3 จากการอ่านงานของ Butler และงานนักวิชาการไทยที่ใช้แนวคิดของ Butler งานของเธอนั้นอ่านยากมาก แม้ตัวเองจะได้รับอิทธิพลของงาน Butler ในช่วงแรก ๆ แต่งานยุคหลัง ๆ ยิ่งอ่านไม่รู้เรื่องมากขึ้น เราจะใช้ภาษาอีกแบบหนึ่งได้ไหม ที่ทำให้มันรู้เรื่องขึ้น เพราะการใช้ภาษาเช่นนี้ มันเหมือนเป็นการสร้างสถานะของคนพูดและเขียนแบบหนึ่ง ซึ่งก็นำไปสู่ปัญหาเดิม ๆ ที่นักคิด Queer Theory หลายคนเคยตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านั้นมาก่อน แต่ขณะนี้เราทำเหมือนกัน คือพูดด้วยภาษาที่คนอื่นไม่รู้เรื่อง แล้วถ้าคนรุ่นหลัง ๆ ที่ทำงานวิชาการมีความคิดแบบนี้ไปเรื่อย ๆ มันดีหรือไม่ดีกับ Queer Theory ทั้งในฐานะที่เป็นทฤษฎีและหลักการที่พวกเราจำนวนหนึ่งใช้ในการเคลื่อนไหว
อ. ปีเตอร์ ตอบ เห็นด้วยกับเรื่อง Butler และเห็นว่า Queer Theory ของอเมริกามีข้อบกพร่อง คือแม้คนที่มีการศึกษาสูง ขอบเขตของความคิดก็ยังจำกัดอยู่แต่อเมริกา อยู่ในกรอบและมองข้ามไปประเทศอื่นไม่ได้ บางครั้งอ่านงานของ Butler ก็รู้สึกอย่างนั้น แม้ Butler จะใช้ภาษาที่กว้างที่ไม่ได้เอ่ยถึงอเมริกา แต่อ่านแล้วก็รู้ว่า นี่แหละคนอเมริกา นี่เป็นสถานการณ์ของคนที่นั่น มันไม่เกี่ยวข้องกับที่อื่น
Queer Theory บูมมากที่สุดใน อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ในช่วงทศวรรษที่ 90 แต่หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ที่นิวยอร์ค คิดว่า Queer Theory และหลังโครงสร้างนิยม ยังตามสถานการณ์ของโลกไม่ทัน จะทำอย่างไรกับสถานการณ์ของเกย์ เลสเบี้ยนในอิรัก อิหร่าน ยังไม่มีคำตอบเลย บางทีทฤษฎียังไม่มีประโยชน์เท่าไรในการช่วยให้เราคิดอย่างสร้างสรรค์กับสถานการณ์แบบนี้
ส่วนเรื่องที่บอกว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งประกอบสร้าง ซึ่งก็เห็นด้วย และนี่เป็นการวิจารณ์ของคนที่อยู่ใน Gay/Lesbian Studies คลื่นแรก คือถ้าอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่ตายตัว แล้วเราจะสร้าง Movement (ขบวนการ) ได้อย่างไร การจะสร้าง Movement ต้องมีคนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยน ต้องมีความหมายถึงจะสร้าง Movement ได้
อีกสิ่งหนึ่งที่มีคนวิจารณ์ก็คือ Queer Theory มันดีในการวิเคราะห์วิจารณ์กระแสหลัก แต่ไม่มีประโยชน์เท่าไรในการสร้างสรรค์หาวิธีที่เราจะก้าวไปข้างหน้า ซึ่งคิดว่านักคิด Queer Theory ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
สำหรับคำถามแรกที่เกี่ยวกับการรื้อสร้าง เกี่ยวกับ Binary ว่ามีประโยชน์ไหมกับการวิเคราะห์สถานการณ์ไทย คิดว่าคำตอบยังไม่ชัดเจน แต่มันขึ้นกับการทดลองของเรา เราต้องลองดู คิดว่าไม่มีคำตอบระดับอภิปรัชญา แต่อยู่ที่การลงมือเอาไปใช้ และจะต้องเปิดใจกว้าง
บางคนอาจมีความคิดชาตินิยมว่า เรามีทฤษฎีของเราเอง เราไม่ต้องใช้ทฤษฎีที่อื่น แต่ถ้าทำเช่นนั้น เราจะไม่มีทางเปรียบเทียบผลการวิจัยนั้นได้เลย ถ้าเรานำงานไปเสนอในระดับวิชาการนานาชาติ เราต้องมีวิธีพูดที่จะสื่อสารงานนั้นได้ เราต้องมีแนวคิดที่อยู่เหนือระดับประเทศ แม้เราจะอยู่ในยุคหลังอาณานิคม แต่อำนาจทางวาทกรรมก็ยังอยู่ที่ตะวันตก นี่ไม่ได้เป็นสถานการณ์ทางปรัชญาแต่เป็นสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งเราอาจจะอยากปฎิเสธก็ได้ แต่ในอีกแง่หนึ่งต้องรู้ว่าความเป็นจริงของสถานการณ์คืออะไร
*เคยเจอบริกรคนหนึ่งเป็นกะเทย แต่แสดงเป็นทอม และหึงผู้หญิงอีกคน แล้วจะจัดให้คน ๆ นี้อยู่ในกลุ่มไหน เพราะเป็น Queer ที่ซ้อนความเป็น Queer อีกที
อ. ปีเตอร์ ตอบ เป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะถ้าเราพูดถึงประเภท มันอยู่ในระดับวาทกรรม ในภาษาไทยนั้นมีคำเรียก อย่างเกย์คิง ทอม ดี้ อยู่พอสมควรแล้ว แต่คำถามหนึ่งก็คือแล้วคนจะนำไปใช้อย่างไร และอีกคำถามคือ ความรู้สึกของคนเป็นแบบนั้นรึเปล่า เพราะแม้จะมีวาทกรรม ความรู้สึกและอัตลักษณ์ของคนอาจจะไม่ตรงกับคำเรียกประเภทนั้นเลย แม้คน ๆ นั้นจะอยู่ในวัฒนธรรมของวาทกรรมนั้น บางคนชอบผู้หญิงแต่อาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ทอม ไม่ใช่ดี้ก็ได้ ภาษาเรียกมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ
เรื่องนี้มีเช่นกันในต่างประเทศ ซึ่งนักคิด Queer Theory บอกว่า ต้องระวังระดับการวิเคราะห์วาทกรรม เพราะบางครั้งกรอบความคิดของวาทกรรม อาจจะเข้าไปไม่ถึงความคิดความรู้สึกและพฤติกรรมของคน และจะมีช่องว่างระหว่างวาทกรรมและความรู้สึก พฤติกรรมของคน
*ในเรื่อง Brokeback Mountain จะใช้ทฤษฎี เกย์/เลสเบี้ยน หรือ Queer เพราะว่าตัวเอกของเรื่องมีพฤติกรรมร่วมเพศของชายกับชาย แต่ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นเกย์
อ. ปีเตอร์ ตอบ เป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับทฤษฎี Queer เพราะเป็นตัวอย่างของชาย 2 คน ที่รักกันตลอด 20 ปี แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้ใช้คำว่า “เกย์” สักครั้งเลย และก็เป็นผู้ชายที่แต่งงานแล้วด้วย คิดว่าน่าจะใช้ทฤษฎี Queer มาวิเคราะห์ดีกว่า เพราะ ทฤษฎีเกย์จะเน้นตรงที่อัตลักษณ์ของเกย์โดยเฉพาะ
ผู้หญิงที่เขียนเรื่องนี้ เธอไปที่รัฐไวโอมิ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แล้วก็แวะไปที่ร้านเหล้าที่มีคาวบอยจีบผู้หญิงหรือเล่นสนุกเกอร์อยู่ แต่เธอสังเกตเห็นคาวบอยคนหนึ่งนั่งอยู่โดดเดี่ยว ไม่ได้จีบผู้หญิง แต่มองจ้องเฉพาะผู้ชาย เขาแก่แล้วด้วย แล้วท่าทางของเขาแสดงว่าผ่านชีวิตที่ลำบากมามาก นักเขียนเลยคิดสงสารว่าคน ๆ นี้เขาชอบผู้ชายด้วยกัน แต่ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่สังคมไม่ยอมรับ และไม่เข้าใจคำว่าเกย์เลย ผู้ชายคนนี้ไม่มีทางที่จะแสดงออกได้เลย ผู้เขียนเลยจินตนาการเรื่องขึ้นมาว่าตั้งแต่ตอนหนุ่ม ๆ คน ๆ นี้มีชีวิตอย่างไรบ้าง
น่าสนใจเพราะอัตลักษณ์เกย์เป็นสิ่งที่เข้ามาเมื่อไม่กี่สิบปีทั่วโลก แต่ก่อนหน้านั้นต้องมีหญิงที่รักหญิงด้วยกัน ต้องมีชายที่รักชายด้วยกัน แต่ไม่มีทางที่จะแสดงออก ไม่มีวิถีชีวิต ไม่มีที่นัดพบ ไม่มีอะไรในวัฒนธรรมที่จะแสดงออกถึงความรู้สึกของเขาเลย ไม่มีอะไรที่จะตอบสนองความรู้สึกของเขาเลย เหมือนกับว่าความรู้สึกของเขาจะหลุดออกจากกรอบของวัฒนธรรม ซึ่งคิดว่า Queer Theory พยายามจะเข้าให้ถึงสิ่งที่หลุดออกจากวาทกรรมของสังคม ของวัฒนธรรม แม้ว่าจะเป็นความรู้สึกหรือประสบการณ์ที่เรายังหาคำมาอธิบายไม่ได้เลย แต่เป็นสิ่งสำคัญที่ลึกมากในชีวิตของคน
และ Queer Theory จะวิจารณ์ Gay Studies ว่า ชอบสร้างประเภทให้คน และสร้างแล้วก็ต้องระบุให้คน ๆ นั้นอยู่ในกรอบนั้น แต่จริง ๆ แล้วก็มีคนที่หลุดออกจากกรอบต่าง ๆ ตลอดมา แม้คนที่เป็นเกย์ บางครั้งก็หลุดออกไปเอง Queer Theory บอกว่า บางทีเราก็อาจจะหลุดออกจากกรอบไปบ้าง และเราจะเข้าถึงสิ่งที่หลุดออกไปนั้นได้อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะสิ่งที่หลุดออกจากกรอบวาทกรรม อาจจะไม่มีคำเฉพาะ ถ้าอย่างนั้นเราจะพูดถึงสิ่งนั้นได้อย่างไร เราต้องใช้วิธีอ้อม Butler ใช้ภาษาที่ยากมาก เพราะButler พยายามจะพูดถึงสิ่งที่หลุดออกจากกรอบความคิด หลุดออกจากวาทกรรมกระแสหลัก นี่แหละเป็นคำตอบของนัก Queer Theory ในเรื่องความยากของภาษา
* ในการศึกษา Autobiography ที่เกี่ยวกับเกย์ ดูเหมือนว่าจะมีสิ่งหนึ่งที่เป็นมาตรฐานคือ จะต้องมี Coming out of the closet (การเปิดเผยตัวเอง) นักทฤษฎีคนหนึ่งบอกว่าจะมี 3 ขั้นตอน คือ suffering- surpassing-surving ถ้าย้อนกลับมาในสังคมเอเชีย โดยเฉพาะไทยเอง เราปรับกรอบนี้มาใช้ในสังคมไทยได้มากแค่ไหน ซึ่งในเมืองไทยขั้นตอนตรงนี้มันยังไม่ชัดเจนรึเปล่า
อ. ปีเตอร์ ตอบ นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ดีของความแตกต่างระหว่างสถานการณ์ตะวันตกและเอเชีย ไม่ใช่เฉพาะที่เมืองไทยเท่านั้น จีนและญี่ปุ่นก็คล้าย ๆ กัน ในทฤษฎี Gay/Lesbian Studies จะเอา Coming out เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ในการยืนยันอัตลักษณ์ Come out แปลว่าต้องใช้คำว่า เกย์ เรียกตนเอง กับหมู่เพื่อน กับสังคมทั่วไป เป็นการใช้ภาษาในการยืนยันอัตลักษณ์
ถ้ากลับมามองสถานการณ์ในเมืองไทย คิดว่าจะต่างกันมาก หญิงรักหญิง ก็คงมีคำตอบที่ต่างจากชายรักชาย ที่นี่มีชายรักชายหลายคนที่เป็นแฟนกัน หรืออยู่ด้วยกันแล้ว แต่ไม่เคยเอ่ยถึงคำว่าเกย์เลย มีผู้ชายที่ไปนอนกับผู้ชายอีกคนในบ้านของผู้ชายคนนั้นเป็นสิบปี แต่ครอบครัวก็ไม่มีใครถามว่า คุณเป็นรึเปล่า เป็นการหลีกเลี่ยงที่จะพูด วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่ทำได้ พูดไม่ได้ ตรงข้ามกับตะวันตก ที่พูดได้ แต่ทำไม่ได้ อย่าง Foucault พูดถึงเรื่องวาทกรรมว่า เรื่อง Homosexuality มีวาทกรรมมานานมาก พูดกันเป็นเรื่องใหญ่ แต่ห้ามทำ แต่ในประเทศไทย อย่างเมื่อเราพูดถึงสถานการณ์สมัยจอมพลป. เขาไม่สนใจเกย์เลย ไม่มีกฎหมายห้ามเป็นเกย์
คิดว่าที่นี่ Coming out จะไม่สำคัญเท่ากับประเทศตะวันตก สมัยนี้อัตลักษณ์หญิงรักหญิง ชายรักชาย เข้ามาพอสมควรแล้ว มีข้อเสนอว่าสำหรับที่นี่เกย์ เลสเบี้ยน และกะเทยด้วย ไม่ชอบที่จะรับราชการเท่าไร ถ้าเป็นไปได้เขาอยากมีอาชีพส่วนตัว มีร้านเล็ก ๆ อาจจะเปิดร้านเสริมสวย หรือขายก๋วยเตี๋ยวก็ได้ คนที่มีการศึกษาอาจจะเขียนหนังสือหรือเป็นนักข่าว มีเพื่อนหลาย ๆ คนที่หลีกเลี่ยงจะเข้าระบบราชการ เพราะว่าที่นี่ระบบราชการเข้มงวดกับระบบเพศภาวะ ต้องแต่งตัวเรียบร้อย เรียบร้อยที่นี่ยังมีความหมายแบบจอมพลป. ยังไม่ได้เปลี่ยนเท่าไร
ในตะวันตก Coming out เป็นการยืนยันอัตลักษณ์ ที่จะทำให้ก้าวเข้าสู่สังคมเกย์ มีสิทธิที่จะเป็นตัวของตัวเอง สำหรับที่นี่ ถ้ามีอาชีพของตัวเอง จะเป็นตัวของตัวเองได้มากกว่า นี่ยังเป็นแค่ข้อเสนอ
*ในความคิดของอาจารย์ Identity ต้อง Fix หรือไม่ หรือ Identity จะควรเป็น Fluidity แล้วถ้า Identity เป็น Fluidity ความเป็น Fluidity นี่มัน Fix ได้ไหม
อ. ปีเตอร์ ตอบ Queer Theory เน้นตรงที่ Fluidity มากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเราไม่มี Identity แค่ว่าเราจะเอาอันนี้เป็นหลักในการวิจัยไหม จากหลักฐานในหลายแขนงวิชา อาจจะพิสูจน์ว่า Identity ไม่ Fix แต่ทฤษฎีนี้จะนำมาใช้ในระดับการเมืองได้ไหม เพราะว่าถ้าเราจะเรียกร้องสิทธิ เราจะต้องมีกลุ่มเป้าหมาย มีกลุ่มที่เขาจะเรียกร้องสิทธิของเขาเอง ถ้าไม่มี Identity จะไม่มีทางเรียกร้องสิทธิได้เลย คนที่มารวมพลังเป็นกลุ่มเรียกร้องสิทธิ อาจจะเป็นสิทธิของสตรี สิทธิของเด็ก สิทธิของเกย์ สิทธิของชาวเขา ถ้าไม่มีความรู้สึกว่าคุณเป็นชาวเขา คุณเป็นสตรี คุณจะไม่รวมกลุ่มเลย
ดังนั้นถ้าจะพูดถึงเรื่องการเมือง เราอาจจะต้องมีไอเดียของ Identity ด้วย แม้คนที่อยู่ในแนวคิด Queer Theory บางท่าน แม้กระทั่งอาจารย์ Butler ด้วย จะมีไอเดียของ Situational identity คือ มีอัตลักษณ์ในพื้นที่เฉพาะ เช่น ในโอกาสที่เราเรียกร้องสิทธิ เราอาจจะต้องใช้วาทกรรมหรือภาษาที่เน้นตรงที่Identity ที่ตายตัว เฉพาะในโอกาสนั้น แม้ในงานวิจัย ในการวิจารณ์หนังสือ หรือในการออกไปสัมภาษณ์คนที่ตลาด เราจะใช้แนวคิดว่า Identity มัน Fluid แต่ถ้าเราจะรวมกลุ่ม ร่วมมือกันเรียกร้องสิทธิ เราจะต้องมีวิธีทางการเมือง ที่จะมี Identity ของพวกเรา แต่เป็น Identity ชั่วคราว
แต่แม้จะมีกลุ่มชายรักชาย กลุ่มที่เรียกร้องสิทธิของกะเทย มันไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่รวมพลังในกลุ่มนั้นจะมี Identity อันเดียวกัน แม้จะตกลงกันว่าพรุ่งนี้เราจะทำอย่างนี้ จะไปในนามของกลุ่มนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่ากลับบ้านไปแล้วจะยังคงเป็นเช่นนั้น ในชีวิตประจำวันก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องนี้ Queer Theory ก็ยังคิดอยู่ ยังไม่ชัดเจนเท่าไร แต่ก็เป็นปัญหาที่หลาย ๆ คนกำลังคิดถึงอยู่
ในทางการเมืองในประเทศตะวันตก กลุ่ม Queer มีเป้าหมายให้สังคมให้โอกาสสำหรับความหลากหลาย ให้สิทธิคนอยู่นอกกรอบได้ แม้จะมีเป้าหมายอย่างนี้ แต่ก็ยังมีขบวนการที่ใช้ Identity แบบในพื้นที่เฉพาะ เช่น เรื่องการแต่งงานของเกย์เลสเบี้ยน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในหลายประเทศ เป็นขบวนการที่มาจาก Gay/Lesbian Studies คือ เกย์มีสิทธิแต่งกับเกย์ เลสเบี้ยนมีสิทธิแต่งกับเลสเบี้ยน องค์กรที่จะมาคุยกับสื่อมวลชนหรือคุยกับรัฐมนตรีจะใช้ภาษาแบบเกย์เลสเบี้ยนโดยตรง ไม่ได้ใช้คำว่า Queer คนที่พูดอาจจะเป็นคนที่เข้าใจทฤษฎี Queer แต่เวลาออกโรงเรียกร้องสิทธิกับสื่อมวลชนจะใช้ภาษาเกย์เลสเบี้ยน ซึ่งเป็นภาษาที่อยู่ในกรอบ เขาจะบอกว่าการที่เราจะก้าวหน้า ต้องมีก้าวแรก เราต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่จะ work กับสังคม กับระบอบการเมืองของเรา นักการเมืองของเรายังไม่เข้าใจเกย์ Queer ไม่ต้องพูดถึง ก้าวแรกอาจจะต้องใช้ยุทธศาสตร์นี้อธิบายกับนักการเมืองว่าเกย์เป็นอย่างไร ต้องให้สิทธิเกย์ด้วย คนที่เป็นนักการเมืองทาง Queer เขาโอเคที่จะปรับตัวให้เข้ากรอบในโอกาสที่จะเรียกร้องสิทธิ โดยคิดว่าเมื่อได้สิทธิแล้ว จะต้องมีก้าวต่อไปด้วย นี่เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่แล้วแต่สถานการณ์ แล้วแต่พื้นที่
* เมื่อหลายเดือนก่อนที่มีรายการทีวีที่สัมภาษณ์ผู้ชายไทยที่แต่งงานกับผู้ชายฝรั่ง โดยเขาแนะนำว่าผู้ชายไทยเป็นเจ้าสาว ผู้ชายฝรั่งเป็นเจ้าสาว ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองคนก็ใส่ชุดเจ้าบ่าว ซึ่งสังคมไทยเรายอมรับได้ แต่เป็นการยอมรับที่อยู่ในวาทกรรมของ Binary system คือต้อง Identify กับ Heterosexual couple (คู่รักต่างเพศ) เท่านั้น
อ. ปีเตอร์ ตอบ คิดว่าไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่มีไอเดียแบบนี้ ที่อิหร่านก็มีกฎหมายให้เป็นกะเทยได้ แต่ต้องแปลงเพศเป็นผู้หญิงทั้ง 100 % แต่เป็นเกย์ไม่ได้ ผิดกฎหมายขนาดที่ต้องประหารชีวิต ซึ่งรุนแรงมาก และแสดงตัวอย่างของระบบ Heterosexual อย่างชัดเจนมาก สื่อมวลชนไทยก็ยังมีความคิดแบบนี้แอบแฝงอยู่ ในกรณีนี้ที่อธิบายว่าคนหนึ่งเป็นเจ้าสาว อีกคนเป็นเจ้าบ่าว ก็เป็นความคิดในวาทกรรมกระแสหลักของที่นี่ และยังสะท้อนถึงระบอบจักรวรรดินิยม ที่ยุโรปเป็นใหญ่ และที่อื่นเล็ก เป็นระบอบเหมือนกับสามีต้องใหญ่ ภรรยาต้องเล็ก ผู้ชายไทยต้องเป็นเจ้าสาว ฝรั่งเป็นเจ้าบ่าว
ความคิดเห็น